เพศทางเลือกในดินแดนเสรีภาพกับคนไม่มีสิทธิ์เลือกในประเทศร่างรัฐธรรมนูญ (1/2)

open-silpchai1
เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ / รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

49 คนที่เสียชีวิต และอีก 53 คนที่ได้รับบาดเจ็บจากการใช้อาวุธปืนกราดยิงใน ‘The Pulse’ เมืองออร์แลนโด ซึ่งเป็นไนท์คลับเกย์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดย โอมาร์ มาทีน ที่ประกาศตัวเป็นสมาชิก Islamic State of Iraq and the Levant (ISIL) ทำให้ประเด็นความแตกต่างเรื่องความเชื่อในรูปแบบการใช้ชีวิตกับความเชื่อทางศาสนา เข้ามาเป็นหนึ่งปัจจัยเสริมการมุ่งก่อการร้าย

และเป็นจุดตั้งต้นในการสนทนาบนพื้นที่นี้

เพราะเหตุการณ์นี้เกิดในดินแดนเสรีภาพ เมื่อสืบสาวเรื่องราวเราจะพบว่า ‘เพศทางเลือก’ ในประเทศสหรัฐ ยังคงเป็นหัวข้อถกเถียงที่ยังไม่จบสิ้น แต่ประเด็นถกเถียงเหล่านี้ถูกทำให้อยู่ในรูปในรอยของกระบวนการทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แม้ว่าการก่อตั้งประเทศสหรัฐ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนามิให้นำความแตกต่างทางความเชื่อด้านศาสนามาเลือกปฏิบัติกับผู้อื่นที่ต่างจากตน มิหนำซ้ำ สหรัฐเป็นประเทศที่มีการจัดการเรื่องรัฐและศาสนาแบบ Secular State หรือรัฐโลกวิสัย

ดังนั้น เราจึงควรศึกษาปัญหาเรื่องความแตกต่างด้านศาสนาที่เกิดขึ้นในบริบทของประเทศแบบ Secular State

ในขณะที่รัฐกึ่งศาสนาอย่างประเทศไทย มีเจตจำนงเผยออกมาอย่างซ่อนรูปในร่างรัฐธรรมนูญว่า เราจะมุ่งเดินไปสู่การเป็นรัฐศาสนาที่เข้มข้นขึ้นกว่าที่ผ่านมา ในมาตราอย่าง 67 บางวลีระบุว่า

“รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด”

วลีนี้ ผู้สังเกตการณ์ประเด็นศาสนาในร่างรัฐธรรมนูญต่างก็บอกว่า น่าเป็นห่วง

ปัญหาในรัฐโลกวิสัยแบบสหรัฐก็มีปัญหาเฉพาะในบริบทแบบหนึ่ง ซึ่งชวนให้เราตั้งคำถามต่อแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทย เจตนารมณ์ทางศาสนาของคณะ คสช. ในร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมและผู้คนในเชิงปัจเจก

WAY พูดคุยกับ ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ผู้สนใจศาสนา ปรัชญา มานุษยวิทยา สังคมวิทยา และรัฐศาสตร์

เขาบอกว่าเรื่องทั้งหมดนั้นโยงใยกัน

ไม่ว่าจะเป็นเพศทางเลือกที่ถูกทำลายในบาร์เกย์ที่เมืองออร์แลนโด หรือสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่ถูกซ่อนรูปในร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย

 


sinchai-01

1: เพศทางเลือกในดินแดนเสรีภาพ

 

การกราดยิงที่ไนท์คลับเกย์ ในออร์แลนโด เมื่อ 12 มิถุนายน คุณมองว่ามีปมความรุนแรงที่เกิดจากเรื่องศาสนาหรือมีประเด็นอื่นผสมโรงด้วย

ชัดๆ เลย…พูดได้เลย นี่จะเป็นปมปัญหาใหญ่ของอเมริกา มีแนวคิดทางศาสนาสองด้านประกอบกัน ทางด้านของผู้กระทำก็ออกมาบอกว่าตัวเองได้สวามิภักดิ์หรือศรัทธาแนวทางของ IS จริงหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยพื้นเพหรือรากเหง้าของเขามาจากอัฟกานิสถาน…เป็นมุสลิม เขาอาจจะไม่ได้ร่วมอยู่ในเครือข่ายเชิงปฏิบัติการ แต่ยอมรับหรือว่าสมาทานความเชื่อในจุดยืนแบบ IS ซึ่ง IS ก็ออกมารับลูกแล้วว่าเขารับผิดชอบ

IS ไม่พอใจการกระทำของสหรัฐเป็นทุนอยู่แล้ว มีเป้าหมายที่จะก่อการร้ายในสหรัฐ แต่มีเหตุจูงใจในเรื่องของความเกลียดชังเพศที่สามหรือเพศทางเลือกประกอบกันเข้ามาด้วย พูดได้ว่ามีสองปัจจัยเข้ามาประกอบกัน หนึ่ง-ความเกลียดชังสหรัฐ สอง-ความเกลียดชังเพศทางเลือก ซึ่งผิดจากหลักศาสนาของเขา

มีคนออกมาพูดว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลต่อการเลือกตั้งของสหรัฐ?

เชื่อว่ามีแน่นอน ณ ตอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ก้ำกึ่งกันอยู่ แม้ว่าในภาพรวมคนจะตำหนิตัว โดนัลด์ ทรัมป์ มากมายอย่างไรก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าคะแนนของคนที่ถูกตำหนิขนาดนี้ ไม่เคยมีใครได้มากเท่านี้มาก่อน เขาได้รับการยอมรับให้เป็นตัวแทนของพรรคริพับลิกัน ทั้งๆ ที่หลายคนในพรรครีพับลิกันปฏิเสธ อาจจะพูดได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนที่คนอเมริกันเกลียดที่สุด แต่เชียร์ที่สุด

จุดยืนของ โดนัลด์ ทรัมป์ ตรงใจกับคนอเมริกันจำนวนมาก โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอสิ่งที่คนอเมริกันไม่กล้าพูดด้วยตนเอง พูดง่ายๆ ว่าคนอเมริกันกำลังอยู่ในภาวะ Islamophobia ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องของคนทั้งโลก เป็นเรื่องที่ยุโรปก็คิดอย่างนี้ อังกฤษก็คิดแบบนี้ คนเยอรมันก็คิดแบบนี้ แต่ให้นักการเมืองออกมาพูดแบบนี้ เขาพูดไม่ได้

สหรัฐอเมริกาเป็นรัฐโลกวิสัย ทำไมนักการเมืองจึงยังคงนำหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นนโยบายในการหาเสียง โดยเฉพาะมุมมองแง่ลบกับศาสนาอิสลาม รวมถึงการกราดยิงที่ไนท์คลับเกย์ และดูเหมือนจะได้ผลเสียด้วย หากเรามองกรณีของ โดนัลด์ ทรัมป์

เพราะปัญหาของศาสนาเป็นเรื่องที่ซับซ้อนแล้วก็ลึกซึ้งมากกว่าที่เราคาดคิด ศาสนาแต่ละศาสนามีองค์ประกอบและเนื้อหาคำสอนไม่เหมือนกัน วิธีบริหารจัดการไม่เหมือนกัน บางอย่างเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ในคัมภีร์ ตั้งแต่พระศาสดา แต่บางอย่างเป็นเรื่องของพัฒนาการที่องค์กรทางศาสนาสามารถเชื่อมโยงกับองค์กรทางการเมืองได้ ถ้าเราจะมองที่ศาสนาอิสลาม เนื้อหาคำสอนไม่ได้ควบคุมเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล ครอบครัว เชื่อมโยงสู่เรื่องการปกครองด้วย เราต้องยอมรับว่าศาสนาอิสลามมีมิติมากกว่าเรื่องศาสนา แต่ครอบคลุมไปถึงมิติทางการเมือง เพราะฉะนั้นศาสนาอิสลามจึงสนับสนุนหรือโน้มนำให้เกิดรัฐศาสนาเสมอมา

ศาสนาทุกศาสนามีเรื่องคำสอนและจริยธรรมอยู่แล้ว ทีนี้เรื่องจริยธรรมบางอย่างเป็นประเด็นที่มีข้อขัดแย้งกับแนวโน้มทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น ศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่โดยคำสอนแต่ดั้งเดิม สองศาสนานี้ไม่ยอมรับเรื่องการรักเพศเดียวกัน หรือเพศที่สาม

สหรัฐแยกเรื่องศาสนาออกจากการเมืองเบ็ดเสร็จ แต่คำสอนที่ว่า ‘รักเพศเดียวกันถือเป็นบาป’ ยังมีอยู่ แต่เมื่อความคิดของคนในสังคมเปลี่ยนไป จะเรียกว่าก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้าก็แล้วแต่ แต่คนเริ่มมีความคิดเปลี่ยนไป แนวคิดเรื่องจริยธรรมก็เปลี่ยนไปด้วย สังคมส่วนหนึ่งไม่ถือว่าเรื่องนี้บาป คำว่าสังคมในที่นี้หมายถึงคนจำนวนหนึ่ง และด้วยแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมก็เป็นต้นทุนของสหรัฐ สุดท้ายเขาก็ต้องยอมรับว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ผิดกฎหมาย ถูกรับรองโดยกฎหมาย และก็ต้องให้สิทธิ์เท่าเทียมกัน ปัญหาก็คือ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีคนยึดถือศาสนาในแนวคิดและจริยธรรมแบบเดิมอยู่เยอะ ผลก็คือความขัดแย้ง

แม้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันจะถือว่าได้รับอนุญาตในระดับกฎหมายในบางรัฐ แต่คนส่วนหนึ่งยังคิดแบบเดิมอยู่ คือไม่ยอมรับ?

คนส่วนหนึ่งก็ยังคิดแบบเดิมอยู่ แต่ไม่สามารถใช้กฎหมายไปเล่นงานคนที่มีวิถีชีวิตหรือความเชื่อต่างไปจากความเชื่อทางศาสนาของตัวเองได้ แต่แรงกดดันทางสังคมยังมีผลอยู่ ในขณะเดียวกัน เมื่อภาคสังคมยังมีผลอยู่ และด้วยความเป็นประชาธิปไตยมากของประเทศนี้ จึงทำให้การเรียกร้องและความขัดแย้งในระดับการเมืองและระดับสภาหรือรัฐธรรมนูญยังเป็นปัญหาอยู่ การออกกฎหมายต่างๆ ในเรื่องเพศที่สามยังมีปัญหาอยู่จนถึงตอนนี้

ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง ตอนนี้ยังตีความไม่จบเลย แม้ว่ากฎหมายของสหรัฐให้การยอมรับเพศที่สามแล้ว แต่ยังมีปัญหาว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับเพศที่สามยังมีสิทธิ์ไหม ที่จะไม่ให้บริการแก่คู่แต่งงานเพศที่สาม เช่น เจ้าของร้านเค้ก เจ้าของร้านชุดวิวาห์ มีสิทธิ์ไหมที่จะบอกว่า ฉันจะไม่ขายของให้คนที่จะแต่งงานกับเพศเดียวกัน ปัญหาก็คือ ในเมื่อบอกว่าสังคมเท่าเทียมกัน ก็ห้ามปฏิเสธ คุณก็ต้องให้บริการคู่รัก ไม่ว่าจะคู่รักต่างเพศหรือเพศเดียวกัน แต่ปัญหาก็มีอีกว่า ถ้ารัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาให้สิทธิเสรีภาพในความเชื่อทางศาสนาจริง คุณก็ต้องให้สิทธิ์เจ้าของร้านในการที่จะไม่ให้บริการ เพราะมันผิดตามความเชื่อของเขา เรื่องนี้ยังเถียงกันอยู่

เพราะว่ามันก็จริง ต้องให้เสรีภาพที่เขาจะแต่งงานกัน เป็นสิทธิ์ในความเชื่อของเขา แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าของร้านมีความเชื่อว่า ทำแบบนี้มันผิดศีลธรรม เพราะฉะนั้นก็เกิดคำถามว่าเขามีสิทธิ์ไหมที่จะไม่ให้บริการแก่คนเหล่านั้น

ในสังคมที่มีการรับประกันเรื่องความเท่าเทียมอย่างสหรัฐ คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้ถือว่าเป็นจริยธรรมของสังคมร่วมสมัย เราสามารถพูดได้ไหมว่า คนที่ไม่ให้บริการคู่รักเพศเดียวกัน กำลังทำผิดจริยธรรมสังคมสมัยใหม่

จริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของศาลในแต่ละรัฐด้วยนะครับ ตอนนี้พูดได้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว ศาลตีความว่า ถ้าเลือกปฏิบัติแบบนี้ถือว่าผิดกฎหมาย แต่เชื่อเถอะครับ เรื่องอย่างนี้ถ้าเกิดในเมืองไทย เชื่อว่าน่าจะมีการตีความไปในทิศทางที่ว่า ให้ถือเป็นสิทธิ์ของผู้ให้บริการ ว่าอยากจะขายให้หรือไม่ขายให้ แต่ถ้าคุณเลือกปฏิบัติในสหรัฐ ถือว่าผิดตามกฎหมาย แต่เสียงเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการตัดสินแบบนี้ไม่ถูก กระแสนี้กำลังแรงขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเขาเชื่อว่ามันผิดศีลธรรม และเขาก็ทำตามความเชื่อของเขา คือปฏิเสธการให้บริการแก่คู่รักเพศเดียวกัน แล้วเขาไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ใคร เขาขอแค่เพียงไม่บริการ คุณก็ไปใช้บริการเจ้าอื่นที่เขายอมรับคุณได้ นี่คือกระแสที่กำลังเกิดขึ้น

พูดตรงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายจะตัดสิน ถ้าจะว่าตามตัวบทก็ฟังได้ทั้งคู่ ในด้านหนึ่ง คนมีความเชื่อว่าสิ่งนี้ไม่ผิด เขาย่อมแต่งงานหรือมีชีวิตคู่กับเพศเดียวกันได้ พูดก็พูดเถอะ ต่อไปจะมีประเด็นนี้ด้วย คือคนอยากจะแต่งงานกันสามคน อยากจะขอออกกฎหมายสามคน คือ คู่แต่งงาน ชาย-ชาย-ชาย หรือ ชาย-ชาย-หญิง แล้วเขาบอกว่านี่เป็นความเชื่อของเขา มันไม่ผิดตามหลักจริยธรรมของเขา และก็เป็นเรื่องของความยินยอมพร้อมใจทั้งทุกฝ่ายด้วย

ถามว่ารัฐบาลหรือรัฐธรรมนูญจะอนุญาตไหม ตอนนี้ที่อนุญาตไปแล้ว คือเรื่องเพศเดียวกัน ชายชาย หญิงหญิง อันนี้อนุญาตไปแล้ว แล้วถ้าต่อไป ชาย-ชาย-ชาย หญิง-หญิง-หญิง ชาย-ชาย-หญิง แล้วไม่มีใครบังคับใจใคร ทุกฝ่ายเต็มใจ นี่กำลังจะเป็นประเด็นที่สังคมต้องเผชิญแน่นอน

รัฐธรรมนูญสหรัฐแบบที่เป็นอยู่เอื้อให้ตีความว่าต้องบริการให้ เพราะถ้าขืนไม่บริการให้ ในที่สุดถ้ามีคนประเภทนี้มากๆ มันจะเป็นการใช้ความเป็นกลุ่มใหญ่ละเมิดสิทธิ์ของคนที่เห็นต่างทางศาสนา

สมมุติว่า คนที่ยึดในศีลธรรมคู่รักแบบต่างเพศมีมาก ก็รุมไม่ขายของให้ครอบครัวนี้ แล้วครอบครัวนี้ก็จะอยู่ในชุมชนนั้นไม่ได้ รัฐธรรมนูญยอมแบบนี้ไม่ได้ แต่มันเป็นปัญหา เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญหรือศาลบังคับว่าต้องขายให้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็พูดได้อีกว่า ก็มันละเมิดความเชื่อของเขา

sinchai-04

คนอเมริกันส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนท์หรือเปล่า

เมื่อก่อนอเมริกาถือว่าเป็นโปรเตสแตนท์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ 15 ปีหลังมานี้…พูดไม่ได้ เพราะว่าจำนวนของศาสนิกชนน้อยลง สัดส่วนของผู้นับถือศาสนาอื่นมากขึ้น และผู้ที่ระบุว่าไม่นับถือศาสนามีมากขึ้น…มากเลย จนพูดได้ว่าเป็นยุคของ Postchristianity สหรัฐเป็น Scular State ไม่มีศาสนาเป็นหลักแล้ว

เพียงแต่ว่าในเรื่องของพิธีกรรมก็จะผันแปรไปตามประธานาธิบดีแต่ละคนด้วย เช่น พิธีสาบานตน ก็มีแนวโน้มมีความหลากหลาย มีพิธีสาบานในนามศาสนานี้ด้วยแล้วก็ศาสนาโน้นด้วย ก็จะเป็นแบบนี้มากขึ้น

ปรากฏการณ์ Postchristianity ในสหรัฐเพิ่งเกิดเมื่อ 15 ปีมานี่เองหรือครับ

จริงๆ ตั้งแต่แรกก่อตั้งประเทศเลย สหรัฐก่อตั้งประเทศโดยการเลือกที่จะระบุในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วว่า ศาสนาจะไม่เป็นข้อจำกัดใดๆ ที่จะทำให้คนไม่เท่าเทียมกัน พูดง่ายๆ ว่าต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติโดยเอาศาสนาเข้ามาเกี่ยว สิ่งนี้ระบุตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญเลย แต่เนื่องจากคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังอยู่ในความเป็นศาสนิกชนที่เคร่งครัด พวกเขาล้วนแต่มาจากฝั่งอังกฤษที่อยู่ในรากเหง้าวัฒนธรรมของศาสนา แม้ว่าพวกเขาจะร่างรัฐธรรมนูญมาโดยให้มีความ Secularism หรือรัฐโลกวิสัย แต่รากฐานความศรัทธาทางศาสนาก็ยังติดมา เช่น การใช้ถ้อยคำที่กระหวัดถึงพระเจ้าในรัฐธรรมนูญ

ประเทศที่ระบุว่าเป็นรัฐโลกวิสัย แล้วกันศาสนาไม่ให้เข้ามามีอำนาจแทรกแซงทางการเมืองมีอยู่เยอะมากบนโลก ฝรั่งเศสเป็นประเทศแม่แบบของการแยกอำนาจรัฐกับอำนาจศาสนา นอกจากฝรั่งเศสต่อมายังมีลัทธิทางการเมืองคอมมิวนิสต์ เกิดการข่มเหงเบียดเบียนศาสนาทุกศาสนา เข้าไปถึงโซเวียต จีน และรวมไปถึงอินโดจีน และประเทศไทย

แต่ทุกวันนี้ แม้แต่ประเทศที่ไม่ถึงขนาดต่อต้านศาสนาแบบนั้นก็ยังเลือกที่จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญของตัวเองให้มีลักษณะที่ไม่ให้ศาสนาเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้โดยทั่วไปเป็นแบบนี้

คำว่า ‘มีอำนาจทางการเมือง’ หมายถึงว่ามีอำนาจต่อตัวปัจเจกบุคคลด้วย?

มันย่อมจะเป็นอย่างนั้น เมื่อมีอำนาจทางการเมืองแล้ว เป็นสถาบันทางการเมืองขึ้นมาในบทบาทใดบทบาทหนึ่ง มันจะมีผลไปถึงปัจเจกบุคคลโดยปริยายและเลี่ยงไม่ได้ เช่น เมื่อขึ้นชื่อว่าศาสนาใดศาสนาหนึ่งประจำชาติ ต่อให้บอกว่าไม่บังคับว่าคุณต้องนับถือศาสนาประจำชาตินะ มันย่อมมีอิทธิพลทันที คนก็จะรู้ว่ารัฐพิธีทั้งหลายจะต้องดำเนินไปโดยอิงศาสนา เมื่อต้องอิงศาสนา ถ้าคนอยากจะเข้ามามีส่วนหรือได้รับการยอมรับในสังคม เขาก็ต้องพึ่งพิงหรืออิงหรือคล้อยตามศาสนานั้น

ในเมืองไทยยิ่งกว่านั้นอีก ในหลายประเทศไม่ใช่แค่มีอิทธิพลต่อปัจเจกชน แต่มีอิทธิพลต่อภาคการเมืองการปกครอง องค์กรศาสนาจะได้ผลประโยชน์ทั้งทรัพย์สินและอำนาจที่องค์กรของตนชี้นำทิศทางของสังคมได้

เมื่อศาสนามีอำนาจทางการเมืองแล้ว จะทำให้ตัวของศาสนาเองเป็นทั้งเครื่องมือทางการเมืองให้นักการเมืองก็ได้ และในขณะเดียวก็เป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องมาพึ่งพา ศาสนาโดยพื้นฐานแล้วมีอิทธิพลต่อจิตใจผู้คน คนตั้งแต่เกิดจนตายมันต้องพึ่งพิงเรื่องของศาสนา ทำพิธีต่างๆ ก็ต้องมาพึ่งนักบวช ตายก็ต้องทำพิธีต้องพึ่งศาสนา เพราะฉะนั้นอะไรที่ศาสนาพูดสังคมก็จะเชื่อด้วยพลังของศรัทธา

ถ้าศาสนาหนุนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองขั้วไหน เพราะฉะนั้น ทางการเมืองก็จะต้องสยบยอมอยู่ใต้อำนาจของศาสนา การสยบยอมในที่นี้ก็หมายถึง จะต้องเข้าหารวมทั้งมอบผลประโยชน์ในนามของการอุดหนุน…อะไรก็แล้วแต่ รวมถึงให้อำนาจให้เกียรติให้เงินแก่องค์กรศาสนา ซึ่งต้องพึ่งเพราะไม่อย่างนั้นตัวเองก็จะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน

แต่ในทำนองเดียวกัน องค์กรทางศาสนาก็รู้ว่าตัวเองมีโอกาสได้เปรียบจากนักการเมือง ตัวเองก็สามารถใช้ประโยชน์จากนักการเมืองได้ด้วย ว่าทำยังไงให้กลุ่มของตนเองสามารถได้อำนาจและอิทธิพลมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเมืองกับศาสนาในทางทฤษฎีของรัฐศาสตร์ ชนชั้นปกครองกับชนชั้นนักบวชมักจะเดินคู่กันไปเสมอ และทั้งสองเอื้อกันและกัน

sinchai-02

เท่าที่ฟัง ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสนาหรือรัฐโลกวิสัย ทั้งสองโมเดลต่างก็มีปัญหาเฉพาะในบริบทของตัวเอง?

รัฐศาสนา หมายถึงการระบุให้ศาสนามีบทบาทสำคัญ มีอำนาจอยู่ในรัฐธรรมนูญ แล้วพออยู่ในรัฐธรรมนูญก็เท่ากับว่าเข้ามาอยู่ในระบบราชการ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า รัฐต้องจัดสรรทั้งอำนาจและงบประมาณ เมื่อระบุไปอย่างนั้นประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือก ต้องยอมจำนน ต่อรัฐศาสนา

แต่ในบางแห่ง รัฐไม่ได้เป็นรัฐศาสนาโดยตรง แต่รัฐได้รับอิทธิพลจากศาสนา หรือศาสนามีอิทธิพลเชิงวัฒนธรรมต่อประเทศนั้นๆ มาก ยกตัวอย่าง ประเทศอิตาลี ใครบอกว่าอิตาลีเป็นรัฐศาสนาของโป๊ป มีวาติกัน อันนี้ไม่จริง…เข้าใจผิด ประเทศอิตาลีเป็นประเทศที่หลังจากยุคของ มุสโสลินี มีการทำสัญญากับวาติกัน ‘สนธิสัญญาลาเตรัน (Lateran Treaty) ว่าจะแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน รัฐจะไม่สนับสนุนงบประมาณ และไม่มีการระบุด้วยว่า ศาสนาคริสต์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิตาลี เพราะฉะนั้นอิตาลีกลับกลายเป็นประเทศรัฐโลกวิสัยสูงมาก แต่ถามว่าประชาชนอิตาลียังคงนับถือคาทอลิกอยู่เยอะ แต่เป็นเชิงวัฒนธรรม

เราสามารถพูดได้ไหมว่า การนับถือศาสนาพุทธในรัฐไทยเป็นมากกว่าการนับถือเชิงวัฒนธรรม

ทั้งวัฒนธรรมฝังลึกด้วย และมีการระบุ… เรียกว่าระบุแบบซ่อน ขมวดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ

แต่รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็มี…?

มี และระบุ แล้วก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกและชัดเข้าไปอีก ถ้าจะพูดให้แฟร์ จากการที่ดูร่างรัฐธรรมนูญ ผมอาจจะคิดแตกต่างจากหลายคน คือ ถ้าเราดูร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนคณะผู้ร่างจะไม่ได้คิดอะไรเลย ที่จริงผมเชื่อว่า คณะผู้ร่างคิดอยู่หลายเรื่อง เขามีการใส่ข้อความที่ในอดีตไม่เคยใส่มาก่อน ใส่ข้อความด้านหนึ่งว่า รัฐมีสิทธิ์เข้าไปจัดการศาสนาที่ดูแล้วว่าจะเป็นภัยต่อสังคม[1] ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยมี

เพียงแต่ว่ามาตราที่คนไม่ชอบคือ มีการระบุชัดว่า รัฐพึงสนับสนุนอุดหนุนและอุปถมภ์และคุ้มครองศาสนาพุทธนิกายเถรวาท[2] ซึ่งอันนี้ไม่เคยมีมาก่อน อันที่จริงมันก็เป็นของมันอยู่แล้วนั่นแหละ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้ชัดเลยว่า รัฐไม่ใช่แค่อุปถัมภ์นะ แต่คุ้มครองด้วย

การระบุแบบนี้ไม่ดี เพราะอะไร เพราะมันหมายถึงการแบ่งแยกนิกาย แบ่งแยกศาสนาก็หนักพอสมควรอยู่แล้ว นี่แบ่งแยกนิกายด้วย ซึ่งที่จริงแล้วคนในเมืองไทยนับถือมหายานไม่เยอะหรอกครับ มันก็ให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยก ตรงนี้ที่ทำให้คนรู้สึกว่ามันยิ่งแสดงธาตุแท้ความเป็นรัฐศาสนาแรงกว่าเดิม

 


[i] “มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

[ii] “มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”


ติดตามตอนสองได้ในสัปดาห์หน้า

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า