ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์: ถ้าการเมืองดี การทำแท้งจะไม่ใช่อาชญากรรม

แค่เปิดให้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัย การจะทำแท้งหรือไม่ทำควรจะเป็นทางเลือกของตัวเขาเอง ไม่ใช่รัฐเป็นคนเลือกไว้ให้ เพราะเราไม่ใช่เขา ไม่มีทางรู้ว่าเขาต้องเผชิญกับแรงกดดันอะไรบ้างในชีวิต ถ้าคุณคิดว่าเป็นเรื่องผิดบาป ก็ให้เจ้าตัวเป็นคนเลือกเองว่า จะทำบาปไหม

แม้ว่าประเทศไทยจะยกเว้นให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ (ทำแท้ง) ได้เป็นบางกรณี แต่ภาพรวมแล้วกฎหมายไทยก็ยังกำหนดให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง

จากสถิติการทำแท้งในสังคมไทยอยู่ที่ราวๆ ปีละ 3 แสนราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย อยู่ที่ปีละ 300 คน โดยในปี 2558 รัฐต้องใช้งบประมาณเพื่อการรักษาผู้หญิงที่เจ็บป่วยจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย 132 ล้านบาท

WAY ชวน รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถกกันเรื่องแท้ง ในฐานะผู้เขียนหนังสือเรื่อง เถียงกันเรื่องแท้ง: สุขภาพ เสรีภาพ ศีลธรรม ที่เพิ่งได้รับรางวัลผลงานวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและวงการศึกษา TTF AWARD ประจำปี 2562-2563

 

ณ วันนี้ กฎหมายที่เกี่ยวกับการยุติตั้งครรภ์ ให้ขอบเขตในการตัดสินใจเลือกของผู้หญิงกว้างหรือแคบเพียงใด

กฎหมายของรัฐในการควบคุมการทำแท้ง แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • กฎหมายห้ามทำทุกกรณี มีเหตุผลทางศาสนา ความเชื่อ ประเพณี รวมถึงการคุ้มครองชีวิตของตัวอ่อนในครรภ์และคุ้มครองผู้หญิงจากอันตรายจากการทำแท้ง ปัจจุบันจำนวนประเทศที่ห้ามทำแท้งในทุกกรณีนั้นลดน้อยลงเรื่อยๆ มีเพียง 4 ประเทศ เอลซัลวาดอร์ นิคารากัว โดมินิกัน และมอลตา
  • กฎหมายที่เปิดช่องให้ทำได้ภายใต้เงื่อนไข การศึกษาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบเงื่อนไขในการยุติการตั้งครรภ์ที่รัฐกำหนด เช่น การตั้งครรภ์นั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต ความผิดปกติของตัวอ่อน การตั้งครรภ์ที่มีผลจากการถูกข่มขืนหรือทารุณกรรมทางเพศ ความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและจิตของผู้หญิง รวมไปถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคม
  • กฎหมายที่ให้เสรีภาพในการทำแท้งได้เมื่อต้องการ โดยอำนาจในการตัดสินใจเลือกอยู่กับผู้หญิง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่าในบางมณฑล ถ้าผู้หญิงมีบุตรเกินจำนวนที่รัฐกำหนด รัฐบาลอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ ขอบเขตอายุครรภ์ที่กฎหมายอนุญาตคือ 6 เดือน

จะเห็นได้ว่าเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ไม่มีประเทศหรือรัฐไหนอนุญาตให้ทำอย่างเสรี เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าต่อสู้เพื่อทำแท้งเสรีคือผิด ทุกเงื่อนไขการทำแท้งมักจะมีกรอบบางอย่างครอบอยู่ ทว่ากรอบนั้นจะเล็กจะใหญ่และให้อำนาจผู้หญิงในการเลือกแค่ไหนต่างหากคือประเด็นสำคัญ อย่างประเทศสิงคโปร์ก็ให้การตัดสินของผู้หญิงบนฐานเรื่องสังคมและเศรษฐกิจในระดับครอบครัว

ในปัจจุบัน การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 เป็นอย่างไร

ข้อมูล ณ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีมิติพิจารณากรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 หรือไม่ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 มาตรา 28 และ มาตรา 77 หรือไม่ ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง – ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติว่า “หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือมาตรา 28

ประเด็นที่สอง – ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด” ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 77

ประเด็นที่สาม – สมควรมีมาตรการปรับปรุงกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

ตลอดเส้นทางการแก้ไข มาตรา 301 มีปัจจัยอะไรเป็นอุปสรรคบ้าง

มุมมองและเสียงที่มองว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นบาป

ในอดีตที่ผ่านมามีความพยายามจะเสนอแก้ไขกฎหมายนี้มาโดยตลอด ซึ่งมุมมองและเสียงที่มองว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นบาปเป็นสิ่งที่เข้ามาขัดขวางและทำให้การเดินทางมันวนอยู่เท่านั้นมาเป็นเวลานาน

ที่ผ่านมาเราเพิ่งเริ่มเห็น movement ที่หันไปใช้ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 28 ตามสิทธิเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์ ซึ่งในที่สุดก็ต้องดูว่าจะนำไปสู่อะไร เอาเป็นว่าเส้นทางการต่อสู้แก้ไขกฎหมายในบ้านเรามันดูแปลก สะท้อนลักษณะของระบบการเมืองไทยอยู่มาก ความที่เป็นอำนาจนิยม มันบอกอะไรบางอย่าง

เอาเป็นว่า…ประชาธิปไตยมีส่วนสำคัญมากในการผลักดันให้เปิดประตูทางเลือกยุติการตั้งครรภ์

เช่นนั้น พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มาตรา 5 ระบุให้วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง มีไว้เพื่ออะไรในเมื่อการยุติการตั้งครรภ์ยังผิดกฎหมายอาญา

เพราะการยุติการตั้งครรภ์มันผิดกฎหมาย คนที่ไม่พร้อมก็เลยต้องวิ่งไปหาการยุติที่ไม่ปลอดภัย แล้วก็เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต พ.ร.บ. นี้จึงเกิดขึ้นมา แต่มันต้องตีความร่วมกับแพทยสภาว่าด้วยเงื่อนไขเรื่องสุขภาพ ถ้าระบุได้ว่าการตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกาย-สุขภาพจิตของมารดา แพทย์ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

แสดงว่าถ้าเราประสงค์ที่จะยุติตั้งครรภ์ด้วยตัวเราเอง โดยที่ปราศจากเงื่อนไขสุขภาพจิต แปลว่ายังทำไม่ได้

ใช่ ถ้าพูดเร็วๆ ทางแพทยสภาตีความขยายไปถึงเรื่องสุขภาพให้เป็นเรื่องสุขภาพจิตด้วย

เป็นเพราะส่วนหนึ่งคนที่อ่านกฎหมายเป็นผู้ชายด้วยหรือเปล่า

มันไม่ใช่เรื่องของผู้ชายผู้หญิง ประเด็นอยู่ที่ว่าทุกคนในประเด็นเข้าใจเรื่องนี้แบบไหน การเจริญพันธุ์ มันควรจะเป็นการตัดสินใจของใครกันแน่

เช่น คุณบอกว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นบาป ใครยุติการตั้งครรภ์คือคนเลว แล้วคุณไปดูเรื่องราวของแต่ละคนไหม คุณเอาแต่บอกว่าบาปๆ เสร็จแล้วคุณทำยังไงต่อ คุณควรจะให้ใครเป็นคนตัดสินว่าใครจะเป็นคนแบกรับบาปนี้ ไม่ให้เจ้าตัวเขาตัดสินเองเหรอ มันแปลกนะมีคนไปปิดทาง ตัดสินให้ก่อนแล้ว ทำให้เรื่องมันวนเวียนจนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมทำแท้งเถื่อนเยอะแยะ

นอกจากเรื่องบาปบุญ ยังมีข้อจำกัดอะไรบ้างที่ขัดขวางการแก้ไขกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ไม่ให้เดินต่อ

ความอิหลักอิเหลื่อของการทำงานของรัฐไทยและวิธีคิดเชิงศีลธรรม ถ้ามองจากมุมของศีลธรรมมีวิธีคิดหลายอย่างที่เชื่อมโยงผู้หญิง เช่น ผู้หญิงคืออะไร ผู้หญิงคือคนที่เกิดมาแล้วมีเซนส์ของการเป็นแม่ ธรรมชาติของผู้หญิงทุกคนคือความเป็นแม่ เพราะฉะนั้นพอคุณตั้งท้องขึ้นมาคุณก็มีความรักลูกโดยอัตโนมัติ โดยที่สลัดทุกตัวตนคุณหายไปเลย แล้วไง? มันเป็นอย่างนั้นจริงไหม

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ความเป็นแม่ไม่ได้เป็นเรื่องธรรมชาตินะคะ ในที่สุดความรู้สึกถึงความเป็นแม่ลูกที่คุณบอกว่าเป็นสายเลือดมันต้องอาศัยพัฒนาการ อาศัยองค์ประกอบเฉพาะของคู่แม่ลูก มันมีองค์ประกอบเยอะมาก และไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกันแบบเดียว

จริงๆ เรื่องนี้ ถ้าคุณหุบปากกันนะ แล้วคุณลองฟัง … คุณฟังเสียงคนอื่นเขาบ้างสิวะ ฟังว่าความต้องการของเขาคืออะไร ผู้หญิงคิดแบบเดียวกันทั้งโลกเลยหรือไง

‘คุณ’ ของอาจารย์หมายถึงใครบ้าง

มนุษย์ – everybody

คือเรื่องนี้ พูดก็พูด เวลาสอนหนังสือหรือพูดประเด็นเรื่องนี้ในที่สาธารณะ จะมีคนรังเกียจขึ้นมา โดยเฉพาะมนุษย์เพศสภาพชายจำนวนหนึ่ง เพราะเวลาพูดเรื่องแท้ง มนุษย์ที่เป็นเพศสภาพชายมีความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวอ่อน ทนฟังไม่ได้ราวกับคนที่จะถูกขูดถูกดูดออกมาคือตัวเอง

จากงานวิจัยและรวบรวมสถิติปัญหาท้องไม่พร้อม พบว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น แต่ยังมีผู้หญิงในกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้อีกไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่แต่งงานมีครอบครัวมีสามีแล้ว

ปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยงไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ฉะนั้นทุกคนควรเปิดใจกว้างในเรื่องนี้ แต่คุณไม่ได้มองเห็นแง่มุมอื่นๆ ว่าคนคนหนึ่งเขาต้องเผชิญกับอะไรอยู่ ดังนั้นเมื่อผู้หญิงแต่ละคนตัดสินใจก็มีเหตุผลที่ไม่เหมือนกันเลย มันซับซ้อนมาก แต่ถ้าเราหยุดพูด แล้วเราฟัง คุณจะรู้ว่าคุณน่ะตัดสินใจแทนคนอื่นไม่ได้เลย

อธิบายได้ไหมว่าทำไมคนถึงกลัวคำว่าการทำแท้ง เขารู้สึกว่าตัวเองสูญเสียอะไร

ขอยกตัวอย่างจากการตั้งข้อสังเกตของนักวิชาการฝรั่งคนหนึ่งนะคะ เขามีวิธีคิดประมาณว่าคนบางกลุ่มเอาตัวเองวางลงเป็นตัวอ่อน เพราะฉะนั้นหากเกิดอะไรขึ้นกับตัวอ่อน เหมือนเกิดขึ้นกับคุณด้วย คุณเห็นความเปราะบางของตัวเอง คุณรู้สึกไม่ได้รับโอกาสที่จะเกิดมา มันก็กลายเป็นความกลัว กลัวสังคมหรือกฎกติกาที่คุณคุ้นเคยมันจะหายไป คุณอยากจะรักษาสิ่งที่คุณคุ้นเคย โลกที่คุณรู้จักไว้

คุณไม่ได้คิดไปในทางกลับกันว่า ตัวอ่อนในท้องที่อยู่ในมดลูกของผู้หญิงแต่ละคนมันก็จะมีลักษณะหรือองค์ประกอบไม่เหมือนกัน คือการเกิดมาไม่ได้แปลว่าจะโอเคนะ มันมีองค์ประกอบเยอะแยะ คุณต้องการให้คนเกิด แต่เกิดมาเป็นยังไงกูไม่รู้ ขอให้ได้เกิด มันก็สะท้อนความไม่สามารถมองเห็นภาพที่ใหญ่กว่านั้นได้

ดังนั้นการที่คุณต้องการให้เกิดแต่ไม่สนใจเรื่องคุณภาพชีวิต เอาแต่บอกว่าบาปแล้วจบ คุณเดินหนีออกมา โดยที่ไม่จัดการหรือไม่ดูแลตรงนั้นต่อ โอเคคุณดูมีศีลธรรม คุณได้พิทักษ์บางอย่างด้วยคำพูดของตัวเองแล้ว มันก่อให้เกิดผลตามมายังไงบ้าง ปล่อยให้ปัญหาอยู่ตรงนั้นต่อไป

คนมาพูดให้คนอื่นฟังว่านี่บาป เลว มึงหยุดพูดแล้วฟังเขาสิ มันคือชีวิตคนทั้งนั้น มันไม่ใช่เรื่องเล่า นิยาย คุณจะเห็นว่าเรื่องนี้มันทำให้คน suffer อะไรบ้าง แล้วคุณเป็นใคร คุณจะไปคิดแทนเขา

เปิดใจกว้างๆ ว่าคุณไม่รู้ ผู้หญิงบางคนที่เขาเผชิญสถานการณ์ท้องไม่พร้อม พอคุณฟังเรื่องราวของเขา คุณจะเห็นความซับซ้อนที่พันกันหลายอย่างมาก แล้วมันทำให้เราเองอดคิดไม่ได้ว่า สมมุติว่าเขาท้องต่อจนกระทั่งตัวอ่อนนั้นคลอดออกมา ตัวอ่อนนั้นจะมาอยู่ในสภาพไหน บางทีการเกิดไม่ได้เป็นทางแห่งความสุขเสมอไป

ก็จะมีฟีดแบ็คว่ายิ่งไปสนับสนุนปัญหาท้องไม่พร้อมให้มากขึ้น?

เวลาพูดถึงประเด็นท้องไม่พร้อม ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ คนที่เผชิญสถานการณ์ท้องไม่พร้อม คุณไม่ค่อยได้ยินเสียงของเขา เสียงเจ้าของเรื่องมันไปปรากฏอยู่ในวงเล็กมาก เช่น เขาไปปรึกษาเพื่อนหรือคนที่เขาไว้วางใจ หรือกับหมอที่เขากำลังจะขอให้ทำแท้งเถื่อน

ยิ่งไม่มีพื้นที่ให้พูดก็ยิ่งถูกตีตรา ไม่มีใครฟังปัญหาและเข้าใจ ทุกคนต่างออกมายืนอยู่ฝั่งที่สังคมบอกว่าดี แกมันเลวที่ท้องไม่พร้อม รู้สึกฟินที่ได้บอกคนอื่นว่า เฮ้ย กูเป็นคนดี แต่เราพูดเรื่องตัวเองทั้งนั้น ไม่ได้เข้าใจปัญหาเลย

แปลว่า ถ้าประเทศเราแก้ไขเรื่องมาตรา 301 ได้ แนวคิดหรือความเชื่อเรื่องเพศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น?

ไม่เสมอไป ดิฉันยกตัวอย่าง พ.ร.บ. ที่ออกมาปรามการค้าประเวณี เมื่อปี 2539 ปัจจุบันผ่านไปแล้ว 24 ปี ข้อกฎหมายถูกเข้าใจว่าอย่างไร มันได้ผลไหม สอดคล้องกับใคร เนื้อหามันเคลื่อนมาสู่อะไรใหม่ๆ ไหม กฎหมายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เมื่อคุณสู้กัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจจะไม่มีผลอะไรเลยก็ได้

ฉะนั้นในมาตรา 301 ถ้าเราต่อสู้ไปเรื่อยๆ เพดานสูงสุดคือการยุติการตั้งครรภ์ควรจะถูกเลิกมองว่าเป็นอาชญากรรม

abortion ไม่ควรถูกมองเห็นว่าเป็น crime หรือไปเอาผิดกับตัวผู้หญิง อันนี้ก็แปลกประหลาดนะ ผู้หญิงก็ถูกมองว่าเป็นอาชญากรไปด้วย เอาผิดคนทำให้เขาแท้ง วุ่นวายไปหมด เพราะคุณมองไม่เห็นความซับซ้อนว่าทำไมคนถึงเลือกยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งแม้ปรากฏว่ามันเป็น crime แต่ทำไมปัจจุบันคนก็ยังยอมเสี่ยงตายจะทำ ยอมยุติการตั้งครรภ์แบบเถื่อนๆ

อาจารย์มีข้อเสนออะไรบ้างที่พอจะเป็นรูปธรรม

การขยายเงื่อนไข แทนที่คุณจะไปจำกัดเงื่อนไขที่มันแคบมาก ขยายขึ้นโดยเฉพาะในทางสังคม ยกอำนาจใหผู้หญิงตัดสินได้มากขึ้น แต่เดี๋ยวก็จะมีคนมาเถียงว่า “โอ๊ย อย่างนี้เดี๋ยวก็ทำแท้งกันใหญ่” เป็นบ้า! ยุติการตั้งครรภ์ไม่ได้เหมือนช็อปปิ้งนะเธอ นี่ต้นศตวรรษที่ 21 ความสามารถในการควบคุมการเจริญพันธ์ุของตัวเองน้อยมาก คนไม่สามารถควบคุมการเจริญพันธุ์ของตัวเองได้มันแปลก

แล้วมันคนละเรื่องกับการสนับสนุนให้คนออกมาฟรีเซ็กส์ โจทย์มันไม่ได้อยู่ตรงนั้น โจทย์มันอยู่ที่ว่าจะทำยังไงให้คนสามารถจัดการกับการเจริญพันธุ์ และให้คนสามารถเลือกได้ว่าจะทำอย่างไรกับการเจริญพันธุ์ของตัวเอง

ดิฉันคิดว่าการยกอำนาจให้คนท้องได้คิด ตัดสินใจเอง คือสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้ว เรื่องทุกเรื่อง คุณต้องเป็นคนตัดสินใจเองว่ามันโอเคหรือไม่โอเคกับตัวคุณ เพราะเรามักไม่เคยถูกอนุญาตให้เลือกเองได้ในเรื่องเพศ

เช่น ผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตามที่มีแฟนแล้วแฟนหายหัวไป คุณก็ยัง…เอ๋ ตกลงเขารู้สึกยังไง เขารักเราหรือเปล่า ทำไมเขาไม่บอก เขาไม่บอกยังไงไม่รู้ เขาหายไปแล้ว มึงจะเอายังไงกับชีวิต คือคุณไม่มองในทางกลับ คุณไม่เลือกเองไง คุณยกอำนาจให้คนอีกคนหนึ่งเป็นคนบอก

ถ้าพูดถึงในแง่ของหลักการเศรษฐกิจ ถ้า Abortion เท่ากับ Crime อยู่ มันมีความสูญเสียอะไรเกิดขึ้นบ้าง

มันมีความพยายามของหน่วยงานที่จะชี้ให้เห็นว่า unsafe abortion มันทำให้เกิดอะไรบ้าง ถ้าเป็นในแง่ตัวเลขที่แน่นอนเลย unsafe abortion มันทำให้เกิดผลข้างเคียงทำให้ผู้หญิงเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นจำนวนค่ารักษาพยาบาลมหาศาล เลวร้ายที่สุดคือตาย หรือกระทั่งข้อมูลจากหนังสือ Freakonomics ที่ระบุอัตราเรื่อง crime rate ไว้ว่า อาชญากรรมในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาลดลง เพราะคุณอนุญาตให้ผู้หญิงเลือกยุติการตั้งครรภ์ได้ในสถานการณ์ที่เขารู้สึกว่าเขาไม่พร้อม เพราะมันช่วยลดปัญหาอื่นๆ ลงได้

ถ้าตัวเลขยังไม่ชัด เด็กคนหนึ่งเกิดมาด้วยภาวะที่ไม่พร้อม เขาจะเป็นอย่างไร

เวลาที่คนเกิดมาในสถานการณ์ที่ไม่พร้อม ซึ่งอาจจะไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ ไม่พร้อมทางสังคมอะไรก็ตาม อย่าลืมว่าวิธีการเลี้ยงเด็กในประเทศนี้ หน้าที่ถูกยกให้พ่อแม่เด็กเลี้ยงในทุกความหมายเลยนะ เลี้ยงทางร่างกาย จิตใจ ทุกอย่างมึงรับผิดชอบไป ไม่มีใครช่วยเป็นภาระหลัก คือถ้าพ่อแม่ไม่มีปัญญาก็เป็นปัญหาของพ่อแม่

ฉะนั้นเกิดมาในสถานการณ์ที่ไม่พร้อมแล้วจะถูกเลี้ยงดูได้ไหมอันนั้นขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้าลิขิต และองค์ประกอบชีวิตของคุณ ถ้าไม่มีองค์ประกอบรองรับมากพอก็กระทบไปหมดทั้งในแง่ของการเติบโตทางร่างกายและจิตใจ การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนมันแพงมาก ต้องมีความรับผิดชอบสูงมากในหลายเรื่อง คนที่คิดว่าตัวเองพร้อมยังมีปัญหาเลย

การต่อสู้ในประเด็นนี้ของประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง

การเมืองในประเทศต่างๆ ว่าด้วยเรื่องประเด็นนี้ก็แตกต่างกัน ตัวละครในประเด็นนี้ในประเทศที่อนุญาตให้มีทั้งแพทย์ คนทำงานเรื่องสิทธิ ขบวนการผู้หญิง เรามักจะเห็นทั้ง 3 พาร์ทเนอร์ใหญ่นี้เคลื่อนไปด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นเฟรมประเด็นยังไง เงื่อนไขและกรอบของเขาคืออะไร เอาเป็นว่ามันไม่ง่าย การต่อสู้ครั้งนี้มันไม่ง่าย

ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาที่เคยมอบสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงได้ตัดสินใจเอง แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไปอารมณ์ของคนเปลี่ยน มีการปรับแก้ไขกฎหมายและนโยบาย หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาก็เสนอร่างกฎหมายต่อต้านการทำแท้งขึ้นมา นั่นแปลว่าคุณต้องพร้อมที่จะถกเถียงกันเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ

#ถ้าการเมืองดี เราจะคุยเรื่องการทำแท้งกันแบบไหน

การผลักดันในเชิงโครงสร้าง มันขึ้นอยู่กับลักษณะระบบการเมือง ถ้ารัฐบาลคุณมาจากเผด็จการทหารเข้ามาครองอำนาจรัฐ ปรากฏว่าในบริบทแบบนี้มีแนวโน้มจะเจอนโยบายที่จะมีลักษณะ patriarchal ที่กำหนดว่าหน้าตาครอบครัวต้องเป็นอย่างนี้ หญิงต้องเป็นอย่างนี้ ชายต้องเป็นอย่างนี้

นำไปสู่การพัฒนานโยบายต่างๆ ที่สะท้อนว่าคุณทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง เช่น คุณต้องรักษาครอบครัว ครอบครัวสมบูรณ์คือมีพ่อแม่ลูก ผู้ชายเป็นผู้นำ ผู้หญิงเป็นแม่ ระบบแบบนี้มันไม่ให้คุณตั้งคำถาม เวลาที่คุณจะเริ่มชวนกันคิดหรือโต้เถียงว่าด้วยเรื่อง gender ว่าด้วยเรื่อง sexuality มันเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐคือผู้ครองอำนาจ รัฐมีภาพสำเร็จ การโต้เถียงก็ทำได้ยากลำบาก การชวนกันคิดก็ทำไม่ได้ ผู้หญิงต้องทำอย่างนี้ ผู้ชายต้องทำอย่างนี้ ห้ามมีเซ็กส์ก่อนการแต่งงาน ห้าม homosexuality คุณบ้าเหรอวะ จริงๆ แล้วเราอาจไม่ได้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ ในตัวคุณเป็นอะไรหลายอย่างเกิดความซ้อนทับหลายมิติมาก

เพราะฉะนั้นเวลาที่อำนาจไปกองรวมอยู่กับคนที่มีวิธีคิดประเภทที่ฟังคนอื่นไม่ค่อยเป็น ก็ทำให้คุยกันยาก ประเด็นทำแท้งก็เช่นกัน ซึ่งสังคมไทยตอนนี้ก็อาจจะอยู่ในสภาพเช่นนั้นก็ได้นะ

ในช่วงที่ผ่านมาเราการเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องเพศจากม็อบเยาวชน #ทำแท้งปลอดภัย #สมรสเท่าเทียม ทั้งสองเรื่องนี้มีรากของการต่อสู้เหมือนกันไหม

มันมาจากฐานเรื่องเพศวิถีเหมือนกัน แต่วิธีคิดและวิธีโฟกัสอาจจะไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว

#สมรสเท่าเทียม คือการมองเห็นถึงสิทธิสมรสในฐานะพลเมืองที่รัฐรับรอง คุณก็อาจจะบอกว่า ไม่ต้องสมรสกันก็ได้ อยู่ๆ กันไป คุณลองอยู่ไปสักพักหนึ่งนะ ถ้าคุณมีสติพอคุณจะรู้ว่าคุณสมรสแล้วมันเชื่อมโยงถึงเรื่องสิทธิในมิติต่างๆ ที่รัฐต้องให้ความคุ้มครอง เช่นเดียวกันกับ #ทำแท้งปลอดภัย คือการมองเห็นถึงเรื่องสุขภาวะ เรื่อง well being ของคนเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตามสิทธิมนุษยชน

สารภาพว่าดิฉันตื่นตาตื่นใจกับการเห็นเด็กๆ ออกมาพูดเรื่องอะไรแบบนี้ โดยเฉพาะเด็กมัธยม พวกเขาพูดถึงเรื่อง rape culture เฮ้ย สุดยอด เพราะโซเชียลมีเดียทำให้ประเด็นเหล่านี้มันถูก raise ขึ้นมา เด็กๆ จึงเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น เขาเห็นโลกต่างจากคนรุ่นหลัง เราอยากรู้ว่าเขาคิดอะไรเลย เขาให้ความสำคัญกับอะไร อีกแป๊บเดียวคุณก็ตาย แต่เด็กพวกนี้เขายังอยู่ เขาขึ้นมาแทนคุณ เราน่าจะลองฟังเขานะ

เราไม่ได้ต้องการทวงคืนอำนาจให้ห้องเรียนสอนเรื่องเพศเขา เพราะว่าเด็กหาข้อมูลไปไกลกว่านั้นแล้ว แต่ห้องเรียนควรมีบทบาทต่อเรื่องเพศอย่างไรบ้าง

ระบบการศึกษาไทยชอบยกการเรียนรู้เรื่องเพศไปที่อื่น ไม่พูดกันแบบตรงๆ ให้เด็กเรียนรู้ผ่าน pornography ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเด็กมันไปเรียนรู้อะไร เพราะ pornography จำนวนหนึ่ง เรายังพบการผลิตซ้ำ sexism อยู่เลย แล้วคุณผลักเด็กไปหาน่ะ ไม่รู้สึกแปลกๆ หรือ เราไม่มีการชวนคุยให้เด็กๆ ใคร่ครวญถึงเรื่องเพศวิถีของตัวเอง หรือเปิดพื้นที่ให้คิดในมุมต่างๆ หรือให้เขาตรวจสอบตัวเองในเรื่องเพศในพื้นที่อื่นบ้าง

ในความเห็นอาจารย์ ‘ทำแท้งเสรี’ ในความเสรีควรจะมีอะไรบ้าง

อยากย้ำว่ามันไม่มีการ ‘ทำแท้งที่เสรี’ เพราะการทำแท้งจริงมันต้องอยู่ในเงื่อนไขที่รัฐกำหนด แต่เงื่อนไขนี่จะมากหรือน้อยและให้อำนาจในการตัดสินอยู่ที่ตัวผู้หญิงมากมายแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน

แต่พอคุณใช้คำว่าทำแท้งเสรีปุ๊บ คนจะเริ่มไปเชื่อมโยงถึงความไร้ระเบียบ ตรงนี้อันตราย การใช้คำต้องคำนึงว่ามันจะพาคนให้คิดถึงเรื่องนี้ไปในทางไหน ดิฉันพบว่าคนไทยเป็นโรคขี้กลัวและมักจะพูดว่าตัวเองกลัว กลัวความไร้ระเบียบ กลัวมั่วเซ็กส์ ซึ่งเดิมทีการยุติการตั้งครรภ์ อยู่ในระบบคิดที่พร้อมจะมีการประณามอยู่แล้ว ทางเลือกนี้ต้องระมัดระวังมากที่สุด ไม่ใช่การเลือกที่ง่าย

 

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า