‘สื่อหิวข่าว’ จากเหตุกราดยิงโคราช ในทัศนะของนักวิชาการสื่อ ‘วิไลวรรณ จงวิไลเกษม’

หลังสิ้นเสียงกระสุน ตัวเลขความสูญเสียจากเหตุกราดยิงที่โคราชมากเกินจินตนาการ เราคงเห็นตื้นลึกหนาบางมาบ้างแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น ผ่านการรายงานของสื่อมวลชนแทบทุกสำนักที่เกาะติดแบบวินาทีต่อวินาที

การทำหน้าที่ของสื่อทำให้เราเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็อีกเช่นกัน คมเลนส์ ถ้อยคำ และการรายงานข่าวจากสถานการณ์นั้นก็ทำให้คนในสังคมเกิดความรู้สึกว่าสื่อมวลชนกำลังล้ำเส้น บ้างเกรี้ยวกราดถึงขั้นประณามว่าสื่อไร้จรรยาบรรณ

ในสถานการณ์วิกฤติ สื่อเป็นทั้งผู้ดีและผู้ร้ายในสายตาประชาชน เราใช้โอกาสนี้สนทนากับ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่านักวิชาการสื่อเช่นเขาเห็นอะไรในคลุ้งเขม่าและคาวเลือดวันนั้น

ก่อนเข้าสู่การถาม-ตอบ ขออนุญาตตั้งการ์ดอีกสักย่อหน้าเผื่อใครสักคนสงสัยว่านักวิชาการด้านสื่อคงอยู่แต่ในห้องเรียนจะไปรู้จริงอะไรในสนามข่าว ก่อนหน้าที่จะทำมาหากินในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ‘วิไลวรรณ จงวิไลเกษม’ เป็นนักข่าวขององค์กรสื่อชั้นนำของประเทศมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์พฤษภา 35 และสนามข่าวที่ว่าก็กินพื้นที่ทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็เข้าไปมีส่วนในการทำงานด้านกำกับการทำงานของสื่อในสภาวิชาชีพมาหลายปี แจ้งแต่เพียงเท่านี้ ที่เหลือคือบทสนทนาในบ่ายวานนี้ที่ถูกบอกเล่ากระทั่งเรานั่งฟังจนลืมจิบกาแฟ

หน้าที่ของสื่อในภาวะปกติ และในภาวะวิกฤติ

ปกติสื่อทำหน้าที่ในการรายงานข่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าว ผู้รายงานข่าว หรืออะไรก็ตาม คุณก็คือคนทำข่าว แล้วข่าวคืออะไร ข่าวคือข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ควรมีความน่าสนใจ มีความสำคัญ มีคุณค่าของความเป็นข่าว

ดังนั้น หน้าที่ของสื่อคือต้องคิดว่าสิ่งไหนควรจะเป็นข่าว ทุกวันนี้มันมีหลายอย่างมากที่ไม่ควรจะเป็นข่าว แต่กลับเป็นข่าว เพราะว่าคนอยากรู้ กับสิ่งที่ควรจะเป็นข่าวแต่ว่าไม่เป็นข่าว ทั้งที่เป็นเรื่องที่ควรจะรู้ แต่กลับไม่ถูกนำเสนอ เหตุการณ์ที่โคราชเป็นเหตุการณ์ที่ควรเป็นข่าว แต่คำถามอยู่ที่ว่าการนำเสนอควรเป็นอย่างไร มากกว่ามันเป็นข่าวที่เป็นประโยชน์ไหม มันเป็นข่าว แต่เป็นแค่ไหน และเป็นในมิติไหน

ส่วนเรื่องของการทำข่าวในภาวะวิกฤติ สื่อมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เตือนภัย ลดช่องว่างของข้อมูลข่าวสาร เพราะว่ามันจะมีคนที่ไม่รู้ว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วเราจะต้องทำยังไง นี่แหละคือหน้าที่สื่อที่จะไปเติมช่องว่างตรงนั้น

คำว่าเหตุการณ์หรือภาวะวิกฤติในประเทศไทยเราเคยมีอยู่ 2 แบบ คือวิกฤติแบบภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิ ส่วนอีกแบบคือวิกฤติในเชิงสังคม เช่น การเมือง รัฐประหาร สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนกรณีล่าสุดคือเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช ก็ถือว่าเป็นภาวะวิกฤติ แต่มันเป็นวิกฤติเชิงสังคม ในแง่อาชญากรรม ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้นในไทย เราจะไม่พูดถึงขั้นเป็นการก่อการร้าย เพราะถ้าก่อการร้ายมันต้องเป็นกระบวนการ มีอุดมการณ์บางอย่างอยู่เบื้องหลัง อย่างเช่นที่นิวซีแลนด์ อันนั้นเขาทำเพราะอุดมการณ์บางอย่าง ความเกลียดชัง ศาสนา และความคิด แต่ครั้งนี้มันไม่ได้มีเรื่องของอุดมการณ์และความขัดแย้ง แต่ว่าเป็นเรื่องของความแค้นส่วนบุคคล

ส่วนใหญ่เมืองนอกจะเกิดเหตุการณ์ในภาวะวิกฤติจากความแค้นโครงสร้างเชิงระบบบ่อยมาก เช่นที่อเมริกา ผู้ก่อเหตุส่วนมากเป็นลักษณะของความรู้สึกที่เขาถูกกระทำจากระบบใหญ่ เช่น เป็นเรื่องของเด็กถูกกลั่นแกล้ง จนรู้สึกเป็นความคับแค้นใจ ความเกลียดชังที่มีความรู้สึกเกิดขึ้นว่า งั้นเราต้องทำลายล้าง

ภาพรวมการทำหน้าที่สื่อจากเหตุการณ์กราดยิงที่โคราชเป็นอย่างไร

มองภาพรวมของสื่อในวันนั้น อย่างง่ายๆ มองแค่จากสิ่งที่ตาเห็นเบื้องต้นนะ วันที่ 8 เกิดเหตุการณ์ช่วงเย็น ตอนนั้นห้างเริ่มปิด ทุกคนที่ยังอยู่ในห้างกลายเป็นเหยื่อ ผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมดอยู่ในนั้น และเหตุการณ์ในเย็นนั้นมันยังไม่จบ ดังนั้นที่ต้องทำคือควรรายงานให้ความรู้กับผู้เคราะห์ร้ายที่อยู่ด้านใน

เพราะคนที่ดูอยู่ต้องมีผู้เคราะห์ร้ายแน่นอน เขามีสมาร์ทโฟนอยู่ในมือเขาต้องดูแน่นอนว่าในสถานการณ์นั้นเขาควรจะต้องทำยังไง แต่ปรากฏว่า ณ ตอนนั้นสื่อแทบจะไม่ให้ข้อมูลในจุดนี้เลย เป็นเพราะสื่อเคยชินกับเหตุการณ์รายงานข่าวในภาวะปกติ ซึ่งสิ่งที่สื่อทำก็คือไปยืนถือไมค์อยู่หน้ากล้อง และรายงานเท่าที่ตาเห็นกับที่หูได้ยิน รายงานไปหมดเลยตอนนี้ห้างปิดแล้ว ประตูปิดทุกอย่างทุกร้านค้าปิด เพื่อที่จะป้องกันผู้ก่อเหตุเข้าไปในร้าน และรายงานหมดเลยว่ามีเหยื่อเท่าไหร่ มีอยู่ตรงไหน และมีคนกลุ่มหนึ่งยังอยู่ อยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งขณะนั้นผู้ก่อเหตุเองก็อยู่บนโซเชียลมีเดีย และบอกอีกด้วยว่าเจ้าหน้าที่ได้ลงมา ได้นำกำลังปิดล้อมตรงไหนบ้าง ผู้ก่อเหตุก็รู้หมดเลยว่าเขาจะต้องป้องกันยังไง เขาจะต้องหลบไปตรงไหน เขารู้ตัวหมดเลย

มีผู้เคราะห์ร้ายคนหนึ่งที่เขาออกมาได้แล้ว แต่เขาลืมกระเป๋าไว้ข้างใน แล้วเขาก็วิ่งกลับเข้าไปเอาอีก แต่ถ้าเวลาก่อนหน้านั้นเขาอยู่บนโซเชียลมีเดีย แล้วสื่อให้ข้อมูลเพิ่มว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เขาอาจจะระแวงแล้วตระหนักถึงตรงนี้ เรื่องนี้เราโทษสื่อนะ ที่ไม่รายงานข้อมูล

เราเห็นผู้เคราะห์ร้ายคนหนึ่งที่เขียนเล่าว่าตัวเองติดอยู่ข้างใน แล้วเขาก็เข้าไปอยู่ในร้านค้าร้านหนึ่ง แล้วก็ปิดประตูเหล็กของร้านลงมา แต่เขาก็ยังไม่รู้เลยว่าเขาจะทำยังไงต่อ ในตอนนั้นเขาต้องการทำยังไงก็ได้ให้คนรู้ว่าเขาอยู่ตรงนี้ เขาก็เลยไปอยู่ใกล้กับประตูเหล็ก แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ได้ข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือว่า อย่าอยู่ใกล้กับประตูเหล็ก เพราะว่าผู้ก่อเหตุอาจจะกราดยิงเข้ามาเพื่อพังประตูเหล็กทั้งหมด เพราะมันเป็นอาวุธสงคราม กระสุนมันสามารถทะลุเข้ามาได้ หลังจากนั้นเขาก็เลยถอยออกจากประตูเหล็ก แล้วไปซ่อนด้านใน

ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีใครรู้เลย ไม่มีสื่อรายงานเลย มีแต่สื่อที่รายงานว่า who what where when why แต่ไม่มีใครบอกเลยว่าผู้เคราะห์ร้ายต้องทำตัวยังไงกับเหตุการณ์แบบนี้

จากเหตุการณ์นี้ปัญหาของสื่อไทยคืออะไร

สื่อมวลชนอยู่บนความคาดหวังของสังคม มาตรฐานของคุณมันเลยจะต้องสูงมากๆ บางทีเราก็เข้าใจและเห็นใจคนทำสื่อ ที่บางครั้งการประเมินของเขามันอาจจะผิดพลาดโดยที่เขาไม่รู้ตัว เราจะเห็นสิ่งสำคัญของความผิดพลาดของสื่อในเหตุการณ์ครั้งนี้คือเกิดจากความไม่รู้ นั่นคือความไม่มีข้อมูล

ดังนั้นความไม่รู้และไม่มีข้อมูลสำคัญมาก เพราะว่าคนที่เป็นผู้สื่อข่าวส่วนมากมีแค่ทักษะอย่างเดียว แต่ไม่มีข้อมูลความรู้ ยิ่งถ้าการรายงานข่าวในภาวะวิกฤติอย่างนี้ ควรจะรู้ว่าจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องรายงานเรื่องนั้นๆ แค่ไหนที่มันจะไม่ทำให้เราบกพร่องในหน้าที่ของตัวเอง และขณะเดียวกันคุณก็ต้องไม่ก้าวล่วงการละเมิดการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้เคราะห์ร้าย การรายงานข่าวแบบนี้เรียกว่าการรายงานข่าวเชิงข้อมูล

สื่อไทยมีปัญหามากกับการรายงานข่าวเชิงข้อมูล มีปัญหามากกับการให้ข้อมูลกับคนดู เราไม่โทษผู้สื่อข่าวที่อยู่ภาคสนาม ที่หูได้ยินแล้วรายงานตามที่เห็นจนลืมที่จะเป็น gatekeeper (นายประตูที่คอยคัดกรองข่าวสาร) คัดเลือกประเด็นที่ควรนำเสนอ เพราะในความเป็นจริง การทำงานมันควรทำงานเป็นทีม สิ่งที่สำคัญก็คือคนที่อยู่เบื้องหลัง ก็คือกองบรรณาธิการที่ควรป้อนข้อมูลให้ผู้สื่อข่าวภาคสนาม 

คุณบอกว่าคุณอยากจะเกาะติดสถานการณ์ แล้วแข่งขันแบบ real time นั่นคือการที่คุณต้องไปยืนใกล้ที่เกิดเหตุมากที่สุด ต้องรายงานใกล้กับความเป็นจริงมากที่สุด แต่เราก็เห็นแล้วว่าในสถานการณ์แบบนี้มันไม่จำเป็นต้องขนาดนั้น 

สื่อมักจะกลัวคำว่า ‘ตกข่าว’ เพราะฉะนั้นนักข่าวภาคสนามเลยถูกกดดันมาก ทั้งจากสถานการณ์ตรงหน้า แล้วยังถูกกดดันจากเบื้องหลังข้างในอีก

ดังนั้นจะต้องกลับไปโทษเบื้องหลัง หรือกองบรรณาธิการ ในการที่จะให้ข้อมูลเพิ่มด้วย มีคนอยู่จำนวนมากมาย กลับจะรอแต่ผู้สื่อข่าวภาคสนามรายงานอย่างเดียว คุณมีนักข่าวต่างประเทศ ทำไมคุณไม่ไปบี้กับโต๊ะต่างประเทศว่า เฮ้ย! เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ เขามีข้อมูล มี database เก็บไว้ไหม data analytics, data journalism เอาขึ้นมาซิ มันมีเคสอย่างนี้เกิดขึ้นแล้วเขาทำตัวยังไงกัน แล้วเราควรจะเล่นประเด็นยังไง เราควรจะรายงานยังไง

พอไม่รู้ ทุกอย่างเลยกลายเป็นความวุ่นวาย นักข่าวก็เลยไม่รู้จะทำยังไง เห็นรถตำรวจมานะ เห็นประตูนี้มีนักข่าวเข้าไปนะ เห็นอะไรก็จะไปคุยแล้วก็ไปถามคำถามให้ได้มากที่สุด ไปเอาข้อมูลจากภาคสนามมาให้ได้มากที่สุด เพราะกลัวคำว่าตกข่าว 

ในภาวะวิกฤติสื่อสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้าสื่อสามารถบอกข้อมูลได้ทั้งหมด สื่อจะกลายเป็นฮีโร่ได้เลย สามารถพลิกสถานการณ์ได้เลย ต้องอย่าลืมนะว่ารัฐบาลวันนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทำงานช้ามาก ไม่มีการประกาศอะไรออกมาเลยในสถานการณ์วิกฤติอย่างนี้ ตอนนั้นทุกคนต้องช่วยตัวเองทั้งหมด ทุกคนตื่นตระหนกไปหมดไม่ใช่แค่คนที่โคราช แต่เป็นคนทั้งประเทศเลยที่กำลังตามข่าวอยู่ เพราะรัฐก็ไม่บอกอะไรเลย วันนั้นคนโคราชน่าเห็นใจมาก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกคนเสียขวัญและกำลังใจมากๆ

ตอนที่รู้ข่าวว่ามีกระสุน 10 กว่านัดแรกถูกยิงออกมา อาจารย์จินตนาการว่าการทำงานของสื่อจะเป็นอย่างไร

โดนด่าแน่นอน คือเราก็เดาไว้แล้วว่าสื่อต้องโดนด่า เพราะจากประสบการณ์เราพบว่านักข่าวมีปัญหามากเรื่องความรู้ในการรายงานข่าวแต่ละประเภท นักข่าวส่วนมากให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะในการรายงานข่าว ต้องการคนที่จะมายืนเปิดหน้ากล้อง ยืนรายงานได้ แต่ไม่ได้ดูว่าคนคนนั้นมีความรู้พอไหม แล้วพอเกิดวิกฤติเขาก็เอาทักษะในสถานการณ์ปกติของเขามาใช้ในสถานการณ์วิกฤติ กลายเป็นสื่อทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัยเสียเอง

และอีกปัญหาคือนักข่าวภาคสนามส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ถ้าคุณดูพวกสำนักข่าวต่างประเทศเขาจะเอาพวกมืออาชีพ ระดับมือโปรลงไปในสนาม ยิ่งถ้าคุณบอกว่าต้อง real time วินาทีต่อวินาทีแข่งกับช่องอื่น ดังนั้นมันต้องใช้สติ ใช้ปัญญาอย่างสูงมากๆ ในการตัดสินใจ เพราะทุกอย่างมันจะถูก gatekeeper รอบแรกจากผู้สื่อข่าวภาคสนาม

ต้องอย่าลืมว่านักข่าวทุกคนตอนนี้อยากมีตัวตน อยากมี personal brand เพราะว่าทุกๆ วิกฤติมันสร้างฮีโร่ จริงๆ เหตุการณ์นั้นทุกคนก็ไม่ได้อยากเป็นฮีโร่หรอก แต่คงคิดว่าตัวเองอยากรายงานได้เร็วที่สุด เข้าใกล้ความจริง ข้อเท็จจริงมากที่สุด โดยละเลยว่าผลกระทบจากการรายงานของคุณกำลังให้ข้อมูลกับผู้ก่อเหตุด้วย

บางทีถึงเวลาแล้วเหมือนกันที่คนทำสื่อหรือกองบรรณาธิการข้างในควรจะให้ความสำคัญอย่างมากกับการวางตำแหน่งการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานมากขึ้น ยืนยันเลยว่านักข่าวไม่ได้ใช้โสตประสาทแค่ตาเห็นแล้วหูได้ยิน นักข่าวจะต้องใช้ปัญญาสติที่ไตร่ตรองอย่างมาก แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องอาศัยประสบการณ์ด้วย แต่ว่าลองไปดูสินักข่าวภาคสนามหลายคน ก็เป็นนักข่าวที่ประสบการณ์น้อย เคยผ่านเหตุการณ์วิกฤติมากันบ้างไหม ดังนั้นเรามองว่าการทำงานต้องทำงานเป็นทีม เพราะบางทีกองหนุนข้างในก็ใจร้าย ผลักนักข่าวตัวเองลงสนามเพื่อลงไปเจอกับวิกฤติ

ข้อจำกัดเยอะไปไหมสำหรับการทำงานของสื่อ

อย่างที่บอกว่านักข่าวมาอยู่บนความหวังที่สูงมากของสังคม ดังนั้นคุณต้องมีคุณสมบัติที่สูงมาก นอกจากปัจจัยความคาดหวังจากสังคม แล้วตอนนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของการแข่งขันเข้ามาอีก ต้องอย่าลืมว่าระบบนิเวศสื่อเปลี่ยน media ecology เปลี่ยน ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสื่อมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นอีก

ก่อนหน้านี้คุณมีแค่ช่อง 3, 5, 7, 9, NBT และ ThaiPBS แต่ปี 2557 คุณมีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นและปัจจุบันเหลืออยู่ 17 ช่อง ยังมีทีวีดาวเทียมอีก แล้วยังมีเคเบิลทีวีอีก แล้วยังมีสำนักข่าวออนไลน์ ตระกูลเดอะต่างๆ อีก แล้วยังมี อีเจี๊ยบ อีจัน อีจ่า มีเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นทุกคนก็รายงานข่าวได้ ต่อให้มีคนพยายามจะบอกว่าพวกคุณสื่อออนไลน์ยังไม่ได้เข้าสังกัดนะ พวกคุณยังไม่ได้เข้าสภาการหนังสือพิมพ์ เขาพยายามเตะพวกคุณออกไป ไม่ให้พวกคุณมาเป็นคู่แข่งยืนบนขาที่เสมอกัน แต่ตอนนี้จะกลายเป็นว่าทุกคนก็คือคู่แข่งกันไปหมด

อย่างเหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ทุกคนพูดถึง MThai ในเหตุการณ์โคราชครั้งนี้ทุกคนก็พูดถึง MThai อีก อย่างที่บอกว่าสื่อดั้งเดิมทำงานยากเพราะระบบนิเวศของสื่อมันเปลี่ยน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีมากขึ้น เมื่อก่อนที่คนจะรายงานข่าวมันมีเฉพาะสื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ว่าไป แล้วก็มีทีวี มีวิทยุแค่นั้น แต่ตอนนี้เยอะไปหมด ทุกคนลงมาร่วมปาร์ตี้หมดเลย เอาง่ายๆ คุณแยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นอกจากจะรายงานข่าว 3 มิติแล้ว ก็เปิดเพจตัวเองรายงานให้กับเพจ The Reporter ด้วย ระบบนิเวศสื่อมันซับซ้อนมากมายเลย แล้วสื่อใหม่พวกนั้นมันไม่ต้องใช้งบประมาณที่เยอะหรือพลังงานมหาศาล

จำเป็นต้องแข่งขันกันขนาดนี้จริงๆ เลยหรือ

มันมีปัจจัยหลายอย่างมาก นั่นคือเหตุผลว่าหลายสำนักข่าวที่เป็นจำเลยในสังคมอยู่ตอนนี้ ที่สังคมตั้งคำถามและติดแฮชแท็กว่า #สื่อไร้จรรยาบรรณ เขาก็ไม่แคร์ เพราะคู่แข่งของเขามันมากกว่านั้น ก็คือเพจต่างๆ เพราะกลุ่มคนที่ดูเขาคือกลุ่มคนเดียวกันกับที่ดูเพจเหล่านั้น เขาคิดแค่ว่าเขาจะทำยังไงให้ตัวเองอยู่ได้ เพราะมันดันวัดด้วยระบบธุรกิจสื่อ ที่ใช้เรื่องของสปอนเซอร์ แล้วสปอนเซอร์นั้นมันใช้มาตรวัดด้วยเรตติ้ง ดังนั้น เขาอยากให้สปอนเซอร์เข้า เขาก็ต้องทำเรตติ้งให้ได้ คือทุกอย่างมันบิดเบี้ยว โครงสร้างสื่อประเทศไทยมันบิดเบี้ยว แล้วยิ่งมาแข่งกับเพจต่างๆ ที่อยู่บนออนไลน์ ที่ กสทช. ก็ยังเข้าไปไม่ถึง เข้าไปควบคุมไม่ได้อีก

ต้องอย่าลืมนะว่า ตอนนี้ระบบนิเวศสื่อเป็นยังไง เศรษฐีในเมืองไทยเป็นเจ้าของช่องกันทั้งนั้น แต่เมื่อก่อนมันไม่ใช่แบบนี้นะ เมื่อก่อนคนที่เข้ามาลงทุนในวงการสื่อคือคนที่มีอุดมการณ์ และทำธุรกิจสื่อไปด้วย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว คนที่เข้ามาลงทุนในวงการสื่อกลายเป็นพวกนักธุรกิจ เพราะมองเห็นว่าสื่อเป็นเครื่องมือของเขาได้

ในเมื่อตอนนี้ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อมากขึ้น กระแสสังคมจะมีผลในการกำกับสื่อมากกว่า กสทช. หรือสปอนเซอร์ของช่องไหม

ที่ทุกคนพยายามติดแฮชแท็กว่า #สื่อไร้จรรยาบรรณ ดูเหมือนว่าทำกันมาตั้งแต่วันที่ 8 แล้ว หรือแม้แต่เหตุการณ์ก่อนหน้านี้ก็มี เราเรียกว่าระบบของ social sanction คือการกำกับโดยสังคม ก็ดูเหมือนสังคมพยายามกำกับกันอยู่ ก็ได้ผลประมาณหนึ่งในการไปรุก กสทช. ถือว่าเป็นการกำกับสื่ออีกแบบหนึ่งด้วย

อย่าง ThaiPBS ที่สังคมเสนอกันบอกว่าได้เรตติ้งต่ำสุด ถ้าเกิดมาดูตอนวันที่ 8 มันต่ำสุดจริง แต่หลังจากนั้นมันเริ่มขึ้นมา จากเรตติ้งอันดับที่ 11-12 กลายเป็นขึ้นมาอันดับ 5-6 ในวันที่ 9 มันสะท้อนว่าจริงๆ คนดูก็รู้เท่าทัน ก็อยากที่จะดูเรื่องความถูกต้อง อยากจะเห็นสื่อที่เป็นสื่อที่ดี ซึ่งสิ่งนี้ไงที่พิสูจน์ว่าคนอยากเห็นสื่อที่มีคุณภาพ พอเกิดเหตุการณ์วิกฤติแบบนี้ลองสังเกตนะ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ถ้ำหลวง หรือว่าเหตุการณ์นี้ เราจะเห็นว่าพอคนต้องการข้อเท็จจริงจริงๆ ThaiPBS เรตติ้งก็จะเริ่มขึ้น แต่ตอนวันนั้นที่โซเชียลเอามาลงว่า ThaiPBS เรตติ้งต่ำสุด คือเขาเอาของวันที่ 8 มา แต่ของวันที่ 9 ที่เรตติ้งสูงขึ้นไม่เอามา หลังจากนั้นคนก็ดราม่ากันหมดเลยว่า เฮ้ย! สามช่องนั้นนะเรตติ้งดีสุด แต่ ThaiPBS เรตติ้งต่ำมาก แต่เขาเอามาแค่เฉพาะวันที่ 8 ไง เห็นไหมว่าโซเชียลก็ชอบดราม่าเหมือนกัน พอเล่นเรื่องนี้ทุกอย่างก็ดราม่าหมดเลย ทุกคนก็แชร์กันใหญ่เลยว่า ดูสิบ้านเรามีแต่แบบนี้ จริงๆ มันมีข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่งแต่คนไม่ไปเล่นกัน

เรามีตัวอย่างของสื่อที่ทำงานได้ดีในเหตุการณ์ที่โคราชครั้งนี้ไหม

ตอนนี้ทุกคนชู ThaiPBS แต่ขณะเดียวกันต้องอย่าลืมว่า ThaiPBS เป็นทีวีสาธารณะ อาจารย์ถึงบอกว่าบางครั้งคนที่ดราม่าเยอะๆ ที่มากำกับเยอะๆ บางทีเขียนอะไรตัวเองก็ไม่ได้รู้จริง ดังนั้นมันมีปัจจัยหลายอย่างมากในการทำงานของสื่อ

อย่าง ThaiPBS เป็นทีวีสาธารณะ เขาไม่ต้องหารายได้อะไรทั้งสิ้น ปีหนึ่งเขามีเงิน 2,000 ล้านบาทที่ได้จากภาษีบาป ก็คือภาษีเหล้าบุหรี่ต่างๆ ซึ่งก็คือเงินของทุกคน เขามีเงินอยู่แล้วในการที่จะดำเนินการจัดการในช่องของเขา ดังนั้นเขาไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเรตติ้งเลยด้วยซ้ำ แต่บทบาทของเขาคือ เขาต้องนำเสนอข้อมูลที่รู้สึกว่ามันยังขาดหายไปจากสื่อ เพราะว่าธุรกิจสื่อมันถูกกำกับด้วยโฆษณาต่างๆ ดังนั้นในเมื่อเขาไม่ต้องคำนึงถึงตรงนี้ เวลาที่จะเอา ThaiPBS มาเปรียบเทียบกับทีวีช่องอื่นที่เป็นทีวีช่องเอกชน 17 ช่อง เราว่าก็ไม่แฟร์เหมือนกัน มันเป็นคู่ชกที่เทียบกันไม่ได้

แต่เราก็อยากเห็นทีวีเอกชนช่องต่างๆ นำเสนอแบบ ThaiPBS ได้ไหม ช้าลงหน่อย เพราะอย่างตอนนี้เราก็กำลังทำ public hearing (ประชาพิจารณ์) อยู่ในส่วนของฝ่ายประเมินและติดตามการดำเนินงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์

ซึ่งจากการ public hearing คนทั้งประเทศ สิ่งหนึ่งที่เราพบก็คือ คนบอกว่าเวลาที่คุณต้องการดูข่าว ถ้าเกิดให้เลือกระหว่างสองอย่างคือความถูกต้องกับความเร็ว คุณต้องการอะไร คนตอบว่าต้องการสองอย่างเลย ทั้งความถูกต้องกับความเร็ว แต่เราบอกว่า แล้วถ้ามันได้แค่อย่างเดียวล่ะ เขาบอกเขาต้องการความถูกต้องมากกว่า

เวลาคนบอกว่าสื่อหิวข่าว คิดยังไงกับคำนี้

ก็จริง ปฏิเสธไม่ได้ ถ้าเกิดวันนี้คุณไม่มีข่าวเอาไปส่ง คุณก็ตาย คุณก็โดนหัวหน้าคุณบี้ เพราะหัวหน้าคุณคิดว่าข่าวรายวันคุณต้องมี แล้วพอยิ่งตอนนี้เป็นโซเชียลมีเดียเขาคิดว่าคุณต้องมีข่าวทุกชั่วโมง แต่มันไม่จำเป็นต้องมี มันไม่จำเป็นต้องมีขนาดนั้น มันก็เลยเกิดข่าวที่แบบ เป็นขยะเยอะเต็มไปหมด เพราะคนที่เป็นคนกำกับดันไปคิดว่ามันต้องมีข่าวทุกวัน มันต้องมีข่าวทุกชั่วโมง ทุกนาที แต่ไม่จำเป็น ไปทำอย่างอื่นบ้างก็ได้ ปล่อยให้น้องๆ ไปทำเชิงข้อมูล ไปทำเรื่องเฉพาะก็ได้ ไม่ใช่วันๆ ต้องวิ่ง ดูแต่ว่าวันนี้มีกำหนดการอะไร คอยฟังวิทยุสื่อสารว่ามีอะไรแล้ววิ่ง มันไม่ใช่แล้ว

แต่ก็ยังต้องเห็นใจเนอะ เพราะมันเป็นระบบที่เราไม่รู้ว่าวันไหนเราจะถูกจิ้มออก แล้วตัวชี้วัดข้างในมันบิดเบี้ยวด้วยไง ดันไปให้คุณค่ากับเรื่องเหล่านั้น ดังนั้นเมื่อตัวชี้วัดบิดเบี้ยว ทุกอย่างเลยบิดเบี้ยวหมด นักข่าวเลยต้องเอาข่าวมาเสิร์ฟให้ได้ เพราะงั้นไม่ใช่ว่านักข่าวหิวข่าวหรอก บก. นั่นแหละหิวข่าว หิวขยะเน่าด้วย (หัวเราะ) 

คิดว่ามันช้าลงกว่านี้ได้ใช่ไหม ไม่ต้องแข่งกันเร็วขนาดนั้น

ได้ อาจารย์ว่านะ บางทีนักข่าวยืนอยู่หน้ากล้องเพื่อจะรายงาน ตัวเองบางทีก็ยังไม่รู้เลยจะเอาอะไรมาพูด (หัวเราะ) พอเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง รีบกดเลย Facebook Live แต่ยังไม่รู้เลยตัวเองจะพูดอะไร แบบเร็วไว้ก่อน เพราะงั้นข้อมูลก็ยังไม่มี พูดไปก็ไม่รู้ถูกต้องไหม

ทุกวันนี้นักข่าวส่วนใหญ่ใช้สองโสตประสาทคือใช้สิ่งที่ตาเห็นกับสิ่งที่หูได้ยินเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วมันต้องมีการตรวจสอบก่อน เพราะสิ่งที่ตาเห็นมันไม่ได้เป็นจริงตามที่ตาเห็นเสมอไป กับสิ่งที่หูได้ยิน มันไม่ได้จำเป็นว่ามันจะใช่สิ่งที่เขากำลังบอกเราเสมอไป มันมีวาระข่าวสารหรืออะไรมากกว่านั้น แต่พอคุณเห็นการเคลื่อนไหวปุ๊บคุณคิดว่าจะต้องรายงานทันที แล้วท้ายที่สุดคุณก็กำลังสร้างความสับสน ซึ่งสำคัญมากนะ เพราะจริงๆ แล้วสื่อต้องให้ความรู้ ให้ข้อเท็จจริง ให้คนรู้เท่าทันสถานการณ์ ไว้เป็นข้อมูลสำหรับช่วยในเวลาเกิดวิกฤติ ในการอุดช่องโหว่ แต่กลับกลายเป็นว่าความไวของคุณอาจกำลังสร้างความสับสน แล้วสร้างความสับสนในวงกว้างด้วย เพราะคุณกำลังเป็น mass media คุณกำลังกระพือเอฟเฟ็คต์ไปในวงกว้างมาก เพราะคนเข้าใจว่าคุณเป็นสื่อแล้วคุณขายความน่าเชื่อถือ เขาเข้าใจว่าคุณต้องคัดกรองมาแล้ว ตรวจสอบมาแล้ว แต่เราก็พบว่าพอคุณไวแล้วมันไม่ได้คัดกรอง ไม่ได้ตรวจสอบก่อน

ถ้ามีภาวะวิกฤติเกิดขึ้นอีกสื่อก็จะเป็นแบบนี้อีกใช่ไหม

ตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่านของการที่มีโซเชียลมีเดียเข้ามาในสื่อ คือการที่เราเริ่มมี Facebook Live เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดคือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยิงเพื่อนอาจารย์ แล้วไปซ่อนตัวที่โรงแรมที่สะพานควาย จากนั้นตำรวจไปล้อมจับ เขาก็เอาตัวเองเป็นตัวประกัน ครั้งนั้นคือครั้งแรกที่ทำให้เกิดการนำเสนอด้วย Facebook Live ในเมืองไทย เคสนี้ต้องกลับไปดูนะเพราะเป็นเรื่องจากปัญหาส่วนบุคคลเหมือนกัน ตอนนั้นภาพอุจาดตาที่เกิดขึ้นจาก Facebook Live เยอะมาก จน กสทช. เรียกสื่อบางค่ายไปคุย แล้วพอต่อมาเหตุการณ์ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน สื่อก็ถูกเรียกอีก จากการเอาโดรนขึ้นไปรบกวนสัญญาณตำรวจแล้วก็เอามารายงาน อยากจะได้ข้อมูลเชิงลึกกันมาก คือสื่อผ่านเหตุการณ์เยอะแยะมากมาย เขาก็ยังอยู่กันปกติทุกอย่างไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ดังนั้นท้ายที่สุดเลยต้องกลับไปที่ใครรู้ไหม ผู้กำกับก็คือ กสทช.

ปัญหาใหญ่มากที่ผ่านมาก็เกิดจาก กสทช. ถามว่า กสทช. จริงจังและชัดเจนกับการกำกับขนาดไหน ปัญหาคือไม่เคยชัดเจน เวลาที่บอกว่าทำผิด ทำผิดยังไงเหรอ หรือว่าที่สื่อบางช่องถูกเรียกไปคุย ต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลสิว่าเรียกช่องอะไรไปบ้าง มีความผิดยังไง ความผิดที่เขากล่าวโทษคืออะไรบ้าง เพื่อที่ว่าช่องอื่นๆ จะได้รู้ว่าทำผิดแบบนี้ไม่ได้นะ แต่กสทช. ไม่เคยชี้แจง ไม่เคยเปิดเผยเลยเวลาเรียกใครไป

แล้วการจัดการแบบเหลื่อมล้ำท้ายสุดคือความไม่โปร่งใส ก็คือต้องถามกลับไปว่า กสทช. ไม่มีความพร้อม แล้วโทรทัศน์ดิจิตอลเราพร้อมหรือยัง และนอกจากนั้นไม่ใช่แค่การกำกับอย่างเดียว แต่ควรส่งเสริมและสนับสนุนด้วย การกำกับก็ไม่ชัดเจน แล้วก็ไม่เคยส่งเสริม ไม่เคยสนับสนุน 

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่อาจารย์เอาตัวเองเป็นตัวประกันแล้วยิงตัวตาย พอมีวิกฤติอย่างนี้เรารู้แล้วว่าสื่อเริ่มที่จะ Facebook Live มันห้ามไม่ได้นะที่สื่อจะเริ่มมี Facebook Live กัน ถ้าเกิด กสทช. เป็นฝ่ายสนับสนุนให้ความรู้ ควรที่จะจัดอบรมเรื่องนี้ไหม ตัวเองควรจะเป็นเจ้าภาพไหม ถ้าเกิดจะโยนไปให้แต่ละช่องจัดอบรม บอกเลยว่าแต่ละช่องไม่มีเวลา แล้วก็ไม่มีศักยภาพ แต่ กสทช. มีเงินอยู่ในมือ เอาเงินเขาไปตั้งเยอะแล้ว ทำไมคุณไม่เป็นเจ้าภาพจัด และชี้ไปเลยทุกช่องว่าต้องมาอบรมนะ เขาต้องมาอยู่แล้ว นี่กลับปล่อยให้นักข่าวไม่มีอะไรอยู่ในหัวเลย เดินลงสนามแล้วก็รายงานให้คนด่า

คุณลองคิดดู ถ้าเป็นคุณ คุณเป็นนักข่าวใหม่ คุณคิดว่าคุณจะรายงานจากสิ่งที่ตาเห็นและหูได้ยินไหม แล้วคุณก็ต้องคิดว่า เฮ้ย! ฉันต้องอยู่ใกล้ที่สุด พอเสร็จแล้วคุณก็จะ อ้าว! ตายแล้ว ฉันทำอะไรลงไป จริงไหม (หัวเราะ)

เหตุการณ์จบลงแล้ว สื่อควรทำอะไรต่อไป

เหตุการณ์มันจบเมื่อผู้ก่อเหตุถูกวิสามัญฆาตกรรม พอจบตรงนั้น ด้วยนักข่าวไทย เขาจะรายงานแบบเกาะติดไปในเหตุการณ์ ทำข่าวเฉพาะเหตุการณ์ ไม่ยอมทำข่าวเชิงข้อมูล ก็เลยไปตามใครต่อ ไปตามผู้เคราะห์ร้าย ญาติผู้เคราะห์ร้าย

เราก็เลยเห็นภาพของทีวีช่องหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวไปส่องดูบ้านของผู้ก่อเหตุ หรือขณะเดียวกันมีหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ฉบับหนึ่งก็ลงเป็นตุเป็นตะเลยว่า ผู้เคราะห์ร้ายให้สัมภาษณ์ จนกระทั่งผู้เคราะห์ร้ายมาโพสต์บอกว่า ฉันไม่ได้ให้สัมภาษณ์อะไรเลย จนกระทั่งสำนักข่าวนั้นออกมาขอโทษบอกว่าเขาไม่ได้ให้สัมภาษณ์ พอดีไปสัมภาษณ์ญาติ แต่ปรากฏว่าในหลายสิ่งที่เขาเขียน ญาติก็ไม่ได้พูดด้วย อย่างนี้เขาเรียกว่าอะไร

ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ที่เหตุการณ์จบ ทุกคนก็เบนเข็มไปที่ผู้เคราะห์ร้ายที่รอดออกมา ไปที่ญาติพี่น้อง ก็ไปจบอยู่ที่แค่ดราม่า อยู่แค่นั้น ทั้งที่จริงแล้วยังมีประเด็นที่น่าตามมากว่า ทำไมผู้ก่อเหตุถึงทำ มันเป็นปัญหาใหญ่มากเชิงโครงสร้าง ระบบในกองทัพ ตั้งแต่หนึ่ง อาวุธปืน อยู่ดีๆ พอยิงตายไปสองคนแล้ว เฮ้ย! จะเอาปืนไปยังไงแค่นี้ก็ได้แล้วเหรอ ระบบมีแค่นั้นเองเหรอ ทั้งที่อยู่ในค่ายกองทัพทหาร แล้วเอารถ GMC ออกมาอีกด้วย เฮ้ย! นี่ระบบคุ้มกันมีอยู่แค่นี้จริงเหรอ

ย้อนกลับไปนะ ที่เราเคยทำงานเรื่องเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ คือวันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดจากคนร้ายปล้นปืนที่ค่ายทหาร นั่นก็เหมือนเหตุการณ์ปล้นปืนที่โคราชเลย ท้ายสุด มันเห็นเหมือนกันเลยว่า คนร้ายมันเข้าไปปล้นปืนได้นะ นี่เหมือนกัน เป็นนายทหารยศแค่นายจ่า ทำไมมันทำได้ขนาดนี้ เพราะงั้นมันสะท้อนว่าระบบความปลอดภัย ระบบการป้องกันอาวุธที่เป็นอาวุธร้ายแรง อาวุธสงคราม มีปัญหา แล้วนักข่าวแทบไม่ไปตามเลย

จริงๆ นักข่าวตอนนี้ที่ควรจะทำงานอย่างเข้มแข็งที่สุดควรจะเป็นนักข่าวสายทหาร ถ้าเกิดเราย้อนกลับไปว่าระบบโครงสร้างมีปัญหา ทหารรายนี้ก็เลยเป็นเหยื่อ คือมันมีสองเรื่องนะเรื่องทหารคือเรื่องระบบความปลอดภัยของอาวุธว่ามันออกมาได้ยังไง มีระบบยังไง ในจุดนี้นักข่าวควรจะไปทำอะไร นอกจากที่จะไปตามแล้วดูว่าระบบเป็นยังไงแล้วเอาข้อมูลออกมา คุณควรจะต้องทำข้อมูลโดยไปศึกษา case study ว่าต่างประเทศเขาทำยังไง

ไม่ใช่วันๆ มัวแต่ไปดราม่าที่งานศพ ซึ่งจริงๆ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล คุณเห็นเมืองนอกไหม ข่าวเมืองนอกเวลาเซเลบฯ ตาย คุณเคยเห็นศพเคยเห็นอะไรไหม ไม่เห็น คุณจะเห็นท่าเดียวคือท่า respect ท่าเคารพศพ นั่นคือการเคารพต่อผู้เสียชีวิต แต่เมืองไทยแบบ โห! ขอโทษนะ เอากล้องไปส่องหน้าเขา แต่ก็โทษคุณไม่ได้หรอก บก. คุณสั่งมาเนอะ ว่าเอาหน้าชัดๆ นะ เอาแบบตอนที่น้ำตากำลังหยดนะ 

อีกเรื่องหนึ่งคือ ตอนนี้ที่มีเพจเฟซบุ๊ค The Reporter ของฐปณีย์ ทำเรื่องเงินทอน ก็คือ เงินทอนเนี่ยแหละคือต้นเหตุที่ทำให้ผู้ก่อเหตุคนนี้บ้าคลั่งขึ้นมา ซึ่งเขาบอกว่าจริงๆ แล้วตอนนี้มันเริ่มเปิดๆ กันออกมาแล้วมันกลายเป็นคอร์รัปชันที่ยิ่งใหญ่มาก ตรงนี้นักข่าวควรจะไปตามเลย ทุกอย่างบอกว่าเป็นความลับ ประทับตราเลย ลับ ลับที่สุด ลับถึงลับที่สุด ลับ ลับ ทุกอย่าง แล้วอ้างเรื่องความมั่นคง จริงๆ แล้วมันใช่เหรอ ดังนั้นจริงๆ กรณีของนายทหารผู้ก่อเหตุคนนี้สำหรับเรามองว่ามันคือภาพตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของคอร์รัปชันในกองทัพได้เลยนะ ที่บอกว่ามันเกิดจากเงินกู้

เอาง่ายๆ แต่อย่าไปเปรียบเทียบนะเดี๋ยวเขากลายเป็นฮีโร่ สืบ นาคะเสถียร ยอมที่จะยิงตัวเองตาย เพื่อที่จะเป็นสัญลักษณ์ในเรื่องเกี่ยวกับป่า เพราะถ้าเกิดตัวเองไม่ยิง ต่อสู้ยังไงก็ไม่จบ แต่ปรากฏว่าการตายของสืบสามารถที่จะสร้างแรงกระเพื่อมได้ แต่เราไม่ได้เปรียบเทียบว่าผู้ก่อเหตุเป็นฮีโร่นะ แต่เรามองว่าครั้งนี้ เขาคือผู้ก่อเหตุแน่นอน แต่ถ้าเกิดเราจะมองอีกชั้นนึง คนคนนี้ก็กำลังเป็นเหยื่อของระบบในกองทัพที่บิดเบี้ยวมากๆ ดังนั้น ถ้าเกิดจะมองว่า การเกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่แค่ ผู้ก่อเหตุจะต้องรับผิดชอบ กองทัพก็ควรจะต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผลพวงจากปัญหาในกองทัพที่มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ดังนั้นเรามองว่าพอหลังจากเหตุการณ์นี้ มีประเด็นเยอะแยะมากมาย สื่อไปตามสิ

และอีกเรื่องคือ วันเกิดเหตุเราบอกว่าขาดการรายงานข่าวเชิงข้อมูล แต่พอหลังจากเหตุการณ์มันควรจะเป็นข่าว investigative หรือข่าวสืบสวนละ อย่างที่บีบีซีไทยจะเล่น มันคือข่าวเชิงสืบสวน ปัญหาคือนักข่าวไทยแทบจะไม่ทำข่าวเชิงสืบสวนเลย แล้วกองบรรณาธิการข่าวไทยก็ไม่ยอมลงทุนกับข่าวเชิงสืบสวน เพราะมันต้องใช้ศักยภาพของคนมันต้องทุ่มเวลา แต่เขาไม่ทุ่ม เขาต้องการแค่บอกแต่ว่าใครเกิดอะไร เอาให้มันเยอะที่สุด เชิงปริมาณเยอะที่สุด แต่ไม่มีคุณภาพ เพราะถ้าเกิดเล่นเชิงคุณภาพ investigate มันต้องใช้กำลังคน คุณต้องใช้คนมาทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ซึ่งข่าวเชิงสืบสวนที่ควรทำหลังจากเหตุการณ์นอกจากเรื่องกองทัพแล้ว ก็ทำข่าวเชิงสืบสวนกลับไปที่ กสทช. สิ ว่าปัญหาของสื่อตอนนี้มันมีสองเรื่องคือเรื่องของภาพที่นำเสนอ กับเรื่องของประเด็น ดังนั้น หยุดเถอะ หยุดเล่นข่าวเหตุการณ์ พอได้แล้ว ที่เราทำ public hearing มา คนดูเขาเบื่อนะ ข่าวข่าวเดียวขยี้เข้าไปครึ่งชั่วโมง ซึ่งเขาบอกว่าจริงๆ ก็ไม่ได้อยากรู้เยอะขนาดนั้น แต่ด้วยตอนนี้ทีวีมันมีเวลาเยอะมาก แต่เนื้อหามีไม่พอกับเวลาที่มี และที่สำคัญคือปริมาณคนเขาก็ไม่พอ คุณภาพของคนเขาก็ไม่พออีกเหมือนกัน มันเป็นปัญหาทั้งระบบ จริงๆ เป็นปัญหาของระบบสื่อที่ใหญ่มากๆ ถึงตอนนี้จะดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมข่าวของเราเติบโต แต่จริงๆ แล้วคนในอุตสาหกรรมข่าวมันยังไม่ได้พัฒนาไปเท่ากับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ข่าวมันก็เลยมีแต่ที่เราเห็น

ถ้าอย่างนั้น ควรมีการรวบรวมข้อมูลเป็นไกด์บุ๊คให้สื่อเผื่อสำหรับมีเหตุการณ์ครั้งต่อไป

จริงๆ แล้วมีคนทำอยู่นะ แต่มันเป็นก้อนๆ ไม่ได้เอามารวมกัน ซึ่งตอนที่เกิดเหตุการณ์วันที่ 8 คืนนั้นในกลุ่มของเฟคนิวส์ที่มีการรวมตัวกันก็คุยกันนะว่าควรจะมีการถอดบทเรียนไว้ ซึ่งจริงๆ ที่เมื่อกี๊บอกไกด์บุ๊ค เรามองว่ามันควรจะเริ่มจากสิ่งที่เรียกว่าถอดบทเรียนมากกว่า ควรจะถอดบทเรียนต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ว่ามันน่าสนใจยังไง เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนได้ตรงที่ว่า หลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่ มีผลกระทบวงกว้าง มีเหยื่อเยอะ ทั้งหมดนี้ก็ต้องมาคุย มาถอดบทเรียนเหมือนกัน ว่าจะเป็นประเภทไหนยังไง แล้วก็ถ้าเกิดแบบนี้อีก ตัวผู้สื่อข่าวควรจะทำอะไร เป็น do and don’t อะไรที่ควรจะรายงาน กับอะไรที่ไม่ควรจะรายงาน เช่น สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ ควรจะทำยังไง กับ don’t สิ่งที่ไม่ควรจะรายงาน ที่มันจะกลายเป็นผลกระทบเชิงลบให้กับเหตุการณ์นั้น ไปขัดขวางผู้ปฏิบัติการ ไปส่งเสริมผู้ก่อเหตุ

คิดว่าการเรียนการสอนเรื่องสื่อในมหาวิทยาลัยจะปรับตัวกับเหตุการณ์แบบนี้ยังไง

ปรับอยู่แล้ว ในฐานะที่หลักสูตรทางด้านวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ที่จะผลิตคนทำสื่อออกไปก็ต้องมีการปรับตัว กลับไปที่คำว่าระบบนิเวศสื่อมันเปลี่ยน ดังนั้นใครบ้างที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และจากเดิมที่เมื่อก่อนเราบอกว่ามีการรายงานข่าวเบื้องต้น การรายงานข่าวเชิงสอบสวน จะต้องเพิ่มมากขึ้นอีก แล้วเมื่อก่อนแค่บอกว่า รายงานข่าวการเมือง รายงานข่าวเศรษฐกิจ รายงานข่าวบันเทิง รายงานข่าวกีฬา มันไม่ใช่แค่นั้นแล้ว อย่างที่มีเด็กในคณะเราให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่าที่เรียนมาไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไรเลย สิ่งที่เรียนไม่ได้ใช้อะไรได้เลย (หัวเราะ) มีรุ่นน้องอาจารย์ส่งมาบอกว่าเด็กคนนี้ทำให้คณะเสื่อมเสียนะ แต่ก็ต้องยอมรับความจริง เพราะว่าความรู้มันก้าวไม่ทันกับความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ณ ตอนนี้ ไม่เฉพาะคนทำสื่อ แม้แต่คนที่สอนสื่อ ความรู้ก็ก้าวไม่ทันกับความจริงที่เกิดขึ้น 

เรามองว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด บริบทสังคมก็เปลี่ยน ความเครียดของสังคมก็เปลี่ยน ดังนั้น ถ้าเกิดคุณคิดว่าคุณเรียนแค่ 4 ปี 132 หน่วยกิตแล้วคุณจะคิดว่าคุณรู้แล้ว ไม่ใช่ คนที่เป็นอาจารย์คิดว่าจบดอกเตอร์มาแล้ว เป็นศาสตราจารย์ เป็นรองศาสตราจารย์ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ก็ยังไม่ได้แล้ว เพราะความรู้มันเคลื่อนอย่างมาก

ดังนั้น ณ ตอนนี้เขาพูดกันถึงเรื่องนี้แล้วนะว่า จริงๆ หลักสูตรที่เราเรียนกันตั้งเยอะมันไม่จำเป็นแล้วนะ จะเรียนทำไมกันนานขนาดนั้น 4 ปีนี่เหมือนหลอกเด็กนะ จบออกมาความรู้ที่เรียนเอามาใช้ไม่ได้แล้ว มัน out แล้ว แต่ท้ายที่สุดก็ให้ know how บางอย่างนะ ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วไม่มีประโยชน์ อย่างน้อยคุณมีแบคกราวด์แล้ว คุณก็จะรู้จักการปรับใช้ ในการเรียนรู้เพิ่ม ยังไงนิเทศ วารสาร สื่อสารมวลชน ก็ต้องเรียนอยู่ อาจารย์ว่ามันก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ แต่ขณะเดียวกัน พวกเราก็ควรที่จะเติมความรู้จากศาสตร์อื่นเข้ามาด้วย ไม่งั้นเขาก็จะบอกว่า พวกคุณมีแต่ทักษะ แต่ไม่มี knowledge ไม่มี content (หัวเราะ) กลวงอย่างเดียว มีแต่ function พูดเป็นอย่างเดียว พูดแล้วทำร้ายสังคมด้วย

Author

หทัยธร หลอดแก้ว
เด็กปิ่นเกล้าที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง เดินทางข้ามฟากมาทำงานที่ลาดพร้าว และใช้อีก 4 ชั่วโมง เพื่อเล่นกับแมวในออฟฟิศ

Author

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

Photographer

ปฏิภัทร จันทร์ทอง
เคยทำงานภาพข่าวที่ Bangkok Post ปัจจุบันเป็นสมาชิก Realframe และ TNP ยังคงทำงานถ่ายภาพและรับจ้างทั่วไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า