ก่อนถึงเวลาของ ทษช. ย้อนดูงานตุลาการภิวัตน์ ล้ม 3 นายกรัฐมนตรี ยุบ 4 พรรคการเมือง โมฆะ 2 การเลือกตั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติวันที่ 7 มี.ค.นี้ เหมือนเป็นสัญญาณของการกลับมาอีกครั้งของ ‘ตุลาการภิวัตน์’ หลังจากที่บทบาทของฝ่ายตุลาการเงียบหายไปในยุครัฐบาล คสช.

ย้อนดูบทบาท ‘ตุลาการภิวัตน์’ ตั้งแต่ปี 2549-2557 ก่อนที่จะถึงเวลาของ ทษช.

เลือกตั้ง 2 เมษายน 2549

ก่อนการเลือกตั้ง วันที่ 2 เมษายน 2549 ฝ่ายค้าน อันมี พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน ได้ทำหนังสือถึง พรรคไทยรักไทย ขอให้ลงนามในสัตยาบันร่วมกันว่า หลังการเลือกตั้งแล้วจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 313 เพื่อตั้ง ‘คนกลาง’ ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่พรรคไทยรักไทยประกาศไม่ลงสัตยาบันร่วมกับฝ่ายค้าน แต่เชิญหัวหน้าพรรคทุกพรรคให้มาทำสัญญาประชาคมร่วมกันว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างการเลือกตั้ง จากนั้นค่อยมาตั้ง ‘คนกลาง’ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฝ่ายค้านจึงประกาศคว่ำบาตรไม่ส่งผู้สมัคร

การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เกิดความวุ่นวายมากมาย มีการฉีกบัตรเลือกตั้งเพื่อแสดงอารยะขัดขืน เช่น รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร มีการกรีดเลือดมาเป็นหมึกกาบัตรเลือกตั้ง มีผู้สมัคร สส. หลายสิบเขตได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนนโนโหวต มีการใช้ตรายางประทับบัตรเลือกตั้ง และมีบัตรเสียเป็นจำนวนมาก

ผลการเลือกตั้ง สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44 ล้าน 9 แสนกว่าคน มีผู้มาใช้สิทธิ 29 ล้านคนเศษ 64.77 เปอร์เซ็นต์ มีบัตรเสีย 1,680,101 ใบ 5.78 เปอร์เซ็นต์ มีผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนน หรือ โนโหวต สูงถึง 9,051,706 คน 31.12 เปอร์เซ็นต์

และผลการเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขต มีผู้มาใช้สิทธิเกือบ 29 ล้านคน 64.76 เปอร์เซ็นต์ มีบัตรเสีย 3,778,981 ใบ 13.03 เปอร์เซ็นต์ มีผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนน 9,610,874 คน 33.14 เปอร์เซ็นต์

ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้ง และให้มีการเลือกตั้งใหม่

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2549 ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 และคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 607-608/2549 วันที่ 16 พฤษภาคม 2549 วินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เนื่องจากมีการจัดคูหาที่อาจส่งผลให้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ

วันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ศาลอาญาพิพากษาให้ กกต. ที่จัดการเลือกตั้งมีความผิดเนื่องจากการจัดการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม โดยให้ลงโทษจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

แต่พอปี 2556 หลังจากที่ กกต. (สามคนในเวลานั้น) ผ่านการติดคุก/ต่อสู้คดีแล้ว ศาลกลับได้มีคำสั่งยกฟ้อง กกต. ทั้งสาม

หลังจากนั้นก็มีการสรรหา กกต.ใหม่ และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ แต่ยังไม่ทันได้เลือกตั้ง ก็ถูก พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ทำการปฏิวัติเสียก่อนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

 

ยุบพรรคไทยรักไทย

ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้มีคำสั่งให้ ศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (2549) จึงได้แต่งตั้ง คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

จากการวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้มีผลสืบเนื่องมายังคดีประวัติศาสตร์ที่พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในคดีกลุ่มที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ในคดีกลุ่มที่ 2 ถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยในข้อกล่าวหา เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

วันที่ 10 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติ 9:0 เสียงให้ยุบพรรคไทยรักไทย และมีมติเดียวกันไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ยังมีมติ 6:3 เสียงให้ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หรือ ‘บ้านเลขที่ 111’

 

สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก ‘ชิมไปบ่นไป’

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549

หลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ทำให้พรรคพลังประชาชน (หรือพรรคที่สืบต่อจากไทยรักไทย) ชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล โดยมี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยให้ นายสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไปดำเนินรายการทำอาหารทางโทรทัศน์รายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ และรายการ ‘ยกโขยง 6 โมงเช้า’ ของนายสมัครนั้น มุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ถือได้ว่าขัดรัฐธรรนูญ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยมติเอกฉันท์ 9:0

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติเอกฉันท์ว่า นายสมัครมีความผิดตามมาตรา 267 และ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) จึงวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ เฉพาะตัว และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1 (1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือยังอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ารัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181

ภายหลังจากที่นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงได้ดำรงตำแหน่งต่อในวันที่ 17 กันยายน 2551

 

ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเพิ่งประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณตัดสินใจกลับมาชุมนุมอีกครั้ง โดยนัดชุมนุมใหญ่ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 จนการชุมนุมยกระดับขึ้นเรื่อยๆ มีการบุกยึดสถานที่สำคัญของประเทศ ทั้งสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ รวมไปถึงทำเนียบรัฐบาล ในที่สุดนายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ เหตุเพราะรับจัดรายการโทรทัศน์

กระทั่ง 17 กันยายน 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย แต่สถานการณ์การเมืองในเวลานั้นยังตึงเครียด กลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงปักหลักชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมชาย และยึดทำเนียบรัฐบาลไว้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลนายสมชายต้องอาศัยท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นทำเนียบชั่วคราว เกิดเหตุการณ์สลายการชุมชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

คดียุบพรรคการเมือง ปี 2551 เป็นคดีที่พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคพลังประชาชน ได้รับใบแดงกรณีทุจริตการเลือกตั้ง สส. 2550 ส่วนข้อกล่าวหาพรรคพลังประชาชน ที่มี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยนายทักษิณ เป็นนอมินีหรือตัวแทนของพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้ถูกตัดสินให้ยุบพรรคไปแล้ว กกต. สรุปว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ว่า พรรคพลังประชาชน เข้าข่ายเป็นนอมินีพรรคไทยรักไทย แต่ไม่มีกฎหมายเอาผิด

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งสามรวม 109 คน และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ คือหนึ่งในนั้น ทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจาก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งแล้ว มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการตัดสินคดีใดๆ อีก

 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ

ผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นำไปสู่การจัดตั้งพรรครัฐบาลผสมนำโดยพรรคเพื่อไทย (พรรคที่สืบต่อจากพรรคพลังประชาชนที่สืบต่อจากพรรคไทยรักไทย) ทำให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรี และนโยบายสำคัญคือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่มีที่มาจากคณะรัฐประหาร และมีหลายมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวที่ขัดต่อหลักนิติรัฐประชาธิปไตย

มีการนำมาตรา 68 มาใช้สถาปนาอำนาจใหม่ให้กับศาลรัฐธรรมนูญ

มีการขอแก้ไขรายมาตราเกี่ยวกับที่มา สมาชิกวุฒิสภา (หรือ สว.) ศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตรา 68 มาปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า สว. ที่มาจากการเลือกตั้งจะนำไปสู่สภาผัวเมีย

นางสาวยิ่งลักษณ์ได้ทำการยุบสภาและประกาศการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เปิดปฏิบัติการปิดคูหาเพื่อ ‘ล้มการเลือกตั้ง’ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศคว่ำบาตร-งดส่งผู้สมัคร สส. ทุกเขตทั้งประเทศ

ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลรักษาการ ‘เลื่อนวันเลือกตั้ง’ ออกไป

อย่างไรก็ตามปฏิทินการเลือกตั้งของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางกระแสรณรงค์ ‘ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง’ ของ กปปส. จนเกิดภาพ ‘การเลือกตั้งที่ทุลักทุเลที่สุด’ ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6:3 ให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ เพราะไม่ได้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และวินิจฉัยให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรักษาการ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า