เรื่อง: พีระพัฒน์ สวัสดิรักษ์/รัชดา อินรักษา
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
เย็นวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ร้าน Tomorrowclose ชั้น 2 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
บรรดาแฟนคลับของนักวาดการ์ตูนหนุ่มนามปากกา สะอาด หรือ ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงษ์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ค ‘Sa-ard สะอาด’ ได้รวมตัวกันที่งานเปิดตัวนิทรรศการ การ์ตูนของคนบ้า: ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง ซึ่งมีหนังสือการ์ตูนรางวัล International Manga Award ประจำปี 2012 ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง ว่าด้วยเรื่องราวของคนที่ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เป็นพระเอกชูโรง – ผลงานเดบิวต์เล่มแรกของเขา
งานนี้ผู้เฝ้าติดตามลายเส้นอันเรียบง่ายและเนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยความสนุกของสะอาด เข้ามาจับจองที่นั่งกันจนไม่มีเก้าอี้ว่าง ยืนออกันจนร้านเล็กๆ แทบไม่เหลือที่เดินเลยทีเดียว และก่อนที่งานนี้จะเกิดขึ้นไม่นาน แน่นอนว่า WAY ไม่พลาดที่จะดึงเจ้าของงาน ‘สะอาด’ มาสัมภาษณ์ ชวนคุยเรื่องชีวิต ความคิด และการ์ตูนของเขา
PART 1. การ์ตูนคือชีวิต
เริ่มสนใจในการวาดการ์ตูนได้อย่างไร
เริ่มจากวาดตามพี่ชายพี่สาว คือพี่ชายพี่สาวก็ชอบวาดการ์ตูนเหมือนกัน ชอบอ่านการ์ตูนเหมือนกัน ชอบคุยเรื่องการ์ตูน เราเลยผูกพันกันด้วยการเขียนการ์ตูน เหมือนนิสัยของทั้งสามพี่น้องค่อนข้างแตกต่างกัน แต่สิ่งที่มาเชื่อมเป็นอย่างเดียวกันคือการ์ตูนญี่ปุ่น แล้วก็การเขียนการ์ตูน
คือวาดเล่นในสมุดเรียนกัน แลกกันอ่าน คอมเมนต์กันว่ามันสนุกไหม ที่เขียนนี่หมายความว่าอะไร อธิบายกันไปจนถึงการทำต้นฉบับด้วยกัน เช่น พี่ชายเราคิดการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ตอนนั้นพี่ชายเราเก่งสุดในบ้าน ก็เลยคิดการ์ตูนเรื่องหนึ่งขึ้นมาแล้วก็ เฮ้ย ทำต้นฉบับส่งนิตยสารกัน ก็เอาต้นฉบับมา แล้วเหมือนเราเป็นผู้ช่วยพี่ชายเรา แล้วก็เอาไปส่งนิตยสาร
ตอนนั้นกี่ขวบ
ประถม ป.5-ป.6 มั้ง
ตั้งแต่ตอนนั้นก็คิดจะส่งต้นฉบับไปสำนักพิมพ์แล้ว?
ใช่ๆ ตอน ป.6 ก็ลองส่งการ์ตูนหน้าเดียวจบไปให้ ตอนนั้นนิตยสารการ์ตูน ไทยคอมมิค เปิดพื้นที่ให้การ์ตูนหน้าเดียวจบ เราก็ส่งไปแหละ ซึ่งก็ตกรอบนะ การ์ตูนพี่ชายก็ตกรอบ แต่ก็ทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง ม.1 พี่ชายเราก็เริ่มทำหนังสือ ยุคนั้นฮิตทำหนังสือทำมือ เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับคณะสถาปัตย์ เราก็อยู่ ม.1-ม.2 นี่แหละ คิดการ์ตูนเกี่ยวกับการออกแบบไป การ์ตูนบ้าบอคอแตก แบบต่อสู้อะไรแบบนี้ แล้วก็เริ่มมีผลงานเผยแพร่ลงสิ่งพิมพ์
พอหนังสือพิมพ์แล้วขายไม่ออก เลยคุยกับพี่ชายว่าจะเอายังไงดี คืออยากปล่อยของกัน พี่ชายเลยเสนอว่า ลองเขียนการ์ตูนลงออนไลน์ไหม มันมีบล็อกชื่อ Exteen เหมาะมากที่จะเผยแพร่การ์ตูนอ่านฟรีไปเลย “กูอยากปล่อยของ กูไม่สนใจเรื่องตังค์” เลยสร้างบล็อกชื่อ error blog ขึ้น ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นบล็อกแรกๆ ที่เผยแพร่การ์ตูนบนอินเทอร์เน็ตนะ ในยุคนั้นยังไม่ค่อยมีใครเอาการ์ตูนมาลงเท่าไหร่ ลงใน Exteen จนมีคนตามอ่านประมาณหนึ่งก็เริ่มมีสำนักพิมพ์มาสนใจ คือ LET’S Comic และ a book
ตอนประมาณ ม.5 มั้ง a book ชวนทำหนังสือการ์ตูนรวมนักเขียนหลายคน ชื่อ abc comic “ภูมิเขียนเรื่องสั้นไหม แล้วเอามารวมกัน” หนังสือ Seven Deadly Sins หรือ บาป 7 ประการ เป็นคอนเซ็ปต์นักเขียนเจ็ดคน เขียนเรื่องบาปแต่ละประการกัน
หลังจากนั้น เป็นเหมือนครั้งแรกที่เราเข้าไปสู่กระบวนการในการคิดเขียนการ์ตูนแบบค่อนข้างเต็มรูปแบบ คือคิดพล็อตไปปรึกษากับ บก. แล้วก็มีคนมาคอมเมนต์ว่ามันควรจะแก้หรือปรับปรุงอย่างไร และเป็นครั้งแรกที่เราโดนการคอมเมนต์ที่หนักหน่วงพอสมควร เช่น ไม่เวิร์ค มันต้องรื้อหรือเขาก็บอกถึงขั้นว่า “ภูมิ ถ้าไม่ไหวภูมิไม่ต้องทำก็ได้ พี่ไม่ได้บังคับ” แต่เราก็แก้จนผ่านในที่สุด แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ชอบว่ะ แฮปปี้ว่ะ กับกระบวนการทำงานที่มันได้ทำอย่างเต็มที่แบบนี้ ไม่เหมือนการเขียนการ์ตูนลงในอินเทอร์เน็ตเลย
มันมีความรู้สึกคล้ายๆ กับเรามีไม้ท่อนหนึ่ง ก็เป็นการ์ตูนเรา มีเรากับ บก. ช่วยกันเหลา แกะสลักมัน ให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด แล้วเราชอบความรู้สึกนี้ ชอบมาจนถึงตอนนี้ ที่เรารู้สึกว่ากระบวนการที่มี บก. มันสำคัญ แต่ว่าตอนนั้นคิดว่าอยากเป็นมืออาชีพมากเลย อยากทำมันอย่างเต็มที่ ตังค์ได้ไหมไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่าอยากจะลองทำดู ก็เลยคุยกับแม่ว่าไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว (หัวเราะ) อยากไปเขียนการ์ตูนเลย
ความรู้สึกที่ไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เกิดขึ้นตอนไหน
จริงๆ เกิดตั้งแต่ ม.6 ซึ่งบอกแม่ว่าไม่อยากเรียนแล้ว เป็นบ้าไปเลยตอนนั้น (หัวเราะ) ไม่เชิงสิ เราไปได้รับสื่อจากพวกนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งคนที่เราชอบส่วนใหญ่เขาจะไม่เรียนมหาวิทยาลัยกัน แบบทำให้สุดไปเลยสิวะ ออกมาเป็นผู้ช่วยไปเลย คนเขียน วันพีซ อย่างนี้ คนเขียน สแลมดั้งค์ เขาเรียนไม่จบกัน แล้วเราก็รู้สึกว่าอยากทำแบบเต็มที่
คือตอนนั้นเราสนใจเรื่องการศึกษาด้วย แล้วเรารู้สึกว่าการเรียนมันไม่ตอบสนองกับสิ่งที่เราอยากรู้เลยว่ะ สู้เอาเวลาไปศึกษาเองมันน่าจะดีกว่า เหมือนว่าการต่อมหาวิทยาลัยไม่ได้ตอบโจทย์กับสิ่งที่เราอยากจะไปต่อ ไม่ว่าในด้านความคิดสร้างสรรค์ใดๆ บวกกับที่ไทยไม่มีคณะเขียนการ์ตูนด้วย แม่ก็รับไม่ได้ ก็ธรรมดา แม่บอกว่าถ้าไม่เรียนต่อก็ตัดแม่ตัดลูก แต่คือเราอยากมีแม่อยู่ไง ก็ตัดสินใจเรียนต่อ
แล้วทำไมไม่เข้าเรียนคณะสายศิลปะไปเลย
ตอนแรกจริงๆ เราไปเรียนคณะครูศิลปะนะ แล้วเราเฟล คือเรียนคณะครูศิลปะมันเกิดจากเราคิดว่าคณะนี้เป็นคณะที่คล้ายๆ กับว่าจะใกล้เคียงที่สุด เราสนใจการศึกษาด้วย แล้วก็ชอบเด็กด้วย
เราเลยคิดว่า เฮ้ย ครุอาร์ต มันเป็นคณะที่สอนศิลปะกว้างๆ มันสอน performance art ใช่ไหม การปั้น การเพนท์ หรือว่าการเป็นครูก็เป็นวิธีการในการเล่าเรื่องของคนรูปแบบหนึ่งใช่ไหม ตอนนั้นเลยคิดว่าถ้าเราจบคณะนี้มา มันต้องเสริมทักษะในการเขียนการ์ตูนของเราแน่เลย ต่อให้เราไม่ได้เป็นครูก็ตาม แต่ว่าถ้าจะเป็นครู เรารู้สึกว่าเราโอเค เพราะเราสนใจทางด้านนี้เหมือนกัน
แต่พอไปเรียนมันเกิดความเฟลในหลายๆ ด้าน คือไม่ได้ตอบโจทย์ในสิ่งที่เราอยากจะได้จริงๆ ก็เลยออกมาจะเขียนการ์ตูนอย่างเดียว แต่ว่าพ่อแม่ไม่ให้ เราก็มาคิดว่าเอาไงต่อดีในด้านการเรียน ซึ่งตลกมากเลยมาคิดตอนนี้
เราเลือกที่จะเอนท์ฯ ใหม่ เข้าคณะวารสารฯ สิ่งพิมพ์ ทีนี้ถ้าถามว่าทำไมเรียนสิ่งพิมพ์ ที่ใกล้สุดอาจจะเป็นนิเทศศิลป์ แต่เราเอนท์ฯ ไม่ติด (หัวเราะ) สอบตก แล้วในที่สุดเราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ชอบที่จะพยายามออกแบบภาพเราให้สวยที่สุดแบบนิเทศศิลป์หรือว่าขายได้ คือทักษะเราหรือว่าสิ่งที่เราชอบตอนนั้นไม่แมทช์กับคณะใดๆ ในประเทศนี้เลย
ประกอบกับคิดว่าคณะนี้น่าจะเสริมทักษะในการสื่อสารของเราได้ แล้วเราน่าจะเรียนจบด้วย เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่าถ้าจะเรียนเพื่อเอาใบปริญญาจริงๆ เรียนให้แม่จริงๆ มันก็ไม่อยากไปทางศิลปะ เพราะว่าเราจะไปแอนตี้มัน ในขณะเดียวกันพอเราเรียนสิ่งพิมพ์ เราก็เจอครูที่สอนสื่อสารแต่สื่อสารไม่รู้เรื่องเลย แต่เราก็ทนไปได้ เราไม่ได้โยงกับตัวตนของเรา เหมือนเวลาเราเขียนงาน เราสามารถเขียนข่าวโดยที่ไม่ได้ลิงค์กับตัวตนของเราได้ เราสัมภาษณ์คนนู้นคนนี้ได้
เออ แล้วเราก็พบว่าจริงๆ เราชอบการเขียนหนังสือเหมือนกัน ชอบอ่าน เราสนใจ เราชอบแมกกาซีนมาก เราบ้าแมกกาซีนขนาดที่ว่าเรายอมอดข้าว เพื่อที่จะซื้อแมกกาซีนมาอ่าน WAY เป็นหนึ่งในนั้น (ยิ้ม)
ตอนนั้นซื้อเดือนละกี่เล่ม
WAY, a day, สารคดี, Biosope, Starpics บ้าง แล้วก็ดนตรี Music Express บางทีก็ สีสัน อะไรแบบนี้ ไปซื้อ open กับ สารคดี แบบมือสอง ไปจตุจักรเพื่อเอามือสองมากองไว้ แล้วก็มาไล่อ่าน เพราะเราชอบความรู้สึกของการอ่านนิตยสารที่มันมีความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นมันมี unity บางอย่าง ซึ่งเรารู้สึกว่ามันคล้ายๆ กับการเล่าเรื่องแบบการ์ตูน
PART 2. การ์ตูนคือความคิด
18.30 น. คือฤกษ์งามยามดีที่ภูมิหรือ ‘สะอาด’ เริ่มขายตรงหนังสือ ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง ฉบับพิมพ์ใหม่ครั้งที่สาม ซึ่งโฆษณาไว้อย่างละเอียดว่ามีทั้งปกแข็งแบบใหม่ ขยายช่องการ์ตูนจนเต็มขอบกระดาษ เน้นงานภาพให้คมชัดกว่าเดิม อีกทั้งยังเพิ่มตอนใหม่ขึ้นมาหนึ่งตอน และเสริมด้วยเบื้องหลังการทำงานของสะอาด ทำเอาเล่มพิมพ์ใหม่ครั้งนี้พิเศษกว่าเล่มพิมพ์ครั้งก่อนไม่น้อยทีเดียว
หลังจากนั้นจึงสนทนากับผู้ร่วมงานทุกคนในหัวข้อ ‘การทำงานสร้างสรรค์’ ‘บ่นเรื่องวงการสิ่งพิมพ์’ และ ‘ความมุ่งมั่นระดับสี่ร้อยแรงม้าในการเขียนการ์ตูน’ การเปิดใจในวันนี้ทำให้เขาได้แสดงออกถึงความคิดและวิธีคิดในการทำงาน อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดหนังสือการ์ตูนคุณภาพขึ้นมา
ยิ่งไปกว่านั้น ไฮไลท์ของงานนิทรรศการนี้คือ การนำผลงานทั้งหมดมาเรียงรายต่อหน้าผู้ชม ให้ยลโฉมต้นฉบับดิบๆ และมีสมุดบันทึกที่เขาใช้บันทึกความคิดความอ่านในระหว่างการเขียนการ์ตูนเล่มนี้ทั้งหมดด้วย
เมื่อเป็นเช่นนั้น WAY จึงหยิบยกบทสัมภาษณ์ว่าด้วยเรื่องความคิดของสะอาด มาเล่าสู่กันฟังเสียเดี๋ยวนี้เลย
ตั้งแต่เด็กจนโตมาถึงตอนนี้ การเขียนการ์ตูนช่องมอบทักษะทางความคิดอะไรให้บ้าง
โคตรเยอะ เราคิดว่าสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากชีวิตนี้ เกือบครึ่งมาจากการเขียนการ์ตูน โห…เท่ว่ะ (หัวเราะ) เช่น ในการเขียนงานชิ้นหนึ่ง เริ่มจากการสร้างตัวละครก่อน เราคิดว่าการสร้างตัวละครมันคือกระบวนการทำความเข้าใจคน คือการว่าด้วยคนนี้ทำแบบนี้เพราะอะไร เขามีเบื้องหลังอะไรไหม แล้วไอ้ความคิดแบบนี้ทำให้เราติดนิสัยพยายามทำความเข้าใจคนอยู่เสมอๆ เช่น ประยุทธ์ ประยุทธ์ขี้เหวี่ยงแบบนี้ เราจะไม่ได้คิดว่าเขาเลว ทำไมเป็นคนขี้เหวี่ยงแบบนี้ เป็นนายกฯ ได้ยังไง แต่เราจะคิดไปอีกสเต็ปหนึ่ง จะไม่ค่อยตัดสินคน จะมองละเอียดถึงนิสัยคนหรือบุคลิกคนมากขึ้น
ถ้าสังเกตตัวละครของเราจะไม่ค่อยมีดีสุดเลวสุด เรารู้สึกว่ามันมีคุณค่ามากในการมองสิ่งที่เขาทำด้วยสายตาของเขา ไม่ได้มองจากมุมของเราฝ่ายเดียว นี้คือคุณค่าของการสร้างตัวละคร
หรือสมมุติถ้าเราแต่งเรื่อง หาข้อมูลมาเรียบเรียง วิเคราะห์หรือสังเคราะห์ มันก็ช่วยในกระบวนการคิด ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ช่วยเรามากในการฝึกทักษะคิดวิเคราะห์ เหมือนการรวบรวมเพื่อมาสร้างสรรค์อีกทีหนึ่ง เราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นขั้นยอดของการฝึกความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ แล้วมันก็ช่วยเราฝึกสมองในด้านนี้เยอะ
อีกอย่าง พอทำสตอรีบอร์ดออกมาแล้วเราแก้งาน เราคิดว่าการแก้งานมันเป็นการฝึกมองตัวเองให้ออก หมายถึงว่าทุกครั้งที่เราทำงานกับ บก. เขาอ่านทีหนึ่งแล้วคอมเมนต์มา เราต้องกลับมาอ่านคอมเมนต์นั้น กลับมาอ่านงานเราอีกทีหนึ่ง ว่ามันจริงแค่ไหน อะไร อย่างไร
เรารู้สึกว่าสิ่งนี้โคตรมีผลกับเราในการสำรวจตัวเอง เวลาที่เราเจอฟีดแบ็คหรือว่าความเห็นของคนบางอย่าง เช่น โดนด่าว่าบ้า เราจะคิดว่าจริงเหรอ เราบ้าจริงเหรอ ซึ่งก็จริง (หัวเราะ)
เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นด้วยเราก็จะโอเค ไม่ได้ติดใจอะไรกับคำพูดนั้น อันนี้มันเป็นกระบวนการตรวจสอบ สมมุติถ้าเราเห็นด้วย แล้วเราคิดว่าเราจะแก้ไขปรับปรุงได้ไหม อันนี้เป็นสิ่งที่เราใช้กับการ์ตูนเราแล้วมันมาใช้กับชีวิตประจำวันด้วย
ทำไมช่วงหลังในงานการ์ตูนของสะอาดถึงมีการพูดถึงประเด็นสังคมการเมือง
เพราะการอ่านนะ ในยุคที่ยังไม่มีเฟซบุ๊ค การตามแมกกาซีนที่เราชอบทำให้เราสนใจปัญหาสังคมอย่างหลากหลาย คือมันผสานสองเรื่องนะ เราอ่านสิ่งเหล่านี้ด้วย เราสนใจเรื่องนี้ บวกกับลึกๆ เราเป็นคนที่รู้สึกผิดกับชีวิต ถ้าเราไม่ทำอะไรบางอย่างที่มันเป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือต่อหมาตัวหนึ่งก็ได้
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะเขียนการ์ตูนทุกครั้ง อย่างเล่มนี้ตอนออกมาเราก็ดีใจ แต่ลึกๆ เรารู้สึกว่า เชี่ย งานกูมันมีอะไรมากกว่าการเอนเตอร์เทนคนอ่านไปวันๆ รึเปล่าวะ ในตอนนั้นน่ะนะ ตอนนี้ก็รู้สึกว่าการเอนเตอร์เทนคนอ่านก็มีค่าในสังคมเหมือนกัน แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าเราอยากทำอะไรให้ได้มากกว่านี้ ให้ได้มากกว่าที่การ์ตูนญี่ปุ่นมันพยายามเล่าว่า เราต้องมาเล่นบาสให้เก่งที่สุดกันเถอะ เราต้องต่อสู้กับเหล่าร้ายให้ชนะกันเถอะ เราอยากทำได้มากกว่านั้น ซึ่งตอนแรกเราก็เคว้งนะ ถามตัวเองว่าเราควรจะเป็นนักเขียนการ์ตูนดีรึเปล่าวะ หรือว่าจะไปเป็น NGO ตอนนั้นคิดอย่างนี้จริงๆ
พอมาเรียนสื่อนี่แหละ ทำให้เราพบว่าเราสามารถทำงานสื่อสารที่ตอบสนองกับสังคมได้ มันเกิดจากการที่เราไปทำงานสารคดี ไปเขียนข่าว หรืออะไรก็ตาม แล้วพบว่างานของเรามันเปลี่ยนบางอย่างได้ เราเคยทำข่าวที่เกี่ยวกับค่าแรงยามในมหาวิทยาลัย แล้วพอทำแล้วค่าแรงยามมันขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าเพราะเราหรือเปล่านะ แต่ก็รู้สึกว่าเราได้ทำอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับคนอื่นแล้ว เราทำอย่างเต็มที่ด้วย เฮ้ย ชีวิตแม่งมีคุณค่าขึ้นมาหน่อยหนึ่งว่ะ ซึ่งเราอยากทำให้ความรู้สึกนี้มันเกิดกับการ์ตูนของเรา เราเลยผนวกการสื่อสารเกี่ยวกับสังคมและการ์ตูนของเราเข้าด้วยกัน
หรือจริงๆ แล้ว ต้องการจะสื่อให้สังคมหันมาสนใจประเด็นทางสังคมการเมืองมากขึ้น?
ใช่ๆ ก็มีช่วงหนึ่งคิดอย่างนั้น แต่ช่วงหลังก็จะปลงๆ แล้วว่ามันอาจจะไม่ได้
มีช่วงหนึ่งที่เราเขียนงาน อยากจะ raise ประเด็นบางอย่างที่คนไม่ค่อยสนใจขึ้นมา แต่เราจะ raise แบบไม่ตะโกนออกมากู่ก้องว่า “แม่ง มีชาวบ้านที่โดนไล่ที่อยู่ ทำไมพวกคุณแม่งถึงกินเบียร์อยู่วะ” อะไรแบบนี้
แต่ด้วยความที่โตมาแบบการ์ตูนญี่ปุ่นก็มี mindset แบบการ์ตูนญี่ปุ่น คือเราจะ raise ขึ้นมาด้วยความสนุกของมัน ด้วยศิลปะการเล่าเรื่องของมัน เพราะฉะนั้นงานทุกชิ้นของเรา เราจะให้ความสำคัญกับการดีไซน์ ว่าทำยังไงให้คนอ่านได้รับความบันเทิงจากประเด็นสังคม คือวิธีคิดอาจจะแปลกๆ แต่เราก็จริงจังกับอันนี้มากนะ
เช่น แก๊กสักชิ้นหนึ่ง เราจะทำยังไงให้ประเด็นคมมากๆ ขณะเดียวกันก็ raise ประเด็นขึ้นมาได้ คนก็พร้อมจะแชร์ต่อได้ หรือว่าถ้าเราทำการ์ตูนกึ่งสารคดี จะทำยังไงให้คนฮาได้ด้วย แล้วก็จุกได้ด้วย
คือศิลปะการเล่าเรื่องมันไปได้มากกว่าการรับรู้ อันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เหนือกว่าแมกกาซีน เราคิดว่ามันทำให้คนรู้สึกได้
สมมุติถ้าเราเล่า subject หนึ่งที่เป็นตัวละคร แล้วเราเล่ามันอย่างพิถีพิถันพอว่าเขาเป็นชีวิตหนึ่งที่กำลังมีปัญหากับรัฐ เราคิดว่าคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นใครสีไหน มีจุดยืนทางการเมืองอะไร เขารู้สึกกับมันได้ แล้วความเชื่อมั่นนี้มันผลักดันให้เราพยายามจะเล่าเรื่อง เพื่อให้เขารู้สึกก่อน แล้วก็ไปสู่ประเด็นบางอย่างต่อไปได้
เพราะฉะนั้นถามว่าเราอยากได้อะไร คำตอบคือความสนุก เราจะเฟลต่อให้คนรู้สึกขอบคุณมากที่ทำให้เขารับรู้เรื่องนี้ แต่ถ้าเขาบอกว่ามันไม่สนุกเลย เราจะเฟล ซึ่งก็มีคนพูดแบบนั้นนะ (หัวเราะ)
จัดการกับความเฟลอย่างไร
ก็พยายามแก้ไขงานในชิ้นต่อไป เพราะว่าถึงที่สุดแล้วเราพยายามจะสื่อสารกับคนทั่วไป คนที่ชีวิตต้องทำงาน เจอเรื่องต่างๆ มากมาย คนที่อาจจะไม่ใช่เด็กกิจกรรมที่สนใจเรื่องเหล่านี้ คนที่อาจจะไม่ได้อ่านแมกกาซีนเหมือนเรา คนที่กินเบียร์ทุกอาทิตย์ คนทั่วไปที่เขาไถเฟซบุ๊คเพื่อความบันเทิง เราอยากสื่อสารกับคนเหล่านั้น เพราะฉะนั้นความบันเทิงกับเรามันสำคัญมาก ที่จะสื่อสารมันออกไปให้ได้
คิดอย่างไรกับการเข้ามาทักทายของคนอ่าน มาคอมเมนต์หรือวิจารณ์ผลงาน
เรื่องนี้เราคิดว่าก็ดีครับ มันเป็นคุณค่าของอินเทอร์เน็ตที่อ่านฟีดแบ็คได้ทันที มันเป็นข้อดีของอินเทอร์เน็ตแหละ แล้วเราให้ค่ากับฟีดแบ็คด้านลบมาก เรารู้สึกขอบคุณทุกครั้งที่เขาพูด
แม้เราจะรู้สึกว่าทำไมเราทำไม่ดีแบบนี้ แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็ขอบคุณเขาว่ามันทำให้เราคิดอย่างรอบด้านมากขึ้น คือการทำงานกับอินเทอร์เน็ตมันไม่มี บก. มาคอยระวังให้เรา คนอ่านเป็น บก. คนหนึ่งแหละที่ช่วยระวังให้เราได้
มีการเซ็นเซอร์ตัวเองไหม
มีสิ มีอยู่แล้ว อย่างตอนรัฐประหาร เราฝันร้าย 10 คืนติด แบบ เชี่ย…ทำไมเป็นแบบนี้วะ ทำไมสื่อที่เราเรียนมาเป็นแบบนี้วะ ทำไมคณะวารสารศาสตร์ถึงไม่ออกแถลงการณ์วะ แล้วอาจารย์ที่สอนกูจะสอนด้วยความรู้สึกไหนวะ ซีเรียสนะ แล้วตอนนั้นยังไม่มีคนที่พยายามจะออกมาสื่อสารว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แค่จะบอกว่าไม่เห็นด้วย ยังไม่ค่อยมีคนออกมาสื่อสาร แล้วเราก็ลงการ์ตูนแค่แซะรัฐประหาร แล้วทุกคนก็ฮือฮา นี่ผิดหวังกับมึงมาก โวยวายๆ
แต่สุดท้ายเราทำแบบรู้สึกแย่นะ เราทำด้วยความรู้สึกว่า ถ้าไม่ทำมันอึดอัดมากกับสถานการณ์แบบนี้ ไอ้ความรู้สึกแย่มันดันเราให้สื่อสารบางอย่าง แต่ว่าก็มีเพดานที่เราไม่อยากถูกจับ เราอาจจะถูกปิดเพจก็ได้ เราจะเสียชื่อเสียงก็ได้
แต่เราก็ตัดสินใจทำเพราะถ้าแก่กว่านี้ เราจะไม่กล้าทำ เพราะเราจะกลัว เราอาจจะกลัวว่าจะไม่มีอนาคต เราอาจจะกลัวว่าเราจะไม่มีตังค์เลี้ยงลูก ถ้าเรามีครอบครัว อาจจะเป็นห่วงคนนู้นคนนี้ แต่ว่าตอนนี้ที่เรายังไม่มีอะไร ลองพูดหน่อยก็ได้มั้ง ซึ่งก็ไม่ได้อะไรขนาดนั้น แค่แตะนิดแตะหน่อย
ถ้าสื่อมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ การ์ตูนของสะอาดจะไปสุดทางมากกว่านี้รึเปล่า
แน่นอน น่าจะพูดได้หลากหลายมากกว่านี้เยอะมาก เราเคยมีไอเดียว่าเราอยากทำสารคดีเกี่ยวกับเรื่องทหารที่ตายในค่าย เราอยากรู้ว่าทำไมถึงตาย แล้วสารคดีนี้มันจะโยงไปสู่ระบบทหารที่มันลึกลับดำมืด แล้วทำไมเราถึงไม่มีสิทธิรู้ ทำไมคนตายคนหนึ่งมันถึงปล่อยผ่านไปได้ เราอยากรื้อมาดู เราอยากเล่าให้มันเป็นการ์ตูนที่มีความบันเทิงในการอ่าน แล้วก็พิถีพิถันกับการหาข้อมูล แต่ทุกครั้งที่เราเสนอไอเดียนี้กับใคร มันกลายเป็นคำถามว่า จะรอดเหรอวะ แล้วเราก็กลัวตายระดับหนึ่ง ทั้งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่มันต้องมีสักสื่อหนึ่งที่ไปทำ
พอมาถึงจุดหนึ่งที่เราสนใจการทำงานประเด็นสังคม แล้วจะพบว่ามีเรื่องเยอะเกินที่จะแตะได้ กระทั่งแบบเรียน ทำไมเนื้อหาแบบนี้เป็นอย่างนี้ เราอยากรู้ว่ากระบวนการในการทำแบบเรียนของบ้านเมืองนี้มันมีวิธีการยังไง ทำไมเรารู้ไม่ได้วะ (หัวเราะ) เออ ทำไมมันถึงเป็นเรื่องลึกลับดำมืดวะ ทำไมสิ่งที่อยู่ในประวัติศาสตร์แบบเรียน เราถึงไปรู้กระบวนการของมันไม่ได้
มองในแง่เสรีภาพของสื่อ จำเป็นต้องมี ต่อให้เราเขียนงานสักชิ้นที่พูดถึงประวัติศาสตร์ แล้วในงานของเรามันมีการใส่สีตีไข่ขึ้นมามากมาย แม้จะมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่อาจจะเวิร์คอยู่สักเสี้ยวหนึ่งก็เถอะ เราก็มีสิทธิที่จะนำเสนอมันออกมาใช่ไหม เพื่อมาต่อรอง เพื่อจะสื่อสารมันออกมา มันควรจะมีสิทธิถูกพูดถึง ต่อให้มันเป็นเรื่องจริงมันก็มีสิทธิจะถูกพูดถึง ทั้งที่ประเทศนี้มีเรื่องไม่จริงที่ถูกพูดออกมามากมาย
สรุปคือความจริงไม่ใช่ประเด็นที่จะห้ามเราไม่ให้พูด อยู่ที่ว่าเราทำงานแบบมืออาชีพแค่ไหน เราตรวจสอบกับงานเราแค่ไหน เรามีหลักฐานที่จะมานำเสนอในงานเราแค่ไหน ไม่ว่าใครทำก็ตาม ถ้าเขามีหลักฐานรองรับว่าสิ่งที่เขาทำมันมีบางสิ่งรองรับสนับสนุนในข้อเท็จจริงที่เขานำเสนอ เขาก็มีสิทธิที่จะพูดสิ เครียดว่ะ (หัวเราะ)
PART 3. การ์ตูนของสะอาด
งานเปิดตัวนิทรรศการครั้งนี้จบลงอย่างสวยสดงดงาม ด้วยการจับกีตาร์บรรเลงเพลงประกอบหนังสือการ์ตูนของสะอาด ซึ่งมีทั้งเพลงที่พูดถึงคนใบ้ที่ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง เหมือนการตะโกนที่มีเพียงความเงียบ เพลง ‘เกสร’ ที่มีคอนเซ็ปต์เป็นดอกไม้ที่เหี่ยวตาย ทว่าเมื่อตายไปแล้วก็มีเมล็ดพันธุ์งอกขึ้นใหม่ เพลง ‘คน/การ์ตูน/หมา’ ที่แต่งให้หมาของตัวเองที่ตาย และเพลงสุดท้ายคือ ‘เพลงชายไร้เสียง’ ซึ่งพูดถึงชีวิตของนักเขียนการ์ตูนที่ตั้งใจวาดทุกช่องและรอผู้อ่านมาพบตัวการ์ตูนเหล่านั้น
ทำไมถึงตั้งนามปากกว่าว่า ‘สะอาด’
ตอนแรกมีชื่ออยู่ในใจสองอย่าง อยากได้ชื่อเรียบๆ ระหว่าง สะอาด กับ สุภาพ สุดท้ายก็เลยเลือกสะอาด แต่ตอนนี้ก็เบื่อแล้ว (หัวเราะ) ประกอบกับช่วงแรกที่เราเขียนการ์ตูนลงเน็ต งานเราคืองานที่วาดแบบจงใจชุ่ย ว่าง่ายๆ คือไม่ได้ซีเรียสว่ามันจะต้องเนี้ยบ แล้วพอเราลงไปอย่างนั้นเรื่อยๆ ซึ่งได้ไอเดียจาก พี่ตั้ม-วิศุทธิ์ (วิศุทธิ์ พรนิมิตร) hesheit คือไม่ได้ร่างเส้น มันจะวาดแทน หรือตัวหนังสือที่เขาไม่ใช้เขาจะขีดฆ่าไปเลย แล้วลงอยู่บนต้นฉบับที่เผยแพร่ในงาน
เราก็รู้สึกว่างานภาพที่ไม่ได้สวยเนี้ยบแบบญี่ปุ่น ก็สามารถเล่าเรื่องอย่างมีพลังได้นี่หว่า จากงาน พี่ตั้ม-วิศุทธิ์ เราก็เลยเอามาใช้เรื่อยๆ แล้วคนก็ติดภาพว่างานลายเส้นเราสกปรก ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องสกปรกสิ มันเป็นเรื่องสนุก ทุกครั้งที่เขาด่างานภาพเราว่าห่วย แต่ก็บอกว่าเนื้อเรื่องสนุกนะ มันอาจจะเป็นเครื่องหมายการค้า
ความรู้สึกตอนที่งานแรกของเราได้รางวัล International Manga Award ปี 2012 ตอนนั้นเป็นอย่างไร
ดีใจนะ ตอน บก. โทรมา อยู่เดอะมอลล์บางกะปิ เดินวนรอบเดอะมอลล์เลย (หัวเราะ) แบบ ไอ้เชี่ย…จริงหรอวะ เชี่ยเอ๊ย ไปเดินตรงสะพานลอย เฮ้ย สุดยอดเลยว่ะ เฮ้ย อะไรแบบนี้ แต่พอหลังจากดีใจแม่งก็ต้องกดความรู้สึกตรงนั้น เพราะเป็นงานแรกของเรา เป็นหนังสือเล่มแรกแล้วเรารู้สึกว่าเราไม่คู่ควรที่จะได้รางวัลที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศนี้จะมีให้ได้กับวงการการ์ตูน รู้สึกว่ามันมาเร็วไปหรือเปล่าวะ
วันที่ได้รับรางวัลมี บก. ของนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาคุยกับเราว่าเราชอบการ์ตูนคุณที่สุดเลยว่ะ จากการ์ตูนทั้งหมด ชอบเรื่องนี้มากเลย มันตลกมากเลย ถึงขนาดที่ว่าเราเข้าไปในโรงเรียนสอนวาดการ์ตูน แล้วเขาบอกว่าตอนนี้ทุกคนในห้องนี้อ่านงานคุณหมดแล้ว เขาก็แนะนำเรา “คนนี้คือคุณภูมินะครับ” ทุกคนแม่งตลกเว้ย (หัวเราะ) ไอ้เชี่ยนี่เองเหรอที่เขียนการ์ตูนเรื่องนี้ แล้วเรารู้สึกว่างานเรามันสื่อสารกับคนอื่นได้นี่หว่า แต่ว่าถึงที่สุดแล้วแม้จะดีใจในเรื่องเหล่านั้น มันก็มีความคิดว่ายังมีนักเขียนการ์ตูนคนอื่นในประเทศนี้ที่เรารู้สึกว่าควรจะได้รับรางวัลมากกว่าอยู่ดี
ถามว่าสิ่งที่เราชอบที่สุดจากการได้รางวัลก็คือ เราไม่ต้องอธิบายใครว่าเราทำอะไรอยู่ แม่งช่วยมากเลย เช่น วันรวมญาติ เชงเม้งอะไรอย่างนี้ “เฮ้ย ภูมิมันได้รางวัลจากญี่ปุ่นมาว่ะ” (หัวเราะปรบมือ) ทั้งๆ ที่เราทำงานเท่าเดิม ได้ตังค์เท่าเดิม แต่คนยอมรับมากขึ้น เฮ้ย แม่งดีว่ะ
อยากให้พูดถึง ครอบครัวเจ๋งเป้ง บ้าง
ครอบครัวเจ๋งเป้ง เป็นการ์ตูนแก๊กครอบครัวแหละ สไตล์ ชินจัง ปน The Simpsons รวมๆ กัน เป็นครอบครัวไม่อบอุ่น ครอบครัวนี้เราตั้งใจจะทำให้ไม่ได้รักกันเว่อร์ คล้ายๆ ครอบครัวทั่วไป ที่เราเจอในชีวิตว่าพ่อแม่อาจจะไม่ได้รักกัน ลูกอาจจะไม่ได้ดีกัน หรือว่าทุกคนอาจจะไม่ได้ประคองต่อสู้กันด้วยความรักไปในทุกเรื่อง แต่เราพรีเซนต์ว่า เออ มันอยู่ด้วยกันได้นะ แล้วก็ตลกดีมั้ง (หัวเราะ) อ่านเอาฮาได้
มองว่าวันนี้นักวาดการ์ตูนเป็นอาชีพหลักได้ไหม
ตอนนี้เราเป็นอาชีพได้ แต่ว่าอีกสามปีต่อจากนี้ เราตอบไม่ได้
จริงๆ แล้วเรามองว่าเป็นทั้งสิ่งพิมพ์นะ แล้วเผอิญการ์ตูนอาจจะมีที่ทางไปในโลกออนไลน์ ในเฟซบุ๊ค แต่สิ่งที่เราอยากจะทำ สิ่งที่เราชอบยังเป็นสิ่งพิมพ์ไง คือตอนนี้เรายังพอไปได้ แต่ถ้าอีกสามปีจะมีคนอ่านที่ยอมรับเราได้มากแค่ไหน
อนาคตของสะอาดจะเป็นอย่างไร
คือตอนนี้คนที่เขียนการ์ตูนในประเทศไทยที่มีผลงานออกมา เราคิดว่าจำนวนมากเขาไม่ได้ทำการ์ตูนเป็นอาชีพหลัก ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องธรรมดาในวงการศิลปะทั้งโลกมั้ง เพราะตอนเราไปออสเตรเลียเราเจอคนขายการ์ตูนทำมือ เวลาเราถามว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนรึเปล่า เขาพูดแบบ มึงถามอะไรของมึง เออ เขาบอกว่าเป็นครูสอนศิลปะครับ ทำเพราะใจรัก แล้วทำให้เรากลับมาคิดว่าที่มาถึงขนาดนี้ได้แม่งบุญแล้วนะเว้ย มันอาจจะดีมากแล้วนะ
ถามถึงแผนเรา เราพบว่าทักษะที่เรามีอยู่ตอนนี้ทำอย่างอื่นค่อนข้างยาก เราจะทำงานภาพประกอบ งานภาพเราก็อาจจะยังไม่ถึงภาพประกอบ เราจะไปทำสายออกแบบคาแรคเตอร์ เราก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้นในด้านดีไซน์ เราจะไปทำสายเขียนบท เราก็ไม่สุดอีก เพราะว่ามีคนเขียนบทดีกว่ามากมาย เราจะไปสายครีเอทีฟก็ไม่ได้อีก เพราะครีเอทีฟในพื้นที่ต่างๆ ต้องทำงานโฆษณา แล้วเราไม่อยากทำงานโฆษณา ส่วนสตอรีบอร์ด อันนี้น่าจะทำได้ดีที่สุด แต่ก็เป็นงานโฆษณาเสียส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเราก็โฟกัสที่การ์ตูนนี่แหละ ที่เราคิดว่าน่าจะไปได้ดีที่สุดแล้ว เราชอบที่สุดด้วย แล้วกึ่งๆ แบบทำอย่างอื่นได้ไม่ดีเท่านี้ด้วย
โลกนี้มีคนสองประเภทคือ นักฝันกับนักดับฝัน ถ้าหากมีใครฝันจะเป็นนักวาดการ์ตูนแบบคุณ ควรทำอย่างไรเพือสู้กับนักดับฝัน
เฮ้ย เราเป็นนักฝัน เราไม่ชอบคนดับฝันด้วย คงต้องพิสูจน์แหละ มันเป็นเหมือนการทำงานกับลูกค้าหรือเปล่า คือเราทุกคนต้องเคยโดนดับฝันมาตลอดชีวิตใช่ไหม มันก็เหมือนเป็นการบอกว่า “เฮ้ย เขาต้องการอะไร” เขาต้องการรางวัลสักอย่างมาพิสูจน์ หรือไม่ก็เงิน ฉะนั้นไปทำให้งานคุณทำเงินได้ครับ ไปทำให้ได้ ตราบใดที่เรายังทำไม่ได้ ต่อให้เราเขียนงานขั้นสุดยอดแค่ไหน ก็ยังยากที่จะพิสูจน์ให้เขาเข้าใจได้ เพราะเรารู้สึกว่าเงินเป็นภาษาที่สากลพอๆ กับภาษาใบ้ แล้วมันพิสูจน์ผู้ใหญ่ได้
แต่ถ้าถามว่าถ้าเขาอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เราก็ไม่อยากดับฝันเขา ถ้าอยากจะเป็นนักวาดการ์ตูนสายมังงะหรือการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งเราเคยเจอหลายคนอยู่ ยอมรับว่าอาจยากนิดหนึ่งในยุคนี้ ถ้าให้พูดแบบซอฟท์ๆ เลยนะ คือแม่งทำแบบธรรมดาไม่ได้ ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ ก็ไม่ได้ เพราะงานที่เราทำอยู่มันกึ่งๆ ศิลปินใช่ไหม คืองานที่เอาสิ่งที่เป็นส่วนตัวของเรา ไม่มีใครเขาจ้างเรา เอาออกมาขาย เพราะฉะนั้นคนที่ซื้องานเรา มองแบบตลาดเลยคือคนที่ชอบเรา การที่เราจะอยู่รอดได้ต้องมีคนที่ชอบเราเยอะพอ แล้วการที่จะมีคนชอบเราได้เยอะ เราจะไม่สามารถเขียนงานที่ครึ่งๆ กลางๆ ออกมาได้ เป็นไปไม่ได้ที่จะเขียนงานจืดๆ สักงานหนึ่งแล้วมันจะขายดี เพราะฉะนั้นมันหลายอย่าง การทำแบบเต็มที่ การหาโอกาสด้วย โชคด้วย แต่ถึงที่สุดสิ่งที่เราควบคุมได้อย่างเดียว คือการทำให้มันออกมาดีที่สุด
สุดท้าย อยากฝากอะไรกับผู้อ่าน
ขอฝากเพลงวง FREEHAND ครับ เป็นเพลงที่เราไปอ้อนวอนเขามาทำประกอบหนังสือ ชื่อเพลง ‘ชายไร้เสียง’ ครับ