Jujutsu Kaisen: Zero คำสาปที่บิดเบี้ยวที่สุดของมนุษย์คือความรักจริงหรือ?

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในเรื่อง Jujutsu Kaisen: Zero

“สัญญานะ ว่าถ้าเป็นผู้ใหญ่เมื่อไหร่ เราจะแต่งงานกัน”

โอริโมโตะ ริกะ กล่าวกับ อคคทสึ ยูตะ ในวัยเด็ก ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน เด็กสาวก็ถูกรถชนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาของเด็กชาย ในขณะที่เลือดกำลังไหลเอ่อท่วมท้องถนน ปรากฏร่างปีศาจน่าเกลียดน่ากลัวยื่นแขนมาจับขายูตะ 

“สัญญานะ” เสียงเล็ดลอดออกจากร่องฟันของเจ้าปีศาจ

ใช่แล้ว หนุ่มน้อยยูตะถูก ‘สาป’ ให้มีวิญญาณแค้นของแฟนสาวตามติดเป็นเงาตามตัวไปตลอดชีวิต วิญญาณริกะจะปรากฏตัวในยามที่ยูตะตกอยู่ในอันตราย เพื่อคอยปกป้องคนรัก แต่นี่กลับไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะยูตะไม่อาจควบคุมริกะได้

เวลาผ่านไป 6 ปี ยูตะเติบโตขึ้นและเข้าเรียนมัธยมในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เพื่อนร่วมชั้นจอมเกเร 4 คน กำลังรุมล้อมเพื่อรังแกเขา ทันใดนั้น คำสาปก็ทำงาน วิญญาณริกะปรากฏกายขึ้นแล้วทำร้ายพวกหัวโจกจนบาดเจ็บสาหัส ยูตะได้แต่มองอย่างหวาดหวั่น

เขาถูกตัดสินโทษประหารอย่างลับๆ จากกลุ่มผู้ใช้ไสยเวทย์ระดับบริหาร ซึ่งมองยูตะเป็นภัยคุกคามระดับพิเศษและเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์คนอื่นๆ เพราะแม้จะถือครองคำสาป (หรือเรียกว่าโดนสาปก็ว่าได้) ระดับสูง แต่กลับไม่อาจควบคุมพลังได้ 

ยูตะขังตัวเองในห้องมืดด้วยความรู้สึกผิด แม้จะเคยใช้มีดทำร้ายตัวเอง แต่ริกะจะปรากฏขึ้นเพื่อปกป้องเขาเสมอ เจ้าวิญญาณคำสาปไม่อนุญาตให้ยูตะตาย เขารอคอยวันที่โทษประหารจะมาถึงอย่างหมดอาลัยตายอยาก กระทั่งการมาเยือนของโกะโจ ซาโตรุ ผู้ใช้อาคมระดับพิเศษและอาจารย์ประจำโรงเรียนไสยเวทย์ ซึ่งจะช่วยฉุดยูตะให้รอดพ้นโทษประหารและความมืดมนในชีวิต 

“คำสาปที่อยู่กับเธอน่ะ หากใช้ถูกวิธีก็สามารถช่วยผู้อื่นได้ เรียนรู้วิธีใช้พลังแล้วค่อยโยนทุกอย่างทิ้งไปหลังจากนั้น ก็ยังไม่สายเกินไปนะ”

โศกนาฏกรรมข้างต้นคือฉากเปิดของ Jujutsu Kaisen: Zero ภาพยนตร์อนิเมะภาค Prequel ของมังงะเรื่อง มหาเวทย์ผนึกมาร ผลงานของ เกเงะ อากูตามิ (Akutami Gege) เล่าเรื่องกลุ่มนักเรียนและอาจารย์ที่อยู่ในโรงเรียนเฉพาะทางไสยศาสตร์ ซึ่งศึกษาคำสาปเพื่อปัดเป่าคำสาปร้ายที่คอยรังควานมนุษย์ 

อคคทสึ ยูตะ และ โอริโมโตะ ริกะ

‘คำสาป’: กรงขังแห่งยุคสมัยใหม่

ฉากดำมืดลง พร้อมตัวอักษรสีขาวลอยขึ้นมา “ในประเทศญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตและหายสาบสูญเฉลี่ย 10,000 คนต่อปี”

ภายในโลกของ Jujutsu Kaisen คำสาปเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดตัวเลขข้างต้น แล้วคำสาปเกิดจากอะไร

คำสาปคือการรวมตัวกันของอารมณ์และความรู้สึกด้านลบของมนุษย์ สถานที่บางแห่งที่เป็นแหล่งรวมผู้คนจำนวนมาก ย่อมซุกซ่อนอารมณ์ด้านลบ เช่น โกรธ เศร้า เกลียด อาย ฯลฯ จนก่อตัวสะสมและกลายสภาพเป็นคำสาปในที่สุด 

น่าสนใจว่าสถานที่เช่นนั้นมักเป็น ‘สถาบัน’ ต่างๆ ของยุคสมัยใหม่ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล หรือคุก นับเป็นเรื่องย้อนแย้งไม่น้อย เนื่องจากสถาบันเหล่านี้ตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับชีวิต เรือนร่าง และพฤติกรรมของมนุษย์ให้อยู่ในร่องในรอย สอดคล้องกับเหตุและผลของความเป็นสมัยใหม่ (ซึ่งก็ดันพ้องรับตรรกะของทุนนิยมเสียดิบดี)

ตัวอย่างเช่น โรงเรียนไม่ใช่อะไรนอกจากสถาบันที่เตรียมป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน บทลงโทษ บททดสอบ ตารางเวลา การสอดส่อง และกระบวนการต่างๆ อีกมากที่อ้างว่าทำไปเพื่อสร้าง ‘วินัย’ ล้วนเป็นการคัดกรองและแก้ไขแรงงานให้ตรงตามมาตรฐานอยู่เสมอ 

ฟากโรงพยาบาลคอยจัดการเรือนร่างที่ไม่เชื่อง (indocile body) จากความป่วยไข้หรืออุบัติเหตุ ซึ่งนับเป็นร่างกายที่ไม่พึงปรารถนา เพราะไม่อาจใช้ทำงานหรือเรียนได้ตามปกติ ในขณะที่คุกก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องการ ‘ดัด’ พฤติกรรมคนให้เป็นพลเมืองที่ดีของรัฐ (และบริษัทต่างๆ)

แต่มนุษย์อาจไม่ใช่สัตว์ที่เคลื่อนไหวตามหลักความเป็นเหตุเป็นผล (rationality) ได้ในทุกห้วงยามขนาดนั้น เพราะยังถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์และความรู้สึก (emotional) ได้ด้วย เมื่อถูกล้อมกรงขังด้วยรั้วของสถาบันสมัยใหม่ จึงย่อมเกิดความขุ่นข้องหมองใจเป็นธรรมดา

ผู้ที่ให้อรรถาธิบายในเรื่องนี้ได้ดีคือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, 1856-1939) นักปรัชญาและนักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรีย ในหนังสือ Civilization and Its Discontents (1930) ฟรอยด์คิดว่าโครงสร้างกลไกทางจิตมนุษย์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ อิด (id) อีโก้ (ego) และซูเปอร์-อีโก้ (super-ego)

id ดั้งเดิมและเก่าแก่ที่สุด มีอยู่ตั้งแต่เกิด ซึ่งรวมถึงสัญชาตญาณอันเกิดจากร่างกายของมนุษย์ มันจึงเป็นอาณาบริเวณที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก id ของมนุษย์พลุ่งพล่านราวกับกาน้ำเดือด แต่ปราศจากระบบระเบียบ มันดิ้นรนเพียงเพื่อจะตอบสนองความต้องการ ซึ่งกำกับโดย ‘กฎแห่งความเพลิดเพลิน’ (pleasure principle)

ฟรอยด์สรุปไว้ว่า “มนุษย์ไล่คว้าความสุข พวกเขาอยากเป็นสุขและรักษาสภาพการณ์เช่นนั้นเอาไว้”

ในขณะที่ ego คือจิตส่วนที่รู้สำนึก กล่าวคือหาก id เคลื่อนไหวไปตามสิ่งเร้าที่มากระตุ้นโดยไม่ยั้งคิด ego กลับสามารถชะลอหรือปฏิเสธการตอบสนองสิ่งเร้านั้นได้ โดยตัดสินว่าจะตอบสนองทันทีหรือเลื่อนการตอบสนองไปจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม

ego จึงเป็นตัวกลางระหว่าง id กับโลกภายนอก มันยังทำหน้าที่คัดกรองประสบการณ์ที่มนุษย์เผชิญกับโลก เก็บไว้เป็นความทรงจำ หากสิ่งเร้ารุนแรงเกินไป ego จะหลีกเลี่ยง หากสิ่งเร้ายังอยู่ในระดับที่รับไหว ego จะปรับตัว หรือกระทั่งลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อปรับเปลี่ยนโลกภายนอกให้ตัว ego ได้ประโยชน์

อย่างไรก็ดี โลกภายนอกเต็มไปด้วยสิ่งเร้า ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่สร้างความสุขให้มนุษย์ ego จึงมักกดเก็บความปรารถนา ความรู้สึก อารมณ์ ที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่อาจไล่ตามได้ ซุกซ่อนไว้ในจิตไร้สำนึก (unconcious)

แต่อะไรเป็นตัวควบคุม ego ไม่ให้ไล่คว้าสิ่งพึงปรารถนาตลอดเวลาเฉกเช่น id

นี่จึงเป็นที่มาให้ฟรอยด์เสนอส่วนที่สามของจิต ได้แก่ super-ego ซึ่งเป็นเหมือนตำรวจคอยสอดส่อง ego อยู่เสมอ

ฟรอยด์คิดว่ามนุษย์พัฒนา super-ego ขึ้นมาในขณะที่เจริญเติบโต เด็กจะค่อยๆ เลิกคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ในขณะที่เริ่มซึมซับวัฒนธรรมมากขึ้น ความปรารถนาของเขาจะถูกกดเก็บจากข้อห้ามและคำตำหนิของพ่อแม่ เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์ที่เติบโตช้าจึงต้องพึ่งพาพ่อแม่เป็นเวลานาน และเมื่อเขาโตขึ้น ก็จะถูกกฎเกณฑ์ทางสังคมคอยห้ามปรามความปรารถนาที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

มนุษย์จะเริ่มตระหนักว่าตนเองไม่สมบูรณ์แบบ แต่มี ‘ตัวตนในอุดมคติ’ (ego-ideal) ที่แม้แต่ตัว ego เองก็ไม่อาจเป็นได้คอยกำกับ ซึ่งกลไกทางจิตที่คอยเฝ้าสังเกตตนเองว่าทำตัวเหมาะสมแล้วหรือยัง ก็คือสิ่งที่เขาลอกเลียนและรับมาจากกฎเกณฑ์ภายนอกแล้วผนวกเป็น super-ego นั่นเอง

จนฟรอยด์ถึงกับกล่าวว่า “อารยธรรมคือการกดขี่มนุษย์”

แม้ว่าทุกสิ่งที่ถูกกดเก็บจะไร้สำนึก แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งที่ไร้สำนึกจะถูกกดเก็บให้จมลึกลงในก้นบึ้งจิตใจ ความปรารถนาที่ไม่ได้รับการตอบสนองของมนุษย์จึงมักปรากฏออกมาในรูปความฝัน จินตนาการฝันเฟื่อง (fantasy) การพลั้งปาก ไปจนถึงโรคประสาทและโรคจิตเภท

อย่างไรก็ตาม ใน มหาเวทย์ผนึกมาร ดูเหมือนว่าสิ่งที่เล็ดลอดจากการกดเก็บของ ego มนุษย์ กลับรั่วไหลมายังโลกภายนอกจนกลายสภาพเป็น ‘คำสาป’ ต่างๆ 

ความรักและความชัง การต่อสู้ระหว่างพลังแห่งความดีและความชั่วร้าย

ฟรอยด์คิดว่าสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์มี 2 ชนิด ได้แก่ สัญชาตญาณแห่งชีวิต และสัญชาตญาณทำลายล้าง (destructive instinct) ซึ่งเทียบได้กับ เทพแห่งความรัก (Eros) และเทพแห่งความตาย (Thanatos) ตามลำดับ

เป้าหมายของสัญชาตญาณชนิดแรกคือ การเชื่อมร้อยมนุษยชาติเข้าไว้ด้วยกัน สถาปนาหน่วยทางสังคมที่ใหญ่ขึ้นและรักษาสภาพมันเอาไว้ ในทางตรงกันข้าม เป้าหมายของสัญชาตญาณชนิดหลังคือ การสลายสายสัมพันธ์เหล่านั้นลงและทำลายสรรพสิ่งให้สิ้นซาก

กล่าวได้ว่า หากคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เชื่อว่า ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งหมดของมนุษย์คือการต่อสู้ทางชนชั้น ฟรอยด์ก็คงเชื่อว่า ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งหมดของมนุษย์คือการต่อสู้ระหว่างชีวิตและความตาย ระหว่างความรักและความชัง

ฟรอยด์เชื่อว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดต่ออารยธรรมมนุษย์คือ ความก้าวร้าว ซึ่งไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากสัญชาตญาณแห่งความตายที่ ego มุ่งเป้าไปยังโลกภายนอกนั่นเอง

อันที่จริง สัญชาตญาณแห่งความตายนั้นพุ่งเป้ามายังตนเองก่อน และเนื่องจากทุกคนต้องตาย ในท้ายที่สุดแล้ว ‘เทพแห่งความตาย’ ย่อมชนะเสมอ แต่ในระหว่างที่ยังมีชีวิต สัญชาตญาณชนิดนี้มักพุ่งเป้าไปยังภายนอก อาทิ ก้าวร้าวต่อสิ่งไม่พึงปรารถนา ความพึงใจจากการเห็นผู้อื่นเจ็บปวด หรือกระทั่งก้าวร้าวต่อบุคคลหรือสถานการณ์ที่ขัดขวางการตอบสนองความสุขของ ego

แต่อารยธรรมก็มีวิธีการควบคุมความก้าวร้าวของมนุษย์ โดยการเปลี่ยนทิศทางของการทำลายล้างให้หันกลับไปยังตัว ego แทน ในรูปแบบของ super-ego ดังที่อธิบายไว้แล้ว 

ยิ่งมนุษย์ยับยั้งการใช้ความก้าวร้าวกับคนอื่น เขาก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะลงโทษตัวเองมากขึ้น มนุษย์บางคนจึงมักเกลียดและลงโทษตัวเองอยู่เสมอ หากอาการหนักมากอาจถึงขั้นรู้สึกไร้คุณค่า ไม่กล้าทำอะไร และหมดความสนใจต่อโลกภายนอก ลักษณะเหล่านี้แทบไม่ต่างจากอาการของยูตะ ซึ่งแบกรับความรู้สึกผิดจากการตายของริกะเสมอมา

ยูตะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความก้าวร้าวที่เคยมุ่งเป้าไปยังโลกภายนอกถูกหันเหสู่ภายใน กลายเป็นส่วนหนึ่งของ super-ego ที่แสดงออกผ่านการเกลียดและโทษตัวเอง เขาไม่ได้ทำให้ริกะตาย รถยนต์ที่ชนเธอคันนั้นต่างหาก พูดแบบฟรอยด์ นี่คือการกล่าวโทษที่ยูตะอยากจะกระทำต่อคนที่เขารักซึ่งจากไปแล้ว แต่การบอกว่าคุณเป็นคนไร้ค่า ไม่ควรมีชีวิตอยู่ เพราะคุณทิ้งฉันไป ได้ถูกกลไกทางจิตบิดผันจนกลายเป็น ‘ฉัน’ เองที่เป็นคนไร้ค่า ไม่ควรมีชีวิตอยู่

ความโศกเศร้ามักเป็นกระบวนการที่กินเวลา เพราะการหยุดรักและปรารถนาผู้ที่เราเคยรักนั้นยากเย็นเสมอ

“ไม่อยากทำให้ใครเจ็บปวดอีก ผมอยากจะปิดกั้นตัวเอง แต่เมื่อถูกบอกว่าอยู่คนเดียวจะเหงา ก็ตอบอะไรกลับไม่ได้เลย อยากเชื่อมสายสัมพันธ์กับใครสักคน อยากจำเป็นกับใครสักคน อยากมั่นใจที่จะคิดว่าดีแล้วที่ยังมีชีวิตอยู่”

ยูตะพูดกับแสงสว่างที่เข้ามาฉุดเขาให้พ้นจากวังวนนั้น ซึ่งก็คืออาจารย์โกะโจ และเพื่อนๆ หมอผีในโรงเรียน ชีวิตของยูตะจึงมีเป้าหมายใหม่นอกจากการปัดเป่าคำสาปเพื่อตัวเองและริกะแล้ว เขายังอยากปัดเป่าคำสาปเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วย พูดอีกนัย โกะโจและผองเพื่อนคือตัวแทนของสัญชาตญาณแห่งชีวิต (และความรัก) นั่นเอง

หากโกะโจ ซาโตรุ เป็นด้านที่ดีงามของจิตใจมนุษย์ เกะโท สุงุรุ อดีตเพื่อนร่วมรุ่นของเขาก็เป็นด้านโหดร้ายของจิตใจมนุษย์

เกะโทคือนักสาปแช่งที่ถูกอัปเปหิออกจากโรงเรียนไสยเวทย์ในข้อหาสังหารหมู่ชาวบ้านนับร้อยคนอย่างโหดเหี้ยม ความชิงชังของเกะโทที่มีต่อมนุษย์ธรรมดา ซึ่งเขาเรียกว่า ‘ลิง’ นั้นก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเขาเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมผู้ใช้อาคมต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องเหล่าคนที่ยินดีกับการตายหรือใช้ชีวิตคนอื่นเป็นสิ่งของด้วย

จุดแตกหักที่ทำให้เกะโทลงมือล้างบางมนุษย์ให้สิ้นซากคือ เขาได้รับภารกิจให้ปัดเป่าคำสาปในหมู่บ้านกลางหุบเขา เขาพบเด็กสาวประหลาด 2 คน ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของคำสาปร้าย แต่เกะโทได้อธิบายว่า คำสาปไม่ได้เกิดจากเด็กซึ่งมีพลังอาคมหรอก (คำสาปจะไม่รั่วไหลจากอารมณ์ด้านลบของผู้มีอาคม) หากแต่เกิดเพราะอารมณ์ลบๆ ของเหล่าชาวบ้านต่างหาก กระนั้นชาวบ้านยังรั้นและดึงดันให้เกะโทสังหารเด็ก ความอดทนเขาขาดผึงจึงลงมือสังหารโหดทั้งหมู่บ้าน

“คำสาปน่ะ ยิ่งอ่อนแอจะยิ่งอยู่เป็นฝูง ก็เหมือนมนุษย์นั่นแหละ”

ในที่สุด เกะโทก็ตกผลึกว่า หากไม่มีมนุษย์ธรรมดาก็จะไม่มีคำสาป อุดมการณ์ของเขาจึงแปรเปลี่ยนมาเป็นล้างบางมนุษย์ให้สิ้น แล้วสร้างโลกที่มีแต่ผู้ใช้อาคม เกะโท สุงุรุ จึงเป็นเสมือนตัวแทนสัญชาตญาณแห่งความตายของมนุษย์ที่เผยแสดงออกมาอย่างไม่มี super-ego กั้น 

นั่นจึงทำให้ตัวแทนสัญชาตญาณแห่งชีวิตอย่าง โกะโจ ยูตะ และผองเพื่อน ต้องเข้าทำการห้ำหั่นกับเกะโท ตามมโนทัศน์ของจักรวาลที่พลังแห่งความดีและความชั่วร้ายขับเคี่ยวกันแบบฟรอยด์

คำสาปที่บิดเบี้ยวที่สุดของมนุษยชาติ

“ริกะจังไม่ได้สาปผม แต่อาจเป็นผมที่สาปเธอก็ได้”

ยูตะกล่าวกับอาจารย์โกะโจภายหลังจากเสร็จศึกแห่งความดี-ความชั่ว ก่อนหน้านั้นเขาก็ได้ปัดเป่าคำสาปให้ริกะได้ไปสู่สุคติ และปลดเปลื้องตนเองออกจากความรู้สึกผิดได้บ้างแล้ว 

นี่อาจเป็นการคลายปมตามแนวทางของฟรอยด์ เมื่อคนไข้เข้าใจสิ่งที่ตนเก็บกดเอาไว้ ที่ผ่านมาเขาคิดว่าริกะเป็นฝ่ายสาปเขา จึงพยายามแก้คำสาปจากมุมนั้น แต่ลืมฉุกคิดไปว่าเขาเองนั่นแหละที่สาปแช่งวิญญาณของคนรัก และผูกมัดเธอเอาไว้

และอีกครั้ง “นี่คือการกล่าวโทษที่ยูตะอยากจะกระทำต่อคนที่เขารักซึ่งจากไปแล้ว แต่การบอกว่าคุณเป็นคนไร้ค่า ไม่ควรมีชีวิตอยู่ เพราะคุณทิ้งฉันไป ได้ถูกกลไกทางจิตบิดผันจนกลายเป็น ‘ฉัน’ เองที่เป็นคนไร้ค่า ไม่ควรมีชีวิตอยู่”

“ไม่มีคำสาปใดที่บิดเบี้ยวได้เท่าความรักของมนุษย์” โกะโจกล่าวขึ้นแบบเท่ๆ

อย่างไรก็ตาม หากฟรอยด์ได้ยินก็คงตอบกลับว่า สิ่งที่บิดเบี้ยวกว่านั้นอาจเป็นอารยธรรมหรือโครงสร้างสังคมก็ได้ ซึ่งบิดความรักของมนุษย์เสียจนกลายสภาพเป็นคำสาป

อ้างอิง
  • แอนโธนี สตอรร์. (2562). ฟรอยด์: ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป.
  • Sigmund Freud. (1930). Civilization and Its Discontents.

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า