เมื่อสื่อมวลชนสร้าง Fake News เสียเอง กรณีข่าว ‘เจ้าหญิงซูซานน่าถูกลักพาตัว’

วันนี้ (28 ธันวาคม 2561) มีคลิปวิดีโอโฆษณาที่ใช้รูปแบบรายงานข่าวปรากฏบนหน้าสื่อออนไลน์ในหลายสำนัก โดยคลิปดังกล่าวมีการโปรยเนื้อหาว่า “ช็อกโลก! เจ้าหญิงซูซานน่าถูกลักพาตัว ประชาชนชาวอังกฤษลุกฮือ เร่งกดดันนายกฯ ตัดสินใจ” โดยคลิปดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการขึ้นไตเติลว่า ‘Breaking News ข่าวด่วน’ จากนั้น นายธีมะ กาญจนไพริน ซึ่งเป็นผู้ประกาศข่าวอาชีพ รายงานว่า

“เมื่อเช้าเวลา 6 นาฬิกา เกิดเหตุ เจ้าหญิงซูซานน่า ถูกผู้ก่อการร้ายลักพาตัว

“ขณะนี้ทางด้าน นายกรัฐมนตรีไมเคิล แคร์โรล ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครับ โดยล่าสุดผู้ก่อการร้ายได้โพสต์คลิปออนไลน์ เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง ส่งผลให้เกิดกระแสโซเชียลกดดันไปยังตัว นายกรัฐมนตรีไมเคิล แคร์โรล ให้ตัดสินใจอย่างเร่งด่วน เราไปชมภาพเหตุการณ์กันครับ”

จากนั้นภาพตัดไปที่คลิปวิดีโอซึ่งเป็นการโฆษณาภาพยนตร์ที่จะฉายในช่อง Netflix ก่อนที่ภาพจะตัดมายังผู้ประกาศข่าวคนเดิมอีกครั้ง พร้อมกับรายงานว่า

“และนี่คือ Black Mirror ซีรีส์เทคโนโลยีสุดดาร์ค ที่จะเผยอีกด้านของมนุษย์ที่คุณไม่อาจคาดคิด พร้อมตอนพิเศษที่คุณเปลี่ยนอนาคตได้ตามการตัดสินใจของคุณ แล้วคุณจะเลือกอะไร”

ก่อนปิดท้ายเรื่องราวทั้งหมดด้วยการขึ้นโลโก้โฆษณาช่อง Netflix ซึ่งเป็นเว็บไซต์สตรีมมิ่งภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของโลก

สำหรับคลิปดังกล่าวมีความยาว 1 นาที ถูกเผยแพร่ในแฟนเพจหลายสำนักข่าว อาทิ Khaosod – ข่าวสด, The Matter, NationTV 22, Thairath_News และ Workpoint Entertainment นอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่า หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ก็ตีพิมพ์ข่าวนี้บนปกด้วยข้อความในลักษณะเดียวกัน

หน้าปกหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2561 (ภาพถ่ายจาก Js100 Radio)

หากพิจารณา ‘ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2559’ ประเด็นโฆษณาที่ไม่แอบแฝงและงมงาย ก็มีการระบุไว้ชัดเจนว่า

ข้อ 28 หนังสือพิมพ์ต้องแสดงให้เห็นชัดว่าข้อความที่เป็นบทความซื้อพื้นที่คือประกาศโฆษณา จะแอบแฝงเป็นการเสนอข่าวหรือความคิดเห็นมิได้

ข้อ 29 หนังสือพิมพ์พึงใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบให้ประกาศโฆษณาทั้งหลายอยู่ภายในขอบเขต ของศีลธรรมและวัฒนธรรม และพึงระมัดระวังที่จะไม่เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประกาศโฆษณาที่น่าจะเป็นภัยแก่สังคมหรือสาธารณะ

ข้อ 30 หนังสือพิมพ์พึงหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ประกาศโฆษณาที่มีเหตุให้น่าเชื่อว่าเจ้าของประกาศโฆษณานั้น เจตนาจะทำให้ผู้อ่านหลงเชื่อในสิ่งที่งมงาย

นอกจากนี้ที่ผ่านมาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวมทั้งคนในแวดวงสื่ออื่นๆ ทั้งในประเทศไทยและระดับสากลต่างขบคิดและให้ความสำคัญกับ Fake News โดยยกให้เป็นวาระสำคัญของสื่อสารมวลชนที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธา และสร้างความขัดแย้งระหว่างผู้รับสารด้วยกันเองอันเนื่องมาจากความสับสนจากข้อมูลที่ถูกบิดเบือน

หลังการเผยแพร่คลิปโฆษณาดังกล่าวมีความเห็นของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายประการ โดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อหลักการทำงานในฐานะสื่อสารมวลชนอาชีพที่ต้องยึดหลักความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบต่อสังคม

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า