เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์: “ถ้าสื่อไม่ทำข่าวให้เป็นละคร สังคมก็ไม่ต้องเสพข่าวที่ผิดเพี้ยน”

มหากาพย์ ‘ลุงพล-ป้าแต๋น’ เริ่มต้นจากการหายตัวไปของเด็กหญิงอายุเพียง 3 ขวบ ในหมู่บ้านชนบทเล็กๆ จังหวัดมุกดาหาร 

จากการหายตัวไป สู่คดีอาชญากรรม เมื่อเด็กหญิงเสียชีวิตอย่างปริศนา ส่วนคนร้ายยังคงพรางตัวในกลีบเมฆ คำถามที่ควรจะสำคัญของคดีนี้คือ ‘ใครฆ่าน้องชมพู่?’ และ ‘ความปลอดภัยของเด็กเล็กในชุมชนอยู่ที่ไหน?’ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การประโคมข่าวของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง (และหนึ่งในผู้ต้องสงสัยของคดี) ให้กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงอย่างต่อเนื่องยาวนาน 

กระแสของ ‘ลุงพล’ ไม่ใช่กรณีแรกที่สื่อมวลชนฉายสปอตไลท์อย่างผิดเพี้ยนและนำเสนอประหนึ่ง ‘ละครฉากใหญ่’

ขณะเดียวกัน ‘ลุงพล’ จะไม่ใช่คนสุดท้าย หากการตั้งคำถามต่อบทบาทและหน้าที่ของสื่อจำกัดวงแคบเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ ไร้ซึ่งการปฏิบัติการใดๆ จากผู้มีอำนาจในการกำกับดูแล ดังเช่นที่เป็นมา…

พูดคุยกับ ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษา Media Alert โครงการของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งทำหน้าที่คอยสำรวจสื่อและสถานการณ์ในสังคม อาจารย์เอื้อจิตเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของการให้ความเห็น ตอบคำถาม ให้คำแนะนำ สร้างความตื่นตัวของพลเมือง ณ ที่ต่างๆ

อาจารย์เอื้อจิตได้ชี้จุดร่วมไว้ว่า นอกจากสื่อจะต้องมีความรับผิดชอบแล้ว สื่อต้องมีความปรารถนาดีด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของมนุษย์ เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนสามารถกระทำให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ 

“ในวันนี้โลกทั้ง 3 ใบ คือ หนึ่ง – โลกของการกำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ สอง – โลกของสื่อที่ตั้งคำถาม สาม – โลกของสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ จะต้องซ้อนทับกัน เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ไปในทิศทางเดียวกัน สื่อไม่ทำข่าวให้เป็นละคร สังคมก็จะไม่ต้องเสพข่าวที่ผิดเพี้ยน” 

ขณะที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด เศรษฐกิจ และการเมือง สื่อควรจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาที่จะเผยแพร่อย่างไรบ้าง 

การจัดลำดับของสื่อเปลี่ยนไปตั้งแต่มีสื่อออนไลน์เข้ามา เกิดแหล่งที่มาของข่าวซึ่งไม่ใช่สำนักข่าว แต่มีความสำคัญเทียบเท่าสำนักข่าว เพราะฉะนั้นการจัดวาระจึงเปลี่ยนแปลงไป กระแสข่าวที่น่าสนใจตอนนี้จะเป็นกระแสรายชั่วโมง ไม่ใช่กระแสรายวัน 

อย่างในอดีต หนังสือพิมพ์มีกรอบเช้า-บ่าย แต่ ณ เวลานี้ Google trend ก็ยังเป็นกระแสรายชั่วโมง เพราะไม่ว่าจะเป็นสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ก็จะต้องปรับตัวให้เข้ากับความสนใจของผู้รับสารและกลุ่มเป้าหมาย ในอดีตจะมีข่าวเป็นบล็อคๆ ข่าวราชการ ข่าวธุรกิจ ข่าวสังคม ข่าวต่างประเทศ แต่ตอนนี้ข่าวโทรทัศน์ไม่ได้เรียงแต่ละข่าวเป็นลำดับ บางครั้งข่าวของนายกรัฐมนตรีอาจจะมาทีหลังข่าวการเจอศพน้องชมพู่ก็ได้ เพราะสื่อก็ต้องแข่งขันกับความสนใจ 

ขณะที่โลกออนไลน์ทำให้ผู้รับสารมีอำนาจเลือกเสพข่าวที่อยู่ในความสนใจของตนเอง วาระต่างๆ จึงไม่ได้ถูกกำหนดโดยสื่อมวลชนเสมอไป อย่างข่าวในพระราชสำนักเมื่อก่อนจะมาตอน 2 ทุ่ม เราก็จะเรียกว่าข่าว 2 ทุ่ม แต่ตอนนี้มันถูกเปลี่ยนเวลาซึ่งจะไปนำเสนอตอนไหนก็ได้ 

สิ่งที่สื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์แง่หนึ่งคือ วาระข่าวของลุงพลเกิดขึ้นในช่วงสำคัญของการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 เราสามารถมองได้ไหมว่า ประเด็นข่าวนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกลบข่าว หรือเบี่ยงความสนใจ

ขณะรัฐสภาลงมติ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ปรากฏข่าวน้องชมพู่ขึ้นมา อาจารย์ไม่คิดว่าเป็นการจงใจขนาดนั้น แต่จะคิดอย่างนั้นก็ได้ เพราะคนเสนอข่าวคือผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ถ้าแฟร์กับท่าน อาจต้องไปย้อนดูตอนท่านรับตำแหน่ง ท่านก็บอกว่า ภายในมิถุนายนจะมีข่าวดีเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น จะคิดอย่างนั้นก็ได้ แต่เผอิ๊ญเผอิญ ท่านก็มีประวัติในการเปิดตัวรับตำแหน่งด้วยการแถลงข่าวนี้ว่า…มีความคืบหน้า จำได้ไหม วันแรกที่รับตำแหน่งเลย ท่านพูดว่ามีความคืบหน้าไปเยอะแยะแล้วในคดีนี้ ท่านเปิดตัวการเป็น ผบ.สตช. ด้วยข่าวนี้ ซึ่งก็อาจสะท้อนอีกมิติหนึ่งของสังคม ก็คือมิติของการสร้างบารมีตัวเอง… ฉะนั้น ข่าวนี้จึงมีพื้นที่สปอตไลท์อยู่ 

แต่คิดดูก็แล้วกันว่า การเอาข่าวลุงพลมาเทียบเคียงกับข่าวการพิจารณางบประมาณ ไม่รู้ว่าสังคมจะเศร้าใจกับคนที่เซ็ต agenda หรือเศร้าใจกับสังคมภาพรวมดี (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นจะคิดอย่างนั้นก็ได้ เพียงแต่ว่า to be fair นะ เขาก็เคยพูดไปแล้วว่ามิถุนายนจะมีข่าวดี 

เมื่อธุรกิจสื่อต้องมีการช่วงชิงเรตติ้ง ลำดับการนำเสนอจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสำคัญของข่าว การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน

การช่วงชิงเรตติ้งส่งผลกระทบคือ การที่จะกำหนดให้ข่าวไหนน่าสนใจ บางครั้งการใช้ภาษาก็เกินเลยและผิดเพี้ยนไปจากตัวเนื้อหา ตั้งแต่การโปรยนำ การพาดหัวข่าว เช่น ข่าวโปรยว่ามีผู้หญิงมัวแต่มองมือถือจนทำให้เดินตกท่อระบายน้ำ แต่ละเลยที่จะบอกว่าเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อคนเข้าไปอ่านปรากฏว่าเกิดที่เมืองนอก แต่สื่อไม่เอ่ยชื่อเมืองและประเทศตามที่ได้เรียนนิเทศศาสตร์มา แต่ใช้การดึงความสนใจร่วมคือ ‘เดินดูมือถือตกท่อระบายน้ำ’ ทุกอย่างเป็นเรื่องของ point of interest ทั้งที่ข่าวบางข่าวแทบไม่มีประเด็นเลย 

หรือบางทีเสนอข่าวสุนัข แค่ให้ดูความน่ารักของสุนัข ซึ่งสามารถช่วงชิงความสนใจของคนได้ ตอนนี้กลายเป็นว่าเอา passion เรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาเป็นตัวนำ เรื่องไหนที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึกก็ต้องเอาอารมณ์ความรู้สึกใส่เข้าไป หรือประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง แทนที่จะเน้นเนื้อหาของประเด็นนั้นๆ แต่กลับเอาความขัดแย้งของคนกับคนมานำเสนอ เพราะเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุด ฉะนั้นตอนนี้วงจรมันเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้เท่าทันสื่อ ไม่ตกไปในกระแสการชี้นำของสื่อ คนต้องจำแนกแยกแยะให้ได้ว่าข่าวไหนปลอม ข่าวไหนน่าเชื่อถือ 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคงไม่พ้นคดีน้องชมพู่และกระแสลุงพล อาจารย์มองเห็นอะไรในปรากฏการณ์นี้บ้าง

ลุงพลเป็นที่รู้จักเพราะคดีน้องชมพู่ หากทำข่าวในกรอบของคดีน้องชมพู่ก็ยังพอรับได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เด็กอายุเพียง 3-4 ขวบ สูญหายไป 3 วัน หลังจากสูญหายก็พบร่างที่เป็นศพแล้ว เป็นปริศนาฆาตกรรมว่าน้องชมพู่เสียชีวิตอย่างไร สื่อจะสนใจก็ไม่แปลก เพราะเป็นอาชญากรรมและเป็นเรื่องที่สะเทือนใจ 

แต่เวลาสื่อลงพื้นที่ทำข่าว สื่อทำหน้าที่เหมือนพนักงานสอบสวนมากกว่าทำข่าวเชิงสืบสวน พูดง่ายๆ คือทำงานคู่ขนานกับเจ้าพนักงานที่เขาก็ต้องทำหน้าที่สืบสวน สื่อถามผู้เห็นเหตุการณ์ ถามพ่อแม่ โดยที่พนักงานสืบสวนอาจจะรายงานต่อสาธารณะน้อยกว่าสื่อ ขณะเดียวกัน คดีก็กำลังอยู่ในความสนใจ แต่มิติการสืบสวนกลับไม่มีความคืบหน้า มีแต่หาเหตุผล หาหลักฐาน แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ สื่อก็ต้องเลือกที่จะเก็บความสนใจเอาไว้ การจะเก็บความสนใจเอาไว้ก็จะต้องมีปมประเด็นให้เล่น อย่างเช่น ใครฆ่าน้องชมพู่ 

ช่วงที่สื่อไปสอบถามหลายๆ คน มีการเสนอว่า ลุง ป้า และพ่อแม่ เป็นผู้ต้องสงสัย จึงเกิดกองทัพนักข่าวลงไปในพื้นที่ ช่วงนั้นก็ยังเป็นช่วงที่ยังพอรับได้อยู่ แต่ผ่านไปสักพัก ตำรวจไม่ได้มีรายงานอะไรก้าวหน้า สื่อก็ต้องไปสืบค้นเอง แล้วเลือกหยิบประเด็นตัวของลุงพลขึ้นมา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัย จนกลายเป็นการปั่นประเด็นลุงพล กลายเป็นการทำงานคู่ขนานกันระหว่างสื่อหลักกับสื่อออนไลน์ 

ช่วงที่สับสนอลหม่านที่สุดคือช่วงที่เกิด YouTuber ขึ้น หรือแม้กระทั่งตัวลุงพลก็ยังเป็น YouTuber เองด้วย มีการนำเสนอเป็นเรื่องเป็นราว เนื้อหาว่าลุงพลทำอะไร ลุงพลไปไหน ลุงพลกินข้าวกับอะไร ชีวิตของลุงพลอยู่ในความสนใจไปหมด จนเป็นเหตุให้เกิดตัวละครอื่นตามมา เช่น หมอผี ซึ่งหลุดกรอบออกไปมากถึงขั้นเอาน้ำหนัก ส่วนสูง วันเดือนปีเกิดของลุงพลมาทำนาย 

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ชัดเจนมากในเรื่องของการปั่นข่าวให้เป็นกระแส ซึ่งเป็นการช่วงชิงเรตติ้งของสื่อ หากเป็นสื่อออนไลน์ก็จะได้พื้นที่โฆษณา คนดูเยอะ สินค้าก็ลง กลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง สื่อหลักเรตติ้งดี โฆษณาก็เข้ามา 

เวลาเราพูดถึง Spin News โดยหลักการแล้วคืออะไร แล้วถูกสื่อใช้งานอย่างไรทั้งในกรณีลุงพลและกรณีอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น 

เป็นครั้งแรกที่ถูกถามเรื่อง spin news (หัวเราะ)

มันคือการปั่นข่าว การช่วงชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งเรตติ้งในธุรกิจสื่อ หากย้อนกลับไปช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปี 2563 อาจารย์ในฐานะรองประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสภาการสื่อสารมวลชน) ระหว่างการทำงานก็ได้มีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับข่าวลุงพล ซึ่งวิธีการนำเสนอของสื่อช่วงนั้น บรรเลงข่าวจนเราจัดกิจกรรมที่ชื่อว่า ‘ข่าวไม่ใช่ละคร’ ขึ้นมา เพื่อตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของสื่อและช่องโทรทัศน์ที่ต่อสู้กันเกี่ยวกับการช่วงชิงเรตติ้งและการปั่นข่าว 

กรณีของลุงพล สื่อที่เล่นเรื่องนี้ชัดเจนก็คือ ‘ไทยรัฐทีวี’ กับ ‘อมรินทร์ทีวี’ ซึ่งตอนนี้กระแสการตั้งคำถามต่อสื่อกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้มีความก้าวหน้าตรงที่ว่า เป็นการตั้งคำถามย้อนกลับไป เช่น เป็นอย่างไรบ้างกับการทำให้ผู้ต้องหาเป็นพระเอก ซึ่งช่วงเวลาที่อาจารย์ระบุถึงนั้นเป็นช่วงที่เกิดการวิพากษ์ตามอาการของสื่อซึ่งกำลังช่วงชิงเรตติ้ง จนทำให้เป็นการปั่นข่าวลุงพลขึ้นมา 

เส้นแบ่งระหว่างการทำงานของเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนกับสื่อ ควรอยู่ตรงไหนในคดีอาชญากรรม การล้ำเส้นของสื่อส่งผลกระต่อรูปคดีอย่างไร

การที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์สื่อ เราต้องตั้งคำถามกับเจ้าพนักงานด้วยว่า ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีการห้ามปราม ไม่ได้ส่งเสียงเตือนสื่อที่ลงไปทำงานคู่ขนานหรืออย่างไร 

ยกตัวอย่าง เหตุการณ์หมูป่า 13 คน ติดถ้ำขุนน้ำนางนอน ผู้มีอำนาจหน้าที่ในตอนนั้นคือผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านได้แบ่งเขตพื้นที่อย่างชัดเจน มีการกั้นพื้นที่สำหรับสื่อ ตอนที่สื่อต่างประเทศเข้ามาทำข่าว เจ้าพนักงานบอกเลยว่าต้องให้สื่อออกจากพื้นที่ตรงนี้และย้ายไปอยู่ตรงนั้น เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่การทำงานของเจ้าพนักงาน แต่ขณะเดียวกัน คดีของน้องชมพู่มันน่าแปลกที่เจ้าพนักงานไม่ปิดกั้นพื้นที่ 

นอกจากนี้ เราต้องตั้งคำถามกับสังคมด้วย เพราะเป็นการผลิตซ้ำที่เกิดขึ้นโดยสื่อและถูกตอบสนองจากสังคม ตัวของสื่อได้สร้างโลก 2 ใบ คือ หนึ่ง – สื่อที่เป็นฝั่งวิพากษ์วิจารณ์ มีเวทีเพื่อตั้งคำถามกับการเสนอข่าวลุงพลของสื่อด้วยกัน แต่ไม่ได้ปฏิบัติการอะไร สอง – สื่อกลุ่มที่เลือกปฏิบัติการโดยการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายและผู้รับสาร ทั้งหมดนี้ทำงานคู่ขนานกัน สิ่งที่จะเป็นตัวตัดสินสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ กลไกภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ แต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่จัดการอะไรกับปรากฏการณ์ของลุงพล ทั้งที่มีมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ระบุว่า ‘ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีผลกระทบให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง’ 

เมื่อภาครัฐไม่ทำหน้าที่ สื่อก็จะมีโลก 2 ใบ อย่างกรณีข่าวลุงพล

“ทำข่าวนี้เพราะประชาชนต้องการเสพข่าวนี้” คำกล่าวนี้โดยหลักการแล้ว ฟังขึ้นหรือเปล่า

ฟังขึ้นในมิติธุรกิจนะ แต่ก็ตั้งคำถามได้อีกมิติหนึ่งว่า ‘ตกลงคุณเป็นสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวและเรื่องราวเหตุการณ์เพื่อรายงาน เตือนภัย ระแวดระวัง ให้สติ ให้ปัญญาหรือเปล่า?’

ส่วนตัวเรามีโอกาสได้ยินคำพูดของกรรมการที่ดูแลกำกับงานของสื่อบอกว่า ‘เราจะไปเคร่งครัดกันทำไม ตอนนี้โฆษณาหายาก’ อย่างนี้แปลว่าคุณมองสื่อมวลชนเป็นธุรกิจใช่หรือเปล่า แต่สื่อมันไม่ใช่ธุรกิจขายอาหาร ขายสินค้าและบริการ มันเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ ความเป็นสังคม แต่เมื่อเอามาซ้อนทับกันก็จะเกิดประโยคที่ว่า ‘สื่อก็ต้องทำมาหากิน ทำไปแล้วเรตติ้งมันดี’ อย่างนี้ก็โทษสังคมไปเสียเลย เพราะสังคมเป็นคนเสพ…อย่างนั้นหรือ?

ต้องกลับมาตั้งคำถามกันว่า ทำไมสื่อถึงให้สังคมเสพข่าวแบบนั้น สื่อไม่ได้มีหน้าที่ทำอาหารขาย สินค้าที่สื่อขายเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต บรรทัดฐานในสังคม เจออะไรไม่ดีก็ต้องทำให้มันดีขึ้น ไม่ใช่เจออะไรไม่ดีแล้วขยายความไม่ดี เพราะฉะนั้น สิ่งที่สื่อต้องมียิ่งกว่าความรับผิดชอบก็คือ ‘ความปรารถนาดี’

เราแทบไม่เห็น ‘ความรับผิดชอบ’ และความ ‘ปรารถนาดี’ ของสื่อในการนำเสนอข่าวลุงพลเลย?

กรณีน้องชมพู่สะเทือนใจตรงที่เด็กอายุ 3-4 ขวบ ไปเสียชีวิตอยู่บนภูเขา ซึ่งภูเขาก็ไม่ได้เล็ก มีพยานบุคคลเห็นไม่มาก มันสะท้อนเรื่องความปลอดภัยของเด็กในชนบท สะท้อนว่าเด็กในวัยแค่นี้ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ เราไม่ได้กล่าวหาพ่อแม่เขานะ เพราะเขาก็ต้องออกไปทำมาหากิน การเสียชีวิตของน้องชมพู่เป็นกรณีที่สื่อต้องส่งสัญญาณบางประการ สื่อมีคำถามไหมว่า ถ้าพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน ในชุมชนมีศูนย์เด็กเล็กที่จะช่วยดูแลหรือเปล่า ในชุมชนมีการระมัดระวังและคอยดูแลเด็กบ้างไหม เพราะเด็กวัยแค่นี้เขายังดูแลตนเองไม่ได้ มีเด็กแบบน้องชมพู่อีกเยอะไหมที่เขาไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะส่งเสียงขอความช่วยเหลือ สื่อมีการตั้งคำถามบ้างไหม 

ยกตัวอย่างเช่น ข่าวแม่ลูกอ่อน แม่เลี้ยงลูกใกล้กับแม่น้ำ เพราะบ้านอยู่ริมน้ำ โดนตัวเงินตัวทองมากัดลูกจนขาดครึ่งตัวและเสียชีวิต ถ้าสื่อเจอเรื่องแบบนี้ แล้วสื่อผลิตเนื้อหาแบบเรื่องใบ้หวยหรือทำให้ดูเศร้าโศกเสียใจ แต่ไม่ตั้งคำถามว่า มีกลไกอะไรในสังคมที่ผิดพลาด เพราะสังคมไม่ได้มีความตระหนักและระมัดระวังพอในเรื่องนี้ 

นอกจากสื่อไม่ตั้งคำถามต่อกลไกสังคม หรือไม่ชี้ให้เห็นปัญหาที่ควรแก้ไขแล้ว มีกรณีที่สื่อละเมิดสิทธิประชาชนด้วยไหม

อย่างเรื่องการละเมิดสิทธิ ตัวของน้องชมพู่ที่เสียชีวิตไปแล้ว เขาก็ยังมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือแม้กระทั่งครอบครัวของน้องชมพู่ที่ต้องสูญเสียซ้ำซ้อน ต้องสูญเสียลูกสาวและสูญเสียความเป็นส่วนตัว 

ฉะนั้น การที่สื่อลงไปทำข่าวราวกับเป็นเจ้าพนักงานสืบสวน เห็นได้ชัดจากที่เจ้าพนักงานออกมาแถลงว่าอยู่ในขั้นตอนของการทำงาน สื่อก็เอาคำแถลงไปแกะรอย เชื่อมโยงไปยังตัวลุงพล มีการกล่าวถึงลุงพลว่าเป็นคนขี้ฉุนเฉียว คาดเดาได้ว่าจะเป็นผู้ที่นำชมพู่ขึ้นไปบนเขาและลงมือทำร้าย ซึ่งตรงนี้ตำรวจเขาสามารถแถลงการณ์ได้ในมิติของสำนวนคดีที่มีน้ำหนักมากพอเพื่อให้ศาลประทับและรับรองว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัย แต่สื่อแกะคำแถลงของเจ้าหน้าที่ในรูปแบบของข่าวเชิงดราม่า แบบนี้ก็เป็นการขายข่าวเพื่อเรตติ้งใช่หรือเปล่า 

อาจารย์อยากจะลองยกตัวอย่างของชุมชนเด็กในประเทศญี่ปุ่น เขาจะมีกระเป๋าสะพายไว้ด้านหลัง เมื่อโรงเรียนเลิกจะมีเสียงเพลงส่งสัญญาณว่าถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว เพื่อให้สังคมช่วยกันรับทราบว่าเด็กกำลังเดินทางกลับบ้าน จากนั้นเด็กทุกคนจะเดินกลับบ้านเอง ไม่มีรถพ่อแม่ไปรับหน้าโรงเรียน แล้วเวลาเด็กญี่ปุ่นเดินกลับบ้าน เขาจะไม่แวะข้างทาง ไม่แวะร้านค้า หรือสถานที่ต่างๆ เพราะร้านค้าจะไม่ขายของให้เด็กที่ยังสะพายกระเป๋านักเรียน 

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ประมาณ 6 โมงเย็นของทุกวัน จะมีเสียงตามสายประกาศว่า ‘ได้เวลาเด็กทุกคนกลับเข้าบ้าน ผู้ใหญ่คนไหนที่ยังเจอเด็กเดินอยู่ตามถนนหรือยังอยู่ในสนามเด็กเล่น กรุณาช่วยไปบอกเด็กว่าถึงเวลาเข้าบ้าน’ สิ่งนี้ถือว่าเป็นการหล่อหลอมและดูแลเด็กร่วมกันทั้งสังคม ขณะเดียวกัน กรณีของน้องชมพู่มีสื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องของการดูแลเด็กบ้างไหม เพราะสังคมไทยไม่ได้มีการกระตุกเตือนเรื่องนี้ ถ้าสังคมเตือนว่าอย่าปล่อยให้เด็กคลาดจากสายตา หรือไม่ว่าจะเป็นลูกหลานใครหากอยู่ในชุมชน เดินคนเดียว เราจะต้องช่วยกันสอดส่อง แต่ประเด็นนี้หลุดจากน้องชมพู่ไปเลย 

การช่วงชิงเรตติ้งจากข่าวลุงพลทำให้เกิดความผิดเพี้ยน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ทัศนคติและวิธีคิดของสังคม เมื่อมนุษย์ถูกกระตุ้นให้สนใจข่าวที่ให้ความรู้สึกเหมือนดูหนังเรื่องหนึ่ง ‘แต่ฉันไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดด้วย’ กับการเสียชีวิตของน้องชมพู่ และยังไปไม่ถึงความรู้สึกที่ว่า ‘คุณรู้สึกเจ็บเหมือนกับว่าเป็นลูกของคุณเองสูญหายบ้างไหม’ ถ้าสื่อและสังคมมีความรู้สึกร่วม ไปจนถึงระดับของการมองเห็นความเป็นมนุษย์ มิติของการนำเสนอข่าวและการเสพข่าวก็คงจะไม่ผิดเพี้ยน 

จากข่าวลุงพล ไทยรัฐและอมรินทร์ทีวีควรออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

การที่สื่อและสังคมให้ความสำคัญกับคนธรรมดาทั่วไป ผลิตข่าวจนทำให้ลุงพลกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียง มีแฟนคลับ ออกเพลง ออกผลงาน เมื่อมาย้อนดูแล้วมันน่าอายแค่ไหนที่สื่อกับสังคมร่วมกันให้พื้นที่กับลุงพล ทั้งๆ ที่สุดท้ายแล้ว ลุงพลอาจจะเป็นเหยื่อเช่นกัน ถูกกระทำเหมือนกัน เพียงแต่ในการถูกกระทำนั้น กลายเป็นการเปิดโอกาสมิติอื่นๆ ให้กับเขา 

ตอนนี้คนในสังคมกำลังตามดูละครสืบสวนสอบสวนว่าจะผิดหรือไม่ผิด กลายเป็นว่า… น้องชมพู่หายไปแล้ว 

สื่ออาจจะต้องรับผิดชอบด้วยการเสนอข่าวของน้องชมพู่ว่า เหตุที่ทำให้น้องชมพู่เสียชีวิตจริงๆ คือเรื่องอะไร สังคมจะช่วยป้องกันเหตุนั้นได้อย่างไร การสืบสวนสอบสวนเพื่อให้เจอเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงาน แต่สื่อทำงานด้วยการตั้งคำถามกับโจทย์ในบริบททางสังคม สื่อต้องเป็นคนตั้งโจทย์ต่อสังคม สังคมต้องตั้งโจทย์ไปยังกลไกของภาครัฐ 

ตอนนี้โลกทั้ง 3 ใบ จะต้องซ้อนทับกัน หนึ่ง – โลกของการกำกับดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ สอง – โลกของสื่อที่ตั้งคำถาม สาม – โลกของสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ ตอนนี้แต่ละโลกมีเสียงก้องในโลกของตนเอง กลไกการดูแลกันเองในองค์กรสื่อมวลชนก็ยังไม่เข้มแข็งพอ คนที่ทำหน้าที่ตักเตือนก็เตือนกันไป คนที่โดนตักเตือนเขาก็ไม่ฟัง เรื่องนี้ไม่ได้ทำร้ายแค่ศีลธรรมของประชาชน แต่มันทำร้ายไปถึงก้นบึ้งของหัวใจในการที่จะปกป้องดูแลเด็ก ไม่ว่าเขาจะมีชีวิตหรือเสียชีวิตไปแล้ว สังคมโหดร้าย และสื่อก็ใจร้าย…

กสทช. ต้องทำอะไรบ้าง เพื่อกำกับดูแลสถานการณ์ที่สื่อนำเสนอข่าวประหนึ่งละคร

โดยหลักการแล้ว กสทช. สามารถเรียกสื่อมาตักเตือนหรือไม่ให้นำเสนอได้ ทาง กสทช. ก็เคยสั่งให้ ‘จอดำ’ กับวอยซ์ทีวีไปตั้งหลายรอบ ให้ระงับการออกรายการ ซึ่งเขามีอำนาจทำได้เยอะมาก เพียงแต่ว่าเขาอาจจะมองว่าข่าวลุงพลไม่ได้อันตรายกับสังคม ในมิติของจริยธรรมสื่อ องค์กรสื่อเองก็ไม่อยากให้องค์กรของรัฐออกมาทำหน้าที่เหมือนกับตรวจจับ เขาก็ต้องทำหน้าที่กันเอง เตือนกัน บอกกัน แต่กระแสเตือนหรือสะกิด ก็ไม่ได้ส่งผลเป็นรูปธรรมเท่าเรตติ้ง

แม้กระทั่งครั้งนี้ ก็ไม่มีใครพูดถึงน้อง (ช่างภาพ) ที่อยู่อมรินทร์ทีวีลุกขึ้นมาลาออก ไม่มีใครพูดถึงเลย ซึ่งเรื่องนี้สำคัญนะ การที่น้องเขาออกมาบอกว่าไม่ไหวแล้ว เสร็จแล้วเขาก็หายไป… เขาเป็นคนที่กระตุกแรงมากเลยนะ แต่การกระตุกของเขากลับไม่ถูกกระเพื่อมต่อเลย 

สายวิพากษ์วิจารณ์ทำได้แค่ชี้เป้าเท่านั้นแหละ มันจึงต้องมีสายปฏิบัติการที่มีอำนาจหน้าที่ด้วย แต่พอกล่าวถึงพื้นที่จริยธรรม ก็อาจมีข้อแก้ตัวได้ เขาอาจจะบอกว่า ‘มันก็เป็นเรื่องจริยธรรม คุณปั่นข่าวกัน คุณก็ไปเตือนกันสิ’ แต่อ้าว…คุณก็เตือนกันไม่ได้ 

ขณะที่อาจารย์เป็นหนึ่งในอนุกรรมการของ กสทช. อาจารย์เห็นอะไรในนั้นบ้าง

โดยภาพรวมของกลไกกำกับดูแล เขาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้รับสารน้อยกว่าการให้ความสำคัญกับผู้รับใบอนุญาต เรากล้าพูดเลย อะไรที่จะทำกับผู้รับใบอนุญาตเนี่ย ช้ามาก…(ลากเสียง) แล้วยังมีคำพูดว่า ‘โอ้ย โฆษณามันหายาก ถ้าไปเคร่งครัดมาก ธุรกิจมันก็ตายกันหมด’ คำพูดอย่างนี้มันสะท้อนบางอย่าง

กสทช. เขาก็บอกเลยว่า เขาออกระเบียบออกมาแล้ว ถ้าพบเห็นสื่อไม่เป็นไปตามระเบียบนี้ ก็ร้องเรียนมา ถ้าร้องเรียนก็จะมีการพิจารณา สะท้อนว่านี่คือการทำงานแบบไหน ถ้าเขาทำงานมอนิเตอร์ มันก็จะเหมือน อย. ที่ออกไปสุ่มตรวจอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ในตลาด หรือเหมือน BIOTHAI ที่สุ่มเอาผักผลไม้มาตรวจแล้วพบสารฆ่าแมลงในผักที่บอกว่าเป็นออร์แกนิค มันคือการสุ่ม แต่ กสทช. เขาทำระบบร้องเรียน ออกระเบียบเนื้อหารายการ ออกระเบียบคุ้มครองผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคพบว่าสื่อไหนไม่เป็นไปตามระเบียบ ก็ร้องเรียนมา ซึ่งมันคือการทำงานเชิงเรื่อยเปื่อย 

อะไรคือความท้าทายของงานศึกษาด้านสื่อที่อาจารย์กำลังทำ 

media monitor ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ในสื่อต่างๆ ดูแลงานศึกษาเป็นร้อยๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเกิดอะไรในสังคม ถ้าไปย้อนดูงานก็ศึกษามาแล้วทั้งนั้น ที่เขาพูดกันว่า history repeats itself (ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย) มันมีความซ้ำจริงๆ เพียงแต่ว่าดีกรีมันก็เปลี่ยนแปลงไป 

ฉะนั้น ถ้าเราไม่เอาจริงในดีกรีของการสื่อสารออนไลน์ซึ่งมันสร้างนิสัยความเป็นปัจเจกสูง เพราะว่า agenda setting เกิดขึ้นด้วยคน สื่อน้ำดีบางสื่อก็เล่นเรื่อง passion เล่นเรื่องความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว เพราะอะไร เพราะถ้าไม่เล่นก็หลุดจากกระแส มันก็ท้าทายสื่อเหมือนกัน 

ตอนนี้ echo chamber เกิดขึ้นในสื่อใหม่ๆ กับนักข่าวรุ่นใหม่ คนรับสื่ออีกกลุ่มหนึ่งเขาก็ไม่ได้เข้ามาในวงนี้ ถามว่าผิดไหม เอ้า ทำไงได้ มันเป็นวิถีไปแล้ว มันก็ต้องมาพูดกันอยู่อย่างนี้แหละ เพียงแต่ว่า เราต้องหาตัวที่จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ซึ่งตัวที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมและมีผลมากที่สุดก็คือ องค์กรวิชาชีพสื่อกับหน่วยกำกับดูแลสื่อ ต้องลุกมาทำหน้าที่ สายวิพากษ์เชิงวิชาการเขาก็ส่งเสียงในระดับหนึ่ง 

เปรียบเทียบอย่าง media monitor ถามว่าเราเปลี่ยนแปลงผู้รับสื่อไหม เราเปลี่ยนแปลงได้น้อย แต่เราคิดว่า เราเปลี่ยนแปลงตัวสื่อได้ระดับหนึ่ง เพราะเราทำตัวเป็นกระจกสะท้อนโดยที่ไม่ตำหนิเขา แต่สะท้อนให้เห็นว่า พอเราศึกษาเรื่องนี้ แล้วคุณเป็นแบบนี้นะ เราเคยเจอทีวีช่องหนึ่งซึ่งมีรายการเด็กเยอะมาก ทำหนังสือตั้งข้อสงสัยการศึกษาของเราว่า ทำไมไปพูดว่าช่องเขาซึ่งเป็นช่องที่เด่นมากสำหรับสื่อเด็ก ว่ามีเนื้อหาความรุนแรง พอเราเอาผล coding sheet ให้ดู เขาก็หยุด เพราะว่าเราศึกษาจริงๆ ว่าการ์ตูนที่คุณเสนอนั่นแหละ มันมีเนื้อหาความรุนแรง 

แต่ถึงอย่างนั้น media monitor ก็ไปไม่ถึงประชาชนทั่วไป มันจะต้องมีใครกล้าที่จะส่งเสียงบอกว่า ถ้าคุณรับข่าวลุงพล เชียร์ลุงพล คุณคือคนรับข่าวที่ไม่ได้มีสติและปัญญา หมายถึงว่า ลุงพลเขาเป็นใคร เขาเป็นที่รู้จักเพราะคดีน้องชมพู่ คุณรู้จักน้องชมพู่ไหม รู้สึกเสียใจไหมที่น้องตาย ถ้าคุณไม่สงสัยในลุงพล เราไม่ว่าอะไร แต่คุณมาชื่นชอบแล้วเป็นแฟนคลับลุงพล คุณเป็นแฟนคลับเพราะอะไร คุณรู้ไหมว่าคุณถูกกระทำโดยสื่อ 

ถ้ามีเครื่องตรวจวัดปริมาณความรู้สึกอ่อนไหวและการเท่าทันสื่อของคุณอยู่ในดีกรีประมาณนี้ อันนี้ฝันๆ นะ ว่ามันต้องมีตัวชี้วัดแบบนี้ มีตัวทดสอบที่มากระตุกแรงๆ กัน และต้องมีบรรทัดฐานแรงๆ ว่าเราไม่ดูสื่อนี้ เราไม่ดูสื่อใบ้หวย ไม่ดูสื่อที่คุกคามเพศหลากหลาย เราไม่ดูสื่อที่เล่นตลกกับเรือนร่างผู้หญิง อะไรอย่างนี้ ถ้าไม่มีตัวแอ็คชั่นที่ชัดๆ มันก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป 

เคยสงสัยไหมว่า วงการสื่อมวลชนมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรกัน

ก็คือจุดที่ต้องอยู่รอดด้วยธุรกิจ

การเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามโครงสร้างของตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นมันมีผลมากๆ เวลาเราพูดว่าสื่อคำนึงถึงเรตติ้ง ถ้าเราดูในมุมมองของสื่อ เขาก็ต้องอยู่รอด มันก็วนลูป ดังนั้นเราจึงต้องถามเพิ่มว่า อยู่รอดอย่างมีจริยธรรมได้ไหม มีความรับผิดชอบต่อสังคมได้ไหม ซึ่งก็ทำได้ แต่มันต้องซื้อใจกันมหาศาลมาก 

อาจารย์คิดว่าจุดเปลี่ยนมันเหมือนกันหมด เหมือนตอนเราทำรายการด้านสิ่งแวดล้อม เวลาเกษตรกรจะเปลี่ยนจากการทำนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ หรือเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ ต้องซื้อใจกัน เชื่อมั่นกันมากเลย เพราะในช่วงจุดเปลี่ยนตรงนั้น ผลผลิตมันต่ำ ตอนเลือกไม่ใช้สารเคมีนั้น แมลงต่างๆ ก็มารุมเร้า แต่ถ้าผ่านจุดนี้ไปได้ เขารับประกันเลยว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยกับความเสี่ยงด้านสุขภาพ มันต้องดีขึ้นแน่ 

อันนี้แหละ มนุษย์จะผ่านจุดนี้ไปได้อย่างไร มันต้องมีความเชื่อมั่นและซื้อใจกัน เราคงไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ หากสื่อไม่เปลี่ยน สื่อต้องจับมือกัน แล้วยืนหยัดว่าเราจะไม่เป็นแบบนี้ แต่ในความจริงมันเป็นไปไม่ได้ 

เมื่อสังคมเราเป็นแบบนี้ จึงต้องใช้ทั้งไม้นวมและไม้แข็ง อันไหนผิดกฎหมาย คนกำกับดูแลก็ว่าไป อันไหนคือเรื่องจริยธรรม สังคมและองค์กรวิชาชีพก็ต้องกระตุกถามแรงๆ พูดอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมี social actions ต้องมีปฏิบัติการทางสังคม ต้องมีตัวต้นแบบ ต้องลงไม้ลงมือกันจริงๆ เพราะฉะนั้นจะทำแบบไหน จะใช้ไม้แข็งแบบไหน ไม้นวมแบบไหน จะเอากฎหมาย จะเอาจริยธรรม จะเอาการลงโทษทางสังคม จะเอาการประจาน การให้รางวัลสื่อไม่ปลอดภัยไม่สร้างสรรค์ คนที่มีอำนาจหน้าที่ต้องลุกมาทำ 

กัญญาภัค ทิศศรี
เรียนสื่อสารมวลชน โทข่าวและสารคดี ชอบฟังดนตรีสด สนใจสะสมโมเดลจากอนิเมะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า