หลังจากสอนเสร็จ รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ สวมรองเท้าแตะเดินกลับมายังห้องพักในอาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หน้าห้องพักมีป้ายกระดาษติดว่า ‘กรุณาถอดเกิบ’ และ ‘ไม่ต้อนรับนักศึกษาที่มีกลิ่นหอม’ เหตุผลเพราะ ‘แพ้ฝุ่นและกลิ่นหอมสังเคราะห์’
ข้อความสะท้อนอารมณ์ขันและตัวตนของนักรัฐศาสตร์ผู้นี้ได้เป็นอย่างดี คงไม่มีนักศึกษาถือสาหาความเอากับอารมณ์ขันของอาจารย์ที่เพิ่งครบเวลาเกษียณอายุราชการไปเมื่อปี 2560 และขยายเวลาการเป็นอาจารย์ต่อไปอีก 5 ปี
รศ.ดร.สมชัยเป็นนักวิชาการสำคัญในแวดวง ‘อีสานศึกษา’ ‘การเมืองในอีสาน’ ‘ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม’ หรือ ‘แนวคิดประชาสังคม’ งานเขียนของ รศ.ดร.สมชัยได้รับการยอมรับจากแวดวงวิชาการต่างประเทศ ในการศึกษา อ้างอิง และต่อยอดการทำความเข้าใจสังคมอีสาน และการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ทั้งหนังสือ บทความ งานวิจัย เช่น หนังสือเรื่อง ทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการประท้วงทางการเมือง (2017), งานวิจัยเรื่อง ‘Civil Society and Democratization: Social Movements in Northeast Thailand’ (2006), บทความเรื่อง ‘การเมืองของสังคมหลังชาวนา: เงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในภาคอีสาน’ (2012) ฯลฯ
WAY เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อพูดคุยกับ รศ.ดร.สมชัย ว่าด้วยการเลือกตั้ง 2562 กับเสียงของภูมิภาคอีสาน ทั้งอีสานรุ่นรอเลือกตั้งจนถึงอีสานรุ่น New Voter ทั้งอีสานในชนบทจนถึงอีสานในเมือง
“ในชีวิตการสอน 30 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นนักศึกษาตื่นตัวทางการเมืองแบบนี้ ตอนนี้เขารู้สึกว่าต้องไปเลือกตั้ง ถึงเขาไม่อยู่ฝ่ายไหนแต่ขอให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้จริงจังกับสีนู้นสีนี้ รู้แต่ว่าที่ถูกต้องต้องเป็นประชาธิปไตย และรู้สึกว่าจะไม่เอาคุณประยุทธ์นี่แหละเยอะ”
ลักษณะ ‘สังคมหลังชาวนา’ ที่อาจารย์ศึกษาและเสนอในทางวิชาการ เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในช่วงเวลา 5 ปีที่ คสช. อยู่ในอำนาจ
สิ่งที่เราพยายามอธิบายลักษณะของ ‘สังคมหลังชาวนา’ คือความเปลี่ยนแปลงของชนบททั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ทำให้การควบคุมผู้คนหรือความคิดคนในชนบททำได้ยากขึ้น เพราะคนชนบทมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ช่องทางในการสื่อสารของคนชนบทกว้างขวางขึ้น เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ชีวิตของพวกเขาผูกพันอยู่กับรายได้แหล่งอื่นซึ่งมากกว่าเกษตรกรรมเสียด้วยซ้ำ จึงทำให้ความสนใจต่อปัญหาบ้านเมืองสูงตามไปด้วย พวกเขาสนใจว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา เขาจะให้ความสนใจกับนโยบายเป็นพิเศษ นี่ก็เป็นภาพของสังคมหลังชาวนา
ถ้ามองในยุค 5 ปีที่ผ่านมาเพื่อควานหาว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างและทำให้ลักษณะของ ‘สังคมหลังชาวนา’ แตกต่างออกไปจากเดิม ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างมากคือการรับข้อมูลข่าวสารในชนบทที่เปิดกว้างมาก มากชนิดที่ว่าเราเองก็คาดไม่ถึง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สมาร์ทโฟน 4G ทำให้คนชนบทเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เคยจำกัดวงอยู่แต่เฉพาะในสังคมเมือง เมื่อก่อนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องเทคโนโลยีในชนบทยังไม่ดีเท่าตอนนี้ ตอนนี้โทรทัศน์แทบจะไม่มีความหมายแล้วนะครับ แน่นอนว่าก็ยังมีอิทธิพลอยู่บ้าง แต่ทิศทางการรับข้อมูลข่าวสารจากทีวีถูกลดความสำคัญลงไปมากแล้วในชนบท
ช่องทางรับข้อมูลข่าวสารของพวกเขาผ่านสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียมีผลมาก คนชนบทเล่นไลน์นะครับ ตอนที่เราเขียนเรื่อง ‘สังคมหลังชาวนา’ เราไม่คิดว่าคนชนบทจะมาเล่นไลน์ จะมาดูยูทูบ หรือใช้โซเชียลมีเดียมากขนาดนี้ คนชนบทในที่นี้ก็หมายถึงคนกลุ่มหนึ่งนะครับ เพราะใน ‘สังคมหลังชาวนา’ ก็มีความแตกต่างหลากหลาย มีทั้งคนที่มีความรู้และรายได้ที่ดี มีคนกลางๆ และรวมถึงคนที่ยากจน คนที่เข้าถึงสมาร์ทโฟนก็ยังมีจำกัดอยู่ แต่เราจะเห็นเลยว่านี่คือช่วงที่ข้อมูลข่าวสารเปิด เป็นช่วงเริ่มต้นในการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของคนชนบท และมันก็มาเร็วมาก ตอนนั้นเราคิดไม่ถึงว่าเทคโนโลยีจะมาเร็วขนาดนี้ ตอนนั้นภาพที่เราเห็นคือเขาดูทีวีเหมือนคนกรุงเทพฯ เขามีเครือข่ายญาติพี่น้องที่อยู่ในเมือง เขาสามารถรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากช่องทางเหล่านี้ แต่ไม่คิดว่าเขาจะใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้มาเร็วมากและมีผลทางการเมืองด้วย
ต้องไม่ลืมว่าในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา คนชนบทได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ชนบทอีสานค่อนข้างเข้มข้น เพราะเป็นถิ่นของเสื้อแดง ฉะนั้นเขามีความรู้หรือประสบการณ์ทางการเมืองค่อนข้างเยอะ ทำให้เขาเปิดรับความคิดใหม่ๆ ลักษณะของ ‘สังคมหลังชาวนา’ ทำให้มีการเปิดรับสิ่งใหม่อยู่แล้ว เมื่อมีประสบการณ์ทางการเมืองเข้มข้นแบบนั้น ยิ่งไปเร่งให้พวกเขาเปลี่ยนแปลง
ในปัจจุบันคนอีสานเปิดรับนโยบายใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือการสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจ เราไม่คิดว่านโยบายพรรคอนาคตใหม่จะติดตลาดชาวบ้าน แต่ชาวบ้านฟังและเปิดใจโดยพิจารณาจากนโยบายต่างๆ
ลักษณะหนึ่งของ ‘สังคมหลังชาวนา’ ชาวบ้านมีผลประโยชน์หรือมีแหล่งรายได้ที่ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรอย่างเดียว เขาจึงสนใจนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ที่เสนอนโยบายต่างๆ ออกมา เช่น คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ – หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) เสนอจะสร้างโรงงานผลิตตู้รถไฟเพื่อสร้างงานในภาคอีสาน…เขาก็สนใจ เพราะไม่ได้คิดว่าข้าวจะมีราคาเท่าไรเพียงเรื่องเดียวอีกต่อไป มีเรื่องราวอื่นๆ ในชีวิตที่เขาคิดด้วย เรื่องคมนาคมเรื่องการเดินทางด้วยรถไฟที่ดูเหมือนจะสะดวก รวมถึงเรื่องสวัสดิการ แม้กระทั่งเรื่องลดงบประมาณของกองทัพ เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏว่าสื่อสารกับเขาได้ง่ายมาก เรื่องไม่เอาเผด็จการ เรื่องขจัดมรดก คสช. กลายเป็นเรื่องง่ายที่เขาจะสนับสนุน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นผมคิดว่าเขามีประสบการณ์มาก่อน เรื่องสิทธิที่ถูกคุกคามมาตลอด 12 ปีแล้วนะครับกับประสบการณ์ที่เขารับมา พวกเขาจึงเปิดรับสิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่านี่คือเรื่องใหม่สำหรับลักษณะแบบนี้ของชนบท
เราอยู่กรุงเทพฯ ก็จะรู้สึกว่าพรรคอนาคตใหม่น่าจะมีกระแสตามหัวเมืองใหญ่ที่มีมหาวิทยาลัย มีคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเปิดรับกับข้อความ วิธีการสื่อสาร หรือนโยบาย แต่เมื่อฟังเรื่องที่อาจารย์เล่าเมื่อครู่ เหมือนกับว่ากระแสแบบนี้เข้าไปในชนบทด้วย?
ขอให้ได้ดูคลิปเถอะ นโยบายแบบไหนเวิร์คหรือไม่เวิร์ค เขาไม่เหมือนเดิมแล้ว เมื่อมีคนเสนอในสิ่งที่ทำให้เขาได้พิจารณาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยนหรือให้การสนับสนุน ผมเคยเจอคนแก่ในชนบทอายุ 60 กว่าปี วันนั้นคนของพรรคอนาคตใหม่ลงพื้นที่หาเสียงในหมู่บ้าน แกบอกว่า
“นี่ก็น้องฟ้าเหมือนกันนะ ฟ้ารักพ่อเหมือนกันนะ ช่วยไปบอกหัวหน้าพรรคด้วย ฟ้ารักพ่อ”
ขนาดนี้เลยนะครับ แต่ลักษณะแบบนี้ก็ยังอยู่ในกลุ่มคนที่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งยังไม่เยอะมาก แต่มันติดตลาด นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในชนบท ซึ่งพื้นที่ชนบทในอนาคตก็จะยิ่งเปิดกว้างขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นการทำการเมืองเชิงนโยบายก็จะทำได้ง่ายขึ้น
เวลาบอกว่าพรรคอนาคตใหม่จะลงพื้นที่มาปราศรัย เขาจะเดินไปฟังโดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินเลย บางคนลูกโทรมาบอกว่า พ่อต้องเลือกพรรคนี้นะ ไม่เลือกไม่ได้ (หัวเราะ) ไอ้แบบนี้ก็มี
พรรคการเมืองเดิม ผู้แทนคนเดิมล่ะครับ พวกเขาเอาไปไว้ที่ไหน
คนที่เลือกเพื่อไทยส่วนมากก็เป็นคนเสื้อแดงมาก่อน แต่ถ้าฟังนโยบายของเพื่อไทย เขาไม่ค่อยชัดเหมือนอนาคตใหม่ ฝ่ายหลังนี่ต่อต้านเผด็จการสุดตัวเลยใช่ไหม แต่เวลาเพื่อไทยลงพื้นที่หาเสียงเขาจะอ่อนนะ เขาไม่เน้นเรื่องนี้ แต่อนาคตใหม่เน้น จึงเหมือนกับการจูนคลื่นกันติด…มันใช่เลย
การที่ชาวบ้านตอบรับพรรคอนาคตใหม่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเขาไม่พูดเรื่องความขัดแย้งเก่าๆ เสียเท่าไหร่ ชาวบ้านบางส่วนที่เป็นเสื้อแดงเก่าเขารู้สึกว่ามัวแต่พูดเรื่องเดิม ไม่พูดไปข้างหน้า ชาวบ้านไม่อยากฟังเรื่องความขัดแย้งที่ผ่านมา เพราะรู้แล้ว หนทางข้างหน้าต่างหากที่พวกเขาอยากรู้ อารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เปลี่ยน ไม่อยากไปจมอยู่กับเรื่องเก่า ขอเรื่องใหม่ได้มั้ย ผมคิดว่าเขาเริ่มรู้สึกกันแบบนี้ ถึงไม่ใช่ทั้งหมดแต่คนที่รู้สึกแบบนี้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะมันแปลกถ้าคุณยังมัวจมอยู่กับเรื่องเดิม แต่กับเรื่องลดอำนาจทหารชาวบ้านเอาด้วยนะ แต่ไม่ใช่จะมาพูดในลักษณะ “มันเคยมาปราบเราตอนนั้น” แบบนี้เขาไม่ฟังนะ เขาอยากเห็นอนาคตข้างหน้า จะเอายังไงต่อ…ก็พูดมาเลย
อีกสาเหตุหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทำให้รัฐสภาสามารถมีพรรคที่สามารถกุมเสียงข้างมากได้ สส. ในพื้นที่เคยได้ที่นั่งก็จะได้ที่นั่ง ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายของพรรค เมื่อเป็นเช่นนั้น สส. ในพื้นที่เหล่านี้ก็เริ่มทำตัวสบาย เพราะคิดว่ายังไงก็ต้องได้ เอาเสาไฟฟ้ามาลงก็ได้ ชาวบ้านพูดกันว่า “เราไปเลือกเสาไฟฟ้ามันก็ได้เสาไฟฟ้า มันไม่ทำห่าอะไรเลย” นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เขาเปลี่ยน เขาอยากเปลี่ยน เพราะ สส. เพื่อไทยไม่ดูแลเขา ไม่ทำงาน มันเป็นเสาไฟฟ้าของจริงเลย เขาบอกว่า ก็เพราะอย่างนี้แหละ เพราะพวกเราไปเลือกเอาเสาไฟฟ้า
ลักษณะของความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนและเทคโนโลยีในชนบททำให้นึกถึงกรณีของ นายเกียรติบุรุษ พันธ์เลิศ ชาวยโสธร ที่ไปถ่ายคลิปเงื่อนไขของหน่วยงานรัฐที่ให้ชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จึงจะได้บัตรสวัสดิการคนจน
นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในชนบทที่เกิดขึ้น เราจะเห็นคนชนบทใช้เครื่องมือใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นเครื่องมือต่อสู้ของตัวเอง อำนาจควบคุมคนในชนบทยากแล้วครับ ถ้าคุณตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาพรรคหนึ่ง คุณแจกเขาก็รับ แต่เขาไม่เลือกหรอก และเขาก็ไม่ให้ราคาด้วย เห็นชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐมีโอกาสลุ้นน้อยมาก ชาวบ้านไม่ให้ราคา
ช่วงหลังๆ เขาก็อัดมาตรการแจกให้ชาวบ้าน อาจารย์ก็เคยเขียนไว้ว่า ชาวบ้านเลือก สส. จากผลงาน ผลงานแบบนี้มีผลต่อการตัดสินใจไหม
ผลงานย่อมมีผลต่อการตัดสินใจ แต่คอนเซ็ปต์ของคำว่า ‘ผลงาน’ ถูกตีความกว้างไปถึงผลงานของรัฐบาลด้วย เช่น ผลงานของทักษิณ (ชินวัตร) ทักษิณก็มีผลงาน ผลงานคือนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้คน คำถามก็คือผลงานของประยุทธ์ (จันทร์โอชา) คืออะไร ผลงานของประยุทธ์คือการเอาเงินไปแจกใช่ไหมครับ มันคือการแจกมากกว่าที่จะเป็นผลงาน ผลงานก็มีความสำคัญมาก ยิ่งผลงานใหญ่ๆ ก็ได้รับเสียงมาก นโยบายที่เสนอก็มีส่วน แต่คุณประยุทธ์มีหลายอย่างที่เป็นจุดอ่อน เข้ามาแรกๆ ก็ทำอย่างหนึ่ง พักหลังๆ ก็ทำอีกอย่าง มันขัดแย้งกันเอง เช่น นโยบายแรกๆ คือการทวงคืนผืนป่า ไล่ตัดต้นยางชาวบ้าน พอช่วงหลังกลับจะแจกพื้นที่ป่าอุทยานเสียอย่างนั้น แต่คุณจะดึงเอาชาวบ้านกลับคืนได้มั้ย ชาวบ้านที่โดนคุณขับไล่ออกจากพื้นที่ คุณเอาเขากลับคืนมาไม่ได้นะครับ
ผมลงพื้นที่ก็พบว่าชาวบ้านสาปแช่งเลยครับ
เพราะการทวงคืนผืนป่าคือการข่มขู่คุกคาม กดดันเขามาก ชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง หรือแม้กระทั่ง 30 บาทรักษาทุกโรคที่คุณประยุทธ์เคยบอกจะยกเลิก ด้วยเหตุผลว่าไม่มีเงินอะไรนั่นนะ แต่พอเอาเข้าจริงๆ คุณกลับแจกฉิบหายเลยนะ ไม่มีตังค์คือเอามาแจกดีแท้ ก็เป็นอะไรที่ขัดแย้งอยู่ในตัวเอง
สิ่งที่เขาทำมันเป็นเรื่องง่ายที่ชาวบ้านจะมองว่านี่คือการหาเสียง ชาวบ้านก็รู้กันทั่วไป ปัญหาคือคุณจะรับไหม เขามาหาเสียงแบบนี้ แน่นอนว่ามีคนที่รับและบอกว่าจะเลือก โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ทำมาหากินหรือคนแก่คนชรา คนกลุ่มนี้ไม่ได้ขายผลผลิตทางการเกษตร ไม่ได้ขายสินค้า คนกลุ่มนี้จะเลือกครับ เพราะได้เงินเพิ่ม แต่เท่าที่ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คน พวกที่ยังอยู่ในช่วงวัยทำมาหากินจะมองว่าไม่คุ้มกันหรอก เอาเงินมาให้แค่นี้ ยางก็ราคาตก ขายของก็ฝืด พวกแม่ค้าก็จะวิจารณ์ว่ารัฐบาลค้าขายไม่เป็น เมื่อค้าขายไม่เป็นแล้วมาบริหารประเทศ เขาก็ค้าขายไม่ได้ มันไม่คุ้มกันกับสิ่งที่แจกมา
มีหัวคะแนนคนหนึ่งเป็นหัวคะแนนของหลายพรรครวมถึงพรรคพลังประชารัฐด้วย แกบอกว่า ที่แจกๆ มานี่ คนที่รับเพื่อจะเลือกพลังประชารัฐน่าจะมีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แกประเมินแบบนั้นนะ ส่วนใหญ่คงไม่ได้เสียงหรอก แต่เขาอาศัยพวกกำนันผู้ใหญ่บ้าน และพวกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คุมอยู่ ให้จัดประชุมระดมชาวบ้านมาคุย บางพื้นที่ทำเข้มข้น คุยกันอยู่เรื่อย แต่ถ้าดูภาพรวม เขาได้เสียงไม่เยอะหรอก พูดง่ายๆ ว่าชาวบ้านไม่ได้ชอบตั้งแต่ต้น
กรณีคนที่เคยเป็น สส. ช่วง 2-3 สมัยก่อน แล้วโดนดูดไป เขาจะตามไปเลือก สส. คนเดิมไหม หรือจะเลือกที่ตัวพรรคมากกว่า
ต้องเป็นคนที่เจ๋งจริงๆ ถึงจะได้ ถ้าไม่เจ๋งจริงไม่ได้หรอก ส่วนใหญ่ผมว่าไม่ได้ แล้วการเลือกตั้งครั้งนี้คือเลือกแค่คนเดียว เลือกได้แค่คนเดียวมิหนำซ้ำก็ไม่มีอะไรจะมาขายชาวบ้านได้ด้วย มันน่าแปลกใจนะที่พลังประชารัฐเปิดตัวในอีสานใหญ่โตมากเลย แต่เมื่อดูในเขตแต่ละเขตผมเห็นหลายจังหวัดไม่อยู่ในข่ายเลย ถ้าถามชาวบ้านว่าใครที่อยู่ในข่ายที่จะได้บ้าง น้อยมากที่จะบอกว่าพลังประชารัฐ…น้อยมาก ถ้าฐานเสียงแน่นจริงก็พรรคเพื่อไทย ยังแน่นเหมือนเดิม แต่ที่มาแบบไม่คาดคิดก็อนาคตใหม่ มาแบบคนคาดไม่ถึง แต่อนาคตใหม่เข้าได้ไม่ทั่วถึง ถ้าเขาเข้าได้ทั่วถึงเขาจะได้คะแนนเสียงค่อนข้างเยอะ
ถ้าดูจากนโยบายหรือจุดยืนในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแล้วปรากฏได้รับการตอบรับจากคนอีสาน อาจารย์มองนโยบายแบบนี้สะท้อนความคิดคนอีสานอย่างไร
นโยบายคือจุดสะท้อนที่สำคัญเลย ถ้าดูจากนโยบายแบบนี้แล้วชาวบ้านตอบรับ นี่คือจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ เรายังไม่รู้ว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร แต่เริ่มมีให้เห็น เริ่มเกิดขึ้นมา มันไม่เสียเปล่านะพรรคที่เสนอนโยบายแบบนี้ ถ้าเป็นสมัยก่อนคุณเดินไปหาไม่เจอหรอกว่าใครจะมาปิ๊งไอเดียแบบนี้ของคุณ แต่ทุกวันนี้มีคนที่รอจะปิ๊งไอเดียคุณอยู่แล้ว แสดงว่าแค่เขารับรู้ผ่านสื่อเขาก็ยอมรับไอเดียนี้ ฉะนั้นผมมองว่านี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ พื้นที่จะเปิดกว้างในอนาคต มีผลต่อประชาธิปไตยบ้านเราอย่างมาก
ภาคอีสานก็ยังเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีภาพลักษณ์เป็นภูมิภาคที่ไม่ได้รับโอกาส ทำไมนโยบายแบบเรียนฟรีกี่ปี คลอดบุตรให้กี่บาท คนชราได้กี่บาท จึงไม่เข้าเป้าเท่านโยบายเชิงโครงสร้าง
ไอ้นั่นมันเฝือ คุณคิดดูสิว่าทุกพรรคแม่งพูดแบบนี้หมด…มันเฝือ ทุกพรรคมาถึงก็อ้าปากพูด ชาวบอก “กูรู้แล้ว” มันเป็นเหมือนของเก่านะ นี่คือคำอธิบายหนึ่งว่า ทำไมเพื่อไทยจึงมีฐานเสียงที่แน่น เพราะทุกพรรคก็ยอมรับความคิดของเพื่อไทยหมด พรรคที่ด่าประชานิยมก็กลับมาทำเหมือนเพื่อไทยนั่นแหละ เพียงแต่คุณจะเติมอะไรเข้าไป นี่เป็นคำอธิบายหนึ่งว่าทำไมเขายังนิยมเพื่อไทย พรรคเหล่านั้นยอมรับแล้วว่าต้องเสนอนโยบายแบบนี้ แม้กระทั่งพรรคประยุทธ์ก็ยังต้องพูดแบบนี้ใช่ไหม ยังเสนอว่าเดี๋ยวจะประกันราคาข้าวหรือจำนำข้าว 10,000-15,000 ก็เพิ่งจับยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ไปแล้วทำไมมาลอกนโยบายเขา มันเป็นอะไรที่… ผมคิดว่ามันเป็นทิศทางที่มันเป็นที่นิยมของประชาชน ทุกพรรคเลยหันมาเอาแบบนี้ ชอบแบบนี้ใช่ไหม ทำแบบนี้ได้เสียงใช่ไหม งั้นก็เอาแบบนี้เลย
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนอีสานถูกคุกคามหนักผ่านกฎหมายการพัฒนาที่เอื้ออุตสาหกรรม ทั้งดำเนินคดีกับคนที่ออกมาปกป้องทรัพยากรในชุมชนตนเอง ขณะที่ฝ่ายการเมืองนิ่งเฉย ประสบการณ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านเกิดความโดดเดี่ยวบ้างไหมครับ
ชาวบ้านประเภทแอคทีฟทางการเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะรู้สึกกดดันมาก เพราะรัฐประหารเสร็จก็โดนเล่นงาน แต่เขาไม่มีทางจะไป ไม่รู้จะทำยังไง ผลสุดท้ายเขาก็อยู่อย่างอึดอัด
สำหรับชาวบ้านประเภทที่แอคทีฟน้อยกว่ากลุ่มแรก เขาก็รอ เพราะความเข้าใจของเขาคือทหารอยู่ไม่นานเดี๋ยวก็มีเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาก็เป็นแบบนั้นมาตลอด รัฐประหารเสร็จ 1 ปีก็มีเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้มันนานเนาะ ไม่เหมือนทุกครั้ง แต่ด้วยการตั้งต้นของเขาคือการรอ เดี๋ยวมันก็ไป เดี๋ยวก็ได้เลือกตั้ง ฉะนั้นความหวังเขาคือรอเลือกตั้ง เขารู้สึกว่ายังรอได้ เพราะคิดว่าสุดท้ายต้องเลือกตั้ง แต่คนที่อัดอั้นตันใจก็จะรู้สึกอึดอัด
นักการเมืองให้เหตุผลว่า ทำอะไรไม่ได้ ถูกคุกคาม ซึ่งก็เป็นรูปธรรมที่เห็นอยู่ เพราะระดับแกนนำทั้งหลายก็โดนเล่นทั้งนั้น โดนคดี โดนเรียกเข้าค่าย จริงๆ แล้วชาวบ้านที่ไปเคลื่อนไหวกับ นปช. ก็เป็นส่วนน้อยในบรรดาคนเสื้อแดงนะ หมายความว่าชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้ไปชุมนุมร่วมกับ นปช. แต่เขาเรียกตัวเองว่าเป็นคนเสื้อแดง สนับสนุนเสื้อแดง คนพวกนี้เป็นกลุ่มที่เยอะที่สุด มีจำนวนหลายล้าน คนที่เลือกเพื่อไทยส่วนใหญ่ก็คือคนที่บอกตัวเองว่า ฉันเป็นคนเสื้อแดง ซึ่งมีจำนวนหลายล้านคนเหมือนกัน
นักการเมืองที่ต่อสู้กับชาวบ้านมีน้อยมาก อย่างพรรคเพื่อไทย สส. ในพื้นที่ที่ร่วมกับเสื้อแดงก็มีน้อยมาก เขาไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กัน คนเสื้อแดงเลือกคนพวกนี้เวลาเลือกตั้ง แต่เวลาเคลื่อนไหวคนเหล่านี้ไม่ค่อยมายุ่งเกี่ยวกับชาวบ้านเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นหลังรัฐประหารเป็นต้นมาพวกเขาก็ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กันเท่าไหร่หรอก แต่ที่สัมพันธ์มากคือสัมพันธ์ผ่านแกนนำ นปช. มันจึงโยงไปหาพรรคเพื่อไทย เขาสนับสนุนเพราะชอบพรรคนี้ แต่ความสัมพันธ์กับ สส. ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะ สส. บางคนเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับเสื้อแดง
นอกจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่โดนคุกคาม มีภาคประชาสังคมเป็นตัวละครใหม่ๆ ที่ออกมาสู้ข้างประชาชน ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าตัวละครใหม่ได้ไหมนะครับ แต่ก็เป็นกลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กลุ่มทนาย กลุ่มดาวดิน อาจารย์มองภาคประชาสังคมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอย่างไร แตกต่างไปจากภาคประชาสังคมที่อาจารย์เคยเสนอไว้ไหม
ในส่วนของภาคประชาสังคมก็มีกลุ่มใหม่เกิดขึ้นมาเนาะ กลุ่มนักศึกษาถือเป็นกลุ่มเกิดใหม่ กลุ่มดาวดินเมื่อก่อนอยู่กับ NGO ที่ต่อต้านทักษิณ แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร เขาก็เปลี่ยนเพราะความผูกพันกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านถูกทหารคุกคาม เขารู้สึกถึงภัยของมัน ก็หันมาสนับสนุนประชาธิปไตย รวมถึงกลุ่ม NGO ที่สนับสนุน กปปส. หรือพันธมิตรฯ เนื่องจากผูกพันกับชาวบ้านเหมือนกัน เขาเห็นชาวบ้านถูกรังแก ทนไม่ไหว เขารู้สึกมันหนักข้อยิ่งกว่าสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาตรการหลายอย่างเป็นภัยคุกคามอย่างรุนแรง ฝ่ายนี้ก็หันมาอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตย
แต่ถามว่าภาคประชาสังคมกลับมาเยอะแค่ไหน ให้ดูพรรคสามัญชนก็จะได้คำตอบ ปรากฏว่าพรรคสามัญชนในภาคอีสานเกือบจะไม่มี NGO สนับสนุนพรรคเลย กปปส. อีสานไม่มีคนออกมาสนับสนุนพรรคสามัญชนเลย ปล่อยให้พรรคสามัญชนโดดเดี่ยว
NGO ชื่อดังในกรุงเทพฯ ก็ไม่มีใครช่วยพรรคสามัญชนเลย ภาคใต้รู้สึกว่าจะมีอยู่ประมาณ 10 คน ที่ช่วยสนับสนุนพรรคสามัญชน พรรคสามัญชนก็กลายเป็นพรรคการเมืองของภาคประชาสังคมที่โดดเดี่ยวมาก นี่คือคำตอบได้ว่า ภาคประชาสังคมเปลี่ยนแค่ไหน
คุณเลิศศักดิ์ (คําคงศักดิ์ – หัวหน้าพรรคสามัญชน) บอกว่า คนส่วนใหญ่ที่ทำงานในพื้นที่ ได้เห็นความทุกข์ยากของชาวบ้าน ทำงานประเด็นร้อนก็จะต่อต้านรัฐประหาร แต่พวกที่เหลือยังกลัวการเลือกตั้งอยู่ การที่เขาวิจารณ์ประยุทธ์ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เอารัฐประหารนะ เขาวิจารณ์ตัวคน แต่ไม่เคยวิจารณ์ว่าเผด็จการไม่ดี หรือไม่เคยบอกว่าต้องการประชาธิปไตย ถ้านโยบายของประยุทธ์ส่งผลกระทบกับประเด็นที่เขาเคลื่อนไหว…เขาก็จะด่า แต่ถ้าประยุทธ์ช่วย…เขาก็โอเค เขาไม่ได้มีปัญหากับเผด็จการ เอาแค่ว่าถ้าเอ็งแก้ปัญหาให้ข้า…ข้าก็เอา ถ้าเอ็งไม่แก้ปัญหาให้ข้า…ข้าก็ไม่เอา
เราสามารถพูดแบบนี้ได้ไหมครับ ว่าลักษณะของภาคประชาสังคมกับชาวบ้านก็ยังเป็นเหมือนลักษณะที่อาจารย์เคยเสนอ คือภาคประชาสังคมต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ชาวบ้านสนับสนุน
พูดได้ ชาวบ้านแบ่งง่ายๆ เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเดือดร้อนจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ชาวบ้านส่วนนี้อยู่กับ NGO มาก่อน ซึ่งเมื่อก่อนไม่เอาประชาธิปไตย แต่ตอนนี้เปลี่ยนแล้ว อีกส่วนคือชาวบ้านที่ไม่เอารัฐประหารมาตั้งแต่ต้น นี่คือลักษณะของชาวบ้าน 2 ส่วน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้โอเคกับประชาธิปไตย
อีสานไม่ได้มีแค่ลาว เขมร หรือคนในชนบท แต่ยังมีคนจีน มีคนในเมือง ถ้าเราเขยิบไปมองคนอีกกลุ่มหนึ่ง เขาสามารถส่งผลทางการเมืองในภูมิภาคอีสานได้ไหม
เรามองเป็นชนชั้นก็ได้ครับ พวกไม่เอาประชาธิปไตยก็มักจะมีฐานะดี เป็นข้าราชการ เป็นนักธุรกิจ ก็จะเป็นกลุ่มที่สนับสนุนประยุทธ์ แต่เขาเป็นคนส่วนน้อยมาก เขาไม่สามารถส่งผลสะเทือนทางการเมืองได้ แต่คนที่เป็นนักธุรกิจส่วนหนึ่งก็รับความคิดของพรรคอนาคตใหม่ คือไม่เอาทักษิณ แต่เห็นอนาคตใหม่โอเค ก็รับนโยบายของอนาคตใหม่ก็มี
5 ปีที่ผ่านมา ผู้เคยสนับสนุน กปปส. ก็กลับใจไม่น้อยนะครับ แต่ฟังจากอาจารย์พูดแล้ว ชนชั้นกลางในอีสานทำไมยังปักหลักที่เดิม
ไม่เดือดร้อน เขามองว่าเศรษฐกิจแบบนี้เขาไม่เดือดร้อนไง มันเดือดร้อนตรงไหนล่ะ กลุ่มคนที่กินเงินเดือนคืออีกกลุ่มที่ไม่ค่อยเปลี่ยน…เพราะอะไร เพราะเงินเดือนก็รับเหมือนเดิม วิศวกรคนหนึ่งเคยบอกว่า “ใครบอกเศรษฐกิจไม่ดี ผมก็เห็นว่ามันดีอยู่” ถ้าคนจะเปลี่ยนมันต้องมีอะไรไปกระทบเขา แต่ประเภทที่อยู่แบบนี้ เศรษฐกิจแค่นี้ไม่สะเทือนเขาเลย ถ้าคุณเป็นผู้ส่งออกคุณอาจจะรู้สึกบ้าง เพราะการส่งออกกระทบค่อนข้างมาก คนกินเงินเดือนก็เปลี่ยนยาก เพราะเขาไม่รู้สึกกระทบ เขาไม่เข้าใจว่าทำไมพวกคุณต้องบอกว่าเดือดร้อน มองไม่ออกและไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่เดือดร้อน คนกินเงินเดือนส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการ ในมหาสารคามส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่รู้สึกสบายๆ แล้วบอกไม่วุ่นวายดี
ผลประชามติปี 2559 สามารถนำมาวิเคราะห์เลือกตั้ง 2562 ได้ไหม เพราะอีสานเป็นภูมิภาคเดียวที่สัดส่วนของ No มากกว่า Yes
ผมยังคิดว่าจะไปในทิศทางเดิม อีสานจะไปในทิศทางเดิมมากกว่าจะเปลี่ยนทาง ทั้งที่ประชามติมัน… พูดก็พูดเถอะ ชาวบ้านก็โหวตกันเอง เพื่อไทยไม่แข็งขันเลย มีแต่หลบอย่างเดียว นปช. ก็หลบอย่างเดียว เขาไม่รณรงค์ ไม่กระตุ้น แต่เสียงก็ยังออกมาแบบนี้ เป็นฝีมือของชาวบ้านล้วนๆ เป็นความคิดของชาวบ้านล้วนๆ แล้วการรณรงค์คราวนั้นก็จำกัดมาก แต่เลือกตั้งครั้งนี้เปิดกว้างกว่า ประชามติปี 2559 นี่…โอ้โห ตอนนั้นจะรณรงค์ให้โหวต No ก็ผิดกฎหมาย ต่างจากตอนนี้เยอะ
แต่ตอนนี้เราก็เจอกับกติกาและรวมถึงรัฐธรรมนูญที่ไม่แฟร์?
กติกานี่แหละเป็นตัวปัญหา กติกาไม่แฟร์มากๆ
ถ้ากติกาเป็นแบบนี้ อาจารย์มองว่าการเมืองจะไปอย่างไรต่อในรัฐสภา อาจารย์เคยพูดด้วยซ้ำว่า เข้าสภาแล้วก็ใช่ว่าบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตย
ใช่ เข้าไปแล้วไม่ใช่ว่ามันจะจบด้วย มันจะยุ่งด้วยซ้ำ เพราะกติกาแบบนี้ทำให้ยุ่ง กติกาแบบนี้ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ เขาลืมคิดว่าถ้าตัวเองได้เข้าไปตัวเองก็จะอ่อนแอด้วย
เขาคงคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้เพื่อไทยอ่อนแอ ฉะนั้นใครเข้าไปเป็นรัฐบาลก็ยุ่งหมด ยุ่งคนละแบบ ก็ขึ้นอยู่กับผลคะแนนจะออกมาอย่างไร ผมเชื่อว่าคุณประยุทธ์สามารถดึงมาจากหลายพรรคการเมือง พรรครอเสียบมันเยอะ (หัวเราะ) เมื่อไปบวกกับ สว. เขาก็อาจจะตั้งรัฐบาลได้ แต่ตัวแปรใหญ่คือประชาธิปัตย์ ขึ้นอยู่ที่คุณประยุทธ์จะเอาอะไรมาแลกใช่ไหม กระทรวงไหนที่คุณจะแลกได้
ปัญหาสำคัญของคุณประยุทธ์เลยคือพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคดูด พรรคดูดมันหลายก๊กหลายแก๊ง แต่ละแก๊งก็เขี้ยวลากดิน จะปันผลประโยชน์ให้ลงตัวอย่างไร แต่ผมเชื่อว่าเขาน่าจะเริ่มปันกันแล้ว แต่แค่ภายในพรรค ยังไม่ได้คิดว่าถ้าเอาพรรคอื่นมาจะทำยังไง รัฐบาลแบบนี้ก็มีแนวโน้มจะไปได้ง่ายๆ เอาแค่จัดการผลประโยชน์ภายในพรรคร่วม ผมว่าก็ปวดหัวตายแล้ว
แต่ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลได้ขึ้นมา…โอ้โห ดูกติกา คุณธรรมถึงเกณฑ์ไหมล่ะพวกนี้ อันนี้ก็เสร็จแล้ว ถ้าเขาจะเล่นใช่ไหม มันเป็นอะไรที่ไม่มีความมั่นคงทั้งสองฝ่ายเลย ไม่ว่าคุณจะได้เสียงอย่างไรก็ตาม ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงเยอะคุณก็ถูกล็อกอยู่ในนั้น ก้าวต่อไปของเราก็คือเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วต้องมุ่งผลักดันให้คนเห็นว่ากติกาแบบนี้ไปไม่ได้ ไม่ว่าคุณประยุทธ์หรือฝ่ายประชาธิปไตยเป็นรัฐบาล มันไปไม่ได้ เพราะกติกามันทำให้เกิดปัญหา
แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะแก้กติกายังไง
ถ้ามันอยู่แบบนี้แก้ไม่ได้นะ ในสภาวะปกติไม่มีทางแก้ได้ เขาล็อกไว้หมดแล้ว เพราะต้องเอา สว. มาแก้ด้วย มันต้องเกิดฉันทามติ แต่ฉันทามติจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีวิกฤติ ต้องเกิดวิกฤติทางการเมือง คนจึงจะเห็นพ้องต้องกันว่ามันต้องหาทางออก ต้องยอมแก้กติกาเพื่อเป็นทางออก ถ้าอยู่แบบนี้ยังไง้ยังไงก็แก้ไม่ได้ครับ ไม่มีทางแก้ได้เลย ไม่มีทาง
อาจารย์บอกว่า ในชีวิตการสอน 30 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นนักศึกษาตื่นตัวทางการเมืองแบบนี้ อาจารย์เห็นอะไรในพวกเขา
เด็กที่ผมสอนโดยมากไม่สนใจเรื่องการเมือง เราสอนเขาก็ไม่ถาม ฟังไปแบบนั้นแหละ แต่คราวนี้ผมล่ะแปลกใจ จะมีคนยกมือถาม ถามเรื่องทั้งหลายที่เป็นปรากฏการณ์ ที่ปรากฏเป็นข่าว ถามเรื่องเลือกตั้ง เราจะรู้สึกเลยว่าแปลก เขาจะสนใจมากถ้าพูดเรื่องคลิปหรือเรื่องอะไรต่างๆ ที่เป็นประเด็นเด่น เขามักจะรู้กันแล้ว เขาได้ดูมาก่อนแล้ว พอเราพูดเข้าประเด็นเขาจะรู้แล้ว เขาจะมาบอกเราว่า แปลกจังใครๆ ก็พูดแต่เรื่องเลือกตั้ง อยากไปเลือกตั้ง แล้วจะไม่เอาลุงตู่ ตอนนี้ทุกคนพูดแต่เรื่องการเมือง มันเป็นกระแสนะ สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาสนใจการเมืองคือ เขากลัวประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ ทำยังไงเขาจะไม่กลับมาเป็น (หัวเราะ)
อย่าลืมว่าเด็กเซนซิทีฟกับการที่ประยุทธ์ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยวาจาที่ไม่เหมาะสม เขาดูแล้วรู้สึกไม่ใช่เลยนะ ไม่เหมือนพวกแก่ๆ ทั้งหลายที่ดูแล้วรู้สึกเฉยๆ แต่เด็กเขาไม่ชอบนะ ผมยังไม่เคยเห็นนักศึกษาชอบประยุทธ์เลย เขาบอก ไม่ใช่เลย นายกฯ จะมาพูดแบบนี้ ภาษาแบบนี้ กิริยามารยาทแบบนี้ แล้วก็สติปัญญาแบบนี้ มันเป็นอะไรที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ
วัยรุ่นเล่นทวิตเตอร์เยอะมาก คนใช้ทวิตเตอร์ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ในทวิตเตอร์ก็จะมีแฮชแท็กที่ขึ้นเทรนด์ (หัวเราะ) มันมีส่วนอย่างมากเลยนะ เดี๋ยวก็มาอีกแล้ว ลุงมาอีกแล้ว เขาก็ต้องดู
นักศึกษาที่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยมหาสารคามก็มาจากทั้งชนบทและเมือง พวกเขามีความต่างกันไหม
ถ้าพูดถึงนักศึกษาที่มาเรียนในมหาวิทยาลัย ใครอยู่ชนบทใครอยู่เมืองเราแยกไม่ออกนะ วิถีชีวิตเขาคล้ายกัน เวลามาอยู่ในมหาวิทยาลัยเขาใช้ชีวิตคล้ายกัน แม้แต่หน้าตายังแยกไม่ออกนะ สมัยก่อนแยกได้เลยว่า นี่เด็กบ้านนอกว่ะ นี่เด็กในเมือง แต่ตอนนี้บางทีไอ้นี่เด็กบ้านนอกแน่ๆ แต่พอถามมันอยู่ในเมือง ไอ้นี่เด็กในเมืองแต่กลับอยู่บ้านนอก ฉะนั้นวิถีชีวิตเขาเปลี่ยนมาก ถ้าเป็นเด็กนี่แยกจากกันไม่ได้
ถ้าถามว่าคนรุ่นนี้ต่างจากคนรุ่นก่อนไหม ชาวบ้านที่สนใจประชาธิปไตยจะอินมาก ทุกเรื่องทุกส่วนของชีวิตไปผูกไปโยงกับการเมือง เหมือนกันกับพวกเกลียดประชาธิปไตย การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่พวกเด็กเขาจะมีหลายอย่างในตัวเขา มีเล่นๆ มีไม่จริงจัง แต่ตอนนี้มีการเมืองเข้ามา เวลาเราเดินเข้าไปสอนเขา เขาจะพูดการเมืองขึ้นมาแล้ว ซึ่งแต่ก่อนไม่มีแบบนี้ ผมไปที่อื่นก็พบลักษณะคล้ายกันนะ ผมไปสกลนคร ไปอุบลฯ ไปอุดรฯ อาจารย์ที่นั่นจะพูดว่าเด็กมีลักษณะแบบนี้
ฉะนั้นถ้าพูดถึงวัยหนุ่มสาวเหล่านี้ เขาไม่จริงจังเรื่องการเมืองเหมือนผู้ใหญ่ เพราะยังมีเรื่องบันเทิงซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของชีวิต มีเรื่องนู้นเรื่องนี้ แต่มาตอนนี้เขารู้สึกว่าต้องไปเลือกตั้ง ถึงเขาไม่อยู่ฝ่ายไหนแต่ขอให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้จริงจังกับสีนู้นสีนี้ รู้แต่ว่าที่ถูกต้องต้องเป็นประชาธิปไตย และรู้สึกว่าจะไม่เอาคุณประยุทธ์นี่แหละเยอะ (หัวเราะ)