ปฏิกิริยาของผู้นำนานาประเทศ ต่อความรุนแรงรอบใหม่ อิสราเอล-ปาเลสไตน์

เหตุการณ์รุนแรงรอบใหม่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์เกิดขึ้นหลังจากการปะทะกันระหว่างชาวปาเลสติเนียนกับตำรวจอิสราเอลในเมืองเยรูซาเล็ม ที่ทำให้ขณะนี้การต่อสู้ทวีความรุนแรงขึ้นมากและกำลังขยายตัวลุกลาม ทั้งในด้านพื้นที่ รูปแบบของการใช้ความรุนแรง อาวุธที่ใช้และลักษณะการก่อเหตุ รวมถึงทีท่าไม่ยอมลดราวาศอกในทางการเมืองที่แสดงออกโดยผู้นำของทั้งสองฝ่าย

การเผชิญหน้ากันครั้งนี้ถูกจุดประกายขึ้นจากความตึงเครียดทั้งเก่าและใหม่ที่ส่อภัยคุกคามให้เกิดความวุ่นวายต่อทั้งภูมิภาค คราวนี้หลายฝ่ายเกรงกันว่าอาจลุกลามไปถึงขั้น ‘สงครามเต็มรูปแบบ’ ซึ่งสิ่งนี้อาจบังคับให้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงความสนใจไปที่ภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังจากที่เคยเพ่งเล็งไปที่รัสเซียกับจีน และสมรภูมิการต่อกรกับโคโรนาไวรัสภายในประเทศ

บัดนี้ ความรุนแรงในการโจมตีพื้นที่ฉนวนกาซาและการปะทะในหลายชุมชนของอิสราเอลยังไม่แสดงอาการผ่อนเบาลงเลย ท่ามกลางการยิงจรวดและการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความไม่สงบและการทำร้ายกันในหมู่ชาวยิวกับชาวอาหรับอิสราเอลในบางชุมชนของอิสราเอล

จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแทบตลอดเวลา เมื่อถึงวันศุกร์นี้มีผู้เสียชีวิตรวมอย่างน้อย 119 รายในฉนวนกาซา และอีก 8 รายในอิสราเอล

นักข่าวหลายสำนักในฉนวนกาซากล่าวว่าเมื่อคืนวันพุธนั้นน่าจะเป็น “คืนที่ยาวนานและยากเข็ญที่สุดนับตั้งแต่สงครามปี 2014” อิสราเอลระบุว่าดินแดนของตนถูกโจมตีด้วยจรวดถึง 1,600 ลูกที่ยิงออกมาจากกาซา

มีกระแสข่าวแจ้งความเป็นไปได้ว่าขณะนี้อิสราเอลกำลังจะดำเนินการส่งกำลังภาคพื้นดินที่เข้าไปปฏิบัติการในฉนวนกาซา ทางการทหารประกาศว่าได้ส่งกำลังเสริมไปถึงชายแดนที่ติดกับฉนวนกาซาแล้ว

ชนวนเหตุความรุนแรงครั้งใหม่

การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเกิดขึ้นต่อเนื่อง จากการตะลุมบอนหลายครั้งระหว่างชาวปาเลสติเนียนกับตำรวจอิสราเอลที่บริเวณเนินเขาศักดิ์สิทธิ์ในเขตเยรูซาเล็มตะวันออก ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที สถานที่แห่งนี้เป็นที่เคารพนับถือของทั้งสองฝ่าย ชาวมุสลิมเรียกที่นี่ว่า ‘สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันสูงส่ง’ (Haram al-Sharif) และชาวยิวเรียกว่า ‘วิหารเนินเขา’ (Temple Mount) พวกฮามาสเรียกร้องให้อิสราเอลถอนกำลังตำรวจออกจากที่นั่นรวมทั้งย่านอาหรับอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งครอบครัวชาวปาเลสติเนียนต้องเผชิญกับการขับไล่โดยผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิว ฝ่ายฮามาสเริ่มยิงจรวดโจมตีเมื่อคำขาดไม่ได้รับการตอบสนอง

Haram al-Sharif หรือ Temple Mount / photo: Jonas Hansel

ตลอดหลายสัปดาห์ ความโกรธแค้นของชาวปาเลสติเนียนได้ถูกกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในเขตเยรูซาเล็มตะวันออก มีการเผชิญหน้าและปะทะกันกับตำรวจหลายครั้งนับตั้งแต่เริ่มต้นเดือนรอมฎอนเมื่อกลางเดือนเมษายน

เหตุการณ์ถูกแรงกระพือหนุนเนื่องให้ลุกลามยิ่งขึ้น เมื่อผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวใช้กำลังเข้าขู่เข็ญขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสติเนียนให้ออกจากบ้านเรือนของตนในเขตเยรูซาเล็มตะวันออก รวมทั้งการจัดงานเฉลิมฉลองประจำปีของอิสราเอลเพื่อระลึกถึงการยึดเขตเยรูซาเล็มตะวันออกในสงครามตะวันออกกลางเมื่อปี 1967 หรือที่อิสราเอลเรียกว่า ‘วันเยรูซาเล็ม’ (Jerusalem Day)

ชะตากรรมของเมืองที่มีความสำคัญทางศาสนาและระดับชาติของทั้งสองฝ่ายถือเป็นหัวใจสำคัญในความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสติเนียนที่ได้ดำเนินอยู่ตลอดหลายทศวรรษ อิสราเอลผนวกเขตเยรูซาเล็มตะวันออกในปี 1980 และกำหนดให้ทั้งเมืองเป็นเมืองหลวงของตน แม้ว่าประชาคมโลกส่วนใหญ่ไม่ได้ให้การยอมรับ

ชาวปาเลสไตน์ได้กล่าวอ้างมานานก่อนหน้านั้นแล้วว่า พื้นที่ครึ่งตะวันออกของเมืองเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ที่พวกเขาตั้งความหวังไว้

photo: menafn.com

ความรุนแรงเพิ่มระดับขึ้นมาก

บัดนี้นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรงระดับเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เมื่อปี 2014 ระหว่างชาวอิสราเอล-ปาเลสติเนียนในเยรูซาเล็มตะวันออกที่ได้เกิดขึ้นตลอดหลายสัปดาห์ ในครั้งนั้นซึ่งนำไปสู่การปะทะกันในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของทั้งชาวมุสลิมและชาวยิวเช่นกัน และคราวนี้ทำให้เกิดการโต้ตอบกันอย่างต่อเนื่องด้วยการยิงจรวดของกลุ่มหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์และการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล

ตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมา กลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ปกครองดินแดนปาเลสไตน์ได้ยิงจรวดหลายร้อยลูกเข้าใส่ดินแดนอิสราเอล รวมถึงเขตเยรูซาเล็มและเมืองเทลอาวีฟ แต่ระบบป้องกันขีปนาวุธ ‘โดมเหล็ก’ (Iron Dome) ของอิสราเอลมีส่วนช่วยสกัดกั้นจรวดส่วนใหญ่ไม่ให้ก่ออันตรายถึงขั้นพินาศร้ายแรงนัก

ความหวาดกลัวในหมู่พลเรือนทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวเมืองกาซาผู้กำลังหวาดหวั่นแสดงความตื่นตระหนก เมื่อเผชิญเหตุการณ์เมื่อค่ำวันพุธหลังจากอาคารอพาร์ตเมนต์สูง 13 ชั้น ถล่มลงมาทั้งหลัง เมื่อถูกทหารอิสราเอลโจมตีทางอากาศด้วยระเบิดแรงสูง รวมทั้งอาคารอีกหลังหนึ่งซึ่งเป็นที่ทำการหน่วยสื่อสารของกลุ่มฮามาสก็ถูกทำลายด้วย แต่ฝ่ายอิสราเอลได้ส่งคำเตือนให้มีการอพยพผู้คนออกจากตึกก่อนหน้าการโจมตีแล้ว ส่วนอาคารอีกหลังหนึ่งก็ได้รับความเสียหายรุนแรงเช่นกัน

ในอิสราเอล ตึกอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งถูกทำลายลงในเมืองเพตาห์ ติกวา (Petah Tikva) ไม่นานหลังจากที่พวกผู้อยู่อาศัยในนั้นย้ายออกไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงหลบระเบิดของชุมชนก่อนหน้านั้นแล้ว

นายแพทย์โมฮัมเหม็ด อาบู เรยา  (Mohammed Abu Rayya) แห่งฉนวนกาซากล่าวกับ บีบีซี ว่า

“มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก มีผู้บาดเจ็บอีกหลายคน – พวกเด็ก และคนชรา ในชุมชนเรา ไม่สามารถนอนที่บ้านได้เลย เราไม่รู้สึกปลอดภัยจากการโจมตีทางอากาศ ทั่วฉนวนกาซาไม่มีสถานที่ใดปลอดภัยอีกแล้ว”

เจ้าหน้าที่ในฉนวนกาซาซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มก่อการร้ายฮามาสกล่าวว่า มีพลเรือนจำนวนมากเสียชีวิต รวมทั้งเด็ก 17 ราย

ทางการอิสราเอลกล่าวว่า ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลได้สังหารผู้บัญชาการระดับสูงคนหนึ่งของกลุ่มฮามาส และเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตหลายสิบคนในฉนวนกาซาเป็นพลพรรคของกลุ่มก่อการร้าย และยังมีผู้เสียชีวิตบางส่วนเกิดจากจรวดที่ทำการยิงผิดพลาดจากฉนวนกาซา

ในเมืองสเดร็อต (Sderot) ของอิสราเอล เด็กชายคนหนึ่งเสียชีวิตเมื่อจรวดจากฉนวนกาซาพุ่งเข้าใส่บ้านที่พักอาศัยแล้วเศษระเบิดเจาะทะลุผนังห้องหลบภัยที่เขาเข้าซ่อนตัวอยู่

คล้ายจะเป็น ‘สงครามกลางเมือง’ ของอิสราเอล

  • ในเขตเวสต์แบงค์ กลุ่มชาวปาเลสติเนียนขว้างก้อนหินเข้าใส่กองกำลังทหารอิสราเอลซึ่งยิงโต้กลับด้วยกระสุนปืน
  • สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รถตำรวจถูกจุดไฟเผาพินาศในเมืองคาฟร์ คัสเซ็ม (Kafr Kassem)
  • มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในเมืองล็อด (Lod), เอเคอร์ (Acre) และไฮฟา (Haifa) ที่มีกลุ่มชาวยิวรุมทำร้ายชายชาวอาหรับบางคน และจุดไฟเผารถยนต์
  • มีการเผยแพร่ภาพกลุ่มชาวยิวอิสราเอลโจมตีคนขับรถในเมืองบัตยัม (Bat Yam) ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นขณะออกอากาศสดผ่านสถานีโทรทัศน์
  • ชายคนหนึ่งซึ่งเพิ่งหนีออกจากบ้านในเมืองล็อด บอกกับ บีบีซี ว่า “ผมเริ่มเห็นข้อความว่ามีกลุ่มคนออกมาจากมัสยิดแห่งหนึ่งในท้องถิ่นแล้วก็เริ่มเผาสิ่งของ … ช่างน่าตกใจจริงๆ”
  • ในเมืองเอเคอร์ ชายชาวยิววัย 37 ปีได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อเขาถูกปาด้วยก้อนหิน สถานีโทรทัศน์ Channel 12 ของอิสราเอลรายงานว่าชายคนนี้เป็นครูโรงเรียนมัธยมที่ออกไปตามหานักเรียนเพื่อหยุดยั้งเด็กๆ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการจลาจล

ปฏิกิริยาของผู้นำประเทศ

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า เขาหวังว่าความรุนแรงน่าจะยุติลง “ให้เร็วยิ่งขึ้น” แต่การหยุดยิงไม่มีท่าทีจะเกิดขึ้นได้ในทันทีตอนนี้ ทางการของวอชิงตันได้ส่งผู้แทนพิเศษไปยังตะวันออกกลางเพื่อพยายามหาทางยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ขยายตัวเป็นสงครามแล้ว

ไบเดนแจ้งว่าเขาได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ท่ามกลางการขยายตัวของความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายวัน

ไบเดนกล่าวว่า: “การคาดการณ์และความหวังของผมคือความรุนแรงเช่นนี้จะหยุดยั้งลงในไม่ช้าก็เร็ว” เขากล่าวเสริมว่า

“อิสราเอลมีสิทธิที่จะปกป้องตัวเองในขณะที่มีจรวดหลายพันลำพุ่งเข้ามาในดินแดนของตน”

เจ้าหน้าที่ระดับนำของกลุ่มฮามาสกล่าวว่ากลุ่มนี้พร้อมแล้วสำหรับการหยุดยิง เพื่อ “ตอบสนองซึ่งกันและกัน” หากประชาคมระหว่างประเทศกดดันให้อิสราเอล “หยุดยั้งปฏิบัติการทางทหาร” ที่มัสยิด อัล อักซอ ในเขตเมืองเยรูซาเล็ม

ฝูงชนชาวปาเลสติเนียนจำนวนมากมารวมตัวกันอีกครั้งที่มัสยิดใหญ่เมื่อวันพฤหัสบดี เนื่องจากเป็นวันแรกของเทศกาล อิดิ้ล ฟิตตรี (Eid al-Fitr) ของชาวมุสลิม ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตาม ฮิลดา ซิลเบอร์มัน (Hilda Zilberman) โฆษกกองทัพของอิสราเอลกล่าวว่า “อิสราเอลไม่ต้องการหยุดยิงในเวลาและสถานการณ์ปัจจุบัน” ตามการรายงานของ Times of Israel

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกล่าวหลังจากสั่งการให้มีการโต้ตอบการโจมตีของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาว่า

“นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น เราจะตีกระหน่ำอย่างที่พวกเขาไม่เคยคาดฝันมาก่อน”

สำหรับเหตุการณ์ปะทะรุนแรงภายในประเทศ เนทันยาฮูกล่าวประณาม ‘อนาธิปไตย’ ในเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ หลังจากวันที่เกิดความวุ่นวาย

เนทันยาฮูกล่าวเมื่อวันพุธว่าชาวยิว “ไม่มีอะไรสมเหตุสมผล” ที่ไปโจมตีชาวอาหรับ หรือชาวอาหรับโจมตีชาวยิว เขาสาบานว่าจะฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยหลังจากสองวันของความรุนแรงที่ไม่ค่อยจะถูกตรวจสอบหรือยับยั้งโดยตำรวจ

 “ไม่สำคัญหรอกว่าเลือดของคุณจะเดือดพล่านแค่ไหน แต่คุณไม่สามารถใช้กฎหมายในมือของคุณเองได้” เขากล่าว

ความรุนแรงในอิสราเอลและฉนวนกาซากระตุ้นให้เกิดความกังวลขึ้นอย่างจริงจังจากประชาคมระหว่างประเทศ

ทอร์ เวนเนสแลนด์ (Tor Wennesland) ทูตตะวันออกกลางแห่งสหประชาชาติกล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงว่า “นี่คือการยกระดับความรุนแรงขึ้นอย่างหนักหนาที่สุดระหว่างอิสราเอลและกลุ่มสู้รบปาเลสติเนียนในรอบหลายปี” และบอกเตือนในทวิตเตอร์ว่า “เรากำลังก้าวไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ”

สเตเฟน ดูยาร์ริค (Stephane Dujarric) โฆษกของสหประชาชาติกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “การยิงจรวดและกระสุนปืนครกโดยไม่เลือกเป้าหมายจากย่านพลเรือนที่มีประชากรหนาแน่นไปสู่ศูนย์กลางประชากรพลเรือนของอีกฝ่ายหนึ่งเช่นนี้ ถือเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์มนุษยธรรมระหว่างประเทศ”

แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐกล่าวเมื่อวันพุธว่า “อิสราเอลมีภาระที่จะต้องพยายามทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน แม้ว่าจะตอบโต้อย่างถูกต้องในการป้องกันประชาชนก็ตาม”

สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจากสี่ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เอสโตเนีย ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ออกแถลงการณ์หลังการประชุมเมื่อวันพุธเพื่อเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย “ยุติความตึงเครียด ยุติความรุนแรง ให้แสดงความอดกลั้นอย่างถึงที่สุด”

เซอร์เก ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินของผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศทั้งสี่ฝ่ายเพื่อพยายามแก้ไขความขัดแย้ง

“ผมคิดว่าเราได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่างานเร่งด่วนที่สุดคือการเรียกประชุมคณะผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ ทั้งรัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหประชาชาติ และสหภาพยุโรป” ลาฟรอฟกล่าวในการบรรยายสรุปร่วมกับเลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres)

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย “ถอยห่างออกมาจากขอบเหว”

“สหราชอาณาจักรมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความรุนแรงและการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนที่เพิ่มมากขึ้น และเราต้องการเห็นการลดความตึงเครียดอย่างเร่งด่วน” เขาเขียนลงในทวิตเตอร์

อ้างอิง

  • www.afp.com/en/
  • www.reuters.com/world
  • www.bbc.com/news/world
  • www.foxnews.com/world
  • www.wsj.com/articles

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า