การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา พรรคการเมืองต่างๆ ล้วนแต่มีจุดยืนในการนำเสนอตัวตนและนโยบายที่แตกต่างกันไป เช่น พรรคก้าวไกล นำเสนอจุดยืน ‘มีเราไม่มีลุง’ ควบคู่ไปกับนโยบายที่เน้นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง ส่วนพรรคเพื่อไทย เน้นนโยบายเศรษฐกิจปากท้อง พร้อมนำเสนอภาพของพรรคการเมืองที่ ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ ไปคู่กัน
ขณะเดียวกัน พรรคเป็นธรรม พรรคการเมืองเล็กๆ พรรคหนึ่งที่เน้นฐานเสียงในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยจุดยืน ‘มนุษยธรรมนำการเมือง’ นำเสนอตัวตนของพรรคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมเป็นหัวใจหลัก พร้อมๆ กับนำเสนอนโยบายการสร้างสันติภาพให้เกิดแก่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทางพรรคเรียกพื้นที่แห่งนั้นว่า ‘ปาตานี’ อันหมายถึง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บวกกับ 4 อำเภอที่สงขลา
พรรคเป็นธรรมพยายามจะทำให้พรรคของพวกเขาเป็นพรรคที่คนปาตานีต้องภาคภูมิใจ ในฐานะตัวแทนของชาวปาตานี เพื่อชาวปาตานี โดยชาวปาตานี พวกเขาจริงจังกับพื้นที่ปาตานีนี้มาก ถึงขนาดนำเสนอนโยบาย ‘ปาตานีจัดการตัวเอง’ ผลที่ตามมาคือผู้สมัครของพรรคโดนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียกเข้าพบ เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาสื่อสารดูสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคง
เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมา พรรคเป็นธรรมได้จำนวนที่นั่งจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งถ้วน และได้รับการเชิญชวนเข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนนั้นก็คือ กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ซึ่งแม้จะไม่ใช่หัวหน้าพรรค แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นหน้าเป็นตา และเป็นกระบอกเสียงให้กับพรรคเป็นธรรมตลอดช่วงหาเสียงที่ผ่านมา
8 ปีแรกของชีวิตการทำงาน กัณวีร์ สืบแสง ทำงานให้กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในช่วงที่สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นใหม่ๆ หลังจากนั้นเขาจึงไปทำงานกับองค์การระหว่างประเทศอย่าง UNHCR หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ทำงานด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัยในหลายประเทศทั่วโลก ด้วยประสบการณ์และตัวตนของเขาที่ผ่านมา จึงไม่แปลกใจเลยที่ผู้แทนจากพรรคเป็นธรรม 1 ที่นั่ง จะได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมมากขนาดนี้
WAY คุยกับกัณวีร์ สืบแสง ย้อนรอยเส้นทางการทำงานด้านมนุษยธรรมของเขาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่ามีความเป็นมาอย่างไร และเขาจะผลักดันภารกิจใดต่อไป
-1-
เส้นทางแห่งความมั่นคง ในประเทศที่ไร้ความมั่นคง
เข้ามาทำงานด้านความมั่นคงได้อย่างไร
หลังผมเรียนจบปริญญาโทก็กลับไทย มารับราชการที่สำนักงานสภาความั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำงานเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคง ดูแลเรื่องประเทศเพื่อนบ้าน และเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกจากราชการ เป็นหัวหน้าฝ่ายเตรียมพร้อมของสำนักความมั่นคงกิจการชายแดนและการป้องกันประเทศ ก็ดูแลเรื่องการเตรียมพร้อมของชาติ ดูแลเรื่องการฝึกอบรบ ดูแลว่าหากใครเผชิญกับสงครามหรือภัยพิบัติ เราจะดูแลเขาอย่างไร
มุมมองที่รัฐไทยมีต่อประเด็นความมั่นคง แตกต่างจากรัฐอื่นๆ ในสากลโลกอย่างไรบ้าง
จริงๆ ไม่แตกต่างในตัวนโยบายนะ ตอนผมปฏิบัติงานในช่วงปี 2544-2545 ผมอ่านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติในเวลานั้นแล้วมันชัดเจนมาก ว่าเราเน้นไปที่ความมั่นคงของมนุษย์ ฉะนั้นการเน้นไปที่ความมั่นคงของมนุษย์นี้จึงสอดคล้องกับมุมมองความมั่นคงของชาติอื่นๆ เช่นกัน เวลาเราพูดถึงมุมมองมนุษยธรรม มุมมองด้านสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์เป็นใจกลางสำคัญสูงสุดที่ทุกคนจะต้องทำหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น
เพียงแต่ว่าประเทศไทยเรายังมีจุดยืนด้านความมั่นคงและจุดยืนทางการทูตที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยสงครามเย็น คือเน้นจุดยืนแบบอนุรักษนิยม เน้นเรื่องทวิภาคี เน้นการดีลตรงกับประเทศมหาอำนาจ และยังยึดติดกับความรู้สึกไม่อยากสูญเสียดินแดนหรือโดนล่าอาณานิคม เราภูมิใจมากกับการที่เราไม่เคยเป็นอาณานิคมของใคร แต่ทำให้เรามีกรอบคิดยึดติดกับตรงนั้น พอมีเรื่องเกี่ยวกับการสูญเสียดินแดนเกิดขึ้น เราก็จะเขาข้างประเทศมหาอำนาจ พวก ‘hegemon state’ อย่างเช่นตอนนี้ที่เราอยู่กับจีน กับสหรัฐ เราตามเขาตลอดเวลา
จุดยืนของไทยจะต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเรายังยึดติดจุดยืนแบบนี้ ในเวทีระหว่างประเทศ ไทยจะถูกมองว่ายังไม่มีความทันสมัย บทบาทความเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลกจะไม่สามารถมีได้ เราต้องเปลี่ยนจุดยืนเรื่องความมั่นคงกับจุดยืนทางการทูต
จุดยืนด้านความมั่นคงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความกลัวสูญเสียดินแดนเช่นนี้ เป็นสาเหตุของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือดินแดนปาตานีด้วยหรือไม่
เวลาผมพูดเรื่องปาตานี มันเริ่มหมิ่นเหม่เรื่องความมั่นคง ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีป้ายหาเสียงของพรรคเป็นธรรมในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีข้อความว่า ‘ปาตานีจัดการตัวเอง’ กกต. ประจำจังหวัดนราธิวาส โทรมาหาผู้สมัครของพรรคเราทันทีเลย เชิญให้เข้าไปคุย เขาบอกว่ามันมีความหมิ่นเหม่ด้านความมั่นคงนะ เพราะพอเราพูดเรื่องปาตานีจัดการตัวเอง มันคือการแบ่งแยกดินแดน เราก็บอกว่าเราไม่เคยคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดนนะ คำว่า ‘ปาตานีจัดการตัวเอง’ ก็คือ management แต่ถ้าหมายถึงการปกครองตัวเองนั่นคือเรื่อง governance คุณต้องแยกให้ออกนะ ระหว่างจัดการตัวเองกับปกครองตัวเอง
เวลาเรามองกรุงเทพมหานคร มองพัทยา ทำไมไม่บอกว่าเขาจะแบ่งแยกดินแดน หรือว่ามันมีเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวด้วย กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศไทย เลยไม่มีแนวโน้มในการปกครองตนเอง พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว ก็เลยมีการพูดว่าเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่พื้นที่ปาตานีเป็นพื้นที่ชายแดน และมีประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นรัฐ เป็นอาณาจักร อะไรประมาณหนึ่ง
จริงๆ ต้องบอกว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่ต้องถูกผูกติด แต่ประวัติศาสตร์เป็นอะไรที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้และเข้าใจ พอเราเข้าใจในอดีตแล้ว เราจะเข้าใจว่าอนาคตมันจะเป็นไปยังไงต่อ ไม่ต้องกลัวเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ในปัจจุบันนี้ประเทศไทยเรายังไม่มีโอกาสที่จะพูดเรื่องนี้ในพื้นที่สาธารณะ ก็ปล่อยเขาพูดไปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ตราบใดก็ตามเท่าที่คุณยังอยู่ใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เปิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกให้ประชาชน สุดท้ายคนที่จะตัดสินใจคือประชาชนไม่ใช่ใคร แต่เป็นประชาชนในพื้นที่เท่านั้นที่จะบอกความต้องการที่แท้จริงได้
ประชาชนในพื้นที่ปาตานีเขารู้สึกว่าเวลาแต่งชุดมลายู จะถูกหน่วยงานความมั่นคงมาบอกว่าห้ามแต่ง เพราะมันเป็นการแสดงออกอะไรบางอย่างว่าต่อต้านภาครัฐ แต่ผมมองว่าการแต่งชุดมลายู เป็นความสละสลวย เป็นเรื่องของ soft power ที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพท้องถิ่นได้ เหมือนชุดคนภาคเหนือ ชุดสะใบของภาคกลาง ทำไมคนมองว่านี่คือการแสดงอัตลักษณ์ แต่พอชาวมลายูพอแต่งชุดมลายู กลับบอกว่ามันสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงและจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
ดังนั้น วิธีคิดของคนต้องเปลี่ยน ข้อเสนอของพรรคเป็นธรรมในเรื่องของกระบวนการสร้างสันติภาพจะเป็นไปอย่างยั่งยืนและครอบคลุม
ความพยายามผลักดันการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดภาคใต้ มาจากความรู้สึกผิดที่เป็นส่วนหนึ่งในการเสนอให้ออกกฎหมายนี้ในสมัยที่ทำงานอยู่ในสภาความมั่นคงหรือเปล่า
ผมเป็นหนึ่งในคนที่ร่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับแรก ออกมาเมื่อปี 2548 ช่วงนั้นผมรับผิดชอบเกี่ยวกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกส่งไปอยู่ที่นั้นตั้งแต่ปี 2547 หลังเหตุการณ์ตากใบ-กรือเซะ เราก็เก็บข้อมูลและเสนอเข้ามาที่ สมช. เพื่อให้นายกรัฐมนตรีบังคับใช้
เราไม่คิดว่าเป็นความรู้สึกผิด เพราะการร่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในครั้งนั้น เรามีความประสงค์ให้มีการขยายอายุต่อได้ไม่เกิน 9 เดือน หรือ 3 ครั้ง ช่วงนั้นเป็นการควบคุมสถานการณ์ ถ้าเราไม่ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เราคิดว่าหลัง 9 เดือน มันจะถูกยกเลิกไป แต่หลังจากนั้นจนถึงวันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกขยายทุกๆ 3 เดือน ต่อมาเรื่อยๆ เกือบ 19 ปีแล้ว
เงินงบประมาณที่ลงไปในพื้นที่ปาตานี 500,000 ล้านบาท ใน 19 ปี แต่สันติภาพยังไม่เกิดขึ้น สามจังหวัดกลายเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย เป็นไปได้ยังไงและวาระการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สามารถกลายเป็นวาระแห่งชาติได้ เงินภาษีพี่น้องประชาชน 500,000 ล้านบาท ทำไมประชาชนทั่วประเทศไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในปาตานี เกิดอะไรขึ้นในกระบวนการเจรจาเพื่อสันติสุขที่รัฐไทยได้คุยกับ BRN (Barisan Revolusi Nasional – ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ) เรายังไม่รู้เลยว่าเขาคุยอะไรกันในที่ประชุม ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมทุกอย่างถึงต้องถูกปกปิดให้เป็นเรื่องความมั่นคงตลอด ทำไมต้องมองในมิติการแก้ไขแค่ในพื้นที่
เราต้องยกระดับตรงนี้ให้ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติให้ได้ อย่าไปกลัว ถ้าเรื่องนี้กลายเป็นวาระแห่งชาติ จะไม่ใช่แค่ประชาชนในพื้นที่ปาตานี แต่ประชาชนทั่วประเทศจะร่วมตัดสินในกระบวนการสร้างสันติภาพที่ถูกต้อง และถูกฝาถูกตัว
สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีพรรคร่วมรัฐบาลฝั่งประชาธิปไตยบางพรรคมีส่วนในความขัดแย้งดังกล่าวด้วย แบบนี้จะทำให้เกิดอุปสรรคในการผลักดันกระบวนการสันติภาพหรือไม่
ผมยังเชื่อมั่นว่าทุกพรรคที่ร่วมอุดมการณ์ครั้งนี้ จำเป็นต้องสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย มีคำพูดที่ว่าสันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ในปาตานี จำเป็นต้องมีประชาธิปไตย กระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ปาตานีต้องมีแนวคิดในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น
ฉะนั้น ทุกพรรคร่วมต้องสนับสนุนสันติภาพให้เกิดขึ้น ไม่ว่าพรรคอื่นๆ หรือพรรคบางพรรคอาจมีบาดแผลในสมัยก่อน เพียงแต่ว่าตอนนี้ทุกคนมีความตั้งใจร่วมกันที่จะสร้างประชาธิปไตย การเดินหน้าของประเทศนี้จำเป็นต้องมีสันติภาพให้เกิดขึ้นให้ได้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา
บทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต่อจากนี้ไปควรจะเป็นอย่างไร ศอ.บต. ยังมีความจำเป็นมากแค่ไหน
ศอ.บต. ในอดีตมีความจำเป็นนะครับ โดนยุบไปแล้วตอนปี 2547 แล้วก็กลับมาเป็น กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) มีการฟื้นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ว่า ศอ.บต. จะเป็นรัฐบาลส่วนหน้า หากมีปัญหาเชิงนโยบาย สามารถตัดสินใจในเรื่องนโยบายได้ทันที มอบหมายทั้งอำนาจหน้าที่และงบประมาณ เพียงแต่ว่าอำนาจหน้าที่และงบประมาณมันไม่ไปด้วยกันโดยสมมาตร คือทุกอย่างมีแต่อำนาจ แต่หน้าที่บางอย่างถูกลืมไป งบประมาณที่ได้รับไปก็มีแต่เก็บไว้ ไม่มีการส่งต่อให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ
แล้วในเรื่องปัญหาของการจัดการเชิงนโยบาย ศอ.บต. ไม่สามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้ จำเป็นจะต้องส่งไปที่ส่วนกลาง เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ศอ.บต. จึงไม่สามารถจะใช้ได้ในการดำรงอยู่ของ ศอ.บต. จำเป็นต้องพิจารณาหรือเปลี่ยนแปลงในกรอบของ ศอ.บต. ให้ได้
การยุบ ศอ.บต. เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเป็นธรรม เวลาเราหาเสียงทั้งการยุบ ศอ.บต. และ กอ.รมน. ก็จะมีคำถามตามมาว่า ถ้ายุบแล้วคนที่ทำงานให้หน่วยงานเหล่านี้จะไปอยู่ไหน ต้องตอบว่า เราต้องมองในเชิงโครงสร้างก่อน ถ้าโครงสร้าง ศอ.บต. ไม่มีความจำเป็นแล้ว เราก็จำเป็นต้องกระจายอำนาจเข้าไปสู่ท้องถิ่น เราไม่เอาแม้กระทั่งการบริหารจัดการส่วนภูมิภาคหรือส่วนจังหวัด เพราะเราจะเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรง การกระจายอำนาจที่จัดให้มีการเลือกตั้งโดยตรงนี้ จะทำให้คนที่เคยทำงานใน ศอ.บต. ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่เรามีการกระจายอำนาจไปแล้ว และไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. หน่วยงานเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเช่นกัน
ตอนนี้ในพื้นที่ปาตานีมีทั้ง กอ.รมน. ศอ.บต. ผู้ว่าฯ ศรชล. (ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล) ไหนจะมี อปท. อบจ. มั่วกันไปหมด ทำไมเราไม่มองการบริหารจัดการให้มีการกระจายอำนาจแบบ ‘simplicity is beauty’ อะไรก็ตามที่มันง่ายๆ มันจะมีความสวยงาม แล้วมันจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจง่าย แต่ตอนนี้เวลาประชาชนมีปัญหา ไม่รู้ว่าต้องไปหาใคร เดินไปหา กอ.รมน. เดินไปหา ศอ.บต. เดินไปหาผู้ว่าฯ บอกไม่ใช่ เดินไปหา อบต. บอกว่าใช่ แต่ไม่มีงบประมาณ ไม่มีอำนาจ แล้วประชาชนจะพึ่งส่วนราชการได้ยังไง
การยุบ กอ.รมน. ที่ดีที่สุดตอนนี้คือเอาทหารออกจากโครงสร้างจริงๆ กอ.รมน. ต้องนำโดยพลเรือน แต่พอปรับเปลี่ยน กอ.รมน. ตอนที่ผมอยู่ สมช. เขาเอาตำแหน่งหลักๆ ของกองทัพขึ้นมาเป็นรอง กอ.รมน. เอา เสธ.ทหาร มาไว้ตรงนี้ เอาโครงสร้างทหารมาใส่กรอบ กอ.รมน. นี่แหละคือปัญหา ดังนั้น ต้องเอาส่วนทหารออกจาก กอ.รมน. แล้วเอาพลเรือนมาบริหารจัดการ กอ.รมน. ก็เป็นการยุบกลายๆ และทหารก็จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น พวกเราค่อนข้างคิดแบบครอบคลุม ไม่ทำให้ทุกคนเดือดร้อนแน่นอน
นโยบายการเอาทหารออกจาก กอ.รมน. และการปฏิรูปกองทัพ จะทำให้พรรคเป็นธรรมกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับกองทัพหรือเปล่า
จริงๆ ไม่ใช่เลยครับ ถ้าใครรู้จักภูมิหลังของผมใน สมช. ผมให้ความเคารพหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด เพราะฉะนั้นนโนบายต่างๆ ที่ออกมา แม้ว่าจะดู radical แต่จริงๆ มัน practical สามารถที่จะปฏิบัติงานได้จริง
เรื่องการปฏิรูปกองทัพ กองทัพจำเป็นต้องลดขนาด จำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ซึ่งมีศักยภาพอยู่แล้ว ให้พัฒนาไปสู่เวทีสากลมากยิ่งขึ้น เวลาผมไปปฏิบัติงานในเวทีระหว่างประเทศ ผมเห็นพี่น้องทหารออกไปปฏิบัติหน้าที่ใน peace keeping ต่างๆ ทุกท่านมีศักยภาพ แต่โครงสร้างกองทัพและระบบความมั่นคงต่างๆ จำเป็นต้องพัฒนาให้มีความทันสมัย
อย่างเรื่องการเกณฑ์ทหารก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราเสนอให้ยกเลิก แล้วเปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ เรื่องนี้จะทำให้กองทัพเรามีศักยภาพ และยืนเป็นผู้นำในเวทีโลกได้อย่างสง่าผ่าเผย และพี่น้องทหารของเราจะพูดกับใครก็ได้ทั่วโลก ว่าเราดูแลงานเรื่องสิทธิมนุษยชนและด้านมนุษยธรรม และทำงานสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้ด้วย
เบื้องหลังแนวคิด ‘พาทหารกลับบ้าน’ มีที่มาจากอะไร
จริงๆ คนที่พูดสิ่งนี้มาคนแรกคือ พลตรีปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 วันนั้นมีการแถลงการณ์ของคณะพูดคุยเจรจาสันติสุข โดย พลเอกวัลลภ รักเสนาะ และ พล.ต.ปราโมทย์ ท่านก็อยู่ด้วย พอแถลงเสร็จท่านก็พูดว่า “เนี่ย มีแต่เรื่องพาคนนู้นคนนี้กลับบ้าน ไม่เห็นมีใครทำโครงการพาทหารกลับบ้านเลย” พอท่านพูดมา ผมก็ตอบรับนโยบายจากรองแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า ผมนี่แหละ จะทำโครงการพาทหารกลับบ้านให้ได้ โดยการสร้างสันติภาพแบบยั่งยืนให้เกิดขึ้น
การพาทหารกลับบ้าน และการทำความสะอาดถนนต่างๆ ให้ปราศจากด่านความมั่นคง 1,800 กว่าด่านในพื้นที่ปาตานี จะเป็นตัวชี้วัดของโครงการการสร้างกระบวนการสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่ปาตานี มันไม่ใช่อยู่ดีๆ เราเป็นรัฐบาลแล้วดึงทหารออกเลย เอาด่านออกหมด ยกเลิกกฎหมายพิเศษ แต่จะต้องมีกระบวนการสามขา ที่ผมได้เสนอไป ต้องวางกรอบ วางโครงสร้างขึ้นมาก่อน แล้วเราถึงจะสามารถเดินต่อไปได้เรื่อยๆ จนสุดท้ายตัวชี้วัดที่ดีที่สุดก็คือการพาทหารกลับบ้าน การยกเลิกด่านทั้งหมด ซึ่งด่านจริงๆ แล้ว 1,800 ด่าน ยังไม่เคยจับผู้เห็นต่างได้เลย เคยแต่สร้างอุบัติเหตุให้กับพี่น้องประชาชนตอนกลางคืนเท่านั้นเอง
-2-
จากสันติภาพภายใน สู่สันติภาพในเวทีโลก
จากการทำงานด้านความมั่นคงภายในประเทศ ทำไมถึงเปลี่ยนไปทำงานด้านมนุษยธรรมในองค์การระหว่างประเทศ
สาขาที่ผมเรียนมาตอน ป.โท เน้นเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ และเรื่องสิทธิมนุษยชนจะเป็นศูนย์กลางในการศึกษาของผม และในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมก็ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีต่างๆ ซึ่งต้องเป็น ‘International Practitioner’ คือคนที่ต้องไปปฏิบัติงานได้จริงในพื้นที่ต่างๆ นั่นก็เลยเป็นเหตุผลที่ผมเลือกไปทำงานเกี่ยวกับสหประชาชาติ เป็นนักเสรีนิยมสายหนึ่งที่เน้นการทำงานจริงๆ
พอทำงานได้ 8 ปี ก็ได้ไปสอบที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์การของสหประชาชาติที่มีอาณัติในการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ก็ได้เริ่มทำงานกับ UNHCR ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำงานได้ประมาณ 2 ปี ตอนหลังก็มาประจำที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ประสานงานของ UNHCR ดูแลทั้งหมดของประเทศ ตั้งแต่ชาวอุยกูร์ ชาวโรฮิงญา ผู้ลี้ภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ทำได้อยู่ 2 ปีครึ่ง ก็ได้ไปประจำที่ซูดานใต้ ซูดานเหนือ ชาด อูกันดา บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ เมียนมา รวม 8 ประเทศ เดินทางไปรอบโลก ทำงานด้านมนุษยธรรม
ในฐานะคนที่เคยทำงานกับองค์การสหประชาชาติ คิดยังไงกับการที่ UN ถูกมองว่าเป็น ‘เสือกระดาษ’
โดนวิจารณ์เรื่องนี้เยอะจริงๆ อย่างสถานการณ์ในเมียนมา UN ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเราไม่ทำงานกันเหรอ แต่ถ้าเราเข้าใจระบบขององค์การสหประชาชาติจริงๆ และเราเล่นตามระบบเขาเป็น เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากเขาได้ แต่ว่าองค์การสหประชาชาติไม่สามารถเดินได้ตัวของเขาเองได้ เพราะขึ้นอยู่กับสมาชิกภาพของประเทศที่เข้าร่วม ฉะนั้น หากประเทศไทยอยากจะเล่นเกมให้เป็น ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนจุดยืนทางการทูตให้ได้ ประเทศไทยสามารถที่จะมีจุดยืนทางการทูตในเรื่องพหุภาคี ในเรื่อง soft approach และจะสามารถใช้ UN ได้อย่างดี
ตอนนี้ที่ UN โดนวิจารณ์เยอะๆ เพราะไม่สามารถแทรกแซงกิจการของประเทศอื่นๆ ได้เลย จริงๆ UN สามารถเข้าไปคุยกับประเทศต่างๆ อย่างที่ไม่มีคนทราบว่าเขาคุยอะไรกันบ้าง เพราะมีสายสัมพันธ์กันอยู่
อย่าง UNHCR ในประเทศไทย เวลาจะพูดเรื่องผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เวลา UNHCR เอ่ยปาก รัฐบาลไทยบอกหุบปาก ก็ต้องหุบปาก เพราะการเข้ามาของ UN ในแต่ละประเทศ ก็จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากประเทศนั้นๆ เสียก่อน หากประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศไทยไม่อยากให้ UNHCR ทำงาน ประเทศไทยก็เซ็นสัญญาว่าให้ยุติการทำงานของ UNHCR และ UNHCR ก็ต้องเก็บกระเป๋า เดินทางกลับเลย
‘เสือกระดาษ’ ที่ทุกคนต้องการก็คือ UN พูด แล้วทุกคนต้องทำตามหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ต้องเข้าใจกฎเกณฑ์ของเขา ใช้เขาให้เป็น เล่นเขาให้ได้ แล้วจะสามารถทำงานได้อย่างแน่นอน
สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในไทย ปัจจุบันเป็นอย่างไร
ในปัจจุบัน เรายังไม่เห็นว่ามีผู้ลี้ภัยสักคนเดียวในประเทศไทย เพราะไทยไม่เคยมีกฎหมายยอมรับผู้ลี้ภัย ครั้งล่าสุดที่เรามีผู้ลี้ภัยคือสมัยสงครามอินโดจีน ตอนที่มีคนนั่งเรือเข้ามาล้านกว่าคน ประเทศไทยบริหารจัดการดีมาก รับมือผู้ลี้ภัยล้านกว่าคน ส่งไปตั้งถิ่นฐานใหม่เกือบๆ ล้านคน และส่งกลับประเทศกว่าแสนคน ประเทศไทยเคยมีประวัติการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยเป็นอย่างดี
เพียงแต่ว่าเราปิดประตูตรงนั้นเสีย และทำให้ประเทศเราไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ มีแต่กฎระเบียบและกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย ตอนนี้ถ้ามีผู้ลี้ภัยเข้ามา กฎหมายเดียวที่ประเทศไทยใช้คือ พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ใครเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็จับ ปรับ ขังคุก ผลักดันกลับ แต่จริงๆ แล้วผู้ลี้ภัยมีมิติทางด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาที่แตกต่าง ไม่ควรโดนจับเข้ามาอยู่ในตระกร้าเดียวกันกับผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ประเทศไทยตอนนี้ก็มีการพัฒนาเกิดขึ้น มีการจัดทำ NSN (National Screening Mechanism) เป็นกลไกในการพิจารณาสถานะของบุคคลที่ไม่สามารถเดินทางกลับมาตุภูมิได้ ให้สามารถมีโอกาสในการอยู่ประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะสามารถหาทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้ อันนี้ก็เป็นการล้อมาจากอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 ซึ่งเป็นคำนิยามของผู้ลี้ภัย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่มันเป็นแค่ระเบียบภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้นถ้าผมมีโอกาสเข้าไปผลักดันเรื่องนี้ ผมจะขอผลักดันให้มีการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัย
หลายๆ คนบอกว่าทำไมต้องช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เขาไม่ใช่คนไทย เขาเป็นคนสัญชาติอื่น เขาไม่อยากอยู่ประเทศตัวเองแล้ว ทำไมต้องเอาภาษีคนไทยไปช่วยเหลือคนต่างชาติ ซึ่งหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย คือต้องเปลี่ยนทัศนคติให้ได้ว่าทุกคนคือมนุษย์ ถ้าเรามองว่าทุกคนคือมนุษย์ us and them จะไม่มีพวกเขา พวกเรา เราจะมองที่ศักยภาพของมนุษย์ เอาศักยภาพพวกเขามาใช้ให้ได้
แรงงานไทยยังขาดอีกเยอะแยะ อย่างเช่นพี่น้องโรฮิงญา เราสามารถพาเขามาเป็นแรงงานได้ ทำให้ถูกกฎหมาย ให้เขาได้เสียภาษี หรืออย่างพี่น้องอุยกูร์ที่อยู่ในห้องกักกัน 9 ปีมาแล้ว ตายไปแล้ว 5 คน คิดดูเราไปอยู่ห้องกักแค่คืนเดียว เรายังอยากจะร้องไห้เลย ลูกเมียต้องไปอยู่ที่อื่น ภรรยาอาจต้องแต่งงานใหม่กับใครก็ไม่รู้ ลูกไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ เขายังรอนอนความหวังมาแล้ว 9 ปี ถ้าเราเอาศักยภาพของเขาออกมาทำงาน เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทย ภาษาของเขา ภาษาเติร์กคลาสสิก เป็นภาษาที่สละสลวยที่สุดในโลก ทำไมไม่เอาเขามาสอนภาษา
หากทำได้ จะทำให้ประเทศไทยถูกมองในเวทีระหว่างประเทศว่าเป็นผู้นำริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยงานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน
เวลาอธิบายตัวเอง ทำไมคุณจึงอธิบายว่าเป็น ‘นักมนุษยธรรม’ ไม่ใช่ ‘นักสิทธิมนุษยชน’
หลายคนชอบพูดว่า ‘มนุษยธรรม’ กับ ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นอย่างเดียวกัน แต่จริงๆ มันคนละอย่างกัน มันมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ นักมนุษยธรรมจะเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ภัยสงครามต่างๆ ที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามนั้นๆ สู่การประสานงานต่างๆ ทางหน่วยงานอย่างเช่น UNHCR ก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พูดง่ายๆ ก็คือให้เขารอดตายและยืนด้วยขาของตัวเองได้ ไม่ต้องแบมือขอใคร อันนี้คืองานด้านมนุษยธรรม
สิทธิมนุษยชนคือตั้งแต่เกิดจนตาย นั่นคือเรื่องสิทธิ แต่ในการทำงานสองด้านนี้จะต้องทำคู่ขนานกันไป จะทิ้งด้านไหน ด้านหนึ่งไม่ได้
มนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน เกี่ยวข้องอย่างไรกับการสร้างสันติภาพ
เผอิญว่าการทำงานในเวทีระหว่างประเทศ การจะไปทำงานรักษาสันติภาพได้ มันไม่ใช่การรักษาสันติภาพโดยปลายกระบอกปืน ในกระบวนการสร้างสันติภาพจริงๆ จะต้องใช้มนุษยธรรมนำการสร้างสันติภาพ เพราะเราจำเป็นต้องไปพูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ คนที่ทำงานจะต้องยึดถือหลักการมนุษยธรรมอย่างเคร่งครัด เพราะจะทำให้เราสามารถทำงานได้ในภาวะสงคราม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะรบพุ่ง ฆ่าฟันกัน ก็จะสามารถทำงานได้ด้วยความเป็นกลาง ต้องไม่เอนเอียน ต้องเอาบุคคลในความดูแลเราเป็นศูนย์กลาง รวมถึงศักยภาพในการทำงาน เพราะฉะนั้นหลักการเหล่านี้จะเป็นหลักการของมนุษยธรรมที่จะสามารถอยู่ในพื้นที่ที่ตึงเครียดได้
ช่วงที่ผมปฏิบัติหน้าที่ในซูดานเหนือและซูดานใต้ ก็อยู่ในระหว่างการสู้รบของทั้งสองฝั่ง ดังนั้น หลักการเหล่านี้จึงสำคัญ หากเราไม่ยึดถือหลักการแล้ว หนึ่ง คือเราจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้ สอง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะเราไม่มีเกราะคุ้มกัน เราไม่มีโล่ป้องกัน ไม่มีปืนคุ้มกัน เรามีอย่างเดียวคือหลักการมนุษยธรรมที่จะเป็นกรอบคุ้มกันในชีวิตของเรา
เมื่อนักมนุษยธรรมทำงานในพื้นที่ สัมผัสกับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของผู้คนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อ เราจะรักษาความเป็นกลางอย่างไร
ความเป็นกลางคือความเป็นกลางระหว่างผู้ที่เห็นต่าง ความเป็นกลางคือเราไม่สามารถเข้าข้างใดข้างหนึ่งได้ เราจำเป็นที่จะต้องเอาเหตุผลของทั้งสองฝ่ายมาพิจารณา เช่น กรณีของบริจาค ทรัพยกรเรามีน้อย แต่คนที่ได้รับผลกระทบมีเยอะ หากเราไม่เป็นกลาง จะมีกลุ่มแต่ละกลุ่มที่ถืออาวุธเดินเข้ามาหาเรา แล้วบอกว่าเอาของที่เรามีให้กับกลุ่มเขาก่อน เราก็ต้องถามว่าทำไมจะต้องให้กับกลุ่มนี้ก่อน ซึ่งถ้าเราไม่เป็นกลางในสถานการณ์สงครามนั้น ทั้งสองฝ่ายจะทะเลาะกันมากขึ้น มันยากจริงๆ มันมีทั้งแรงกดดันจากคู่เจรจา แรงกดดันจากบุคคลในความห่วงใย
ตอนผมไปอยู่ที่ซูดานใต้ มีคนสัก 30,000-40,000 คนในแคมป์ ทุกคนมีความต้องการเหมือนกัน ทุกคนต้องการใช้ชีวิตอยู่เป็นปกติสุขเหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรในเมื่อทรัพยากรและเวลาเรามีน้อย ทุกวินาทีมีค่าคือชีวิตของคน เราจึงต้องเป็นกลางให้ได้มากที่สุด
หลายคนชอบเข้ามาหาพวกเราตลอดเวลา ว่าต้องให้คนนั้นคนนี้ก่อน เราก็เป็นมนุษย์นะ บางคนเขาก็ถามเราว่าสนิทกัน ทำไมไม่ให้เขาก่อน เราก็ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ได้ ว่าคนนี้มีความสำคัญมากกว่าอีกคนหนึ่งตามกฎระเบียบของพวกเราและวิธีพิจารณาของเรา ว่าจะให้ความสำคัญกับใครก่อนหลัง
ในสถานการณ์ความขัดแย้ง บ่อยครั้งที่จะมีฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตัวเล็กกว่าและเป็นผู้ถูกกระทำ และฝ่ายที่ตัวใหญ่กว่าและเป็นผู้กระทำ สภาพการณ์เช่นนี้ยุติธรรมหรือเปล่าที่จะวางตัวเป็นกลาง
หลักการแรกของมนุษยธรรมคือ ‘humanity’ คือเราต้องเอาบุคคลในความห่วงใย บุคคลที่เราให้การสนับสนุน บุคคลที่เราให้อาณัติในการคุ้มครองระหว่างประเทศมาตั้งก่อน เราเป็นคนกลาง คือเราไม่เอาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลย ถ้าคนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือผู้ลี้ภัย เราก็ต้องเอาผู้ลี้ภัยมาเป็นตัวตั้ง ว่าโครงการหรือแผนงานที่เราทำจะต้องเริ่มต้นจากกลุ่มคนเหล่านี้ จะต้องคุยกับผู้ลี้ภัยก่อน เราจะไม่คุยกับฝ่ายที่แตกต่างนะครับ เราจะคุยกับบุคคลในความห่วงใย เพราะฉะนั้นถ้าเรามี humanity เอาบุคคลในความห่วงใยมาเป็นศูนย์กลาง เราจะตัดสินใจได้ง่ายๆ ว่าจะให้ใครหรือไม่ให้ใคร
ในสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีอย่างต่อเนื่อง และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่การเมืองคือศาสตร์ของการประนีประนอมต่อรองกัน สุดท้ายอะไรคือสิ่งที่จำเป็นกว่ากันระหว่างการประนีประนอม กับการกระทำอย่างเด็ดขาดหนักแน่น
มันต้องรวมกันนะ อย่างเช่นในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้าเราไม่ประนีประนอม เราอยู่ไม่ได้ ถ้าเราเผด็จการอย่างเดียวก็ทำงานไม่ได้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญ ถ้าเราเด็ดขาดตั้งแต่แรก ไม่ฟังความเห็นต่าง ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าเราประนีประนอม รับฟังความเห็นของแต่ละคน เราก็จะเห็นความต้องการของแต่ละคนอยู่ตรงไหน และการเป็นผู้นำจะต้องพิจารณาในหลักการเหตุและผลของความต้องการร่วมกัน การตัดสินใจก็ต้องตัดสินใจโดยด่วน บนพื้นฐานเหตุผล ไม่งั้นประเทศเดินต่อไม่ได้ การทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉินสอนผมมาเยอะ ว่าเมื่อต้องตัดสินใจ ต้องตัดสินใจให้เร็ว แต่ต้องอิงอยู่กับหลักและเหตุผล
แต่เวลาเราประนีประนอม เราอาจสูญเสียผู้สนับสนุนที่เขามองว่าเราเดินถอยหลังหรือเปล่า
การประนีประนอมจะต้องไม่ทำให้จุดยืนเราเปลี่ยน ถ้าเราประนีนอมแล้วเรายังคงมีจุดยืนหนักแน่น อยู่บนคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ตรงนั้นจะเป็นการให้เหตุผลต่อประชาชนว่าทำไมเราจึงตัดสินใจแบบนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
การที่ข่าวเรื่องสิทธิมนุษยชนถูกให้ความสนใจน้อยกว่าเรื่องอื่นๆ สภาพการณ์ในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสากลหรือเปล่า
อาจเป็นได้ อีกเรื่องหนึ่ง นักสิทธิมนุษยชนในสมัยก่อน พูดก็พูด ผมด่าตัวเองนะ อาจทำเรื่องให้มันยาก เวลาเราพูดอะไร พูดยากเสร็จ ความสนใจของคนมันอาจลดน้อยถอยลง แต่ตอนนี้ผมมองเห็นว่านักสิทธิมนุษยชนไทยในปัจจุบัน พยายามทำทุกอย่างให้ง่าย ทำความเข้าใจง่ายๆ ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์คืออะไร พอพูดไป มันอาจดูเป็นศัพท์ที่ยาก แต่พอพูดง่ายๆ ว่า เวลาเราอยากจะกินข้าว เราจะกินยังไง เราอยากจะนอน อยากจะเดิน อยากไปแต่งงานกับใคร มันจะผิดตรงไหน
ตอนนี้ผมมองว่ามันเปิดมากกว่าเดิม สื่อมวลชนประเทศไทยก็เริ่มเปิดตัวเองเช่นกัน นักสิทธิมนุษยชนก็เปิดตัวเองเช่นกันว่า เราจะต้องเปิดประเด็นตรงนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติให้ได้ มันจำเป็นต้องมีความเข้าใจง่าย ถ้าเราสร้างเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เป็นเรื่องของทุกคน เหมือนเรื่องการเมือง
สมัยก่อนคนก็ไม่อยากแตะต้องการเมือง เช่นเดียวกัน เรื่องสิทธิมนุษยชนพูดไปก็อาจเข้าใจยาก แต่ถ้าเราทำให้เป็นวาระสาธารณะให้ได้ มีการพูดคุยกันเยอะ จะทำให้มันเริ่มเซ็กซีขึ้นเรื่อยๆ อาจต้องแต่งตัวสักหน่อย ให้มันดูดีขึ้นมา ให้คนรู้สึกว่ามันเป็นของประชาชนทุกคน มันเป็นของมนุษย์ เวลาเราพูดว่ามนุษย์คือทุกคน ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของเราแล้ว มันจะทำให้ความสนใจกลับคืนมา
มีความกังวลไหมว่าแม้จะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็อาจได้รับการจัดสรรงบประมาณมาดูแลในเรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยกว่าที่ควร
ก็คงจะได้น้อย เพราะตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ไม่มีใครนำเรื่องสิทธิมนุษยชนมาเป็นใจกลางสำคัญในการพัฒนาตัวนโยบาย แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราอยากจะสร้างระบอบประชาธิปไตยให้มันงอกงามเหมือนประเทศที่เสรีนิยมประชาธิปไตย จำเป็นจะต้องเอาตัวสิทธิมนุษยชนที่เขาใช้ว่า ‘rights-based approach’ กระบวนการสิทธิมนุษยชนมาเป็นใจกลางในการกำหนดนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เศรษฐกิจก็จำเป็นจะต้องเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาพิจารณา หากเราไม่เอาตรงนี้แล้ว มันจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถมีบทบาทในการเป็นผู้นำในเวทีโลกได้ ฉะนั้นต้องสร้างความเข้าใจในรัฐบาลชุดนี้
ผมมีความมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้ที่จะนำโดยพรรคก้าวไกล จะให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและงานมนุษยธรรมให้เกิดขึ้นได้ และจะสามารถดึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาเป็นใจกลางสำคัญในการพัฒนาตัวนโยบายของด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ทำให้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่มีพรรคอื่นขึ้นมาทำหน้าที่แกนนำแทน เราจะยังมั่นใจอยู่ไหมว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมจะถูกให้ความสำคัญ
ไม่กังวลนะครับ ถ้าไปดูตัว MOU จะเห็นได้ว่าเราเสริมเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ที่เราให้ความสำคัญ เน้นย้ำ ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องจุดยืนของทางการทูตของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เราได้เสนอเข้าไปในข้อสุดท้าย ข้อ 5 คือเรื่องสันติภาพชายแดนใต้ ข้อ 23 คือการเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลก โดยเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน
ถึงแม้ว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นแกนนำ แต่ MOU ยังคงอยู่ และเป็นสมการเดียวกันในพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ ผมว่ายังไงก็ตามหลักสิทธิมนุษยชนจะได้รับการมองเห็นและเล็งเห็นความสำคัญที่ต้องเดินต่อไปให้ได้
-3-
จุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม
จุดกำเนิดของพรรคเป็นธรรม
จริงๆ เราก็ไม่ใช่พรรคใหม่ ตั้งมาแล้ว 4 ปี ตอนแรกเราชื่อพรรคกลาง แล้วคุณปิติพงศ์ เต็มเจริญ ไปเข้าร่วมกับพรรคกลาง แล้วก็ไปเป็นเลขาธิการพรรค จากนั้นหัวหน้าพรรคในสมัยนั้น ท่านก็อยากให้คุณปิติพงศ์รับช่วงพรรคไปดูแลต่อ คุณปิติพงศ์เลยรับช่วงพรรคกลางมาดูแลต่อ และเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น พรรคเป็นธรรม พอเดือนธันวาคม ปี 2565 เราก็มีสมาชิกพรรคครบ 10,000 คน ก็พร้อมที่จะส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ และเป็นครั้งแรกของพรรคเป็นธรรมที่ลงสนามการเมืองใหญ่
ความเป็นกลางกับความเป็นธรรมแตกต่างกันอย่างไร
ความเป็นกลางและความเป็นธรรม เป็นสิ่งที่คนต้องการทั้งหมด แต่ความเป็นกลางมันหมายถึงตัวเรา ว่าเราจะเป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน แต่ความเป็นธรรมสิ่งที่ทั้งสังคมมีความต้องการเท่าเทียมกัน ถ้าสังคมนี้ไม่มีความเป็นธรรมแล้ว ความเป็นกลางไม่เกิดหรอก
ถ้าพรรคเป็นธรรมสามารถวางรากฐานให้กับบ้านเมืองเราได้ มันก็จะสามารถเดินต่อไปได้ และระบอบประชาธิปไตยตอนนี้ เราต้องการความเป็นธรรมนะ รวมถึงความยุติธรรมด้วย กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย และความเป็นธรรมต้องเป็นของทุกคน
พรรคเป็นธรรมมีฐานเสียงอยู่ที่ภาคใต้ ในแง่ branding เราแตกต่างจากพรรคประชาชาติอย่างไร
พรรคเป็นธรรมเราจะเป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นการร่วมกันของกลุ่มนักต่อสู้บนท้องถนน นักต่อสู้เพื่อกิจกรรม และสิทธิต่างๆ ของประชาชน สิทธิต่างๆ ของชุมชน เราจะเอานักกิจกรรมทั้งหมดเข้ามาร่วมกัน การต่อสู้บนท้องถนนที่เรามองว่ามันเพียงพอแล้ว ตอนนี้เราพร้อมที่จะไปต่อสู้ในกรอบรัฐสภา ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะทำให้ทุกคนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ การพลิกโฉมการเมืองไทย จำเป็นต้องเอาคนที่เคยทำงานทั้งในภาคประชาสังคม นักกิจกรรม เข้ามาทำงาน เพราะเราจะไม่เอนเอียงต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ
พรรคประชาชาติเองก็ตาม เราไม่ได้บอกว่าเป็นพรรคของคนรุ่นก่อน ท่านก็มีแนวคิด มีนโยบายเกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็มี ความคิดเห็นที่เหมือนกันก็มี คือพรรคประชาชาติก็จะมีอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา มีหลายๆ ท่านที่ทำงานในพื้นที่ค่อนข้างจะยาวนาน แล้วก็จะเป็นกลุ่มที่ทำงานกับคนในทางศาสนาค่อนข้างจะเยอะ
เพียงแต่ว่าพรรคเราจะไม่ได้เน้นแค่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จริงๆ แล้วพรรคเราสามารถเน้นที่อื่นได้หมดเช่นกัน เพราะตัวนโยบายเรื่องจังหวัดจัดการตัวเอง เราเน้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 จังหวัดชายฝั่งและเกาะแก่ง เราก็เริ่มที่จังหวัดชายแดนและชายฝั่งทะเลทั้งหมด เพราะจะเป็นป่าล้อมเมืองในการทำงาน หลักการและจุดยืนทางการทูตของเราก็เป็นเรื่องระดับประเทศ และเรื่องสันติภาพ เราก็พูดเรื่องสันติภาพที่กินได้ เราไม่ได้พูดแค่สันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น สันติภาพที่กินได้คือสันติภาพทั้งหมดทั่วประเทศ เมื่อสันติภาพทั้งหมดเกิดขึ้น ก็จะทำให้ประเทศนี้ได้รับการยอมรับ
แสดงว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า คู่แข่งของพรรคเป็นธรรม ก็คือพรรคประชาชาติใช่ไหม
จริงๆ ก็พรรคก้าวไกลด้วยนะ เขาเป็นคนรุ่นใหม่ พรรคเราก็เป็นคนรุ่นใหม่ และพรรคประชาชาติก็จะเป็นคนกลุ่มที่ทำงานมาก่อนอย่างยาวนาน 40-50 ปี ก็จะเป็นกลุ่มพี่ๆ น้องๆ ชาวมุสลิมอยู่ค่อนข้างเยอะ เราก็มีเหมือนกัน
จริงๆ เราบอกว่าเราจะนำเสนอข้อเสนอที่ดีที่สุดให้กับประชาชนผ่านทางนโยบาย ถ้านโยบายพรรคไหนที่สามารถทำงานได้จริง ประชาชนจะเป็นคนเลือกว่าพรรคนี้น่าสนใจ น่าจะเลือก เพราะฉะนั้นผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นพอสมควรว่าพรรคเป็นธรรมเดินเรื่องลงสนามเลือกตั้งในปาตานี แค่ 3 เดือนครึ่งเอง แต่เราสามารถได้รับเสียงตอบรับขนาดนี้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับพรรคอื่นๆ เช่นกัน ว่าเราทำงานการเมืองใหม่ๆ เรามีทั้งกลุ่มที่เป็นนักกิจกรรม ทำให้ประชาชนเริ่มตื่นตัวว่าการเมืองใหม่ๆ มันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ
การขึ้นมาของพรรคเล็กที่ได้เพียง 1 ที่นั่งในลักษณะนี้ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผลมาจากบัตรเลือกตั้งที่ชวนสับสนของ กกต. ที่ทำให้คนกาผิดหรือเปล่า
ตั้งแต่วันแรกเลย ได้ยินแบบนี้ก็เลยคิดย้อนกลับไป กลายเป็นว่าพรรคเล็กที่ได้เลขตัวเดียว เป็นคนที่ถูกตำหนิมากกว่า แทนที่จะไปมองที่ต้นตอปัญหา ซึ่งก็คือถ้าคุณบอกว่าพรรคเบอร์เดียว ยังไงคนก็กาผิดมาให้ ก็ไปว่ากันที่ทำไมต้องทำสองใบ คนที่คิดกฏเกณฑ์น่าจะโดนว่ามากกว่า อันนั้นอย่างแรก
อย่างที่สอง ช่วงระหว่างการหาเสียง ทำไมพรรคอื่นๆ ที่ไปหาเสียงแล้วตัวเองได้เลขตัวเดียว เหมือนตัวเองได้เบอร์ 1 เบอร์ 2 ทำไมต้องไปบอกประชาชนว่าให้กาเบอร์เดียวกันสองเบอร์ เฮ้ย แสดงว่าคุณไม่เป็นกลางหรือเปล่า ทำไมคุณต้องบอกว่ากาสองเบอร์เลย แปลว่าคุณมีเอี่ยวอะไรหรือเปล่า สุดท้ายคนที่ผิดจริงๆ มีตั้งแต่คนสร้างกฎเกณฑ์ คนที่หาเสียงตอนนั้น ไม่รู้เขาหาเสียงยังไง ประชาชนก็เลยเชื่อให้กาทั้งเบอร์พรรคและเบอร์เขต ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
ส่วนพรรคเป็นธรรม เราขอยืนยันอย่างหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราได้ 10,000 กว่าคะแนนของบัญชีรายชื่อ แต่ที่เราได้คะแนนรวมทั้งประเทศกว่า 184,000 คะแนน มาจากพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงจังหวัดที่มีทหารเยอะ อันนี้เราทำการวิเคราะห์ว่า เพราะนโยบายของเราคือ พาทหารกลับบ้าน การยุบหน่วยงานต่างๆ จะเอาทหารออกจากพื้นที่ปาตานี พี่น้อง พ่อแม่ ลูกเมีย ของพี่น้องเหล่าทหารที่อยู่ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือคนที่ถูกส่งมาจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียชีวิตไปค่อนข้างเยอะ พี่น้องในจังหวัดเพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ที่เป็นแหล่งของทางทหารอยู่ เลือกพรรคเป็นธรรมเยอะ
ทำไมจังหวัดที่มีทหารเยอะจึงเลือกพรรคเป็นธรรม แต่ทำไมจังหวัดบางจังหวัดถึงไม่เลือกพรรคเป็นธรรมเลย ทำไมกรุงเทพฯ ไม่เลือกพรรคเป็นธรรม ทำไมภาคใต้ตอนบนไม่เลือกพรรคเป็นธรรมสักคะแนนเดียว เพราะพี่น้องของจังหวัดภาคใต้ตอนบน ไม่ถูกส่งลงมาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพี่น้องที่โดนเกณฑ์ทหารในพื้นที่ฝั่งตะวันตกไม่เคยถูกส่งลงมาที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พี่น้องที่ถูกส่งลงมาจะอยู่บางพื้นที่เท่านั้นเอง เพราะเป็นกรมทหารราบต่างๆ เพราะฉะนั้นเราตีคะแนนที่เราได้มาไปทางนั้น ส่วนของพรรคอื่นผมไม่ทราบ
ฐานเสียงเราเป็นคนภาคใต้ และเป็นพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมค่อนข้างเยอะ แต่การที่พรรคร่วมตอนนี้มีการสนับสนุนเรื่องสมรสเท่าเทียม หรือแม้แต่ปลดล็อกสุรา มีความกังวลไหมว่าจะเสียฐานเสียงที่เขารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ขัดกับหลักศาสนาของเขา
เรื่อง MOU เวลาเสนอมา จะต้องเข้าใจว่า หนึ่ง มันจะต้องเข้าใจง่าย สอง ต้องครอบคลุม สาม ต้องมีทิศทาง เพราะฉะนั้นเวลาออก MOU มันจะไม่ลงลึกในรายละเอียด วันที่คุยกันก็จะมีพูดคุยกันว่าเรื่องสมรสเท่าเทียม เรื่องสุราก้าวหน้า จะทำยังไงในเมื่อพรรคอย่างพรรคประชาชาติกับพรรคเป็นธรรม เรามีพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะฉะนั้นเราก็เสนอไปว่าจำเป็นต้องเคารพเรื่องวิถีชีวิตในการนับถือศาสนาในแต่ละพื้นที่
ดังนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอาทั้งหมด เราก็ต้องดูตามพื้นที่ เพราะเรายึดหลัก ‘right-based approach’ คือต้องยึดหลักการที่อิงสิทธิมนุษยชน ถ้าเราไปกระทบสิทธิคนอื่น เราก็ไม่จำเป็นต้องทำ จึงต้องพิจารณาให้ดี มันก็เลยไปอยู่ในกรอบของ MOU แต่เวลามันเป็นนโยบายของพรรคการเมือง ของพรรครัฐบาลแล้ว มันจะต้องลงลึกในรายละเอียดแล้วว่าพื้นที่แต่ละพื้นที่จะเป็นอย่างไร
การที่เราบอกว่าไม่ต้องการตำแหน่งใดๆ เลย ที่เข้ามาตรงนี้เพียงเพื่ออยากจะทำงานเท่านั้น แต่นโยบายที่เราต้องการผลักดัน หากไม่มีตำแหน่งจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร
ผมว่าอย่างน้อยทางผู้นำรัฐบาลคงจะมองเห็นศักยภาพต่างๆ ที่พรรคเป็นธรรมเรามี เรื่องเกี่ยวกับกรอบนโยบายที่เราอยากผลักดัน เรามีการพูดคุยว่าเราจะมองที่ประเด็น เราจะไม่มองเรื่องตำแหน่งแห่งหน เราจะไม่มองเรื่องเก้าอี้ หากเห็นว่าใครเหมาะสมก็ส่งไปอยู่ตรงนั้น จริงๆ ตำแหน่งต่างๆ ถ้ามองเห็นว่าผมเหมาะสมตรงไหน ผมก็ทำ หากมันผลักดันเรื่องที่ผมถนัดได้
นโยบายเกี่ยวกับเรื่องมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากจะทำได้จริง มีอย่างน้อยกี่กระทรวงที่ต้องให้ความร่วมมือกับเรา
มีหลายกระทรวง เพราะในกระบวนการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้มันมีหลายบริบทที่เกี่ยวข้อง มีบริบททางด้านความมั่นคง บริบทของการต่างประเทศ บริบทของสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บริบทของงานยุติธรรม หลักๆ ก็ 4 กระทรวง
ฉะนั้น คนที่สามารถบริหารจัดการตรงนี้ได้คือนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องกระโดดเข้ามาลงมือทำตรงนี้ หรือจะให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในการบูรณาการตรงนี้ก็ได้ แต่จริงๆ นายกรัฐมนตรีก็ควรเป็นคนทำตรงนี้
พรรคเป็นธรรมมีอัตลักษณ์กับนโยบายที่ผลักดันชัดเจนและแตกต่างกับพรรคอื่นมาก แต่สิ่งนี้เป็นอัตลักษณ์ของพรรคเป็นธรรม หรือเป็นอัตลักษณ์ของกัณวีร์ สืบแสง และหากวันหนึ่งเราไม่อยู่ตรงนี้แล้ว พรรคจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป
อัตลักษณ์นี้มันมีร่วมกันนะ พรรคเป็นธรรมเป็นพรรคใหม่ คนใหม่ ผมก็อาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกหลายๆ ตัวเลือกที่พรรคเลือกเข้ามาทำงานด้วย การสร้างให้พรรคเป็นธรรมเป็นสถาบันการเมืองที่แท้จริง จะเป็นการรวมกันของกลุ่มคนที่มีความคิดอุดมการณ์แบบเดียวกันมาทำสถาบันการเมืองนี้
ถึงแม้วันหนึ่งตัวผมจะไม่อยู่ แก่ตัวไป พรรคก็จะสร้างคนรุ่นใหม่ เข้ามาทำงานให้ได้ ก็จะเป็นสถาบันการเมืองอีกทางเลือกหนึ่งให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย
หากกัณวีร์ สืบแสง และพรรคเป็นธรรม มีโอกาสทำงานแค่สมัยเดียว สิ่งที่อยากจะผลักดันให้สำเร็จคืออะไร
แน่นอนว่าเรื่องสันติภาพในพื้นที่ปาตานี เพราะเราให้คำสัตย์กับพี่น้องประชาชนไว้แล้ว เราอยากจะผลักดันสันติภาพให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และพี่น้องในพื้นที่สามจังหวัดก็มีความต้องการจริงๆ ฉะนั้นหากพรรคเป็นธรรมมีโอกาสแค่สมัยเดียว ก็จะเน้นเรื่องนี้เป็นหลัก
รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ต้องปักหมุดหมายให้ได้ว่าประเทศไทยจะต้องนำเอาหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นหลักใจกลางสำคัญในการทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เพราะหากเราปักหมุดหมายนี้ได้แล้ว ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาเขาก็จะต้องอิงหลักสิทธิมนุษยชนไปทำนโยบายต่อไป