ย้อนรอย iTV จากสื่อเสรี สู่เครื่องมือทางการเมือง

สืบเนื่องจากมีคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ว่าด้วยบุคคลที่มีลักษณะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เห็น ‘ไอทีวี’ ทำงานในฐานะสื่อมานานแล้ว เหตุใดจึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นคำร้อง ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักไอทีวีด้วยซ้ำว่าเป็นสื่อรูปแบบใด เผยแพร่ผ่านช่องทางไหน และมีที่มาที่ไปอย่างไร

จุดเริ่ม ‘ไอทีวี’ สื่อเสรีเพื่อประชาชน

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2538 นายอานันท์ ปันยารชุน ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ต้องการให้มีสถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องและเป็นกลาง สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 สถานีโทรทัศน์ทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ซึ่งสามารถบิดเบือนข้อมูลข่าวสารได้ตามต้องการ จึงเปิดสัมปทานสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไขสัมปทานไว้ว่า ผู้รับสัมปทานจะต้องมีผู้ถือหุ้น 10 ราย แต่ละรายต้องมีสัดส่วนหุ้นที่เท่ากัน พร้อมกับแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพื่อป้องกันการผูกขาด และมีสัดส่วนเนื้อหารายการข่าวและสาระไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และรายการบันเทิงไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเปิดดำเนินการสถานีโทรทัศน์ ในระบบยูเอชเอฟ (UHF)

ต่อมากลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด นำโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ชนะการประมูล และได้รับสิทธิ์ดำเนินการบริหารสถานีเป็นเวลา 30 ปี ออกอากาศทางช่อง 26 โดยเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 เวลา 19.00 น. เน้นข่าวที่มีสาระและสารคดีเชิงข่าว นับเป็นสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟช่องแรกของประเทศไทย

จากนั้น กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้ก่อตั้ง บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด เพื่อเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินการสถานี โดยมีการลงนามในสัญญาสัมปทาน เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 พร้อมทั้งเชิญชวนให้บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมถือหุ้นและบริหารสถานีด้วย

จุดวิกฤตพลิกผัน

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ บริษัท สยาม อินโฟแทนเมนท์ ขาดทุนอย่างหนัก นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยอนุญาตให้มีผู้ถือหุ้นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ได้

วันที่ 20 ตุลาคม 2541 บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ก่อนที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จะชวนกลุ่ม ‘ชินคอร์เปอเรชั่น’ มาร่วมถือหุ้นด้วย

ในปี 2544 กลุ่มชินคอร์เปอเรชั่นซื้อหุ้นไอทีวีจำนวน 106 ล้านหุ้น ส่งผลให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ประกอบกับช่วงเวลานั้น นายทักษิณ ชินวัตร ลงสมัครเลือกตั้งในนามพรรคไทยรักไทย ทำให้ผู้สื่อข่าวของไอทีวีบางส่วนไม่พอใจและออกมาต่อต้าน เรียกว่า ‘กบฏไอทีวี’

สิ้นสุด ‘ไอทีวี’ ในฐานะสื่อ

ในปี 2547 กลุ่มชินคอร์เปอเรชั่นขอแก้สัญญา เพื่อลดหย่อนค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐปีละ 1,000 ล้านบาท โดยระบุว่าบริษัทเอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่า ทำให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยลดค่าสัมปทานลงเป็นปีละ 230 ล้านบาท 

ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กลุ่มชินคอร์เปอร์เรชั่นต้องกลับมาจ่ายค่าสัมปทานปีละ 1,000 ล้านบาทเหมือนเดิม

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 มีมติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สั่งยกเลิกสัมปทานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในวันที่ 7 มีนาคม 2550 โดยให้เหตุผลว่า ไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานได้ และคณะกรรมการหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีมติเพิกถอนหุ้นสามัญที่เคยทำการซื้อขายของบริษัท ไอทีวี ออกจากตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557

แม้ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะระบุว่า บริษัท ไอทีวี มีสถานะนิติบุคคลที่ยังดำเนินการอยู่ และส่งงบการเงินตั้งแต่ปี 2560-2564 แต่ไม่ได้หมายความบริษัท ไอทีวี กำลังดำเนินธุรกิจในรูปแบบสื่อ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สาเหตุที่ไอทีวียังคงสถานะเป็นบริษัทอยู่ เพราะยังมีการฟ้องร้องกับ สปน. เรื่องยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ทำกับบริษัท ไอทีวี 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตาว่าการพยายามฟื้นคืนชีพอดีตสื่อที่ตายไปแล้วทั้งจากโลกความจริง และจากความทรงจำของผู้คนอย่างไอทีวี ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นเช่นไร มันจะสามารถทุบทำลายบันไดขั้นสุดท้ายของผู้ที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำคนใหม่ได้หรือไม่ 

ที่มา:

Author

กนกวรรณ เชียงตันติ์
ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า