ความตายซ้ำซากของปรัชญาการเมือง

ภาพ: ชลิตา สุนันทาภรณ์

ต้นเดือนพฤศจิกายน บ่ายแก่ๆ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

แม้อากาศหนาวจะเริ่มคืบคลานเข้าสู่เมืองกรุง แต่ช่วงเวลาที่นั่งฟังงาน ‘ดิเรกเสวนา’ ในหัวข้อ ‘ปรัชญาการเมืองตายแล้ว?’ และถือเป็นวันเปิดตัวหนังสือ ปรัชญาการเมือง: ความรู้ฉบับพกพา โดยสำนักพิมพ์ openworlds กลับไม่รู้สึกถึงความหนาวเย็นและสัมผัสได้แต่เพียงไฟร้อนระอุ ตั้งแต่ประเด็นหัวข้อจนถึงผู้ร่วมวงเสวนา

เกษียร เตชะพีระ และ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คือผู้ร่วมวงเสวนา ทั้งสองคืออาจารย์ผู้สอนวิชาปรัชญาการเมืองเบื้องต้นที่ขึ้นชื่อว่าสร้างความหวาดกลัวให้กับนักศึกษามาแทบทุกรุ่น

วงเสวนาเริ่มต้นจากเกษียรเล่าถึงความน่าสนใจของ ปรัชญาการเมือง ความรู้ฉบับพกพา ก่อนชวนย้อนมองให้เห็น ‘ความหงอย’ ของสังคมการเมืองทั่วโลกที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยหยิบยกความล้มเหลวในการพยายามเปลี่ยนโครงสร้างที่ต้องการหรือเปลี่ยนสังคม แต่กลับยิ่งทำให้แย่ลง นำมาสู่การทดแทนบางอย่าง พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัด เช่น Political Islam (อิสลามการเมือง) ที่เห็นในกลุ่มก่อการร้าย กองกำลัง ISIS หรือ กรณีพุทธศาสนา การสู้รบในพม่าระหว่างรัฐกับโรฮิงญา หรือการหันไปยึดหลักคริสต์ศาสนาดั้งเดิมของคนผิวขาวและต่อต้านคนผิวสีหรือผู้อพยพ โดยเฉพาะในยุโรปหรืออเมริกา เหตุการณ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นการนำศาสนามาเชื่อมโยงกับชาตินิยม

และนั่นกลายมาเป็นหลักฐานชัดเจนของนิยามที่ว่า “สังคมการเมืองในทุกวันนี้จมอยู่กับความหงอย” และกลายเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องหันมาสำรวจและตรวจสอบสังคมของเราโดยใช้หลักคิดแบบปรัชญาการเมือง

เกษียร เตชะพีระ: ปรัชญาการเมืองขั้วตรงข้ามของวัฒนธรรมและสังคม

เริ่มต้นจากอธิบายว่าปรัชญาการเมืองคืออะไร โดยค่อยๆ เปิดให้เห็นว่า แท้จริงแล้วในทุกสังคมมีโครงสร้าง โอกาสความเป็นไปได้ทางความคิด และวัฒนธรรมที่ครอบงำเราเอาไว้อยู่ ซึ่งทำหน้าที่คอยห้ามปรามไม่ให้ทำหรือไม่ให้คิดสิ่งใดก็ตามที่หลุดนอกกรอบที่ครอบเอาไว้ กล่าวคือ เป็นการกีดกั้นความคิดและปัดความเป็นไปได้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยมีสิ่งที่เรียกว่า สมมุติฐาน เป็นฐานคอยรองรับโครงสร้างดังกล่าวเอาไว้อย่างคงทน ซึ่งสิ่งที่จะกัดเซาะโครงสร้างดังกล่าวได้ก็คือ ‘ปรัชญาการเมือง’ เพราะปรัชญาการเมืองมีสมรรถนะที่จะตั้งคำถามลึกลงไปในรากฐานของสังคม

“ที่คุณไม่ถามเพราะคุณมีสมมุติฐานตั้งแต่ต้น ‘ดัก’ (เน้นเสียง) เอาไว้อยู่ ถ้าคุณถาม คุณจะเห็นความเป็นไปได้ทางความคิดวัฒนธรรมทั้งหลาย คุณจะเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เห็นทางเลือกต่างๆ ที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน นี่คือพลัง หน้าที่และสมรรถะของปรัชญาการเมือง”

แล้วอะไรคือสมมุติฐานเหล่านั้นที่ทำให้ประชาชนไม่ตั้งคำถามหรือไม่แม้แต่จะคิดตั้งคำถาม เกษียรเสนอว่ามีสองสิ่งที่คอยหล่อเลี้ยงโครงสร้างดังกล่าว ได้แก่

หนึ่ง – วัฒนธรรม คือการคิด ประพฤติ และปฏิบัติตามด้วยความคุ้นชิน กล่าวคือ ไม่ทันคิด ไม่ทันถามก็ทำไปเรียบร้อย สอง – สถาบัน คือแบบแผนการประพฤติประฏิบัติที่ทำซ้ำๆ มาอย่างยาวนาน เป็นแบบแผนธรรมเนียมที่ได้รับการยอมรับนับถือและความคุ้มครองจากระเบียบอำนาจ

โดยเกษียรเปรียบเทียบสองสิ่งดังกล่าวว่าเป็นเหมือนปุ่มที่มองไม่เห็นอยู่กลางหลังของมนุษย์ และเมื่อกดปุ่มทำงาน เราก็จะ react ตอบสนองทันที

ทันทีที่คุณกระตุ้นใช้ปรัชญาการเมือง มันเหมือนการถามซักลงไปที่รากฐานสังคม รากฐานสถาบันตรงนั้น ปรัชญาการเมืองจึงเป็นเหมือนการบริหารความคิดท่ายาก คือการฝึกคิดที่ฝืนวัฒนธรรม ฝืนสถาบัน ฝืนสิ่งปกติที่คุณไม่คิดและถ้าคุณฝืนมัน คุณจะเดินสวนกระแสวัฒนธรรม คุณจะก้าวไปสู่การคิดเองเป็น มองเห็นความเป็นไปและทางเลือกทางความคิดที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน

ปรัชญาการเมืองจึงยืนอยู่ด้านตรงข้ามของวัฒนธรรมและสถาบัน เนื่องจากได้เข้าไปรื้อการคิด การตั้งคำถามตรงฐานรากที่รองรับวัฒนธรรมและสถาบันทั้งหลายว่าจริงไหม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะอะไร และเพื่ออะไร ซึ่งคำถามเหล่านั้นเป็นปัญหาและด้วยเหตุนั้นเอง ปรัชญาการเมืองจึงเสี่ยงอันตรายและเสี่ยงต่อความตาย

“การทำงานของปรัชญาจึงเสี่ยงอันตรายต่อความยัวะ บรรดาลโทสะโดยอัตโนมัติ เกิดความเข้าใจผิดทันที แต่ถ้าปรัชญาไม่ทำงาน เงียบเสียง หรือตายแล้ว สังคมก็จะถูกคุมขัง แช่แข็งไว้กับฐานคติที่เป็นอยู่ตราบชั่วกัลปาวสาน แม้ฐานดังกล่าวจะไม่สมเหตุสมผลหรือฝืนทวนกระแสความจริงในสังคมของโลก ‘เราคิดไม่ออก เราคิดไม่ออก’ (เน้นเสียง) ทั้งๆ ที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่สามารถคิดได้ เพราะเราอยู่ในกรอบโครงสร้างนั้นที่ครอบงำไว้”

เกษียรกล่าวอีกว่า หากต้องการคิดและถามแบบปรัชญาการเมืองควรสวมหมวกของคนนอก (alien) หรือเด็กที่ไร้เดียงสา แต่สัญญาณที่ส่งเสียงว่าปรัชญาการเมืองยังไม่ตายและยังทำงานอยู่อย่างขะมักเขม้นกลับเป็นการเสี่ยงภัยที่จะโดนสังคมโกรธเกลียด ขับไล่ ไปจนถึงการพิพากษาให้ถึงตาย

“เพราะถ้าคุณเดียงสาแล้ว ใส่ความเป็นไทยแล้ว คุณก็จะไม่ถามแล้ว (หัวเราะ) แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้ไร้เดียงสา”

กลับไปสู่คำถามของวงเสวนาที่ว่า “ปรัชญาการเมืองตายแล้ว?” สำหรับเกษียร ปรัชญาการเมืองจะไม่ตาย ตราบใดที่สังคมนั้นๆ ยังตั้งคำถามต่อแนวคิดและรากฐานของตัวเอง ซึ่งจะทำให้สังคมมีความหวังในการค้นพบทางเลือกใหม่ๆ ต่อไป

“คิดเองเป็น เลิกเชื่อเป็น ปรัชญาการเมืองก็จะไม่ตาย” เกษียรกล่าวทิ้งทาย

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: ปรัชญาการเมืองอยู่ทุกหนทุกแห่ง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เข้าสู่ประเด็นด้วยการชวนให้คิดว่า ปรัชญาการเมืองแท้จริงแล้วไม่จำเป็นต้องอยู่เพียงเฉพาะใน ‘การเมือง’ หรือ ‘รัฐ’ เท่านั้น แต่สามารถแพร่ขยายไปได้ทุกแขนง

“ปรัชญาการเมืองมันเป็น ‘อรูป’ มันไปอยู่ในที่ต่างๆ ได้ มันไม่ต้องอยู่ในวิชาปรัชญาการเมือง มันไปอยู่ในละคร วรรณกรรม ไปอยู่ในอะไรได้อีกเยอะเลย ในความหมายนี้ ฉะนั้นถามว่ามันตายแล้วหรือยัง ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ ชีวิตของการเมืองไม่ได้สิ้นสุดเมื่อโสเครตีสตาย แต่ยั่งยืนต่อไปในอคาเดมีของเพลโต ในไลเซียมของอริสโตเติล และอีกหลายอย่าง”

ชัยวัฒน์ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจคือ ปรัชญาการเมืองสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ ฉะนั้นแล้วหากจะมองว่าปรัชญาการเมืองนั้นผูกอยู่แต่เรื่องของรัฐจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าใช่ทั้งหมด

“ปรัชญาการเมืองมันพันอยู่กับแค่รัฐจริงๆ หรือ หรือเป็นเพราะเราอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ จึงต้องคิดถึงเรื่องรัฐเป็นพิเศษหรือ การปกครองเป็นเรื่องของรัฐหรือ มันมีอะไรมากกว่านั้นไหม ปุ่มกลางหลังของคนเราไม่ได้มีเพียงแค่รัฐเท่านั้นที่ครอบงำ แต่รวมถึงศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีหลายๆ อย่าง พวกนั้นคือสิ่งที่ต้องหยิบขึ้นมาดูและทำตามที่อาจารย์เกษียรว่าคือ ตั้งคำถาม”

แล้วคนประเภทไหนกันที่จะอยู่กับปรัชญาการเมืองได้ดีที่สุด ชัยวัฒน์ให้คำตอบสอดคล้องกับเกษียรว่าคือเด็กและคนนอก เนื่องจากพวกเขามีคำถามมากมายที่เราไม่เคยคิดที่จะถาม

เพราะเขาไร้เดียงสา ไอ้เรานี่มันเดียงสาไปหมดแล้ว ความเดียงสาเหล่านี้คือปัญหาของเรา เพราะมันทำให้เราไม่เห็นโลกด้วยดวงตาของเด็กซึ่งไม่ถูกเคลือบด้วยอคตินานาชนิดได้

แต่หลังจากที่เด็กเหล่านั้นเริ่มตอบสนองและเข้าใจวัฒนธรรมและสถาบัน พวกเขาก็จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถูกคติมากมายเหล่านั้นยัดจนความไร้เดียงสาเหล่านั้นหายไป ด้วยเหตุนั้นปรัชญาการเมืองจึงอันตรายและอยู่ได้กับแค่เด็ก

“ปรัชญาการเมืองหยิบสิ่งเหล่านั้นมาดูให้เห็นว่าสิ่งที่เรามีอยู่มันมีอะไรบ้าง ปรัชญาการเมืองจึงอันตรายเพราะแบบนี้ และนั่นทำให้คนที่อยู่ได้ดีที่สุดก็คือเด็กซึ่งรัฐเข้าใจและเห็นสิ่งเหล่านี้ได้รวดเร็ว เป็นการ bring back the innocence เพราะทุกคนถูกเคลือบด้วยของเหล่านั้น”

หากกลับไปสู่คำถามตั้งต้นที่ถามว่า “ปรัชญาการเมืองตายแล้วจริงหรือ” ชัยวัฒน์ตอบเพียงสั้นๆ ว่า

ปรัชญาการเมืองตายในวันที่ความรักไม่อยู่แล้ว เพราะส่วนสำคัญที่สุดในปรัชญาการเมืองก็คือความรักในปรัชญา

เขาให้เหตุผลว่าเพราะคนเราส่วนใหญ่มักมองความหมายของคำว่ารักเป็นเรื่องของความหลงใหลหรือเรื่องของศาสนา ซึ่งความหมายของปรัชญาไม่ใช่สิ่งเหล่านั้น มันเป็นความรักฉันมิตร แต่ทุกวันนี้สิ่งที่มนุษยชาติเผชิญอยู่มักเป็นปัจจัยที่สามารถทำลายสายสัมพันธ์ดังกล่าว เช่น ความเชื่อ ความเกลียด ซึ่งล้วนแต่ทำลายสังคมการเมือง

“หน้าที่ของปรัญชาการเมืองอาจจะเป็นการทำให้เห็นว่า ถ้าความรักยังอยู่ ปรัชญาการเมืองก็ไม่ตาย ฉะนั้นหากจะฆ่าปรัชญาการเมือง ต้องทำลายความรัก แต่ราคาของการทำลายความรักในสังคมการเมืองคืออะไร อันนี้ผมตอบไม่ได้”


How to Read

ปรัชญาการเมือง: ความรู้ฉบับพกพา

เดวิด มิลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด: เขียน
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: แปล

เกษียรกล่าวว่า “ผู้เขียนคิดละเมียดละไมมาก กระจ่างมาก เสนอสิ่งที่ตำราที่ดีควรเสนอคือให้แผนที่ ในปริมณฑลความรู้ที่เราไม่เคยเดินเข้าไปมาก่อน ถ้าเราหลงหลุดเข้าไปก็เหมือนกับคนหลงทาง เมื่ออยู่ในปริมณฑลที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราต้องการที่สุดคือแผนที่และเข็มทิศ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ให้ ชี้ให้เห็นประเด็นหนึ่งที่สามารถนำไปสู่อีกประเด็นหนึ่ง เป็นแผนที่ที่เปิดให้ดูเลยว่าเราต้องเดินไปจุดไหนบ้าง เวลาที่เราเดินไปถึงทางเลือกหรือทางแพร่ง หนังสือเล่มนี้ยังให้เข็มทิศกับเราด้วย ไม่มีใครบังคับให้คุณเดินไปเส้นทางไหนได้อยู่แล้ว เป็นงานดีที่สุดสำหรับคนที่ไม่มีความรู้มาก่อน เวลาอ่านให้ทำภาพไว้ ถ้าคุณไม่ทำ อ่านจบไปเดี๋ยวก็ลืม ซึ่งผมลืมฉิบหาย (หัวเราะ) วาดแผนที่เลย เริ่มที่ประเด็นนี้ ขีดคีย์เวิร์ดที่คุณคิดว่าเป็นแนวคิดหลัก แล้วเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดดังกล่าวกับอีกแนวคิด อันนี้ขยายอันนี้ อันนี้คล้อยกับอันนี้ เมื่ออ่านจบ คุณจะได้แผนที่การเดินทางในปริมณฑลแห่งนี้ทันที และถ้าคุณได้อันนี้ มันจะอยู่กับคุณ และคุณจะไม่ลืม”

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า