ภาพประกอบ: Shhhh
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในจุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ 1 กุมภาพันธ์ 2553 อัพเดทข้อมูล มิถุนายน 2559
เรื่องจริงเพียงบางส่วนจากชีวิตของแรงงานไทยในญี่ปุ่น ที่อาจทำให้เราเลิกมอง ‘พวกเขา’ อย่างเป็นอื่น
ข่าวคราวที่โรงพยาบาลตามแนวชายแดนกำลังติดหนี้สินบานตะไท เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าโรงพยาบาลละ 20 ล้านบาท จากการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ แต่โรงพยาบาลต้องตัดสินใจทำภารกิจเพื่อมนุษยธรรมโดยใช้สองบ่าของแพทย์และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่แบกรับหนี้สินเหล่านั้นเอาไว้
แม้หน่วยงานด้านสาธารณสุข ทั้งสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้ปฏิบัติงานหลายระดับจะเข้าใจ เห็นใจ และพยายามศึกษาข้อกฎหมาย ทำวิจัยรองรับความจำเป็นที่ต้องดูคนไร้รัฐ-ไร้หลักประกันเหล่านี้ อย่างน้อยเพื่อการควบคุมโรคและการพัฒนาสาธารณสุขบนผืนแผ่นดินไทย
จากข้อเสนอเพื่อของบประมาณการดูแลรักษากลุ่มประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล หรือคนไร้รัฐที่อยู่บนดินแดนไทยกว่า 500,000 ราย ที่เคยถูกคัดค้านจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ด้วยประเด็น ความไม่ใช่ ‘ไทย’ ความจำกัดด้านงบประมาณ ผลกระทบความมั่นคง และเกรงว่าจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้เกิดการอพยพใหม่มากขึ้น ขณะนี้ (ปี 2559) ผู้รอพิสูจน์สถานะเกือบ 500,000 คน เข้าถึงบริการรักษาพยาบาลแล้ว ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ซื้อบัตรสุขภาพจะได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์
จะด้วยอคติในทางชาติพันธุ์ที่ถูกผลิตซ้ำทุกเมื่อเชื่อวัน ทำให้มองคนที่ต่างจากเรา… ‘เป็นอื่น’ ทำให้เรามองเพื่อนบ้านด้านหนึ่งเป็นผู้รุกราน เพื่อนบ้านอีกด้านเป็นผู้คิดคดทรยศ และเพื่อนบ้านอีกด้านเป็นผู้ที่ต่ำต้อยกว่า ทำให้ไม่เห็นสมควรที่จะดูแลรักษาเยี่ยง ‘คนไทย’
หากถึงคราวที่ ‘คนไทย’ ถูกปฏิบัติเยี่ยงนี้บ้างในต่างแดน ภาพและความรู้สึกเหล่านี้ จะถูกรับรู้และเห็นในมุมที่ต่างไปหรือไม่…อย่างไร
พี่ศรี
“Hyaku man en kakaru (ค่ารักษาหนึ่งล้านเยน ประมาณ 3 แสนบาท)” เป็นประโยคที่พี่ศรี พึมพำอยู่ตลอดเวลา
พี่ศรีเป็นสาวไทยยุคแรกๆ ที่ไปขุดทองที่ญี่ปุ่นในช่วงเศรษฐกิจบูมเมื่อปี 2533 และเธอก็เป็นเช่นอีกหลายๆ คนที่อยู่เกินวีซ่ามาหลายสิบปี จากสาวนั่งดื่ม อาชีพปัจจุบันของเธอคือ พนักงานระดับล่างในโรงงานห่างไกลของจังหวัดอิบาระกิ
พี่ศรีถูกปฏิเสธการรักษาจากโรงพยาบาลสองแห่งในเมือง ก่อนที่เธอจะหมดสติ จนเพื่อนต้องโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากสถานทูต นพ.ซาวาดะ ทาคาชิ ที่ปรึกษาของสถานทูตไทยในกรุงโตเกียว เดินทางด้วยรถไฟสามต่อมาดูอาการของเธอ
“พอไปถึงโรงพยาบาลก็จะถูกถามเลย มี Hoken ไหม (บัตรประกันสุขภาพซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่มีต้องจ่ายเต็ม) มีคนรับรองไหม พอบอกว่า ไม่มี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็บอกเลย ค่ารักษาหนึ่งล้านเยนนะ นี่คือคำที่พูดโดยไม่ต้องไล่ตรงๆ” พี่ศรีเล่าให้หมอซาวาดะฟังด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่าเธอไม่มีเงิน เมื่อหมอยืนยันว่าจะพาเธอไปรักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง
ด้วยการต่อรองกับโรงพยาบาลในพื้นที่อย่างสุภาพ และย้ำถึงพันธกิจด้านมนุษยธรรม พี่ศรีได้รับการรักษาจนอาการทางตับทรงตัวพอที่จะถูกส่งกลับประเทศไทย
“คุณศรีอาจจะโชคดีกว่าอีกหลายๆ คน” หมอซาวาดะบอก เพราะเคสแรกที่ทำให้คุณหมอตัดสินใจมาช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านการรักษาแก่สถานทูตไทย เมื่อ 12 ปีก่อน เป็นผู้ชายที่ติดเชื้อเอชไอวี แต่เพราะไม่มีประกันสุขภาพ เขารอจนโรคเอดส์กลืนกินร่างกายจนสิ้นสภาพ
หลังจากถูกปฏิเสธจากโรงพยาบาลในกรุงโตเกียวไม่ต่ำกว่าสามแห่ง เขามาสิ้นสติที่หน้าสถานทูต และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เอื้อง
เอื้อง อายุ 26 ปี เมื่อตัดสินใจฝากลูกวัยเพียงขวบเศษไว้กับแม่ที่บ้านทางเหนือ เพื่อมาทำงานใน snack bar ที่มิโยตะ เมืองเกษตรกรรมห่างไกลในจังหวัดนากาโน่ที่มี love hotel และ snack bar หลายร้อยแห่ง เพื่อรองรับผู้ชายในสังคมเกษตรที่ผู้หญิงญี่ปุ่นไม่เหลียวแล
แม้จะติดหนี้ถึง 5 ล้านเยน (ประมาณ 1,300,000 บาท) ผ่อนมาสองปีแล้วก็ยังไม่หมดเพราะเศรษฐกิจไม่ดี แต่มาม่าซังก็ยังใจดีให้เธอส่งเงินกลับบ้านได้เป็นระยะ
เอื้องขอให้ลูกค้าใช้ถุงยางอนามัย แต่กลับได้รับคำตอบว่า “เธอควรดีใจว่า ฉันลดตัวมามากแค่ไหนที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับเธอ” ไม่ช้าเอื้องก็รู้ตัวว่า เธอติดเชื้อเอชไอวีจากลูกค้าชาวญี่ปุ่น แต่เธอไม่มีความรู้มากพอว่า ต้องได้รับการรักษา หากปล่อยให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำมาก โรคฉวยโอกาสก็พร้อมโจมตี
หนึ่งโรงพยาบาลเล็ก และหนึ่งโรงพยาบาลใหญ่ ในมิโยตะ ปฏิเสธที่จะรักษาเธอ เธอขอให้เพื่อนพามาสถานทูตที่กรุงโตเกียวเพื่อกลับประเทศไทย เธอหมดสติระหว่างทาง โรงพยาบาลกลางซาคุรับรักษาเธอ แต่เชื้อราในสมองทำลายความสามารถในการเดินเหิน เธอล้มลงในห้องน้ำ มือซีกซ้ายไม่สามารถใช้การได้อีก
เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย ยังไม่ทันได้เข้ารับยาต้านไวรัสตามสิทธิ์ในหลักประกันสุขภาพในฐานะที่เป็น ‘คนไทย’ …โรคร้ายก็ได้พรากเธอไปจากโลกนี้ต่อหน้าแม่และลูกชายที่ยังไม่รู้ความพอ
โรงพยาบาลกลางซาคุ เมืองซาคุไดระ จังหวัดนากาโน่ อาจจะแปลกจากโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ ที่รับรักษาผู้ป่วยโดยไม่ได้ตั้งคำถามแรกว่า มีเงินหรือไม่ ด้วยเพราะเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่สร้างด้วยเงินของชาวนาเมื่อ 70 ปีก่อน และด้วยความมุ่งมั่นของหมอๆ ทำให้เป็นโรงพยาบาลที่ได้ชื่อว่า ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ดูแลคนทุกระดับ ตั้งแต่คนรวยยันคนจน คนที่ไม่มีปัญญาจ่าย
แต่ทุกวันนี้ โรงพยาบาลซาคุก็ต้องแบกรับหนี้ค้างจากการรักษาคนที่ไม่มีหลักประกันไม่น้อย แม้ในขณะที่ นพ.โยชิฮิโระ ทากายามะ และ นพ.ทาคาชิ นิชิจิมะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวีกำลังรักษาคนไข้อย่าง เอื้อง และอีกหลายคนที่มีอาการของโรคที่ซับซ้อนอย่างมาก เพราะถูกดีเลย์การรักษา หมอทั้งสองก็ต้องคิดหาหนทางที่จะทำเรื่องขอให้กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นพิจารณาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลตามแต่ช่องของกฎหมายจะอำนวย
“พวกเขาไม่ใช่ตัวนำโรค แต่เพราะเขาไม่ได้รับการรักษา โรคจึงแพร่กระจาย ตราบเท่าที่ยังมีคนบางกลุ่มไม่ได้รับการรักษา ตราบนั้นเราก็ยังแก้ปัญหาโรคเอดส์ในญี่ปุ่นไม่ได้” หมอทากายามะกล่าว เมื่อพูดถึงสถิติผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวที่จำนวนเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส
ป้าแดง
สถานทูตไทยในกรุงโตเกียวจัดกงศุลสัญจรทุกเดือน นอกเหนือจากการออกไปทำเอกสารทางราชการในจังหวัดต่างๆ ยังร่วมกับทีมแพทย์และอาสาสมัครคนไทยจัดการตรวจสุขภาพโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ป้าแดง อายุ 50 เศษๆ แต่ดูแก่กว่าอายุมาก ทำงานที่โรงงานเสียบยากิโทริ (ไก่ย่าง) ในจังหวัดกุมมะ ติดกับโตเกียว เพื่อส่งเงินให้ลูกสาวที่เมืองไทยเลี้ยงหลานสองคนที่เกิดจากสามีญี่ปุ่นทอดทิ้ง ป้าแดงป่วยเป็นเบาหวาน ไม่มีทั้งวีซ่า และแน่นอนว่า ไม่มีประกันสุขภาพ
อาการเบาหวานของป้าแดงขึ้นตาจนตาพร่าและปวด บางเดือนมีเงินเหลือ ป้าแดงก็จะไปหาหมอเพื่อเอายามากิน แต่บางเดือนไม่มีเงินก็ไม่ได้ไป เพราะต้องใช้เงินประมาณ 20,000-30,000 เยน ตกราว 7,000-10,000 บาท อาการจึงทรุดหนักลงเรื่อยๆ เมื่อไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง
คุณหมอซาวาดะแนะนำว่า ป้าแดงควรกลับบ้านไปรักษาที่เมืองไทย แต่แกว่า อาจต้องอยู่หาเงินอีกสักปีแล้วค่อยกลับ หมอบอกว่า ถึงตอนนั้น “ตาของป้าอาจจะมองไม่เห็นแล้ว”
อันที่จริง ป้าแดงไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่อยู่กับ ลุงศักดิ์ สามีที่มาญี่ปุ่นพร้อมกันเมื่อ 16 ปีก่อน แต่ลุงศักดิ์ไม่ยอมตรวจร่างกาย แม้ว่าจะฟรี
“ตรวจไปทำไม เงินก็ไม่มีรักษา รู้ไปก็กังวลใจเปล่าๆ”
เมื่อถามว่า ลุงและป้าอยู่อย่างผิดกฎหมายมาได้อย่างไรตั้ง 16 ปี “พอตำรวจมา นายจ้างแหละที่คอยบอกให้พวกคนงานหนี หรือพาคนงานไปซ่อน เพราะเขาชอบที่พวกเราขยัน ค่าแรงก็ถูกกว่า แถมยังไม่มีปากมีเสียง”
เพื่อเพิ่มผลผลิตประชาชาติและคงความเป็นเจ้าเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งแรงงานที่ผิดกฎหมาย
คนอื่น
คำถาม คือ คนไร้รัฐ-ไร้หลักประกันเหล่านี้ ไม่มีประโยชน์กับแผ่นดินเลยหรือ
คำตอบคงไม่ใช่ เพราะทั้งญี่ปุ่นก็แสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากแรงงานเหล่านี้ เช่นที่ประเทศไทยแสวงหาประโยชน์จากแรงงานเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ถูกตราว่าผิดกฎหมาย ที่จะมีกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากพวกเขาทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
เมื่อมองที่ชะตากรรม…คนไร้รัฐ-ไร้หลักประกันบนแผ่นดินไทย ไม่ต่างจากชะตากรรมที่คนไทยในญี่ปุ่นกำลังประสบอยู่ แม้ว่ายังมีสถานบริการสาธารณสุขตามแนวชายแดน ทั้งโรงพยาบาลและสถานีอนามัย รวมทั้งในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังยึดหลักการแพทย์และหลักมนุษยธรรมในการดูแลรักษาคนเหล่านี้
แต่บ่าและไหล่ที่ลู่ล้าเพราะหนี้สินจะรับน้ำหนักได้อีกมากน้อยเพียงใด เช่นที่แพทย์หลายคนในโรงพยาบาลกลางซาคุต้องเผชิญกับคำถามจากฝ่ายการเงิน เมื่อพวกเขาเริ่มต้นให้การรักษาคนต่างชาติที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพ
การเข้าไม่ถึงการรักษา ถูกบ่ายเบี่ยงเลี่ยงการรักษา ยิ่งทำให้การสูญเสียชีวิตในโรคที่พึงรักษาได้ทวีความรุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อบนผืนแผ่นดินไทย ที่ความสำเร็จใกล้เคียงกับศูนย์ หากคนจำนวนหนึ่งยังถูกทอดทิ้งเพียงเพราะเขา ‘ไม่ไทย’
เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว การทุ่มเงินมหาศาลเพียงใดก็ตามเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในประเทศ อาจไม่มีความหมายอีกแล้ว เพราะการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่แท้จริง ถูกปฏิเสธ เพราะ ‘เขาเป็นอื่น’
รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘A Study on the Migrants’ Access to HIV/AIDS Treatment in Kanagawa and Nagano’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทุนปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย ประจำปี 2550-2551