เมื่อไม่มีประชาธิปไตยในโรงเรียน การผูกโบว์ชูสามนิ้วจึงเป็นหน้าที่

20 สิงหาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกหนังสือด่วนที่สุด ให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นักศึกษา เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

นี่คือเสียงตอบรับล่าสุดของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง หลังจากเห็นภาพเด็กๆ ในรั้วโรงเรียนมัธยมออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผ่านปรากฏการณ์ ผูกโบว์ขาว-ชูสามนิ้ว

เกิดอะไรขึ้นในระบบการศึกษาไทย

ในฐานะฟันเฟืองหนึ่งของระบบ ครูจะหยิบฉวยโอกาสอะไรได้บ้างในเรื่องนี้

WAY ชวนฟังเสียง ครูยอร์ช-ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ ผู้สอนวิชาหน้าที่พลเมืองและวิชาประวัติศาสตร์ แห่งโรงเรียนวัดบางขวาก จังหวัดสุพรรณบุรี

ครูต้องปรับตัวอย่างไรในวันที่นักเรียนออกมาชูสามนิ้วตอนเคารพธงชาติ

#ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการ ขบวนการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากเด็ก

ภาพรวมของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผมมองเห็นการเคลื่อนไหวของเด็กๆ เริ่มได้ยินพวกเขาส่งเสียงดังขึ้น เด็กๆ สลัดความกลัว ลุกขึ้นอย่างกล้าหาญ กล้าตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่รู้สึกว่า ‘มีปัญหา’ ไม่ว่าจะเรื่องในโรงเรียนหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เขามองเห็นในสังคม

เมื่อมีพื้นที่แสดงออก เรื่องราวใกล้ตัวที่เป็นปัญหา เช่น กฎระเบียบบางอย่างในโรงเรียน ทรงผม จึงถูกหยิบขึ้นมาพูด สิ่งนี้ทำให้เรารู้เลยว่าเด็กๆ กำลังมองและสนใจเรื่องบ้านเมืองอยู่นะ พอรู้สึกตัวเองมีโอกาส เขาก็ร่วมแสดงออกเสียงของเขาไปพร้อมๆ กัน

ผมรู้สึกยินดีมากๆ ที่ได้เห็นภาพแบบนี้ สิ่งนี้สะท้อนว่านักเรียนกำลังตื่นรู้ด้วยตัวเขาเอง ไม่ว่าจากสังคมออนไลน์หรือการสะสมประสบการณ์ของตัวเอง เขาผ่านพบเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศ จนเขาตกผลึกได้เอง ผมนึกย้อนไปตอนที่ตัวเองเป็นเด็ก เราไม่กล้าหาญขนาดนี้ ตอนที่เราอายุเท่าเขา แทบไม่มีพื้นที่ให้เราพูด ถึงมี-ก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะกล้าหาญไหม

ผมไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะตั้งคำถามกับอะไร เด็กมีหน้าที่เรียน ก็แค่เรียน ผมถูกทำให้เชื่อว่ามันคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว มันต้องแบบนี้แหละ อย่าคิดต่าง จึงทำให้ผมในวัยนั้นเข้าใจว่าบรรยากาศในโรงเรียนต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น

เพราะถูกกดทับจึงตั้งคำถาม

การที่เด็กออกมาแสดงออกทางสัญลักษณ์ไม่ว่าจะผูกโบว์ขาวหรือชูสามนิ้ว เบื้องหลังคือการพยายามจะตั้งคำถามกับอะไรบางอย่าง

ผมอนุมานว่า นักเรียนรู้สึกว่าโดนกดทับจากโครงสร้าง จากวัฒนธรรมโรงเรียน ตั้งแต่เดินเข้าโรงเรียน ชีวิตถูกควบคุมทุกอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม ควบคุมการใช้ชีวิต พื้นที่อิสระแทบไม่มี เมื่อวันเวลาผ่านไป เด็กๆ มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เขามองเห็นพื้นที่ที่พูดได้ เขาจึงเห็นพ้องต้องกันและกล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามจากสิ่งที่เขาเป็นอยู่ด้วยเสียงของตัวเอง

เมื่อโลกเปลี่ยนไป แน่นอนว่าโรงเรียนดูแลเด็กเหมือน 10-20 ปีก่อนไม่ได้แล้ว

จากประกาศล่าสุด (20 สิงหาคม) ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ออกหนังสือให้ทุกโรงเรียนเปิดรับฟังความคิดเห็นและให้นักเรียนแสดงออกเสียงของเขาอย่างเสรี มันท้าทายความเชื่อเก่าๆ ของครูในระบบมากๆ

หน้าที่ครูจะต้องเปลี่ยนไป ครูต้องการสนับสนุนและปกป้องเด็กไปพร้อมๆ กัน ไม่ผลักไสเขา ครูต้องส่งเสริมนักเรียนให้พวกเขามีพื้นที่ได้แสดงออกอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันต้องคอยระวังพวกเขาไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของใครเช่นกัน ผมมองว่านี่คือเวลาแห่งการเรียนรู้ ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างก็ไม่เป็นไร ครูดูแลเขา โอบอุ้มเขา

เด็กแตกต่าง = ครูสูญเสียอำนาจ

ผมมองว่าการชูสามนิ้วในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องผิด การชูสามนิ้วไม่ได้ไปละเมิดใคร ไม่ได้ไปขัดขวางหน้าที่ของใคร เพียงแต่ว่าการที่ครูเห็นเด็กๆ ชูสามนิ้ว ครูมองไปที่ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ครูแคร์ภาพลักษณ์ของโรงเรียน มันจึงเกิดเป็นเหตุการณ์ร้ายๆ ที่ครูพยายามหยุดยั้งการแสดงออกของเด็ก

นี่เป็นเพราะโรงเรียนยังมองปัญหานี้ในทางมิติเดียว โรงเรียนยังมีความเชื่อแบบเดิมๆ เด็กต้องเรียบร้อย เด็กต้องอยู่ในกฎระเบียบ มีคุณงามความดี แต่สิทธิเสรีภาพกลับเป็นเรื่องที่ถูกมองไม่เห็น ดังนั้นไม่ว่าเด็กจะแสดงออกอย่างไร ครูก็จะดึงกลับมาให้อยู่หมวดของการเคารพ ให้เกียรติสถานที่เหมือนกันหมด

อีกประเด็นที่สำคัญ ผมมองว่าปฏิกิริยาโต้กลับของครูเมื่อเห็นเด็กชูสามนิ้ว มาจากการที่ครูรู้สึกสูญเสียอำนาจทางการปกครอง ครูรู้สึกถูกสั่นคลอน เพราะครูถูกทำให้เชื่อมานานเหมือนกัน ถ้าเห็นเด็กคนไหนไม่เหมือนคนส่วนมาก เด็กคนไหนที่ฉีกออกไปจากขนบเดิม ฉีกออกจากลุ่ม ครูกลัวว่าตัวเองจะปกครองเด็กไม่ได้

เราไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน ครูจึงใช้เครื่องมือแบบเดิม ใช้วิธีการแบบเดิม แบบที่ครูเติบโตมาจัดการกับเด็ก ครูไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กถึงทำแบบที่ครูเคยทำไม่ได้ ทำไมเด็กไม่เคารพและให้เกียรติกันเลย ครูเลือกจะมองเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องไกลตัว ไกลกว่าเรื่องความเรียบร้อยและการให้เกียรติสถานที่

ผมคิดว่าครูอาจจะต้องทำความเข้าใจคำว่า ‘อำนาจ’ ใหม่ อำนาจการปกครองไม่ได้มีวิธีเดียว ครูอาจจะเคยเชื่อว่าเราคือฮีโร่ ครูคนเดียวแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่ไม่ใช่อีกต่อไปแล้วครับ เราสามารถแชร์อำนาจกันได้ เราทำให้อำนาจกลายเป็นอำนาจร่วมกันได้ ทุกคนมีอำนาจเท่ากันได้ เปิดให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจนี้ด้วยกันเถอะ

ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้มองเด็กในมุมใหม่ เขาคือเมล็ดพันธุ์ที่จะงอกเงย เขาไม่ใช่เด็กที่ไม่มีอะไรในหัวแล้วค่อยมารอรับความรู้จากคุณครู เด็กเขาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เขาเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย เขาสามารถวิพากษ์วิจารณ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขาได้ ผมคิดว่าครูต้องมองเด็กให้เท่ากับเรา

ครูไม่ใช่วายร้าย ระบบต่างหาก

ในสมการนี้ – เรามักมองว่าครูคือวายร้าย แต่วายร้ายตัวจริงคือระบบต่างหากที่กดทับครูไว้ โครงสร้างในระบบการศึกษาส่งผลให้ ครูต้องเป็นไปตามการคาดหวัง โรงเรียนจึงคือสถานที่เอื้อให้เกิดประชาธิปไตยน้อยที่สุด

เห็นได้จากเรื่องทรงผม ถึงแม้จะมีระเบียบจากส่วนกลางออกมาอนุญาตให้ไว้ผมยาวได้ แต่ขณะเดียวกันในบางโรงเรียนกลับออกนโยบายไม่อนุญาตให้เด็กๆ ไว้ผมยาว ทำให้ครูต้องทำตามเกณฑ์ของโรงเรียน โครงสร้างทำให้ครูไม่มีสิทธิเลือก ครูต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ครูต้องอยู่ให้เป็น ครูต้องไม่ทำให้ตัวเองเจ็บมาก แม้ข้างในจะอยากเห็นภาพเดียวกับเด็ก

อันตรายที่สุดถ้าโรงเรียนไม่ปล่อยให้เด็กพูด

แนวคิดที่บอกว่าโรงเรียนไม่ใช่สนามการเมือง จะยิ่งทำให้นักเรียนไม่มีที่ยืน เด็กจะรู้สึกว่าโรงเรียนไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาคิด พอโรงเรียนขับไสไล่ส่ง จะยิ่งเป็นการผลักให้เขาไม่อยากอยู่ในโรงเรียนนะ เพราะที่นี่ไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัยที่เขาจะพูดในสิ่งที่เขารู้สึก

ฉะนั้นบทบาทโรงเรียนต่อจากนี้ ถ้าให้พูดแบบสวยหรู ถึงแม้ในทางปฏิบัติมันจะยากมากก็ตาม ผมอยากเห็นโรงเรียนปรับบทบาทเป็นผู้รับฟังเด็กจริงๆ และควรเป็นพื้นที่รับฟังอย่างมีความหมาย มีคุณภาพ จริงจัง ไม่ใช่ทำตามเพราะ ศธ. บอกมา มิเช่นนั้นมันจะกลายเป็นการบ่มเพาะปัญหาเข้าไปอีก เพราะนักเรียนเขาตื่นแล้ว ถ้าโรงเรียนไม่รับฟัง เขาจะยิ่งพูดเสียงดังขึ้น

ผมมองเห็นโอกาสเยอะมากจากปรากฏการณ์นี้

  1. เราสามารถทำให้เด็กมองเห็นว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ ทำให้เขาเห็นบทบาทของตัวเอง ท่ามกลางสภาพสังคมของประเทศเราที่เป็นแบบนี้ ทำไมเยาวชนหรือคนอื่นๆ ต้องออกมาเรียกร้อง เป็นคำถามที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้
  2. ในภาพใหญ่ก็สามารถหยิบเอาบรรยากาศตรงนี้กลับเข้าไปในโรงเรียน/ให้ห้องเรียนได้ สิ่งที่เยาวชนกำลังเรียกร้องกันอยู่นอกโรงเรียน หรือม็อบในกรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้มันปรากฏในโรงเรียนของเราบ้างไหม

“ครูคะ หนูอยากไปม็อบ”

ถ้ามีนักเรียนอยากไปม็อบ ผมจะส่งรูปวิธีการเตรียมตัวไปม็อบให้เขาดูครับ เพดานสูงสุดของการเคลื่อนไหวนี้สำหรับผม ผมมองว่าเขาสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกได้เต็มเพดาน เพราะเขาจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากสิ่งที่เขาพูดหรือนำเสนอปัญหา โรงเรียนมีหน้าที่จัดการศึกษาให้เขา แต่ถ้ามองว่าผลประโยชน์เหล่านั้นมันไม่ตกมาถึงมือเขา เขาคือผู้ชอบธรรมถ้าจะเรียกร้องไปให้สุด

ส่วนในมิติสังคมและการเมืองนอกโรงเรียน ในฐานะครูผมเป็นห่วงในเรื่องวิธีการ เรื่องความปลอดภัย ผมทั้งอยากซัพพอร์ตและปกป้องเขา ไม่อยากให้ใครมาก้าวร้าวกับเขา และไม่อยากให้เขาละเมิดสิทธิใคร

ขอบคุณภาพจาก: โครงการก่อการครู คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า