แม่ในคุก: ความเป็นแม่ที่ไม่มั่นคง ในสังคมไร้สวัสดิการ

“การให้โอกาสกับคนที่เคยทำผิดเป็นสิ่งที่มิ้นท์เชื่อและทำมาตลอด ผู้ต้องขังเคยบอกกับมิ้นท์ว่า เขาไม่อยากออกจากเรือนจำ เพราะกลัวว่าสังคมจะไม่ให้โอกาสเขาในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้น มิ้นท์มองว่าสังคมที่ให้โอกาสจะเป็นสังคมที่ให้พลังกับผู้ต้องขังในการเริ่มกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างยั่งยืน และไม่ทำผิดซ้ำอีกค่ะ”

คำกล่าวข้างต้นคือสิ่งที่ มิ้นท์-พรปรียา จำนงบุตร เคยพูดไว้บนเวที Miss Universe 2020 ในรอบ 20 คนสุดท้าย จนถึงปัจจุบันเธอยังสานต่อสิ่งที่เธอพูดด้วยการศึกษาต่อจนจบด้านอาชญวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ด้วยทุนรัฐบาลไทย สังกัดกรมราชทัณฑ์ ซึ่งทุนนี้เองทำให้เธอมีโอกาสได้สัมผัสกับงานในเรือนจำและมีสิ่งที่ต้องการสะท้อนไปสู่สังคมมากมาย เพราะเรือนจำไม่ได้เป็นเพียงสถานที่คุมขัง แต่ยังมีอีกหลายมิติที่ถูกบดบังจนพ้นสายตาผู้คนด้วยกำแพงสูงชัน หนึ่งในนั้นคือ มิติด้านเพศภาวะที่รวมถึงความเป็นแม่ของผู้ต้องขังหญิง ซึ่งพวกเธออาจยังไม่ได้รับสิทธิในการรักษาความเป็นแม่ของตนเองดังที่ควรจะเป็น

ทำไมจึงอยากผลักดันเรื่องการให้โอกาสนักโทษบนเวทีประกวดนางงาม 

เมื่อเราสอบได้ทุนของกรมราชทัณฑ์ เราจึงขอไปฝึกงานที่กรมราชทัณฑ์ ทำงานในเรือนจำ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการไปเรียน เราได้คลุกคลีกับนักโทษอยู่หลายคนโดยเฉพาะนักโทษต่างชาติ มุมมองก่อนที่เราจะเข้ามาทำงาน เรามองว่าเรือนจำเป็นสถานที่ควบคุมลงโทษผู้ที่ทำผิด แต่พอเข้ามาจริงๆ มันมีอีกมุมมองหนึ่งที่เราไม่เคยนึกถึง มีหลายคนที่ไม่ได้อยากทำผิด แต่ด้วยสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม การที่ไม่สามารถหางานทำได้ ปัญหาสภาพเศรษฐกิจทำให้เขาต้องกระทำความผิดเนื่องจากไม่มีทางเลือก นอกจากนั้นเรือนจำยังไม่ได้มีบทบาทแค่ควบคุมผู้ที่ทำผิด แต่ยังเป็นสถานที่ที่มีการจัดการศึกษา ฝึกวิชาชีพให้ผู้ต้องขังเพื่อเตรียมพร้อมสู่การปล่อยตัวกลับสู่สังคมและจะได้ไม่กระทำความผิดซ้ำอีก ฉะนั้นถ้าหากเรามีโอกาสเป็นกระบอกเสียงในเรื่องของเรือนจำตรงนี้ได้ก็คงดี 

การทำงานในเรือนจำ เห็นความแตกต่างระหว่างนักโทษชายกับนักโทษหญิงอย่างไรบ้าง

ความแตกต่างที่แน่นอนคือสภาพกายภาพของผู้หญิงกับผู้ชายที่ต่างกัน ผู้หญิงจะมีความละเอียดอ่อนในเรื่องของความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันด้านกาย
ภาพค่อนข้างมาก เช่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และการให้นมบุตรในกลุ่มผู้ต้องขังหญิงบางส่วน 

สภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงเป็นอย่างไรบ้าง

สภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิง ทางกรมราชทัณฑ์ ได้มีการจัดการ ให้ผู้ต้องขังได้การรับดูแลอย่างเท่าเทียมกันตามมาตรฐานการปฏิบัติงานของเรือนจำ (SOPs) ตามกรอบของกฎหมายและมาตรฐานสากล แต่เรือนจำยังเจอปัญหาหลักคือความแออัด พอแออัดก็เกิดปัญหาอื่นตามมา ทั้งเรื่องสุขอนามัย เจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องขัง ปัญหาในการเข้าถึงโปรแกรมฝึกวิชาชีพต่างๆของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะในยุคโควิดที่คนอยู่ข้างนอกห่างกัน 2 เมตร ยังติดได้เลย ปัญหาความแออัดจึงเป็นปัญหาแรกที่เราต้องจัดการ แล้วปัญหาอื่นจะดีขึ้น

ถึงจะมีปัญหาเรื่องความแออัด แต่ในปัญหาที่เจอทางกรมราชทัณฑ์ยังพยายามหาทางออกเพื่อจัดการให้ดีที่สุด ในส่วนของผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรเรือนจำจะมีห้องแม่และเด็ก ถ้าไม่มีสถานที่เพียงพอ กรมราชทัณฑ์ก็จะพยายามจัดโซนให้แม่และเด็กได้อยู่ด้วยกัน เพื่อให้การเลี้ยงดูบุตรของผู้ต้องขังหญิงทำได้อย่างเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดนั้นๆ นอกจากนี้หลายๆ เรือนจำจะมีพี่เลี้ยงที่เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำที่มีความรู้ในการเลี้ยงลูก มาทำหน้าที่ช่วยเลี้ยงลูกให้กับผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของเรือนจำไทย เปรียบเทียบกับประเทศอังกฤษที่ไม่มีการให้พี่เลี้ยงที่เป็นผู้ต้องขังมาช่วยเลี้ยง ซึ่งเรามองว่าเป็นข้อดี เพราะผู้ต้องขังมีเพื่อน มีคนคุย และคอยให้การสนับสนุน 

มีสวัสดิการอะไรเตรียมไว้ให้คุณแม่ในคุกบ้าง

เมื่อมีคนตั้งครรภ์ในคุก เขาจะต้องมาตรวจกับคุณหมอในเรือนจำ และพาไปคลอดนอกเรือนจำเพื่อสุขอนามัยที่ดี แต่บางครั้งก็มีสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ปวดท้องคลอดตอนกลางคืนซึ่งมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อยู่ไม่กี่คน ก็เลยอาจจะล่าช้า ไม่ทันการ แต่ส่วนใหญ่จะพยายามทำให้เร็วที่สุดเพื่อให้ไปคลอดที่โรงพยาบาลให้ได้ เพราะปลอดภัยกว่า 

เมื่อคลอดแล้ว ทางเรือนจำจะมีนม ผ้าอ้อม อาหารสำหรับแม่และเด็ก แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับผู้ต้องขังทุกคน และนักโทษไม่สามารถนำของจากคนภายนอกเข้ามาได้ถ้าไม่ได้รับอนุญาต ถ้านักโทษอยากได้ของที่จำเป็นกับตัวเองก็ต้องไปซื้อกับทางเรือนจำ แต่การซื้อของก็มีเงื่อนไขจำกัด ไม่สามารถเลือกซื้อได้เหมือนคนที่อยู่ข้างนอก เนื่องด้วยข้อจำกัดของจำนวนและชนิดของสินค้า จากการศึกษาในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นักโทษจึงให้ความเห็นว่าควรที่จะได้รับปัจจัยสนับสนุนในการเลี้ยงดูบุตรมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 

ส่วนใหญ่คือคดีอะไรที่ทำให้พวกเธอต้องมาอยู่ในคุก

การเข้ามาอยู่ในเรือนจำนั้นมาจากการกระทำความผิดหลายความผิด แต่ว่าจำนวนผู้ต้องขังหญิงในไทยที่อยู่ในเรือนจำส่วนใหญ่มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วประเทศไทยไม่ได้นำสภาพการตั้งครรภ์มาเป็นปัจจัยในการพิจารณาว่าคนนี้ควรได้รับโทษจำคุก ณ ตอนนี้ไหม ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทย แทบไม่มีประเทศไหนเลยที่เอาสภาพการตั้งครรภ์มาพิจารณา 

สิ่งที่น่าสนใจคือ จำเป็นไหมที่เราจะต้องจำคุกนักโทษ ณ ขณะที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ พอจะเป็นไปได้ไหมหากเราสามารถเลื่อนระงับการลงโทษเพื่อให้แม่และเด็กสานสัมพันธ์กันได้อย่างเต็มที่

ในสมัยก่อนการกำหนดโทษในคุกถูกคิดขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ชายที่ทำผิด เรือนจำจึงถูกตีความให้มีความเป็นชาย เราจึงแทบไม่ได้นึกถึงสภาพความเป็นผู้หญิงเลย จนกระทั่งมีข้อกำหนดกรุงเทพ หรือ The Bangkok Rules ที่ระบุถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำออกมา ข้อกำหนดนี้เกิดขึ้นหลังจากมีข้อกำหนดแมนเดลา หรือข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง  (Mandela Rules) ซึ่งพูดถึงสิทธิที่นักโทษจะได้รับในฐานะคนคนหนึ่งว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างไรในเรือนจำ แต่ไม่ได้กำหนดไปถึงผู้หญิง ทำให้มีการมองข้ามการปฏิบัติต่อผู้หญิงในหลายๆ ด้าน เช่น ผู้ต้องขังหญิงต้องมีประจำเดือน หรือแม้กระทั่งผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ จึงเกิดข้อกำหนดกรุงเทพที่มองเฉพาะเจาะจงถึงผู้หญิง ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ริเริ่มขึ้นมา แต่เราก็มีปัญหาความแออัดในเรือนจำที่สะสมมานาน ทำให้ประเทศของเรายังต้องเร่งทำงานให้ได้ตามมาตรฐานที่เราอยากให้เป็นตามข้อกำหนดที่เราริเริ่ม 

เราควรพูดถึงประเด็นความเป็นแม่ของผู้ต้องขังให้สังคมรับรู้อย่างไร

ในมุมมองของเราและนักวิจัยหลายคน ความเป็นแม่มักเป็นเรื่องเชิงบวก คนเป็นแม่ต้องพร้อม ต้องเป็นคนดี สามารถเลี้ยงอีกชีวิตได้ แต่เมื่อความเป็นแม่เกิดขึ้นกับนักโทษหญิงผู้ถูกตีตราจากสังคม ความเป็นแม่ของเธอจึงขัดแย้งกับความเป็นนักโทษ ทำให้ไม่สามารถตอบได้ว่าตัวเองเป็นใคร จะเป็นแม่ที่ดีได้ไหม แล้วเมื่อสังคมมองว่าเธอเป็นคนไม่ดี เธอก็จะรู้สึกสิ้นหวัง จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า สำหรับผู้ต้องขังที่เป็นแม่และมีลูกอยู่ข้างนอกเรือนจำ จะมีทางไหนที่จะสร้างความสัมพันธ์ให้แม่ในเรือนจำที่มีลูกอยู่ข้างนอกเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น ในเรือนจำนั้นมีสถานที่ที่จะทำให้เด็กเข้ามาสร้างความสัมพันธ์กับแม่มากพอหรือไม่ หรือกฎที่มีอยู่เข้มงวดเกินไปหรือเปล่าสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก

สำหรับผู้ต้องขังที่เลี้ยงลูกอยู่ข้างในเรือนจำหรือกำลังตั้งครรภ์ อาจจะถึงเวลาแล้วที่ จะต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่มีห้องแม่และเด็กซึ่งเป็นเรื่องที่กรมราชทัณฑ์ทำไว้และได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ แต่ถามว่าเราจะพัฒนาห้องแม่และเด็กให้มีความพร้อมที่สนับสนุนแม่ที่เลี้ยงลูกในเรือนจำ และเด็กที่โตในเรือนจำให้มากขึ้นได้หรือไม่

สิ่งที่ควรแก้ไขคือการแก้ระบบของเรือนจำทั้งหมดเลยใช่ไหม

ปัญหาหลักของเรือนจำคือความแออัดอย่างที่บอก แต่ความแออัดคงให้เรือนจำเป็นฝ่ายแก้ไขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่จะช่วยกัน ทำให้ความแออัดน้อยลง อาจด้วยการเพิ่มโทษทางเลือกมากขึ้นสำหรับหญิงมีครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตรมา ถ้าเป็นโทษที่ไม่หนัก เราควรให้เขาเลื่อนการรับโทษก่อนไหม แล้วเมื่อเขาพร้อมค่อยให้เขากลับมารับโทษ เพื่อลดความแออัดของเรือนจำ และให้แม่และเด็กได้มีเวลาสานสัมพันธ์กันอย่างเต็มที่ 

การที่มีแม่และเด็กเข้ามาอยู่ในเรือนจำ อาจถูกมองได้ว่าเป็นการเพิ่มหน้าที่ให้กับกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากความเป็นแม่และการเลี้ยงดูบุตรเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ใช่แค่ชีวิตเดียว แต่เป็นสองชีวิต เขาอาจทำผิดก็จริง แต่ถ้าเราจำคุกเขาในช่วงเวลาสำคัญของชีวิตมันจะส่งผลได้หลายทาง แต่กลับกันอาจจะเป็นผลดีก็ได้ถ้าหากคุณแม่คนนั้นอยู่นอกเรือนจำแล้วไม่มีทรัพยากรที่ดีในชีวิตเพียงพอ ประเทศไทยการที่คนคนหนึ่งท้อง ระบบสวัสดิการที่รองรับนั้นอาจยังไม่ดีพอ ทำให้สำหรับนักโทษบางคนการอยู่เรือนจำในขณะท้องจึงเป็นเรื่องดีของเขา โดยเฉพาะคนที่มาจากสภาพครอบครัวที่ยากลำบาก 

การมีคุณแม่ในคุกจำนวนมากสะท้อนอะไรในสังคมของเราได้บ้าง

สังคมไทยอาจถึงเวลาที่ต้องเริ่มพิจารณาถึงเรื่องของการเลื่อนการรับโทษ สำหรับผู้กระทำผิดที่ตั้งครรภ์ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ให้ต้องมาอยู่ในเรือนจำน้อยลง อย่างไรก็ตามถ้ามองในมุมกลับกัน การอยู่ในเรือนจำสำหรับผู้หญิงหลายคนได้สวัสดิการมากกว่าการอยู่ข้างนอกด้วยซ้ำ บางคนพูดว่าอยู่ข้างในมันสบายกว่า ไปโรงพยาบาลผู้คุมก็พาไป ไม่ต้องเสียเงินสักบาท มันเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่สวัสดิการไม่ทั่วถึง การเดินทางโดยเฉพาะตอนท้องด้วยรถเมล์ร้อนก็ไม่รู้รถจะมาเมื่อไหร่ มันเป็นปัญหาสังคมที่ซับซ้อนมาก 

จากงานวิจัยทั้งในประเทศอังกฤษและไทย สิ่งหนึ่งที่นักโทษตั้งครรภ์พูดเหมือนกันคือ เวลาเขาไปโรงพยาบาลในชุดผู้ต้องขัง เขามักถูกทำให้เป็นจุดสนใจจากคนรอบตัวที่เขาเจอในโรงพยาบาล ถึงแม้การไปหาหมอในชุดคุมขังจะเป็นกฎของเรือนจำเพื่อระบุตัวตน แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกอับอาย

มีข้อเสนอแนะอะไรบ้างที่จะทำให้คุณภาพชีวิตแม่ในคุกดีขึ้น

อาจารย์นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เคยพูดว่าสิ่งที่เรือนจำในไทยต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพมีอยู่ 3 อย่าง อันดับแรกคือการเปลี่ยนแปลง hardware คือการเปลี่ยนแปลงสถานที่ให้เหมาะสมกับการจำคุกผู้หญิง ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่มีเด็กอยู่ข้างนอก สองคือ software คือการมีโปรแกรมพัฒนาผู้ต้องขังในด้านต่างๆ ให้เหมาะกับผู้หญิงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะหรือชีวิตประจำวันทั่วไป สามคือ people-ware คือการฝึกอบรมพัฒนาผู้คุมให้มีความเข้าใจในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมากขึ้น 

ทั้งหมดทั้งมวลเราคิดว่าเรือนจำไทยกำลังพยายามมุ่งไปตามข้อกำหนดกรุงเทพที่ตั้งไว้ในการดูแลผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ แต่ด้วยความแออัดจึงทำอะไรได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ต้องจัดการกับโควิดก่อน แต่เรือนจำก็ไม่ได้ลืมที่จะทำให้มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่ดีและรองรับความเป็นแม่ของผู้หญิงได้จริงๆ 

เรารู้กันว่าเรือนจำเป็นสถานที่ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังในระหว่างรับโทษ แต่จำเป็นไหมที่จะต้องคุมขังคนในสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด เราจะเริ่มมองเรือนจำให้เป็นสถานที่ที่พร้อมต่อการพัฒนาคนให้กลับสู่สังคมโดยไม่หวนทำความผิดได้มากขึ้นหรือไม่

‘คุกซ้อนคุก’ ความเป็นแม่ของนักโทษหญิง

  • ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ 305,447 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 35,972 คน (1 สิงหาคม 2564)
  • งานวิจัยเรื่อง เหยื่อที่มองไม่เห็น ชีวิตของลูกที่แม่ถูกจำคุก โดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า กว่าร้อยละ 80 ของผู้ต้องขังหญิง มักได้รับโทษจำคุกจากคดียาเสพติด โดยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประชากรรายได้ต่ำ เนื่องจากระดับการศึกษาน้อย จึงต้องเป็นแรงงานทันทีหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งความยากจนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แม่เป็นที่พึ่งทางรายได้ของครอบครัวและเข้าสู่เส้นทางอาชญากรรม 
  • งานวิจัยระบุว่า การที่ต้องอยู่ในเรือนจำทำให้ผู้ต้องขังทุกข์ทรมานกับการไม่ได้ทำหน้าที่แม่ อีกทั้งเรือนจำยังขาดระบบที่ช่วยรักษาความสัมพันธ์ของแม่กับลูก และการทำหน้าที่แม่ของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ ลูกซึ่งไม่ได้กระทำผิดก็ได้รับผลกระทบทางอ้อม เสมือนกับการถูกลงโทษทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด เนื่องจากการขาดแม่ในลักษณะเช่นนี้ทำให้ถูกตีตราจากสังคม ส่งผลต่อพัฒนาการและสภาพอารมณ์ของเด็กอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าที่ควร
  • ข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules) หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำฯ คือข้อกำหนดที่ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงโดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะด้านเพศภาวะ เพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับโอกาสในการฟื้นฟูและบำบัดในเรือนจำอย่างเท่าเทียม

ที่มา: https://www.tijbangkokrules.org/th

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า