Drive My Car: เมื่อความจริงอาจพาไปสู่ปลายทางหรืออาจไม่นำพาไปสู่สิ่งใดเลย

ปี 1965 The Beatles ออกอัลบั้มที่เผยให้เห็นเอกลักษณ์ซึ่งตัดขาดกับแนวเพลงที่เคยทำมาในอดีต นั่นคืออัลบั้ม Rubber Soul (1965) ที่มีเพลงเปิดอัลบั้มชื่อว่า ‘Drive My Car’ 

หากดูความหมายตามตัวอักษร เนื้อร้องที่แต่งโดย จอห์น เลนนอน ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการอวดรถล่อหญิงและหยอดมุกชวนให้หลงใหล เรื่องราวในเพลงเริ่มจากการหลอกล่อหญิงสาวผู้อยากโด่งดังบนจอแก้วให้มา ‘ขับรถ’ ของเขา ซึ่งถ้าเธอบังเอิญขับมันได้ดีก็อาจได้ความรักกลับไปเป็นของแถม แน่นอนว่าแค่การเป็นสาวปริศนาอยู่บนรถคันเดียวกับคนดังก็เพียงพอทำให้เธอปรากฏเป็นข่าวฮือฮาแล้ว แต่ถ้าดันโชคดีได้กลายเป็นคนรักของคนดังก็การันตีว่าเธอจะโด่งดังเป็นพลุแตกอย่างแน่นอน ทั้งนี้ หากลองหาความหมายในเหลี่ยมมุมอื่น เนื้อร้องแสนธรรมดานี้ยังอาจมองเป็นบทอัศจรรย์อันแสนเร่าร้อนได้ 

Baby, you can drive my car

Yes, I’m gonna be a star

Baby, you can drive my car

And maybe I’ll love you

ระหว่างขับอยู่ยังอาจ ‘บีบแตร’ เพิ่มความสนุกสนานได้

Beep beep I’m beep beep, yeah!

ตามจริงแล้วเลนนอนตั้งใจให้เพลงนี้มีความหมายอย่างไร เขาหมายถึงการขับรถจริงๆ หรือการร่วมเพศ? นี่เป็นคำถามที่ยากจะตอบ เพราะอย่างน้อยที่สุดเลนนอนก็ตายไปนานแล้ว การเค้นหาความจริงจากคนตายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ กระนั้น แม้ผู้ประพันธ์จะตายไปแล้ว แต่ตัวบทก็ไม่ได้ตายไปตามไปด้วย การดำรงอยู่ของตัวบทแยกออกจากผู้ที่สร้างมันขึ้นมา แม้ผู้ประพันธ์จะเป็นผู้สร้าง แต่ผู้ให้ความหมายต่อตัวบทนั้นๆ คือผู้ตีความ ผู้ประพันธ์จึงไม่ใช่เจ้าของความหมาย ผู้อ่าน/ผู้ฟัง/ผู้ชม ต่างหากที่เป็นผู้สร้างความหมายเฉพาะแต่ละคนขึ้นมา 

ความจริงเป็นประเด็นสำคัญในภาพยนตร์ที่มีชื่อเดียวกันกับเพลงนี้ คือ Drive My Car (2021) ของ ริวสุเกะ ฮามากุชิ ตัวละครจำนวนหนึ่งในภาพยนตร์ประสบปัญหาในการเผชิญหน้ากับความจริง ความจริงเป็นสิ่งที่รังควานชีวิตและรบกวนจิตใจของตัวละคร ความจริงเป็นสิ่งที่ตัวละครไม่กล้าที่จะเผชิญหน้า แต่มันก็เป็นอย่างที่นักคิดนักปรัชญาหลายคนเคยว่าไว้ ความจริงไม่ใช่สิ่งที่เป็นกลาง มีความเป็นวัตถุวิสัย หรือตรงไปตรงมา ในทางกลับกัน การรับรู้ความจริงต้องอาศัยตัวกลาง (medium) ไม่ว่าจะเป็นภาษา อุดมการณ์ หรือแฟนตาซี โดยตัวกลางต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ดำรงอยู่แค่ภายนอกเท่านั้น หากยังเป็นอะไรที่อยู่ ‘ภายใน’ ตัวแต่ละคนด้วย การไม่กล้าเผชิญความจริงของตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงยังหมายถึง สภาวะที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง ตัวละครไม่เพียงแต่กลัวที่จะเผชิญกับความจริงภายนอก ทว่ายังกลัวที่จะประจันหน้ากับตัวตนที่อยู่ภายใน พวกเขากลัวที่จะค้นพบสิ่งที่หลบซ่อนอยู่ภายในตัวเอง ไม่ว่านั่นจะเป็นความมืด ความว่างเปล่า ความรู้สึกผิด หรือความสับสน อะไรต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจ กระทั่งไม่อยากเข้าใจหรือยอมรับการมีอยู่

การเข้าใจตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ทำกันได้ง่ายๆ บางทีอาจยากพอๆ กับการทำความเข้าใจคนอื่น เพราะระยะห่างระหว่างปัจเจกคนหนึ่งกับปัจเจกอีกคนหนึ่งคือ ‘ความเป็นอนันต์’

สำหรับ ไซมอน คริตชลีย์ (Simon Critchley) นักปรัชญาจากเมืองลิเวอร์พูล เห็นว่า ความเป็นอนันต์ไม่ได้หมายถึงจักรวาลนอกโลก แต่คือสิ่งที่จ้องกลับมาหาเราผ่านดวงตาของผู้อื่น ในทำนองว่า ผู้อื่นคือใครคนหนึ่งที่เราไม่สามารถรับรู้เข้าใจได้ เพราะระหว่างเรากับผู้อื่นไม่มีทางเชื่อม (passage) จะมีเพียงแต่ระยะห่าง ตามนัยนี้ การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงเป็นอะไรบางอย่างที่มีความเป็นอนันต์คั่นอยู่ เป็นอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถลดทอนให้เป็นใครคนหนึ่งหรือปรับแต่งได้โดยหนึ่งคนใด ด้วยเหตุนี้ คริตชลีย์จึงเห็นว่าศีลธรรมและจริยธรรมจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำให้เรารับรู้ เข้าใจ และสันนิษฐานได้ว่า เรากำลังรู้ถึงอะไรต่างๆ ในการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น (ทั้งที่ตามจริงแล้วเราอาจไม่ได้เข้าใจมันเลย) คริตชลีย์ยังยกตัวอย่างในกรณีของการรักใครสักคนว่า มันเป็นการเข้าไปมีความสัมพันธ์ที่เป็นอนันต์และไม่ตรงไปตรงมา ทำให้เราไม่มีวันทำความเข้าใจมันได้ เมื่อเราไม่อาจเข้าใจความสัมพันธ์ได้ ความเชื่อใจ (trust) จึงต้องเกิดขึ้น

แต่ความเชื่อใจหมายความว่าอย่างไร การที่คู่รักร่วมหลับนอนกับชายอื่นยังทำให้ความเชื่อใจคงสภาพเดิมอยู่หรือไม่ นี่ดูจะเป็นคำถามที่รบกวนจิตใจของ ยูสุเกะ คาฟุกุ (รับบทโดย ฮิเดโตชิ นิชิจิมะ) นักแสดงและผู้กำกับละครเวที ผู้เข้าใจมาโดยตลอดว่าตนมีชีวิตแต่งงานที่มั่นคง กระทั่งวันหนึ่งเขาเข้ามาพบภรรยากำลังร่วมเพศกับชายอื่น (ที่เขามองเห็นเพียงแผ่นหลัง) การรับรู้พฤติกรรมของภรรยานี้เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการตรวจพบว่าเขามีต้อบนดวงตาซ้ายเสมอมาโดยไม่รู้ตัว 

ไม่ว่าพฤติกรรมของภรรยานี้จะมีแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังอย่างไร คาฟุกุไม่เคยเค้นหาคำตอบจากภรรยา เขากลับสร้างคำอธิบายการกระทำนี้ขึ้นมาเอง และเชื่อว่าสิ่งที่เหนี่ยวรั้งความสัมพันธ์ของเขายังคงมีอยู่ ราวกับว่า คาฟุกุมี ‘การแปล’ ความหมายของพฤติกรรมนี้ในรูปแบบของตนเอง และความหมายที่ได้จากการแปลด้วยตัวเองนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เขายังสามารถคงความสัมพันธ์ไว้ได้ อย่างไรก็ดี ความหมายที่คาฟุกุแปลอาจไม่เกี่ยวอะไรกับพฤติกรรมของภรรยาเลยก็ได้ มันอาจเป็นเพียงสิ่งที่คาฟุกุมีไว้สร้างความสบายใจแก่ตนเองเท่านั้น (ทำนองเดียวกับที่เขาหยอดยาเพื่อรักษาดวงตาเอาไว้) ทั้งนี้ มันก็เป็นไปได้ว่าการที่คาฟุกุเลือกทำเช่นนี้เป็นผลจากการให้ ‘ความรัก’ มีค่าและความหมายเหนือกว่าความเชื่อใจ

การแปลของคาฟุกุเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงกันกับเหตุผลที่ภรรยาของเขาเลือกกระทำหรือไม่ คำตอบที่จะยืนยันได้ย่อมมาจากปากภรรยาของเขา แต่นั่นก็ทำให้มันเป็นไปไม่ได้ที่คาฟุกุจะได้รับคำตอบ เพราะภรรยาเขาด่วนตายจากไปก่อนเสียแล้ว 

กระนั้น ความหมายกับการกระทำก็ไม่จำเป็นต้องเป็นไปในทางเดียวกันเสมอ อะไรหลายอย่างในชีวิตก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์เชิงเหตุผล เพราะถึงที่สุดแล้ว ทุกคนก็ไม่ได้ถูกสั่งสอนหรือเติบโตมากับการใช้เหตุผลในรูปแบบเดียวกัน (นั่นทำให้การยืนมองเศษขยะที่ถูกปล่อยลงบ่อก็อาจทำให้นึกถึงหิมะได้) การเข้าถึงความหมายจึงอาจทำได้หลายวิธี หลายแนวทาง หรือหลายภาษา ในทำนองเดียวกับละครเวทีของคาฟุกุที่มีมากกว่าภาษาเดียว (multilingual) โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเข้าถึงและปลดปล่อยอะไรบางอย่างผ่านการอาศัยตัวบทเป็นเชื้อเพลิง อะไรบางอย่างที่ว่านี้คืออะไร มีหน้าตาประมาณไหน คำตอบของคำถามนี้เป็นเรื่องยากที่จะตอบ อะไรบางอย่างที่ว่านี้คือปลายทางที่พลังของตัวบทจะทำงานกับแต่ละคน 

ในแง่นี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้และละครเวทีในเรื่องดูจะมีการทำงานคล้ายคลึงกัน มันต่างพาทั้งผู้ชมและผู้แสดงก้าวข้ามไปยังปลายทางที่ยากจะไปถึง มันอาจพาไปหาคนตาย คนเป็น กระทั่งไม่ได้พาไปหาอะไรหรือใครเลย 

การก้าวข้ามเป็นความหมายของการแปล รากศัพท์ของ translate มาจากคำว่า trans แปลว่า ข้าม กับ ferre แปลว่า หยิบยก หรือนำมา การแปลจึงเป็นการหยิบยกหรือนำมาซึ่งความหมายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การแปลจึงส่อนัยถึง ‘ระยะทาง’ หรือ ‘ช่องว่าง’ ที่จำเป็นต้องทำการพาดผ่าน การแปลจึงไม่ต่างอะไรกับการเดินทาง เพราะต่างจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายวัตถุจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

การแปล (ภาษา) และการขับรถในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน มันต่างพาผู้ชมเคลื่อนที่ไปสู่อะไรบางอย่าง เป็นการเดินทางบนถนนสายที่เราไม่รู้จัก ในทำนองเดียวกับเพลง Where the Streets Have No Name ของ U2 มันเป็นการเดินทางที่กินเวลายาวนาน (ภาพยนตร์มีความยาวเกือบ 3 ชั่วโมง) แต่เราก็สามารถใช้ชีวิตผ่านคืนวันอันยาวนานนี้ได้ไม่ยาก เพราะผู้ที่ขับรถคันนี้ให้แก่เราคือนักขับฝีมือดีที่ชีวิตนี้ไม่รู้จักการทำอะไรอย่างอื่น นอกเสียจากการขับรถ (หรือทำภาพยนตร์) เขามีฝีมือดีถึงขนาดที่จะทำให้เราลืมตัวว่ากำลังนั่งอยู่บนรถ (หรือในโรงภาพยนตร์) เขาทำให้เรารู้สึกว่าความจริงที่รออยู่ปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวด ความรู้สึกผิด หรือความรัก ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด (The Truth, No Matter What It Is, Isn’t That Frightening) และเมื่อชั่วโมงสุดท้ายของเรามาถึง เราก็จะจากไปอย่างเงียบสงบ (And When Our Last Hour Comes We’ll Go Quietly)

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า