ครม. ผ่านร่างกฎหมายควบคุมสื่อ ขีดเส้นจริยธรรม เตรียมชงเข้ารัฐสภา

หลังปี 2560 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ตำแหน่งขณะนั้น) มีความพยายามเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมสื่อมวลชน แต่ถูกองค์กรสื่อมวลชนต่อต้านอย่างหนักจนนำไปสู่การประนีประนอมด้วยการปรับเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นใบรับรองวิชาชีพที่ออกให้โดยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และตัดบทลงโทษจำคุกและปรับสื่อมวลชน

ล่าสุด วันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน มีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน อีกครั้ง โดยจะมีการเสนอต่อรัฐสภา และแจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ตราขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ ที่เสนอโดยกรมประชาสัมพันธ์ คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยกำหนดให้มีองค์กรสภาวิชาชีพ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน

รายงานดังกล่าวยังระบุต่ออีกว่า ร่างกฎหมายนี้จะส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนที่ไม่ปฏิบัติตามหลักจริยธรรม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแผนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ 

  1. กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น 

  2. กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งใดที่จะมีผลให้เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนโดยมิให้ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่การใช้สิทธิดังกล่าวต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย 

  3. กำหนดให้มี ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมสื่อมวลชนและมาตรฐานวิชาชีพ และให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล 

  4. กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่และอำนาจจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ส่งเสริมการคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน ติดตามดูแลการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ให้เป็นไปตามจริยธรรมสื่อมวลชน และให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่ภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นต้น 

  5. กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีรายได้จากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม เช่น เงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่าย เป็นต้น ทั้งนี้ ให้มีการจัดสรรเงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้แก่สภาฯ เป็นรายปี ไม่น้อยกว่าปีละ 25 ล้านบาท 

  6. กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ ประกอบด้วย กรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 5 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ซึ่งสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมายสิทธิมนุษยชนหรือการคุ้มครองผู้บริโภค และกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

  7. กำหนดให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีหน้าที่และอำนาจบริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนของสภาซึ่งเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล และพิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นต้น 

  8. กำหนดให้มี ‘สำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และคณะกรรมการจริยธรรม รวมทั้งจัดทำงบดุล การเงิน และบัญชีทำการของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนส่งผู้สอบบัญชีภายใน 90 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ตลอดจนจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน 

  9. กำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชน โดยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับจริยธรรมอย่างน้อยเกี่ยวกับการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมาตรการที่จะดำเนินการในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรสื่อมวลชนเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นโดยฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามจริยธรรมสื่อมวลชน

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า