เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมา เช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 คือการโยนประชาธิปไตยกลับลงเหวลึกอีกครั้ง เมื่อกองทัพพยายามกลับเข้ามากุมอำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ทว่าการต่อต้านจากฝั่งพลเรือนและขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ยังคงยืนหยัดต่อต้าน พร้อมๆ เหตุปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน รถน้ำ และแก๊สน้ำตา แรงกระเพื่อมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากเพียงพอจะกระตุกให้นานาชาติหันกลับมาจับตาสถานการณ์การเมืองเมียนมาอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่เหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี 1988
มีการคาดคะเนถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาว่า นี่อาจจะเป็นยุคสมัยของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของมวลชนที่ส่งต่อกันในระดับภูมิภาค หรือเมียนมาอาจตกอยู่ใต้การปกครองของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกยาวนานไปอีกหลายปี
การรัฐประหารครั้งนี้มีความน่าสนใจที่อาจหักปากกาเซียนการเมือง ตรงที่เมียนมานั้นกำลังเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ให้ที่ยืนแก่กองทัพอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การทำนายกันว่า การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นโดยง่ายนัก เพราะไม่มีเหตุผลที่คุ้มค่าเพียงพอจะกระทำ การเคลื่อนสายพานยานเกราะทั้งหลายและการหยิบจับกระบองควบคุมฝูงชนของตำรวจจึงกลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนงงเป็นไก่ตาแตกว่า อะไรดลใจให้ผู้นำกองทัพก่อการรัฐประหาร ความคุ้มค่าอยู่ที่ไหน และใครได้ใครเสียอะไรบ้าง
เพื่อจะทำความเข้าใจสภาวการณ์ดังกล่าว WAY ชวนฟังบทวิเคราะห์จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ในโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการด้านการเมืองเปรียบเทียบ รวมถึงเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษกรณีการเมืองเมียนมา
คำอธิบายจากชุดคำตอบของอาจารย์ดุลยภาคอาจช่วยให้ผู้คนเข้าใจบริบทที่เกิดขึ้น ไปจนถึงตัวแปรสำคัญทั้งหลายของการรัฐประหารในครั้งนี้ได้ และชวนมองข้ามกรอบพรมแดนของเมียนมาเพื่อถอดบทเรียนไปถึงการรัฐประหารที่อื่นๆ
ในเมื่อโควตาสำหรับกองทัพเมียนมาในรัฐธรรมนูญ 2008 ยังมีอยู่ เหตุใดกองทัพยังตัดสินใจทำรัฐประหาร
ผมมองว่ามาจากสองปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือ ‘เหตุปัจจัยสะสม’ ปัจจัยที่สองคือ ‘เหตุปัจจัยเฉียบพลัน’ สำหรับเหตุปัจจัยสะสม คือการที่สภาพรัฐเมียนมานั้นถูกกองทัพครอบครองมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เมื่อมองย้อนกลับไปนับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2010 จะพบว่าทั้งฝ่ายกองทัพและพลเรือนต่างพยายามดุลอำนาจกันอยู่เสมอตามกติการูปแบบการเมืองแบบใหม่ของเมียนมา
สองฝั่งนี้สู้กันมานานมากจนกระทั่งปี 2015 ที่ฝ่าย อองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในนามของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD – National League for Democracy) เหนือพรรคพันธมิตรของกองทัพอย่างพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP – Union Solidarity and Development Party) ทำให้กองทัพเริ่มหวั่นวิตกถึงการสยายปีกของฝ่ายพลเรือนที่อาจจะทำให้ตนเองไม่สามารถควบคุมหรือมีบทบาทนำในการเมืองระดับชาติอีกต่อไปถึงแม้จะมีที่นั่งกันไว้ให้ตามรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม
เหตุปัจจัยที่สอง หรือเหตุปัจจัยเฉียบพลัน คือ หลังจากมีการเลือกตั้งจากเหตุปัจจัยแรกนั้น กองทัพได้พยายามแสดงอำนาจด้วยการพยายามกล่าวว่าการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มาไม่มีความบริสุทธิ์ ไม่มีความยุติธรรม และบทบาทของ กกต. ที่บกพร่อง ถึงขนาดมีการออกมาแนะนำว่า ประเทศประชาธิปไตยแบบพหุพรรคอย่างเมียนมานั้นไม่ควรถูกนำโดยคนคนเดียว (อย่างเช่นอองซานซูจี)
แน่นอนว่าประเด็นนี้ถูกฝั่งที่ชนะการเลือกตั้งตีตกไปทั้งหมด หากปล่อยให้พรรค NLD ที่อยู่ในอำนาจมาแล้วถึง 5 ปี ได้อยู่ต่อไปอีก 5 ปีสำเร็จนั้น มรดกทางประวัติศาสตร์ของพรรค NLD จะดับอนาคตอำนาจนำของกองทัพ ทางออกจากทั้งสองปัจจัย คือสร้างรัฐเสนาธิปัตย์ชั่วคราวเพื่อตัดวงจรประชาธิปไตยไปเสียดีกว่าตั้งแต่ตอนนี้
หลังรัฐประหารไม่นาน เกิดขบวนการต่อต้านขนาดใหญ่หลายแห่ง คิดว่าจะนำไปสู่การซ้ำรอยเหตุการณ์ปี 1988 ไหม หรือว่ากองทัพจะยอมถอยกลับกรมกอง
ผมมองว่าผู้ทำรัฐประหารต้องมองอยู่แล้วว่า จะมีฉากทัศน์รูปแบบไหนที่ไม่เป็นผลดีเกิดขึ้นกับเขาบ้าง แน่นอนว่ากองทัพรู้ถึงจำนวนผู้สนับสนุนพรรค NLD อยู่แล้วว่ามีมากขนาดไหน คำถามว่ากองทัพจะยอมถอยหรือแข็งกร้าวใส่ขบวนการต่อต้านนั้น ผมมองว่าต้องพิจารณา ‘ปัจจัยสามขา’ ที่ส่งผลกับการเมืองเมียนมามาตลอด
ขาแรก คือ กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นคน ‘บะหม่า’ หรือเรียกอีกอย่างว่าคนพม่าแท้ ซึ่งกำลังดำเนินการประท้วงทั่วหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ไม่ใช่แค่ที่ย่างกุ้งอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มชาวบะหม่านี้ก็ถูกแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายด้วย คือนอกจากมีฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยแล้ว ยังมีอีกกลุ่มคือ USDA (Union Solidarity and Development Association) ที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุคสมัยของรัฐบาลตานฉ่วย ซึ่งก็ลอกแบบมาจาก Golkar (Party of the Functional Groups) ของอินโดนีเซีย
กลุ่ม USDA ประกอบไปด้วยลูกหลานชาวนา ลูกหลานข้าราชการ ผู้นิยมชมชอบกองทัพ และยังได้รับสิทธิพิเศษจากกองทัพอีก พูดง่ายๆ คือเป็นกลุ่มมวลชนภาครัฐที่มีผลต่อพรรค USDP เป็นอย่างมาก และยังเป็นการแบ่งแยกกันเองระหว่างประชาชนคนบะหม่า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยันการเคลื่อนไหวของมวลชนฝั่งประชาธิปไตยเอาไว้เป็นอย่างมาก
ขาที่สอง คือ แนวร่วมของกลุ่มต่างๆ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มแรกออกมากล่าวชัดเจนว่า ไม่เอาการรัฐประหารด้วยการเดินขบวนต่อต้านในรัฐกะเหรี่ยง รัฐคะฉิ่น ฯลฯ และยังมีผู้นำกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มที่ออกมากล่าวว่า การรัฐประหารจะทำให้เส้นทางสันติภาพง่อนแง่นลงกว่าเดิม และพวกเขาไม่มีความไว้วางใจสถานการณ์นี้นัก
ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่เข้าร่วมกับรัฐบาลทหาร โดยเห็นได้จากการติดต่อไปยังผู้นำมอญบางกลุ่มให้มาเข้าร่วมกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีขนาดเล็กลง
รวมไปถึงการจัดตั้งสภาบริหารปกครองรัฐ (State Administrative Council) ที่ครึ่งหนึ่งเป็นทหาร ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นพลเรือนที่มีการเชิญชวนเข้ามา บางส่วนในนั้นก็เป็นผู้นำพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย เพราะกองทัพรู้ว่าหากกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดเข้าร่วมขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ อาจจะนำไปสู่ภาวะสงครามกลางเมืองได้ ฉะนั้นการลดพลังของกลุ่มชาติพันธุ์ลงด้วยการดึงบางส่วนมาเป็นพวก จึงจะทำให้กองทัพควบคุมสถานการณ์ได้มากกว่า
ขาที่สาม คือ สังคมนานาชาติ โดยในขณะที่ผมกำลังพูดอยู่นี้ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ได้มีท่าทีชัดเจนแล้วว่าจะกดดันให้เกิดประชาธิปไตยในเมียนมาอีกครั้ง ซึ่งทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเองก็มีท่าทีในลักษณะเดียวกัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีรัฐบาลของประเทศจีน รัสเซีย และบางประเทศในอาเซียนที่พร้อมจะหนุนหลังกองทัพเมียนมาเช่นกัน
ในสมัยรัฐบาลตานฉ่วย ที่เมียนมาถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐ รัฐบาลทหารก็ใช้วิธีหันไปหาจีนและรัสเซีย ซึ่งจีนเองก็ดำรงนโยบายการต่างประเทศของตนเองไว้หนักแน่นอยู่แล้วว่า ไม่สนใจระบอบการปกครองของประเทศอื่น เพียงแต่ในระยะแรกก็เป็นมารยาททางการทูตปกติที่จะต้องกล่าวว่าเป็นห่วงสถานการณ์ภายในเมียนมา และหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ
แต่หากมองตามภูมิรัฐศาสตร์แล้วนั้น หากกองทัพเมียนมาให้ไฟเขียวแก่ทุนจีนอย่างเส้นทางของโครงการ One Belt One Road ที่แตกลงมาทางเมียนมา จีนก็คงไม่ติดขัดอะไรมาก ซึ่งโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐก็ต้องคิดหนักว่าจะกดดันเมียนมาอย่างไร เพื่อไม่ให้มากเกินไปจนเมียนมาหันกลับไปหาจีนหรือรัสเซียอีกครั้ง
ทั้งสามขาที่พูดมานี้มีผลกับทิศทางการเมืองภายในเมียนมาทั้งหมด ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหนต่อไป ซึ่งคงเห็นแล้วว่าคณะรัฐประหารชุดนี้ใช้ศิลปะทางการทูตและการหยิบยื่นผลประโยชน์มากพอสมควรในการลดทอนพลังของทั้งสามขานี้เพื่อให้เกิดผลกระทบกับอำนาจของตนเองให้น้อยที่สุด
อยากทราบถึงเหตุผลของขาแรกและขาที่สองว่า ทำไมถึงเลือกสนับสนุนกองทัพทั้งที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน อะไรคือ ‘คำสัญญา’ ที่กองทัพให้ได้มากกว่าพรรค NLD
ถ้ามองขาแรกอย่างชาวบะหม่า ต้องพูดว่ามีหลายแง่มุมมาก บ้างก็ชอบกองทัพอยู่แล้ว บ้างก็ชอบความเป็นเอกภาพของชาติ ความเป็นเมียนมา และไม่ชื่นชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนัก ยิ่งบวกกับฐานมวลชนของ USDP และ USDA ตามที่กล่าวไปตอนแรก แน่นอนว่าเห็นไม่ตรงกับกลุ่มชาวเมียนมาที่ต้องการประชาธิปไตยอยู่แล้ว
ฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยในเมียนมานั้น เห็นว่าบ้านเมืองกำลังจะเปลี่ยนแปลง เมียนมากำลังจะสามารถยืดหลังตรงในสายตาประชาคมโลก รวมไปถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะดีขึ้น การมีรัฐประหารทำลายเสียงที่พวกเขาเลือกพรรค NLD ไป ก็เหมือนการดับภาพความหวังความฝันของเขา มวลชนเลยแบ่งเป็นสองฝ่ายอย่างร้าวลึก
ขณะที่ทางกลุ่มชาติพันธุ์นั้น คงต้องพูดว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เพราะเราคงมองเห็นได้ว่า แม้กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มจะติดอาวุธและแสดงตนว่าเป็นศัตรูกับเมียนมามาอย่างยาวนาน แต่ถ้าหากมีการเจรจาสันติภาพว่าจะให้ Autonomy (อำนาจอิสระ) บางพื้นที่ เพื่อแลกกับการให้ผลประโยชน์บางอย่างให้กับรัฐบาลหรือกองทัพ เขาก็พร้อมเข้าสู่โต๊ะเจรจาทันที ถึงจะยังรบหรือยิงกันไประหว่างมีการเจรจาก็ตาม ซึ่งการรบลักษณะนี้ก็จะไม่ใช่การรบขนาดใหญ่แบบในอดีต แต่จะเปลี่ยนเป็นปฏิบัติการทางการทหารเล็กๆ ในบางพื้นที่เท่านั้น
หากจะให้พูดตรงๆ บางชาติพันธุ์อย่างมอญ หรือชาติพันธุ์ขนาดเล็กอื่นๆ นั้นตกขอบจากเวทีเจรจาและอำนาจการตัดสินใจภายในแกนกลางของอำนาจเมียนมามาตลอด การที่มีคนเชิญชวนให้เขาเข้าร่วมไปเป็นคณะรัฐมนตรี จึงเป็นโอกาสทองของเขา เหมือนที่เขากล่าวกับประชาชนของตัวเองว่า “การเมืองถ้าไม่แก้ด้วยการเมือง แล้วจะแก้ด้วยอะไร” เขาจึงไม่สนใจว่าคนที่คุยด้วยจะเป็นรัฐบาลทหารหรือพลเรือนก็ตาม
ขบวนการประชาธิปไตยในเมียนมาครั้งนี้ ดูจะมีบริบทล้อไปกับการเมืองของประเทศภูมิภาคใกล้เคียง คิดว่าจะกลายเป็น Arab Spring ของอาเซียนหรือไม่
มีความเป็นไปได้ เพราะหากยกทฤษฎีคลื่นประชาธิปไตย (Waves of Democratization) ของ ซามูเอล พี. ฮันติงตัน (Samuel P. Huntington, 1991) มาจับ จะเห็นว่าในทุกคลื่นของกระบวนการการทำให้เป็นประชาธิปไตยนั้นจะพัดพากระแสเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นเดียวกันมาสู่ภูมิภาคหรือประเทศใกล้เคียงเกือบเสมอ คล้ายกับการกลิ้งลูกหิมะ เราเรียกภาวะนี้ว่า ‘Snowball Effect’ ที่สะสมพลังเล็กๆ น้อยๆ จากบางประเทศ ก่อนจะค่อยๆ เติมแนวร่วมแล้วพัดผ่านไปยังประเทศใกล้เคียงต่อไป
อย่างไรก็ตาม การกลิ้งไปมาของคลื่นแต่ละระลอกจะมีคลื่นโต้กลับอย่างการพยายามฟื้นคืนชีพของระบอบเผด็จการเช่นกัน การโค่นล้มรัฐบาลอำนาจนิยมในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีปรากฏการณ์สำคัญอย่างรัฐทหารเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือการที่นางอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งในเมียนมาปี 2015 มาสู่คลื่นการต่อต้านอำนาจในฮ่องกงที่พัดมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งพัดต่อไปยังกรุงย่างกุ้งที่กำลังไหลขึ้นเหนือไปยังเมืองใหม่อย่างกรุงเนปิดอว์
สิ่งที่น่าสนใจคือ คลื่นดังกล่าวถูกคลื่นโต้กลับพัดไปเสียก่อนด้วยการรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งพอคลื่นประชาธิปไตยพยายามจะต้านทานอำนาจรัฐประหารอย่างขบวนการประชาธิปไตยในเมียนมาที่กำลังเกิดขึ้นนั้น น่าสนใจว่าจะแรงพอที่จะซัดคลื่นโต้กลับของกองทัพได้มากน้อยแค่ไหน กรณีนี้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันอย่างแนวร่วมสามขาที่กล่าวไปข้างต้นยาวไปจนถึงปัจจัยอย่างการวางผังเมือง
ผังเมืองมีผลต่อการรัฐประหารเมียนมามากน้อยแค่ไหน
ย้อนกลับไปยังช่วงเหตุการณ์ 1988 ที่เกิดการนองเลือด มีการปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตยโดยกองทัพเมียนมา กองทัพได้เล็งเห็นอันตรายจากการวางผังเมืองของกรุงย่างกุ้งที่ถนนไม่ใหญ่โตมากนัก มีย่านชุมชนและสลัมหลายจุดที่มีความแออัดอย่างมาก ซึ่งกลายเป็นที่บ่มเพาะการชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐและใช้วางแผนเพื่อเข้ายึดสถานที่ราชการ ซึ่งสถานที่ราชการก็ไม่ได้อยู่แยกขาดจากเขตที่อยู่อาศัย บางทีก็ปะปนอยู่ด้วยกัน
ฉะนั้น เวลาเกิดการชุมนุมที่แน่นขนัด ก็จะทำให้ผู้ชุมนุมเต็มถนนได้ง่าย มีเส้นทางที่หลากหลาย และการปิดล้อมสถานที่ราชการเป็นไปอย่างง่ายดายได้เช่นกัน ยังไม่รวมถึงการที่กองทัพเมียนมาพบเจอการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ชุมนุมโดยสถานทูตตะวันตกอย่างสถานทูตสหรัฐ ที่ตั้งอยู่ในกรุงย่างกุ้งอีก
กองทัพเมียนมาจึงพยายามปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของกรุงย่างกุ้งมาโดยตลอด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปราบปรามกลุ่มต่อต้าน เช่น หลังเหตุการณ์นองเลือดปี 1988 รัฐบาลทหารก็ได้ย้ายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยย่างกุ้งออกไปนอกเมือง เพื่อไม่ให้นักศึกษารวมพลังกันได้ง่ายเหมือนเดิม มีการสร้างสะพานลอยเพิ่ม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่เพื่อให้สามารถขึ้นไปวางกำลังสอดส่องและตอบโต้ฝูงชนได้ง่าย ไปจนถึงการปรับพื้นที่บริเวณฐานของลานเจดีย์ชเวดากองที่มักจะถูกใช้ในการชุมนุมบ่อยครั้ง
เอาง่ายๆ ว่า ในสายตาของกองทัพนั้น กรุงย่างกุ้งเต็มไปด้วยกลุ่มปฏิวัติและศัตรูของกองทัพเมียนมาทั้งสิ้น ทางออกของกองทัพคือ การวางแผนที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ลึกในหุบเขานั่นเอง
เมืองใหม่อย่างกรุงเนปิดอว์นั้นถูกมองในฐานะเมืองของทหารที่กองทัพสามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีการแบ่งโซนอย่างชัดเจน ไม่ว่าทำเนียบประธานาธิบดี รัฐสภา และที่ตั้งของกระทรวงต่างๆ ให้เชื่อมต่อกันยากด้วยถนนขนาดใหญ่
หากเขยิบขึ้นไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นจะเป็นเขตของกองทัพซึ่งอยู่ใกล้ภูเขาที่ได้รับการเจาะทำอุโมงค์หลบภัยและยากต่อการเข้าตี ซึ่งในขณะนี้ตัวของมินอ่องหล่ายเองก็อยู่ที่นั่น การต่อสู้ของกลุ่มประชาธิปไตยก็จะถูกลดพลังลงอย่างมากเมื่อไม่สามารถปิดล้อมสถานที่ราชการได้อย่างรวดเร็วแบบที่เคยทำได้ในกรุงย่างกุ้ง
ขณะเดียวกัน การจะทำให้ถนน 8-10 เลน เต็มไปด้วยผู้ชุมนุมก็เป็นไปได้ยาก การกดดันจากอำนาจตะวันตกก็เป็นไปได้ยาก เมื่อสถานทูตเฉพาะบางประเทศเท่านั้นที่ได้รับเลือกให้ได้ขึ้นมาตั้งที่กรุงเนปิดอว์ จึงพูดได้ว่าการจัดการพื้นที่ของกองทัพเมียนมานั้นมีผลทางการเมืองในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ กองทัพเมียนมายังมองไปถึงการถูกบุกโจมตีด้านการทหารจากอำนาจทางตะวันตก โดยหากมองตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้ว อย่างอิรักและอัฟกานิสถาน จะพบว่าการบุกเมืองหลวงโดยอำนาจตะวันตกทำได้โดยง่าย การเพิ่มพื้นที่ตั้งรับอย่างการย้ายเมืองหลวงขึ้นไปทางเหนือแทนที่จะตั้งเอาไว้ใกล้ปากแม่น้ำ จะทำให้สามารถทำสงครามขัดหน่วงชะลอการโจมตีได้มากขึ้น และถึงจะถูกรุกไล่มาถึงเมืองก็ยังสามารถไปหลบในป่าเขาเพื่อทำสงครามกองโจรต่อได้ และเมื่อเกิดการทิ้งระเบิดจากทางอากาศก็ยังมีอุโมงค์ลับที่กองทัพขุดเอาไว้มากมายบริเวณเขตทหารทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเนปิดอว์ให้หลบภัย กรุงเนปิดอว์จึงเปรียบเสมือนปราการเหล็กของกองทัพเมียนมาที่ยากจะรุกล้ำ ขนาดภัยธรรมชาติอย่างพายุไซโคลนนาร์กีสในปี 2008 ยังถล่มได้แค่ย่างกุ้ง แต่ไปไม่ถึงกลุ่มทหารที่เนปิดอว์
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยด้านความมั่นคงของกองทัพแล้ว การสร้างกรุงเนปิดอว์ยังมองถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจอย่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะเห็นว่ากรุงเนปิดอว์วางอยู่บนถนนที่ตัดกันเป็นกากบาท ทำให้การเดินทางมีลักษณะเป็น hub ทั้งเหนือ-ใต้-ออก-ตก การมีที่ตั้งอยู่ระหว่างสองเมืองใหญ่อย่างมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง บ่งบอกถึงการพัฒนาประเทศแบบเรขาคณิต อีกทั้งเนปิดอว์ยังเป็นเมืองที่มีแปลงเพาะปลูกทางการเกษตร เขื่อนกักเก็บน้ำ และระบบชลประทาน จึงเป็นเมืองที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและกสิกรรมในการเป็นแหล่งเสบียงเอาไว้หล่อเลี้ยงกองทัพหากเกิดศึกสงครามในระยะยาว
ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ก็ฉายภาพที่น่าสนใจ เพราะย่างกุ้งถูกกองทัพมองว่าเป็นมรดกตกทอดของการเป็นอาณานิคม การเก็บเมืองนี้ไว้เพียงแค่แง่มุมเศรษฐกิจและไปเปิดพื้นที่ใหม่ที่ฉายภาพชาตินิยมทางทหารย่อมดีกว่าสำหรับกองทัพ เห็นได้จากการสร้างโรงช้างเผือก สร้างเจดีย์ชเวดากองจำลอง สร้างอนุสาวรีย์สามกษัติย์ในกรุงเนปิดอว์ เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็น ‘มิ่งเมือง’ ที่สร้างขึ้นเพื่อหวนระลึกถึงอดีตของกองทัพเมียนมา
ในแง่มุมหนึ่งเป็นการพยายามสร้างความชอบธรรมให้ประชาชนยอมรับในตัวกองทัพมากขึ้นหลังจากปี 1988 จนถึงปี 2010 ในแง่ของการเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิแห่งกษัตริย์เมียนมาอันยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม
นอกจากการสร้างสิ่งปลูกสร้างแล้ว ยังมีการนำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์กลับมาให้ดำเนินกิจกรรมโดยผู้นำกองทัพอีกด้วย เช่น การยกยอดฉัตรเจดีย์ชเวดากอง ยกยอดฉัตรเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ และการจับช้างเผือก ซึ่งในอดีตจะกระทำโดยกษัตริย์เมียนมา
การจัดการยุทธภูมิของกองทัพเมียนมาน่าสนใจมาก มีที่ไหนใช้วิธีนี้อีกไหม
ผมมองเป็นเรื่องปกติทางภูมิศาสตร์การเมือง การย้ายเมืองหลวงจากบริเวณที่ติดปากแม่น้ำเข้าสู่พื้นที่ส่วนในที่เป็นลักษณะ hinterland (ภาคพื้นดินที่อยู่ลึกเข้าไปจากปากแม่น้ำ) นั้นพบเห็นได้เป็นการทั่วไป เพราะส่งผลต่ออัตราการเกิดของประชากรที่เพิ่มขึ้น พื้นที่รกร้างจะถูกเปลี่ยนและราคาสูงขึ้น ไปจนถึงการไหลเข้ามาของเงินทุนต่างๆ
เราจะเห็นตัวอย่างในหน้าประวัติศาสตร์ว่า การย้ายเมืองสำคัญกับการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไร เช่น การย้ายจากลากอสไปยังอาบูจาที่ไนจีเรีย การย้ายจากอิสตันบูลมายังกรุงอังการาในตุรกี จากกาลาจีไปอิสลามาบัดที่ปากีสถาน การย้ายในบางที่อาจจะไม่เหมือนเมียนมาตรงที่ของเมียนมาจะสอดแทรกยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและการควบคุมฝูงชนเอาไว้ด้วย
ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันคือ แผนการโยกย้ายกรุงเทพฯ ไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มองในแง่ยุทธศาสตร์การทหารของสงครามมหาเอเชียบูรพา คือต้องการย้ายไปยังจุดที่มีเทือกเขาน้อยใหญ่ มีหมอกบดบังการทิ้งระเบิด และมีลุ่มแม่น้ำป่าสักที่ยากต่อการนำเรือล่องเข้ามาปิดปากอ่าวดังที่กระทำกับกรุงเทพฯ ได้ง่าย
การย้าย ‘มิ่งเมือง’ ไปสู่เพชรบูรณ์ผ่านการตั้งถ้ำฤาษีสมบัติไว้เก็บพระแก้วมรกตนั้น ทำให้พูดได้ว่า ความคิดของกองทัพทั้งสองชาติในการมองการโยกย้ายเมืองหลวงเหมือนกันอย่างน่าประหลาด และแผนการทำเมืองหลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์นั้นมีชัยภูมิที่คล้ายกับกรุงเนปิดอว์ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
ความกลัวต่อการคุกคามจากอำนาจภายนอก ดูจะเป็นสาเหตุหลักในการย้ายเมืองหลวง ฉะนั้นการยึดอำนาจรัฐอย่างการยึดเมืองหลวงทั้งในอดีตและปัจจุบันก็คงไม่ต่างกันมาก?
ต่างกัน การรัฐประหารในอดีตคือการยึดวังเป็นหลัก เช่น การจับตัวเจ้าขุนมูลนายที่เป็นบุคคลสำคัญต่างๆ อย่างเจ้าจอม เจ้าวัง ทั้งหลาย ซึ่งทั้งไทยและเมียนมาใช้วิธีนี้เหมือนกันนับตั้งแต่โบราณ แต่ด้วยภูมิทัศน์การเมืองในปัจจุบันที่การรัฐประหารจะคำนึงถึงปัจจัยหลักอย่างการเติบโตของผังเมืองและสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากวัง เช่น การมีตึกสูงหรือตึกระฟ้าว่าอันตรายต่อยานเกราะแค่ไหน การวางพื้นผิวถนนว่าจุรถได้กี่คัน
หากเป็นประเทศไทย ต้องมองไปถึงปัจจัยอย่างค่ายทหารและสถานที่สั่งการของแม่ทัพภาค ซึ่งในไทยก็มักจะเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และต้องคอยจับตาดูการเคลื่อนที่ของหน่วยรบพิเศษที่กาญจนบุรีและลพบุรี หากทหารกลุ่มเหล่านี้เคลื่อนพลก็มักที่จะประสบความเร็จในการเข้ายึดเมืองหลวง แต่การยึดอำนาจในยุคร่วมสมัยของไทยและเมียนมาคงจะแตกต่างกันในแง่ที่กองทัพไทยอยู่ในอำนาจตรงๆ ได้ไม่นาน ขณะที่กองทัพเมียนมาอยู่ยาวเป็นสิบปี
ด้วยลักษณะผังเมืองของเนปิดอว์ นอกจากเอื้อให้ป้องกันการจู่โจมได้ง่ายแล้ว ยังเอื้อต่อการยึดอำนาจได้ง่ายเช่นกัน เห็นได้จากการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้นเกิดด้วยความรวดเร็ว เพียงแค่กองทัพสั่งการให้นำรถถังยานเกราะต่างๆ ไปปิดทางเข้าออกทำเนียบประธานาธิบดี ปิดรัฐสภา ก่อนจะจับกุมบุคคล VIP ต่างๆ จะพบว่าเริ่มและจบได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะเริ่มมีการต่อต้านขึ้นตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ก็คงบุกยึดกรุงเนปิดอว์ได้ไม่ง่ายนัก
อย่างไรก็ตาม การจัดการในระดับประเทศก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก เนื่องจากกองทัพมีภาคทหารบกคร่อมทับสถานที่สำคัญต่างๆ อย่างกลุ่มชาติพันธุ์อยู่มาก เช่น รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง ภาคมัณฑะเลย์ จึงทำให้การสั่งการให้บุกจับมุขมนตรีฝ่ายพรรค NLD ไม่ใช่เรื่องยาก
ในแง่ลำดับการสื่อสารของกองทัพ การออกแถลงการณ์คณะรัฐประหารแตกต่างจากเดิมไหม
มองในแง่หนึ่งก็คล้ายๆ กัน คือมีการยึดช่องสถานีสื่อต่างๆ แล้วใช้สื่อกระบอกเสียงของรัฐออกแถลงการณ์ กำหนดระยะเวลาในการอยู่ในอำนาจของตนเอง อย่างกรณีนี้ก็ขออยู่ในอำนาจ 1 ปี แล้วจึงให้ประกาศสภาวะฉุกเฉินเพื่อโอนอำนาจให้กับ มินอ่องหล่าย
สิ่งที่แตกต่างจากการรัฐประหารยุคก่อนคือ กองทัพต้องเข้าไปต่อสู้บนสนามของโซเชียลมีเดียด้วย ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่มากเมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวของขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐในสมัยก่อน ประกอบกับการที่ในสมัยช่วงกองทัพเมียนมาครองอำนาจก่อนปี 2010 นั้น โทรศัพท์มือถือมีราคาแพงมากจนแทบไม่มีใครได้ใช้ แต่หลังจากการปฏิรูปชาติช่วงปี 2010 เป็นต้นมา คนเมียนมามีมือถือใช้กันมากขึ้น
คนเมียนมาใช้เครื่องมือเหล่านี้คล่องแคล่วกันมากขึ้นจนส่งผลให้สมรภูมิการต่อสู้ไม่ได้มีแค่ในโลกแห่งความจริงอีกต่อไป แต่ยังลามไปถึงโลกเสมือนอีกด้วย ซึ่งการพยายามเข้าไปจัดการของกองทัพก็ไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้หมด ต้องจับตาดูต่อไปว่ากองทัพจะทำอย่างไรกับนวัตกรรมชนิดใหม่เหล่านี้ เพราะเอาเข้าจริงแม้แต่ตัวมินอ่องหล่าย ในสมัยก่อนก็มี Facebook เหมือนกัน (หัวเราะ)
ไหนๆ ก็พูดถึงการรัฐประหารกับโซเชียลมีเดียในเมียนมาแล้ว ของไทยเรามีการจัดการอย่างไรบ้าง
ผมมองว่าทาง คสช. ถนัดใช้สื่อหลักอย่างกรมประชาสัมพันธ์มากกว่าการลงมาสู้ในสนามโซเชียลมีเดีย ดังที่เห็นจากกระแสแฮชแท็กหรือความนิยมในอนาคตใหม่ อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกมาก
ในแง่ของรัฐบาลทหารเมียนมานั้นนับว่าน่าจับตากว่า เพราะเขามีการเตรียมการมาก่อนค่อนข้างนาน อย่างการวางสายไฟเบอร์ออพติค ที่ส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยยุทธศาสตร์ของกองทัพแต่ละที่ด้วยความเร็วสูงไว้ใต้ดินมานานแล้ว มีการพูดถึงการจะสร้างและพัฒนาหุบเขาซิลิคอนของเมียนมาขึ้น การเชื่อมทางรถไฟ การวางสายเครือข่ายคมนาคมเพิ่ม อย่างเมืองพินอูลวิน (เมเมียว) ที่อยู่เหนือจากมัณฑะเลย์ขึ้นไป 60 กิโลเมตร ก็ถูกออกแบบให้เป็นเมืองของทหารสื่อสารที่ทันสมัย จึงควรเฝ้าดูต่อไปว่ากองทัพจะใช้ประโยชน์จากโครงข่ายสื่อสารของตนนี้อย่างไรในการรับมือกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านหลายจุดทั่วประเทศ
คำถามสุดท้าย ถ้าเช่นนั้นในอนาคต ทางลงจากอำนาจของผู้นำรัฐประหารเมียนมาจะเป็นอย่างไรต่อไป
รัฐธรรมนูญปี 2008 มาตรา 417 ระบุว่าหากมีการประกาศสภาวะฉุกเฉิน ให้สถาบันนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ โอนอำนาจไปให้กองทัพจัดการโดยมีระยะเวลา 1 ปี ซึ่งก็ต้องดูไปอีกว่าภายในระยะเวลา 1 ปีนี้คณะรัฐประหารจะทำอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ระเบียบของรัฐธรรมนูญนั้นระบุให้สามารถ ‘ต่อเวลา’ การควบคุมได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 6 เดือน หากจะยืดระยะเวลาออกไปมากกว่านี้ให้เป็นดุลยพินิจของสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคนของกองทัพ
ที่สำคัญคณะรัฐประหารยังมีอำนาจเหนือสภาบริหารปกครองรัฐ (SAC) มีอำนาจเหนือกองทัพกว่าสี่แสนนาย รวมถึง ผบ.สส. ยังมีอำนาจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในการเกณฑ์กำลังพลเพิ่มภายใต้สภาวะที่ระบุชัดเจนว่าเป็น ‘สงครามประชาชน’ ซึ่งตามปกติแล้วในรัฐธรรมนูญหมายถึง สภาวะการเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นทั่วประเทศ หรือถูกบุกโจมตีจากต่างชาติ ทำให้ประชาชนอีกจำนวนมากจะกลายเป็นอาสาสมัครนักรบของรัฐ เพราะฉะนั้นแล้วก็อยู่ในอำนาจกันยาวๆ เกิน 1 ปีแน่นอน
ถ้าหากระยะเวลาล่วงเลยไปจนเกิดการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในอนาคต แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงจุดนั้นกองทัพเมียนมาต้องหาทางทำให้พรรค NLD ไม่สามารถกลับมาผงาดชนะการเลือกตั้งได้อีก และอาจจะหาทางทำให้พรรค USDP เข้มแข็งพอที่จะชนะการเลือกตั้งแน่ๆ โดยอาจจะไปจัดการกติกาการเลือกตั้ง ไปจัดการฐานเสียง การสร้างกฎระเบียบเพิ่มเติมต่างๆ หรืออาจจะเป็นการยัดข้อหาสมาชิกคนสำคัญของพรรค NLD
หากโยนข้อหาเข้าหาฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยเรื่อยๆ ยังไงก็ต้องอ่อนกำลัง ตอนนี้ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่านางอองซานซูจี จะกลับมาต่อสู้ทางการเมืองด้วยกำลังวังชาเหมือนเดิมได้อย่างไร ต่อให้มีการตั้งสภาหรือรัฐบาลขึ้นมาอีกแห่งเพื่อสู้กับ SAC ของมินอ่องหล่าย ก็เป็นที่แน่นอนว่า อำนาจความเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้นไม่สามารถสู้มินอ่องหล่ายได้
ถึงที่สุด ต่อให้เกิดกระบวนการเลือกตั้งและยุติสภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว ถึงตัว SAC อาจจะสลายไป แต่กระบวนการที่ฝั่งผู้ก่อการรัฐประหารนั้นยังมีอยู่ และกองทัพก็ยังคงควบคุมปัจจัยสำคัญทางยุทธศาสตร์และอำนาจนำทางการเมืองระดับชาติเอาไว้ต่อไปอีกมากมายก็ยากที่จะโค่นล้ม