สุนี ไชยรส: เงินอุดหนุนเด็กเล็กต้องถ้วนหน้า มิใช่แค่ ‘เงินสงเคราะห์คนจน’

เป็นความจริงว่า ทุกๆ สวัสดิการที่มี ณ ขณะนี้ ไม่ว่าจะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนประกันสังคม เบี้ยผู้พิการ เรียนฟรี 12 ปี หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ล้วนได้มาจากการต่อสู้เรียกร้องเชิงนโยบายอันยาวนานทั้งสิ้น โดยมีร่มใหญ่ร่วมกันคือสวัสดิการถ้วนหน้า ที่ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนต้องได้รับสวัสดิการทัดเทียมกัน 

หากถามว่าสวัสดิการจำนวนหนึ่งที่เราในฐานะประชาชนได้รับ ดีพอแล้วหรือยัง หรือต้องปรับปรุงแก้ไขส่วนใดเพิ่ม นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง หากแต่หัวใจสำคัญของการสนทนากับ สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า คือการผลักดันนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ขวบ ให้เป็น ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’

เท้าความก่อนว่า เดิมทีรัฐบาลให้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-1 ขวบ จำนวน 400 บาทต่อเดือน เป็นการนำร่อง ก่อนขยับมาที่เด็กอายุ 0-3 ขวบ พร้อมกับเพิ่มเงินอุดหนุนเป็น 600 บาทต่อเดือน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีรายได้ไม่เกิน 36,000 บาทต่อคนต่อปี และล่าสุดได้ขยับขยายไปถึงเด็กอายุ 0-6 ขวบ สำหรับผู้มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี

ทว่าด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้มีเด็กเพียง 2.2 ล้านคน เข้าถึงสิทธิ์ดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทยมีเด็กอายุ 0-6 ขวบ ถึง 4.4 ล้านคน 

ประเทศไทยมีโครงการสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กมาแล้ว 7 ปี และนับตั้งแต่ปี 2558 มีเด็กประมาณ 2-3 ล้านคน ตกหล่นและไม่ได้รับเงินจำนวนนี้ เหตุเพราะมีเงื่อนไขจากสิ่งที่เรียกว่า ‘กระบวนการพิสูจน์ความจน’ ไปจนถึงวิธีคิดของรัฐที่มองว่า หากนโยบายนี้ถูกห้อยท้ายด้วยคำว่า ‘ถ้วนหน้า’ หมายความว่า ลูกคนรวยก็จะได้รับเงินเช่นกัน

ต้องจนแค่ไหนจึงจะได้รับเงิน 600 บาท ต้องผ่านด่านเอกสารอะไรบ้างกว่ารัฐไทยจะเชื่อว่าประชาชนมีชีวิตที่ยากลำบาก วิธีคิดที่ว่า ไม่ให้เงินลูกคนรวย ถูกต้องแล้วหรือ ไปจนถึงการจัดสรรงบประมาณในปี 2565 กับการลำดับความสำคัญผิดฝาผิดตัว ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรากำลังสนทนากันต่อจากนี้

อะไรคือจุดเริ่มต้นของการเรียกร้อง ‘สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า’ 

เรามักได้ยินคำคุ้นหูว่า ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย เช่นเดียวกัน เด็กเล็กมีความสำคัญอย่างมากที่เราต้องดูแล และไม่ควรเป็นภาระของครอบครัว ไม่เกี่ยวกับว่าใครรวย ใครจน หรือใครจะดูแลลูกได้ดี แต่โดยหลักการแล้ว การดูแลเด็กควรเป็นหน้าที่ของทั้งครอบครัว สังคม และรัฐ 

เราเห็นการต่อสู้ของคนกลุ่มย่อย เช่น กลุ่มประกันสังคม ที่ต่อสู้ผลักดันจนได้รับเงินสงเคราะห์บุตร หรือในอดีตที่มีการเรียกร้องให้มีการดูแลผู้สูงอายุ ตอนนั้นรัฐให้เงินเพียงครอบครัวละ 3-5 คน เดือนละ 300-400 จนเริ่มพัฒนากลายมาเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ที่รัฐจ่ายให้ทุกคนโดยไม่ต้องดูว่าจนหรือรวย จากนั้นก็ขยับมาที่สวัสดิการคนพิการ จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เติบโตขึ้นท่ามกลางการต่อสู้เป็นลำดับ หรือกรณีเรียนฟรี 12 ปี หรือแม้กระทั่งเรื่องยาเอดส์ เรายังจำได้ว่า ยาเอดส์สมัยก่อนให้เฉพาะคนจน ต่อมาใครที่มีเชื้อเอดส์ก็สามารถรับยาได้ 

นั่นหมายความว่า แนวคิดเหล่านี้เติบโตขึ้นท่ามกลางพัฒนาการการต่อสู้ของสังคมไทยมาโดยตลอด จากหลักการใหญ่ที่ว่า เด็กควรจะได้รับการดูแลถ้วนหน้า เพราะประเทศไทยได้ให้การรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งระบุว่าเด็กควรได้รับการดูแลทั้งทางด้านจิตใจ อารมณ์ ความปลอดภัย และอื่นๆ รวมถึงปฏิญญาระหว่างประเทศก็มีการพูดเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าด้วยเช่นกัน 

จนมาถึงปี 2556-2557 เราจะเริ่มเห็นชัดว่า สวัสดิการด้านอื่นๆ เริ่มเติบโตขึ้นตามลำดับ ยกเว้นเด็กเล็ก 0-6 ขวบ จนกว่าเด็กจะได้เข้าโรงเรียนตอน 7 ขวบ จึงจะเข้าสู่ระบบเรียนฟรี 12 ปี นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่เราต้องเรียกร้องเงินสวัสดิการอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

คำว่า ‘ถ้วนหน้า’ ต้องครอบคลุมแค่ไหน

ส่วนตัวเราเองมาทำงานในประเด็นนี้ประมาณปี 2557 เริ่มมีการเสวนากันว่าเราควรเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะถ้ารอรัฐบาลคงจะไม่ได้ จนกระทั่งปี 2557-2558 เราอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ทำงานร่วมกับองค์การยูนิเซฟและองค์กรด้านเด็กอีกสารพัด เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพราะว่ามันโหว่อยู่กลุ่มเดียว กลุ่มอื่นเขาได้สิทธิ์หมดแล้ว

ปรากฏว่าปี 2558 เรามีการเคลื่อนขบวนเล็กๆ ขายไอเดียกัน เอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันเป็นลำดับ ขณะนั้นรองนายกฯ ประกาศว่ารัฐบาลจะนำร่องด้วยการให้เงินอุดหนุนเด็ก 0-1 ขวบ 400 บาทต่อเดือน ในความหมายว่าเป็นโครงการนำร่อง โดยมีเงื่อนไขคือให้เฉพาะคนจนสุดๆ รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 36,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ปรากฏว่า พอทำมาปีหนึ่ง พวกเราก็ยังเคลื่อนเรื่องนี้กันต่อ เพราะการต่อสู้เรื่องเด็กไม่ใช่มีแค่องค์กรเด็ก ไม่ใช่แค่องค์กรผู้หญิง แต่ยังหมายถึงองค์กรผู้สูงอายุ องค์กรแรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ องค์กรชนเผ่า หรือแม้แต่คนที่ต่อสู้เรื่องที่ดิน ทุกกลุ่มเกี่ยวพันกันหมด 

พอมาปี 2559 รัฐเริ่มให้เงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ขวบ เดือนละ 600 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เพราะตอนนั้นรัฐบาลกำลังหาเสียงเรื่องบัตรสวัสดิการคนจน โดยสรุปคือ การต่อสู้เรียกร้องของคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าที่ก่อรูปมาตั้งแต่ปี 2558 ก็พัฒนามาเป็นลำดับ ผลักดันมาเป็นระยะๆ 

การให้เงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือน กับเด็ก 0-6 ขวบ ที่ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เอาเข้าจริงแล้วเพียงพอไหม 

ต้องยอมรับว่าเรายังไม่พอใจนัก เพราะเราไม่ได้ต้องการแค่เงินสงเคราะห์ ที่ผ่านมารัฐบาลให้ในนามเงินสงเคราะห์คนจน แต่สิ่งที่เราเรียกร้องคือระบบสวัสดิการสังคม นี่คือเรื่องใหญ่ที่เราผลักดันมาโดยตลอด คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีมติเห็นชอบในหลักการและให้เริ่มดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าในปีงบประมาณ 2565 โดยรัฐจะต้องให้ 600 บาทต่อเดือนแก่เด็ก 0-6 ขวบ โดยไม่จำกัดเรื่องความจนความรวย ทุกคนต้องได้รับสวัสดิการเท่าเทียม แต่ตอนนั้นรัฐบาลก็ยังงอแง

เราพบว่า เด็กอายุ 0-6 ขวบ ในประเทศไทยมีประมาณ 4.4 ล้านคน แม้จะมีการขยายเพดานอายุเด็กจากเดิมที่ให้แค่ 0-3 ขวบ จนปัจจุบันขยายอายุเป็น 0-6 ขวบ และขยับจากรายได้ครอบครัวผู้มีสิทธิ์รับเงิน จากเดิมที่วางเงื่อนไขรายได้ไว้ที่ 36,000 บาทต่อปี ก่อนจะขยับมาที่ 100,000 บาทต่อปี ทว่าเด็กที่เข้าเงื่อนไขแล้วได้เงินอุดหนุนมีเพียงประมาณ 2 ล้านกว่าคนเท่านั้น นั่นหมายความว่า มีเด็กตกหล่นที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนอีกประมาณ 2 ล้านกว่าคน 

ต้องเป็น ‘คนจน’ ขนาดไหนถึงจะได้รับเงินอุดหนุนนี้ 

ในแง่รายละเอียดของกระบวนการคัดเลือกคนจน ปัญหาคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจน เอาอะไรเป็นบรรทัดฐาน เพราะคนจำนวนมากโดยเฉพาะคนจนหรือคนชั้นกลางระดับล่างลงไป จะมีรายได้ที่ไม่อยู่ในระบบเยอะแยะมากมาย เมื่อรัฐตั้งมาตรฐานว่าจะต้องมีการคัดกรอง เช่น ต้องไปยื่นต่อเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็จะต้องมีคนไปสืบเสาะว่าจนจริงหรือเปล่า จนกระทั่งคนจนตกหล่นหมดเลย 

สถานการณ์ปัจจุบัน ยิ่งคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล คนชนเผ่า คนในสลัม หรือแม้แต่คนชั้นกลางบางส่วน ก็ยังงงๆ กับเกณฑ์การประเมินที่ซับซ้อนแบบนี้ อีกทั้งเขาไม่รู้ข่าวสาร หรือรับรู้เพียงบางส่วน ขณะเดียวกัน การจะยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินอุดหนุนได้ เขาต้องหาคนรับรอง 2 คน และต้องเป็นข้าราชการ ท้ายที่สุดคนจนก็เลือกที่จะไม่เอา อาจจะด้วยความกลัว และเอกสารที่ต้องเตรียมการก็ยุ่งเหยิงมาก รวมถึงปัจจัยที่ว่า ชีวิตคนจนหรือชนชั้นกลางระดับล่างไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง บางคนก็เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องส่งลูกไปอยู่กับปู่ย่าตายายก็มี คือความสับสนในชีวิตคนจนมีเยอะแยะ บางคนมายื่นเรื่อง 5 รอบแล้วก็ยังไม่ได้ บางคนยื่นเรื่องไป 2 ปี ก็ยังไม่ได้ หรือบางคนก็รู้สึกว่ามันด้อยศักดิ์ศรีเหลือเกินที่ต้องไปง้อรัฐขนาดนี้ นี่คือภาพรวมของเด็กที่ตกหล่นอยู่ประมาณ 2 ล้านเศษ จากการคัดกรองที่มั่วๆ และอลหม่าน 

รัฐบาลนิยาม ‘ความจน’ ในความหมายไหน ทำไมต้องมีเงื่อนไขลักษณะนี้ 

เราพยายามสู้ในแง่ของหลักการก่อนว่า เราไม่ได้สู้เรื่องความจน เราสู้เรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งเป็นสวัสดิการสังคม อันนี้เราย้ำ 100 เปอร์เซ็นต์ เด็กเกิดมาปั๊บควรเข้าระบบทันที เราจะรู้ว่าเขาอยู่ตรงไหน อนาคตจะพัฒนาไปยังไง

เมื่อรัฐไปตั้งหลักการว่าต้องจนก่อนถึงจะได้เงิน กลายเป็นว่า แม้แต่เด็กที่จนจริงๆ ก็ตกหล่นไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งช่วงโควิด คนที่เคยถูกคัดกรองว่ามีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี ตอนนี้ก็ตกงานเยอะแยะ แม่ค้าก็ขายของไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่เคยมีรายได้เกินแสนในวันนั้นก็ถูกประเมินว่าไม่ผ่าน แต่วันนี้เขากลายเป็นคนตกงานและมีจำนวนมหาศาล พอเขาถูกประเมินว่าไม่ผ่าน แน่นอนเขาก็ไม่อยากไปยื่นขอสิทธิ์อีก ปวดหัว เด็กก็โตขึ้นทุกวัน มันย้อนอดีตไม่ได้ บางคนเคยยื่นไปตอนลูก 4 ขวบ พอผ่านไป 6 ปี แล้วไปยื่นอีกครั้ง อ้าว อายุเกินแล้ว 

วันนี้พ่อแม่หลายคนที่เคยมีฐานะอยู่ในชนชั้นกลาง ต้องกลายมาเป็นคนจนเยอะแยะไปหมด เรียกว่าเป็นคนจนใหม่ที่ถูกสถานการณ์โควิดซ้ำเติม ระเนระนาดกันหมดทุกอาชีพ อย่างที่เรารับรู้กัน แล้วการที่รัฐยังไม่เปิดให้ลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ขวบ รอบใหม่ เพราะกลัวโควิด ก็ยิ่งทำให้เด็กตกหล่นไปใหญ่ ขณะเดียวกัน เขาก็พยายามบอกเราว่า “เอาสิ…บอกมา เด็กตกหล่นตรงไหน พม. จะส่งคนไปช่วยทำเอกสาร” 

ต้องขอยืนยันว่าหลักการของเราคือ ถ้วนหน้า ส่วนคนที่ตกหล่นตอนนี้ก็มีมูลนิธิ กลุ่ม NGO กลุ่มที่ทำงานกับเด็ก หรือกลุ่มที่ใกล้ชิดกับแรงงาน พยายามช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ และประคับประคองให้พวกเขาสามารถมาลงทะเบียนได้เยอะขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการทำงานขององค์กรเด็ก องค์กรผู้หญิง องค์กรแรงงาน แม้แต่เครือข่ายชนเผ่าซึ่งอยู่กระจัดกระจายสารพัดกลุ่ม เพื่อพยายามช่วยปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้น

พ่อแม่และเด็กๆ ได้รับผลประทบอะไรบ้างจากเงินอุดหนุนที่ตกหล่นและการเยียวยาที่เข้าไม่ถึง

หนึ่ง – หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า ในเมื่อพ่อแม่ขาดรายได้แล้วจะทำยังไง เคยซื้อนมผงให้ลูก เคยซื้ออาหารการกินดีๆ ก็ลดระดับลงไปเป็นลำดับ อย่างที่เราเคยเห็นภาพว่าอาจจะกินนมข้นจางๆ แทนนมผง หรืออาจต้องกินน้ำข้าวแทนบ้าง แต่ที่สำคัญก็คือไม่ใช่แค่เรื่องอาหารการกินอย่างเดียว ยังมีอีกหลายเรื่อง

สอง – เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ภาครัฐปิดศูนย์เด็กเล็กทั้งหมดมากว่า 2 ปีแล้ว อีกทั้งศูนย์เด็กเล็กนั้น ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะได้เข้า ต้องมีมูลนิธิเอกชนอื่นๆ ไปช่วยดูแลประคับประคองเด็ก ไม่ใช่ว่ารัฐเลี้ยงดูหมด เมื่อปิดศูนย์เด็กเล็กทั้งหมด เด็กเคยได้นม ได้อาหารกลางวัน ได้การเรียนรู้ ก็กลับต้องมาอยู่บ้าน อาจจะเปิดบางช่วงสั้นๆ แล้วก็ปิดอีก ทีนี้พ่อแม่ที่จนอยู่แล้ว ปู่ย่าตายายหรือแม้แต่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่จนอยู่แล้วก็ยิ่งได้รับผลกระทบหนักเข้าไปใหญ่

สาม – พ่อแม่จะไปทำงานได้ยังไง ในเมื่อไม่มีใครดูแลลูกให้เขา มันยิ่งซ้ำเติมเข้าไปใหญ่เลย แม่อาจจะต้องเสียสละไม่ไปทำงาน เพราะต้องดูแลลูก รายได้ก็หดลงไปอีก งานก็หายาก จะไปขายของเล็กๆ น้อยๆ ก็ขายไม่ได้ เราจึงเห็นภาพคนเก็บขยะอุ้มลูกไปด้วย เราจะเห็นภาพไรเดอร์เอาลูกนั่งมอเตอร์ไซค์ไปส่งอาหารด้วย เพราะไม่รู้จะเอาลูกไปไว้ไหน ยิ่งครอบครัวที่มีเด็กป่วยหรือแม่ป่วย เขาจะเอาลูกไว้ไหน มันเป็นโศกนาฏกรรมเต็มไปหมดเลยในช่วงเวลาปีกว่าของโควิดระลอกแรก 

พอมาถึงตอนนี้บอกว่ามันเบาลงแล้ว แต่บางคนก็ยังหาเตียงไม่ได้ ต้องอยู่กับบ้านแล้วเราลองนึกภาพ ถ้าคนไม่มีบ้าน หรือไม่มีห้องแยก มันก็ติดกันไปทั่ว เด็กติดโควิดกันระนาว ซ้ำเติมด้วยไม่มีอาหาร ไม่มีนม ไม่มีการเรียนรู้ พัฒนาการที่เด็กควรจะได้เรียนรู้ ได้เล่น หรือมีกิจกรรมรวมหมู่กับเพื่อน ก็ไม่มี เด็กบางคนต้องอยู่บ้านคนเดียว ไม่เจอใครเลย 

เงิน 600 สำหรับการเลี้ยงดูเด็กแต่ละเดือน ถือว่าเพียงพอไหม

คนรวยอาจจะนึกไม่ออกว่าเงิน 600 เอาไปทำอะไรได้บ้าง แต่สำหรับคนจน ส่วนหนึ่งคือเอาไปซื้อนมผงได้ ส่วนที่สองเอาไปซื้อแพมเพิร์ส คนอื่นอาจไม่เข้าใจว่า หาว่าจนแล้วไม่เจียม ไปซื้อแพมเพิร์สทำไม มันเป็นของฟุ่มเฟือย แต่จริงๆ แล้ว แพมเพิร์สสำหรับเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เวลาแม่จะออกไปทำงานแล้วหอบลูกไปด้วย หรือฝากลูกไว้ให้ใครเลี้ยงก็ตาม หรือแม่อยู่บ้านที่แออัด เรื่องสุขอนามัยจึงสำคัญมาก 

หรือกรณีต้องไปซื้ออาหาร บางคนอาจจะซื้ออย่างประหยัด เงินจำนวนนี้เขาเอาไปทำอะไรได้เยอะมาก ซื้อหมู ซื้อไข่ ซื้อผักมาตุนไว้ ได้กินทั้งครอบครัว แต่ความเป็นจริงก็คือเงิน 600 ไม่สามารถทดแทนรายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ของเขาได้ แน่นอนว่า 600 บาท ก็ช่วยเติมเต็มชีวิตให้ดีขึ้นได้ เป็นการเติมเต็มรายได้ให้เขาเอาไปเลี้ยงลูก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพอกินไปทั้งเดือน

กระทั่งการที่ลูกจะต้องไปหาหมอ บางคนไม่มีเงินสดติดตัวเลย ถึงจะพาลูกไปหาหมอรักษาฟรีได้ แต่ค่ารถล่ะ เราเคยสัมภาษณ์พ่อเลี้ยงเดี่ยวบางคนบอกว่า ปู่ย่าตายายเอาเงินพวกนี้ฝากไว้ วันนี้ยังพอมีกิน พอเบียดกันไปได้ แล้วฝากเงินจำนวนนี้ใส่ธนาคารไว้ ใส่กระปุกไว้ เพื่อเอาไว้เป็นทุนให้เด็กๆ ต่อไป โดยกะว่าปีหนึ่งก็ได้ 7,000 กว่า 6 ปีก็ได้ 40,000 กว่า เอาไว้เป็นทุนให้ลูกเรียน อันนี้สำหรับคนที่พอประคับประคองเรื่องอาหารการกินได้ แต่คนที่ประคับประคองไม่ได้เลยก็ต้องนำไปใช้จ่ายแบบอื่นๆ เท่าที่จะสามารถทำได้ 

รัฐบาลให้เหตุผลว่า ยังไม่สามารถให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าได้ เพราะเงินไม่พอ คำถามคือ เงินไม่พอจริงไหม

รัฐมีมายาคติที่ว่า หนึ่ง – ไม่ให้ลูกคนรวย เพราะถ้าให้แบบถ้วนหน้าจะกลายเป็นว่าต้องให้ลูกคนรวยด้วย อันนี้คือข้ออ้างหนึ่ง นอกเหนือจากเรื่องเงินไม่มี แต่ตอนนี้สังคมไทยก้าวหน้ามาแล้ว ตัวอย่างเช่น วันนี้ผู้สูงอายุได้รับเงินทุกคน วันนี้เด็กทุกคนเรียนฟรี วันนี้มีบัตรทอง ไม่จำกัดความจนความรวย สุดท้ายนี้เราเหลือคนกลุ่มเดียวคือ เด็กเล็ก 

สอง – เราได้มติ กดยช. ปี 2563 เห็นชอบในหลักการที่จะผลักดันให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า แต่ต้องย้อนอดีตไปอีกนิดว่า ตอนพรรคการเมืองหาเสียงกันก่อนจะมาเป็นรัฐบาลชุดนี้ เราเชิญพรรคการเมืองทั้งหมดมาพูดเลยว่า คุณคิดกับเรื่องเงินเด็กเล็กถ้วนหน้าอย่างไร ตอนนั้นเรียกว่าเกือบทุกพรรคเห็นด้วยหมด ให้เงินมากกว่า 600 อีก แต่พอมาเป็นรัฐบาล คำถามคือทำไมคุณไม่ทำในสิ่งที่คุณหาเสียงไว้ 

อีกทั้งมติของ กดยช. ที่มีรองนายกฯ เป็นประธาน แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการระดับชาติของคุณเอง มีทั้งหน่วยงานกระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรปกครองท้องถิ่นเยอะแยะ เขามีมติกันออกมา 2 รอบแล้วว่ารับหลักการถ้วนหน้า แล้วทำไมคุณไม่ทำตาม บอกว่าไม่มีเงิน เราก็วิเคราะห์กันนะ ว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่มาจากภาษีประชาชนบวกกับเงินกู้อีกหลายแสนล้านบาท ถามว่า พม. ที่เป็นหน่วยงานดูแลเด็ก ทำไมได้เงินมาประมาณ 24,000 ล้านบาทเท่านั้น

ตอนนี้มีเด็ก 2 ล้านคน ได้รับเงิน 600 บาท ใช้เงินประมาณ 14,000 ล้านบาท เราก็บอกว่า “นี่ไง ทำตามมติ กดยช. ทำตามสิ่งที่คุณหาเสียงเอาไว้ด้วย” คุณเพิ่มเงินอีกประมาณไม่เกิน 15,000 ล้านบาท คุณจะสามารถปิดฉากนี้ได้เลย สามารถเริ่มสตาร์ทเด็ก 0-6 ขวบทั่วประเทศได้เลย ขณะเดียวกัน มีตัวเลขยืนยันเยอะแยะว่า เด็กเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ตอนนี้เด็กเกิดจริงๆ ประมาณ 500,000 คน จากเดิมเกือบล้าน ฉะนั้นถ้าคุณเริ่มจ่ายถ้วนหน้าวันนี้ หรือเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ตามมติ กดยช. ปีต่อๆ ไป งบประมาณจะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะเด็กเกิดน้อยลงเรื่อยๆ นี่คือความเป็นจริง

ปัจจุบันรัฐมีเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท คุณให้ พม. 24,000 ล้านบาท แล้วเอาให้เด็กแค่ 14,000 ล้านบาท นอกนั้นคืองานอื่นของ พม. ขณะที่กระทรวงกลาโหมได้งบ 203,000 ล้านบาท ยังไม่นับว่าที่ไปแอบๆ อยู่ในงบกระจัดกระจายอีก ฉะนั้นเงิน 15,000 ล้านที่ควรเพิ่มเข้ามา มันสามารถดึงออกมาจากงบอีกหลายตัวที่ไม่จำเป็นได้ ถ้ารัฐบาลพูดว่าไม่มีเงิน มันก็ไม่มีเงินหรอก ใช้เท่าไรก็ไม่พอหรอกเงินน่ะ ทั้งซื้อเครื่องบิน ซื้ออะไรสารพัด ในความเป็นจริงแล้วทุกกระทรวงมีงบที่ไม่จำเป็นจำนวนมากที่สามารถเจียดได้ เพราะเราต้องการอีกนิดเดียว แค่เจียดมาจากกระทรวงกลาโหมก็เพียงพอแล้ว เพราะเราต้องการแค่ 15,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่ทำ อ้างไม่มีเงิน

ถ้าเราลงทุนกับเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ท้ายที่สุดแล้วในอนาคตการลงทุนนี้ จะให้ผลตอบแทนแบบไหนกลับสู่ประเทศบ้าง

หนึ่ง – พอเด็กเขาโตขึ้น เขาจะมีคุณภาพ เราคงไม่อยากเห็นเด็กผอม เด็กสมองไม่ดี เด็กป่วย เราอยากเห็นเด็กที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ดี สอง – ถ้าพูดแบบนักเศรษฐศาสตร์ คือ ศาสตราจารย์เจมส์ เจ. เฮคแมน (James J. Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2542) บอกว่าการลงทุนกับเด็กจะให้ผลลัพธ์กลับมา 7 เท่า สูงกว่างบประมาณที่ใช้ในการดูแลอย่างอื่น 

แต่เรามองว่า ไม่ต้องคิดอื่นไกลหรอก เอาความจริง ตรงไปตรงมา ทั้ง ครม. หรือ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล หรือข้าราชการที่เถียงคอเป็นเอ็นว่า ไม่ให้เพราะไม่มีเงิน ถามว่าถ้าเป็นลูกคุณ แล้วเขาลำบาก คุณจะช่วยเขาแค่ไหน ทุกคนก็ทุ่มเทให้ลูกเอาเป็นเอาตาย เพราะรู้ว่าการเลี้ยงดูลูกวัยเด็กให้เติบโตเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต้องถามใครหรอก ถามตัวคุณเองว่าเวลาคุณเลี้ยงลูก คุณเลี้ยงแบบไหน คุณอยากให้ลูกคุณ มีร่างกาย อารมณ์ จิตใจ เป็นยังไง

ประเมินว่าการผลักดันเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า จะทันกับงบประมาณปี 2565 ไหม

พอเราได้มติ กดยช. และองค์กรท้องถิ่นก็เห็นด้วยกับเราหมด เราก็คิดว่าน่าจะจบสักที ปรากฏว่าไม่ทันปีงบประมาณ เมื่อสืบสาวราวเรื่องปรากฏว่า พม. ไม่ได้เสนองบประมาณนี้เข้าไปสู่มติ ครม. อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราต้องการมติ ครม. มารับรองมติของ กดยช. เราเลยไปถามสำนักงบประมาณ ถาม พม. และอีกหลายสำนัก พบว่า พม. ไม่ได้เสนองบประมาณนี้เข้าไปตามแผน มันจึงไม่ได้เข้าสู่ ครม. 

เราโทษใครล่ะ จะโทษนายกฯ นายกฯ ก็คงจะบอกว่า คุณไม่ได้เสนอเข้า ครม. นี่ แล้ว ครม. จะมีมติได้ยังไง ถ้าเราได้เข้าพบ คุณจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ว่าทำไมไม่เสนอ เขาก็จะบอกว่าเงินไม่มี 

ส.ส. ฝ่ายค้านก็ลุกขึ้นมาอภิปรายตัดงบประมาณได้ 15,000 ล้าน ซึ่งฝ่ายค้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเราอยู่แล้วเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เขาก็อภิปรายกันในสภามาเป็นลำดับหลายรอบ ปรากฏว่า โดยระบบรัฐธรรมนูญตอนนี้ ส.ส. ไม่สามารถแปรญัตติเพิ่มงบประมาณให้ใครได้ ต้องรัฐบาลเท่านั้น ส.ส. มีหน้าที่ตัดอย่างเดียว ตัดมาได้ 15,000 ล้าน หลายพรรคบอกว่ายินดีเอามาสนับสนุนเป็นเงินเด็กเล็ก แต่สำนักงบประมาณชี้แจงว่า กระบวนการคือ พม. ไม่ได้เสนอเข้าไปในแผนของ ครม. มันจึงไม่สามารถเพิ่มได้

เกิดอะไรขึ้น ทำไม พม. ไม่เสนอเข้า ครม.

พม. อ้างว่า มองดูแล้วรัฐบาลไม่มีเงิน เลยไม่เสนอ บ้าบอมากๆ เราเลยบอกว่า งั้นเราของบกลาง เพราะว่างบกลางของรัฐบาลมี 500,000 ล้าน รัฐบาลอาจจะอ้างว่าต้องเอาไปช่วยโควิด แต่ความจริงถ้าจะช่วยเด็กยังสามารถทำได้ด้วยการใช้งบกลาง ตอนนี้งบประมาณประจำปีมันปิดฉากไปแล้ว เหลืองบกลางที่รัฐบาลสั่งให้อำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เราก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน ตอนนี้ที่น่ากังวลหนักกว่านั้นคือ ในงบประมาณ 2566 อาจจะไม่มีเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเลยด้วย

สำหรับเรา พม. เป็นความหวังของผู้คนมากๆ ตอนก่อตั้งขึ้นมา เพราะเป็นกระทรวงที่เปลี่ยนจากความมั่นคงของชาติมาเป็นความมั่นคงของมนุษย์ ที่จริงแล้ว พม. กับกระทรวงแรงงานควรจะเดินไปด้วยกัน พม. ไม่ใช่แค่มีอำนาจมาสงเคราะห์คนตกหล่น แต่ต้องทำให้คนมีงานทำ มีรายได้ มีความมั่นคง แล้วค่อยไปสู่การจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อเติมเต็มให้กับคนจน

แต่ตอนนี้ พม. ทำหน้าที่เหมือนสงเคราะห์ ไม่สามารถสร้างฐานสวัสดิการสังคมได้ ส่วนคนตกงานก็ย่ำแย่ กระทรวงแรงงานปีนี้ก็ได้งบแค่ 49,000 ล้าน ท่ามกลางคนตกงานมหาศาล กระทรวงสาธารณสุขที่ว่าเจอโควิดหนักๆ ก็ได้งบประมาณราวๆ 150,000 ล้านบาท หากลองเทียบสัดส่วนของงบประมาณ เราสามารถฟันธงได้เลยว่า การจัดสรรงบประมาณมันผิดพลาด บิดเบี้ยว 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า