“รัฐธรรมนูญใหม่นี้ ไม่เร็วหรอก อย่างน้อยก็ 1 ปี หรือ 2 ปีขึ้นไป”
บางวรรคตอนจากบทสนทนายาวๆ ระหว่าง WAY กับ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้มีส่วนในการผลักดันนโยบายอันเรียกกันอย่างง่ายงามว่า ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ หรือ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ประสบความสำเร็จจนถึงขีดสุด
ที่ผ่านมา นพ.สุรพงษ์ หรือ ‘หมอเลี้ยบ’ มีบทบาทบริหารราชการแผ่นดินในหลายกระทรวง อาทิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปจนกระทั่งโฆษกรัฐบาล ก่อนที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลไทยรักไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
14 ปีผ่านไป มาวันนี้… วันที่เขาผ่าน ‘แดนตะราง’ มาไม่นาน หมอเลี้ยบยังคงความสดใหม่ในการวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมือง กระตุกเตือนสังคมไทยอยู่เนืองๆ ผ่านกลุ่ม ‘CARE’ ที่ระดมเอาหัวกะทิในด้านต่างๆ มาสร้างแพลตฟอร์มเพื่อชี้แนะวาระทางสังคม
ถึงกระนั้น อีกด้านหนึ่งในฐานะอดีตขุนคลังคนสำคัญของรัฐบาลพรรคพลังประชาชนก่อนถูกตุลาการภิวัฒน์สั่งยุบอย่างไม่ care! ต่อคะแนนเสียงที่ประชาชนเทให้อย่างล้นหลามเมื่อปี 2551 เราก็เลี่ยงไม่ได้จะต้องตั้งคำถามลึกๆ ยาวๆ ว่าด้วยปัญหาเศรษฐกิจในยุคสมัยปัจจุบันจากเขา
บทสัมภาษณ์ถัดจากนี้จึงทำหน้าที่สองอย่างเป็นหลัก คือ ชวนมองสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้า และถอดรื้อบทเรียนการทำนโยบายสาธารณะหลายประเด็นในอดีตที่เคยถูกปรามาสว่าเป็นเรื่อง ‘เพ้อฝัน’ จนภายหลังทำให้ผู้คนสงสัยว่า ‘เป็นจริง’ ได้อย่างไร
ในวันที่เกิดวิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่ว่าอะไรเป็น ‘เหตุ’ อะไรเป็น ‘ผล’ ของกันและกันก็ตาม แต่คนหนุ่มสาวและเยาวชนรุ่นใหม่ไม่อาจอดรนทนต่อไปได้ จนต้องพากันออกมา ‘ไล่ลุง’ ด้วยการปักหลักชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน 2563 ซึ่งในทัศนะของหมอเลี้ยบได้จี้ลงไปทีละจุดของอาการทางเศรษฐกิจ ด้วยสมมุติฐานที่ว่า
“ปัญหาการเมืองวันนี้ เป็นปัญหาที่ไม่ใช่เป็นปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ถูกสมทบในเรื่องปัญหาเชิงเศรษฐกิจด้วย
“ประเด็นเรื่องยุบสภา ผมคิดว่าถ้าหากยังมีการชุมนุมต่อไป แล้วเศรษฐกิจมีปัญหาหนักมากแบบนี้ นี่อาจจะเป็นข้อเรียกร้องหลักที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ขณะเดียวกัน จะมีการประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 กันยายน เรื่องการตั้ง ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ผมคิดว่าน่าจะเดินไปสู่วาระหนึ่ง โดยที่ไม่น่าจะมีปัญหา”
ก่อนจะเอ่ยประโยคถัดไปว่า “ยกเว้นกรณีที่มีอุบัติเหตุทางการเมือง”
เริ่มด้วยประเด็นที่น่ากังวล นอกจากเรื่องการเมือง คือ การลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐบาลยังไม่สามารถหาคนที่มีความสามารถพอที่จะมาคุมหางเสือเศรษฐกิจไทยได้ คุณหมอมองเรื่องนี้อย่างไร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นตำแหน่งสำคัญของรัฐบาล ถ้าเปรียบเป็นบริษัทก็เหมือนกับ CFO (Chief Finance Officer) มีบทบาทสำคัญในการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการเงิน ในระดับประเทศก็คือ ด้านการเงิน การคลัง ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ฯ รวมถึงสำนักงบประมาณ
ในภาวะปกติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีบทบาทสำคัญหลายอย่าง ทั้งจะต้องเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณ ซึ่งในแต่ละปีจะต้องมีการทำงานกันอย่างหนัก เพื่อวางแผนงบประมาณในปีถัดๆ ไป
แต่ในตอนนี้ ถือว่าเป็น ‘ภาวะที่ไม่ปกติ’ มีความเสี่ยงในเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก ความเสี่ยงนี้ปรากฏขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว พอมาเผชิญสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้ความเสี่ยงนี้รุนแรงมากขึ้น เพราะฉะนั้นการจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่น่าจะพอ
อุปมาอุปไมยก็เหมือนบริษัท มีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีกรรมการผู้จัดการคนเดียวคงทำงานทุกอย่างไม่ได้ ต้องมีคนที่รับผิดชอบทางด้านการเงิน ด้านการตลาด ด้านการขาย
การมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความสามารถ ในภาวะที่เศรษฐกิจผิดปกติและตกต่ำขนาดนี้ อาจจะต้องการยุทธศาสตร์และนโยบายที่มีความแปลกใหม่ เป็นนวัตกรรม หรือแม้กระทั่งคิดนอกกรอบด้วยซ้ำไป ถึงจะสามารถที่จะฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจได้
ถ้าหากมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบ่อยๆ อาจจะเป็นปัญหาพอสมควร
ตอนนี้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มใช้การไม่ได้แล้ว ไม่นานมานี้สำนักงานประกันสังคมประกาศว่ามีคนว่างงานกว่า 400,000 คน การส่งออกในไตรมาส 3 ก็ต่ำกว่า 64 เปอร์เซ็นต์ ถ้าบวกกับที่คุณหมอบอกว่าสัญญาณถดถอยมีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว สัญญาณนั้นคืออะไรบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนของภาคเอกชน เรื่องการบริโภคของประชาชน สัญญาณเครื่องยนต์ 2 ตัวนี้ เริ่มแผ่วไปมาก เราจะสังเกตเห็นว่าไม่มีการลงทุนของภาคเอกชนมาสักพักหนึ่งแล้ว เพราะปริมาณการผลิตต่างๆ ที่อาศัยกำลังการผลิตก็ยังไม่เต็มอัตราชนิดที่ว่าจะต้องมีการลงทุนใหม่ บวกกับภาวะการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ รวมถึงปัญหาการส่งออก หรือแม้แต่การท่องเที่ยว
อีกเรื่องที่มีปัญหาคือ ‘ค่าเงินบาท’ ต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก แต่ที่ผ่านมาค่าเงินบาทของเราแข็งค่ามากกว่าคู่แข่งที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนด้วยซ้ำ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในเรื่องการส่งออกของเราลดลง
ผมได้สังเกตปัญหาค่าเงินบาทมาก่อนหน้านี้ และได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจหลายๆ คน มองว่านี่เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข แต่ไม่เห็นสัญญาณใดๆ ที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาณจากธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกเหนือจากนั้นก็มีปัญหาเกี่ยวพันกับ COVID-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวสะดุดลง เราเคยพึ่งพาการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในระดับประมาณ 12-13 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป นี่หายไปเลย
เครื่องยนต์ตัวเดียวที่ยังพอเดินหน้าได้ก่อนหน้านี้ก็คือ การลงทุนของภาครัฐ ซึ่งพยายามใช้เครื่องยนต์ตัวนี้มาตลอดหลายปี มีการสร้างงบประมาณขาดดุล กู้เงินเพิ่มขึ้นมาปีหนึ่ง 400,000-500,000 ล้าน เพื่อจะลงทุนในส่วนนี้
แต่ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า การลงทุนของภาครัฐที่ผ่านมา เป็นการลงทุนที่อาจจะไม่มียุทธศาสตร์ที่ไปตอบสนองการสร้างความสามารถในการแข่งขันของ SMEs หรือลดความเหลื่อมล้ำได้เลย ทำให้เม็ดเงินที่เอาไปใช้ในการลงทุน ไม่ได้ผลอย่างเต็มที่
พอเจอ COVID-19 เรื่องงบประมาณที่จะไปลงทุนของภาครัฐ มันก็อาจจะมีเงินน้อยลง เพราะต้องเอาเงินมาช่วยเหลือเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ด้วย ถ้ามองดูแล้ว สถานการณ์ ณ วันนี้ เครื่องยนต์ทุกๆ ตัวซึ่งเดินติดๆ ขัดๆ มาตลอด บางตัวดับไปแล้ว บางตัวกำลังมีปัญหาว่าจะยังหมุนต่อไปได้หรือไม่
ส่วนเรื่องตัวเลขคนว่างงาน ที่บอกว่าประมาณ 400,000 คน ก็เป็นการประเมินตัวเลขในเชิงบวกมากเกินไป เพราะว่าตัวเลข 400,000 คนนี้ จริงๆ คือตัวเลขของคนที่จบใหม่ออกมาแล้วคงหางานทำยาก ยังไม่ได้ประเมินในส่วนของคนที่เป็นผู้ที่มีงานทำก่อนหน้านี้ พอหลังจากเจอปัญหาเรื่อง COVID-19 แล้ว SMEs ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ก็จะมีการเลย์ออฟพนักงาน ตรงนั้นก็จะมีจำนวนผู้ตกงานที่มากขึ้นกว่านี้ มีการคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้ที่ว่างงานจากต้นปีเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านคน
เปิดฉากมาเหมือนหนังชีวิตเลย แต่คุณหมอน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาเตือนเรื่องเงินที่เอามากระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าอีกราวๆ 1 เดือน จะสิ้นสุดมาตรการชะลอการชำระหนี้แล้ว ทิศทางจากนี้จะเป็นอย่างไร
มาตรการหนึ่งที่มีความพยายามช่วยคนที่เป็นลูกหนี้ ทั้งที่เป็นลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้เจ้าของกิจการ SMEs เพื่อไม่ให้มีภาระเรื่องการชำระดอกเบี้ยและชำระเงินต้น ถามว่าช่วยได้ไหม ก็อาจจะช่วยได้ เหมือนกับเป็นการชะลอเวลา
พอหลังจากมีมาตรการปิดเมืองในปลายเดือนมีนาคม หากไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรเลย เจ้าของกิจการที่เคยมีรายได้ต่อเนื่องทุกๆ วัน พออยู่ๆ ปิดเมือง ก็ไม่มีรายได้ แน่นอนความสามารถในการชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นก็จะหมดไป มีบางรายที่อาจจะมีเงินสดอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่เยอะ
เมื่อมีมาตรการที่เรียกว่าเป็น ‘Debt Holiday’ คือหยุดพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มันก็ช่วยได้ชั่วคราวคือ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน จนกระทั่งจะครบในเดือนกันยายนนี้ เป็นความพยายามที่จะชะลอไม่ให้ปัญหาลุกลาม
แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ถ้าหากทำโดยมียุทธศาสตร์ชัดเจน ก็จะต้องมีการเตรียมการด้วยว่า เมื่อครบการพักหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นแล้ว ระหว่างนั้นจะต้องมีการเตรียมการเพื่อให้ SMEs เหล่านั้นมีความแข็งแรง พอครบ 6 เดือนแล้ว เขาจะต้องสามารถประกอบกิจการใหม่ สร้างรายได้ใหม่ แล้วก็ทำให้มีความสามารถในการชำระหนี้ แต่เราก็พบว่าในตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีนโยบายอย่างนั้นเลย
SMEs จำนวนมากไม่ได้รับการดูแลให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ และผมคิดว่ามี SMEs จำนวนล้านกว่ารายที่พักชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นไปไม่ต่ำกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ยังไม่มีขีดความสามารถในการสร้างรายได้ เพราะฉะนั้นเมื่อครบ 6 เดือนแล้ว เขาจะชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ไหม ผมคิดว่าไม่ได้
ก่อนหน้านี้มีมาตรการที่บอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ถือว่าเป็น NPL (หนี้เสีย) แต่พอถึงเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ถ้าหากไม่ชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยก็จะกลายเป็น NPL เมื่อกลายเป็น NPL ก็เป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องมีการไล่เบี้ย เพื่อให้มีการจ่ายเงินมา แล้วในขณะเดียวกันธนาคารเองจะต้องมีการสำรองเพื่อที่จะประกันความเสี่ยงของหนี้ NPL ด้วย ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใต้พรมก็จะโผล่ขึ้นมาในเดือนตุลาคม
ถ้าจะเถียงแทนรัฐบาลว่า รัฐบาลก็ได้มีการตั้ง ศบศ. (คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ขึ้นมาช่วยแล้ว และจะขยายมาตรการเว้นวรรคการชำระหนี้ออกไปให้อีก สำหรับธุรกิจที่ยังไม่พร้อม วิธีนี้พอจะช่วยดูดซับความทุกข์ยากของ SMEs ได้บ้างไหม
เรื่องนี้มี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การเกิดขึ้นของ ศบศ. จะสามารถทำงานได้ดีจริง เหมือนกับโมเดล ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) หรือไม่ เพราะ ศบศ. อ้างอิงโมเดลจาก ศบค. ทีนี้เราต้องมาทบทวนว่า โมเดลของ ศบค. ประสบความสำเร็จเพราะอะไร ประเด็นที่สองคือ ศบศ. จะไปยืด Debt Holiday ทำให้การพักชำระดอกเบี้ยและเงินต้นยืดต่อไปได้ไหม
เอาประเด็นแรกก่อน ประเด็นแรก ความสามารถในการทำงานของ ศบศ. เป็นอย่างไร ถ้าเอาโมเดล ศบค. มาแล้วจะประสบความสำเร็จได้จริงหรือไม่ ก็ต้องกลับไปทบทวนว่า ศบค. สำเร็จจริงหรือเปล่า
ในความคิดเห็นของผม ศบค. ไม่ได้เป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เราสามารถควบคุม COVID-19 ได้ การที่ควบคุม COVID-19 ได้ดี ต้องยอมรับว่าเกิดจากปัจจัยของกระทรวงสาธารณสุขเอง กระทรวงสาธารณสุขมีพื้นฐานของนักระบาดวิทยาที่เขาทำงานกันเป็นเครือข่ายนับพันคน ต่อเนื่องกันมาประมาณ 40 ปีแล้ว มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประมาณ 1 ล้าน 4 หมื่นคน ซึ่งทำงานต่อเนื่องกันมา 40 ปี
เครือข่ายที่มีอยู่นี้เป็นความแตกต่างโดดเด่นของประเทศไทยที่ประเทศอื่นเลียนแบบได้ยาก อันนี้คืออาวุธลับที่ทำให้เราสามารถจะควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ สามารถจะติดตามคนที่รับเชื้อ คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง แล้วรีบเอามารับการรักษาพยาบาล หรือติดตามตรวจสอบโรคนี้ได้เร็วที่สุด
นอกจากนั้นเรายังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะว่าการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้คนที่เป็น COVID-19 หรือคนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็น COVID-19 หรือเปล่า สามารถที่จะเข้าถึงการตรวจได้รวดเร็วโดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ในหลายประเทศที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมการระบาดไม่ได้ ก็เพราะว่าถ้ามีค่าใช้จ่าย คนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเป็นหรือไม่ ก็ไม่กล้าที่จะมาตรวจ เพราะไม่แน่ใจว่าค่าใช้จ่ายตัวเองจะรับไหวไหม
ปัจจัยเหล่านี้นำมาสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่ปัจจัยเรื่องการมี ศบค. ในความเห็นของผม การมี ศบค. เป็นปัจจัยที่ทำให้การทำงานช้าลง ตัดสินใจได้ไม่ทันต่อสถานการณ์ด้วยซ้ำไป เพราะถ้าหากเราใช้กลไกของกระทรวงสาธารณสุข กลไกของคณะกรรมการควบคุมโรคแห่งชาติ จะสามารถตัดสินใจในหลายเรื่องได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอว่าจะเปิดเมืองทีก็ต้องมารอ ศบค. เปิด หรือแม้แต่การเปิดโรงเรียนให้นักเรียนมาเรียน ก็ควรจะทำได้เร็วกว่านี้ รวมทั้งกระบวนการที่ทำให้แต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นจะต้องมีมาตรการแบบเดียวกัน
เรามี 9 จังหวัดซึ่งไม่เคยมีผู้ป่วย COVID-19 เลย ทำไม 9 จังหวัดนั้นจะต้องมาใช้มาตรการแบบเดียวกันกับอีกประมาณ 60 กว่าจังหวัด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้คนที่อยู่นอกวงการระบาดวิทยา นอกวงการสาธารณสุขจะไม่เข้าใจ ทำให้เกิดการใช้มาตรการบางประเภทที่มากเกินไป จนทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง
ศบศ. จะไม่ต่างจาก ศบค.?
หากกลับมาดู ศบศ. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ ที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 ศบศ. จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอาจจะช้าลง เพราะว่าต้องผ่านกระบวนการพิจารณาหลายขั้นตอน มีระดับอนุกรรมการ กรรมการเล็ก กรรมการใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่จะประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องสาธารณสุขก็คือ เป็นเรื่องของนักระบาดวิทยา กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ถามว่าโครงสร้างแบบนี้ในเศรษฐกิจมีไหม คำตอบคือมี ซึ่งก็คือ SMEs
คำถามต่อมาคือ SMEs เราแข็งแรงไหม คำตอบคือไม่ (เน้นเสียง)
เมื่อ SMEs ไม่แข็งแรง การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจจะยากมาก เราไม่สามารถพึ่งพาบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นฟู เป็นไปไม่ได้เลย เราต้องการที่จะให้ SMEs แข็งแรง แล้วมาเป็นเครือข่ายที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นมา เมื่อ SMEs อ่อนแอมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ พอมาเจอกับ COVID-19 ด้วย ก็เลยยิ่งล้มหายตายจากกันไป
ทำไมเราหวังพึ่งพากิจการขนาดใหญ่ไม่ได้ เพราะเราก็มีกิจการขนาดใหญ่ไม่น้อย น่าจะช่วยได้ในวันที่กิจการขนาดย่อมอ่อนแอ
ผมคิดว่ากิจการขนาดใหญ่ โดยธรรมชาติต้องขยายตัว ถ้าได้รับโอกาสก็จะขยายตัวได้สองทาง อย่างแรก ขยายตัวไปยังระดับโลก แข่งขันกับตลาดขนาดใหญ่ อย่างที่สอง ขยายในประเทศ แต่ถ้าแบบนี้ ถามว่า SMEs แข่งกับกิจการขนาดใหญ่ได้ไหม แข่งไม่ได้ เมื่อ SMEs ไม่โต ก็ฝ่อลงไปเรื่อยๆ กิจการขนาดใหญ่จ้างงานได้เยอะไหม ก็เยอะ แต่ต่างกับ SMEs เพราะ SMEs ไม่ได้ใช้เงินทุนผลักดัน แต่ใช้แรงงานเป็นหลัก ยิ่งในโลกเทคโนโลยี กิจการขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะลดต้นทุนคือคน แล้วหันไปใช้หุ่นยนต์และ AI มากขึ้น ฉะนั้นในประเทศที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำมาก ก็เพราะว่าเขามี SMEs มากมาย
เราจึงต้องพยายามส่งเสริมให้ SMEs มีมากขึ้น เพราะถ้าถามว่าคนที่เป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ วันหนึ่งจะกินสักกี่ตังค์ ต่อให้รวยมากๆ จ่ายมื้ออาหารแพงมากๆ ก็กินได้แค่นี้ อิ่มแค่นี้แหละ แต่ถ้าคนตัวเล็กๆ หลายสิบล้านคน ถ้ามีกำลังซื้อมาก ก็กินกันเยอะมาก ฉะนั้น VAT ก็จะได้มากขึ้น
ในเชิงธุรกิจเรียกว่า ‘มีไข่หลายตะกร้า’ คือสมมุติกลุ่มนี้มีปัญหา กลุ่มอื่นก็ยังพอที่จะประคองเศรษฐกิจต่อไปได้ แต่มาวันนี้กิจการเล็กๆ ลำบากกันหมด กิจการขนาดใหญ่ควรจะได้รับการส่งเสริมให้ไปแข่งในตลาดโลก ส่งเสริมเลย ถ้าจะต้องมีกองทุนความมั่งคั่งไปสนับสนุนให้เขาไปแข่งในระดับโลก ส่งเสริมเข้าไปเลย แต่ในระดับประเทศ ควรจะส่งเสริมให้ SMEs มีโอกาสมากขึ้น
อย่างเร็วๆ นี้ มีหนังโฆษณาบางเรื่องที่เพิ่งออกมา แล้วก็บอกว่าเป็นชาวนาลำบากยากจน ก็ไม่เป็นไรหรอก ก็ขุดดินกันไป เดี๋ยวก็ปลูกผักปลูกหญ้า เดี๋ยวก็อยู่กันได้ คือมันสะท้อนความคิดของคนที่ทำโฆษณาว่า คุณไม่ได้มองปัญหาเชิงโครงสร้าง คุณไม่รู้เลยว่าวันนี้คนที่จน จนเพราะอะไร จนเพราะเขาขี้เกียจ ก็อาจจะจริงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่จนเพราะขาดโอกาส ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่
ฉะนั้น พอโครงสร้างพื้นฐานไม่ดี พอมี ศบศ. ซึ่งกระบวนการทำงานแบบ ศบศ. ไม่ได้ตอบโจทย์ เหมือนกับภาวะตอนนี้เราอยู่ในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล เราต้องการการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
แล้วเวลารัฐบาลอยู่ในภาวะที่เหมือนอยู่ในห้องฉุกเฉิน สิ่งแรกที่ควรทำคืออะไร
ถ้าหากเป็นในอดีต ถ้าเราเจอแบบนี้เราทำอย่างไร เราตั้งวอร์รูมครับ วอร์รูมชนิดที่ทำงานแบบ 24 ชั่วโมง 7 วันใน 1 สัปดาห์ ถ้ามีเรื่องอะไรต้องรีบตัดสินใจกันทันที การมี ศบศ. มานั่งประชุมกันสัปดาห์ละครั้ง หรือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ไม่พอ ควรจะต้องมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างเอาจริงเอาจัง ตรงไปตรงมา
อย่างกรณี ศบค. จะเห็นว่ามีการแถลงจำนวนผู้ป่วยใหม่แต่ละวันว่ามีเท่าไหร่ ถามว่าวันนี้เรามีการแถลงเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจรายวันไหม ไม่มี ตัวเลขปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ก็มีหลายตัวที่ไม่ยอมเปิดเผย เช่น ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จนป่านนี้ไตรมาสที่ 2 แล้ว ยังไม่บอกว่าเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงไตรมาสที่ 3 ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน
ไตรมาสที่ 2 ยังเป็นไตรมาสที่ยังมีเงินพยุงประชาชน 5,000 บาท ซึ่งใช้ไปประมาณ 20 กว่าล้านคน ถ้ามองดูตัวเม็ดเงินที่ให้ไปก็ประมาณ 300,000-400,000 ล้าน เปรียบเทียบเป็น GDP ของเราคือ 16 ล้านล้าน ถ้าเอาอย่างง่ายๆ ก็ประมาณ 4 ล้านล้าน ถ้า 300,000 กว่าล้าน ก็เท่ากับเกือบ 8 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นตัวเลขที่เราบอกว่า GDP ติดลบ 12.2 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสที่ 2 หากไม่มีเงินพยุงตรงนี้อีก 300,000 ล้าน ตัวเลขติดลบอาจจะไปถึงประมาณร่วม 20 เปอร์เซ็นต์ พอมาถึงไตรมาสที่ 3 ไม่มีเงินตรงนี้แล้ว และถึงแม้จะเริ่มเปิดเมือง แต่การท่องเที่ยวก็ยังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
จะไม่ให้เครดิต ศบค. เลยหรือ เพราะหากลองคิดว่า รัฐบาลจำเป็นต้องการรวมศูนย์การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขมาอยู่ที่มือ ศบค. แล้วกำหนดทิศทางผ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี่จึงทำให้การควบคุมโรคเป็นเอกภาพ กรณี ศบศ. ก็คือการทำให้นโยบายทางเศรษฐกิจมีเอกภาพมากขึ้นหรือเปล่า
ผมเป็นคนแรกหรืออาจจะเป็นคนเดียวก็ได้ ที่ไม่เห็นด้วยกับการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะว่าการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี
การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ช่วยทำให้เราควบคุม COVID-19 ได้ดีขึ้นไหม ผมคิดว่าไม่ เพราะว่าโดยกลไกของกระทรวงสาธารณสุข กลไกของคณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ คณะกรรมการระบาดวิทยาประจำจังหวัด ทำได้อยู่แล้ว คือไม่ต้องมีกลไก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มี ศบค. ซ้อนไปซ้อนมา แล้วต้องรอการตัดสินใจ
อย่างที่เรียนไปแล้วว่า ถ้าหากสมมุติไม่มี ศบค. หลายเรื่องจะตัดสินใจในระดับของกระทรวงสาธารณสุขและเดินหน้าไปได้เลย แต่เพราะมี ศบค. จึงต้องเสนอเข้า ศบค. ชุดเล็ก ชุดใหญ่ แล้วต้องไป ครม. อีก ฉะนั้นการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ช่วย
มาสู่ประเด็น ศบศ. ยิ่งไปกันใหญ่ ผมคิดว่าถ้าเป็นไปได้รัฐบาลต้องตั้งวอร์รูมที่ไม่ใช่ ศบศ. อีกแล้ว ถ้าหากนายกรัฐมนตรีบอกว่าท่านเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ท่านต้องลงประชุมทุกๆ วัน ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจทุกวัน แล้วต้องคิดนอกกรอบ พร้อมที่จะเดินหน้ามาตรการหลายๆ มาตรการที่อาจจะไม่เคยทำมาก่อนเลย หรือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยไม่เคยทำมาก่อนเลย แต่ต้องทำ
ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่ mindset ด้วย เพราะผมฟังที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลบางคน จะออกมาบอกว่า “ที่ประเมินกันว่าเศรษฐกิจจะเลวร้ายรุนแรง ไม่จริงหรอก ตอนนี้มันถึงก้นเหวแล้ว เรากำลังจะขึ้นมาแล้ว เส้นกราฟจะเป็นรูปตัว V (ผ่านจุดที่ต่ำสุดแล้วกำลังฟื้นตัว)” คือถ้า mindset เป็นอย่างนี้ จะยิ่งทำให้การมองเห็นปัญหาเบากว่าความเป็นจริง ทำให้การตัดสินใจที่จะทุ่มเทความพยายาม มาตรการทุกอย่าง เพื่อจะดึงให้เศรษฐกิจไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้ มันจะไม่เกิดขึ้น
เมื่อครู่คุณหมอแตะประเด็นการตั้งวอร์รูมเอาไว้ อยากทราบว่าในช่วงที่ทำงานบริหารในรัฐบาลไทยรักไทย การตั้งวอร์รูมเป็นวิธีการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติได้จริงไหม
ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ถ้าหากเรามีปัญหาที่เป็นวิกฤติใหญ่ๆ เราจะมีการตั้งวอร์รูม แล้วคนที่จะลงมาลุย ก็คือตัวนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่แค่เรื่องไข้หวัดซาร์ส (2545-2546) ไม่ใช่แค่เรื่องไข้หวัดนก (2547) แม้แต่กรณีสึนามิ (2547-2548) เป็นตัวอย่างวิกฤติที่เราไม่เคยเจอมาก่อนเหมือนกัน ตัวนายกรัฐมนตรียกเลิกภารกิจทุกอย่าง ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่กำลังจะมีการหาเสียงเลือกตั้งด้วยซ้ำไป นายกฯ ไปที่ภูเก็ต ลงไปบัญชาการเอง
เท่าที่ฟังมาราวกับว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเราไม่มี โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง แล้วยังมาบวกกับ mindset ที่ต้องพูดกันตรงๆ อาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่เป็นไปได้ไหมว่าวิกฤติทางการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้รัฐบาลไม่มีสมาธิมากพอที่จะไปจัดการปัญหาเศรษฐกิจ
ส่งผล (ตอบทันที) พอมีปัญหาการเมืองขึ้นมา ยิ่งทำให้สมาธิและการโฟกัสไม่มากพอที่จะลงมาทุ่มเทเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
แต่ผมอยากให้คิดย้อนกลับไปว่า ปัญหาการเมืองเกิดจากอะไร คือสมมุติพลเอกประยุทธ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ท่านสามารถจะบริหารเศรษฐกิจได้ดีเลย เจอ COVID-19 ก็ควบคุมโรคได้ดี ปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่ตามมาจาก COVID-19 ก็แก้ปัญหาได้ชะงัดหมด ไม่มีปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวตามมา ทุกอย่างกลับมาเหมือนภาวะปกติ ถามว่าปัญหาการเมืองจะเกิดไหม ผมคิดว่าไม่
ปัญหาการเมืองวันนี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ถูกสมทบในเรื่องปัญหาเชิงเศรษฐกิจด้วย ฉะนั้นพอปัญหาเศรษฐกิจมันหนักมาก คนตกงานเยอะขึ้นเรื่อยๆ มีการปิดกิจการมากขึ้นเรื่อยๆ ข้าวยากหมากแพง คนไม่มีเงิน ยิ่งทำให้คนมีความรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ผู้นำประเทศไม่สามารถจะรับผิดชอบเรื่องการบริหารประเทศต่อไปได้แล้ว วันนี้จึงมีคนจำนวนมากออกมาบอกว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องมีคนมารับผิดชอบใหม่
ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต่อเนื่องกันมา ไม่ใช่ว่าปัญหาการเมืองมันเกิดขึ้นเอง มันมีที่มาที่ไป
จริงอยู่ว่า อาจจะมีคนคิดถึงยุครัฐบาลไทยรักไทย แต่คำอธิบายคือเพราะอิทธิพลจากตัวรัฐธรรมนูญ 2540 ที่สร้างให้รัฐบาลเข้มแข็งขึ้นมา ส่งผลให้นโยบายหลายอย่างของไทยรักไทยประสบความสำเร็จ คำถามคือ ด้วยโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 2560 มันไม่ได้เอื้อให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำงานได้ดีใช่หรือไม่ คุณหมอมองประเด็นนี้อย่างไร
ในกรณีของรัฐบาลไทยรักไทย ผมคิดว่ามาจาก 2 ปัจจัยเป็นอย่างน้อย ที่ทำให้การพัฒนาประเทศหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม 2544 เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ปัจจัยแรก ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่นำมาสู่เรื่องเกี่ยวกับการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีระบบการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีบัตร 2 ใบ คือระบบเขตและระบบปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้พรรคไทยรักไทยสามารถชนะเลือกตั้ง 248 เสียง หรือเกือบกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แล้วทำให้นโยบายหลายๆ อย่างที่ประกาศกับประชาชน สามารถดำเนินการได้โดยที่เรียกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องการสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร
ยกตัวอย่างนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถ้าหากเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ การผลักดันนโยบายนี้อาจจะทำได้ยาก ถ้าถามว่าปัจจัยเข้มแข็งอย่างนี้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีไหม ผมว่ามี
รัฐบาลหลังรัฐประหาร 2557 มีมาตรา 44 มีอำนาจที่สามารถจะดำเนินการอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะมีปัญหาแทรกซ้อนในภายหลัง ถ้าหากไม่เป็นประเด็นคดีระหว่างประเทศ อย่างเช่นกรณีเหมืองทองอัครา
มากกว่านั้นหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 รัฐบาลพลังประชารัฐ ซึ่งผมคิดว่าในแง่ของบทบาทภาวะผู้นำที่เข้มแข็งนี้ก็ยังสามารถทำได้ พลเอกประยุทธ์เองยังสามารถจะดำเนินการอะไรก็ได้ ไม่เหมือนกับรัฐบาลผสมแบบสมัยทศวรรษ 2530 ทั้งรัฐบาลพลเอกชาติชายก็ดี คุณชวนก็ดี คุณบรรหารก็ดี รัฐบาลอ่อนแอหมด ไม่สามารถจะดำเนินการอะไรได้แบบประเภทฉับไวมากนัก แต่ผมไม่เห็นสัญญาณอย่างนี้ในรัฐบาลพลังประชารัฐ ฉะนั้นจึงมาสู่ปัจจัยที่สอง
ปัจจัยที่สอง เกี่ยวกับความสามารถของผู้นำ แม้รัฐบาลไทยรักไทยจะได้อานิสงส์จากรัฐธรรมนูญ 2540 แต่อีกส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับความสามารถของผู้นำที่คิดแล้วก็ทำ ผลักดันให้นโยบายต่างๆ เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีนวัตกรรมที่สามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า Dual Track (Dual Track Policy หรือนโยบายเศรฐกิจแบบสองขา ที่ดำเนินในรัฐบาลไทยรักไทยโดยมุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการดึงเงินทุนจากต่างประเทศ พร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า)
ถามว่าความสามารถของผู้นำในยุคหลังรัฐประหาร 2557 มีไหม ผมว่าในภาวะที่เราเป็นอยู่ขณะนี้ คำตอบชัดเจนอยู่แล้ว
ฟังเหมือนนโยบายยุคไทยรักไทยจะผ่านไปได้อย่างง่ายดาย แต่จริงๆ ถ้าใครติดตามข้อเขียนของคุณหมอในหลายครั้งหลายครา จะพบว่าในการทำงานจริงไม่ได้ง่าย หลายเรื่องต้องผ่านการต่อสู้เพื่อทำในสิ่งใหม่ บางครั้งทำในสิ่งที่เรียกว่าเป็น ‘mission impossible’ อย่างเช่นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค อยากให้คุณหมอเล่าถึงบรรยากาศการทำนโยบายในช่วงเริ่มต้นว่าเป็นอย่างไร
นโยบายเศรษฐกิจของไทยรักไทยในยุค 2544-2549 มีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องใหม่ อย่างคำว่า ‘SMEs’ วันนี้เรารู้สึกว่าเป็นคำที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่ตอนที่มีการหาเสียงก่อนวันที่ 6 มกราคม 2544 คำว่า SMEs คนไทยไม่รู้จักเป็นวงกว้าง บางคนยังพูดไปด้วยซ้ำว่าเป็น ‘EMS’ เพราะก่อนหน้านั้นนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ไม่ใช่เรื่องที่คนไทยคุ้นเคย
จิตสำนึกของผู้ประกอบการในยุคก่อนหน้าปี 2544 มีน้อยมาก เมื่อไทยรักไทยเริ่มสร้างจิตสำนึกเรื่อง SMEs ขึ้นมา มีการพยายามส่งเสริมกิจการหลายอย่าง เช่น ทำให้เกิด OTOP ขึ้น ทำให้ธนาคาร SMEs เกิดขึ้น คนก็คิดว่ารูปธรรมของนโยบายไม่ชัด อย่างเช่น กองทุนหมู่บ้านละล้าน ตอนที่พูดออกมา ทุกคนก็ถามว่าจะไปหาเงินจากไหน
หรือการให้งบประมาณ SML คือให้เงินลงไปถึงในระดับหมู่บ้าน แบ่งตามหมู่บ้านขนาดกลาง ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ แล้วให้งบประมาณไป โดยให้ชาวบ้านคิดเองว่าจะทำกิจกรรมแบบไหนที่จะสามารถต่อยอดและสร้างเศรษฐกิจของเขาได้ ยกตัวอย่างเช่น บางหมู่บ้านแถวศรีราชา ชลบุรี เขาเอาไปสร้างคอนโดปูไข่ คือไปสร้างเป็นกระชังต่อขึ้นมาสูงๆ เหมือนคอนโด
คือบางทีถ้าหากเราคิดแบบราชการ เราคิดไม่ออกหรอก แต่ว่าชาวบ้านอยู่ตรงนั้น เขารู้ว่านี่คือโอกาสที่เขาจะทำ แต่เขาไม่มีเงิน ฉะนั้นเมื่อเอาเงินใส่เข้าไปปุ๊บ เขาก็ไปสร้างคอนโดปูไข่ แล้วสามารถต่อยอดจนเกิดดอกออกผลได้
ถ้าลองมาดูนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ช่วงหลังรัฐประหาร ถึงแม้จะมีการใส่เงินลงไปจริง แต่ใส่แบบประเภทให้ราชการคิดให้ เช่น ตลาดนัดประชารัฐ ถามว่าทำไมต้องทำตลาดนัดประชารัฐเหมือนกันหมดทุกพื้นที่ เพราะบางพื้นที่ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้นก็ได้ ควรจะให้ชาวบ้านได้คิดเอง คำว่า ‘ภูมิปัญญาชาวบ้าน’ ไม่ใช่พูดกันแบบโก้เก๋ แต่เขามีความรู้ในเรื่องเหล่านั้นจริง เขาเข้าใจในสิ่งที่เขาทำ เพียงแต่เขาไม่มีโอกาส ไม่มีทุน
ถ้าโยนงบประมาณลงไปและให้ชาวบ้านคิดเอง แค่ไหนถึงจะพอ
ต้องลงไปดูในรายละเอียด ถ้าสมมุติว่าเขาคิดเสร็จ แล้วปล่อยให้ทำเองเลย คงเป็นไปไม่ได้ ต้องลงรายละเอียด ลงไปกำกับดูแล ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สมมุติว่าผมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แล้วบอกว่ามีนโยบายอย่างนี้แล้วลงไปทำเลย ไม่มีทางสำเร็จหรอก
โชคดีที่ผมมีหลายท่านที่อาจจะเรียกว่า ‘ขุนพล’ ก็ได้ มาช่วยกันผลักดัน เช่น คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นคนที่เสนอแนวคิดนี้แล้วยังลงไปขับเคลื่อนเองด้วย ร่วมกับปลัดกระทรวงสาธาณสุข ร่วมกับอธิบดี ผู้ตรวจราชการ เพราะถ้าคิดกันลอยๆ ใน ครม. เสร็จแล้วสั่งการลงไป แล้วก็ให้ทำกันเอง ไม่มีทางสำเร็จ
ตอนนั้นในยุคไทยรักไทยเรียกว่า ‘Attention Economy’ เศรษฐกิจแห่งความใส่ใจ ถ้าคุณคิดเฉยๆ แต่คุณไม่ใส่ใจ และคิดว่าคนอื่นจะทำได้ ไม่มีทาง เช่นเดียวกับองค์กรเล็กๆ ถ้ากรรมการผู้จัดการคิดเสร็จปุ๊บ แล้วบอก เฮ้ย! ไปทำ แล้วตัวเองไม่คอยตาม ไม่คอยตรวจสอบ ไม่มีทางสำเร็จ
ในเวลานั้น ตัวนายกรัฐมนตรีทำงานหนักมาก มาถึงทำเนียบรัฐบาล 7-8 โมงเช้า แล้วก็ทำงานตลอดทั้งวัน บางทีตกเย็นไปนั่งคุยกับภาคเอกชน เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช) เล่าให้ผมฟังว่า
ครั้งหนึ่ง นายกฯ (ทักษิณ) มีนัดหมายตอน 8 โมงเช้า แต่บังเอิญนัดหมายนั้นมีเหตุต้องเลื่อนออกไป พอตกเย็นตัวนายกรัฐมนตรีบอกเลยว่าพรุ่งนี้ 8 โมงเช้าว่าง ช่วยนัดอะไรก็ได้ที่คิดว่าสามารถที่จะทำให้มาประชุมกันแล้วตัดสินใจอะไรได้เลย นี่คือการทำงานชนิดที่เอาจริงเอาจัง เอาใจใส่ แล้วไม่มีวันหยุด เสาร์อาทิตย์ประชุมก็ต้องประชุม
เช่นเดียวกับตอนที่เราปฏิรูประบบราชการเมื่อปี 2545 นั่งประชุมทำเวิร์คช็อปกันอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะฉะนั้นทั้งหมดเกิดจากการทำงานชนิดที่เรียกว่าเอาใจใส่ ไม่ใช่แบบทำงานไปเรื่อยๆ แล้วก็หวังว่าระบบราชการจะเดินหน้าเองได้
คุณหมอเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค อย่างน้อย 2 ครั้ง ว่าเป็นนโยบายที่คนในพรรคเองก็ไม่เชื่อ เป็นนโยบายที่ข้าราชการก็ไม่เชื่อว่าจะทำได้ ช่วยเล่าบรรยากาศช่วงนั้นได้ไหมว่า อะไรที่ทำให้คนเชื่อ อะไรทำให้คนเอากับเราด้วย
ถ้าพูดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าวันนี้ มันเหมือนกับเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยนะ แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องเกินความฝันเกินจินตนาการของคน เราเคยทำโพลล์เกี่ยวกับปัญหาทางด้านสาธารณสุขหลายครั้ง ถามชาวบ้านว่าอยากได้อะไร ชาวบ้านบอกว่าไม่มีอะไรที่ต้องแก้ไข ทุกวันนี้ก็โอเคอยู่แล้ว ปัญหาทางด้านสาธารณสุขอยู่ท้ายๆ ตลอด
ตอนปี 2542-2543 ที่เราทำนโยบาย ปัญหาใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเป็นช่วงภาวะหลัง ‘ต้มยำกุ้ง’ หรือไม่ก็ปัญหาเรื่องยาเสพติด เพราะตอนนั้นยาเสพติดระบาดกันทั้งสังคมไทย รวมถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน 3-4 ปัญหานี้เป็นปัญหาแรกๆ เวลาคนนึกถึงขึ้นมา ปัญหาเรื่องการศึกษาก็รองลงมา ส่วนปัญหาสาธารณสุขก็ยังถูกมองเป็นเรื่องเล็กมาก แต่จริงๆ มันมี pain point อยู่
ผมอยู่ในแวดวงโรงพยาบาล ผมรู้ว่าในยุคก่อนนั้น คนที่มาโรงพยาบาล ถ้าหากเป็นคนยากคนจนไม่มีทางหรอกที่คุณจะเข้าถึงการรักษาพยาบาล คนที่เป็นโรคไตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือรอวันตายอย่างเดียว เรื่องการฟอกไตอย่างที่เราสามารถทำได้ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฟอกไตทางเลือด หรือฟอกไตทางหน้าท้อง เป็นสิ่งที่เกินคาดสำหรับคนยากจนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
เช่นเดียวกับโรคหัวใจ ถ้าหากคนยากคนจนเป็นโรคหัวใจ ก็คือรอวันตาย เมื่อไหร่ที่หัวใจโตมากจนกระทั่งรักษาไม่ไหวแล้วก็ต้องเสียชีวิต มาวันนี้เราผ่าตัดหัวใจไปหลายแสนคนแล้ว
ถามว่าเรื่องเหล่านี้มันเกินจินตนาการไหมที่บอกว่าคุณจ่าย 30 บาท แล้ววันนี้ฟรีด้วยซ้ำไป คุณรักษาหัวใจได้ คุณฟอกไตได้ คุณมีปัญหาเรื่องโรคหลอดเลือดสมอง สามารถผ่าตัดสมองได้โดยที่คุณไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ถ้าถามว่าอยู่ๆ โยนเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมา คนจะเชื่อไหม ไม่มีใครเชื่อ
หลายคนบอกว่า ประเทศเพิ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหลังต้มยำกุ้ง คุณมาเสนอเรื่องเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่อย่าโม้เลย งั้นถามว่าคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วย เราจะไปประณามเขาไหม ผมว่าไม่ เพราะเป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนคนในไทยรักไทยเองที่ผมเขียนไว้ว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค เป็นแกนนำพรรค ก็ไม่มีใครพูดถึง เพราะว่าเวลาหาเสียงไม่มีใครอยากไปอธิบายกับชาวบ้าน อาจจะกลัวว่าถ้าอธิบายไปแล้วจะกลายเป็นคำมั่นสัญญา ถ้าเกิดชนะเลือกตั้งขึ้นมา ชาวบ้านทวงแล้วคุณจะตอบว่าอย่างไร
เราทำป้ายหาเสียงชูนโยบาย 3 ข้อคือ พักหนี้เกษตรกร 3 ปี กองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และ 30 บาทรักษาทุกโรค สองนโยบายแรกยังโผล่อยู่ในป้าย แต่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ในหลายพื้นที่ถูกลบทิ้งไป กลายเป็นว่าในพรรคไทยรักไทยมีคนที่เข้าใจเรื่องนี้และอยากทำให้ความฝันบรรลุ มีเพียงแค่หัวหน้าพรรค
คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำพรรคอีกสัก 2-3 คน คุยกันแล้วรู้สึกว่า “เฮ้ย! ต้องทำให้ได้”
ตอนนั้นเราต้องยอมรับว่าเป็น passion ที่อยากทำให้เกิด แต่ถามว่าเราจะได้ทำไหม ไม่มีใครรู้ เพราะไม่รู้จะชนะเลือกตั้งหรือเปล่า ตอนรณรงค์หาเสียง ไปปราศรัยในพื้นที่ต่างๆ ดร.ทักษิณ ก็จะปราศรัยเรื่อง 30 บาท ในทุกๆ ที่ บางพื้นที่ที่เป็นนักการเมืองที่แบบเราเรียกว่า ‘นกแล’ (หมายถึง นักการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก) ก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร แต่ถ้าเป็นพื้นที่ของนักการเมืองอาวุโส ก็จะบอกหัวหน้าพรรคเลยว่า อย่าพูดนะ มีหลายพื้นที่เลย พอขึ้นปราศรัยแล้วร่ายยาวเข้าเรื่องนี้หน่อยนึง นักการเมืองอาวุโสก็จะสะกิดหลัง บอกอย่าพูดๆ
ฉะนั้น แม้แต่ชนะเลือกตั้งแล้ว ก่อนจะดำเนินการ คนก็ไม่เชื่อ ถึงขนาดตอนที่เราเริ่มต้นนำร่อง 6 จังหวัด คือวันที่ 1 เมษายน 2544 หลังจากแถลงนโยบายต่อสภาแล้ว พอสิ่งที่เป็นความฝันมันเกิดขึ้นจริง คนที่มาคลอดวันที่ 1 เมษายน 2544 อยู่โรงพยาบาล 2-3 วัน ออกจากโรงพยาบาลจ่าย 30 บาท กลายเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์สำหรับทุกๆ คน
กลายเป็นว่าหลังจากนั้นหัวกระไดของกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยแห้งเลย สส. ทุกพรรค ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านมาที่กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าขอโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในพื้นที่ของเขาบ้าง
นอกจากบรรยากาศความไม่มั่นใจของคนภายในพรรคเองแล้ว มีแรงต้านในระบบราชการบ้างไหม เพราะช่วงเวลานั้นกระทรวงสาธารณสุขเพิ่งผ่านกรณีที่อื้อฉาวมากๆ ก็คือการทุจริตยา ทำไมจึงสามารถเปลี่ยนกระทรวงที่มีภาพของการทุจริตให้มาเป็นหัวขบวนผลักดันเรื่องที่ใหญ่และยากได้
อาจจะด้วยปัจจัยต่างๆ มาพร้อมกันพอดี ณ จุดตัดของกาลเวลา ทั้งการมีรัฐธรรมนูญ 2540 มีพรรคไทยรักไทยซึ่งนำเสนอนโยบาย แล้วประชาชนสนับสนุน เลือกมาชนิดเกือบครึ่งหนึ่งของสภา ปัจจัยที่ผมคิดว่าไม่พูดถึงไม่ได้ คือ
วันนั้นเรามีข้าราชการประจำที่มี passion เรื่องนี้ และเอาจริงเอาจังเช่นเดียวกัน ที่ต้องให้เครดิตคือปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะปลัดกระทรวงเป็นคนที่ขับเคลื่อนให้นโยบายต่างๆ เดินหน้าอย่างรวดเร็วก็ได้ หรือจะเป็นคนที่ขัดขวางทำให้เกิดอุปสรรคในการขับเคลื่อนนโยบายก็ได้
โชคดี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ วันนั้น ชื่อ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา ท่านมีภาวะผู้นำ เป็นปลัดกระทรวงที่ทำงานเฉียบขาด ตอนที่ฝ่ายการเมืองเข้าไปรับตำแหน่งในวันแรก ผมเข้าไปกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พอหลังจากที่เราได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแล้ว ก็นั่งคุยกัน 3 คน ในห้องเล็กๆ หมอมงคล ณ สงขลา ก็บอกว่า
“ผมสนับสนุนเรื่องนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเต็มที่ ผมคิดว่าเรื่องนี้ผมจะพยายามทำให้ได้ดีที่สุด”
แล้วก็ควักกระดาษขึ้นมา บอกว่ามีจังหวัดที่พร้อมที่จะทำเรื่องนี้เลยทันทีคือ 6 จังหวัด
ในส่วนขององคาพยพอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนเรื่องนี้มี 100 เปอร์เซ็นต์ไหม ผมคิดว่าไม่ เพราะการทำเรื่องนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่เรียกว่า top up แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการงบประมาณเสียใหม่ เพราะก่อนปี 2544 นโยบายงบประมาณจะเป็นลักษณะโรงพยาบาลไหนเคยได้งบประมาณในปีที่แล้วเท่าไหร่ เมื่อถึงปีถัดมาหากว่ามีงบประมาณโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณสัก 5 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเกลี่ยไปให้โรงพยาบาลเดิม เช่น เคยได้ 100 ก็จะได้ 105 ถ้าเคยได้ 30 ก็อาจจะได้สัก 31
แต่พอเราใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราใช้เกณฑ์โรงพยาบาลไหนดูแลประชาชนมาก เขาต้องได้มาก โรงพยาบาลไหนดูแลประชาชนน้อย ก็ได้น้อย
เมื่อก่อนนี้ ก่อนยุค 30 บาทรักษาทุกโรค บางอำเภอในภาคอีสาน มีประชากรที่ต้องดูแลประมาณ 200,000 คน เป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง มีหมออยู่ประมาณ 5 คน แต่ดูแลประชากร 200,000 คน งบประมาณที่เราให้เป็นรายหัวของปีแรกประมาณ 1,200 บาทต่อคนนะครับ ถ้าคิดง่ายๆ เอา 1,000 คูณ ถ้า 200,000 คน คูณ 1,000 ได้เท่าไหร่ ก็คือ 200 ล้าน จากที่อาจจะได้งบประมาณปีละ 70-80 ล้าน อยู่ๆ ได้ขึ้นมา 200 ล้านทันที พอได้เงินเพิ่มขึ้นมา ทำให้เขาสามารถบริหารจัดการอะไรได้อีกมากมาย
ตรงกันข้าม บางจังหวัดในภาคกลาง ทั้งจังหวัดมีคน 200,000 คน แต่จังหวัดนั้น มีโรงพยาบาลจังหวัด 1 แห่ง 400-500 เตียง มีโรงพยาบาลอำเภออีก 3-4 แห่ง รวมแล้วทั้งจังหวัดมีเกือบ 600-700 เตียง มีหมออีกเป็นร้อยคน ทีนี้เห็นความเปรียบเทียบที่มันเหลื่อมล้ำแล้วใช่ไหม
ฉะนั้นคนจำนวนหนึ่งซึ่งเคยดูแลประชาชนน้อย ทำงานหนักน้อยกว่า ก็จะรู้สึกว่าได้รับผลกระทบ นั่นจึงเป็นเหตุผลทำไมในช่วงปีแรกของการทำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงมีคนมาประท้วง และในกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีคนค้าน
เมื่อ 19 ปีก่อน นักการเมืองจะพยายามสร้างสรรค์นโยบายแข่งกัน ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าจะไม่มีภาพนั้นเท่าที่ควร คุณหมอคิดว่าเป็นเพราะอะไร
เวลานั้นพรรคการเมืองไม่ได้แข่งขันกันด้านนโยบาย พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายในเชิงปฏิรูปเพื่อหาเสียงหาเป็นพรรคแรก จนกระทั่งในการเลือกตั้งในปี 2548 จึงได้เห็นพรรคการเมืองหลายพรรคสร้างนโยบายขึ้นมา
ณ วันนี้ ที่ผมคิดว่าเราขาดคือ กลุ่มที่มองเห็นยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของประเทศ ไม่ได้หมายถึงสร้าง wish list โดยไม่ได้มีพื้นฐานจากความเป็นจริง ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องไม่ต้องมาบังคับใคร แต่ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน ต้องมี think tank นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็น นี่คือสิ่งที่ผมและเพื่อนมาตั้งกลุ่ม CARE ผมเชื่อว่ามีคนเก่งมากๆ ในสังคมไทย แต่เป็นคนที่ถูกกีดกันออกจากวงการเมือง กีดกันออกจากบทบาทที่สามารถเข้ามาผลักดันให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ เราจึงมาสร้าง think tank มาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก หาทางเลือก ซึ่งมีอยู่แล้ว ช่วยกันออกมาทำเถอะ
ตอนนี้เป้าหมายของกลุ่ม CARE คืออะไร ถามให้ชัดกว่านั้นคือ จะตั้งพรรคการเมืองไหม
(ถอนหายใจยาว) มีคนถามคำถามนี้เยอะ ถามตั้งแต่ก่อนจะตั้ง พอมีข่าวว่า 3-4 คน เป็นคนที่ทำงานในไทยรักไทยยุคเริ่มต้น ตั้งแต่ปี 2541 ทำงานกันในห้องเล็กๆ นั่งทำงานมองหน้ากันไปมองหน้ากันมา เรารู้จักกันมา 20 กว่าปี บางคนก็รู้จักกันตั้งแต่เป็นนักศึกษา ทุกคนอายุมากแล้ว เช่น คุณพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ท่านก็ประกาศล้างมือในอ่างทองคำ คุณภูมิธรรม เวชยชัย คุณหมอพรหมมินทร์ และผมก็ 60 กว่าแล้ว คือถ้าไม่มีปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง เราอยากเป็นส่วนที่ให้กำลังใจคนรุ่นใหม่
แต่ยุคนี้ วันนี้ ที่เห็นแต่ความสิ้นหวัง ก็เลยมานั่งพูดคุยกัน ว่าเอาไหม อีกสักครั้ง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราเคยทำมารอบหนึ่งแล้ว มารวมกลุ่มกันเพื่อช่วยหาทางออกดีไหม ตอนแรกก็คิดว่าจะคุยกันเล็กๆ ไม่ใหญ่โต พอมีข่าวออกไปก็มีคนบอกว่าอยากร่วมด้วย ถ้าหากอยากตั้ง think tank อยากเข้ามาช่วยเสนอ เช่น คนที่มีฝีมือทางด้านเศรษฐกิจอย่างไม่กังขา อย่าง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ หรือ คุณดวงฤทธิ์ บุญนาค, คุณวีรพร นิติประภา, คุณลักขณา ปันวิชัย
พอเราตั้งขึ้น ก็คิดว่าสิ่งที่เรานำเสนอต้องคิดและขับเคลื่อนด้วย แล้วสร้างเป็นเครือข่ายให้ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมได้ หัวใจสำคัญคือ think tank, movement และ network ตอนแรกตั้งไปก็ไม่มีชื่อ มีคนเสนอเข้ามาว่า ‘Care’ ทำๆ ไปรู้สึกติดปากดี ก็เลยบอกว่า เอ้า Care ก็ Care (หัวเราะยาว)
พอดีกับสิ่งที่เราคิดว่ามันสามารถบอกในเชิงเป้าหมายของเราด้วยคือ creative, action, revival and people empowerment หรือ CARE เราต้องการสร้างให้เกิดการกระทำในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้มีการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพของประชาชน พอตั้งกลุ่มขึ้นมาในเดือนมิถุนายน เราก็เห็นว่ากำลังมีปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องเผชิญข้างหน้า และคิดว่าเดือนตุลาคมปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่จะมา เราถึงใช้คำว่า ‘150 วันอันตราย’
แล้วเราก็เสนอทางออกด้วย เช่น ให้มีการอัดฉีด SMEs 2 ล้านล้านบาท ไม่ต้องจ่ายเงินต้น ดอกเบี้ย 2 เปอร์เซ็นต์ แล้วให้เริ่มจ่ายเงินต้นเมื่อครบ 4 ปีไปแล้ว ให้รัฐบาลค้ำประกัน 80-90 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราเห็นว่ามาตรการที่รัฐบาลคิดไว้ แล้วใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยให้ SMEs ที่มีปัญหา แล้วค้ำประกันแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ น่าจะเป็นความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยแน่ ณ วันนี้ก็เป็นอย่างนั้น เพราะธนาคารพาณิชย์ปล่อยไปได้สัก 100,000 ล้านบาท จาก 500,000 ล้านบาท
พอนำเสนอปุ๊บ ก็จะมีคนถามว่า “จะเป็นพรรคการเมืองไหม” ต้องบอกว่าเราต้องการสร้างเครือข่าย เครือข่ายของคนที่มีความห่วงใยต่อปัญหา ที่อาจจะสนใจเรื่องเศรษฐกิจ การเกษตร การท่องเที่ยว การศึกษา รัฐธรรมนูญ หรือการสาธารณสุข มีคนตั้งกลุ่มศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้ว งั้นเรามาร่วมกันในรูปแบบแพลตฟอร์มในโลกใหม่
คำถามต่อมาว่า แพลตฟอร์มนี้จะเปลี่ยนเป็นพรรคการเมืองไหม ผมเชื่อว่าอาจจะมีบางคนสนใจจะทำพรรคการเมือง แต่เมื่อทำแล้วก็อาจจะอยู่แค่เครือข่ายในแพลตฟอร์มของ CARE มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามา CARE เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง แต่เขาสนใจที่จะทำ think tank
คำถามสุดท้าย ถ้าในวันนี้คุณหมอเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณหมอจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร เช่นเดียวกัน ถ้าคุณหมอเป็น คุณทักษิณ ชินวัตร ในวันนี้จะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร
ตอบคำถามแรก ผมคิดว่าพลเอกประยุทธ์ได้ทำงานมาปีที่ 6 แล้ว น้อยคนมากที่จะได้ทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นานขนาดนี้ อย่างคุณทักษิณก็ยังไม่ถึงนะ 5 ปีกว่าๆ การอยู่ในตำแหน่งนานขนาดนี้ ถ้าประชาชนชื่นชม ก็จะเลือกกลับมาทำงานต่อ ถ้าประชาชนไม่ชื่นชม ประชาชนก็จะบอกว่าให้คนอื่นมาทำงานแทนเถอะ แต่ด้วยความไม่ปกติของรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้พลเอกประยุทธ์ได้ทำงานต่อไป
เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เมื่อทำงานไปสักพักความนิยมก็จะลดลงเรื่อยๆ การจะสร้างความนิยมให้ยาวนานเกิน 4 ปี เป็นเรื่องยากมาก ต้องเก่งมากๆ ผมคิดว่าการทำงานที่ผ่านมาของพลเอกประยุทธ์ไม่ได้เก่งขนาดนั้น แล้ววิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ผมใช้คำว่าเป็น ‘มหาวิกฤติ’ โดยความรู้ความสามารถไม่พอที่จะช่วยประคองให้ประเทศเดินหน้าได้ตลอดรอดฝั่ง แล้วพอมาเจอวิกฤติการเมือง หาคนที่มีความสามารถมาร่วมไม่ได้ เชิญใครใครก็ไม่มา ถ้าหากไม่มีใครที่มีความสามารถมาช่วย ตอนนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะบอกว่า “ผมพอแล้ว” พร้อมที่จะส่งให้คนอื่นที่มีความรู้ความสามารถมาช่วย ถ้าผมเป็นพลเอกประยุทธ์ ก็คงจะลาออก แล้วให้สภาหาคนใหม่ขึ้นมาแทน
ส่วนถ้าผมเป็นคุณทักษิณ วันนี้คุณทักษิณอยู่ต่างประเทศมานานมาก 12 ปี แล้ว คุณทักษิณเคยกลับมาเมื่อปี 2551 แล้วก็ออกไปโดยไม่ได้กลับมาอีกเลย ถ้าผมเป็นคุณทักษิณ ผมก็จะเห็นแล้วว่าตอนนี้บ้านเมืองมีวิกฤติทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ถ้ามีอะไรช่วยได้ก็จะช่วย แต่เป็นการช่วยในฐานะเป็นที่ปรึกษา พร้อมที่จะให้คำแนะนำ อาศัยความสัมพันธ์อันดีกับนักธุรกิจทั่วโลก รวมถึงผู้นำประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดี เพื่อที่จะเชื่อมให้ประเทศไทยสามารถดำเนินยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ลงมาทำเอง และส่งต่อความรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่
ผมคิดว่าเมืองไทยมีคนรุ่นใหม่ที่เก่งเยอะแยะไปหมดเลย คนเก่งๆ เหล่านี้ควรจะได้รับโอกาสเข้ามาทำงาน ตอนที่ผมไปประชุมกับรัฐมนตรีจากประเทศต่างๆ อายุจะประมาณ 30-40 ปีเท่านั้น คนวัยนี้จะมีชีวิตชีวา มีพลังความคิดสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันก็มีความรู้มากพอ ทันโลก และมองไปได้ไกล