ตลอดเดือนเมษายน 2023 ชาวอิสราเอลยังคงเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านแผนปฏิรูประบบยุติธรรมของ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรี แม้จะมีความตึงเครียดจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในดินแดนอิสราเอลและปาเลสไตน์
สำนักข่าว Al Jazeera คาดว่า มีผู้คนประมาณ 145,000 คน เข้าร่วมการประท้วงเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนการปฏิรูป และเนทันยาฮูต้องลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที
ทั้งนี้ แผนปฏิรูปของรัฐบาลอิสราเอลมีสาระสำคัญคือ
- จำกัดอำนาจของศาลฎีกาในการทบทวนหรือยกเลิกกฎหมาย ผ่านเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติสามารถลบล้างคำตัดสินของศาลได้
- รัฐบาลมีอำนาจตัดสินใจในการคัดเลือกผู้พิพากษา ตลอดจนผู้พิพากษาศาลฎีกา โดยเพิ่มตัวแทนรัฐบาลในคณะกรรมการแต่งตั้งผู้พิพากษา
- รัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องยอมรับคำแนะนำของที่ปรึกษาทางกฎหมายจากอัยการสูงสุดอีกต่อไป (ปัจจุบัน รัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นๆ ตามกฎหมาย)
ฝั่งรัฐบาลให้เหตุผลว่า สถาบันศาลและตุลาการแย่งชิงบทบาทจากรัฐสภามากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องยกเครื่องใหม่ เพื่อคืนสมดุลที่เหมาะสมระหว่างอำนาจตุลาการกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ฝั่งรัฐบาลยังมองว่า ความพยายามที่จะหยุดยั้งแผนการปฏิรูปนี้ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ทางด้าน BBC รายงานว่า การปฏิรูปจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เนทันยาฮูรอดพ้นจากการพิจารณาคดีในข้อหาคอร์รัปชัน และช่วยให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายในรัฐสภาได้โดยไม่หยุดชะงัก นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝั่งตรงข้ามและประชาชนนัดชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวดังกล่าวยาวนานกว่าสามเดือน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ประท้วงในอิสราเอลหลายแสนคนไม่เพียงประกอบไปด้วยภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และนักวิชาการ แต่ยังรวมไปถึงทหารกองหนุนซึ่งเป็นกำลังหลักของกองกำลังติดอาวุธอิสราเอล ที่ประท้วงโดยการปฏิเสธที่จะรายงานตัวต่อกองทัพเพื่อปฏิบัติหน้าที่
The New York Times วิเคราะห์ว่า ความแตกแยกในสังคมอิสราเอลหนนี้ทวีความรุนแรงจากการเพิ่มขึ้นของคนสองกลุ่ม ได้แก่ หนึ่ง-กลุ่มที่ต้องการรัฐฆราวาสและรัฐพหุนิยม (secular and pluralist state) สอง-กลุ่มศาสนาและชาตินิยม (religious and nationalist vision)
นักวิจารณ์หลายคนเห็นว่า ศาลฎีกาเป็นเครื่องมือทางการเมืองชิ้นสุดท้ายของฝ่ายฆราวาส หรือกลุ่มชนชั้นนำสายกลาง (centrist elite) ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวยิวในยุโรป ในขณะที่ฝั่งชาวยิวที่เคร่งศาสนา โดยเฉพาะกลุ่มอัลตร้าออร์โธดอกซ์ (the ultra-Orthodox) มองว่า ระบบศาลเป็นอุปสรรคต่อวิถีชีวิตของพวกเขา เพราะศาลมักคัดค้านสิทธิพิเศษและเงินอุดหนุนของกลุ่มอัลตร้าออร์โธดอกซ์ และยังปฏิเสธการอนุญาตให้ชาวยิวอัลตร้าออร์โธดอกซ์ได้รับการยกเว้นการรับราชการทหารเพื่อสนับสนุนการศึกษาศาสนา ทำให้ผู้นำทางศาสนามองศาลเป็นศัตรู
ขณะที่การประท้วงกำลังดำเนินไป ก็เกิดการปะทะระหว่างกองกำลังอิสราเอลกับกองกำลังอาหรับในหลายบริเวณ ได้แก่ เยรูซาเล็มตะวันออก เวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา เลบานอน และซีเรีย
ความรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน เมื่อกองกำลังอิสราเอลบุกโจมตีมัสยิดอัล-อักซอ โดยใช้กระสุนยางและระเบิดแฟลช ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์กำลังละหมาด ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย กระนั้น กองกำลังอิสราเอลก็เข้าโจมตีอีกครั้งในคืนวันที่ 6 เมษายน โดยให้เหตุผลว่า มีคนกลุ่มหนึ่งในมัสยิดพยายามก่อเหตุจราจล และปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่
แม้เหตุรุนแรงจะถูกจุดชนวนจากการปะทะในมัสยิดอัล-อักซอในกรุงเยรูซาเล็ม แต่ The Economist รายงานว่า หลังจากเหตุการณ์นั้น มีจรวดยิงเข้าใส่อิสราเอลจากพื้นที่ข้างเคียง เช่น ฉนวนกาซา เลบานอน และซีเรีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นี่คือการต่อสู้ของอิสราเอลกับข้าศึกหลายกลุ่มที่มีการประสานงานกัน ไม่เพียงเฉพาะแค่ความขัดแย้งกับองค์กรติดอาวุธชาวปาเลสไตน์เท่านั้น
จรวดเหล่านั้นสร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนของอิสราเอลและทำให้พลเรือนบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เพราะส่วนใหญ่ถูกระบบป้องกันขีปนาวุธขัดขวางหรือมิฉะนั้นจรวดเหล่านั้นก็ระเบิดในพื้นที่โล่ง อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 7 เมษายน การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ในอิสราเอลและเขตเวสต์แบงก์ ก็ทำให้สองพี่น้องชาวอังกฤษ-อิสราเอล ถูกสังหาร แม่ของพวกเธอได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในวันเดียวกันนั้น มีรถพุ่งชนกลุ่มคนบนทางเท้าในเมืองเทลอาวีฟ ทำให้ชายชาวอิตาลีเสียชีวิต 1 คน และนักท่องเที่ยวอีก 5 คนได้รับบาดเจ็บ
แม้อิสราเอลจะตอบโต้ประเทศเพื่อนบ้านด้วยการโจมตีทางอากาศต่ออาคารและแท่นยิงที่ไม่มีคนอยู่ แต่อิสราเอลก็ต้องเผชิญกับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากชาวปาเลสไตน์ภายในพรมแดนของตนและเขตเวสต์แบงก์
“สำหรับความท้าทายนี้ เราจะยืนหยัดด้วยกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน และมั่นใจในความชอบธรรมของเรา” เนทันยาฮูแสดงความคิดเห็นออกอากาศทางโทรทัศน์ หลังการเสียชีวิตของครอบครัวชาวอังกฤษ-อิสราเอล “เราจะร่วมกันสนับสนุนกองกำลังของพวกเราอย่างเต็มที่”
เบธาน แมคเคอร์แนน (Bethan McKernan) ผู้สื่อข่าวของ The Guardian วิเคราะห์ว่า แม้เนทันยาฮูจะแสดงท่าทีว่า ‘เอาอยู่’ กับสถานการณ์รอบด้าน แต่แรงกดดันจากสาธารณชนทำให้เขาต้องประกาศเลื่อนแผนปฏิรูปศาลออกไปจนกว่ารัฐสภาจะเปิดประชุมอีกครั้งหลังเทศกาลปัสกา กอปรกับความไม่แน่นอนของตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของโยอาฟ แกลลันต์ (Yoav Gallant) และการแต่งตั้งอิตามาร์ เบน-กเวียร์ (Itamar Ben-Gvir) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ ผู้ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ก็ไม่ได้สื่อถึงความแข็งแกร่งหรือสร้างความมั่นคงของรัฐบาลได้แต่อย่างใด
“ผมรับราชการในกองทัพมาหลายสิบปี และไม่เคยเห็นพฤติกรรมไม่คิดหน้าคิดหลังเหมือนอย่างเนทันยาฮูในตอนนี้” โมเช ยาอาลอน (Moshe Ya’alon) อดีตรัฐมนตรีกลาโหมและเสนาธิการ IDF (Israel Defense Forces) ปราศรัยในการประท้วงในกรุงเทลอาวีฟ คืนวันที่ 8 เมษายนที่่ผ่านมา
“แผนการของเขาจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตยของอิสราเอล และเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอิสราเอลในทันที … ศัตรูของเรากำลังจับตามอง และการป้องปรามของเราก็เสื่อมถอยลง”
The Guardian รายงานว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 69 เปอร์เซ็นต์ ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ในช่วง 100 วันแรก นับจากที่เนทันยาฮูเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2022 นอกจากนี้ สื่อยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในรัฐบาลว่า หลังสิ้นสุดเทศกาลปัสกาและเดือนรอมฎอน พวกเขาจะถูกบังคับให้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลในสายตาของประชาชน
อ้างอิง
- Israeli forces attack Palestinians in Al-Aqsa for second time
- Thousands join Israeli judicial protests amid soaring tensions
- The Israeli Government’s Plan to Overhaul the Judiciary: What to Know
- Crises on multiple fronts threaten Benjamin Netanyahu’s grip on power
- Israel judicial reform: Why is there a crisis?
- Co-ordinated rocket salvoes suggest Israel’s old enemies are reuniting