พื้นฐาน 6 ประการ ปมปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ภายหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาลงนามรับรองสถานะเยรูซาเล็มให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2017 สถานการณ์ปาเลสไตน์วันนี้ร้อนระอุขึ้นมาอีกระลอก เมื่ออเมริกายังคงเดินหน้าย้ายสถานทูตจากเทลอาวีฟมายังเยรูซาเล็ม และทำพิธีเปิดสถานทูตไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม อันเป็นวันครบรอบ 70 ปี การก่อตั้งประเทศอิสราเอลพอดี การกระทำนี้ยังสะท้อนนัยที่อเมริกายอมรับเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการอีกด้วย

แม้รัฐส่วนใหญ่ในประชาคมโลกจะคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว แต่ก็มีอีกราว 30 กว่ารัฐ เข้าร่วมในพิธีเปิดสถานทูตอเมริกาที่เยรูซาเล็ม

ในวันเดียวกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันในฝั่งฉนวนกาซ่า คือคลื่นของชาวปาเลสไตน์ที่ชุมนุมต่อต้านสถานทูตแห่งใหม่ของอเมริกา และถูกตอบโต้ปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลอิสราเอล ส่งผลถึงกระแสความไม่พอใจที่มีมากอยู่แล้วให้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้นไปอีกในโลกมุสลิม

ประเด็นนี้ส่งผลสะเทือนต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง ดุลอำนาจ ตลอดจนความเป็นไปของการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางและการเมืองโลกมายาวนาน แต่สำหรับคนไทยอาจรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว ผมจึงกลับมานั่งขบคิดว่า บทความชิ้นนี้อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจ หรือเริ่มสนใจ ติดตามความเป็นไปของอิสราเอลและปาเลสไตน์ จึงขอนำเสนอพื้นฐานของปัญหาอย่างกระชับ

โชคดีอย่างหนึ่งที่ แซค โบชอง (Zack Beauchamp) นักข่าวนักวิเคราะห์รายหนึ่งได้ทำข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้เกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์-อิสราเอลเอาไว้ และผมเห็นว่างานชิ้นนี้มีความครบถ้วนเหมาะสมมากสำหรับใช้เป็นฐานเริ่มต้นก่อนจะต่อยอดทำความเข้าใจประเด็นนี้ต่อไปในอนาคต

แต่ด้วยความตั้งใจที่ว่าจะให้ข้อเขียนนี้กระชับ ไม่ยาวจนเกินไป ผมจึงได้เลือกบางประเด็นจากงานของแซคมาทำการสรุป เรียบเรียง และเพิ่มเติมบางเนื้อความของตนเองเข้าไป กลายมาเป็นคำ ‘6 ประการสำคัญ’ ที่จะช่วยวางพื้นฐานความเข้าใจต่อประเด็นปาเลสไตน์  
อ่านงานของ Zack Beauchamp เต็มๆ ได้ที่นี่

1. สังเขปของปัญหาความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล

แก่นแกนของความขัดแย้งคือคำถามพื้นฐานที่ว่า “ใครจะได้ดินแดนส่วนใด และดินแดนนั้นจะถูกควบคุมปกครองอย่างไร?” ซึ่งปาเลสไตน์กับอิสราเอลตอบคำถามนี้กันคนละแบบ

ย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 19 กระแสชาตินิยมยิวที่เรียกว่า ‘อุดมการณ์ไซออนิสต์’ (Zionism) ได้ก่อตัวขึ้น ซึ่งในแง่หนึ่งแล้วเป็นปฏิกิริยาตอบโต้กับกระแสต่อต้านยิวอันโหดร้ายในยุคสมัยนั้น ไซออนิสต์เชื่อในการจำเป็นต้องมี ‘รัฐของคนยิว’ ตั้งขึ้นในพื้นที่ดินแดนพันธสัญญาตามพระคัมภีร์ของพวกเขา ต่อมาต้นศตวรรษที่ 20 กระแสดังกล่าวได้โอบรวมเอาชนชาวยิวจำนวนมากที่หนีจากการไล่ล่าสังหารในยุโรปเข้ามาในขบวนเคลื่อนไหว พวกเขาปรารถนาจะสร้างประเทศของชาติตนขึ้นมาในดินแดนที่เป็นปาเลสไตน์และอิสราเอลในปัจจุบัน

พื้นที่ดังกล่าวนี้เดิมทีแล้วเป็นของออตโตมาน ประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่เป็นอาหรับมุสลิม ต่อมาเมื่อออตโตมานพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ดินแดนส่วนนี้จึงถูกครอบครองดูแลโดยจักรวรรดิอังกฤษ กระทั่งปรากฏข้อเรียกร้องดังที่กล่าวข้างต้นของชาวยิวขึ้นมาในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อันนำมาซึ่งการก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นบนผืนแผ่นดินของชาวปาเลสไตน์

แน่นอนว่ากลุ่มชนอาหรับมุสลิมที่เป็นผู้อยู่อาศัยมาแต่เดิม ซึ่งก็คือชาวปาเลสไตน์ ได้ลุกขึ้นต่อต้านการกระทำของชาวยิวไซออนิสต์ โดยมองว่าดินแดนบริเวณนั้นเป็นของพวกเขาโดยชอบธรรม รวมไปถึงกลุ่มชนชาติอาหรับอื่นก็ร่วมขบวนต่อต้านการยึดครองผืนแผ่นดินตรงนี้อย่างไม่ถูกต้องของยิวไซออนิสต์ด้วยเช่นกัน

ระยะแรกของความขัดแย้งที่ก่อตั้วขึ้นนี้ (ปี 1947) สหประชาชาติวางแผนให้สองชนชาติแบ่งการครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ระหว่างกัน แต่แผนการนี้ก็ล้มเหลว ยิวไซออนิสต์ยอมรับในข้อเสนอนี้ได้ เนื่องจากขณะนั้นพวกเขามีจำนวนประชากรทั้งสิ้นราว 650,000 คน และได้รับพื้นที่ราว 56 เปอร์เซ็นต์ของดินแดนทั้งหมด (ซึ่งเดิมอยู่ในการปกครองของอังกฤษ) ขณะที่ชาวปาเลสไตน์มีจำนวนมากกว่าราวสองเท่า และถูกกำหนดให้ได้รับพื้นที่อันแยกออกจากกันเป็นสองชิ้น คือเวสต์แบงค์ กับกาซ่า

หากพิจารณาอย่างง่ายแล้วก็เห็นไม่ยากว่า เป็นเรื่องตลกร้ายที่ประเทศหนึ่งจะมีสองดินแดนเล็กที่แยกจากกัน และกั้นขวางด้วยผืนแผ่นดินของชนชาติปฏิปักษ์ที่เข้ามารุกรานยึดครอง

นอกจากนี้ ชาวปาเลสไตน์ยังระแวงว่าข้อเสนอนี้จะเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ขยายไปสู่การผลักดันพวกเขาออกนอกบ้านเมืองของตนในท้ายที่สุด ชาติอาหรับ นำโดยอียิปต์ จอร์แดน อิรัก และซีเรียเองก็ไม่พอใจกับข้อเสนอนี้ของสหประชาชาติ นำมาซึ่งสงครามระหว่างบรรดารัฐอาหรับกับอิสราเอลหลายครั้ง โดยสงครามครั้งใหญ่คือ เมื่อปี 1948 กับปี 1967

สงครามในครั้งปี 1967 ส่งผลอย่างสำคัญต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน เพราะมันจบลงด้วยการปล่อยให้อิสราเอลสามารถควบคุมเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซ่าเอาไว้ได้ ซึ่งพื้นที่สองส่วนนี้คือบ้าน คือภูมิลำเนาที่อยู่ของประชากรปาเลสไตน์จำนวนมาก

ปัจจุบัน เขตเวสต์แบงค์นั้นถูกควบคุมปกครอง (แต่เพียงในนาม) โดยหน่วยงานทางการเมืองของปาเลสไตน์ เพราะอยู่ภายใต้การยึดครองของรัฐอิสราเอล ซึ่งทหารอิสราเอลบังคับใช้มาตรการด้านความมั่นคงอย่างเข้มงวด ควบคุมกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของปาเลสไตน์ พร้อมๆ กับส่งเสริมผู้ตั้งรกรากถิ่นฐานชาวยิวให้สร้างนิคมแผ่ขยายตัวออกไปอย่างเข้มข้นและกว้างขวางในเขตเวสต์แบงค์ ข้อนี้นับได้ว่าเป็นเสมือนแถลงการณ์โดยพฤติกรรมที่สื่อสารว่า ดินแดนตรงนี้ไม่ใช่ของชาวปาเลสไตน์

ส่วนทางฝั่งฉนวนกาซ่า ปัจจุบันถูกควบคุมโดยฮามาส (Hamas) พรรคการเมืองสายศาสนานิยม และแม้มิได้อยู่ภายใต้การยึดดินแดนโดยกองทัพอิสราเอล แต่ก็ถูกปิดล้อมไว้โดยรอบ จนมีคำเรียกขานกันว่า กาซ่านั้นเปรียบเสมือนคุก open-air ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

แนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ ซึ่งนานาชาติค่อนข้างเห็นพ้องและผลักดันกันมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่า ‘แนวทางสองรัฐ’ (two-state solution) ที่เสนอให้รับรองการตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นในดินแดนฉนวนกาซ่าและพื้นที่ส่วนใหญ่ของเขตเวสต์แบงค์ ส่วนดินแดนที่เหลือยอมให้เป็นของอิสราเอล ถึงแม้ว่าแนวทางสองรัฐนี้จะมีความชัดเจนในเชิงทฤษฎีหลักการ แต่คู่ขัดแย้งสองฝั่ง (ปาเลสไตน์กับอิสราเอล) ยังคงเห็นแย้งกันอยู่มากถึงการนำหลักการดังกล่าวไปสู่กระบวนการปฏิบัติจริง

2. นักบารฺ (Nakba)

สงครามระหว่างบรรดาชาติอาหรับกับอิสราเอลที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในระหว่างช่วงปี 1948-1967 ยังส่งผลสะเทือนสำคัญอีกประการ คือทำให้เกิดคลื่นของผู้อพยพชาวปาเลสไตน์จำนวนมหาศาล

เมื่อสงครามครั้งปี 1967 ยุติลง อิสราเอลครอบครองพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 77 เปอร์เซ็นต์จากดินแดนทั้งหมด และมีสถานะของความเป็นรัฐ แตกต่างจากชาวปาเลสไตน์ที่โดนรุกราน ยึดครอง และไร้สถานะของความเป็นรัฐในขณะนั้น

สงครามในปี 1948 ก่อคลื่นระลอกแรกของผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ทั้งสิ้นราว 700,000 ชีวิต ชาวปาเลสไตน์เรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘นักบารฺ’ (النكبة; Nakba) อันหมายถึงความหายนะ (catastrophe) และปมปัญหานี้ส่งผลพวงมาเป็นหนึ่งในปมติดขัดใหญ่หลวงของกระบวนการสันติภาพในปัจจุบัน เพราะตัวเลขผู้อพยพชาวปาเลสไตน์พุ่งขึ้นไปมากกว่า 7 ล้านคนแล้ว ประเด็นใหญ่เรื่องหนึ่งในข้อเรียกร้องของฝั่งปาเลสไตน์ในวงเจรจาสันติภาพคือ การคืนความยุติธรรมให้กับบรรดาผู้อพยพเหล่านี้ในรูปแบบของการวางหลักประกัน ‘สิทธิที่จะกลับบ้าน’ หรือ ‘สิทธิในการกลับคืนสู่มาตุภูมิของตนเอง’ (Right of Return)

การรณรงค์ ‘สิทธิที่จะกลับบ้าน’ ผ่านการแสดงสัญลักษณ์คือ ‘ลูกกุญแจ’ ความหมายคือ ในวันที่ชาวปาเลสไตน์ถูกบังคับให้พลัดถิ่นนั้น พวกเขาเก็บข้าวของ ล็อคกุญแจบ้าน และถือดอกกุญแจติดตัวออกมาด้วย เพราะเชื่อมั่นเสมอว่า การเดินทางไกลครั้งนี้มิใช่การร่อนเร่ตลอดกาล แต่จะได้หวนกลับไปไขประตูเข้าบ้านของตัวเองในสักวัน

ข้อเรียกร้องนี้เป็นเรื่องที่อิสราเอลรับไม่ได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากหากยอมรับผู้อพยพชาวปาเลสไตน์จำนวนมากกว่า 7 ล้านชีวิตกลับบ้าน อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของพวกเขาแล้ว จะทำให้ชาวยิวกลายเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศโดยทันที

ทุกวันนี้ประชากรอิสราเอลมีราว 8 ล้านคน ใน 8 ล้านคนนี้ ประกอบด้วยคนอาหรับอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน ข้อเรียกร้องคืนสิทธิในการกลับบ้านให้กับผู้อพยพจึงมิอาจเป็นที่ยอมรับได้ของอิสราเอล ไม่ว่าจะด้วยการเจรจาในลักษณะใด หรือด้วยข้อแลกเปลี่ยนใดทั้งสิ้น แม้จะมีความพยายามจากวงเจรจาหลายรอบเพื่อพิจารณาทางเลือกอื่นอันอาจเป็นจุดประนีประนอมระหว่างคู่ขัดแย้งได้ เช่น การจ่ายเงินชดเชยต่อผู้อพยพ หรือการยอมรับให้ผู้อพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานได้ในขอบเขตจำนวนและพื้นที่ที่จำกัดเอาไว้ แต่คู่ขัดแย้งก็ไม่อาจบรรลุความเห็นพ้องในรายละเอียดต่อทางเลือกเหล่านั้นได้ในท้ายที่สุด

3. ไซออนิสต์ (Zionism)

ไซออนิสต์ คืออุดมการณ์ชาตินิยมที่ถือคติว่า ‘ยูดาย’ (Judaism) เป็นทั้งชาติและศาสนา และเชื่อว่าศาสนิกชนยิวควรมีรัฐเป็นของตนเองในดินแดนภูมิลำเนาสมัยโบราณ (นั่นคือดินแดนของปาเลสไตน์ในยุคสมัยปัจจุบัน) ขบวนเคลื่อนไหวภาคปฏิบัติของลัทธิอุดมการณ์นี้ก่อตัวขึ้นนานแล้ว ในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งยุโรปก้าวสู่ยุคแห่งการเบ่งบานของลัทธิชาตินิยม โดยปลุกกระแส ‘หวนกลับสู่ไซออน’ (Return to Zion) และมีผู้นำทางความคิดคนสำคัญยุคนั้น เป็นนักเขียนที่ชื่อ โธโอดอร์ เฮอร์เซิล (Theodore Hurzl) ซึ่งมีชีวิตในยุคที่เห็นกระแสต่อต้านยิว (anti-Semitism) อันโหดร้ายในยุโรป จึงความคิดว่า คนยิวจะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้หากใช้ชีวิตอยู่ภายนอกประเทศซึ่งเป็นของพวกเขาเองเท่านั้น

เฮอร์เซิลกระตือรือร้นเขียนงานและจัดประชุมหลายครั้ง ส่งผลให้เกิดการยกระดับกระแสชาตินิยมยิวไปสู่การเป็นขบวนการเคลื่อนไหวระหว่างประเทศในช่วงราวปี 1896 และส่งอิทธิพลให้เกิดกระแสอพยพระลอกใหญ่ของคนยิวจากยุโรปไปยังดินแดนที่เป็นปาเลสไตน์และรัฐอิสราเอลในปัจจุบัน ผลลัพธ์คือทำให้ประชากรยิวที่มีอยู่เดิมในดินแดนนั้นราว 20,000 คน ขยายเป็นราว 160,000 คนในช่วงที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นครองอำนาจในเยอรมนี

แม้อุดมการณ์ไซออนิสต์จะยืนพื้นความคิดอยู่บนการสนับสนุนการดำรงอยู่ของรัฐอิสราเอล แต่ก็มีสาแหรกความคิดแตกต่างกันภายในเกี่ยวกับประเด็นของรูปร่างหน้าตาของรัฐบาลและแนวทางปกครองประเทศ

อาจกล่าวอย่างคร่าวๆ ได้ว่า สาแหรกความคิดไซออนิสต์ฝ่ายซ้าย (Zionist Left) เป็นกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองอิสราเอลมาจนถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 กลุ่มฝ่ายซ้ายนี้มีแนวโน้มยอมรับในแผนสันติภาพที่เรียกว่า ‘ดินแดนแลกสันติภาพ’ (Land for Peace) หมายถึง การถอนกำลังออกจากดินแดนที่ยึดครองได้จากสงคราม 1967 ทั้งหมด เพื่อแลกกับการมีความสัมพันธ์แบบปกติกับกลุ่มประเทศอาหรับ นอกจากนี้กลุ่มฝ่ายซ้ายยังสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงกำกับเศรษฐกิจ และนิยมรัฐบาลที่เป็นโลกียวิสัยมากกว่าศาสนานิยม

ขณะที่สาแหรกความคิดไซออนิสต์ฝ่ายขวา (Zionist Right) ซึ่งครองอำนาจทางการเมืองอยู่ในปัจจุบัน ค่อนข้างระแวงสงสัยกับแผนการดินแดนแลกสันติภาพ สนับสนุนแนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจมากกว่าฝ่ายซ้าย และผสมผสานความคิดทางศาสนาเข้ากับการเมืองอย่างประยุกต์

4. เวสต์แบงค์ (West Bank)

เวสต์แบงค์ คือดินแดนทางฝั่งตะวันออกของอิสราเอล เป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ราว 2.6 ล้านคน และถูกวางไว้ให้เป็นศูนย์กลางของรัฐปาเลสไตน์ที่ก่อตั้งขึ้น อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ อิรัก ซีเรีย และจอร์แดน เมื่อปี 1967 อันจบลงด้วยชัยชนะของอิสราเอลภายในระยะเวลาเพียงหกวัน (สงครามนี้จึงถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สงครามหกวัน’ หรือ The Six-Day War) ดินแดนเวสต์แบงค์และเยรูซาเล็มตะวันออกก็ถูกอิสราเอลยึดเอาไปจากจอร์แดน

ติดตามมาด้วยการที่รัฐบาลอิสราเอลอนุญาตให้ชาวยิวสามารถเข้าไปตั้งรกรากหลักแหล่งได้ ซึ่งทั้งชาวปาเลสไตน์และส่วนใหญ่ของประชาคมระหว่างประเทศต่างเห็นสอดคล้องกันว่า การกระทำของอิสราเอลนั้นคือการยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์อย่างผิดกฎหมาย แต่อิสราเอลก็เพิกเฉยต่อท่าทีของโลก และเดินหน้าสนับสนุนการเข้าไปตั้งถิ่นฐานต่อไป กระทั่งปัจจุบัน มีประชากรยิวเข้าไปตั้งรกรากถิ่นฐานในเขตเวสต์แบงค์แล้วราว 500,000 คน โดยส่วนใหญ่ตั้งนิคมอาศัยอยู่ใกล้กับพรมแดนที่ติดกับอิสราเอล

ประเด็นนี้เป็นมรดกตกค้างอันขัดขวางความก้าวหน้าของกระบวนการสันติภาพในปัจจุบันอย่างยิ่ง เพราะเป็นประเด็นที่ผู้นำของทั้งปาเลสไตน์และอิสราเอลต่างไม่เคยตกลงกันได้เลยตั้งแต่เริ่มการเจรจามาจนถึงทุกวันนี้

5. เยรูซาเล็ม (Jerusalem)

เยรูซาเล็ม เป็นเมืองที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นที่ตั้งของสถานที่ศักดิสิทธิ์ของทั้งศาสนายูดายและศาสนาอิสลาม

ในทางภูมิศาสตร์ เมืองนี้ตั้งคร่อมอยู่ทั้งในฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยซีกตะวันตกของเมืองอยู่ในเขตของอิสราเอล ส่วนเยรูซาเล็มตะวันออกอยู่ในเขตเวสต์แบงค์ จึงกล่าวได้อีกแบบว่า เยรูซาเล็มเป็นเมืองที่ถูกแยกออกเป็นสองฝั่ง แต่นั่นเป็นสภาพการณ์ก่อนหน้าสงครามในปี 1967 เพราะเมื่อสงครามยุติ อิสราเอลได้เข้ายึดครองพื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออกเรียบร้อยแล้ว และประกาศให้พื้นที่เยรูซาเล็มทั้งเมืองเป็นผืนแผ่นดินเดียวกันอันเป็นเมืองหลวงของตนเอง

กระนั้นก็ตาม รัฐส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ต่างไม่ให้การยอมรับการประกาศฝ่ายเดียวของอิสราเอล นอกจากนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ได้ออกข้อมติที่ 478 ประณามการตัดสินใจของอิสราเอลในการผนวกรวมดินแดนเยรูซาเล็มตะวันออกไว้ในครอบครองว่าเป็นการละเมิดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น แม้อิสราเอลจะประกาศให้เยรูซาเล็ม (ทั้งตะวันตกและตะวันออก) เป็นเมืองหลวง เป็นพื้นที่อาณาเขตของรัฐตนเอง แต่ประชาคมโลกจะเรียกพื้นที่เยรูซาเล็มตะวันออกว่า ‘Occupied Territory’ หรือ ดินแดนที่ถูกยึดครอง ซึ่งโดยหลักการแล้ว จำต้องแก้ไขไปสู่การคืนพื้นที่ให้กับปาเลสไตน์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ในอดีต สหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะรับรองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลมาโดยตลอด ด้วยกังวลวิตกว่าการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการนั้นจะจุดชนวนให้ความรุนแรงตอบโต้ขยายวงกว้าง และบั่นทอนสถานะของอเมริกาซึ่งประกาศตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยที่ไว้ใจได้ระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล

แต่เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขาได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงจุดยืนระหว่างประเทศที่ดำรงมาอย่างยาวนานไปแบบพลิกฝ่ามือ ด้วยการประกาศรับรองเยรูซาเล็มเป็น ‘เมืองหลวงของอิสราเอล’ และย้ายสถานทูตของตนมายังเมืองดังกล่าวดังเมื่อ 14 พฤษภาคม ดังปรากฏในข่าวช่วงที่ผ่านมา

‘การแบ่งเยรูซาเล็มอย่างยุติธรรม’ คือหนึ่งในประเด็นที่ยากลำบากในการหาข้อยุติระหว่างคู่ขัดแย้งมาโดยตลอด ซึ่งนอกจากจะเพราะนัยสำคัญของการเป็นที่ตั้งสถานที่ศักดิสิทธิ์แล้ว ความยากลำบากส่วนหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา คือระหว่างที่การเจรจายังคงดำเนินไปอย่างหาข้อตกลงร่วมไม่ได้ อิสราเอลก็มิได้หยุดนิ่งเฉย กลับส่งเสริมผลักดันชาวยิวเข้าไปตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งปัจจุบัน เมืองเยรูซาเล็มนั้นกอปรขึ้นด้วยประชากรยิวถึง 2 ใน 3 เรียบร้อยแล้ว ตรงนี้เองที่ทำให้การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคู่ขัดแย้งในกระบวนการสันติภาพนั้นไปต่อได้ยากเย็นมาก

ส่วนการตัดสินใจของทรัมป์ ก็เป็นปัจจัยเสริมเพิ่มความยากลำบากเข้าไปอีกในปัจจุบัน เพราะสะท้อนว่า สถานะของ ‘ผู้จัดการสันติภาพ’ กลับประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็น ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ ร่วมหัวจมท้ายอย่างออกตัวกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

6. กาซ่า (Gaza)

กาซ่า เป็นดินแดนฉนวนขนาดเล็กที่แออัดด้วยประชากรปาเลสไตน์จำนวนมหาศาล ล้อมรอบด้วยดินแดนของอิสราเอล ซึ่งแต่ก่อนเคยเข้ายึดครองด้วยกำลังทหารเอาไว้ก่อนจะถอยร่นออกไปในปี 2005 ปัจจุบันฉนวนกาซ่ายังคงถูกปิดล้อมโดยรัฐบาลอิสราเอล
การยิงขีปนาวุธจากฝั่งของฉนวนกาซ่าเข้าไปยังดินแดนอิสราเอลเป็นหนึ่งในปัจจัยอุปสรรคต่อกระบวนการสันติภาพ เพราะยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองของกลุ่มสายเหยี่ยวในผู้มีบทบาทกำหนดนโยบายของอิสราเอล ซึ่งพร้อมจะปฏิเสธการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์เสมอ ด้วยข้ออ้างว่าปาเลสไตน์จะมีสถานะความเป็นรัฐมิได้ หากยังคงใช้พื้นที่เป็นฐานโจมตีอิสราเอล

ปัจจุบันกาซ่าอยู่ภายใต้อำนาจปกครองโดยกลุ่มฮามาส ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 ในฐานะกลุ่มติดอาวุธต่อต้านอิสราเอลผู้ยึดครอง ต่อมาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเข้าครองอำนาจปกครองพื้นที่กาซ่าเมื่อปี 2006 ส่งผลให้อิสราเอลตอบโต้ด้วยการปิดกั้นการเคลื่อนไหวของสินค้าพาณิชย์มิให้เข้าไปในฉนวนกาซ่า โดยอ้างว่าฮามาสอาจใช้ประโยชน์จากสินค้าเหล่านั้นไปพัฒนาหรือซื้ออาวุธที่จะใช้โจมตีพวกเขา แต่การปิดกั้นของอิสราเอล โดยเฉพาะการลำเลียงส่งน้ำมัน ไฟฟ้า อาหาร และยา เข้าไปในกาซ่า ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลร้ายเชิงมนุษยธรรมอย่างรุนแรง

ประกอบกับการปะทะกันด้วยกำลังทางทหารยังคงปรากฏอยู่เป็นระยะ โดยฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นในกาซ่าได้ยิงขีปนาวุธเข้าไปยังดินแดนอิสราเอลนับจนปัจจุบันได้เป็นพันๆ ลูก ขณะที่อิสราเอลเองก็ใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีพื้นที่กาซ่าหลายต่อหลายครั้ง ทั้งการทิ้งระเบิด การบุกเข้าไปทางพื้นดิน และปฏิบัติการทางอากาศอย่างต่อเนื่อง เช่นในปี 2014

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ฉนวนกาซ่ากลายเป็นพื้นที่ที่เผชิญวิกฤติทางมนุษยธรรมอย่างร้ายแรงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกก็ว่าได้

Palestine Gaza Strip In 2015, Photo: Beit Hanoun

ประเด็นปาเลสไตน์-อิสราเอลเป็นสิ่งที่คั่งค้างมานาน และกระบวนการสันติภาพเองก็ติดชะงักเพราะไม่อาจหาข้อยุติในเรื่องพื้นฐานหลายประการได้ หลายคนอาจจะเพ่งเล็งไปที่ฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นที่ถูกแปะป้ายว่า ‘ผู้ก่อการร้าย’ แต่สำหรับชาวปาเลสไตน์และผู้รู้สึกถูกกดขี่และเหยียบย่ำให้จำนนต่อความอยุติธรรม กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้คือ ‘นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ’

มุมพิจารณาดังกล่าวนั้นเป็นเพียงเปลือกผิวของปัญหา หากเปรียบกับโรคร้ายก็เป็นเพียงอาการที่สำแดงออกมาซึ่งรากเหง้าความป่วยไข้ภายใน อันเป็นปัญหาทางการเมืองที่ว่าด้วย “ใคร (ควร) จะได้ดินแดนส่วนใด และดินแดนนั้น (ควร) จะถูกควบคุมปกครองอย่างไร?” รวมทั้ง “อะไรเป็นฐานความชอบธรรมที่ยอมรับร่วมกันได้ในการกำหนดคำตอบของโจทย์ข้างต้น?”

ประเด็นการเมืองสำคัญที่เป็นรูปธรรมของโจทย์สองข้อนี้ และผมนำเสนอผ่านชุดข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ มาตรการต่อชาวปาเลสไตน์ที่พลัดถิ่นออกมาจากการบุกยึดครองของอิสราเอล มาตรการต่อนิคมชาวยิวที่รัฐบาลอิสราเอลสนับสนุนให้เข้าไปตั้งรกรากในดินแดนยึดครองอย่างผิดกฎหมาย การจัดการกับพื้นที่เมืองเยรูซาเล็ม และวิกฤติมนุษยธรรมในฉนวนกาซ่า

ในยุคสมัยที่อเมริกาหมดความชอบธรรมในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยและจัดการกระบวนการสันติภาพ ถึงเวลาหรือยังที่ประชาคมโลกจะเข้ามีส่วนร่วมรับผิดชอบแทนร่วมกัน หนุนเสริมกลไกของสำนักเลขาธิการสหประชาชาติและที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้ทำหน้าที่แทนมหาอำนาจซึ่งพัวพันด้วยผลประโยชน์จนมีสภาพเป็น ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ กับปัญหา มิใช่ ‘คนกลาง’

ถึงเวลาหรือยังที่ประชาคมโลกที่จะร่วมขบคิดถึงแนวทางที่เราพอทำได้ ยืนยันเจตจำนงค์แห่งสันติภาพต่อประเด็นอันเป็นวิกฤติร้ายแรงต่อความเป็นมนุษย์มาอย่างยาวนาน ในเมื่อโลกและรัฐควรดำรงอยู่เพื่อคน และในเมื่อชาวปาเลสไตน์ก็เป็นคนเหมือนเรา…มันถึงเวลาหรือยัง

Author

อาทิตย์ ทองอินทร์
ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ศึกษาการก่อการร้ายและการเมืองในตะวันออกกลาง รวมถึงมีความสนใจบทบาทนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอำนาจที่ส่งผลต่อการเมืองในโลกอิสลาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า