หลังเหตุการณ์กองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินรบ MiG-29 ล้ำน่านฟ้าไทยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ผ่านไปหลายสัปดาห์ประเทศไทยกลับไม่ได้แสดงท่าทีแข็งขืนหรือกระทำการใดๆ ที่ควรจะเป็นไปตามหลักการสากลอย่างหนักแน่น มิหนำซ้ำยังพยายามแก้ต่างแทนกองทัพเมียนมาในกรณีดังกล่าวอีกด้วย นำมาสู่การตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยเป็นจำนวนมาก ว่าสรุปแล้วรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีศักยภาพหรือความต้องการที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติและความปลอดภัยของประชาชนมากน้อยเพียงใดกันแน่
“เพราะว่ารัฐไทยและทุนไทยเป็นผู้ปกครองประเทศที่อยู่มานาน อาจจะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีบ้างก็แค่เปลี่ยนหัวโขน แต่เนื้อแท้คือรัฐและทุนมาตลอด รัฐบาลทหาร นายทุน และชนชั้นนำไทยกลุ่มนี้ก็มีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำเมียนมามานานแล้วโดยเฉพาะหลังการเปิดประเทศ มีการสานสัมพันธ์และทำธุรกิจร่วมกันมากมาย”
เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ให้คำตอบเอาไว้ในขณะพูดคุยกับ WAY ภายใต้ประเด็นความสัมพันธ์ของชนชั้นนำไทย-เมียนมา ทำให้พบว่าอันที่จริงแล้วความขัดแย้งระหว่างกองทัพทั้งสองชาติที่สังคมไทยมักเข้าใจกันไปเองว่ามีความ ‘เขม่น’ หรือ ‘ข่ม’ กันอยู่เนืองๆ นั้นอาจเป็นความเข้าใจที่ผิด
หากจะทำความเข้าใจโซ่ทองที่คล้องชนชั้นนำทั้งสองชาติเอาไว้ อาจต้องย้อนกลับไปไกลถึงช่วงอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผ่านยุคของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และสู่ยุคปัจจุบันของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
“การที่ผู้นำไทยปล่อยให้เมียนมาใช้น่านฟ้าเมื่อครั้งที่ผ่านมาคือหลักฐานล่าสุด หากเกิดคดีขึ้นในอนาคตก็ถือเป็นความผิดของผู้นำไทยที่มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามมา”
การบินล้ำน่านฟ้า หรือย้อนกลับไปถึงกรณีการปล้นเรือสินค้าแถวหมู่บ้านสาละวิน จึงอาจจะไม่ใช่ความบังเอิญเป็นครั้งคราวที่เกิดขึ้นแล้วจบไปของกองทัพเมียนมา แต่อาจจะหมายถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างกองทัพไทยและกองทัพเมียนมาที่ยืนอยู่บนหลักถ้อยทีถ้อยอาศัยเหนือเส้นพรมแดนตามแผนที่การเมือง การมองโลกผ่านมุมมองความมั่นคงเหมือนกัน ประหนึ่งเป็นโซ่ทองเชื่อมสองแผ่นดินนี้เอาไว้โดยที่ไม่มีประชาชนของชาติใดเข้าไปอยู่ในสมการด้วยเลยตั้งแต่แรก
ความสัมพันธ์ของกองทัพไทย-เมียนมา เกี่ยวข้องกับภาคประชาชนอย่างไรบ้าง
เรื่องเฉพาะกิจในเมียนมาผมอาจจะไม่เชี่ยวชาญนัก เพราะแบบนั้นคงต้องสัมภาษณ์กับนักวิชาการโดยตรง แต่ผมมองในฐานะภาคประชาชนและการเคลื่อนไหวในเครือข่ายสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ดังนั้นหากมีประชาชนที่ใดก็ตามที่ถูกละเมิดสิทธิ เราก็จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกัน
จริงๆ ผมทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในปี 2544 ทำให้ได้ทำงานขับเคลื่อนกับนักศึกษาชาวเมียนมาหลายองค์กร และทำให้ได้เข้าใจประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดของพวกเขาในเหตุการณ์ ‘8888’ ช่วงปี 2531 ซึ่งเป็นผลพวงทางประวัติศาสตร์และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการลุกขึ้นสู้ของภาคประชาชนทั้งฝั่งไทยและเมียนมาเหมือนกัน ทำให้ผมเห็นถึงปัญหาและความรู้สึกร่วมของประชาชนระหว่างประเทศ จนทำให้เริ่มทำกลุ่มกิจกรรมที่ให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และรัฐสวัสดิการ ในชื่อของเครือข่าย Young Progressives ASEAN ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 5 ถึง 6 ประเทศในอาเซียน และมีองค์กรอื่นๆ อย่าง สนนท. ร่วมด้วย นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้ผมมีเพื่อนชาวเมียนมาและเริ่มเคลื่อนไหวร่วมกันมากขึ้น
ถ้าจะทำความเข้าใจมิติความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมา ควรเริ่มต้นที่ตรงไหน
เริ่มต้นจากความเป็นมนุษย์ก่อนเลยครับ ว่าหากสิทธิมนุษยชนของเราถูกละเมิดจากรัฐหรือกลไกที่ไม่ชอบธรรม เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง แล้วค่อยเข้าไปทำความเข้าใจว่าเพื่อนในเมียนมาถูกกดทับจากรัฐอำนาจนิยมอย่างไร
ส่วนความผูกพันระหว่างไทย-เมียนมา จริงๆ มีมานานแล้วในประวัติศาสตร์ แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ของเรามาจากการมีชายแดนร่วมกันมหาศาล โดยเฉพาะกับชนกลุ่มน้อยจำนวนมากที่อยู่ในเมียนมา เป็นความผูกพันแบบภูมิประเทศ ขณะเดียวกันความผูกพันแบบเชื้อชาติก็มี นับตั้งแต่ยุคพุทธกาลสมัยที่สองชาติยังเป็นเชื้อชาติไทใหญ่ (ปัจจุบันคือเมียนมา) และไทน้อย (บริเวณปัจจุบันคือลาวตอนใต้และภาคอีสานของไทย) นี่คือความผูกพันระหว่างมนุษย์ที่อยู่แถบเดียวกันก่อนมีเส้นพรมแดน
แต่หากจะเริ่มเข้าใจเมียนมาจริงๆ อาจจะไม่ต้องย้อนไปไกลขนาดนั้นเพราะมีประวัติศาสตร์ประดิษฐ์เยอะ เอาแค่ 60 ปีให้หลังมานี้ที่เมียนมาพยายามสร้างชาติจากการประชุมชนเผ่ามากมายแต่ถูกกองทัพหักหลังช่วงปี 2505 ด้วยการยึดอำนาจและเริ่มปราบปรามชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็ได้มีความเชื่อมโยงกับรัฐไทยอย่างน่าสนใจ เพราะถ้าย้อนกลับไปประเทศไทยในยุคนั้นก็เป็นรัฐบาลทหารคล้ายคลึงกัน การเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นมีแน่นอน ที่แตกต่างกันอาจจะเป็นการเริ่มเติบโตของรัฐไทยในขณะนั้นคือดึงกลุ่มทุนเข้ามาด้วย เป็น ‘รัฐและทุน’ แต่ของเมียนมาในช่วงแรกจะเป็น ‘สังคมนิยมแบบพม่า’ ที่ทหารดูแลเศรษฐกิจเอง ผูกขาดเอง และร่ำรวยเอง
ตอนประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีเป็นพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เป็นช่วงที่น่าสนใจ เพราะเมื่อเริ่มนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ตามแนวทางรัฐบาลไทย ก็มีการเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองชาติมากขึ้น โดยสมัยก่อนรัฐไทยจะให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยตามเส้นชายแดนบ้างเพื่อใช้เป็นรัฐกันชน ถ่วงดุลระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์เมียนมา พรรคคอมมิวนิสต์ไทย ไปจนถึงรัฐบาลเมียนมาในขณะนั้นด้วย แต่เมื่อผ่านยุคของพลเอกชาติชาย รัฐบาลไทยก็หันไปให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมามากขึ้น เนื่องจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยอ่อนแอลงมาก และมีการประเมินว่าหากรัฐบาลทหารเมียนมาเข้มแข็งขึ้นจนรักษาเสถียรภาพตามแนวชายแดนได้ รัฐไทยก็จะไม่ประสบปัญหาความมั่นคง
พอเปิดการค้าขึ้นรัฐบาลไทยก็ได้ส่งพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เข้าไปเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ ลดความช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยลง กองทัพเมียนมาขณะนั้นก็ใช้วิธีต่อรองกับผู้นำชนกลุ่มน้อยต่างๆ ด้วยการเสนอตำแหน่งสำคัญให้เพื่อแลกกับความภักดี ก็เป็นการทำงานร่วมกันอย่างแนบแน่นเป็นระบบ
ส่วนในปัจจุบันผมเห็นเส้นคู่ขนานกันมากระหว่างกองทัพเมียนมากับไทย เป็นการเลียนแบบกันและกันในการปกครองแบบอำนาจนิยม ตัวอย่างสำคัญคือการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาในปี 2559 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อันเป็นพรรคพลเรือนได้เสียงส่วนมากในสภาจนส่งผลกับกลไกผลประโยชน์ของชาติมากขึ้นจนเกิดรัฐประหาร ขณะที่ประเทศไทยเราจะเห็นได้ว่าหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่รัฐบาลพลเรือนเข้าไปมีส่วนแบ่งจากชนชั้นนำเดิมมากขึ้น เพียง 9 ปีต่อมาก็เกิดรัฐประหารเช่นกัน เพราะการแบ่งผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเสรีมันเข้าไปกลืนกินผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำผูกขาดมากขึ้น
ความคล้ายคลึงกันของชนชั้นนำสองชาติ คือ หากปล่อยให้รัฐบาลพลเรือนเข้าไปมีส่วนในผลประโยชน์จากโครงสร้างต่างๆ มากขึ้น ชนชั้นนำเดิมก็จะเสียประโยชน์ จึงเกิดการยึดอำนาจเพื่อเอารัฐราชการรวมศูนย์เข้ามา ซึ่งโครงสร้างประเทศจริงๆ แล้วมีผลประโยชน์มหาศาล เช่น ผลประโยชน์เรื่องเหมืองแร่ในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่ากว่า 39,000 ล้านล้านบาท ตรงนี้ก็มากกว่างบประมาณแผ่นดินเท่าไหร่แล้ว รัฐไทยก็เลือกวิธีการให้สัมปทานในการจัดการเหมือง ทั้งที่หากรัฐไทยทำเองผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชน เป็นต้น จึงไม่แปลกที่ทหารจะตาลุกวาว และเมื่อเกิดการรัฐประหารก็จะส่งทหารไปคุมแต่ละรัฐวิสาหกิจเสมอๆ ผมคิดว่าพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ก็คงเลียนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 8 ปีก่อนเหมือนกัน
แนวร่วมภาคประชาชนเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ปัจจุบันกลุ่ม Young Progressives ASEAN ไม่มีการดำเนินกิจกรรมต่อแล้ว เพราะเกิดขึ้นมาตั้งแต่เกือบ 20 ปีก่อน ปัจจุบันนี้องค์กรแนวก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ในเมืองไทยก็เยอะขึ้น อย่างเช่นเครือข่ายที่ชื่อว่า Social Democracy in Asia ขณะที่ Young Progressives ASEAN เป็นยุคคนรุ่นผม พอเลยวัยเยาวชนแล้วก็หายไป แต่เครือข่ายก็ยังรู้จักกันอยู่
ส่วนเมียนมาก็เคยมีเครือข่ายขบวนการนกยูงทอง เป็นขบวนการนักศึกษาสมัยเหตุการณ์ 8888 ที่ไปต่อสู้ในป่าเขาหลังการปราบปราม ฝ่ายที่ไม่ได้จับอาวุธแต่อยู่ในเมืองก็ยังเคลื่อนไหวอยู่เหมือนกัน พวกนี้จะมีเครือข่ายในประเทศไทยเยอะมาก ช่วงปี 2554 มีศูนย์ดำเนินงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และริมชายแดน เชื่อมเป็นขบวนการกันหมด แต่พอพรรค NLD ชนะเลือกตั้ง คนกลุ่มนี้ก็อพยพกลับเข้าไปพัฒนาประเทศกันเยอะ
กลุ่มเหล่านี้ในปัจจุบันอาจจะมีจำนวนมากกว่านี้ และพยายามรวมกลุ่มกันหลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต จุดนี้คล้ายกับการเมืองไทยที่การรวมกลุ่มก็เปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน ในเมียนมาถึงจะแรงกว่าไทยด้านการต่อสู้ แต่ระบบการเมืองโลกและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐก็เป็นหลังพิงสำคัญ เช่น ความสนับสนุนกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา หรือท่าทีของรัฐบาลจีนที่ไม่ได้คว่ำบาตรรัฐบาลเมียนมา ตัวอย่างสำคัญคือการโหวตลงคะแนนเสียงของสหประชาชาติช่วงกลางปีที่แล้วเพื่อเรียกร้องให้เมียนมาคืนอำนาจโดยเร็ว ปรากฎว่าไทยเป็นหนึ่งใน 36 ประเทศที่งดออกเสียง 36 ประเทศนี้แหละที่เป็นหลังพิงให้รัฐบาลทหารเมียนมายังอยู่ได้
ปัจจัยการชี้ขาดจึงตกอยู่ที่การต่อสู้ภายในประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ก็ย่อมก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ไม่ว่าไทยหรือเมียนมา
ท่าทีของสองกองทัพทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เปลี่ยนมากน้อยเพียงใด
ผมว่าไม่เปลี่ยนไปมาก เพราะรัฐไทยและทุนไทยเป็นผู้ปกครองประเทศที่อยู่มานาน อาจจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีบ้างก็แค่เปลี่ยนหัวโขน แต่เนื้อแท้คือรัฐและทุนมาตลอด รัฐบาลทหาร นายทุน และชนชั้นนำไทยกลุ่มนี้ก็มีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำเมียนมามานานแล้วโดยเฉพาะหลังการเปิดประเทศ มีการสานสัมพันธ์และทำธุรกิจร่วมกันมากมาย
ในมลรัฐต่างๆ ของเมียนมา เช่น รัฐฉาน ก็มีทหารไทยเข้าไปทำธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก การค้าระหว่างชายแดนมีความร่วมมือกันอยู่ เวลาเมียนมาให้สัมปทานทำถนนหรือทำท่าเรือ เช่น ท่าเรือทวาย ก็มีทั้งนักธุรกิจเมียนมาและไทยเข้าไปอยู่ในโครงสร้างด้วย บางโครงการก็ให้ผู้นำว้า ให้ขุนส่า มาทำสัมปทานต่างๆ จนร่ำรวยติดอันดับโลก โครงการมีเยอะมาก ดังนั้นนายพลไทยตามชายแดนกับนายพลเมียนมาต้องรู้จักกันอยู่แล้ว โทรหากันเข้าใจกันได้ง่าย ชนกลุ่มน้อยเองก็เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนนายพลโบเมียะ (Bo Mya) ของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ก็สนิทกับฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติมาก
ดังนั้นการเมืองระหว่างประเทศก็เลยประสานกัน ทั้งในด้านนโยบายและเรื่องทางใต้ดิน บางครั้งหากมีการยิงกันแล้วคนไทยได้รับบาดเจ็บริมชายแดน ก็อาจจะโทรประสานกันแล้วร้องขอให้ยุติ หรือบางทีหน่วยเหนือก็อาจจะบอกว่าเป็นเรื่องระหว่างประเทศไปแล้ว อันนี้ก็แล้วแต่การปฏิบัติ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นมีสูงมาก โดยเฉพาะตลาดการค้าที่ใหญ่มากอย่างแม่สอด ทวาย กาญจนบุรี แม้แต่ท่อก๊าซธรรมชาติที่สร้างสมัยปี 2540-2541 ก็เชื่อมไปเมียนมาโดยตรง ฝั่งเชียงรายอย่างท่าขี้เหล็กก็เป็นตลาดเศรษฐกิจ ฝั่งสามเหลี่ยมทองคำก็ชัดเจนว่ามันเจริญมาก บางคนก็กล่าวว่าไทยเข้าไปมีหุ้นส่วนเสียด้วยซ้ำ
ความสัมพันธ์อันดีของรัฐไทยต่อรัฐเมียนมา เป็นเพราะมีทุนไทยเข้าไปมีส่วนในโครงการภายในประเทศเมียนมาเยอะด้วยใช่หรือไม่
ก็มีส่วนสำคัญ เพราะผมคิดว่าชนชั้นนำไทยก็มองเห็นถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจร่วมกัน แต่ประเด็นหลักผมมองว่าเป็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งอาจจะเป็นความมั่นคงแบบเก่าที่ทหารคิดเกี่ยวกับท่าทีของการเชื่อมสัมพันธ์กัน เนื่องจากเป็นทหารเหมือนกัน เข้าใจสถานการณ์ประเทศตนเองเหมือนกัน มโนทัศน์แบบเก่าคือพวกเขาต้องการรัฐรวมศูนย์ พวกเขาก็ใช้วิธีคิดแบบรัฐทหารคล้ายๆ กัน ก็จะเข้าใจกันในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงภายใน ทำให้เข้าขากันพอดี
ตัวอย่างสำคัญคือ การที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย มางานศพพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยระบุว่าเขานับถือพลเอกเปรมประหนึ่งพ่อ ก็เห็นแล้วว่าเป็นโครงสร้างแบบเดียวกัน เชื่อมสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กรณีเครื่องบินรบ MiG-29 ล้ำเข้ามาในไทยผมก็มองว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่เขาทำกันมานานแล้ว เขามีการเจรจาบางเรื่องหรือการสืบทราบข้อมูลระหว่างกันแบบไม่เป็นทางการ กรณีนี้เขาก็เลยสืบกันแล้วว่าเครื่องบินรบเมียนมาหลงเข้ามา ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะอยู่ที่สูงจนทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี ไม่เห็นเส้นร่องตามธรรมชาติ เครื่องบินรบแบบเร็วก็อาจจะหลงเข้ามา รัฐไทยก็อธิบายแบบนี้และเขาคงคิดกันว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่
เห็นได้ว่าเขาเจรจาสอบถามกันได้เร็วมาก แต่มันก็เป็นปัญหาด้านหลักการมนุษยธรรมตามมา รวมไปถึงเรื่องอำนาจอธิปไตยของไทย เพราะถือเป็นการใช้เครื่องบินรบล้ำน่านฟ้า ซึ่งผิดหลักการระหว่างประเทศอยู่แล้ว
แต่เรื่องหลักมนุษยธรรม การทำแบบนี้ก็เท่ากับรัฐไทยยินยอมให้รัฐบาลเมียนมาใช้น่านฟ้าในการโจมตีประชาชนของตนเอง ซึ่งฝั่งไทยเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เกิดความสูญเสียที่อาจจะนำไปสู่อาชญากรรมสงครามในอนาคตด้วยซ้ำ ตรงนี้รัฐไทยจะรับผิดชอบอย่างไรต่อไป เป็นรูปธรรมแค่ไหน ก็เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนชาวไทย ชาวเมียนมา และประชาคมระหว่างประเทศด้วย
ชัดเจนว่าสองกองทัพมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ไม่งั้นคงเกิดการต่อว่า ประท้วง และเรียกมาเจรจา ทูตเมียนมาคงจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีไทยเพื่อขอโทษอย่างเป็นทางการ หรือไทยก็คงให้พักชั่วคราวหรือขับไล่ทูตแบบกำหนดเวลาไปแล้ว แต่กลับไม่มีมาตรการแบบนั้นเลย กองทัพไทยและเมียนมาจึงมีความสัมพันธ์แนบแน่นกันมากจนก้าวข้ามหลักการทางการทูตไป
ถ้าความสัมพันธ์แนบแน่น ทำไมก่อนหน้านี้จึงเกิดกรณีทหารเมียนมาปล้นเรือสินค้าแนวชายแดนด้วย
ปรากฏการณ์นี้มันก็เกิดอะไรขึ้นหลายอย่าง ขณะนั้นเมียนมากำลังรบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยอย่างรุนแรง เท่าที่ติดตามตอนนั้นคือบางพื้นที่กองทัพเมียนมาถูกปิดล้อมโดยชนกลุ่มน้อย ขาดเสบียงและอาวุธ พอเห็นเรือผ่านมาก็อาจจะต้องการเสบียง
ทาง KNU และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ก็ต้องการที่จะยึดชายแดนทั้งหมดของเมียนมาตั้งแต่ช่วงจังหวัดกาญจนบุรีถึงจังหวัดเชียงราย ช่วง 1 ปีให้หลัง รบกันหนักมากและทำให้มีผู้อพยพไหลบ่าเข้ามาในไทยมากขึ้น ภาครัฐไทยก็แอบไล่ผู้อพยพกลับมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าประเทศไทยไม่สนใจเรื่องมนุษยธรรมตามที่พูดด้วยซ้ำ ปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมอย่างการเข้าไปแจกเสบียงบริเวณ No man area เรื่องเหล่านี้กองทัพไทยไม่เคยให้การสนับสนุน บางโอกาสยังห้ามเข้าพื้นที่ด้วยซ้ำ
จุดที่มีเสบียงก็เหมือนที่เป็นข่าว บางครั้งทหารเมียนมาก็จะมาปล้นเอาอาหารไป บางทีก็ปล้นไปจากคนที่ค้าขายด้วยซ้ำ แต่พอทหารเมียนมาทำแบบนี้ รัฐไทยก็จะทำเหมือนว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แค่รับทราบเรื่องและเตือนกลับไป แค่นั้น
นี่คือความไม่มีหลักการของกองทัพและรัฐบาลไทยภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ซึ่งข้อเรียกร้องของภาคประชาชนถึงรัฐไทย กองทัพไทย รวมไปถึง ASEAN คือ อย่างน้อยต้องไม่สนับสนุนให้รัฐบาลทหารเมียนมาปราบปรามประชาชนของตนเอง เนื่องจาก ASEAN ก็มีพลเมืองถึง 500-600 ล้านคน หากนับมหาอำนาจโลกองค์การนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น องค์การนี้สามารถมีอิทธิพลในแต่ละรัฐได้ กลไกเหล่านี้ทำงานหนักมากจนเกิดปฏิญญา เกิดกฎบัตรต่างๆ มากมาย หากขับเคลื่อนร่วมกันก็สามารถกดดันโดยไม่ต้องแทรกแซงรัฐเมียนมาให้หยุดยิงและเริ่มเจรจาสันติภาพได้ แต่ปัจจุบันไม่มีกลไกอะไรเลยและ ASEAN ก็ไม่เข้าไปสร้างกลไกเหล่านั้น
เมื่อก่อนรัฐไทยเป็นคนเล่นบทบาทนี้ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลเมียนมาด้วยซ้ำ เช่น พามาเจรจาที่ชายแดนไทยหรือกรุงเทพฯ เป็นต้น แต่ปัจจุบันกลับปล่อยให้รบกันแล้วไปสนับสนุนกองทัพเมียนมา จนรัฐไทยอาจจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งของประชาชนชาวเมียนมาไปด้วยแล้ว ในอนาคตเราจะถูกชิงชังจากประชาชนชาวเมียนมามากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาว
อะไรคือโซ่ข้อกลางที่คล้องชนชั้นนำสองชาตินี้ไว้ตั้งแต่หลังยุคพลเอกเปรมเป็นต้นมา
ผมไม่แน่ใจข้อมูลเพิ่มเติม แต่มั่นใจว่าพลเอกเปรมอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 8 ปี พลเอกชวลิตเองก็เติบโตขึ้นมาในยุคดังกล่าว ยุคพลเอกชาติชายก็ต่อเนื่องมาจากยุคพลเอกเปรม คือพลเอกเปรมถือว่าเป็น ‘ขาใหญ่’ ของกองทัพไทย มีโผทหารเมื่อไหร่ก็ต้องให้พลเอกเปรมดู จึงไม่แปลกที่เมียนมาจะเล็งเห็นโครงสร้างแบบนี้และเข้าหาพลเอกเปรม ผู้มีอำนาจในกองทัพไทยกับเมียนมาจึงรักกัน บางคนเป็นพี่น้องกัน ขอเป็นลูกเหมือนที่พลเอกมิน อ่อง หล่าย ทำ
ก่อนหน้านี้ในยุคที่พลเอกขิ่นยุ้นต์ (Khin Nyunt) เป็นผู้บัญชาการด้านข่าวกรองของเมียนมา ก็เข้ามาทำโครงการในไทยจำนวนมาก เป็นช่วงที่ความสัมพันธ์สองชาติเข้มแข็งมาก เรียกว่าขออะไรได้หมด ดังนั้นเราจึงเห็นเหตุการณ์อย่างการแอบส่งนักโทษทางการเมืองเมียนมาที่แอบหนีมาไทยกลับไปให้ทางการเมียนมาบ่อยครั้ง แม้ว่าองค์การต่างๆ จะพยายามต่อต้านแล้วก็ตาม ล่าสุดนักหนังสือพิมพ์เมียนมาแอบหลบหนีเข้าไทยมาทางแม่สอด พอรัฐบาลทหารเมียนมาขอให้ส่งตัวกลับไป รัฐไทยก็พยายามส่งกลับไปในทางลับ คนดังๆ พวกนักเคลื่อนไหว นักหนังสือพิมพ์ ต่างก็อยู่ในบัญชีดำที่ทางการไทยพยายามส่งกลับลับๆ เป็นจำนวนมาก
ผมไม่แน่ใจว่านักหนังสือพิมพ์กลุ่มนั้นถูกส่งกลับไปบ้างหรือยัง นี่คือตัวอย่าง เราจะเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ทำนอกรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเยอะมากทั้งจากฝั่งไทยและเมียนมา ทั้งที่หลักการสิทธิมนุษยชนควรถูกเคารพ มีหลักการและกฎบัตรจำนวนมากที่เราเข้าร่วมหลายฉบับและควรปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบ นี่คือสิ่งที่พลเอกประยุทธ์และพรรคพวกไม่สนใจและใช้ความเป็นอำนาจนิยมทำงานมาโดยตลอด
ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองชาติไปด้วย หากรัฐบาลไทยยังไม่ปฏิบัติตามหลักการที่ควรจะเป็น
ตอนนี้ประชาชนเมียนมาเริ่มตั้งคำถามกับทิศทางของรัฐไทยมากน้อยแค่ไหน
ยังไม่มากเท่าไหร่ ตอนนี้ประชาชนเมียนมายังมองประชาชนไทยเป็นเพื่อน เพราะขบวนการเคลื่อนไหวก็เป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งเรียกร้องไปยัง ASEAN และสหประชาติ
ตอนนี้ทุกอย่างยังอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง ทำให้จิตใจประชาชนเมียนมายังไม่หันมาโกรธไทยเท่าไหร่ พวกเขาต้องการเพียงการต่อสู้และรบให้ชนะ ลำพังหลบหนีระเบิดก็หนักพออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเขาต้องการความร่วมมือและความเห็นใจจากนานาประเทศเท่านั้นเอง ซึ่งเขาก็เข้าใจว่าขบวนการประชาชนไทยช่วยเขาเยอะมากแล้วผ่านการส่งอาหารข้ามชายแดนไปให้
แต่ผมคิดว่าพวกเขายังโกรธรัฐบาลไทยที่ไปสนับสนุนรัฐบาลเมียนมา และยังโกรธ ASEAN ที่ไม่เข้มแข็งเพียงพอ
ราคาที่รัฐไทยต้องจ่ายในอนาคตจากท่าทีเช่นนี้ คุ้มหรือไม่
ผมคิดว่าสิ่งที่กล่าวไปมีราคาที่ต้องจ่ายสูง แต่ผู้มีอำนาจนั้นมีอำนาจเบ็ดเสร็จจนไม่กลัวที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผมคิดว่าสงครามกลางเมืองเมียนมานั้น กองทัพได้กระทำต่อประชาชนในลักษณะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งก็ผิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับอยู่แล้ว การฆ่าคนเพื่ออำนาจทางการเมืองเองก็ผิดกฎหมายทั้งในและนอกประเทศ แม้ภายในประเทศอาจจะยังไม่สามารถสร้างกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาได้ แต่ในอนาคตจะต้องเกิดการสร้างกระบวนการยุติธรรมในต่างประเทศเพื่อคลี่คลายและจัดการแน่นอน ตัวอย่างเราก็เห็นในหลายประเทศแล้ว ทั้งกัมพูชา ไลบีเรีย ชิลี และรวันดา
ถ้าอนาคตเมียนมามีรัฐบาลพลเรือน ผมคิดว่าจะต้องเกิดการไต่สวน หากนิรโทษกรรมไปแล้วประชาชนก็ยังอาจจะไปร้องศาลอาญาระหว่างประเทศและองค์การอื่นๆ อย่างกรณีการรัฐประหารของประเทศชิลี เรื่องก็ไปไกลกว่าถึงนานาชาติ มีการเรียกร้องให้เกิดการไต่สวนที่ประเทศอังกฤษ ปรากฏว่ารัฐบาลอังกฤษได้รับอนุญาตให้มีอำนาจครอบคลุมเรื่องนี้เนื่องจากมีประชาชนชาวอังกฤษได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นคดีที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาตอนนี้แม้จะยังเป็นความขัดแย้งระดับมหาอำนาจด้วย แต่การที่ผู้นำไทยปล่อยให้เมียนมาใช้น่านฟ้าเมื่อครั้งที่ผ่านมาคือหลักฐานล่าสุด หากเกิดคดีขึ้นในอนาคตก็ถือเป็นความผิดของผู้นำไทยที่มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามมา
กลุ่มทุนใหญ่มีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนในความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสองชาติ
ผมคิดว่ากลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทยแม้จะพยายามยึดกุมโครงสร้างของรัฐไทยไว้ แต่เขาก็อาจจะมีอิทธิพลน้อยในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพทั้งสองชาติ
สำหรับกลุ่มทุนใหญ่ของรัฐไทย ผมคิดว่าพวกเขาต้องการลงทุนในรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหารก็ตาม และไม่สนใจว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ตาม บางทีเขาอาจจะสนับสนุนกองทัพเมียนมาเพราะอยากให้คุมประเทศแล้วนำเสถียรภาพมาให้ได้ สมมติฐานนี้ก็มีส่วน แต่เรายังไม่เห็นหลักฐานว่าในทางนโยบายระหว่างประเทศ กลุ่มทุนได้เข้าไปกำหนดนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพสองชาตินี้แค่ไหน
เครือข่ายยาเสพติดมีผลแค่ไหนอย่างไรกับความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา
ผมเองก็สนใจเหมือนกันว่าเรื่องนี้มีส่วนมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่น่าเชื่อว่าตอนนี้ยาบ้าในเมืองไทยตกราคา 100 บาทเท่านั้นต่อ 3-4 เม็ด ราคาต่ำมาก การผลิตส่วนใหญ่แล้วขนเข้ามาก็ตามชายแดนจังหวัดเชียงราย-แม่ฮ่องสอน ซึ่งต้องพูดว่าขบวนการยาเสพติดริมชายแดนไม่ได้เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ
ยาเสพติด เป็นขบวนการที่กองทัพเมียนมาเคยสนับสนุนและทหารมาเฟียไทยก็อาจจะเป็นผู้เปิดช่องว่างในพื้นที่เพื่อให้มีการขนย้ายเข้ามาโดยปราศจากการสกัดจับ จึงอาจจะเป็นคำตอบที่เราเห็นว่าทำไมยาบ้าเข้ามาถึงไทยได้จำนวนมากขนาดนี้ ทั้งที่รัฐบาลไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ มีอำนาจเด็ดขาดมาก แต่กลับปล่อยให้มียาบ้าเข้ามาได้ขนาดนี้ อาจจะหมายถึงรัฐบาลเข้าไปมีส่วนได้เสียไม่ทางใดก็ทางหนึ่งหรือไม่
ผมมีสมมติฐานว่าผู้มีอำนาจต้องได้ประโยชน์ร่วมกันสักช่องทาง เรามีผู้มีอำนาจที่มีส่วนกับธุรกิจสีเทาเป็นจำนวนมาก สมัยหนึ่งรัฐเคยพยายามดึงพวกเขาเข้ามาอยู่ในกลไกรัฐด้วยซ้ำ รัฐพยายามปรับเศรษฐกิจสีเทาที่อาจจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจไทยด้วยซ้ำให้ได้ขึ้นมาอยู่บนดิน พยายามทำให้มันถูกต้อง คือเอามาควบคุม แต่ช่วง 8 ปีให้หลัง เราก็จะเห็นว่าธุรกิจสีเทาเหล่านี้กลับไปเป็นสีดำมากขึ้น และแบ่งผลประโยชน์กันชัดเจนมากขึ้น
สมัยก่อนฝั่งเมียนมาก็เคยให้ขุนส่ามาเป็นผู้ประสานงานสันติภาพในพื้นที่ อนุญาตให้ขุนส่าและคณะไปปลูกฝิ่นให้รัฐบาล ตอนนั้นนายพลเมียนมาหลายคนก็ได้ประโยชน์ เป็นแบบนี้มานาน นายพลสีเทาฝั่งไทยก็ได้ประโยชน์ไปด้วย
หากจะจัดการปัญหาขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศ ต้องอาศัยอำนาจอะไรบ้าง
ต้องเป็นรัฐบาลพลเรือน รัฐสภาประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีต้องได้รับฉันทามติจากประชาชน ถึงจะทำเต็มที่ได้ ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีพลเรือนจะไม่ทำแบบพลเอกประยุทธ์
ผมว่าประเทศไทยต้องปรับโครงสร้าง ประเทศไทยมีรัฐซ้อนรัฐเยอะ มีทั้งกองทัพชายแดน ผู้นำเหล่าทัพ แต่ละคนก็มีอำนาจเหนือกลไกปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ไปเสียหมด เดี๋ยวนี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กับผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีอำนาจซ้อนทับกันอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไปพันกับอำนาจของนายอำเภออีก คือมหาดไทยกับส่วนภูมิภาคไปทับกับส่วนท้องถิ่น ทำให้การพัฒนาไม่เติบโตเพราะถูกอำนาจแบบอำนาจนิยมไปกดทับ
ระดับชาติก็เช่นกัน รัฐสภาปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ จึงทำงานแบบรับใช้ราชการและฝ่ายความมั่นคง พลเอกประยุทธ์จึงโยนทุกอย่างให้สภาความมั่นคงทำ เช่น เรื่องน้ำมันแพง เป็นต้น ทั้งที่รัฐบาลพลเรือนเขาจะไม่ใช้กลไกเหล่านี้เลย เขาจะให้สภาความมั่นคงไปดูแลชายแดนแทน
ผมถึงมองว่าถ้ามีรัฐบาลแบบประชาธิปไตยเมื่อไหร่ ปัญหาเหล่านี้จึงจะคลี่คลาย
ถ้ามองว่าไทย-เมียนมาเป็นเหมือนประเทศคู่ขนาน เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะเรียนรู้กันและกัน จนสามารถทำนายสถานการณ์ในอนาคตได้
สิ่งที่เห็นได้คือ เมียนมาเลียนแบบเราเรื่องการยึดอำนาจและจะอยู่บนอำนาจนั้นอย่างไรด้วย ต่อมาเขาก็พยายามเข้าหาการสนับสนุนจากจีนด้วย
ส่วนไทยมีบทเรียนเยอะมาก และอนาคตอาจจะมีสงครามกลางเมืองเหมือนกันได้ด้วยหากฝ่ายความมั่นคงหรือชนชั้นนำไทยไม่ตระหนักว่าเกิดขึ้นได้ มันอาจจะเกิดขึ้นแน่ๆ หากมีการรัฐประหารขึ้นอีก หรือถ้าชนชั้นนำไทยไม่ยอมปล่อยอำนาจ สงครามก็อาจเกิดขึ้นได้ ปัจจุบันก็มีคนคิดเรื่องพลีชีพหรือติดอาวุธในสังคมไทยกันอยู่แล้ว คนพวกนี้กำลังแสดงออกด้วยการไม่กลัวตายในการต่อสู้ต่างๆ ทิศทางแบบนี้ก็มีอยู่
แต่ผมคิดว่ารัฐไทยยังมองว่าพวกเขายัง ‘แบ่งแยกและปกครอง’ ได้อยู่ จึงใช้ฝ่ายความมั่นคงทำทุกอย่างเพื่อกำหนดทิศทางชีวิตของประชาชน แต่ในเมืองไทยจะเด่นกว่าเมียนมาตรงที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเพราะกลุ่มทุนผูกขาด กลุ่มทุนกับประชารัฐกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แบ่งทรัพยากรต่างๆ ไปถึงประชาชน เราอาจจะเห็นกลุ่มทุนที่ทำการเกษตรมาลงทุนในระบบรถไฟฟ้าโดยไม่มีความเชี่ยวชาญเลย แต่รัฐกลับอนุญาตให้ทำได้ภายใต้อำนาจของพลเอกประยุทธ์ ใช้วิธีพูดเลยว่าฝั่งตะวันตกให้ใคร ตะวันออกให้ใคร นี่จะเป็นจุดสำคัญที่เราแตกต่างจากเมียนมา
หากมีรัฐบาลพลเรือนแล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่าท่าทีของทั้งสองชาติจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่เคารพต่อหลักการมากขึ้น เนื่องจากไทยมีผลประโยชน์ในเมียนมาเยอะ
ต้องเข้าใจก่อนว่าประชาชนเมียนมาเป็นเจ้าของประเทศด้วย และต่อให้เขาโค่นล้มรัฐบาลทหารได้ และสามารถตั้งรัฐบาลพลเรือนได้ ผลประโยชน์ในเมียนมาก็จะยังมีอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้สูญสลายไปไหน
นอกจากนั้นยังมีวาทกรรมและมายาคติจำนวนมากอยู่ เช่น หากเราไม่สนับสนุนเมียนมา เราจะเสียผลประโยชน์จำนวนมาก อย่างไฟฟ้าจากเมียนมา แต่ข้อเท็จจริงนักวิชาการบางส่วนค้นพบว่าประเทศไทยผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอจนสามารถส่งไปขายต่างชาติได้ มีสำรองเกินด้วยซ้ำ แต่บางเรื่องก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การแกล้งทำให้ไฟฟ้าดับก็ได้ หรือปั่นหุ้นก็ได้ เป็นต้น เป็นมายาคติที่เหมือนเรื่องราคาน้ำมันตามกลไกตลาดโดยไปอ้างอิงราคาสิงคโปร์ คิดราคานำเข้าด้วยทั้งๆ ที่ไทยไม่เคยนำเข้า เราผลิตเอง แต่ดันไปคิดราคาตลาด แต่ประเทศมาเลเซียมีน้ำมันที่ราคาถูกเพราะไม่ได้มีสูตรคำนวณเหมือนเรา
คนไทยส่วนหนึ่งถูกข้อมูลบิดเบือนจากรัฐไทยและทุนมาโดยตลอด ยิ่งไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประชาชนเมียนมาเท่าไหร่ ประชาชนเมียนมาก็จะยิ่งปกป้องผลประโยชน์ของไทยมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อรัฐบาลไทยมีท่าทีแบบนี้ ภาคประชาชนไทยจะทำอะไรได้บ้าง
จริงๆ ภาคประชาชนไทยที่ติดตามเรื่องระหว่างประเทศมีไม่มาก ปัญหาในเมืองไทยเองก็มีเยอะ จึงติดกับดักที่ต้องต่อสู้รายวันเยอะ การมองเพื่อนบ้านไปด้วย สนับสนุนการต่อสู้ไปด้วย จึงเป็นเรื่องลำบาก ก็เหมือนฝั่งเขาที่อยากช่วยเรา แต่เขาก็ต้องสู้กับปัญหาในประเทศก่อน
ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงมันต้องเกิดขึ้นจากภายในทั้งนั้น ไทยก็ต้องต่อสู้เรื่องประเทศไทย เพียงแต่องค์กรที่เคลื่อนไหวของไทยสามารถทำงานมากขึ้นได้ในการกดดันรัฐบาลไทย เพื่อไม่ให้ไปสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ตัวอย่างการสนับสนุนอย่างเป็นทางการสำคัญๆ ที่ภาคประชาชนควรต่อต้าน เช่น การที่ผู้นำไทยเดินทางไปคารวะพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ซึ่งองค์กรเคลื่อนไหวในประเทศไทยก็ต้องประท้วงอย่างเป็นทางการ และทุกพรรคการเมืองก็ควรสนับสนุนและร่วมกดดันไปด้วย
ข้อเสนอมีหลายรูปแบบ ทั้งกดดัน ASEAN กดดันพลเอกประยุทธ์ กดดันรัฐบาลไทย กดดันผู้นำเหล่าทัพ แต่ก็ต้องทำงานระดับความคิดเยอะมาก เพราะประเทศไทยถูกล้างสมองมาอย่างยาวนาน คนไทยทั่วไปก็จะไม่ชอบเมียนมาและคิดว่าชาวเมียนมาก็จะไม่ชอบไทย เราต้องรณรงค์ทั้งหลักความคิดเรื่องมนุษยธรรมไปพร้อมๆ กับหลักประชาธิปไตยในภูมิภาค เพราะถ้าภูมิภาคเกิดความสงบก็จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องระยะยาว เพราะถ้าพูดอย่างถึงที่สุด ไทยมีกลไกในการทำลายเรื่องเหล่านี้เยอะมาก เป็นอุปสรรคสำคัญที่หากเราผ่านจุดนี้ไปได้ เราจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อไป
อนาคตผมคาดหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ผมไม่อยากเรียกร้องภาคประชาชนมากนัก เพราะเขาก็ต่อสู้มามากแล้วเหมือนกัน ส่วนผู้มีอำนาจในไทยที่เขาคิดว่าทำสิ่งเหล่านี้ไปก็ไม่มีความผิดนั้น เราจะทำอย่างไรที่จะทำลายความเชื่อเหล่านี้ได้ นี่ก็เป็นโจทย์สำคัญ เพราะถ้าเราแค่รวมตัวกันแล้วสู้ก็เป็นเพียงสงครามกลางเมือง ในอดีตประเทศไทยก็เคยมีสงครามกลางเมืองมาแล้ว ภาคประชาชนยึดจังหวัดได้ 40 กว่าจังหวัดยังไม่ชนะเลย คำตอบสุดท้ายจึงต้องทำลายเอกภาพของชนชั้นนำ หากประชาชนยังถูกแบ่งแยกโดยวาทกรรมชวนเชื่อ ยุทธการการข่าว หรือมัวแต่ทะเลาะกันเอง ภาคประชาชนก็จะไม่มีวันชนะ