ไรเดอร์ทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า เขากำลังขูดรีดเลือดเนื้อเราเพื่อเอากำไร

‘​​ในขณะที่เขาสร้างระบบมาให้พวกเราแย่งกันทำมาหากิน พวกเราก็หากินกันไปโดยไม่ได้คิดว่า ที่เขาทำอยู่มันเอาเปรียบเราขนาดไหน เราปล่อยปละละเลยให้เขาเอาเปรียบ ขูดรีดเรา ขูดเลือดเรา ขูดเนื้อเรา โดยที่เราชาชินกับการกดขี่!

‘เราจะทำให้เขาเห็นคุณค่าของพวกเรา และแบ่งปันผลประโยชน์ให้พวกเราอย่างเป็นธรรม เรามีคุณค่าเท่ากับนายทุนนายจ้างทั่วไป เรามีสองมือสองตีน เราลงเเรง เราลงเงิน แม้นายทุนเขาเอาเงินมาวางตูมก็ไม่มีทางจะสร้างกำไรได้ถ้าไม่มีพวกเรา!’

มงคล ยางงาม ผู้ประสานงานสหภาพไรเดอร์ คือผู้ที่กล่าวถ้อยคำข้างต้นด้วยน้ำเสียงที่ฉะฉาน ผ่านโทรโข่งขาวตัวเขื่องท่ามกลางไรเดอร์จำนวนร่วมร้อยบริเวณหน้าตึก T-One ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียกร้องต่อกรณีการปรับลด ‘ค่ารอบ’ หรือค่าตอบแทนจากการส่งอาหารต่อรอบ

ระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ‘แพลตฟอร์ม’ หรือแอพพลิเคชั่น กลายเป็นตัวกลางในการกระจายสินค้าของธุรกิจร้านอาหารทั่วโลก พร้อมๆ กับอาชีพไรเดอร์ กลายเป็นนิยมของคนจำนวนมาก บ้างทำเป็นอาชีพเสริม บ้างเป็นอาชีพหลัก ด้วยภาพลักษณ์และการโฆษณาเนื้องานที่ดูอิสระ วิ่งเมื่ออยากวิ่ง พักเมื่ออยากพัก รายได้มากน้อยตามแต่ความขยัน และรับประกันรายได้หลักหมื่น!

มากกว่านั้น คุณไม่ใช่ลูกจ้างใต้บังคับบัญชา หากแต่คุณคือ ‘พาร์ทเนอร์’ ร่วมธุรกิจ นิยามความสัมพันธ์ใหม่ขนานคู่กับเวลางานที่เลือกได้อย่างเสรี จึงไม่ยากเลยที่อาชีพนี้จะดึงดูดความสนใจผู้คนได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ทว่าความ ยืดหยุ่น อิสรภาพ และรายได้งาม กลับกลายเป็นภาพลวงในเวลาต่อมา

สหภาพไรเดอร์ โดยไรเดอร์ เพื่อไรเดอร์

เดิมที บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บริษัท ลาลามูฟ อีซี่แวน (ประเทศไทย) จำกัด ก่อนที่ทั้งสองธุรกิจจะแยกตัวออกจากกัน ในช่วงรอยต่อนั้น ‘บริษัทลาลามูฟ’ ได้เรียกเก็บเงินประกันค่าสินค้าเสียหายจำนวน 200 บาทจากไรเดอร์ทุกคน โดยไร้ซึ่งการชี้แจงเหตุผลที่หนักแน่นชัดเจน หนำซ้ำ การเรียกเก็บเงินในครั้งนั้นยังขัดแย้งกับกฎของบริษัทที่ว่า เมื่อไรเดอร์ทำสินค้าเสียหาย ไรเดอร์ต้องชดใช้ค่าสินค้าเต็มจำนวน

นี่จึงเป็นเริ่มต้นของการรวมตัว เพียงท้วงถามเหตุผลและเรียกร้องความเป็นธรรม ซึ่งการรวมตัวในครั้งนั้น ถือเป็นประตูที่กำลังเปิดสู่ความไม่เป็นธรรมอีกนานัปประการ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า การขูดรีดอันพิลึกพิลั่นที่กฎหมายแสร้งมองไม่เห็น

“กลุ่มไรเดอร์ลาล่ามูฟจึงรวมกลุ่มกันมาปรึกษาสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เกิดการรวมตัวกันและตั้งเพจเฟซบุ๊คชื่อเพจว่า สหภาพลาล่า ต่อมาเริ่มมีสมาชิกเข้ามาติดตามเยอะหลังจากสหภาพลาล่าตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมของไลน์แมนที่หน้าตึก T-One เพื่อเรียกร้องค่ารอบที่ถูกปรับลดตามอำเภอใจ นั่นจึงทำให้มีผู้ติดตามเพจเยอะขึ้น จากนั้นจึงมีการเสนอไอเดียรวมกลุ่มเป็น ‘สหภาพไรเดอร์’ ที่ไม่จำกัดเฉพาะบริษัทใดบริษัทหนึ่ง”

มงคลเริ่มต้นโดยการไล่เรียงถึงชะตากรรมที่ไรเดอร์ทั้งประเทศกำลังเผชิญร่วมกัน แม้การรวมตัวกันของพวกเขาจะเริ่มจากเงิน 200 ที่ถูกริบหายไปอย่างปริศนา ทว่าปัญหานั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของอาณาจักรที่ชื่อว่า ‘ธุรกิจแพลตฟอร์ม

หนึ่ง – ลดค่ารอบตามคำเภอใจ

“เดิมทีไรเดอร์จะเจออยู่ปัญหาเดียวเลย คือการถูกลดค่ารอบ หรือค่าตอบเเทน เพราะว่าบริษัทมีอิสระในการปรับค่ารอบให้ขึ้นหรือลงได้ตามใจชอบ อารมณ์ดีหน่อยก็ปรับขึ้น อารมณ์ไม่ดีหน่อยก็ปรับลง นี่จึงเป็นปัญหาหลัก”

สอง – ไรเดอร์ถูกแบนโดยไม่เป็นธรรม

“เช่น เมื่อลูกค้าแจ้งมาที่แพลตฟอร์ม ไรเดอร์ก็จะโดนแล้ว หรือตัวบริษัทเองก็มักหาเรื่องมาปิดระบบไรเดอร์ได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่มีการสอบสวน พูดง่ายๆ ว่า คนที่ดูแลเรื่องความเป็นธรรมหรือการสอบสวนไรเดอร์ คือคอมพิวเตอร์ คือโปรแกรม มันไม่ใช่คนสอบสวนคน”

สาม – เงินจูงใจ (incentive) เจ้าปัญหา

“ค่า incentive หรือเงินจูงใจในการทำงาน บริษัทอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือ แต่เงินนี้มันไปผลักดันให้ไรเดอร์ต้องเร่งรีบและแย่งงานกัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดการบาดเจ็บล้มตาย ถามว่าเขาจำเป็นต้องรีบไหม จำเป็น เพราะนายจ้างหรือบริษัทรับคนอย่างไม่จำกัด เมื่อคนเยอะขึ้นก็ต้องแย่งงานกัน”

สี่ – ไรเดอร์ถูกเอาเปรียบ

“หลายๆ ครั้ง ผู้บริโภคก็เอาเปรียบไรเดอร์ เช่น กดสั่งของอยู่ที่นึง แต่ตอนรอรับของกลับไปรอรับอีกที่นึงซึ่งไกลกว่าเดิม ซึ่งส่วนเกินของระยะทางตรงนี้ไรเดอร์ต้องรับผิดชอบเอง หรือแม้กระทั่งถูกหลอกก็มี สั่งปลอม สั่งแกล้ง กรณีแบบนี้ ไรเดอร์ต้องจบงานโดยการซื้อของพวกนั้นไปใช้เองกินเอง”

‘อำนาจต่อรอง’ ที่รัฐไทยไม่รับรอง

การก่อตัวของไรเดอร์กระทั่งกลายเป็น ‘สหภาพ’ นัยหนึ่งคือความพยายามถลกรากอำนาจอันล้นเหลือของ ‘ธุรกิจแพลตฟอร์ม’ ผ่านการกำหนดบรรทัดฐานด้วยกฎหมายโดยการสร้างอำนาจต่อรองโดยแรงงาน นั่นเพราะพวกเขาเห็นตรงกันว่า ยังมีปัญหาที่ไม่ถูกพูดถึงอีกมาก กำลังซุกซ่อนอยู่ใต้อานมอเตอร์ไซต์

“ธรรมชาติของแรงงานทั่วไป มักรวมกันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามันไม่ยั่งยืน จึงมีความพยายามขายไอเดียเรื่องการรวมตัวกันเป็นสหภาพ แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ (1) อนุญาตให้ ‘ลูกจ้าง’ ที่มีนายจ้างเท่านั้นจึงจะตั้งสหภาพได้ ซึ่งไรเดอร์มีสถานะไม่ชัดเจนว่าเขาเป็นอะไร ฟรีแลนซ์? แรงงานอิสระ? หรือลูกจ้าง? กฎหมายจึงเสมือนว่ายังไม่ให้อำนาจไว้”

ประเทศไทย คือหนึ่งใน 45 ประเทศผู้ก่อตั้ง ‘องค์การแรงงานระหว่างประเทศ’ นี่คือความภาคภูมิใจที่รัฐบาลไทยมักยกขึ้นมาประกาศต่อสังคมโลกอยู่เสมอ 

แต่ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่ไม่ได้ลงนามสัตยาบรรณในอนุสัญญาองการแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98  ที่สำคัญที่สุด ด้วยว่าอนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้ เป็นดั่งหลักประกันและรับรองสิทธิของลูกจ้างทั้งประเทศไทยและแรงงานข้ามชาติ ให้สามารถจัดตั้ง รวมตัว และต่อรองกับนายจ้างได้ หรือที่เราเรียกว่าการจัดตั้ง ‘สหภาพแรงงาน’

“เราจึงอยากรวมตัวกันภายใต้รัฐธรรมนูญดีกว่า ซึ่งผมคิดว่ามันจะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถมีอำนาจต่อรองได้จริง โดยไม่ต้องรอพึ่งเพียงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์”

อิสระที่รัดแน่น

“บริษัทพยายามใช้คำว่า ‘งานอิสระ’ และมักจะบอกว่า ถ้าไม่พอใจก็ไปทำอย่างอื่น ซึ่งไรเดอร์บางคนเขาลงทุนซื้อโทรศัพท์ แล้วต้องใช้โทรศัพท์อย่างดี เพราะถ้าไม่ดีไม่มีทางกดแย่งงานเขาทัน

อิสระเดียวในทรรศนะของมงคล คือไรเดอร์สามารถเลือกเวลาทำงานได้ด้วยตนเอง นอกเหนือจากนั้นแล้วคือ เงื่อนไข กฎระเบียบ และบทลงโทษที่บริษัทแพลตฟอร์มกำนหนดไว้ นี่จึงไม่อาจเรียกได้ว่า อิสระประหนึ่งพาร์ทเนอร์ได้แม้แต่น้อย

“เชื่อไหมว่า ในสัญญาของบางบริษัท เขาเรียกไรเดอร์ว่าพาร์ทเนอร์ แล้วเขียนว่า พวกคุณเป็นพาร์ทเนอร์ ไม่ใช่หุ้นส่วนทางธุรกิจนะ คุณเป็นเพียงพนักงานจัดส่ง เขาใช้คำว่า ‘พนักงานจัดส่ง’ แต่ไม่ใช่ลูกจ้าง แล้วก็ทำงานภายใต้กฎหมายของสิงคโปร์ อยู่เมืองไทยแต่ใช้กฎหมายสิงคโปร์?

ความเข้มงวดของระเบียบที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ค่ารอบที่เคยได้ถูกลดหลั่นตามใจชอบ จำนวนไรเดอร์บนท้องถนนเพิ่มขึ้นสูงไร้ซึ่งการกำกับควบคุม สนามแข่งขัน ‘วิ่งรอบ’ จึงดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยมีบริษัททั้งหลายลอยตัวอยู่เหนือปัญหา

“นานวันเข้า ปัญหาที่ไรเดอร์ต้องเจอก็มีมากขึ้น เพราะบริษัทมีอำนาจกำหนดกติกาทุกอย่าง เช่น ไรเดอร์ถูกแบนโดยไม่เป็นธรรม เมื่อลูกค้าแจ้งมาที่แพลตฟอร์ม ไรเดอร์ก็จะโดนแล้ว หรือตัวบริษัทเองก็มักหาเรื่องมาปิดระบบไรเดอร์ได้อย่างง่ายดายโดยที่ไม่มีการสอบสวน พูดง่ายๆ ว่า คนที่ดูแลเรื่องความเป็นธรรมหรือการสอบสวนไรเดอร์ คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เขาไม่ได้ใช้คนสอบสวนคน 

ยังมีสิ่งที่เรียกว่า อินเซ็นทีฟ (incentive)  หรือเงินจูงใจให้ไรเดอร์ต้องทำงานบนท้องถนนหนักขึ้น โดยบริษัทใช้คำว่า ‘การช่วยเหลือ’ ไรเดอร์ 

ผลที่ตามก็คือ อินเซ็นทีฟกลายเป็นเงินที่ผลักไสให้ไรเดอร์ต้องเร่งรีบและแก่งแย่งงานกันบนท้องถนน ความเสี่ยงในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างไม่อาจเลี่ยง 

“ถามว่าเขาจำเป็นต้องรีบไหม จำเป็น เพราะนายจ้างหรือบริษัทรับคนอย่างไม่จำกัด เมื่อคนเยอะขึ้นก็ต้องแย่งงานกัน เขาจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบเอาค่า incentive”

ไรเดอร์คือมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ หาใช่หุ่นยนต์อย่างอย่างใด 

มงคลมองว่า ที่ผ่านมา ในการนัดรวมตัวประท้วงหลายต่อครั้งของไรเดอร์ ทั้งในและนอกกรุงเทพ หลาย เป็นไปในลักษณะของการรับเรื่องแล้วเงียบหาย หรือบ้างก็แก้ไขเป็นรายครั้ง เมื่อสุ้มเสียงความไม่พอใจเริ่มเบาบาง กลไกการขูดรีดก็หวนกลับมาดังเดิม

“เมื่อไรเดอร์ถูกกดขี่จนลุกฮือ แล้วรวมตัวกันเป็นสหภาพเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม บริษัทกลับไม่สนใจเลย แล้ววิธีจัดการของเขาก็คือ พยายามให้ประโยชน์กับแกนนำในการประท้วง คือปิดปากแล้วเงียบไป เขาไม่คุยไม่เจรจาด้วยนะ อย่างมากก็แค่ลงมาบอกว่ารับเรื่องไว้แล้ว เดี๋ยวจะดำเนินการให้ ทำอย่างนี้ประมาณ 2 รอบ ซึ่งเราก็มองว่าไว้ใจไม่ได้ ไม่สุจริตใจ บอกว่าจะปรับปรุง แต่ก็ไม่ปรับ 

“อย่างการประท้วงสองครั้งล่าสุดเมื่อ 1 มิถุนายน เราก็ยื่นหนังสือและให้เวลาเขา 3 วัน ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการใดๆ จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน พอเราขู่ว่าจะนอนหน้าตึก ถ้าไม่รู้เรื่องจะไม่กลับ มีการนัดหยุดงานหลายจังหวัด บริษัทก็เริ่มเห็นว่าเขาเสียหายเยอะจากการหยุดงาน อีกทั้งเรามาชุมนุมที่หน้าบริษัทและยืดเยื้ออยู่จนค่ำมืด บริษัทก็เลยยอมคุยกับเรา สิ่งนี้มันสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจต่อรองของกลุ่มไรเดอร์ที่เริ่มก่อตัวขึ้น

ไรเดอร์ไม่ใช้หุุ่นยนต์ คำๆ นี้พูดผ่านเสียงของมงคลหลายต่อหลายครั้ง เมื่อบริษัทแพลตฟอร์มปฏิบัติราวกับว่า พวกเขาเป็นเพียงปัจจัยอันไร้ชีวิจบนสายพานของการแสวงหากำไร ซึ่งวงจรนี้ยังดำเนินต่อไปหากไร้ซึ่งการกำกับควบคุมโดยรัฐ

“บริษัทเขาไม่ได้มองว่าพวกเรามีเลือดมีเนื้อ มองเราเป็นแค่เครื่องมือทำกำไรเท่านั้น ถ้าเครื่องมือนี้ใช้งานไม่ได้แล้วก็เปลี่ยน เอาตัวใหม่มา”

ถึง บริษัทและรัฐไทย

สหภาพไรเดอร์ มีข้อเรียกร้องหลักๆ อยู่ 2 ประการคือ หนึ่ง ค่ารอบหรือค่าตอบแทนที่เป็นมาตรฐาน บริษัทจะไม่สามารถปรับขึ้นลงไปตามอำเภอใจ 

สอง บริษัทมีหน้าที่ในการคุ้มครองความปลอดภัยและชีวิตของไรเดอร์ ผ่านการให้ประกันภัยต่างๆ 

“ไม่ว่าคุณจะมีไรเดอร์ในระบบกี่คนก็แล้วแต่ คุณต้องคุ้มครองเขาด้วยการทำประกันให้ ซึ่งผมไปลองถามทางบริษัทประกัน มันตกวันละไม่ถึง 9 บาทเท่านั้น ตอนนี้ไรเดอร์ต้องระดมบริจาคช่วยเหลือไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุกันเอง มีเคสทีก็ระดมเงินที โดยที่บริษัทลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ไม่เข้ามาเยียวยาไรเดอร์ที่เจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานเลย”

1 ปีกว่าแล้ว กับการเรียกร้องความยุติธรรมของสภาพไรเดอร์ ไม่ว่าจะรวมตัวประท้วงหน้าบริษัท ยื่นจดหมาย กระทั่งส่งเสียงไปยังสภาผู้แทนราษฎร

ปัจจุบัน เรื่องราวของพวกเขายังคงค้างเติ่ง บทบาทในการสร้างกลไกที่เป็นธรรม กลับยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับหน้าที่ ‘เจ้าภาพหลัก’ แต่อย่างใด

“ผ่านมา 1 ปี มีแต่ซื้อเวลา กระทรวงแรงงานก็แก้ปัญหาโดยการผลักคนงานกลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในร่าง พ.ร.บ.แรงงานนอกระบบ (ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ) แต่กฎหมายยังไม่ได้บังคับใช้ อยู่ในระหว่างการพิจารณากฎหมาย ซึ่งผมก็ไม่เห็นด้วย

“ปัญหาของพวกไรเดอร์คือการเมืองในชีวิตจริง การเมืองที่จับต้องได้ ไม่ต่างอะไรกับการเมืองภาคใหญ่ของประเทศ เมื่อคนที่ควบคุมอำนาจ ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ผลประโยชน์ก็ไม่ตกถึงประชาชน

ในอำนาจอันล้นเหลือของธุรกิรกิจแพลตฟอร์ม  มงคลทิ้งท้ายว่า ผู้ถูกขูดรีดไม่ได้มีเพียงแค่ไรเดอร์เท่านั้น แต่รวมไปถึงร้านอาหารและผู้บริโภค 

“ถ้าผู้บริโภค ร้านค้า และไรเดอร์รวมตัวกันต่อรองให้บริษัทที่จับเสือมือเปล่าถูกกำกับด้วยกติกาที่เป็นธรรม ผลประโยชน์ก็จะเกิดกับผู้บริโภค ค่าสั่งอาหารที่ถูกบวกเพิ่มจะลดน้อยลง ร้านค้าจะมีมาตรฐานเรื่องค่า GP เช่น ถ้าคุณจะเก็บค่า GP เก็บได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์นะ เศรษฐกิจประเทศก็หมุนเวียน ผู้บริโภคก็จะได้ของที่ถูกลงเพราะต้นทุนร้านค้าน้อยลง ได้ปริมาณกับราคาที่สมเหตุสมผล 

“เห็นไหมว่าทุกอย่างมันจะบาลานซ์กันไปหมดเลย จะไปด้วยกันได้หมด ถ้าไรเดอร์ ร้านค้า และผู้บริโภคมีอำนาจต่อรอง”

โครงการผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดและขยายผลจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (2563) จากความร่วมมือระหว่างสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ WAY

สนับสนุนโดย

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย
(Friedrich-Ebert-Stiftung, Thailand Office)

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า