ท่ามกลางภาวะอดอยากปากแห้งของคนไทยที่แผ่กระจายเป็นวงกว้าง อันเป็นผลพวงมาจากมาตรการยับยั้งการระบาดของ COVID-19 สำหรับสังคมที่มีแรงงานทั้งในและนอกระบบกว่า 40 เปอร์เซ็นต์แล้ว หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าคนส่วนใหญ่เหล่านี้จะมีชีวิตอยู่อย่างไร จะมีวิธีการใดบ้างเพื่อดูดซับความปวดร้าวจากความแร้นแค้นนั้น
วันนี้คือ ‘วันกรรมกรสากล’ ในภาษาสากล หรือ ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ในภาษาไทย วันแห่งการรำลึกถึงชนชั้นผู้เกื้อกูลดอกผลทางเศรษฐกิจ ไม่มีวาระไหนจะเหมาะสมเท่ากับเวลานี้
WAY สนทนาถึงสถานการณ์แรงงานในภาพกว้างกับ แล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราภิชาน ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการอาวุโสผู้คร่ำหวอดกับพี่น้องแรงงานกรรมกรมาเกือบ 5 ทศวรรษ
คงไม่จำเป็นต้องอารัมภบทถึงนักเศรษฐศาสตร์การเมืองคนสำคัญให้เกินกว่านี้ ถัดจากนี้ขอเชิญทุกท่านอ่านความเห็นที่หนักแน่นแต่ง่ายงาม เพื่อข้ามผ่านวิกฤติไปด้วยกัน
สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จนส่งผลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเวลานี้ มันต่างออกไปจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งก่อน ๆ อย่างไร
หากดูวิกฤติใหญ่ที่เกิดขึ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่พอจะคาดเดาได้ สิ่งที่พอจะคาดเดาได้คือความต้องการสินค้า หรือ demand ทรุดต่ำลง เพราะผู้คนต้องอพยพหนีสงคราม ไม่มีเวลาทำมาหากิน ขณะที่ supply อย่างโรงงานก็ถูกทำลายลงไป จนเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงหลังสงครามที่เกิดขึ้นอีกเป็นระยะๆ มันก็ยังเป็นสิ่งที่พอคาดเดาได้
แต่การเกิดขึ้นของโรคระบาดในปริมณฑลของบริบทโลกในเวลานี้เป็นอะไรที่ใหม่ แล้ว disrupt ระบบเศรษฐกิจทั้งโลก ซึ่งเป็นเรื่องคาดเดายาก เพราะมาตรการที่ใช้ไม่ใช่เพียงแค่รับมือกับโรคระบาด แต่มีคำถามไปถึงการจัดระบบการทำงาน ว่าการจัดระบบแบบที่เป็นอยู่ มันขัดขวางระบบการผลิต การจำหน่าย การบริโภค ฯลฯ
ยิ่งเมื่อเราดูกฎการวางระยะห่างทางสังคม จะเห็นได้ชัดเจนว่าคนจนทำไม่ได้เมื่อเทียบกับคนรวย ชาวสลัมต้องซุกหัวนอนกันอยู่ 5-6 คน การวางระยะห่างทำได้ยาก ดังนั้นโอกาสที่จะป้องกันโรคของคนจนก็มีน้อยกว่าคนรวยซึ่งเป็นเรื่องผลกระทบ แต่ในมิติของการเสี่ยงติดโรคครั้งนี้แปลกต่างจากสมัยก่อนคนรวยสามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยการซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ หรือแม้แต่การรักษาพยาบาล แต่วันนี้ความรวยความจนมันไม่ได้ต่างกัน เหตุเพราะว่าเราไม่ได้รู้จักโรค ฐานะทางการเงินในชั้นต้นเหมือนจะแบ่งแยกได้ แต่มันก็แบ่งแยกไม่ได้
อีกตัวอย่างคือการที่ห้างสรรพสินค้าปิด ซึ่งห้างมักขายสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งสิ้น ขายสิ่งที่เรียกว่าเป็นการบริโภคเชิงสัญญะ ซีกนี้ไม่ได้มีบทบาทหลักอีกต่อไป การเอาของมาหิ้วเพื่อแสดงความแตกต่างทางฐานะไม่มีความสำคัญอีกต่อไป ผมคิดว่ากรณีนี้ โรคระบาดได้ถลกวรรณะต่างๆ จนกระทั่งอาจทำให้มานั่งแบ่งแยกคนด้วยเกณฑ์อะไรก็ไม่รู้ ตอนนี้กลายเป็นว่าเราจะแบ่งคนที่มีโอกาสติดโรคกับคนที่ไม่มีโอกาส เราจะแบ่งกันด้วยเกณฑ์อะไร
แต่วิกฤติเศรษฐกิจจากโรคระบาดรอบนี้ ดูเหมือนว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักคือกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ
การเสี่ยงที่จะติดโรคอาจจะไม่ต่างกัน แต่ผลกระทบหลังจากนั้นคือคนจนแน่นอน เอาง่ายๆ ใครบ้างที่ไม่มีทุนสำรองระหว่างมาตรการกักตัว ก็คือคนที่เป็นลูกจ้างรายวัน คนขับรถรับจ้าง คนหาบเร่แผงลอย ฯลฯ ถ้าเอาปัจจัย 4 ไปจับก็พบว่าเขาอยู่อย่างลำบาก อาหารก็ไม่มี เงินก็ไม่มีไปซื้ออาหาร ที่อยู่อาศัยก็ต้องเช่าเป็นวันๆ บางคนเช่าเป็นห้องอยู่ในโรงงาน แล้วโรงงานมันปิดจะไปอยู่ที่ไหน บางคนเช่าแบบรวมหมู่กันอยู่ 4-5 คน พอไม่มีรายได้ เขาก็ล็อคประตู คุณจะไปอยู่ที่ไหน แน่นอนผลกระทบชัด เกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีทุนสำรอง พอเกิดวิกฤติขึ้นมาเปรี้ยงเดียว ก็เกิดภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว มาตรการวางระยะห่างมันทำให้ต้นทุนในการอยู่บ้านของคนที่กินรายวันกับกินรายเดือนไม่เหมือนกัน คนจนย่อมสูญเสียมากกว่า
ส่วนการอัดฉีดเงินเข้าไปช่วย โอเคคือการเพิ่มอำนาจในการซื้อ แต่ถามว่ามีของขายให้คุณซื้อหรือเปล่า ถ้าโรงงานปิดหมดแต่อัดอำนาจซื้อเข้าไป มันอาจจะเข้าหลักว่า “มีอำนาจซื้อมากกว่าการมีสินค้าขาย” ก็อาจจะทำให้สินค้าแพงขึ้นได้
ดังนั้นคำถามคือ เวลาที่อัดฉีดเงินเข้าไป มันถึงคนจนหรือคนที่ลำบากจริงหรือเปล่า สิ่งที่เห็นจากการอัดมาตรการลงไป กลายเป็นไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า เพราะการกระจายความช่วยเหลือในสังคมที่มีการผูกขาด กลุ่มทุนผูกขาดจะมีอำนาจในการดูดซับทรัพยากรได้มากกว่า เวลาบอกว่าอัดฉีดลงไปเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ถามว่าเงินพวกนี้ลงไปถึงที่ไหน ก็ไปถึงไม่เกิน 10 ตระกูลในประเทศนี้
รวมถึงมาตรการกีดกันด้วย เวลาที่สั่งปิดหรือทำให้ตลาดสดทำงานยากขึ้น ต้นทุนการขายในตลาดสดสูงขึ้น ผู้ค้ารายย่อยก็สู้ไม่ไหว สุดท้ายก็ไปเพิ่มยอดขายให้ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์สโตร์ วิกฤตินี้จึงเป็นโอกาสของคนที่ผูกขาด
ในวงการกรรมกรตั้งแต่สมัย คุณไพศาล ธวัชชัยนันท์ (อดีตผู้นำแรงงานในทศวรรษที่ 2510) จะเรียกสภาวะนี้ว่า “สถานการณ์มันเตะหมูเข้าปากหมา”
การจัดลำดับความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลต่อกลุ่มคนที่เปราะบางน่าพอใจแค่ไหน
ผมอยากจะเท้าความก่อนว่า แรกเริ่มเดิมทีแรงงานคือคนที่ขายแรงงานก็อยู่กันตามมีตามเกิด เงินชดเชยไม่ต้องพูดถึง เงินประกันสังคมไม่ต้องพูดถึง ถ้าตกงานเมื่อไหร่คุณก็ตายเมื่อนั้น ต่อมามันมีการดิ้นรนทั้งแรงงานในระดับโลกและระดับชาติที่จะต้องมีหลักประกันว่า ถึงแม้จะไม่มีงานทำทั้งที่เราพร้อมจะทำ อาจจะเพราะธุรกิจมันเจ๊ง เศรษฐกิจพัง ก็ขอให้เรามีโอกาสที่เราจะอยู่ มีโอกาสให้เราได้หายใจ ถ้าจะไล่เราออกก็ขอให้มีเงินชดเชยให้เราหน่อยได้ไหม ถ้าจะตกงานแล้วนายจ้างเจ๊งก็ขอให้เราได้เงินประกันสังคมหน่อยได้ไหม
ต่อมาหลักของประกันสังคมจึงมาช่วยค้ำจุนให้เกิดความแตกต่างระหว่างตัวสินค้ากับตัวผู้ใช้แรงงาน เพราะความเป็นสินค้าของผู้ใช้แรงงานคือ ถ้าเขาไม่เอาคุณ คุณก็ไม่มีราคาเหมือนกับอิฐ หิน ปูน ทราย ที่เขากองไว้เวลาที่ไม่สร้างตึกแล้ว แต่คนมันไม่ใช่อิฐหินปูนทราย แม้เขาไม่จ้างคุณแล้วแต่คุณก็ยังต้องกินต้องอยู่ ต้องมีลมหายใจ เพราะฉะนั้นหลักประกันสังคมสร้างขึ้นเพื่อให้เห็นว่ามนุษย์ต่างกับสัตว์ ต่างกับวัสดุสินค้า
คำถามคือเวลานี้หลักประกันทั่วถึงหรือไม่ ระบบประกันสังคมซึ่งประกันแรงงานที่ขายแรงเลี้ยงตัวหรือว่าประกันเฉพาะลูกจ้างเท่านั้น เพราะต้องเข้าใจว่าผู้ขายแรงงานไม่ใช่เพียงเฉพาะลูกจ้างเท่านั้น แต่มีแรงงานรวม 24-25 ล้านคน ถามว่าลูกจ้างมีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน เราคุ้มครองคน 10 ล้าน แต่ไม่ได้คุ้มครองคนทั้ง 24 ล้านคน กลไกไปไม่ถึงคนที่เหลือ ซึ่งไม่เคยถูกหักเบี้ยประกันสังคม จึงเข้าไม่ถึงประกันสังคมและเขาก็ไม่มีสิทธิในส่วนนั้น
ถ้าถามว่าใครเปราะบาง ก็คือคนที่อยู่นอกระบบการคุ้มครองของรัฐ และถ้าเราแจงตามลักษณะงาน คนงานอุตสาหกรรม คนงานบริการ ใครเปราะบางกว่ากัน เราจะเห็นว่า งานบริการที่ต้องนำเสนองานตัวเองออกไป ทั้งพนักงานเสิร์ฟ คนงานก่อสร้าง ฯลฯ งานเหล่านี้มันทำออนไลน์ไม่ได้
บางคนนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 โดยมองว่าภาคแรงงานในยุคนี้หนักหนาสาหัสกว่าตรงที่ไม่มีชนบทเป็น ‘เบาะรองรับ’ เหมือนปี 2540
เราชอบพูดกันแบบโรแมนติกว่า ปี 2540 คนตกงานเป็นล้านแต่ยังมีเศรษฐกิจแบบยังชีพ เศรษฐกิจพอเพียงรองรับ บอกว่าสามารถดูดซับคนเหล่านี้ได้ด้วยการกลับไปบ้าน คำถามผมอย่างแรกคือ คนที่มาอยู่ในเมืองมีที่ดินเหลือมากแค่ไหน และถ้าเหลือแล้วเป็นที่ดินที่ทำมาหากินได้หรือเปล่า อย่างที่สอง คนที่มาอยู่ในเมืองกว่า 20 ปี จะกลับไปทำนาเป็นไหม รุ่นลูกที่โตมากับท้องนาทำนาเป็นไหม ทำสวนเป็นไหม ฉะนั้นจึงไม่มีทั้งที่ดินและทักษะ
ฉะนั้นหลังปี 2540 กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์จึงเกิดขึ้นเพียบเลย เพราะคุณเกิดในเมือง โตในเมือง พื้นที่ต่างจังหวัดเราอาจจะมีมากจริง แต่มันก็เถียงกันมาตั้งแต่สมัยก่อนปฏิวัติ 2475 แล้ว ว่าเอาเข้าจริงที่ดินที่เป็นของเสรีชนมีเท่าไหร่กันแน่ เพราะที่ดินที่ทำมาหากินได้มันอยู่ในมือของเจ้านาย ขุนนาง เศรษฐีทั้งนั้น และที่ดินในเมืองต่างจังหวัดเป็นของใคร ใช่ที่ดินของพ่อแม่ปู่ย่าของคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรือเปล่า มันอยู่นู่นสุดท้ายปลายโต่ง ที่ชลประทานก็ไม่ถึง ไฟก็ไม่ถึง ไม่อย่างนั้นเขาไม่ทิ้งลูกทิ้งเมียมากรุงเทพฯ หรอก ปัญหาคือมันไม่ได้มีทางเลือกง่ายขนาดนั้น
อาชีพใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นหลัง 2540 ที่คนขับรถตุ๊กตุ๊ก สองแถว วินมอเตอร์ไซค์ ก่อนจะมาเป็นมินิบัส คนกลุ่มนี้คือผลพวงจากการตกงานปี 2540 แต่บังเอิญว่าหลังวิกฤตินั้นการตกงานไม่ได้นาน เพราะเพียง 2 ปี ก็เกิดเหตุระเบิดที่บาหลี การท่องเที่ยวในไทยจึงบูมมาก สามารถดูดซับคนเหล่านี้มาอยู่ในภาคท่องเที่ยวและเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของการทำงานในเมืองมากขึ้น ฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าพอวิกฤติแล้วชนบทดูดซับคนเหล่านี้เอาไว้ได้ แต่มันเกิดการพลิกตัวของวิถีชีวิตในเมืองมากกว่า
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าวิกฤติโควิด เกิดสถานการณ์ที่นายจ้างหยุดกิจการไว้ชั่วคราวหลายกิจการ และนายจ้างก็ฉวยโอกาสไม่จ่ายเงินลูกจ้างด้วย
อย่าเอาศีลธรรมไปจับเลย โทษเขาไม่ได้ แต่ผมอยากเสนอว่าเพราะว่าทุนนิยมมีตรรกะของมันอยู่แล้ว ถ้านายทุนเขาไม่พยายามผูกขาดตลาด หรือประหยัดต้นทุน ประหยัดค่าแรง เขาก็ไม่ได้อยู่ในตรรกะของทุนนิยม เมื่อเขาอยู่ในตรรกะทุนนิยม เราก็ไม่ต้องมาพูดว่า ทำไมเราไม่มีนายทุนใจดี เราไม่มีนายทุนพ่อพระ เพราะทุกคนก็มีตรรกะ
ถ้าเขาเลิกจ้างคุณ เขาก็ต้องบอกว่ากำไรมันไม่มี พี่ก็จำเป็นต้องเอาน้องออก ทุกคนยอมรับตรรกะนี้ได้ว่าเมื่อไม่มีกำไรก็ต้องออก เราไม่ได้พูดว่าการให้ออกเป็นความโหดร้าย ผิดศีลธรรม เราไม่พูดแบบนั้น โอเค สถานการณ์แบบนี้จะเรียกว่าเอาเปรียบก็ได้ แต่มันคือการฉกฉวยโอกาสที่จะเซฟตัวเอง และผมคิดว่าทุกคนทำ
เวลาวิพากษ์วิจารณ์อย่าไปวิพากษ์จากมิติศีลธรรม แต่ต้องวิพากษ์ในมิติของความบกพร่องของกลไกทุน กลไกรัฐที่มันไม่ได้มีการปกป้องคนเท่าที่ควร แน่นอนนายจ้างเองไม่อยากมาบอกว่าขอปิดกิจการชั่วคราวแล้วเขาต้องจ่ายถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ตามกฎหมายแรงงาน
ในแง่นี้ทางการอาจจะบอกว่าห้ามคุณทำการผลิตในช่วงเวลานี้ งั้นคุณก็ไปรับเบี้ยประกันการว่างงานจากประกันสังคม นายจ้างก็บอกว่า “ผมไม่ได้หยุดกิจการนะแต่เขาสั่งผมปิด” ถ้าหากมีโอกาสแล้วทำได้ ถามว่ามันมีนายจ้างคนไหนไม่ทำบ้าง แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าเมื่ออำนาจรัฐที่ใช้อยู่ ถูกใช้ได้ครอบคลุมสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือ ถ้าไม่ ทำไมไม่ปรับปรุงให้ดีขึ้น
แล้วจะช่วยแรงงานได้ยังไง จากผลของการฉีดยาแรงแบบนี้
ถ้าเราไม่มีรัฐบาล เราก็ต้องไปบนบานศาลกล่าวเทพยดาฟ้าดิน แต่เมื่อสังคมนี้มีรัฐบาล แล้วรัฐบาลมีพันธะทั้งทางกฎหมายและศีลธรรมที่จะทำให้สังคมนี้อยู่เย็นเป็นสุข มันต้องทำให้คนที่เสียเปรียบส่งเสียงให้ดังขึ้น เพราะถ้าไม่ดังรัฐก็มองเห็นแต่คนตัวโต อย่างหนึ่งคุณต้องรวมตัวกันส่งเสียงให้ดัง เหมือนกับเวลาที่ผมเรียกเรือจ้าง ถ้ายืนคนเดียวตะโกนแล้วก็ยังไม่ดัง แต่ถ้ารวมกันได้สัก 5 คน แล้วตะโกนว่าเรือจ้างพร้อมกัน มันก็จะหันหางเสือมาหาเรา
แต่แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้มีเสียงที่ดังมากพอ
ก็นี่ไง คำว่าแรงงานนอกระบบหมายถึง ไม่มีการจัดตั้ง ไม่สามารถดึงกลไกอำนาจรัฐมาปกป้องตัวเองได้ ส่วนแรงงานในระบบเริ่มมาจากคนในองค์กรเดียวกันจัดตั้ง สถานที่ทำงานเดียวกัน จึงเป็นสหภาพที่เข้าไปกดดันรัฐให้มีกฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคม แต่ว่าแรงงานนอกระบบเป็นทั้งเหตุและผลในตัวมันเอง เหตุคือมันอยู่กระจัดกระจาย ผลคืออำนาจรัฐไม่สามารถเข้ามาปกป้องได้
แต่หากสามารถจัดตั้งรวมตัวกัน ให้ความเป็นแรงงานนอกระบบถูกผนวกเข้าไปมากขึ้น ซึ่งหมายถึงระบบการคุ้มครองทางกฎหมาย เหมือนแรงงานนอกกฎหมาย พูดในภาษาไทยอาจจะไม่ค่อยดี เหมือนว่าเถื่อน จริงๆ เถื่อนอาจจะมีความหมายเหมือนกับไก่ป่า ที่มีอิสระเสรี
งานวิจัยที่ออกมาเร็วๆ นี้ ชี้ว่าคนไทย 10 เปอร์เซ็นต์ที่รวยสุด กับคนไทย 10 เปอร์เซ็นต์ที่จนสุด ห่างกันเป็นโยชน์ แต่ว่าคนที่รวยสุดเสียภาษีไม่ถึง 2 เท่าของคนจนสุด เพราะคนจนสุดกลุ่มใหญ่มากแล้วเสียภาษีรวมกัน มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่รวยทะลุเพดาน แปลว่าคนจนเสียภาษีมากแต่ได้รับการคุ้มครองน้อยใช่หรือเปล่า
ฉะนั้นถึงเวลาที่ต้องจัดตั้งกดดันอย่างต่อเนื่อง รัฐจะต้องให้การคุ้มครอง รัฐเก็บภาษีคุณนะ แต่ไม่สามารถยื่นกลไกมาช่วยเหลือคุณได้ เพราะประเทศเราภาษีส่วนใหญ่มาจากภาษีทางอ้อม ไม่ว่าจะซื้ออะไร กินอะไร ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กับข้าว น้ำมันพืช ฯลฯ เขาเสียภาษีทุกคนแหละ แต่ว่าการคุ้มครองจากรัฐคุณไม่ได้เลย
ฉะนั้น ทำอย่างไรให้คุณได้รับการคุ้มครองจากรัฐเป็นการถาวร ในสถานการณ์เฉพาะหน้าอาจจะออกมาโวยเป็นพักๆ อาจจะรวมตัวเรียกร้อง ไปหน้ากระทรวงการคลังเป็นพักๆ แต่ว่ามันไม่พอไง
รัฐบาลก็ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และก็จะมีการคลายล็อคดาวน์ในเร็ววันนี้
ผมไม่รู้คุณตั้งใจจะพูดหรือเปล่าว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ผมคิดว่ามันเป็นโวหารของพวกข้าราชการ ผมไปประชุมที่ไหนๆ ข้าราชการจะบอกว่า “เรื่องนี้ทางหน่วยงานเราไม่ได้นิ่งนอนใจ” “เรื่องนี้กระทรวงเราไม่เคยนิ่งนอนใจ” ผมก็อยากจะถามว่า “คุณมีสิทธินิ่งนอนใจไหมล่ะ” ในเมื่อคุณมีพันธะบริหารบ้านเมืองให้เป็นปกติ คำถามคือสิ่งที่คุณทำมันทันการณ์ไหม หรือว่าคุณต้องรอให้งามันไหม้คุณถึงจะทำให้ถั่วสุกได้
ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลไม่สามารถคิดล่วงหน้าเร็วกว่านี้ มาตรการชดเชย 5,000 บาทเกิดขึ้น เพราะคนไปเรียกร้องกดดัน หรือเพราะเขาเรียกร้องแล้วคุณให้ได้แค่ 5,000 บาท ถ้ารีบจัดการเรื่องพวกนี้แล้วไม่ต้องรีบไปบอกว่าสงกรานต์จะไม่หยุด คนก็จะไม่แห่กลับบ้านไปมากขนาดนั้น
โอเค ถ้าคุณบอกว่าเราจะช่วย และเงินที่มาช่วยจะออกมาภายในสัปดาห์เดียว ทันทีที่พูด เชื่อว่าคนจะยังอยู่กรุงเทพฯ ไม่น้อย แต่พอพูดไปแบบนั้น แรงงานก็จะบอกว่าสงกรานต์ไม่หยุดแต่โรงงานหยุด ผมจะอยู่ยังไง สุดท้ายก็แห่ไปเบียดเสียดที่ บขส. หนีตายกันออกจากกรุงเทพฯ
สิ่งที่ผมจะบอกคือ จากอดีตจนถึงปัจจุบันสิ่งที่รัฐบาลให้กับคนจน ความคิดเริ่มต้นไม่ได้มาจากรัฐ แต่มาจากการกดดันของคนงานทั้งสิ้น บวกกับแรงกดดันของประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึง ILO ด้วย (International Labour Organization) อย่าลืมว่าประเทศเราเป็นประเทศที่เริ่มก่อตั้งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เมื่อมีสันนิบาตชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 องค์กรระหว่างประเทศก็ถามเรามาตลอดว่า เราจะออกกฎหมายคุ้มครองคนงานไหม รัฐมนตรีต่างประเทศของเราในสมัยนั้นกลับบอกว่า คนงานในประเทศไทยไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนจีนคนต่างด้าว ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะออกกฎหมายมาคุ้มครองคนต่างด้าวเป็นการเฉพาะ ก็เลยไม่มีกฎหมายออกมา
จนกระทั่ง ปี 2499 เรามาปรับปรุงหน้าตาให้มันดีขึ้น ก็ถึงได้ออกกฎหมายแรงงานเป็นครั้งแรก ก่อตั้งได้ประมาณปีเดียว จอมพลสฤษดิ์ก็มาปฏิวัติยกเลิกกฎหมายนั้นไป เรามาได้กฎหมายแรงงานอีกทีหนึ่งหลังเหตุการณ์ ‘14 ตุลาฯ’ โดยเฉพาะกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ สถานการณ์มันก็คลี่คลายบ้างแล้ว เพราะรัฐบาลทหารก็อ่อนตัวลงมาก ก็พยายามจะเอาใจคนงาน คนงานเคลื่อนไหวก็หนัก
กฎหมายประกันสังคมก็ดี การเกิดขึ้นของกระทรวงแรงงานก็ดี ล้วนเกิดขึ้นจากคนงานกดดันไม่ใช่เริ่มจากรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว เคยเห็นว่ารัฐบาลคิดจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงานบ้างไหมถ้าลูกจ้างไม่เรียกร้องกัน สิ่งที่คนงานได้มาอย่าบอกว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนใหญ่ก็มาจากคนงานเรียกร้องทั้งนั้น แล้วก็เรียกเผื่อต่อ และต่อกันได้เท่าไหร่ ค่อยมาว่ากันอีกที
แต่ในยุคปัจจุบันมีแรงงานกลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการรวมกลุ่มเป็นขบวนการหรือสหภาพแรงงาน
ก็ต้องปรับตัวกันทั้งสองฝ่ายทั้งนายจ้างและลูกจ้าง อย่างหลังปี 2540 มีวิธีการจ้างงานที่ทำให้แรงงานลดการรวมตัว ซึ่งเรียกว่าแรงงานเหมาช่วง หรือ sub-contract worker นายจ้างก็บอกว่า “เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวเราไม่สามารถจ้างคนงานในระดับถาวรได้” ลักษณะนี้ก็จะเป็นแบบมีงานก็จ้าง ไม่มีงานก็ไม่จ้าง ต่อมาแรงงานกลุ่มนั้นก็มาเป็นลูกจ้างรูปแบบใหม่ที่เป็นลูกจ้างของเอเจนซี ไม่ใช่ลูกจ้างของสถานประกอบการ จึงทำให้การรวมตัวกันในรูปแบบลูกจ้างใต้หลังคาเดียวกันเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายแรงงานไทยเปิดให้รวมตัวภายใต้นายจ้างเดียวกันไม่ใช่การทำงานเดียวกัน ก็เอานายจ้างแยกออกไปรับแรงงาน supply แรงงานให้กับโรงงาน ก็จะตั้งสหภาพแรงงานยากมาก
แต่ถามว่าในทางทฤษฎีจัดตั้งได้ไหม มันก็อาจจะได้ เช่น แรงงานของเอเจนซี A ตั้งสหภาพแรงงาน A ได้ แต่มันก็ยากในทางปฏิบัติ เพราะเอเจนซีก็อาจจะส่งคนงานไปทำงานในหลายๆ จังหวัด ถ้าสมมุติว่าคุณดัง คุณซ่า คุณเป็น troublemaker เขาก็จะย้ายคุณจากกรุงเทพฯ ไปทำงานราชบุรี มันก็ทอนโอกาสในการต่อรอง ไม่เหมือนกับคนที่ทำงานอยู่ในที่เดียวกัน
ประเด็นสำคัญคือว่า ขบวนการแรงงานจำเป็นไหมที่จะต้องใช้วิธีการจัดตั้งแบบเดิมในอุตสาหกรรม ในสถานประกอบการเดียวกัน ผมเสนอว่าต้องหาวิธีรวมกันในรูปแบบอื่น อย่างกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทยเขาใช้วิธีการรวมกันจากหลายสาขาอาชีพ แม้แต่คนตามกฎหมายแรงงานไทยที่ไม่อนุญาตให้สามารถรวมตัวกัน เช่น คนที่เป็นผู้ใช้แรงงานแต่ว่าเกษียณไปแล้ว ประกอบอาชีพเป็นอย่างอื่นไปแล้ว ก็เอามารวมกลุ่มได้ เพราะถือว่าเป็นผู้ใช้แรงงานเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน
แนวทางการรวมกัน อาจจะต้องมีการขยับขยายไปจากวิธีคิดแบบดั้งเดิม จากคนภายใต้หลังคาโรงงานเดียวกัน ไปสู่คำนิยามใหม่ที่สอดคล้องกับโลกของการทำงานสมัยใหม่ โดยเฉพาะภาคบริการ กลุ่มทำงานออนไลน์ อาจจะต้องการแกนนำในการรวมตัวใหม่ๆ เมื่อทุนไม่ได้อยู่นิ่ง แรงงานก็ไม่ควรอยู่นิ่งๆ
200 กว่าปีที่ผ่านมาขบวนการแรงงานมีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย แล้วมีรูปแบบหลากหลาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือมันยังอยู่ได้ เพราะอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ใครจะบอกว่าแรงงานไม่มีการรวมตัว ถ้าไม่มีการรวมตัวอาจจะไม่มีกฎหมายต่างๆ มาคุ้มครองแรงงานได้แบบในปัจจุบัน ขณะที่รัฐเองไม่ต้องการทำสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะมองว่าเป็นภาระ ส่วนการให้สิทธิแรงงานบ้างก็เพียงต้องการแต่งหน้าทาปากให้ตัวเองดูดี เพื่อให้ดูว่าเคารพสิทธิมนุษยชน
การต่อสู้ของแรงงานที่ผ่านมา ต้องอาศัยองค์ประกอบอะไรบ้างเพื่อให้เสียงของเขาถูกได้ยิน
ผมคิดว่ามันมี 2 อย่าง อย่างแรกคือ อุดมการณ์ มาจากความคิดของนักปรัชญาว่า สังคมที่ดีนั้นจะต้องอยู่กันยังไง จะให้ค่าของความเท่าเทียม ชัยชนะที่มีต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างไร แนวคิดสังคมนิยมก็อาจจะเน้นความเป็นพี่เป็นน้อง ส่วนแนวคิดเสรีนิยมอาจจะเน้นการเปิดโอกาสให้มนุษย์ใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และในบางทีมันขึ้นกับสถานการณ์วิกฤติของระบบเก่า ตัวอย่างเช่น หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย คุณจะจัดระบบการทำงานอย่างไร จะเว้นระยะการนั่งทำงานยังไง ขึ้นเครื่องบินจะรับคนได้ 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 ค่าเครื่องบินจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ก็ต้องมานั่งนึกว่าเราจะคุมโควิดด้วยวิธีใด ที่ไม่ใช่การเว้นระยะเท่านั้น เพราะการเว้นระยะทำให้ต้นทุนแพงขึ้น อาจจะเริ่มคิดว่าทำยังไงให้การนั่งใกล้ชิดกันทำได้โดยไม่ติดเชื้อ
ในอดีตขบวนการแรงงานก็เกิดขึ้นในลักษณะนี้ ในประเทศอุตสาหกรรม แรงงานมารวมตัวกันภายใต้หลังคาเดียวกัน โรงงานเดียวกัน ถ้าอ่านวรรณกรรมช่วงนั้น เช่นงานเขียนของ แมกซิม กอร์กี หรือ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เราจะเห็นชีวิตของคนทำงานไม่ได้ต่างกับสัตว์ เข้าโรงงานตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น เลิกงานเมื่อพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว ทำงานวันละ 12-14 ชั่วโมง ชีวิตคนสั้นมาก เจ็บป่วยล้มตายได้ง่าย ความแตกต่างระหว่างฐานะคนห่างกันมาก ค่าจ้างพอประทังชีพ ก็มีการตั้งคำถามว่า เราจะยอมอยู่กันแบบนี้หรือไม่ อุดมการณ์มันก็เข้ามาทำงานเพื่อตอบว่า ชีวิตคนไม่ควรเป็นแบบนี้นะ
อย่างที่สองคือ โอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ เมื่อมีตลาดที่กว้างขึ้น มีความต้องการสินค้ามากขึ้น มีความต้องการกำลังการผลิตมากขึ้น ก็เกิดปัญหาตามมาว่าคนทำงานไม่พอจะทำยังไง คนงานที่เป็นเบี้ยหัวแตกก็มารวมกันจนเป็นเสียงเดียวกันประกาศเลยว่า ค่าจ้างแค่นี้ไม่เอา จะเอาแค่นั้น ถ้าไม่เอาก็แสดงว่าไม่มีใครทำงานสักคนเลย ผมอยากจะบอกว่าถ้านายจ้างเป็นฝ่ายผูกขาดเรื่องตลาดเรื่องราคา แรงงานก็ควรมีอำนาจในเรื่อง supply แรงงาน แต่การต่อรองไม่ได้ต่อรองเฉพาะนายจ้าง แต่ต้องต่อรองกับรัฐด้วย เพราะฉะนั้นมันจะต้องเกิดขึ้นจากสองขาคือ อุดมการณ์ในฐานะทิศทาง และโอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤติ
ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากผลของโควิด ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจก็ร่อแร่มาหลายปีแล้ว ไม่ช้าก็เร็วภาคแรงงานก็ต้องพังเข้าสักวัน อาจารย์มองประเด็นนี้ยังไง
ถ้าเราดูปัญหาการจ้างงานในบ้านเราไม่ค่อยมีนะ แต่จะเป็นปัญหาเรื่องการให้ค่าตอบแทนแรงงานที่มันแย่มากกว่า เพราะก่อนวิกฤติโควิดอัตราการว่างงานของไทยน้อยที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ถ้าจะเอาเกณฑ์การวัดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ จะพบว่าหลายปีมาแล้วเราอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศในยุโรปอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาของบ้านเราตอนนี้คือโรงงานไหนไม่มีโอทีจะไม่มีคนไปทำงาน มันแปลว่าค่าจ้างเราต่ำเกินไป เพราะถ้าเราทำงานเหมือนมนุษย์มนาอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่เกิน 6 วันใน 1 สัปดาห์ เราจะอยู่ไม่ได้ ที่อยู่กันได้ทุกวันนี้เพราะเราทำงานเกินมาตรฐานเกณฑ์ขององค์กรระหว่างประเทศ
สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือสภาวะที่เรียกว่า disruption หรืออุตสาหกรรม 4.0 ที่กลัวกันว่าประเทศเราจะตามเขาไม่ทัน แต่ผมก็คิดว่ายังคงต้องดูไปอีกสักระยะ เพราะเอาเข้าจริงอุตสาหกรรมบางประเภทของเราเข้าสู่ยุค 4.0 มาตั้งนานแล้ว เช่น พวกยานยนต์ ที่ใช้หุ่นยนต์พ่นสีแทนคน หรือการประกอบตัวน็อต แต่ในอนาคตงานหลายอย่างจะกระทบแน่นอน เช่น งานธนาคาร ที่ทุกวันนี้มีการใช้ application หรือ e-banking เพื่อโอนเงิน ฝากเงิน เราก็ไม่ใช้คนทำงานเหล่านี้แล้ว
รวมถึงว่าในขณะนี้จำนวนประชากรลดลง digitalization เป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยชดเชยการขาดแคลนแรงงาน แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะระบบราชการห่วย แต่เป็นฝ่ายนายจ้างต่างหากที่เป็นฝ่ายนำสิ่งนี้มาทำ และกิจการไทยที่อยู่ได้ก็เพราะแรงงานราคาถูก เช่น พวกอุตสาหกรรมทอผ้า ที่ตอนหลังโรงงานก็เริ่มย้ายไปลงทุนในกัมพูชา และเมื่อพูดถึงแรงงานข้ามชาติ ในระยะยาวก็จะยังเป็นส่วนสำคัญที่มาช่วยเกื้อกูลเศรษฐกิจไทย เพราะถ้าไม่มีคน 3 ล้านคนเหล่านี้ มาช่วยงานสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทย และเขายังใช้จ่ายในเมืองไทยอีกเท่าไหร่ เงินที่เขาเก็บคืนบ้านคิดเป็น 20-30 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเขาเสียภาษีเท่ากับคนไทย คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแรงงานไทยที่อยู่ในประกันสังคม รัฐบาลไทยต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คุ้มครองสิทธิเขามากขึ้น ทำให้ระบบลงทะเบียนทำงานมีความรวดเร็วขึ้น
วิกฤติโควิดเป็นโอกาสของรัฐสวัสดิการไหม การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข จะเป็นทางออกอย่างน้อยในเวลาเฉพาะหน้านี้ไหม
ผมคิดว่าวิกฤติครั้งนี้ มันส่งสัญญาณว่า ถ้าคุณไม่ดึงแรงงานนอกระบบไปอยู่ในระบบประกันสังคม คนเหล่านี้ไม่ได้ส่งเงินประกันตนเอง กองทุนประกันสังคมก็ไม่ใหญ่พอ เมื่อเกิดวิกฤติก็ไม่มีเงินไปจ่าย และก็ต้องไปดึงส่วนอื่นมาจ่ายอยู่ดี ครั้งนี้ต้องเป็นบทเรียนในการปรับปรุงระบบประกันสังคม แล้วให้มันครอบคลุมทั่วถึงอย่างที่มันควรจะเป็น
สำหรับการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ผมคิดว่าจะต้องเข้าไปปรับที่กลไกของรัฐ ไม่ใช่ว่าพอเกิดปัญหาทีก็ไปขอความเมตตาไปดึงเอาเรื่องของศีลธรรมมาช่วย เพราะศีลธรรมไม่ใช่กลไกการบริหารประเทศ แต่ต้องปรับระบบภาษี การบริหารภาษี เก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้าอย่างแท้จริง ปรับโครงสร้างรายจ่ายของรัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างรายจ่ายทางสวัสดิการให้มันครอบคลุมแล้วมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ทุกวันนี้ถ้าคุณว่างงาน จะได้รับค่าประกัน ครึ่งหนึ่งของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน แต่คุณก็ไปล็อคว่าถ้าคนมีรายได้ 15,000 บาท ต้องจ่ายครึ่งหนึ่งคือ 7,500 ถามว่าถ้าคุณทำงาน 5-10 ปี พอตกงานคุณได้เงินแค่ 7,500 ต่อเดือนคุณอยู่ยังไง ตัวเลขพวกนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ไม่ต่างจากคุณเลี้ยงบอนไซซึ่งเหมือนกับต้นไม้ใหญ่ทุกอย่างแต่ว่าเอาไปกิน ไปอยู่ ไปบังแดดไม่ได้ เวลาพูดเรื่องประกันสังคมอัตราการตอบแทนต้องใกล้เคียงกับตอนที่เขามีงานทำ
อย่างในสแกนดิเนเวีย ถ้าหากตกงานเขาให้ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่คุณให้แบบนั้นไม่ได้ถ้าไม่ไปแก้ที่ระบบภาษี แต่เราเขียนจดหมายไปขอกับมหาเศรษฐี ทำไมเราไม่ทำโครงสร้างภาษีที่จะเก็บเขาได้ ถ้าทำได้เมื่อนั้นเราจะปฏิบัติต่อกันโดยสิทธิและหน้าที่ ไม่ใช่การเมตตาและการร้องขอ