ความตายรายวัน ความจนชั่วนิรันดร์: การระบาดและความเหลื่อมล้ำในใต้ถุนประวัติศาสตร์

สำหรับประเทศที่คนเพียงหยิบมือ ถือครองปัจจัยการผลิตเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก (2018) ซ้ำเติมด้วยโรคระบาดที่แพร่ลามไปทั่วทุกหัวระแหง เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า จะเหลือคน ‘กินอิ่ม นอนอุ่น’ มากพอที่จะกลับมามีแรงต่อสู้กันอีกครั้งเมื่อวันที่วิกฤติได้ผ่านพ้นไปแล้ว จะมีเครื่องมือใดที่ทำให้เสียงของคนเหล่านั้นถูกได้ยินบ้างในสังคม

การศึกษาคนที่อยู่ในสถานะรอง (subaltern studies) คือแนวทางหนึ่งในการทำความเข้าใจคนที่อยู่ข้างล่างของสังคม ไม่ว่าจะถูกเรียกว่า ‘คนไร้เสียง’ ‘ผู้ถูกกดทับ’ ‘คนข้างล่าง’ ‘คนด้อยโอกาส’ ‘คนชายขอบ’ ‘เบี้ยล่าง’ ฯลฯ คำเหล่านี้ล้วนสะท้อนความพยายามแปลความหมายของคำว่า ‘subaltern’ ให้กุมความหมายคมชัดในพากย์ไทย

WAY ชวนฟังทัศนะของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ สุวรรณกิจ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาติดตามและศึกษาประวัติศาสตร์ของผู้อยู่ในสถานะรอง หรือ subaltern studies มาอย่างต่อเนื่อง ข้อคิดและข้อเขียนของเขาไม่เพียงเปิดเผยแง่มุมใหม่ๆ ให้แก่วงการประวัติศาสตร์ หากแต่ยังอัพเดทและเติมสีสันให้แก่การศึกษาคนที่อยู่ใต้ถุนของสังคม

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวสารคนไทยฆ่าตัวตายรายวัน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ปัจจัยสำคัญของความหดหู่ที่เกิดขึ้นมีตัวแปรคือวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องมาจาก COVID-19 เข้ามาเกี่ยวข้อง

ความตายรายวันชวนเราให้มองย้อนกลับไปถึงวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ของผู้อยู่ในสถานะรอง (subaltern studies) ที่เสียงของพวกเขาอาจไม่ได้ถูกให้ความสนใจ และหากเขาเหล่านั้นต้องการเปล่งออกมาก็มักจะถูกแปลงสารไปเรียบร้อยแล้ว อาการดังกล่าวอาจจะเห็นได้เมื่อบางใครหลงเผลอทึกทักไปพล่อยๆ ว่า “ธรรมชาติคัดสรร” ได้กวาดล้างคนเหล่านั้นไปหมดแล้ว

การศึกษาผู้อยู่ในสถานะรอง เป็นที่นิยมในช่วงใด เพราะอะไร

กลุ่มคนที่ศึกษาผู้อยู่ในสถานะรอง (subaltern studies) บางทีเรียกตัวเองว่า SSG หรือ SSC ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1980 แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากสุญญากาศเสียทีเดียว เนื่องจากทศวรรษที่ 1970 เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์จากคนข้างล่าง (history from below) รวมถึงกลุ่มประวัติศาสตร์สังคม (social history) ซึ่งทั้งสองแนวได้รับอิทธิพลจากความคิดมาร์กซิสต์พร้อมๆ ไปกับตั้งคำถามกับความคิดมาร์กซิสต์กระแสหลักด้วยในเวลาเดียวกัน

กรณีนี้อาจจะรวมถึงแนวอนาธิปไตยอย่าง เจมส์ ซี. สก็อต (James C. Scott – นักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาการต่อต้านในชีวิตประจำวันของชาวนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่เริ่มมีบทบาทในช่วงทศวรรษที่ 70-80 เช่นกัน คือ SSC ไม่ได้โผล่ขึ้นมาปุบปับ แต่วนเวียนอยู่ในกระแสฝ่ายซ้ายมาโดยตลอด

ภายในมาร์กซิสต์เองก่อนหน้านั้นมีการท้าทายกันเป็นระลอกๆ อยู่แล้ว ตัวอย่างที่สำคัญคือประวัติศาสตร์สังคมของ อี.พี. ทอมป์สัน (E.P. Thompson – นักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ชาวอังกฤษ) ที่ท้าทายกับมาร์กซิสต์กระแสหลัก ซึ่งให้ค่ากับคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ขณะที่ชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ ช่างทอผ้า ช่างตัดผม คนจนในเมือง คนขายของชำ หรือคนทำงานอาชีพอิสระในเมืองซึ่งแอคทีฟทางการเมืองมานาน ทั้งการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งและอื่นๆ กลับถูกละเลยไปหมด เขาจึงกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของคนเหล่านี้ในระยะเวลา 100 ปี ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมีขบวนการแรงงานเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเสียอีก

SSC เบนความสนใจออกไปจากแนวทางเดิมอย่างไร

SSC ท้าทายไปยังมาร์กซิสต์กระแสหลักใน 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง ท้าทายไปยังคำอธิบายที่ว่าขบวนการจากข้างล่างจะต้องเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อนเท่านั้น โดยนัยก็หมายถึงเกิดในยุโรปก่อน แต่ SSC มุ่งสนใจไปที่ชาวนาในยุคอาณานิคม ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างชัดแจ้ง SSC จึงเพ่งไปยังความตื่นตัวทางการเมือง หรืออย่างน้อยๆ การพยายามยกระดับคุณภาพของชีวิตตัวเองของชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา และคนระดับล่างในเมือง ผ่านการต่อสู้กับเจ้าที่ดินหรือเจ้าหนี้ เช่น เรียกร้องให้มีการเก็บค่าเช่าที่ถูกลง หรือในอินเดียยุคอาณานิคมก็มีการเรียกร้องไปจนถึงการต่อสู้ขับไล่เจ้าอาณานิคม

ประเด็นที่สอง SSC ไม่ได้ให้ความสนใจศึกษาขบวนการหรือองค์จัดตั้งที่เป็นทางการเท่านั้น โดยเฉพาะในบริบทของเอเชียใต้ก็หมายถึงบทบาทของคองเกรส (Indian National Congress – องค์กรเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษที่กลายมาเป็นพรรคการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอินเดียหลังปลดแอก)

เนื่องจากคองเกรสมีฐานะเป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง เวลาคนพูดถึงการปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ก็มักจะพูดถึง มหาตมะ คานธี, ยวาหะร์ลาล เนห์รู หรือพรรคคองเกรส แต่ SSC ค่อนข้างจะไม่ไว้วางใจคนกลุ่มนี้ หลักฐานที่นักวิชาการกลุ่มนี้ไปค้นเจอพบว่าคนข้างล่างมีข้อเสนอที่ก้าวหน้ากว่าคองเกรสมาก ในเวลาที่คองเกรสยังประนีประนอมกับเจ้าอาณานิคมอยู่เลย

บริบททางสังคมการเมืองเกิดอะไรขึ้น จึงทำให้เกิดแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์แบบ SSC

เกิดขึ้นท่ามกลางอิทธิพลของโซเวียตที่ประกาศตัวเองว่าเดินตามแนวทางมาร์กซิสต์ ขณะเดียวกันตัวเองก็กดขี่คนข้างล่าง ไม่ใช่ผู้ปลดปล่อยคนข้างล่างอีกต่อไป จึงได้มีการกลับไปอ่านความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ อีกครั้ง เพื่อตีความใหม่ นักวิชาการจำนวนหนึ่งพยายามสร้างคำอธิบายร่วมกันใหม่และเรียกมันว่าเป็นมุมมองมาร์กซิสต์ตะวันตก (Western Marxism) ที่ตีความแตกต่างไปจากโซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์ที่อื่นๆ

บรรยากาศแบบนั้นจึงต้องการท้าทายวิธีคิดที่ให้คุณค่าของคนเฉพาะกลุ่มมากเกินไป (กรรมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม) จนละเลยกลุ่มคนอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวและดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน

งานเขียนอีกประเภทหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือแนว Post-colonial (แนวคิดหลังอาณานิคมศึกษา) ที่มีจุดยืนปฏิเสธการยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลางในการศึกษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม งานที่โด่งดังก็เช่น งานของ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Wadie Said) เรื่อง Orientalism (1978) เป็นกระแสที่ก่อตัวขึ้นเพื่อตั้งคำถามว่าทฤษฎี แนวคิด ปรัชญาต่างๆ ความคิดทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางการเมือง การแสวงหาความเป็นธรรม ตลอดจนความเป็นสมัยใหม่ ทำไมต้องเริ่มที่ยุโรปหมดเลย

สองปัจจัยนี้ก็น่าจะเป็นบรรยากาศที่ทำให้ SSC หันไปหาคนข้างล่างในบริบทสังคมอาณานิคมนอกยุโรป

‘SSC’ ที่คุณเรียกว่า “งานศึกษาประวัติศาสตร์ผู้อยู่ในสถานะรอง” ผู้อยู่ในสถานะรองคือใครบ้าง

หากนิยามแบบกว้างคือ คนจน คนธรรมดาๆ คนที่ไม่ได้รับการเหลียวแล คนเหล่านี้ไม่ได้จนโดยธรรมชาติ แต่เขาถูกทำให้จน คำถามสำคัญคือกระบวนการอะไรที่ทำให้เขาจนและด้อยค่า มันมีกลไกอะไรที่เบียดขับ กดทับ ทำให้คนด้อยสถานะ ไร้คุณค่า ถูกเพิกเฉย หรือถูกลืมไป โดยกลไกที่พูดถึงก็ไม่ใช่กลไกทางเศรษฐกิจอย่างเดียวเท่านั้น เพราะที่ผ่านมามาร์กซิสต์แบบกระแสหลักมุ่งสนใจไปที่การครอบครองปัจจัยทางการผลิตเป็นหลัก

แต่ SSC ไปหยิบยืมความคิดของ อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci – ปัญญาชนฝ่ายซ้ายชาวอิตาลี) ที่ขยายความว่าการกดทับ หรือการกีดกัน ไม่ได้มีเฉพาะในกลไกทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เขารวมเอากลไกทางสังคมเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะด้วยเชื้อชาติ วรรณะ ศาสนา เพศ ฯลฯ

ในความเห็นของผม หากเราจะทำให้ SSC มีชีวิตชีวาขึ้นในศตวรรษที่ 21 อาจจะต้องรวมไปถึงกลไกอื่นๆ ด้วย เช่น ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และ digital divide (ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบดิจิตอล) ยกตัวอย่างเช่น กรณีไฟป่าที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของไทยเวลานี้ เมื่อรัฐที่กรุงเทพฯ ไม่ได้สนใจปัญหามากพอ คนที่อยู่ในภาคเหนือก็อาจจะถือว่าอยู่ในสถานะรองโดยทันที เพราะกระทั่งจะหายใจก็ยังทำได้ลำบาก หรือเวลาเกิด COVID-19 เราอาจจะยังพอหาทางเอาตัวรอดได้ผ่านการเข้าถึงข้อมูล แต่ว่ามันก็ยังมีคนที่ไม่สามารถกระทั่งจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้เลย

แต่ต้องเน้นย้ำว่ากลไกเหล่านี้มักทำงานร่วมกันมากกว่าจะแยกออกจากกันได้ เช่น เวลาพูดถึงกลไกเบียดขับในเชิงเพศสภาพ คนอย่าง ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช หรือ เสรี วงษ์มณฑา ก็คงไม่สามารถจะเรียกว่าเป็นซับอัลเทิร์นได้ ในการที่จะบอกว่าใครคือผู้อยู่ในสถานะรอง ก็ควรจะรวมเอาสถานะทางเศรษฐกิจเข้าไปพิจารณากับสถานะทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย นี่เป็นนิยามแบบกว้าง

ต่อมามีการนิยามแบบที่แคบลงไปหน่อย เสนอโดย สปิวัค (Gayatri Chakravorty Spivak – นักสตรีนิยมชาวอินเดีย) ว่าคนที่อยู่ในสถานะรองคือ คนที่หลุดออกจากโครงสร้างเดิมอย่างสิ้นเชิง กระทั่งมีโครงสร้างทางภาษาและตัวตน จึงจะเรียกว่า subaltern ได้ เธอตั้งคำถามทำนองว่า เมื่อ SSC ได้รับความนิยม ใครๆ ก็มักจะเคลมว่าตัวเองเป็นซับอัลเทิร์น

แต่เพราะมันยังมีคนที่อยู่ข้างล่างยิ่งกว่าล่าง หลุดยิ่งกว่าหลุด ชายขอบยิ่งกว่าชายขอบลงไปอีก คนกลุ่มนั้นต่างหาก ที่ไม่มีแม้กระทั่งเสียงที่จะเปล่งเล่าเรื่องของตัวเอง ไม่ต้องถึงขนาดจะไปเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเองจากใคร

หากเราคิดถึงนิยามความหมายแบบกว้าง ก็จะเห็นว่ามีการพูดถึงชาวนา แต่สปิวัคเสนอว่า มีคนที่อยู่ข้างล่างลงไปอีก คือเมียของชาวนา ที่ก็ทำงานเหมือนกัน และก็โดนกดขี่เหมือนกัน แต่ว่าโดนกดขี่ลงไปอีก 2 ถึง 3 เท่าเลย เพราะโดนกดขี่ทั้งจากเจ้าอาณานิคมและสังคมชายเป็นใหญ่ หากอยากจะพูดอะไรก็ต้องพูดผ่านสามี

และหากคนเหล่านั้นอยากจะพูดอะไรออกมา ก็จะต้องแปลงภาษาของตัวเองเพื่อให้คนที่อยู่ในกระแสหลักนั้นเข้าใจ จะต้องแปลงความรู้สึกหรือประสบการณ์ของตัวเองเพื่อให้โครงสร้างหลักมันเข้าใจ ในแง่ภาษานี้ตัวมันเองก็เป็นการกดทับชนิดหนึ่งแล้ว หากจะให้เทียบเคียงกับยุคไวรัส COVID-19 ระบาดแบบนี้ พ่อค้าแม่ค้าอาจจะเป็นคนข้างล่างในความหมายแบบกว้าง แต่ถ้าความหมายแบบแคบก็อาจจะหมายถึงคนไร้บ้านที่นอนอยู่หน้าวัดฟ่อนสร้อย หรือไม่ก็เป็นคนเก็บขยะที่อยู่แถวท่าแพ ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ข่าวสาร หรือไม่ทราบกระทั่งว่าไวรัสคืออะไร

การศึกษาผู้อยู่ในสถานะรองต้องการเปิดโปงอะไร และทำยังไง ทำไมต้องทำเช่นนั้น

ประเด็นแรก มันคือการให้ค่าคนธรรมดา คนที่ถูกมองข้าม มองคนเหล่านี้ในฐานะเป็นผู้กระทำการที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ด้วย เขาไม่ใช่คนที่รอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว และก็ไม่ใช่ผู้ตามที่รอคอยแต่ผู้นำ หากแต่ในชีวิตประจำวันของเขาก็เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ประเด็นต่อมา แต่เดิมเหตุการณ์เดียวกันในประวัติศาสตร์ที่เราคุ้นชิน เรามักอธิบายซ้ำๆ ว่าปัจจัยเป็นแบบนี้ๆ วิธีการคือลองเอาคนในประเด็นแรกไปจับเข้ากับเหตุการณ์เดียวกันดูซิ เราก็จะได้ภาพอีกด้านหนึ่งขึ้นมาใหม่

ตัวอย่างเช่น การปลดแอกชาติของคนอินเดียมักจะยกความดีความชอบให้แก่คนไม่กี่คน โดยเฉพาะคานธี ในวารสาร Subaltern Studies มีบทความ 2-3 ชิ้น กลับไปประเมินเหตุการณ์ปลดแอกใหม่ ด้วยการไปศึกษาชาวนาในช่วงทศวรรษ 1920 เป็นเวลาเดียวกับที่คานธียังอยู่ในช่วงของการสร้างภาวะผู้นำ แต่ชาวนาเหล่านั้นได้เริ่มประท้วงไปแล้ว ต่อต้านเจ้าอาณานิคมเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นรถไฟแบบไม่จ่ายเงิน มีการขัดขวางการเดินรถ การไม่จ่ายค่าเช่าที่ดิน มีการสร้างข้อเรียกร้องต่างๆ โดยคองเกรสยังไม่มีบทบาทมากนัก จนเมื่อการประท้วงลุกลามเป็นเรื่องราวใหญ่โต คานธีจึงเดินทางไปที่นั่น แต่เมื่อคานธีไปถึง เขากลับบอกให้ชาวนาหยุดประท้วง และบอกให้ชาวนาจ่ายเงินเจ้าที่ดิน อย่าไปขัดขวางการเดินรถ อย่าไปดื่มสุรา ฯลฯ

วิธีการเหล่านี้ในเวลาต่อมากลับกลายมาเป็นลายเซ็นของคานธี ที่รู้จักกันในชื่อ ‘สัตยาเคราะห์’ หรือ ‘สันติ อหิงสา’ อันเป็นการต่อต้านโดยไม่ใช้ความรุนแรง ขณะที่ตอนชาวบ้านประท้วงเขาก้าวหน้าไปก่อน แต่คุณไปเบรกไว้ ซึ่งบางคนก็อาจประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการช่วงชิงภาวะการนำ

อีกตัวอย่างคือ กลับไปดูว่าชาวนารู้จักคานธีจริงหรือเปล่า ก่อนจะพบจากหลักฐานว่า เอาจริงๆ เขาไม่ได้รู้จักเลยว่าคานธีคือใคร ชาวบ้านอาจจะชื่นชอบ บูชา ต้องการให้เป็นผู้นำ ก็อาจจะโห่ร้องส่งเสียงเชียร์อยู่ แค่มีข่าวว่าคานธีจะเดินทางมา ก็มีชาวนาขึ้นไปบนรถไฟถามหาว่าคานธีอยู่ที่ไหน คนสนิทของคานธีก็เกรงว่าจะรบกวนมากเกินไป เลยยกมือแทน ชาวบ้านก็เลยโค้งคำนับแล้วลงรถไฟไป

กรณีนี้จะเห็นว่าชาวบ้านไม่ได้รู้จักคานธีจริง แต่คานธีกลายเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ในการต่อสู้ ด้วยวิธีการเอาชื่อของคานธีไปต่อรองกับตำรวจบ้าง หรือต่อรองกับคนที่จับตัวเพื่อนชาวนาของตัวเองไป ชื่อของคานธีจึงมีความหมายที่หลุดลอยไปจากตัวคานธีเอง ชาวนาก็เอามาใช้ในการต่อสู้กับความอยุติธรรมในแบบของเขาเอง ซึ่งอาจจะต่างออกไปจากสิ่งที่คองเกรสพยายามจะสู้อยู่ในเวลาเดียวกัน

แต่ก็เป็นเรื่องยากที่ได้ยินการ ‘เปล่งเสียง’ จริงๆ จากคนข้างล่าง

SSC ก็ประสบปัญหาไม่น้อยว่าคนข้างล่างมักจะไม่บันทึกอะไรไว้ สิ่งที่ทำได้คือเทคนิคหรือวิธีวิทยาที่เรียกว่า ‘การอ่านแบบย้อนเกล็ด’ คือ การอาศัยหลักฐานจากบันทึกของชนชั้นนำของเจ้าอาณานิคม แต่อ่านแบบย้อนเกล็ดเป็นการอ่านด้วยความเห็นอกเห็นใจคนข้างล่างเพื่อมองให้เห็นว่า พวกเขาต้องการอะไร แสดงออกอย่างไร แต่ด้วยภาษาของเจ้าอาณานิคม แน่นอนจะมีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามคนข้างล่างอยู่แล้ว วิธีคือลองยกสิ่งนั้นออกไป แล้วย้อนกลับเข้าไปดูว่าชาวบ้านจริงๆ กระทำการอย่างไร

กรณีของไทยเคยมีผู้ปลดปล่อยจากชนชั้นนำบ้างไหม หรืออย่างคณะราษฎร หากมองแบบ SSC จะอยู่ในฐานะอะไร

SSC เคยศึกษาพวกทหารซีปอย (เหตุการณ์ ‘กบฏซีปอย’ ในทางตอนเหนือของอินเดีย เกิดขึ้นในปี 1857) ซึ่งเป็นการต่อต้านบริษัทอินเดียตะวันออกตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ จนกระทั่งรัฐบาลอังกฤษเลือกเข้าปกครองโดยตรงแทน ในงานชิ้นนั้นจะเห็นว่า SSC ศึกษาบทบาทของทหารที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สูงมาก ฉะนั้นบางส่วนของคณะราษฎรหรือข้าราชการระดับล่างที่หนุนคณะราษฎร ก็อาจนับอยู่ในการศึกษาแบบ SSC ได้

ผมนึกถึงตัวอย่างเช่น พี่น้องตระกูลวสุวัต (เจ้าของโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์รายวันในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ที่เคยทำหนังให้กรมรถไฟหลวง แต่เมื่อเขาถูกให้ออกจากราชการ เพราะรัฐบาลต้องการลดค่าใช้จ่าย พี่น้องตระกูลนี้ก็เลยไปตั้งบริษัททำหนังเองข้างนอกและร่วมมือกับคณะราษฎร

คนเหล่านี้จึงไม่ใช่ ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ พระยาพหลฯ แต่มันแสดงให้เห็นว่ามีความเคลื่อนไหวของคนอื่นๆ อีก อย่างไรก็ตามกรณีพี่น้องวสุวัตก็อาจยังถูกมองได้ว่ายังเป็นกระฎุมพีน้อยอยู่ ถ้าจะให้ตรงกว่านั้นก็ต้องไปดูราษฎร เช่นในงาน การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชาวนาได้ส่งฎีการ้องทุกข์จำนวนมหาศาลเข้ามาที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 งานชิ้นนี้พลิกความเข้าใจเดิมว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเรื่องของคนกลุ่มแคบๆ กลุ่มนักเรียนนอก หรือนายทหารบางกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาลรัชกาลที่ 7 เท่านั้น หากแต่เป็นแรงกดดันมหาศาลจากข้างล่างด้วย

พอจะแนะนำงานที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเองจากมุมของ SSC ได้ไหม

ในกรณีนี้ของไทย การศึกษาแบบ SSC ไม่จำเป็นต้องเป็นการปลดปล่อยชาติจากอาณานิคมเท่านั้น มีงานศึกษาคนที่ถูกลืมในทางประวัติศาสตร์อีกไม่น้อย แม้ว่าจะไม่ได้ประกาศตัวเองว่าเป็น SSC ก็ตาม เช่นงานเรื่องปากไก่และใบเรือ  ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่สนใจสุนทรภู่ ซึ่งเป็นการมองสังคมไทยช่วงยุคต้นรัตนโกสินทร์จากคนธรรมดาๆ แม้ว่าจะไม่ถึงกับข้างล่างแบบซับอัลเทิร์นเสียทีเดียว แต่ก็มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์จากข้างล่าง งานชิ้นนี้ยังทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุคต้นรัตนโกสินทร์นั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะแต่เดิมคนก็จะเข้าใจว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดที่สนธิสัญญาเบาว์ริง (ค.ศ. 1855) เป็นสำคัญ

อีกชิ้นที่สำคัญคือ งานของ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น เรื่อง การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน: ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย เป็นการพยายามเข้าใจประวัติศาสตร์ช่วงทศวรรษ 1970 โดยศึกษาคนที่ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ และไม่ใช่เพียงนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น หากแต่เป็นชาวนาที่ต่อสู้เรื่องค่าเช่าที่ดิน และก็ไม่ใช่ชาวนากระแสหลักที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ หากแต่เป็นชาวนาที่อยู่นอกโครงสร้างนั้นออกไปอีก ข้อสรุปของงานคือการพยายามเสนอว่าการปฏิวัติอาจจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ โดยไม่ต้องอยู่ในโครงสร้างหรือขบวนการหลัก

นอกจากนี้ยังมีงานของ สก็อต บาร์เม (Scot Barme เขียนหนังสือเรื่อง Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular Culture in Thailand ตีพิมพ์ในปี 2002) ที่พูดถึงวัฒนธรรมการดูหนังของคนสยามในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะเข้าไปดูการสนทนากันของผู้หญิงกรุงเทพฯ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนการเปลี่ยนแปลง 2475 เสียอีก จะเห็นว่ามีการตั้งคำถามกับสังคมชายเป็นใหญ่ว่า ทำไมผู้ชายจึงมีหลายเมียได้ ทำไมผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย บาร์เมเรียกช่วงนี้ว่า ‘Proto-feminist’ หรือหน่ออ่อนของสตรีนิยมในเมืองไทย

เช่นเดียวกับงานของ แมทธิว โคปแลนด์ (Matthew Copeland เขียนเรื่อง Contested Nationalism and the 1932 Overthrow of the Absolute Monarchy in Siam) ที่มองการปะทะของแนวคิดชาตินิยมในช่วงรัชกาลที่ 6 งานชิ้นนี้สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์ พบความเห็นของชาวบ้านที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ที่คนมักเข้าใจว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีกระบวนการสร้างชาตินิยมสยามอย่างเข้มข้น

ขยับเข้ามาใกล้อีกหน่อย คืองานวิจัยของ อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และอาจารย์ท่านอื่นๆ เรื่อง Democracy on the Move (2013) ซึ่งฉายภาพให้เห็นศักยภาพของคนชนบทไทยในปัจจุบันในการเป็นผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง ว่าทำไมชาวนาชาวไร่จึงสามารถเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการ แม้กระทั่งในโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำมหาศาล

มาสู่การเขียนประวัติศาสตร์แบบชนชั้นนำจารีตของไทย เหตุใดจึงทรงพลังมากจนกระทั่งประวัติศาสตร์คนข้างล่างไม่ค่อยมีที่ทางมากพอ

ผมคิดว่าอย่างแรก ประวัติศาสตร์แบบนี้อิงอยู่กับอำนาจและช่องทางประชาสัมพันธ์มหาศาล มันจึงสามารถแพร่กระจายได้กว้างขวาง

อย่างที่สอง การเขียนประวัติศาสตร์แบบ great men ที่เอาผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำทางการทหารเป็นตัวหลักในการเล่าเรื่อง ก็เป็นสิ่งที่ทำกันมาอย่างยาวนานในโลกตะวันตกด้วย ไม่ใช่เฉพาะในไทย และก็เพิ่งถูกตั้งคำถามเมื่อต้นศตวรรษ 20 หรือประมาณ 100 ปีนี้เอง ประวัติศาสตร์กระแสหลักมันจึงมี tradition ที่ทรงพลังมาอย่างยาวนานหนุนอยู่ข้างหลัง

อย่างที่สามคือ ประวัติศาสตร์ชนชั้นนำไทยมีมากกว่าเรื่องอุดมการณ์และความคิด แต่ยังเล่นกับความรู้สึกด้วย ในเรื่องเล่าจึงเต็มไปด้วยคำว่า ‘แผ่นดินพ่อ’ ‘แผ่นดินแม่’ หรือ ‘บรรพบุรุษเสียสละเพื่อแผ่นดิน’ มันไปผูกกับ blood and soil ผูกกับเลือดเนื้อแผ่นดิน เร้าอารมณ์ความรู้สึกค่อนข้างสูง สามปัจจัยนี้ทำให้ประวัติศาสตร์ชนชั้นนำค่อนข้างประสบความสำเร็จ

แต่ก็มีงานประวัติศาสตร์แนววิพากษ์จำนวนมากขึ้นมาท้าทาย คุณคิดว่าเรื่องเล่าแบบเดิมเสื่อมมนต์ขลังแล้วหรือยัง

(นิ่งคิด)

อันนี้ต้องระมัดระวัง ผมไม่ได้หมายถึงเรื่อง 112 แต่ว่าต้องระวังในแง่ที่ว่าจะประเมินประวัติศาสตร์กระแสหลักต่ำเกินไปหรือเปล่า

อย่างแรก เสื่อมนั้นเสื่อมแน่นอน เนื่องจากธรรมชาติของสื่อกลางที่มันเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่ได้มีการสื่อสารจากบนลงล่างเหมือนเดิมแล้ว ไม่ใช่ mass media ที่รับสารจากแหล่งไม่กี่แหล่งอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าอย่างไร โครงเรื่องก็ต้องเปลี่ยน ถ้าไม่ใช่เรื่องนี้ก็ต้องเป็นเรื่องนั้นที่จะมาท้าทายโครงเรื่องหลัก

อย่างที่สอง เสื่อมหรือไม่ ก็ต้องดูความพยายามที่จะไม่ให้มันเสื่อม เราจะเห็นความพยายามที่รัฐโหมกระหน่ำโฆษณา หรือการที่ผู้นำกองทัพออกมาเร้าอารมณ์ให้คนรักชาติ แต่ยิ่งแสดงออกด้วยความรุนแรง การข่มขู่คุกคาม การใช้กำลัง ยิ่งทำให้เห็นว่าพลังในการชักจูงน้อยลงเรื่อยๆ ยิ่งใช้กำลังมากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งแสดงให้เห็นว่าอำนาจในมือที่ทำให้คนเห็นด้วยคล้อยตามกำลังถดถอยลงไป และต้องบีบบังคับแทน อำนาจก็ย้อนแย้งในตัวแบบนี้

แต่พูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลดทอนผลกระทบจากการใช้กำลังนั้น มีคนถูกทำร้าย ถูกทำให้หายตัวไป แทนที่จะทำแบบนี้ ข้อเสนอของผมคือหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ด้วยการเปิดกว้างให้แก่การตีความ ให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ แล้วพยายามถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล อำนาจจึงจะเป็นอำนาจที่ทำให้คนคล้อยตามได้

นักวิชาการจำนวนไม่น้อยหันมาศึกษาคนข้างล่างมากขึ้น คิดว่าสำเร็จหรือล้มเหลวแค่ไหน

คิดว่าถ้าสำเร็จเราคงไม่ได้เจอรัฐบาลแบบที่เป็นอยู่นี้แน่นอน (หัวเราะดัง)

แต่ก็คงไม่ได้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง อย่างน้อยในวงวิชาการมันมีการตั้งคำถามเป็นระลอกๆ มีการดำเนินไปอยู่เรื่อยๆ อาจจะเป็นความล้มเหลวในการสื่อสารออกไปสู่สาธารณะ แต่ถามว่าต้องทำต่อไหม ก็ต้องยืนยันว่าต้องทำต่อให้กว้างขวางเพียงพอ

พูดในฐานะนักประวัติศาสตร์ มันยังมีเรื่องราวของชีวิตคนธรรมดารอให้ไปค้นคว้าอยู่ในจดหมายเหตุ แต่ระบบการประเมินของระบบอุดมศึกษาใหม่ก็ดึงเวลาของนักวิชาการออกไปจากการค้นคว้าวิจัยมากด้วย

ส่วนในต่างประเทศ อิทธิพลของการศึกษา SSC หรือใกล้ๆ กันอย่าง Post-colonial (หลังอาณานิคมศึกษา) จะพบว่าอย่างน้อยในสาขามนุษยศาสตร์ทุกวันนี้ คุณไม่พูดถึงสิ่งที่อยู่นอกยุโรปไม่ได้แล้ว นอกสังคมวิชาการเองก็มีการเรียกร้องให้มีการตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลาย ทั้งเพศสภาพ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่ค่อนข้างกลายเป็นกระแสหลักไปแล้วด้วยซ้ำ เมื่อดูหนังฮอลลีวูด ก็จะมีคนเรียกร้องว่า Oscar So White! ทำให้หนังหลายเรื่องหลังจากนั้นต้องไม่มีคนขาวนำเท่านั้น มันจะต้องมีคนเอเชีย คนผิวสี แสดงร่วมกันด้วย

อย่างไรก็ตามพอมันกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว ก็อาจจะทำให้มันไม่มีพลังพอในการตั้งคำถามด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานศึกษาคนข้างล่างให้เป็นเรื่องวัฒนธรรมเสียเยอะ จนหลุดลอยออกจากเรื่องเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งก็กลายเป็นจุดอ่อนของพลังการอธิบาย ในแง่นี้กระแสมาร์กซิสต์จึงเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งในศตวรรษที่ 21

การวิเคราะห์ชนชั้นในสังคมไทยมีพลังพอที่จะช่วยให้เข้าใจอะไรๆ มากแค่ไหน หรือมีมุมมองทางชนชั้นแบบอื่นๆ ที่ช่วยให้เข้าใจโครงสร้างทางสังคมไทยบ้างไหม

ใน พ.ศ. นี้คงยิ่งต้องหันมาสนใจชนชั้นมากขึ้น เพราะประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก หากดูจากค่าจีนี (Gini Coefficient หรือ ค่าสัมประสิทธิ์จีนี เป็นวิธีการวัดความไม่เท่าเทียมกันเป็นอัตราส่วนรูปแบบหนึ่ง) และประเทศไทยติดอันดับท็อปมาหลายปี รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ได้มีแนวโน้มทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจึงมีลักษณะของการอุ้มชูทุนใหญ่ให้สยายปีกหนักกว่าเดิม ใกล้เคียงกับ ‘รัฐบรรษัท’ อย่างที่สุด ถ้าก่อนหน้านี้มีใครโจมตีเรื่อง ‘ทุนสามานย์’ แล้วตอนนี้คุณเงียบ มันเป็นความลักลั่น สองมาตรฐานที่สุดนะ ตอนนี้ทุนใหญ่ครอบคลุมเกือบจะทุกพื้นที่ของประเทศ

ในอีกด้านหนึ่งการศึกษาเรื่องชนชั้นก็ขยับไปไกลแล้ว ไม่ได้มีแค่ระบุคนรวย-คนจนเท่านั้น ในวงวิชาการฝ่ายซ้ายกำลังตั้งคำถามกับแนวคิดเรื่องชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวสตรีนิยมที่ขยายนิยามของคำว่า ‘งาน’ มากกว่าแค่การทำงานในโรงงาน แต่ขยายไปถึงการทำงานในบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานทางเพศ หรือการศึกษากลุ่ม ‘precarious worker’ (แรงงานกลุ่มเสี่ยง) ที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งมีการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เช่น งานแม่บ้าน งานยาม งานคอมพิวเตอร์ งานออกแบบ และก็ไม่ได้จ้างตลอดชีพอีกต่อไป นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินประกันสังคม เงินสมทบเลี้ยงชีพหลังเกษียณ เปลี่ยนให้งานจำนวนมากเป็นการโยนให้ sub-contract ออกไปทำข้างนอก แรงงานกลายเป็นคนที่ไม่มีแม้กระทั่งสัญญาจ้างอย่างเป็นรูปธรรม และไม่มีความมั่นคงในชีวิตการทำงานเลย

หรืออย่างแนวคิดชนชั้นในยุคดิจิตอล ที่เป็นผลจากการขยายตัวของระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ต มันทำให้คนไม่จำเป็นต้องทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่อไปแล้ว คนอีกเป็นจำนวนมากผลิตงานจากหน้าคอมพิวเตอร์ มันไม่ใช่นายทุนกับแรงงานแล้ว แต่เป็น ‘netocrat’ กับ ‘consumerist’

หรือข้อเสนอว่าตอนนี้เราทุกคนถูกกำหนดโดยค่าเช่า คือคุณไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือคอมพิวเตอร์ เพราะยังไงคุณก็ต้อง ‘เช่า’ ซอฟต์แวร์เขาอยู่ต่างหาก ถ้าคุณไม่ต่อสัญญา คุณก็จะถูกยึดปัจจัยการผลิตนี้ไป ทำให้บางคนถึงกับเสนอว่า ‘การเช่า’ ในโลกดิจิตตอลได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิตให้กลับไปคล้ายคลึงกับยุคก่อนทุนนิยมอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ก็มีคนอย่าง สลาวอย ชิเช็ค (Slavoj Zizek – นักปรัชญาชาวสโลวีเนีย) พยายามเสนอว่า การต่อสู้ในยุคนี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างสองชนชั้นในสนามเดียวกัน แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นกับคนที่ ‘ไม่ใช่ชนชั้น’ ด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นคนที่อยู่นอกสนามโดยสิ้นเชิง

และถ้าเรากลับไปดูนิยามแบบแคบของ SSC ซึ่งหมายถึงคนที่หลุดออกไปอย่างสิ้นเชิงจากโครงสร้าง ก็อาจจะพบความคล้ายคลึงกันอยู่ ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่มันยืดหยุ่นแบบนี้มีคนถูกเขี่ยออกไปจากระบบเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีคนที่หลุดออกไปยิ่งกว่านั้นอีก เช่น มีคนกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย หรือแรงงานประมงในทะเล ที่ชีวิตเดินอยู่บนเส้นด้าย ถ้าทำงานไม่ไหวก็ถูกฆ่าและโยนทิ้งทะเล คนกลุ่มนี้ต่างหากที่มีความชอบธรรมโดยสมบูรณ์ในการทำให้สนามทั้งสนามต้องเปลี่ยนแปลง

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Author

ชินกฤต เชื้ออินต๊ะ
หรือ 'แน่วแน่' เป็นช่างภาพไร้รูปแบบ แต่รับงานทุกรูปแบบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า