เป็นเวลา 20 ปีเต็ม บนก้าวย่างของ ‘ฟ้าเดียวกัน’ นับตั้งแต่สำนักพิมพ์แห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นในบรรณพิภพ ได้นำเสนอเนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์สังคมการเมืองชนิดเข้มข้น พร้อมๆ ไปกับการเปิดเว็บบอร์ด (กระดานสนทนา) เบิกเนตรสังคมไทยในยุคนั้นให้ได้รู้จักคำว่า ‘ตาสว่าง’
จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ฟ้าเดียวกันได้ประกาศยุติการตีพิมพ์วารสารรายไตรมาส หากยังคงเดินหน้าผลิตหนังสือเล่มและหนังสือชุดต่อไป
จากจุดเริ่มต้นโดย 3 นักกิจกรรมหัวขบถ ประกอบด้วย ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการบริหาร) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า) และชัยธวัช ตุลาธน (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล) ร่วมลงขันผลิตหนังสือทางเลือกที่มีจุดยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามผู้มีอำนาจและความไม่เป็นธรรม จึงไม่แปลกที่สำนักพิมพ์แห่งนี้จะถูกผลักให้เป็นศัตรูของรัฐอยู่เสมอ ทั้งด้วยข้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ไปจนถึงข้อกล่าวหา ‘สื่อล้มเจ้า’
จะอย่างไรก็แล้วแต่ แม้จะถูกรัฐสกัดกั้น คุกคาม กลั่นแกล้งเพียงใดก็ตาม ทว่าสถานการณ์การเมืองที่แหลมคมในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง กลับยิ่งทำให้ผู้คนกระหายความจริง และนั่นทำให้หนังสือเล่มต่างๆ ภายใต้สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างหนาหู
กันยายน 2565 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้รับชนะเลิศรางวัล ปรีซ์ วอลแตร์ (Prix Voltaire) โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (International Publishers Association) ด้วยเหตุผลหลักคือ ความกล้าหาญและไม่เกรงกลัว
“ผมไม่กลัวคุณ” คือประโยคหนึ่งที่ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร กล่าวไว้เมื่อครั้งถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) บุกยึดวารสารฉบับอื้อฉาวระดับตำนาน หรือที่เรียกกันว่า ‘ปกโค้ก’
นี่คือบทพิสูจน์หนึ่งของคนทำหนังสือที่เชื่อมั่นในหลักสิทธิเสรีภาพ และยังคงยืนเด่นโดยท้าทายต่ออำนาจอยุติธรรม
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันให้ฟังอีกสักครั้ง
มันเริ่มจากกลุ่มพวกเราที่เป็นนักกิจกรรม เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และสนใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคม อีกส่วนหนึ่งอาจเพราะรู้สึกว่า ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีหนังสือที่เราอยากจะอ่านสักเท่าไร ถ้าพูดในเชิงการตลาดหน่อยก็คือ มันยังมีอีกตลาดหนึ่งที่ยังไม่มีคนทำ แล้วเราน่าจะทำตลาดตรงนี้ได้
ตอนนั้นเริ่มทำด้วยกัน 3 คน คือผม ซึ่งเรียนจบแล้ว เป็นผู้ช่วยวิจัยที่ธรรมศาสตร์ กับรุ่นน้องอีก 2 คน คือคุณเอก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า) ตอนนั้นเขาน่าจะเพิ่งเรียนจบมั้ง แล้วก็คุณต๋อม ชัยธวัช ตุลาธน (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคก้าวไกล)
ก่อนทำสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ไอเดียในการทำหนังสือมันอยู่ในหัวมานานแล้วตั้งแต่สมัยเรียน ประกอบกับเป็นจังหวะชีวิตพอดี มีรุ่นพี่คนหนึ่งคือ อาจารย์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ (รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้า) เขาชวนไปช่วยงานที่สถาบันพัฒนาการเมือง จริงๆ เราก็ไม่รู้อะไรหรอก รู้อย่างเดียวคือมันมีหนังสือให้มาลองทำ เราก็ถือโอกาสเอาเงินคนอื่นมาลองทำหนังสือ ก็ดีกว่าควักเงินตัวเอง (หัวเราะ) เราก็ลองทำดูก่อน เป็นวารสารชื่อ การเมืองใหม่ แล้วก็มีหนังสือเล่มบ้าง ซึ่งก็เป็นการสั่งสมทักษะอย่างหนึ่ง
พอทำได้สัก 1-2 ปี ผมก็ชวนชัยธวัชมาทำด้วยกัน แล้วชัยธวัชเขาเป็นเพื่อนกับธนาธรอีกทีหนึ่ง พอทำไปสักพัก เฮ้ย เรา 3 คน ชวนกันมาทำสำนักพิมพ์ดีกว่า คุยกันในปี 2544 ตอนนั้นยังไม่เคยมีใครทำธุรกิจเลยนะ ธนาธรก็เพิ่งเรียนจบมาเลย ส่วนผมก็มีประสบการณ์ใช้เงินคนอื่นทำหนังสือมาแล้ว แต่ยังไม่เคยลงทุนเอง เราก็เริ่มมาลงทุนกัน
ผมจำได้ว่า เราทำแผนธุรกิจไว้เรียบร้อย พอดีกับจังหวะชีวิตที่คุณพ่อของธนาธรเสีย ธนาธรเลยเปลี่ยนเส้นทางไปเป็นนักธุรกิจ เราก็เหลือกันอยู่ 2 คน ก็ต้องทำต่อเพราะคุยกันแล้ว
หลังออกจากงานผู้ช่วยวิจัย ผมก็มาเริ่มงานใหม่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถ้าพูดตามตรง เราก็เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกัน 3 คน ควักเงินลงทุนกันเอง ผมก็พอมีตังค์อยู่นะ จำได้ว่าลงขันกันคนละ 200,000 บาท สมัยนั้นคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเครื่องเดียวก็ปาไป 70,000 กว่าบาทแล้ว 200,000 บาทแม่งหายไปในพริบตา
แผนธุรกิจที่ว่านั้นออกแบบไว้อย่างไร
โมเดลธุรกิจของเราวางไว้ 3 ขา หนึ่ง – ทำสำนักพิมพ์ ผลิตหนังสือ ทั้งวารสารและหนังสือเล่ม สอง – เรารู้อยู่แล้วว่าถ้าทำแค่หนังสือ มันเจ๊งแน่ เราก็ต้องทำธุรกิจอื่นไปด้วย คือเอาทักษะที่พอมีไปรับจ็อบ ตั้งแต่จัดหน้าหนังสือ จัดนิทรรศการ ทำร้อยแปดที่ได้ตังค์ สาม – ใช้ทักษะที่มี มาทำงานขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
ตอนหลังสิ่งที่ทำมาก็เริ่มออกดอกออกผลนะ ผมคิดว่าหลายอย่างมันไม่ต้องออกในนามฟ้าเดียวกันก็ได้ เช่น รายงาน ศปช. (ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 2553) ที่มีอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ (อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นบรรณาธิการ นั่นคือเราใช้ทั้งออฟฟิศฟ้าเดียวกันเพื่อจะทำงานชิ้นนี้
นี่คือโมเดลธุรกิจ ลองผิดลองถูก นับไปนับมาก็ 20 ปีพอดี
อะไรคือที่มาของชื่อ ‘ฟ้าเดียวกัน’
โจทย์ง่ายมาก แต่ยากมากเลย ตอนที่เราคิดจะทำสำนักพิมพ์ โจทย์แรกคือ เราจะใช้ชื่อภาษาไทย ผมเข้าใจว่าในตอนนั้นสำนักพิมพ์มติชนน่าจะเป็นหัวสุดท้ายที่ใช้ชื่อภาษาไทย ที่เหลือใช้ชื่อภาษาอังกฤษหมดเลย เราไม่ได้ชาตินิยมอะไรนะ แต่คิดว่ามันต้องมีอัตลักษณ์บางอย่าง
ชื่อฟ้าเดียวกันก็มาจากไอเดียผม ตอนเด็กๆ ผมจำได้ ผมเคยอ่านหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชื่อ เจ้า-ข้าฟ้าเดียวกัน ในหน้าแรกแกบอกว่า ฟ้าเดียวกันของแกมาจากโคลงของศรีปราชญ์ บทที่ว่า…
หะหายกระต่ายเต้น ชมแข
สูงส่งสุดตาแล สู่ฟ้า
ฤดีฤดูแด สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่พื้น เดียวกัน
ผมเข้าใจว่า มันคือไอเดียหลักว่า ถ้าคุณ under same sky ทุกคนต้องเท่ากัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร
วางตำแหน่งแห่งที่ของฟ้าเดียวกันไว้แบบไหน และนับตัวเองเป็นสื่อไหม
เราคิดว่าเราก็เป็นสื่อนั่นแหละ เพราะเป็นคนทำหนังสือ โตมากับหนังสือ ขณะเดียวกัน เรารู้อยู่แล้วว่าหากทำหนังสือ มันจะเจ๊ง ไม่ว่ายุคไหนมันก็เป็นขาลงทุกขาทั้งนั้น แต่โดยไอเดียการทำธุรกิจหนังสือ ผมคิดว่าก็เหมือนกับเพื่อนหลายคนที่เป็น NGO ซึ่งลักษณะการทำงานของเขาต้องวิ่งหาแหล่งทุน ขณะเดียวกัน เราเองก็พยายามวิ่งหาตลาด หาคนอ่าน แล้วเราก็รู้อยู่แล้วว่า ธุรกิจจริงๆ มันต้องมีระยะเวลาขาดทุนอยู่ช่วงหนึ่งจึงจะถึงจุดคุ้มทุนและรีเทิร์นกำไร แต่สำหรับฟ้าเดียวกัน ตอนนั้นกำไรมันยังไม่เคยกลับมาเลย ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่ามันต้องขาดทุน แต่เราก็ไม่อยากให้เหตุผลของการขาดทุนจะทำให้เราต้องหยุดทำหนังสือ
วิธีการรักษาธุรกิจให้ได้คือต้องวิ่งหาทุน แบบนี้ไม่ขัดต่อความรู้สึกในการทำหนังสือเหรอ
ผมว่ามันก็ไม่ต่างกันหรอก ถ้าคุณทำนิตยสารก็ต้องวิ่งหาสปอนเซอร์ พูดกันตรงๆ นะ ฟ้าเดียวกันคงไม่มีใครอยากมาเป็นสปอนเซอร์นักหรอก การที่เราต้องวิ่งไปหาจ็อบก็เหมือนคุณจ้าง AE ไปวิ่งหาโฆษณานั่นแหละ สำหรับผม เราคิดว่านี่คือโมเดลธุรกิจตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เหตุผลคือ เราไม่ไปดูหรอกว่าคนที่ประสบผลสำเร็จ มันประสบผลสำเร็จอย่างไร แต่เราจะไปดูว่าเขาล้มเหลวอย่างไร แล้วเราจะไม่ทำอย่างนั้น เช่น ล้มเหลวเพราะไม่มีคนอ่าน เพราะมันเฉื่อย ล้มเหลวเพราะคนโตแล้ว เปลี่ยนความคิดแล้ว ไม่เชื่อแล้ว หรือล้มเหลวอีกร้อยแปดอย่าง
มีช่วงไหนที่เหนื่อยล้าจนอยากเลิกทำไหม
ไม่ๆ ตื่นมาก็ยังตื่นเต้นกับการทำหนังสือทุกวัน (หัวเราะ) มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ไม่รู้สึกว่ามีวันหยุดหรือวันทำงานอยู่แล้ว โดยส่วนตัว ถ้าให้ผมทำงานโดยไม่ต้องมีวันพักร้อน ผมก็ไม่มีปัญหานะ (หัวเราะ)
อะไรคือโจทย์ของการทำวารสารราย 3 เดือน
ตอนนั้นเราคิดอยู่แล้วว่า การทำสำนักพิมพ์จะต้องมีทั้งวารสารราย 3 เดือน และมีหนังสือเล่ม วิธีคิดของเราคือ ทำหนังสือดีๆ ออกมาให้คนอ่าน แล้วต้องมีการตีพิมพ์ซ้ำ อย่างน้อยต้องมีหนังสือในมือสัก 5-10 เล่ม ที่สามารถตีพิมพ์ซ้ำได้ คือคิดแบบยอมขาดทุนช่วงแรก อึดหน่อย พอถึงระยะหนึ่งมันก็จะกลับมาคืนผลตอบแทนให้เรา
หลายๆ อย่างมาประสบผลในตอนหลัง ตอนแรกเราคิดว่าสัก 5 ปี จะคืนทุน เริ่มมีกำไร กลายเป็นว่ามันนานกว่านั้น คือเกือบ 15-20 ปี แต่ไม่ได้แปลว่าทุกเล่มจะเป็นอย่างนั้นนะ เวลาทำหนังสือ เราคิดตลอดเวลาว่ามันไม่ได้ทำเพื่อขายในปีนั้น โดยอุดมคติถ้าพิมพ์หนังสือออกมาแล้ว หนังสือนั้น เพลทนั้น จะต้องใช้ไปอีก 20-30 ปี นี่คือวิธีคิดในอุดมคติ
จริงๆ วิธีคิดแบบนี้ไม่ใช่ผมคนแรกนะ ผมเคยอ่านสัมภาษณ์ของชาติ กอบจิตติ ก็เคยพูดอะไรประมาณนี้ แกบอกเลี้ยงลูกอยู่ 3-4 คน ตอนนี้ลูกเลี้ยงแกหมดแล้ว ลูกแกชื่อ คำพิพากษา พันธุ์หมาบ้า ฯลฯ ซึ่งตอนหลังก็ไม่รู้ว่าลูกยังเลี้ยงแกได้แค่ไหนนะ
อันนี้ก็ไม่ใช่โมเดลใหม่อะไร เราก็ฟังไป เก็บประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ตอนนั้นเราก็คิดใหญ่ ไม่รู้ใหญ่เกินตัวไปไหมนะ แต่คงไม่ถึงขั้นคุณมกุฏ อรฤดี ที่มีแนวคิดจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติอะไรแบบนั้น หนังสือไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ขนาดนั้น คือเวลาเราทำหนังสือ ไม่ใช่ทำเพื่อวาระเฉพาะหน้า วารสารของเราจึงมีวิธีคิดอีกแบบ คือคิดบนพื้นฐานของการบันทึกยุคสมัยด้วย ขณะเดียวกัน ต้องไม่ใช่บันทึกที่ตกยุคสมัยเกินไป อย่างบทความหลายชิ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พอกลับมาอ่าน ก็ยังมีประโยชน์อยู่นะ หรืออย่างน้อยก็มีบางแง่มุมที่ช่วงนั้นไม่มีใครบันทึกเหตุการณ์นั้นแน่ๆ เช่น ตอนเกิดความรุนแรงที่ภาคใต้ เราก็ลงไปตามสัมภาษณ์เลย เก็บบันทึกจากญาติคนที่ตาย ครอบครัวของเขา ประมาณนั้น
พอทำมาสักระยะหนึ่ง ฟ้าเดียวกันแตกไลน์ออกมาเป็นเว็บบอร์ดได้ยังไง
ต้องเล่าอย่างนี้ สมัยผมทำสำนักพิมพ์ เริ่มปี 2545 ยุคนั้นอินเทอร์เน็ตต้องเชื่อมต่อผ่านโมเด็ม ชั่วโมงอินเทอร์เน็ตแพงมาก คุณต้องเติมเงินนะ พอใช้เสร็จต้อง disconnect ไม่อย่างนั้นมันจะหมดตังค์ (หัวเราะ) ดังนั้น วิธีคิดเรื่องการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์หรือเว็บไซต์ มันยังเป็นต้นทุนที่แพงมาก คนเข้าถึงได้น้อย
ส่วนหนึ่งต้องบอกว่า เราเห็นพลังของมัน ลองนึกดูนะ เมื่อก่อนการที่หนังสือของคุณจะได้รับการแนะนำในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารรายสัปดาห์ มากที่สุดก็คือได้ลงวันเสาร์อาทิตย์ แล้วลงในกรอบที่เล็กกระจึ๋งเดียว ดังนั้นโดยสภาพแล้ว ต่อให้เราทำสิ่งพิมพ์ แต่เราก็มองเห็นศักยภาพของสื่อออนไลน์อยู่
พอเริ่มทำเว็บไซต์ หนึ่ง – เราคิดบนพื้นฐานการสื่อสารก่อน สอง – เว็บไซต์มันมีฟังก์ชันหนึ่งที่เรียกว่าเว็บบอร์ด ตอนนั้นที่ดังที่สุดคงเป็น pantip ซึ่งไอเดียแบบบ้าระห่ำที่สุดตอนทำเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน คือ เราจะพูดไปให้ไกลที่สุดเท่าที่สังคมไทยเคยพูดถึง ด้วยการไม่ปิดกั้นอะไร เราถือธงว่า จะพูดทุกเรื่องที่พูดได้ ต่อให้สังคมไทยยังไปไม่ถึง เราก็จะไปไกลกว่านั้น แล้วช่วงจังหวะเวลานั้นคือกรกฎาคม 2549 หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน มันรัฐประหาร กันยายน 2549
ผมจำได้ว่าช่วงนั้นมีบางเว็บบอร์ดถูกปิด แสดงความเห็นได้น้อยลง ตอนนั้นเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันก็เลยพุ่งขึ้นมา
แต่ตอนนั้นไม่มี พ.ร.บ. คอมพ์ฯ?
พ.ร.บ.คอมพ์ฯ มาหลังรัฐประหาร พูดง่ายๆ ก็คือ เผด็จการไทยมันยังตามไม่ทัน แล้วด้วยความที่เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันไม่เซนเซอร์อะไรเลย ไม่ต้องล็อกอินด้วยนะ ระบบมันอาจจะก็อกแก๊กไปหน่อย แต่พอเราทำไปถึงจุดหนึ่งแล้วมีคนเข้ามาอ่านเยอะ ก็มีคนเข้ามา flood มาถล่ม มาก่อกวน จนมันไม่เป็นบทสนทนา พอดีว่ามีเพื่อนคนหนึ่งเขามีทักษะในการทำเว็บไซต์ เลยอาสามาทำเว็บบอร์ดให้ คือถ้าจ้างคงเสียเงินหลักหมื่นหลักแสน แต่เพื่อนคนนี้เขาก็มาทำให้เป็นระบบมากขึ้น
จำได้ว่าข้อเขียนของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นที่ร่ำลือมากในเว็บบอร์ดนี้?
อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อก่อนเขาเขียนอยู่เว็บบอร์ดมหาลัยเที่ยงคืน แต่ผมคิดว่า มีไอเดียอะไรบางอย่างอยู่ในหัวเราอยู่แล้ว อย่างตอนทำหนังสือ มันอยู่ในหัวเราอยู่แล้วว่า เราจะไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ขอบฟ้าเสรีภาพจะไปถึง หรืออย่างน้อยก็ขยับเส้นไปเรื่อยๆ ถ้าคุณจะวิเคราะห์การเมืองไทย คุณไม่สามารถตัดปัจจัยสถาบันกษัตริย์ออกไปได้ คุณจะบอกว่าปัญหาสังคมการเมืองไทยทุกอย่างเกิดขึ้นระหว่างนักการทหารขี้โกง นักการเมืองขี้ฉ้อ ประชาชนผู้หลงมัวเมา อะไรแบบนี้ไม่ได้ เพราะเราเห็นอยู่แล้วว่ามันมีตัวละครอื่นๆ อยู่ด้วย
ถ้าไอเดียของคุณคือ คุณอยากเข้าใจสังคมไทย ปัจจัยหนึ่งในการเข้าใจสังคมไทยคือคุณต้องจำแนกตัวละครทุกตัว เอาผู้เล่นทุกตัวของการเมืองไทยมาวางไว้บนโต๊ะก่อน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป แต่คุณไม่สามารถเข้าใจสังคมไทยและปัญหาการเมืองไทยได้เลย ถ้าคุณละเลยตัวละครที่สำคัญ ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้บอกนะว่าประเทศนี้มันมีเฉพาะปัจจัยนี้ หรือถ้าแก้ปัจจัยนี้แล้ว เรื่องทุกอย่างจะแก้ไขได้หมด มันไม่ใช่ มันคนละเรื่อง เราเพียงบอกว่า ถ้าคุณไม่มองปัจจัยอันนี้ คุณไม่มีทางเข้าใจปัญหาการเมืองไทยได้เลย
มันก็เหมือนคำฝรั่งที่ว่า มีช้างอยู่ในห้อง นั่งอยู่ตัวใหญ่เต็มห้อง มันเห็นอยู่แล้ว คุณจะบอกว่าไม่มีช้างได้ยังไง
หลังจากทะลุเพดานไประดับหนึ่งแล้ว ชุมชนเว็บบอร์ดอยู่กันอย่างไร
ผมเชื่อนะว่าคุณเซนเซอร์ไปก็ไม่ได้อะไรหรอก โดยไอเดียพื้นฐานที่สุดเลยนะ เอาง่ายๆ สำหรับผม ผมไม่ได้มีปัญหากับ hate speech ในความหมายนี้นะ คือถ้าสังคมมีเสรีภาพที่จะถกเถียงมากพอ เวลาใครเขียน hate speech คนในชุมชนก็จะเข้ามาถกเถียง เข้ามาบอกเองแหละว่าถูกหรือผิด สำหรับผม วิธีแก้คือเอา hate speech นั้นมาวางไว้กลางแจ้ง กลางสี่แยก ผมคิดว่า hate speech ส่วนใหญ่กลัวแสงสว่าง ดังนั้น ต้องเปิดพื้นที่ให้คนมาถกเถียงกับ hate speech นั้น แล้วสังคมก็จะบอกเองว่าทางที่ถูกที่ควรคืออะไร
ขณะเดียวกัน บรรยากาศเว็บบอร์ดในช่วงเวลานั้น บางคนเราก็เห็นพัฒนาการที่ดี ส่วนคนประเภทที่มาแบบรักในหลวง ห่วงลูกหลาน ไม่ฟังอะไรเลย มันก็มีกระบวนการจัดการในชุมชนเอง มากกว่านั้น ก็ยังมีคนเข้ามาอ่านโดยที่ไม่จำเป็นต้องมาเขียนอะไรก็ได้
การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียแบบนี้ ช่วยสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้นไหม
ผมยังชอบบรรยากาศเว็บบอร์ดนะ คืออย่างน้อยถ้าเจ้าบ้านมีความเป็นกลางเพียงพอ อย่างเฟซบุ๊กมันมีเจ้าของบ้าน เหมือนเราเป็นผู้ไปเยือน แล้วบางทีเจ้าของบ้านมันบล็อกเรา เราถ้าไปพูดไม่ถูกหู แต่เว็บบอร์ด มันคือสนามกลาง ถ้าคนคุมสนามกลางมีความเสรีมากพอ
เจอเกรียนคีย์บอร์ดบ่อยไหม
เยอะแยะเลย (หัวเราะ) ผมไม่มีปัญหากับคำว่า เกรียนคีย์บอร์ด หรือ hate speech นะ สำหรับผม ไอ้พวกนี้มันกลัวแสงสว่าง ประเภทมาด่าพ่อล่อแม่ มาเลย แล้วคนพวกนี้มันจะกลายเป็นตัวตลกเอง ผมเชื่อว่าคนแบบนี้มันมีอยู่ในโลก ในทางกลับกัน ความคิดของเราก็ไม่ใช่ความคิดของคนส่วนใหญ่อยู่แล้ว เราเป็นคนส่วนน้อยกว่าไอ้พวกนี้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าเราไปปิดกั้น แล้วบังคับว่าคุณต้องพูดสุภาพแบบนี้ๆ นะ เดี๋ยวเราก็จะถูกเตะออกจากมาตรฐานแน่ๆ
ถ้าเราคิดบนพื้นฐานว่า เราเป็นพวกชนกลุ่มน้อย เราก็จะรู้สึกว่าไอ้นี่ไม่ใช่ปัญหา
เหมือนสังคมไทยทุกวันนี้ไหม คือยิ่งปิดกั้น ยิ่งหาช่องระเบิดออก
ใช่ๆ พูดกันจริงๆ เลยนะ คือประเทศนี้มีคนอยากล้มเจ้าแน่ๆ คุณบอกไม่มีได้ยังไงวะ คุณบอกไม่มีเพราะกฎหมายมันห้ามล้มเจ้า มันก็เลยไม่มี แต่ถามว่า คุณมีกฎหมายห้ามล้มเจ้า แล้วประเทศนี้จะไม่มีคนอยากล้มเจ้าเหรอ เหมือนกับเวลาคุณบอกว่า ประเทศนี้คุ้มครองเด็ก ห้ามละเมิดทางเพศเด็ก เมื่อคุณออกกฎหมายคุ้มครองเด็กแล้ว เท่ากับว่าประเทศนี้จะไม่มีคนแบบนี้เหรอ ไม่ใช่ มันมีแน่ๆ แล้วอาจจะมีมากขึ้นด้วยซ้ำ
ความสนุกของการทำเว็บบอร์ดคืออะไร
มันไม่สนุก (หัวเราะ) สนุกหรือไม่สนุกไม่รู้ แต่ผมคิดว่า มันคือคลื่นลูกแรกๆ ที่แสดงถึงบทบาทของสื่อออนไลน์ที่พ้นไปจากสื่อแบบเดิม เมื่อก่อนถ้าสมศักดิ์จะเขียนบทความเผยแพร่ความคิด สมศักดิ์ต้องเขียนบทความไปลงหนังสือพิมพ์ แล้วลุ้นว่าหนังสือพิมพ์จะกล้าลงไหม ลงแล้วจะเซนเซอร์ไหม ลงแล้วจะมีคนอ่านไหม
แต่ตอนหลัง สมศักดิ์หรือคนอื่นๆ เขียนลงสื่อออนไลน์เลย คนอ่านหรือไม่อ่านไม่รู้ หรือถ้าไม่อ่านวันนี้ อีก 5 ปี 10 ปี คนก็อาจจะกลับมาอ่านก็ได้ คือผมคิดว่า โลกออนไลน์มันทำลายสิ่งที่เรียกว่าตัวกลางออกไป ส่วนใครจะบอกว่า โอย เราต้องมีตัวกลาง ต้องมีบรรณาธิการคอยดูนะ โอเค ฟังก์ชันบางอย่างอาจจะยังจำเป็น แต่ในความเห็นผม ตัวนี้มันคือตัวปิดกั้นเสรีภาพ
ผมคิดว่าสื่อออนไลน์ในยุคนั้น มันคือการท้าทายครั้งแรกๆ ของสังคมไทยในการทดสอบเพดาน แล้วการตอบโต้ของรัฐคืออะไรรู้ไหม พอรัฐประหารเสร็จ ก็ออก พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เลย (หัวเราะ) พ.ร.บ.คอมพ์ฯ มันก็คือ 112 ภาคที่ไม่เห็นว่าเป็น 112 นั่นแหละ มันไม่มีอะไรเลย พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ในประเทศไทยมันไม่ได้ส่งเสริการใช้คอมพิวเตอร์ห่าเหวอะไรเลย แล้วไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภคด้วย แต่มันเอามาจัดการกับความเห็นต่างแบบนี้แหละ
พอมีช่องทางโซเชียลมีเดีย แล้วคุยเนื้อหาเข้มข้นแบบนี้ ทำให้ฟ้าเดียวกันถูกเพ่งเล็งมากขึ้นไหม
ชัวร์ดิ ล้มเจ้า (หัวเราะ) พูดเลยนะ ข้อหาแรกๆ ของฟ้าเดียวกันอาจจะไม่ใช่ล้มเจ้า ผมมีปัญหามาตั้งแต่ยุคคุณทักษิณแล้ว เพราะไปตั้งคำถามเรื่องตากใบ กรือเซะ แล้วก็โดนขู่ด้วยมาตรา 116 (ฐานยุยงปลุกปั่น) มาตั้งแต่ยุคนั้น คือสำหรับผม เวลาคนมีอำนาจแม่งตาบอดทั้งนั้น จนอาจจะลืมไปแล้วว่าเคยพูดอะไรไว้
การเขียนวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ สำหรับผมมันพื้นๆ ที่สุดแล้วนะ ในตอนนั้นคุณเป็นรัฐบาล คุณก็อยากอวยเจ้าก็ได้ หรือคุณอาจใช้ข้อหา 112 เข้ามาเล่นงานคนที่แตกต่างจากคุณ เอาง่ายๆ ฟ้าเดียวกันฉบับ ‘ปกโค้ก’ (สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย) ออกมาปี 2548 สมัยคุณทักษิณเลย ในเล่มนั้นมีบทสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แล้วอาจารย์สุลักษณ์แกคงไปขึ้นเวทีพันธมิตรด้วย แล้วไอ้คนที่ต่อต้านพันธมิตรก็คือพรรคพวกคุณทักษิณ ลูกน้องคุณทักษิณนี่แหละ คาราวานคนจนก็ไปเล่นงาน เอาหนังสือฟ้าเดียวกันไปเผาที่สวนลุมฯ คนที่ทำก็ไม่ใช่ใคร ชื่อชินวัฒน์ หาบุญพาด (นายกสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับรถแท๊กซี่) ตอนหลังมาลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย ปี 2554 แล้วผมก็ต้องไปเลือกไอ้หมอนี่ด้วย (หัวเราะ) คนที่เอาปกโค้กไปเผานี่แหละ
สำหรับผม เราอยู่ที่เดิม ไม่ว่าอะไรยังไง
เล่มปกโค้กยังเป็นหนังสือ ‘ต้องห้าม’ อยู่ไหม
มันก็ยังมีคดีกันอยู่นะ ไม่รู้ว่าต้องห้ามไหม แต่ยังไม่สามารถเอามาขายได้ ถ้าผมเอามาพิมพ์ขาย ก็คิดว่าน่าจะขายดี (หัวเราะ)
หลังรัฐประหาร 2549 เว็บบอร์ดมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
เว็บบอร์ดเป็นสมรภูมิสำคัญในการสู้กับคณะรัฐประหาร ในตอนนั้นเริ่มเป็นชุมชนเเล้ว เราเป็นส่วนหนึ่งของการต้านรัฐประหาร เวลามีการชุมนุมของคนที่ต้านรัฐประหารก็จะมีคนรายงานการชุมนุม ไปถ่ายรูปมา แล้วอัพลงเว็บบอร์ด แต่คุณต้องกลับเข้าบ้านก่อนนะ เพื่อไปใช้อินเทอร์เน็ตโมเด็ม
ในสื่อออนไลน์ การล้อเลียนก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านอำนาจเผด็จการ อย่างสัญลักษณ์เก้าอี้ฟาด ก็มาในยุคนั้นนะ หรือแม้กระทั่งคำว่า ‘ตาสว่าง’ ก็ซัดกันแบบไม่ต้องเกรงใจ
พอเกิดความเป็นชุมชนแล้ว คนที่บอกว่ากูไม่เอารัฐประหาร ก็เขียนเป็นบทวิเคราะห์ หลายคนตอนหลังก็เป็นอาจารย์ ไปเป็นอะไรมากมาย โอเค มันก็เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ผมคิดว่าในตอนนั้นเราน่าจะเป็นคลื่นลูกแรกๆ ของสื่อออนไลน์ แล้วก็ลากกันมาจนถึงปี 2553 ถ้าคุณจำได้ จะมีบทความหรือนิยาย ‘โรงงานปลากระป๋อง’ คนอ่านเป็นล้านนะครับ ผมก็ไม่รู้ว่ามันคือใคร (หัวเราะ) คือเขาจะคอยอัพเดทข่าวในพระราชสำนัก มันมีสำบัดสำนวนในการเขียน แล้วแม่นยำด้วย บอกได้ด้วยว่าจะเกิดระเบิด แล้วก็เกิดระเบิดขึ้นจริงๆ
สุดท้ายแล้วชุมชนแห่งนี้ปิดตัวลงด้วยเหตุผลอะไร
ส่วนหนึ่งคือไม่มีคนจัดการ แล้วก็มีช่วงหนึ่งเราวุ่นจริงๆ ตอนทำเว็บบอร์ดเนี่ยนะ คุณต้องไปหาตำรวจบ่อยมาก แล้วด้วยความที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญ คือผมเป็นแค่ user อีกอย่างหนึ่งพูดกันแฟร์ๆ ก็คือ เราต้องตัดตอนว่าเราไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเป็นแอดมิน เอาง่ายๆ คือเรามีหน้าที่ติดคุก รับหน้ากับตำรวจอย่างเดียว เวลาตำรวจถาม ผมก็ไม่รู้จริงๆ รหัสผ่านผมยังไม่มีเลย ผมมีแต่ล็อกอินของผม
เรียกว่าก็วุ่นวายในชีวิตพอสมควร หลังๆ ก็หาคนมารับผิดชอบเป็นกรรมการชุดใหม่ แต่ก็ไม่มีใครออกหน้านะ เอาง่ายๆ คือผมต้องไป สน.พญาไท ไปกองปราบ มันวุ่นวายกับชีวิตมาก
พูดถึงวารสารฟ้าเดียวกัน มีปกไหนที่ฮือฮาอีกบ้าง
ผมว่าก็มีช่วงพีคๆ ของมันนะ ต้องให้คนอ่านประเมิน แต่หน้าที่เรา เราดูได้ว่าเล่มไหนขายหมด จริงๆ หลายเล่มก็ควรหมดนะ ทำหนังสือมา 20 ปี ถ้าขายไม่หมดก็คงแย่ เรียกว่ามันมีกราฟของมัน ถ้าดูจากยอดพิมพ์ จาก 2,000 เล่ม เป็น 3,000 เล่ม 4,000 เล่ม แล้วก็เริ่มซาลงมาบ้าง
ส่วนหนึ่งเราก็ไม่มีแรงด้วย คือเมื่อก่อนทำวารสารปีละ 4 เล่ม แปลว่าทุก 3 เดือน คุณต้องปิดเล่ม มันค่อนข้างใช้เวลา เหมือนงูกินหาง เช่น เวลาคุณวางธุรกิจไว้ 3 ขา ถ้าคุณจะอยู่รอดให้ได้ คุณต้องรับจ็อบให้เยอะขึ้น พอคุณรับจ็อบเยอะขึ้น คุณก็ทำหนังสือได้น้อยลง พอคุณทำหนังสือได้น้อยลง แปลว่าชีวิตนี้กูมาทำอะไรกันว่ะ (หัวเราะ) มันก็ต้องแก้ปัญหา จ็อบบางอย่างไม่รับ หรือบางอย่างก็ต้องหาสเกลที่ใหญ่ขึ้น
ทั้งที่ฟ้าเดียวกันก็เป็นที่รู้จัก ถูกพูดถึง และมีคนติดตามมากมาย ทำไมถึงยังไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ
ไม่ๆ มันตอบโจทย์ธุรกิจไม่ได้เพราะ หนึ่ง – วารสารขายต่ำกว่าทุนอยู่แล้ว เล่มละ 100-200 บาท ยังไงก็ขาดทุน สอง – ผมคิดว่าต้นฉบับบางอย่างที่เราทำมันใช้เวลาเยอะ วารสารฟ้าเดียวกันทำมา 20 ปี ยังไม่ถึง 100 ปกเลยมั้ง
โอเค เราก็มีขาที่ 3 ด้วย คือเราใช้ทักษะที่มี ทำงานจ็อบ งานสื่อสารต่างๆ งานที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง เราก็เป็นแบ็คอัพให้ ทำสื่อให้ ทำอะไรให้ อันนี้ก็กินทั้งเวลา กินทั้งพลังงาน กินทั้งทรัพยากรไปไม่น้อย
สุดท้ายก็เลยต้องยอมเลิกทำวารสาร?
ส่วนหนึ่งอาจเพราะบทความที่มีคุณภาพส่งเข้ามาน้อยลง น้อยลงไม่ได้หมายความว่านักเขียนไม่มีคุณภาพนะ แต่เขาอาจจะไปเขียนที่อื่น แล้วส่งมาให้เราพิจารณาน้อยลง เราก็แก้ปัญหาจากตีพิมพ์ปีละ 4 เล่ม เป็นปีละ 3 เล่ม จนตอนหลังลดเหลือ 6 เดือนต่อเล่ม บางทีต้องเข็นบทความออกมาเพื่อเอามาเติมให้เต็ม ก็รู้สึกเกรงใจคนอ่านเหมือนกัน
ช่วง 2-3 ปีมานี้ เกิดปรากฏการณ์คนต่อแถวเข้าบูธฟ้าเดียวกันยาวเหยียด เป็นเพราะอะไร
ผมว่ามีหลายปัจจัยนะ อย่างแรกคือในตลาดที่ทำหนังสือประเภทเดียวกันนี้ เราก็ไม่ขี้เหร่หรอก
อีกอย่างที่แน่ๆ ก็คือ ช่วงที่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ข้อหาที่ผมโดน ข้อหาที่ธนาธรโดน ว่าเป็นพวกล้มเจ้า เพราะเขาจะหาช่องทางเตะตัดขาพรรคอนาคตใหม่ แล้วโยงมาถึงฟ้าเดียวกัน พูดง่ายๆ คือเป็นมรสุมอีกลูกหนึ่งที่เข้ามา แต่ในทางกลับกัน พอคุณยิ่งปิดกั้น คนก็ยิ่งอยากอ่าน ยิ่งอยากรู้
ผมต้องขอบอกว่า ปรากฏการณ์ในช่วงเปลี่ยนรัชสมัย การใช้อำนาจมันไม่เนียน เรียกว่าค่อนข้างโฉ่งฉ่าง มันเป็นไปได้ยังไง อยู่ๆ หมุดคณะราษฎรหายไป อยู่ๆ ออกกฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฉบับใหม่
เมื่อก่อนที่เราเคยถกเถียงกันว่า หลังปฏิวัติ 2475 แล้วต้องให้รัฐบาลดูแลทรัพย์สินฯ แต่รัชสมัยปัจจุบัน คุณยุบสำนักงานทรัพย์สินฯ กลับไปเป็นของกษัตริย์ สำหรับผมคือมันโฉ่งฉ่าง จริงๆ อาจจะไม่ได้โฉ่งฉ่างเฉพาะรัชสมัยนี้ก็ได้ อาจเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วงรัฐประหาร 2549 แล้วก็ได้
สำหรับผม มันคือความต่อเนื่องกัน ปรากฏการณ์แบบนี้สะท้อนถึงการใช้อำนาจที่มากขึ้น ฉะนั้น คุณจะเข้าใจปัญหาการเมืองไทยไม่ได้ ถ้าคุณไม่เข้าใจบทบาทของการรัฐประหาร 2549
ตั้งแต่เปลี่ยนรัชสมัย ฟ้าเดียวกันถูกรัฐจับตามากขึ้นไหม
ทั้งการเปลี่ยนรัชสมัย ทั้งรัฐประหาร เราก็คงถูกชี้เป้าอยู่แล้ว เรียกว่าอยู่ๆ ศัตรูก็มากขึ้นน่ะนะ แล้วตอนหลังมี ส.ว. บางคนที่มันฟ้องบ้าๆ บอๆ ทำให้เสียพลังงาน เสียค่าทนาย เสียอะไรเยอะแยะ ก็ทำให้เราเสียต้นทุนมากขึ้น ซึ่งด้านหนึ่งก็สะท้อนกระบวนการยุติธรรมไทยว่า เรื่องบางเรื่องผู้พิพากษาไม่พิจารณาอะไรเลย ประทับรับฟ้องหมด
ในประเทศไทยถ้าคุณตกเป็นจำเลยเมื่อไหร่ มันบ้าบอมาก อย่างเมื่อต้นปี ผมเจอคดีบุกตรวจค้นหนังสือคำปราศรัยของอานนท์ นำภา (สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย) ทั้งที่ในเอกสารไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผมเลยนะ แค่มีรูปถ่ายผมกับหนังสือเล่มนี้ มันก็บอกว่าผมเป็นคนเผยแพร่ เสร็จแล้วมันก็ไปขอหมายศาลเพื่อยึดคอมพิวเตอร์ไปตรวจ โอ้โห ทำอย่างกับเราเป็นอาชญากร แล้วผู้พิพากษาก็เซ็นออกหมายจับ ไม่ตรวจสอบอะไรทั้งสิ้น พวกนี้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ประเทศไทยประชาชนเป็นคนแบกรับต้นทุนตลอด
มีข้อสังเกตว่า หลายคดีที่ถูกกล่าวหา เจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าข้อความไหนที่เป็นปัญหา อย่างนี้เรียกว่าเป็นการกลั่นแกล้งในกระบวนการยุติธรรมไหม
มันตลกที่สุดเลย คำปราศรัยของอานนท์ วันที่ 3 สิงหา 63 (ในการชุมนุมม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์) ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์เลยนะว่าผิดตรงไหน เพียงแค่มึงครอบครองหนังสือเล่มนี้ แล้วกูต้องตรวจสอบมึง ยึดคอมพิวเตอร์มึง มันตลกที่สุดแล้ว
สมมุติว่าท้ายที่สุดพิพากษายกฟ้องอานนท์ แล้วที่ผมเสียเวลา เสียอะไรไป ใครรับผิดชอบ ผู้พิพากษาที่เซ็นหมายจับรับผิดชอบไหม แล้วเดี๋ยวมันก็บอกจะดัดหลังนะ ดังนั้นกูต้องตัดสินให้มันผิด
คือประเทศนี้มันไม่ได้คุ้มครองใครเลย เอาง่ายๆ ถ้าพูดให้ใหญ่กว่านั้นคือ ประเทศนี้อนุญาตให้มีแค่อุดมการณ์เดียว คืออุดมการณ์รักเจ้าแบบเดียว ไม่ใช่ว่ารักเจ้าหรือไม่รักเจ้า แต่ต้องรักเจ้าแบบเดียวเท่านั้น ดังนั้นถ้ามีอะไรแปลกปลอมจากนี้ ก็อาจถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นอาชญากร อย่างคดีอานนท์ ผมไม่เคยเห็นเขาพูดว่าล้มเจ้าเลย ยังไม่มีคำไหนออกจากปากว่า ‘ล้มเจ้า’ สักคำ หรือคดีของเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) มันจะคิดยังไงไม่รู้ แต่มันไม่เคยพูดว่าต้องการ republic ในที่สาธารณะ
จากที่โดนมาหลายคดี ถามจริงๆ ว่ากลัวบ้างไหม
คนอื่นหนักกว่าเราเยอะ ของเรามันคดีขี้หมามาก มันมีความน่ารำคาญมากกว่า มันเสียเวลาแน่ๆ ต่อให้เราไม่รู้สึกอะไร แต่อย่างน้อยครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้างเราก็เครียด เราจะบอกว่าไม่เครียดก็คงไม่ได้
ไม่ใช่ว่าไม่กลัวหรอก แต่ทุกคนก็มีขีดจำกัด อย่างที่บอกว่าไอเดียที่เราทำฟ้าเดียวกันก็คือ เรารู้ว่าประเทศนี้มันมีเส้นแน่ๆ หน้าที่เราคือขยับเส้นไปเรื่อยๆ หรือเปลี่ยนเส้นนั้นไป แต่เราก็รู้ว่าเราเป็นสื่อบนดินนะ ทุกอย่างก็ต้องมีเซนเซอร์ทั้งนั้นแหละ
ในเมื่อเรามีภารกิจขยับเส้น มันก็ต้องมีขวากหนาม เจ็บตัวบ้าง แปดเปื้อนบ้าง เอาง่ายๆ ถ้าถามผม ไม่รู้เรียกว่าปลอบใจตัวเองหรือเปล่านะ คือคนอื่นเขาหนักกว่าเราเยอะ
ข้อถกเถียงที่ว่า สื่อควรเป็นกระจกสะท้อนสังคม หรือเป็นตะเกียงชี้นำสังคม เอาเข้าจริงแล้วจุดยืนของสื่อควรเป็นอะไรกันแน่
สำหรับผม ไม่ว่าสื่อจะเลือกข้างหรือไม่เลือกข้าง จะซ้ายจัด ขวาจัด ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมอยู่แล้ว สิ่งที่ผมต้องการอย่างเดียวคือ เสรีภาพ ซึ่งหมายรวมถึงเสรีภาพของคนส่วนน้อย เพราะคนส่วนใหญ่ครองเสรีภาพอยู่แล้ว แล้วเราก็ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า เราไม่ได้เป็นสื่อส่วนใหญ่หรอก
เวลาใครพูดว่าประเทศนี้รับรองสิทธิเสรีภาพทุกอย่าง บลาๆๆ แล้วมีคำต่อท้าย ‘เว้นแต่’ นั่นแปลว่ามึงไม่มีเสรีภาพ
สำหรับผม ขอย้ำว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องสื่อมวลชนด้วยซ้ำ แต่มันคือเรื่องของประชาชน แล้วในยุคปัจจุบันผมคิดว่าการใช้สื่อเป็นตัวกลาง นับวันยิ่งหมดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ผมอ่านบทวิเคราะห์ของหลายคนที่เขียนลงบนเฟซบุ๊ก ยังดีกว่าบทวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่เราต้องจ่ายตังค์ซื้อเสียอีก
ฉะนั้น ไม่ใช่แค่ว่าสื่อต้องมีเสรีภาพ แต่ประชาชนทุกคนในประเทศนี้ควรมีเสรีภาพ
หลักๆ ผมคิดว่าเราเองก็เป็นสื่อ แต่ขณะเดียวกันเราคงไม่ได้เป็นสื่อแบบทั่วไปอยู่แล้ว แล้วบางครั้งผมยังคิดว่า ในแวดวงสื่อเองก็คงไม่นับเราเป็นสื่อสักเท่าไร มาตรวัดอย่างหนึ่งคือ ผมไม่เคยถูกเชิญไปร่วมวงอะไรเลย เขาคงคิดว่าเราเป็นลูกน้องธนาธรมั้ง เป็นสื่อล้มเจ้ามั้ง
ถึงจะถูกตราหน้า แต่ล่าสุดฟ้าเดียวกันก็ถูกเลือกให้ได้รับรางวัลปรีซ์ วอลแตร์ (Prix Voltaire) ปี 2022 จากสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (IPA) รางวัลนี้มีความหมายอย่างไร
ต้องบอกก่อนว่า ปกติแล้วเรื่องรางวัลไม่เคยมีใครเลือกเรา แล้วก็ตั้งใจตั้งแต่ต้นว่า ถ้าเขาจะเลือกเราก็คง “เอ่อ ไม่เป็นไรหรอกครับ เดี๋ยวให้คนอื่นดีกว่ามั้ง” แต่มันก็เป็นจังหวะชีวิต ช่วงท้ายๆ มีคดีเยอะมาก ทนายก็บอกว่าถ้ามีไว้สักรางวัลก็ดีนะ เราก็โอเค เป็นรางวัลของต่างประเทศ เขาให้ส่งอะไรก็ส่งๆ ไป ส่วนเขาจะเลือกอะไรยังไงก็แล้วแต่เขา
อย่างน้อยผมก็คิดว่า ฟ้าเดียวกันคงไม่ใช่สื่อตามขนบแน่ๆ เราเป็นแค่คนทำหนังสือที่เชื่อเรื่องเสรีภาพ แล้วก็จะใช้เสรีภาพ และพร้อมจะปกป้องเสรีภาพของผู้อื่นด้วย
ในแวดวงวิชาการทุกวันนี้ นอกจากหนังสือของฝ่ายก้าวหน้าแล้ว ทำไมเราจึงไม่เห็นหนังสือคุณภาพดีๆ ของฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษนิยมบ้าง
ผมคิดว่า ไม่ว่าจะฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายก้าวหน้า มันขึ้นอยู่กับบริบท ณ ตอนนั้นด้วยว่า คุณอยู่ในสถานะอะไร ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ว่าไทยหรือสากล ถ้าคุณมีอำนาจเมื่อไหร่ คุณจะไม่ใช้สมอง เพราะการใช้สมองมันเหนื่อย ใช้สมองมันต้องอธิบาย
อันนี้คือโจ๊กใช่ไหม
เอาอย่างนี้ ยกตัวอย่างว่า ทำไมประยุทธ์ถึงไม่ต้องมาอธิบายว่ายึดอำนาจเพราะอะไร มึงจับคนเลย ออกประกาศบ้าบอไปเลย เช่นกันฝ่ายเจ้าตอนก่อน 2475 เขาก็ไม่ต้องมาอธิบายหรอก ว่าทำไมกษัตริย์ถึงสำคัญ บอกไปเลยว่ากูคือรัฐ ทุกอย่างเป็นสมบัติของพระเจ้าอยู่หัว เราเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้เชื่อว่ากษัตริย์ทำเพื่อประชาชนทุกคน
คือทุกคนเวลามีอำนาจ มักไม่ใช้สมอง แม้กระทั่งการปฏิวัติครั้งใหญ่ๆ อย่างรัสเซีย บอลเชวิค ก่อนขึ้นมามีอำนาจ เขาต้องพยายามอธิบายว่าทำไมต้องปฏิวัติ มันต้องอธิบายเพราะคุณไม่มีอำนาจ แต่พอพวกนี้มีอำนาจก็สั่งเลย ทำนารวม แทบจะไม่ฟังด้วย จนนำมาสู่ความพินาศย่อยยับ แม้กระทั่งคอมมิวนิสต์ที่มีอำนาจอย่างจีน ปฏิวัติวัฒนธรรม ตายกันตั้งเท่าไร เสียหายเท่าไร
ถ้ามองบริบทแบบนี้ มันก็เหมือนฝ่ายเจ้าก่อน 2475 ไม่ค่อยได้ใช้สมองเท่าไร ใช้แต่อำนาจ แต่พอพ่ายแพ้หลัง 2475 ก็ต้องมาทำงานใช้สมอง เขียนหนังสือ ถ้าลองกลับไปอ่านงานของ ณัฐพล ใจจริง (ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)) จะเห็นว่าคุณเขียนหนังสือสอดแทรกแม้กระทั่งในหนังสือโหราศาสตร์ พจนานุกรม ปทานุกรม เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรม อย่างคึกฤทธิ์ ปราโมช ทมยันตี ก็ต้องออกมาเขียนนิยายเรียกน้ำตา สร้างความซาบซึ้ง หมายความว่า พอกำปั้นคุณเล็กลง สมองคุณจะโตขึ้น
หนังสือเล่มล่าสุด ให้คนดีปกครองบ้านเมือง ของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ กับเล่ม ทุนนิยมเจ้า ของอาจารย์ปวงชน อุนจะนำ สองเล่มนี้ฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษนิยมสามารถอ่านได้ไหม
ผมคิดว่าหนังสือทุกเล่มของฟ้าเดียวกัน เราไม่ได้ตั้งใจทำให้คนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ่าน ต่อให้เราทำหนังสือวิพากษ์สถาบันในฐานะผู้เล่นทางการเมือง เราก็ไม่คิดว่าทำแล้วต้องให้คนที่ไม่ชอบการแทรกแซงการเมืองของสถาบันกษัตริย์อ่านอยู่ฝ่ายเดียว เราต้องการให้ทุกคนได้อ่าน หรือแม้กระทั่งหนังสือของคุณอาสา คำภา (กว่าจะครองอำนาจนำ) ที่ทำเรื่องเครือข่ายในหลวงรัชกาลที่ 9 โทษทีนะ มีประโยชน์ต่อคนรักสถาบันมากกว่าคนที่ต่อต้านด้วยซ้ำ คุณจะได้เห็นความสำเร็จของรัชกาลที่ 9 ว่าการสร้างเครือข่ายขนาดนั้นต้องทำงานหนักขนาดไหน ต้องประนีประนอมขนาดไหน ต้องทำอะไรขนาดไหน
จริงๆ ผมแนะนำต่ำสุดเลยว่า องคมนตรีทุกคนควรมาซื้อหนังสือฟ้าเดียวกัน ส่วนอ่านเสร็จจะเพ็ดทูลอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง