บุคคลทั้งสองต่างเชื่อมโยงกันผ่านงานเขียนว่าด้วย ‘การเลี้ยงลูก’
ท่านหนึ่งคือจิตแพทย์อาวุโส ผู้ใช้เกม หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ และปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นฐานในงานเขียน เพื่อสร้างความเข้าใจให้พ่อแม่ที่กำลังถูกสั่นคลอนจากระบบการศึกษาที่กดดันและถูกบีบคั้นจากสภาพสังคม
อีกท่านคือแพทย์หญิงผู้เชื่อในการสร้างความมั่นคงภายในให้ลูก มากกว่าการซ่อมแซมภายหลังจากเขาเติบโตเป็นวัยรุ่นที่กำลังระบมไปด้วยบาดแผล ทั้งสองท่านรู้จักกันผ่านงานเขียนของกันและกัน งานเขียนที่ไปไกลกว่าการสั่งสอน ว่าพ่อแม่ควรหรือไม่ควรทำอะไร หากแต่เป็นงานเขียนที่เข้าใจหัวอกพ่อแม่ ความทุกข์ยาก และข้อจำกัดที่เราทุกคนกำลังเผชิญ
นัยสำคัญที่สะท้อนผ่านงานของทั้งสองท่าน จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงว่า “เราจะเลี้ยงลูกอย่างไร” แต่กินความไปไกลถึงการตั้งคำถามและแสวงหาหนทางที่ว่า เราทุกคนจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อให้ลูกมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยได้อย่างไร ท่ามกลางสภาพบ้านเมืองที่อัตคัดคุณภาพชีวิตที่ดี และขัดสนซึ่งสิทธิเสรีภาพ
WAY สนทนากับ ‘หมอโอ๋’ แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ผู้ที่ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยกล่าวถึงว่า “คุณหมอผู้เขียนเรื่องยากให้ง่าย เขียนเรื่องอ่อนไหวให้นุ่มนวล โดยยืนหยัดในความถูกต้องเสมอ”
คุณหมอประเสริฐตั้งชื่อหัวข้อปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 ว่า ‘เลี้ยงลูกในโลกใหม่ พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’ หมอโอ๋เห็นอะไรผ่านจินตนาการของคำว่า ‘โลกใหม่’ และ ‘อนาคต’
มีสุภาษิตแอฟริกันว่า ‘It takes a village to raise a child’ คือการเลี้ยงลูก ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของชุมชน สังคม ที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปอย่างไร การที่ประเทศของเราเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยแปลว่าการรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน การรับฟังความต้องการของประชาชน นั่นจะทำให้เราเห็นเลยว่า มนุษย์ทุกคนต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกคนในสังคมจะส่งผลสู่เด็กที่อยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นหมอคิดว่าหัวข้อที่อาจารย์ประเสริฐตั้งไว้จึงมีความเชื่อมโยงกัน คือเมื่อใดก็ตามที่ประเทศรับฟังเสียงของคนในสังคม เมื่อนั้นจะทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพในสังคม และนั่นคืออนาคตใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้จริง
คาดหวังอะไรกับปาฐกถาในปีนี้
สิ่งที่อาจารย์ประเสริฐจะพูดก็คือเรื่องการพัฒนาศักยภาพเด็ก ซึ่งไม่ได้อาศัยแค่การที่เด็กคนหนึ่งมาจากครอบครัวที่ฉลาด พ่อแม่ฉลาด หรือครอบครัวที่เลี้ยงดูอย่างดี แต่ยังต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานรอบตัวเยอะมากที่จะโอบอุ้มและทำให้เด็กคนหนึ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง Social Determinants of Health หรือปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาวะของเด็ก
อีกส่วนคือ เรื่องการให้โอกาสในการเติบโตทางความคิดของเด็กยุคใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เขาลุกขึ้นมาเรียกร้อง ตั้งคำถาม รวมถึงความอยากเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะเราไม่สามารถทำให้เขาเติบโตมาในสังคมที่เขาเชื่อว่า เสียงของเขาไม่มีใครรับฟัง หรือเขาไม่มีอำนาจที่จะตั้งคำถามกับอะไร หรือกระทั่งไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ นั่นเป็นสังคมที่น่าเศร้ามากสำหรับวัยรุ่น
อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หมอโอ๋กับหมอประเสริฐได้ทำความรู้จักกัน
เราเป็นแฟนคลับอาจารย์ประเสริฐ ตามอ่านงานของอาจารย์ซึ่งถือเป็นไอดอลในเรื่องงานเขียน ความคิด เราติดตามงานอาจารย์มายาวนานและได้รู้จักกันผ่านงานเขียน ต่อมาได้เจอตัวจริงในวันที่อาจารย์มาพูดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เราก็เข้าไปแนะนำตัว อาจารย์ก็บอกว่า “ได้ตามอ่านงานของหมออยู่นะ”
อาจารย์มักให้กำลังใจคนที่อาวุโสน้อยกว่า มีประสบการณ์น้อยกว่า เวลาที่อาจารย์มาบอกว่า สิ่งที่เรากำลังพูดถึงและเขียนถึงมันถูกต้อง เราก็รู้สึกมีกำลังใจในการทำงานกับสิ่งที่เราอยากทำ มีวันหนึ่งอาจารย์ส่งข้อความหลังไมค์มาว่า อาจารย์เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อซื้อหนังสือเล่มหนึ่งโดยเฉพาะ แล้วอาจารย์ก็ส่งหนังสือที่เราเขียนมาให้ดู หรือวันที่เราเขียนบทความที่อาจจะแปลกแยก หรือบางทีก็ชวนสังคมคิดในอีกมุมหนึ่ง อาจารย์ก็จะหลังไมค์มาตลอดว่าอาจารย์ชื่นชมกับสิ่งที่เราเขียน คือเนื่องจากอาจารย์เป็นนักเขียน อาจารย์ก็จะมีคำชมแบบที่เราจำไม่ลืม เช่น “สามเรื่องนี้ ไม่มีใครเขียนได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว” โห ฟังแล้วแบบ อยู่ในใจไปเป็นปี หน้าบานอยู่ 300 วัน
หมอประเสริฐมักจะพูดเสมอว่า “ไม่เชื่อว่าเด็กจะมีไอคิวดีมาตั้งแต่เกิด” เพราะสิ่งที่หมอประเสริฐเห็นคือ เด็กคนหนึ่งต้องขวนขวายพอสมควร มีสภาพแวดล้อมที่ดีพอสมควร จึงจะสามารถเป็นเด็กที่มีความคิด หรือเก่งในการเรียน
สิ่งที่อาจารย์ประเสริฐพูดนั้น ใกล้เคียงกับความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์เลยนะคะ แต่ก่อนเรามีความเชื่อว่าเด็กคนหนึ่งเกิดมาสมองดีเป็นเพราะเขามีพรสวรรค์ มีกรรมพันธุ์ดี พ่อแม่ฉลาด แต่ปัจจุบันวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่า สิ่งที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมามีสมองที่ดี หรือหลายครั้งเราใช้คำว่า ‘ไอคิวดี’ มักมาจากการเลี้ยงดู สถานะของพ่อแม่ และการเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นปัจจัยร่วม เพราะฉะนั้นศาสตร์ที่เรียกว่า social determinants หรือปัจจัยที่กำหนดสุขภาวะของคนจึงมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งความฉลาดไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องไอคิวที่ดี เพราะไอคิวที่ดีเป็นแค่การวัดความฉลาดในรูปแบบการคิดวิเคราะห์ แต่ว่ายังมีความฉลาดด้านอื่นๆ ที่เด็กแต่ละคนมีศักยภาพติดตัวต่างกัน หรือที่เราเรียกกันว่า ‘พหุศักยภาพ’ บางคนเกิดมามีความสามารถทางดนตรี กีฬา แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากแค่ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ แต่ได้มาจากการโอบอุ้มเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโต ซึ่งมีผลโดยตรงกับเด็กจริงๆ
เวลาพูดว่า ‘สภาพแวดล้อม’ หมายถึงสภาพแวดล้อมในความหมายแบบไหน
สภาพแวดล้อมก็คือ ครอบครัวที่มีความพร้อม มีแม่ที่อยู่ดูแลใกล้ชิด มีคนเลี้ยงดูที่โอบอุ้ม ให้พื้นที่ในการเรียนรู้ เติบโต ชวนเล่น สภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย มีอาหารการกินพอเพียง ไม่อัตคัดขาดแคลน มีสิ่งกระตุ้นเร้าที่ไม่เหมาะสมน้อย เช่น คลิปวิดีโอต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยก็คือสภาพแวดล้อมของสังคมที่เห็นคุณค่าและความสำคัญในการเติบโตของเด็ก
ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันเราจะเห็นเลยว่าตัวเลขการตัดสินใจมีลูกลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะสภาพสังคมปัจจุบันไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่งได้ พ่อแม่จำนวนมากต้องปากกัดตีนถีบทั้งคู่ เพราะการหาเงินเพียงคนเดียวไม่พอต่อค่าใช้จ่าย ฉะนั้น เด็กจำนวนหนึ่งจึงเติบโตมาในสภาพที่ถูกส่งไปให้คนอื่นเลี้ยงดู อาจเป็นปู่ย่าตายายหรือสถานเลี้ยงเด็กในชุมชน รวมไปถึงเรื่องความขาดแคลนทางด้านทุนทรัพย์ อาหารที่ได้รับไม่เหมาะสม แม่ที่ไม่มีโอกาสอยู่ให้นมลูกได้นานพอ เพราะต้องรีบกลับไปทำงานหาเงิน สิ่งเหล่านี้คือสภาพสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังไม่นับเรื่องการศึกษาที่พ่อแม่อยากจะส่งลูกเข้าโรงเรียนที่ดีพอ อยากให้ลูกเข้าถึง แต่ก็เป็นโรงเรียนที่ราคาสูง ทำให้ปัจจุบันมีพ่อแม่เพียงส่วนน้อยในสังคมที่สามารถเข้าถึงโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนสองภาษา หรือโรงเรียนที่ใช้แนวทาง play based learning เหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่จำนวนมากจับต้องไม่ได้
สภาพสังคมปัจจุบันเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ครอบครัวชนชั้นกลางถึงล่างไม่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ลูกได้ คำถามคือ จะมีตัวแปรใดที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง
คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเงิน แค่อากาศดีๆ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เราจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย คุณก็หาไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีเครื่องฟอกอากาศราคาหลักหมื่นหลักพัน ครอบครัวจำนวนมากจึงไม่สามารถมีชีวิตที่ดีได้ แม้กระทั่งการจะมีอากาศที่สะอาดปลอดภัยสำหรับลูก
ตอนนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมันสูงมาก คนจำนวนหนึ่งร่ำรวย ดึงตัวเลข GDP สูงขึ้น แต่กลับเป็นความมั่งคั่งแบบรวยกระจุก จนกระจาย แต่คนจำนวนหนึ่งต้องดำรงชีวิตด้วยค่าแรงราคาถูก ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ อาหารแพงขึ้นทุกวัน โรงเรียนก็ค่าเทอมสูงหากอยากได้โรงเรียนที่มีคุณภาพดีพอ ไหนจะค่าเรียนพิเศษ หรือกระทั่งการที่เด็กจะสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่มีความปลอดภัย หรือสนามเด็กเล่น ก็กลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เฉพาะคนมีเงิน คุณไม่สามารถจะมีสนามเด็กเล่นดีๆ หรือสวนสาธารณะดีๆ ใกล้บ้านได้มากมายนัก เพราะว่าจำนวนหนึ่งมันถูกแปรไปทำอย่างอื่น รวมถึงเรื่องที่ว่าเด็กจำนวนหนึ่งในประเทศไทยถูกละทิ้ง ถูกทำให้หลุดจากระบบการศึกษา ดูง่ายๆ อย่างภาวะโควิดที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เด็กจำนวนหนึ่งอาจมีโรงเรียนที่ดี ครูดี เทคโนโลยีดี เด็กมีเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ เพียบพร้อม สามารถแยกห้องกันเรียนในบ้านได้ แต่เด็กอีกจำนวนหนึ่งไม่มี โดยเฉพาะหน้าจอที่เขาจะใช้เรียนหนังสือ บ้างต้องนั่งดูภาพจากหน้าจอเล็กๆ บ้างไม่มีเงินจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กแต่ละคนเข้าถึงคุณภาพชีวิตและการศึกษาที่ดีได้ไม่เท่ากัน สิ่งหนึ่งที่หมอสังเกตคือ เวลาที่เราสอนนักเรียนแพทย์ นักเรียนแพทย์มีแต่ลูกคนรวย เราเห็นเลยว่า พวกเขาคือคนที่มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนดีๆ มีพ่อแม่ส่งไปติว เข้าสถาบันกวดวิชา มีเงินจ้างทำ portfolio ในการสัมภาษณ์หรือยื่นใบสมัครต่างๆ ซึ่งได้เปรียบคนอื่นเพราะว่ามีเงิน ความเหลื่อมล้ำตรงนี้ทำให้คนจำนวนหนึ่งถูกเลือก ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งต้องจมอยู่กับความลำบาก กลายเป็นความยากจนที่ถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น ‘รวยเจ็ดชั่วคน จนเจ็ดชั่วโคตร’ เป็นคำกล่าวที่เห็นภาพได้ชัดในสังคมไทย
เพราะฉะนั้นโอกาสที่เกิดมาในสังคมไทยแล้วจะลืมตาอ้าปากได้แบบพิมรี่พายพลิกชีวิต มันน้อยมาก คนส่วนใหญ่เขาไม่สามารถดำเนินชีวิตได้แบบนั้น คนส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตได้แค่โตมาก็ไปเป็นแรงงาน พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียน ไม่ใช่แค่ค่าเทอมที่รัฐอาจจะให้ฟรี แต่ยังมีค่าใช้จ่าย ค่าหอพัก ค่าอะไรต่างๆ คนจำนวนหนึ่งจึงหลุดจากระบบการศึกษา ไปทำงานหาเช้ากินค่ำ เป็นแรงงานช่วยพ่อแม่ แล้วหลุดออกจากระบบไปโดยที่เขาไม่มีโอกาสที่ดีเหมือนเด็กคนอื่น
เราสามารถพูดได้ไหมว่า ต่อให้ครอบครัวไม่ได้มีเงินมาก แต่ถ้าเข้าใจวิธีการเลี้ยงลูกในโลกใหม่ อาจจะช่วยให้เกิดการเลี้ยงดูที่ดีได้
เอาจริงๆ นะ คำว่า ‘สภาพแวดล้อมที่ดี ครอบครัวไม่ต้องมีมาก’ ถ้าพูดแบบสวยหรูหน่อยก็คงทำได้ คุณอาจเลี้ยงลูกไปในทางที่ดีได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่อาจจะอัตคัดขัดสน แต่ถ้าว่ากันตามจริง หลายอย่างก็ไม่ใช่หน้าที่ของครอบครัวอย่างเดียว อย่างเวลาเราพูดว่า “อ่านนิทานให้ลูกฟังสิ” นิทานเล่มละหลายร้อยนะคะ ซึ่งหลายครั้งมันคือค่าอาหาร ค่าแรง ค่ายา ซึ่งพอเขาต้องเจียดมาซื้อสิ่งนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ฉะนั้นจะดีกว่าไหมถ้าเรามีห้องสมุดชุมชนที่รัฐให้การสนับสนุน ถ้ารัฐเห็นว่าการอ่านของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ จะดีกว่าไหมที่โรงเรียนจะลงทุนเรื่องห้องสมุดเพื่อให้เด็กทุกคนสามารถยืมหนังสือได้ โดยที่เราไม่ต้องควักสตางค์ของตัวเอง เพราะฉะนั้นถามว่า ครอบครัวทำได้ไหม ทำได้ แต่หมอเชื่อว่ามันจะทำได้ดีกว่านี้ถ้าได้รับการโอบอุ้มจากรัฐที่เห็นคุณค่าของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์
หมายความว่าการเลี้ยงลูกในโลกใหม่ รัฐต้องไม่ผลักภาระให้ครอบครัวดูแลกันเอง หรือจัดการกันเองแบบเดิมอีกต่อไป
แล้วเราจะมีรัฐไปทำไม ถ้าคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของเราเท่านั้น เราเปิดโรงเรียนเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างจึงต้องการการโอบอุ้มจากเงินภาษีที่เราจ่าย หรืออะไรที่เป็นของส่วนกลางหรือแชร์การเรียนรู้กันได้ ถ้ามีเจ้าภาพจัดให้เกิดขึ้นได้ มันก็เป็นสิ่งที่ควรลงทุน
หนึ่งในประเด็นที่หมอประเสริฐยกขึ้นมาคือ ทุกวันนี้มีผู้มาขอคำปรึกษาเรื่องครอบครัวและเด็กปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสิบกว่าปีแล้ว สถานการณ์เช่นนี้บอกอะไรเราบ้าง
มันบอกเราว่า สภาพสังคมนี้ไม่เอื้อต่อการเติบโตของเด็กจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่าเราเห็นภาพตรงนั้นได้ชัดเจน ตั้งแต่แรกเกิด พ่อแม่ไม่มีโอกาสได้ดูแลลูกเอง พ่อแม่จำนวนมากต้องส่งลูกไปให้คนอื่นเลี้ยงดูแทน เพราะว่าตัวเองต้องกลับเข้าสู่ระบบการทำงาน ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีเงิน แล้วพ่อแม่จำนวนหนึ่งไม่ได้เลี้ยงแค่ลูกนะคะ ยังต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า ไม่มีรายได้ และอยู่ในสังคมที่ไม่มีสวัสดิการให้ผู้สูงอายุได้มีชีวิตอย่างมีคุณภาพ
เมื่อพ่อแม่จำนวนหนึ่งต้องปากกัดตีนถีบ เด็กจำนวนหนึ่งจึงเติบโตมาแบบขาดความรัก ขาดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รัก เป็นที่ต้องการ ขาดการพัฒนาศักยภาพ ไม่มีคนเล่นด้วย เพราะอยู่กับปู่ย่าตายายที่แก่เกินกว่าจะพาเล่นอะไรมากมาย ต้องอยู่กับหน้าจอบ้าง อยู่กับการเล่นเกม เล่นโทรศัพท์ เพื่อจะได้ผ่านไปวันๆ
เด็กจำนวนหนึ่งที่เติบโตมาแบบนี้ ทำให้ตัวตนข้างในไม่มั่นคง หรือเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ชุมชนที่ไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตของเด็ก ชุมชนที่ยาเสพติดราคาถูกมาก รวมไปถึงเรื่องของสื่อที่เข้ามามีบทบาทเยอะ ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ สู้ไม่ได้ พอเขาไปเห็นชีวิตที่มีความสุขของหลายๆ คนผ่านสื่อออนไลน์ มันก็ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีตัวเลขสูงขึ้นทุกๆ ปี ที่คลินิกหมอเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ คือผู้ป่วยซึมเศร้าในวัยรุ่น
สิ่งนี้สะท้อนว่า เรื่องการเลี้ยงดูในครอบครัวมีผลต่อการเติบโตของเด็ก ยังไม่รวมเรื่องระบบการศึกษาที่ต้องบอกว่ามันก็มีผลต่อปัญหาของวัยรุ่นปัจจุบันสูงมาก การศึกษาที่ทำให้เกิดการแข่งขันตั้งแต่วันที่ยังเป็นเด็กอนุบาล เด็กต้องแข่งกันสอบเข้า ป.1 ต้องอยู่ในระบบแพ้คัดออก คุณดีไม่พอ คุณใช้ไม่ได้ คุณคือเด็กที่สร้างความผิดหวังให้แก่พ่อแม่ตั้งแต่ในวัยเล็กๆ เพราะฉะนั้นเด็กจำนวนหนึ่งจึงเติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวตน
ระบบการศึกษาที่เร่งเรียน ทำให้เด็กต้องรู้ ต้องเขียนคล่องในวัยที่ยังไม่ใช่วัยของเขา แต่เป็นวัยที่ควรจะเล่น ควรจะฝึก EF ควรพัฒนาสมอง แต่กลับไปเร่งเรียน เด็กถูกตัดเกรด ถูกแบ่งชั้นวรรณะในโรงเรียน เป็นห้องคิง ห้องบ๊วย สอบได้คะแนนดีก็ยังดีไม่พอ เพราะว่าไม่ได้อันดับ 1 หมอเจอเด็ก 4.00 มาด้วยโรคซึมเศร้า เพราะแม่บอกว่า “มันเป็น 4.00 ที่ได้แค่ 80 กว่าคะแนน เป็นอันดับที่ 17 แต่มีเด็กที่ได้ 90 กว่าคะแนน แล้วสอบได้อันดับเลขตัวเดียว” นี่ขนาดเกรด 4.00 ได้ที่ 17 คุณยังไม่พอใจกับชีวิต นี่ไม่ได้เป็นปัญหาของเด็กแล้วนะ แต่เป็นปัญหาของระบบการศึกษาที่ฆ่าเด็ก ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งรอด อีกจำนวนหนึ่งก็ตายไปกับความไม่มีตัวตน ตายไปกับการรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอในระบบแพ้คัดออก
พอเข้ามหา’ลัยก็อยู่ในระบบที่…คนรวยเอื้อมถึง เข้าอินเตอร์ได้ เด็กจำนวนหนึ่งที่เข้ารอบก็ต้องไปแข่งกันแล้วเลือกเด็กจำนวนหนึ่งเท่านั้น เด็กอีกเป็นแสนคนต้องอยู่กับความล้มเหลว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กอยู่กับความเครียด ความคาดหวังที่สูงของพ่อแม่ เอาจริงๆ เราอยู่ในประเทศที่รู้สึกว่า เราพึ่งพาลูกนะ หลายครอบครัวมองว่าลูกคือความหวัง ชีวิตข้างหน้าฉันจะเป็นยังไงก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกคนนี้มันจะช่วยฉุดชีวิตฉันขึ้นไปได้ไหม แล้วก็ทุ่มเทเหมือนกับระบบการศึกษา เงินทองที่เก็บมาก็ทุ่มกับลูก เพราะคิดว่าลูกจะพาให้ชีวิตรอดหรือเปลี่ยนชีวิตตัวเองได้ เพราะว่าตัวเองไม่มีหลักประกันอะไรข้างหน้า เราไม่มีระบบสวัสดิการ เราไม่มีระบบประกันหรืออะไรที่ทำให้รู้สึกว่า วันข้างหน้าชีวิตเราจะปลอดภัย
เพราะฉะนั้นหลายเรื่องจึงไปกดดันอยู่กับเด็ก ซึ่งจะต้องแบกความคาดหวังของครอบครัวไว้ด้วย เด็กจำนวนหนึ่งจึงเติบโตมาท่ามกลางความเครียด ความรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ สู้เขาไม่ได้ กลายเป็นความซึมเศร้า รวมไปถึงตัวตนที่ไม่ถูกสร้างให้ดีตั้งแต่เล็กๆ ก็เลยเป็นปัญหาที่เราเจอเยอะขึ้นในปัจจุบัน
มายาคติส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนสมัยก่อนคิดว่าฉันลำบากกว่าเธอเยอะ ฉันไม่เห็นจะซึมเศร้า เซง่ายเหมือนเธอเลย ฉันเติบโตมากับไม้เรียว สิ่งนี้คือมายาคติที่คนรุ่นหนึ่งพูดกับคนอีกรุ่นหนึ่ง แล้วผลของมันก็จะต่างกันด้วย?
ใช่ ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะประเทศไทยเป็นระบบอำนาจนิยม สังคมโตมากับความเชื่อว่าลูกเป็นสมบัติของพ่อแม่ ครูมีหน้าที่อบรมสั่งสอนนักเรียน รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แล้วก็ฝังหัวเราว่า การจะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งมันต้องใช้อำนาจ ต้องใช้การควบคุม ต้องใช้การทำให้กลัว ทำให้หลาบจำ เพราะฉะนั้นก็เลยทำให้เราโตมากับสังคมที่มีความเชื่อแบบนั้น
แต่ต้องบอกอย่างนี้ค่ะว่า ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปมาก เด็กยุคใหม่ไม่ได้โตมากับสังคมแบบที่พ่อแม่ผ่านยุคสงคราม เราต้องเกาะกลุ่มกัน ต้องรักชาติ เราจึงจะรอด แต่เด็กยุคใหม่โตมากับสิ่งที่เป็นปัจเจกมากๆ เขามีความเป็นตัวเอง เขาเข้าใจเรื่องสิทธิ เขาเข้าใจเรื่องความแตกต่าง เขาเข้าใจเรื่องความหลากหลายของมนุษย์ เมื่อก่อนคุณผ่านการใช้ชีวิตที่มันต้องเคี่ยวกรำ ข้าวกว่าจะกินได้ คุณต้องไปขัดหม้อ ก่อไฟ หุงข้าว เดี๋ยวนี้เด็กเขาเติบโตมากับทุกอย่างปุ่มเดียว เพราะฉะนั้นการเติบโตมามันก็ต่างกันจริงๆ ซึ่งเรายอมรับว่าเด็กยุคใหม่ก็อดทนน้อยกว่า เขาอาจไม่ได้อึดเท่ากับคนสมัยก่อน เพราะว่าไม่ได้เติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบนั้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ยุคใหม่อาจจะต้องช่วยลูกว่า ลูกอาจจะต้องฝึกในเรื่องนี้
ในขณะเดียวกัน เขาเติบโตมากับสิ่งเร้าหรือสิ่งยั่วยุนอกบ้านที่ต่างกับคนสมัยก่อนมาก สมัยก่อนถูกตียังไงก็ต้องอยู่แต่ในบ้านแหละ มันไม่มีทางไป ติดต่อใครก็ไม่ได้ คุยได้มากที่สุดก็คือเพื่อนข้างบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างมันเชื่อมถึงกันหมด สิ่งดึงเร้าภายนอกสูงมาก มีตั้งแต่เกม หน้าจอ โซเชียลออนไลน์ หรือสื่อต่างๆ มีสิ่งที่พร้อมดึงเด็กออกไปมากมาย ฉะนั้นถ้าเรายังเลี้ยงดูด้วยวิธีการเดิมๆ ที่ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งรู้สึกเครียด อึดอัด กดดัน เด็กจำนวนนั้นก็พร้อมที่จะผละออกไปและมีทางไป ซึ่งเพจอาจารย์ประเสริฐก็จะเน้นเรื่องการเลี้ยงลูกในยุคใหม่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราชื่นชมมาก เพราะอาจารย์เป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ แต่อาจารย์ปรับตัวกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาสมองของเด็ก การที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงเข้ามาช่วยสั่งสอนเด็ก เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ เราจึงรู้สึกว่าอาจารย์เป็นคนที่มีความทันสมัย และอัพเดทความรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ถ้าดูประวัติการทำงาน จะเห็นว่าหมอประเสริฐเป็นจิตแพทย์ผู้ใหญ่ แต่พอมาข้องแวะกับประเด็นเลี้ยงลูก เลยทำให้ถูกเข้าใจว่าเป็นหมอเด็ก ส่วนอีกบทบาทหนึ่งที่คนอาจจะไม่เห็นโดยเฉพาะในวงการแพทย์เอง คือคุณหมอเป็นนักเขียน เขียนแบบเอาเป็นเอาตายมาก อยากให้หมอโอ๋เล่าส่วนที่เราไม่เคยเห็นหน่อย
งานเขียนของอาจารย์เต็มไปด้วย empathy เป็นงานเขียนที่เข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์พ่อแม่ เข้าใจสังคมที่เขาอยู่ เป็นสังคมที่คนปัจจุบันกำลังเผชิญ งานเขียนของอาจารย์เป็นงานเขียนที่มีเสน่ห์ ทรงพลัง ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่ามีใครสักคนที่ไม่ได้เฆี่ยนตีเขาด้วยความรู้ ความถูกต้อง แต่กำลังโอบอุ้มเขาให้ทำในเรื่องง่ายๆ งานเขียนของอาจารย์จะเน้นว่าไม่ต้องทำอะไรเยอะ เกิดมาอุ้ม เล่น อ่านนิทาน ทำงาน เรารู้สึกว่าเป็นอะไรที่จับต้องได้ ไม่ได้เป็นทฤษฎีที่สูงส่ง แต่ว่าเอามาทำได้จริง ก็เลยทำให้งานเขียนของอาจารย์เป็นงานเขียนที่มีคุณค่า และที่สำคัญอาจารย์อ่านเยอะมากและรู้เยอะมาก สามารถกลั่นกรองสิ่งที่อาจารย์รู้ออกมาให้สนุกและอ่านง่าย
คำถามสุดท้าย ถ้าการเมืองดี สถาบันครอบครัวจะดีขึ้นไหม
เราทุกคนจะดี ถ้าการเมืองดี อย่าว่าแต่ครอบครัว
บทสัมภาษณ์ชุด ‘นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18’ นี้ ประกอบด้วยการสนทนากับ 1) ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ 2) จิราภรณ์ อรุณากูร 3) เรณู ศรีสมิต 4) สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และ 5) สุภาวดี หาญเมธี เพื่อประกอบตัวตนและความคิดของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 หัวข้อ ‘#เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’
จัดงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 รับชมการถ่ายทอดสดออนไลน์จากห้อง ศ 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ EconTU Official และ way magazine เวลา 09.30-12.10 น.