สัมภาษณ์: กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์
เรียบเรียง: อิทธิพล โคตะมี
ภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล (จากงานเสวนา People Go Network Forum)
การจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับของ ‘อาจารย์ยิ้ม’ หรือ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างความเศร้าเสียใจแก่ผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมาก
มีเรื่องราวส่วนตัวของอาจารย์สุธาชัยที่น่าสนใจอยู่มากมาย อาทิ การรอดชีวิตจากการล้อมปราบในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การเข้าป่าจับอาวุธต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อจัดตั้ง ‘สหายสมพร’ รวมถึงบทบาทของนักหนังสือพิมพ์ จนมาสู่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ผู้สร้างงานวิชาการชิ้นสำคัญที่มีคุณูปการแก่สังคมไทย
อาทิ แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง พ.ศ. 2491-2500 (2534 และ 2550), สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย (2551), อีกฟากหนึ่งของยุโรป: ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของยุโรปตะวันออก ค.ศ. 1800-2000 (2553) และ น้ำป่า: บันทึกการต่อสู้ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด (2558) ฯลฯ
ทว่าเรื่องราวการอุทิศตัวอย่างยาวนานกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง ซึ่งอาจารย์สุธาชัยมีส่วนอยู่ด้วยนั้น อาจยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างนัก ทั้งที่อาจารย์สุธาชัยใช้เวลาในบั้นปลายชีวิตไปกับการเขียนและการอภิปรายจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนหลักสิทธิเสรีภาพ สิทธิทางการเมืองของประชาชน และปกป้องผู้ถูกรังแกทางการเมือง
ต่อไปนี้ คือบทสัมภาษณ์ (ส่วนหนึ่ง) ของ รศ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ในฐานะ ‘นักวิชาการของคนเสื้อแดง’ ที่มีมุมมองอันน่าตื่นเต้นท่ามกลางวิกฤติการเมืองสีเสื้อ จากการร่วมกับเสื้อเหลืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนกลายมาเป็น ‘นักวิชาการของคนเสื้อแดง’ – เราตัดสินใจคงชื่อที่อาจารย์เอ่ยนามไว้เพื่อสะท้อนบุคลิกและความใกล้ชิดของอาจารย์กับบุคคลต่างๆ ของ ‘อาจารย์ยิ้ม’
บทสัมภาษณ์ต้นฉบับโดย กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้สัมภาษณ์อาจารย์สุธาชัยไว้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของขบวนการ ‘คนเสื้อแดง’ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ให้สัมภาษณ์ในการเผยแพร่ข้อมูล
ก่อนหน้าอาจารย์สุธาชัยเคยอยู่กับเสื้อเหลือง เหตุใดจึงเปลี่ยนสีเสื้อ
ก่อนรัฐประหารปี 2549 ผมอยู่กับสนธิ (ลิ้มทองกุล) เพื่อไล่ทักษิณ หมอเหวง (นายแพทย์เหวง โตจิราการ) ก็อยู่กับผม พี่จรัล (ดิษฐาอภิชัย) อาจจะไม่ชัด แต่ก็ไปชุมนุมที่สนามหลวงด้วยกัน พี่มาลีรัตน์ แก้วก่า รวมทั้ง โชติศักดิ์ อ่อนสูง ด้วยที่เชิญให้ผมไปบรรยายตั้งเต็นท์หน้าเวทีพันธมิตรฯ
จุดแตกหักกับพันธมิตรฯ เริ่มต้นขึ้นหลังมีการเสนอมาตรา 7 (เกิดกระแสการเรียกร้องนายกพระราชทาน โดยอาศัยการอ้างอิงมาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ 2540) ราวๆ ปลายเดือนมีนาคม 2549 ตอนนั้นแม้ว่าพวกเราไม่เอาทักษิณ แต่การเอานายกฯ พระราชทานมาแทนทักษิณ เป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นยกแรกที่พวกเราเริ่มถอนการสนับสนุนจากพันธมิตรฯ ก็เพราะเขาเสนอมาตรา 7 แม้กระทั่งวรเจตน์ (ภาคีรัตน์) ก็อยู่กับเรา
คิดอย่างไรกับการรณรงค์ของขบวนการพันธมิตรฯ ในเวลานั้น
ต้องเข้าใจว่าขบวนการต่อต้านทักษิณเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มีสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ พวกเสื้อเหลืองของสนธิ อีกส่วนคือเอ็นจีโอจำนวนมากที่เข้าไปร่วมด้วย อย่าง พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, สมศักดิ์ โกศัยสุข ซึ่งเข้าร่วมในฐานะสมาพันธ์ประชาธิปไตย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวในพฤษภาทมิฬ (เหตุการณ์การปราบปรามประชาชนในเดือนพฤษภาคม ปี 2535) รวมถึงหมอเหวง ครูประทีป (ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ) โดยสมศักดิ์ถูกตั้งให้เป็นตัวแทนในปีกนี้ ดังนั้น แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับสนธิในหลายเรื่อง แต่มีอีกกลุ่มที่เราร่วมได้ โดยมองในแง่เป้าหมายร่วมว่าเราไม่เอาทักษิณ
ต้องเข้าใจมิติของปี 2549 อย่าลืมว่าสนธิกับพวกเราเคยร่วมกันมาตอนเหตุการณ์พฤษภา ’35 เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า สนธิ กับจำลอง (พลตำรวจตรีจำลอง ศรีเมือง) เคยคัดค้านสุจินดา (พลเอกสุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะรัฐประหารในปี 2534 ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2535) มาด้วยกัน โดยมีหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเป็นหัวหอก ซึ่งเราไม่ได้คิดว่า คุณสนธิจะกลายเป็นพวกขวาจัดปานนี้ มาคราวนี้แกเสนอมาตรา 7 เราก็ถอนตัว แต่ไม่ได้คัดค้าน และหลายคนก็เลือกที่จะถอยออกมา หลังจากนั้นผมก็ไม่ไปชุมนุม ไม่ขึ้นเวที
มีเรื่องอื่นที่อาจารย์รับไม่ได้อีกบ้างไหมจึงถอนตัว
อีกเรื่องที่เราไม่ยอมรับ คือข้อเสนอให้มีการรัฐประหาร เราคิดว่ามันไม่ใช่การแก้ปัญหาทางการเมือง ซึ่งสนธิเรียกร้องรัฐประหาร น่าจะหลังจากที่ทักษิณลาออกแล้วกลับมาอีกทีในเดือนพฤษภาคม (2549) ก่อนหน้านี้ไม่ได้เรียกร้องรัฐประหาร เพราะถ้าเรียกร้องแบบนั้นผมคงไม่ไปร่วมชุมนุมตั้งแต่แรก
ตอนที่เข้าร่วมชุมนุม ไม่ใช่แค่เพราะเคยต่อสู้ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2535 เท่านั้น แต่คนในพันธมิตรฯ เป็นเพื่อนๆ ผมทั้งนั้น ทั้งซ้ายเก่า ประชาธิปไตยเก่า เอ็นจีโอเก่า พิภพ ธงไชย ก็รู้จักกันดี และเป็นเพื่อนกันมา คุ้นเคยกันเป็นเวลานาน สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ก็มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกันมา
ส่วนพวกจตุพร (พรหมพันธุ์) ณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน (หัวเราะ) หรือแม้กระทั่งวรเจตน์ ผมก็ไม่เคยรู้จักเลย การที่ผมออกจากตรงนั้น มันทำให้ความสัมพันธ์ขาดเลย แม้ว่าผมจะเป็นกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลาฯ พี่ประสาร (มฤคพิทักษ์) เป็นเลขาฯ แวดวงผมอยู่กับกลุ่มโน้น (เสื้อเหลือง) ทั้งนั้น
ในเวลานั้น พูดง่ายๆ ว่ามวลชนทักษิณมีคาราวานคนจน เราก็ไม่ร่วมไม่รับ ไม่เอาเลย ถอนตัวมาเป็นกลาง ไม่ร่วมเลย ในขณะที่อาจารย์หวาน (สุดา รังกุพันธุ์) เข้าร่วมเต็มตัว ผมก็เตือนอาจารย์หวานหลายหน ว่าอย่าไปร่วมเต็มตัวขนาดนั้น หวานก็ไม่เชื่อ แล้วตอนนั้นหวานสนิทกับอนันท์ (เหล่าเลิศวรกุล) ก็อีกนั่นแหละ ในจุฬาฯ ที่มีขบวนการเสื้อเหลืองต่อต้านทักษิณ ผมเป็นคนตั้งกลุ่ม ‘จุฬาฯ เชิดชูคุณธรรมนำประชาธิปไตย’ ร่วมตั้งกับไชยันต์ ไชยพร มีอาจารย์หวานเป็นเลขาฯ ส่วนอนันท์มาทีหลัง
ได้ยินเสียงคัดค้านเรื่อง ‘สองไม่เอา’ จาก อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล บ้างไหม
ได้ยินเสียงคัดค้านอยู่ แต่ธงชัย (วินิจจะกูล) สนับสนุนผม ธงชัยอยู่กับผมจนกระทั่งมาตรา 7 เหมือนกัน เกษียร (เตชะพีระ) ก็อยู่กับผมนะ (หัวเราะ หึหึ)
ผมอาจจะ ‘สองไม่เอา’ ไม่ชัดเท่าเกษียร นอกจากสมศักดิ์ที่คัดค้านเรื่องนี้ อีกคนคือพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ พิชิตไม่พูดกับผมเลย เขาเห็นหน้าผมแล้วสะบัดหน้าหนี เขาไม่พูดกับผม (หัวเราะร่วน) แสบมาก แต่เขายังดีกับวรเจตน์ ตอนนั้นพิชิตเขียนบทความอะไรมากมาย เช่น ธงผืนใหญ่สามผืน เขียนก่อนรัฐประหาร 2549 ซึ่งต่อมาเป็นบทความที่สำคัญของคนเสื้อแดงชิ้นหนึ่งในยุคนั้น (บทความนี้เขียนก่อนรัฐประหาร แต่นำเสนอในวันที่ 6 ตุลาคม 2549)
คราวนี้ คนที่ไม่เอากับพันธมิตรฯ ก่อนผมคือ หมอเหวง แกคัดค้านมาตรา 7 หลังจากนั้นหมอเหวงน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่คัดค้านรัฐประหาร มีกลุ่มที่คัดค้านทันทีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร มี สมบัติ บุญงามอนงค์, โชติศักดิ์ อ่อนสูง, ธนาพล อิ๋วสกุล ฯลฯ
พูดตามตรง คุณไม่จำเป็นต้องทำเลยรัฐประหาร เพราะทักษิณเสื่อมความนิยมอย่างมาก สมมุติว่ามีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน จะเห็นแนวโน้มสองอย่าง หนึ่งคือ พรรคไทยรักไทยชนะ แต่คะแนนเสียงจะลดลงอย่างมาก แล้วมีแนวโน้มด้วยซ้ำว่าพรรคไทยรักไทยจะแพ้ในเขตหนึ่งทุกจังหวัด แม้กระทั่งในภาคอีสาน หมายถึงในเขตเมืองจะแพ้ เพราะฉะนั้นต่อให้ชนะก็จะไม่มาก
สองคือ ต่อให้ชนะ ทักษิณก็จะไม่เป็นนายกฯ เอง เขาจะตั้งคนอื่น อาจจะสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) จาตุรนต์ (ฉายแสง) และการเมืองไทยไม่มีใครเป็นหุ่นเชิดได้โดยสมบูรณ์ คือต้องให้เวลากับประชาชน เหมือนกรณีต่างประเทศ ราจีฟ คานธี (อดีตนายกฯ อินเดีย) ถึงแม้ความนิยมท่วมท้น แต่ต่อมาก็แพ้ได้
อาจารย์ต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยไหม ต้านอย่างไร
ผมไม่ได้ร่วมกับกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร แต่คนเข้าใจว่าเป็นกลุ่มอาจารย์ใจ (อึ๊งภากรณ์) ไปจัดการประท้วงคณะรัฐประหารที่สยามพารากอน จริงๆ แล้วมากันหลายกลุ่ม แต่อาจไม่เป็นที่รู้จักของสังคมมากนัก พอสื่อมวลชนไปถึงก็เฮกันไปสัมภาษณ์อาจารย์ใจ วันนั้นจริงๆ มีคนไม่ถึง 20 คนด้วยซ้ำ แต่มันก็เป็นข่าว เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2549 จากนั้นวันที่ 6 ตุลาคม 2549 ก็เป็นครั้งแรกที่ผมขึ้นเวที เป็นงานครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ วันนั้นหมอเหวงจัดที่หอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ ผมก็ขึ้นเวทีกับ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ตอนนั้นในระดับมวลชนมีท่าทีอย่างไรต่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
หลังรัฐประหาร ผมได้รับเชิญไปพูดหลายหน ครั้งหนึ่งไปพูดที่โคราช พูดตรงๆ ว่า ในความคิดคนจำนวนมากสงสัยว่า ทั้งๆ ที่กระแสการเมืองโลกมันก้าวสู่ประชาธิปไตย ทำไมรัฐประหารไทยจึงชอบธรรม เขาต้องการคำอธิบาย ผมก็บอกเลยว่า เพราะโครงสร้างความคิดของคนไทยถูกครอบโดยระบบศักดินา คิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ในตำบลหนึ่งชาวบ้านเขารู้กัน บ้านไหนแดง บ้านไหนเหลือง แต่เขาก็อยู่กันได้ ถ้าไม่มีอะไรมาเร้า ไม่ทำให้แหลมคม
ก่อนปี 2549 เพื่อนผมเลือกประชาธิปัตย์ ผมไม่เลือก เราก็ไม่ตีกัน สรุปพวกเราเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ไม่เอารัฐประหาร หลังจากนั้นก็ไปสนามหลวง แต่ไม่ได้ไปประจำ ผมไปตั้งแต่กลุ่มคนวันเสาร์ฯ (กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ) ตั้งเวที ซึ่งคนน้อยมาก
แล้วก็ไปฟัง ‘ดา ตอร์ปิโด’ พูด (ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล) อดีตจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตอนนั้นเขาพูดไม่เป็นระบบนัก ขาดการจัดระบบมาก ผมไปช่วยจัดระบบให้ดา บอกว่าคุณอย่าไปเที่ยวด่าใครไปทั่ว พวกเราจะสร้างศัตรูเยอะไปหมด ตอนนั้นที่ผมไปฟังเขาปราศรัย เขาด่าปริญญา (เทวานฤมิตรกุล) แล้วก็ด่า อาจารย์โคทม อารียา
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่คัดค้านรัฐประหาร แล้วอยู่มาตั้งแต่แรก คือพวกแท็กซี่ นำโดย ชินวัฒน์ หาบุญพาด (นายกสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับรถแท็กซี่) กลุ่มแรกสุดที่เจอกัน วันจันทร์ยังใส่เสื้อเหลืองมาประชุมกับพวกเรา จากนั้นอีกหกเดือน ก็เลิกใส่
กรณี ‘ดา ตอร์ปิโด’ ทำไมอาจารย์จึงเลือกรับเป็นนายประกันให้
เพราะผมรู้จักเขาเป็นส่วนตัว เจอกันที่สนามหลวง ตอนที่ผมเข้าไปประกันตัว แรกสุดไม่ได้ประกันตัวนะ ผมไปเยี่ยม พอผมเยี่ยมแล้วได้คุยกัน เอ๊ะ เราประกันตัวได้นี่หว่า เพราะว่าเรามีตำแหน่งเป็นอาจารย์ ผมก็เลยไปถามว่าใช้ตำแหน่งประกันได้ไหม เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าได้
ตอนแรกๆ ไม่ได้คิดอะไรเลย คิดว่าให้เพื่อนเราอยู่นอกคุกน่าจะดีกว่า อีกอย่างคือมองในแง่สิทธิของผู้ต้องหา เขายังเป็นผู้บริสุทธิ์ และสุดท้ายคือ ผมไม่เห็นด้วยอยู่แล้วในการจับใครด้วยกฎหมาย 112
ในทัศนะของอาจารย์เห็นว่าขบวนการเสื้อแดงก่อตั้งขึ้นได้อย่างไร
พวกเรา นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ) ประชุมก่อตั้งขบวนการราววันที่ 31 พฤษภาคม 2550 ในเดือนนั้นมีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งคือ การสั่งยุบพรรคไทยรักไทย เหตุการณ์นี้เองทำให้คนทั้งหมดมาประชุมร่วมกัน จำได้ว่าวันนั้น สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นประธาน ผม จตุพร ณัฐวุฒิ เข้าประชุมด้วย เพื่อประชุมก่อตั้ง นปก. วันนั้นมีตัวแทนพรรคมัชฌิมาธิปไตยด้วย แล้วเลือกตัวแทนขึ้นมา ตอนแรกมีห้าคน ถามว่าทำไมเลือกห้าคน ก็เพราะเลือกให้เข้ากับจำนวนแกนนำพันธมิตรฯ แล้วก็เลือกพี่จรัลกับครูประทีปเข้าไปด้วย
ในวันนั้นที่ประชุมเลือกมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ เป็นประธาน วีระ (มุสิกพงศ์) เป็นหนึ่งในตัวแทน จตุพรเป็นโฆษก ผมเป็นส่วนหนึ่งของ นปก. ตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ส่วนหมอเหวงนี่รู้จักส่วนตัวมายาวนาน เป็นคนตุลาฯ มาด้วยกัน เพราะฉะนั้นหลังรัฐประหารหมอเหวงอยู่ตรงไหน ผมก็อยู่ตรงนั้นแหละ เรียกว่า ติดไปกับหมอเหวงตลอด
เสื้อสีแดงปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกอย่างไร
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 ส่วนมากเป็นกลุ่มรักทักษิณ เพราะพวกไม่รักทักษิณนี่ยัง ‘สองไม่เอา’ อยู่ คือผม สมบัติ (บุญงามอนงค์) สมยศ (พฤกษาเกษมสุข) หลังจากพวกเราเลิกจาก ‘สองไม่เอา’ แล้ว จึงมาอยู่กับหมอเหวง พวกหมอเหวงก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ไปร่วมกับกับพี่วีระ แล้วรวมเป็น PTV กลุ่ม PTV เริ่มตั้งเวทีปราศรัยใหญ่ที่สนามหลวงเดือนมีนาคม 2550 ตอนนั้นยังไม่มีสีแดง แต่การรณรงค์สีแดงมาปรากฏในช่วงการรณรงค์ต้านรัฐธรรมนูญ คมช. (เดือนสิงหาคม 2550)
สภาพของคนเสื้อแดงเป็นเอกภาพไหม
ต้องเข้าใจว่าเสื้อแดงตั้งแต่ต้นจนปลายมันมีหลายกลุ่มอยู่ภายใน ไม่เคยเป็นเอกภาพ ทางฝั่ง นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ก็มีตู่ (จตุพร พรหมพันธุ์) เต้น (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) คุมเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นหลัก แต่รู้ไหมว่า กลุ่มรองๆ ลงมาก็มีคนที่ไม่เอาสองคนนี้มาโดยตลอด มีกลุ่มที่ด่าพวกนี้แต่ยังเป็นเสื้อแดงมาตั้งแต่ต้น เสื้อแดงมีลักษณะพิเศษ อย่าว่าแต่จตุพร ณัฐวุฒิ เลย ทักษิณก็ยังด่า อย่าคิดว่าคนเสื้อแดงจะไม่ด่าทักษิณ พูดตามตรงคนที่โดนด่าน้อยที่สุดหรือไม่เคยโดนด่าเลยนี่คือ ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) (หัวเราะร่วน)
อาจารย์วิเคราะห์ว่าขบวนการเสื้อแดงกลุ่มไหนมีน้ำหนักที่สุด
ต้องยอมรับว่า นปช. ส่วนกลาง มีอิทธิพลต่อคนเสื้อแดงที่เป็นมวลชนระดับล่าง กลุ่มนี้จะคอยฟังผู้นำ เมื่อเคลื่อนไหวเขาก็ตาม เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวแม้จะคิดต่าง แต่ถ้า นปช. เสนอ คนส่วนใหญ่ก็เอาด้วย
นิตยสาร Voice of Thaksin ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในขบวนการเสื้อแดง มีความเป็นมาอย่างไร
ฉบับแรกน่าจะออกหลัง ‘สงกรานต์เลือด’ (เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน ปี 2552) ถ้าจำไม่ผิด ก่อนหน้านี้คุณสมยศทำหนังสือชื่อ สยามปริทัศน์ ผมคิดว่ามันเลิกไป เจ๊งไป คราวนี้ผมเองมีโครงการที่จะทำหนังสือเล่มใหม่ เรื่องนี้มีการเตรียมการ คุยกันมานานว่าจะออกหนังสือเสียงทักษิณ
คือตอนแรกไม่ได้ชื่อนี้ ชื่อนี้มาทีหลัง จริงๆ ตั้งใจจะออกให้เหมือนกับ ไทม์ แมกกาซีน คนที่มีส่วนในการทำหนังสือช่วงต้นๆ ก็มีหลายคน โดยสมยศเป็นคนที่เสนอไอเดีย มีการชวนนักการเมือง 2 คน มาประชุมก่อนเปิดหนังสือ ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วย แล้วก็มีการระดมเงินก้อนแรกมา 5 หมื่น หรือ 5 แสน จำไม่ได้แล้ว
เนื้อหาดูอ่านยากหรือขัดกับความเป็นม็อบไพร่ไหม
หนังสือตอนแรกมันดูปัญญาชนมากๆ หมายถึงตอนก่อนออกฉบับจริงนะ เพราะมีแต่ดอกเตอร์ทั้งนั้นที่มีบทบาทหลัก แต่ต่อมามีการปรับเนื้อหาให้แรงขึ้น ประแสง มงคลสิริ ก็ถอนตัว สมยศก็มาเป็นบรรณาธิการแทน
ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับเรื่องนี้นะ ตอนออกมาแรกๆ นี่กำไรมากเลย ยอดขายเป็นแสน และทำให้กอง บก. มีเงินมาทำงานได้เป็นปี ผมคุยกับสมยศแล้วว่า ผมอยากให้สร้างหนังสือที่มีคุณภาพในเชิงสื่อมวลชนจริงๆ อยากให้เป็นหนังสือรายสัปดาห์ที่เป็นคู่แข่งกับมติชน คู่แข่งในเชิงคุณภาพและเนื้อหา ซึ่งถ้าเรามีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วเรามีคนเสื้อแดงเป็นฐานอยู่แล้ว เราน่าจะทำได้ เป็นการยกระดับคนเสื้อแดง
อาจารย์ไม่พอใจคุณภาพของหนังสือว่าไม่ได้อย่างที่ตั้งใจอย่างไร
ผมมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง ผมเสนอแล้วเขาไม่เชื่อ เขาไม่ฟัง ผมก็เฉยๆ คือผมอยู่กับเขาได้ ไม่แตกหัก เคยเสนอหลายหนนะกับสมยศและกอง บก. เรื่องของเรื่องคือ คุณไม่มีนักข่าว ผมเสนอว่าถ้ามีการเสวนาทางวิชาการที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเกษียรพูด พิชิตพูด หรือต่อให้ไม่เป็นสองคนนี้ก็ตาม ต่อให้เป็นเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นธีรยุทธ บุญมี พูดด้วยซ้ำ ในฐานะที่เราเป็นสื่อมวลชน เราก็ต้องเอามารายงาน เพราะนี่เป็นประเด็นใหม่ คุณต้องมีบทความวิพากษ์ หรือไปสัมภาษณ์คนที่เห็นต่างด้วย มันก็จะออกมาทั้งสองกระแส แล้วคุณก็จะเป็นสื่อมวลชนที่เป็นกลาง และให้ข้อมูลให้แก่ประชาชนคนเสื้อแดงได้
รูปแบบหนังสือในอุดมคติของอาจารย์ควรจะเป็นแบบไหน
เราต้องมีนักข่าว คุณอาจมีคอลัมนิสต์คนดัง แต่คุณต้องมีนักข่าวด้วย และจะให้ดีกว่านี้คุณต้องมีระบบฐานข้อมูล พูดง่ายๆ ว่ามีกองบรรณาธิการที่จะให้ความรู้กับผู้อ่านอย่างเป็นรูปธรรม แต่เขาก็ไม่ได้ทำแบบที่ผมเสนอ
จุดอ่อนสำคัญของขบวนการเสื้อแดงคืออะไร
ในหมู่แกนนำ นปช. ไม่เคยเป็นเอกภาพเลย หลายครั้งบางคนทำโดยพลการ หลายคนไม่เห็นด้วย ยกตัวอย่างการพูดในที่ต่างๆ หลายคนก็โดนดำเนินคดี พวกเราไม่ได้กลั่นกรอง ไม่มีวินัยในการควบคุม แกนนำไม่รู้เรื่อง แต่ก็พูดออกไปนาม นปช.
ปัญหาอีกอย่างคือ ในหมู่แกนนำกันเองวิจารณ์กันไม่ได้ ไม่เคยถอดบทเรียน ไม่ดูบทเรียนความผิดพลาดของตัวเองในอดีต นี่พูดแบบคนวงใน เป็นส่วนหนึ่งของ นปช.
ในหมู่คนเสื้อแดงอาจจะชื่นชอบตู่ เต้น แต่คนที่มีบทบาททางความคิดคือ วรเจตน์และสมศักดิ์ วรเจตน์ดังมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่นิติราษฎร์นี่อาจจะเริ่มเป็นที่รู้จักหลังการปราบปรามเมื่อปี 2553 แฟนคลับวรเจตน์นี่เยอะ
แค่คนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ หรือเปล่าที่ชอบอาจารย์วรเจตน์
ไม่เลย (เสียงสูง) ลองไปถามคนเสื้อแดงที่ราชบุรี สงขลา อุดรธานี ไปถามได้เลย ทุกคนพูดเหมือนกันหมด สื่อวันนี้มันไปไกล