บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ไข่แมว X อารมณ์ขันคือรูระบายในกะลาแลนด์

เสาร์ที่ 10 พฤศจิกายนเป็นวันเปิดนิทรรศการประมาณสามแห่งในชุมชนศิลปะ N22 ย่านถนนนราธิวาส ถ้าไม่รู้จักว่าที่ไหน มันคือที่ที่ครั้งหนึ่งเคยโดนทหารมาปลดภาพงานศิลปะลงจากผนัง

นับเป็นวันเปิดนิทรรศการที่มีผู้ชมล้นหลามมากกว่างานศิลปะอื่นๆ เพราะมีเน็ตไอดอลมาแสดงงานที่ Artist+Run แต่เน็ตไอดอลที่มีผู้ติดตามหลายแสนคนนี้ไม่เหมือนเน็ตไอดอลสาวๆ น่ารักๆ ทั่วไป เพราะไม่มีใครรู้ว่า ‘เขาเป็นใคร’ รู้แต่ว่าศิลปินนิรนามนี้ใช้นามปากกาว่า ไข่แมว

ไข่แมวเป็นนักวาดการ์ตูนช่องไร้คำพูด เล่าเรื่องแบบง่ายๆ เป้าหมายของแต่ละแก๊กคือการจิกกัดสังคมอย่างปากร้ายโดยเฉพาะสังคมไทยในยุคสมัย คสช. ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ที่การพูดอะไรตรงไปตรงมามีความเสี่ยงมากมายเหลือเกิน

อีกความโดดเด่นหนึ่งของไข่แมวคือความฉับพลัน ข่าวหรือเหตุการณ์ออกมาตอนเช้า ตกตอนบ่ายหรือเย็นก็มีแก๊กออกมา ไข่แมวแทนค่าบุคคลในสังคม ด้วยตัวละครที่ไม่มีชื่อชัดเจน แต่ทุกคนมองออกว่าเป็นใครกันบ้าง ไม่ว่าจะ ‘ท่านผู้นำ’ ที่กลับกลายเป็นตัวตลก ‘แจ๊ค แม้ว’ แอบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังหลายๆ เหตุการณ์ และมี ‘น้องตาใส’ แทนสังคมไทยที่บางครั้งก็อยู่ในโหมดซื่อตาใส ตัวละครทุกตัวอยู่ในโลกสมมุติที่ไข่แมวสร้างขึ้นมาในแกลเลอรี Artist+Run ในชื่อ ดินแดน ‘กะลาแลนด์’

ครั้งหนึ่งเพจ ‘ไข่แมว’ เคยปลิวหายไป ก่อนฟื้นคืนชีพมาใหม่ในร่าง ‘ไข่แมว X’ และวันนี้ เขากระโดดออกจากโลกออนไลน์มาแสดงงาน ณ ชุมชนศิลปะกลางมหานคร ในนิทรรศการชื่อ ‘ไข่แมว X กะลาแลนด์’ หรือ  ‘Khai Maew X: Kalaland’

เมื่อเป็นงานแสดงศิลปะในแกลเลอรี เอาผลงานที่เคยเผยแพร่ในเพจออนไลน์มาไว้บนผนัง การวางภาพที่ตรงกับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ อย่างไม่มีระเบียบคงทำให้ผู้ชมมีความคิดสะเปะสะปะ งานนั้นจะไม่มีเส้นเรื่อง ไม่มีแก่น แม้ตัวงานจะวิพากษ์วิจารณ์ แต่จะสูญเสียความคมคายไปเพราะไม่มีใครจัดระบบ

ในมุมการเมือง ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในภัณฑารักษ์ ที่ช่วยจัดระเบียบ จัด sequence ผลงานของ ‘ไข่แมว’ ให้เข้าถึงผู้ชม กระตุกต่อมอยากรู้อยากเห็น อะไรเป็นอะไร เป็นยังไงมายังไง แล้วเอามาแบบนี้ ไม่กลัวคนแปลกๆ มาปิดงานเหรอ?

ทำไมถึงเลือกเอาไข่แมวที่ปกติเผยแพร่ทาง platform ออนไลน์ มาแสดงในแกลเลอรีที่เป็นพื้นที่ทางศิลปะ

อันแรกคือผมเป็น curator (ภัณฑารักษ์) มาก่อน กับงานของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ปี 2011 ให้กับศาลาไทย ที่ Venice Biennale ผมอยู่ในโลกศิลปะมาพอสมควร แล้วผมเห็นว่างานของไข่แมวมีคุณสมบัติพอจะเป็นงานศิลปะได้ ก็คุยกันผ่านอินบ็อกซ์เพจ แล้วเราก็ติดต่อกันได้ ปรากฏว่าเกิดเรื่อง คือเพจปลิว เขาหายไประยะนึง ทีนี้เราก็ต้องมานั่งคุยกันใหม่ว่าเราจะต้องทำยังไง เพราะติดต่อไม่ได้ จนเขากลับมาทำเพจ ไข่แมว X เราก็เลยได้เริ่มคุยกระบวนการเอางานเขามาแสดง เขาเห็นอะไรบ้าง สนใจประเด็นไหนบ้าง งานสเกลขนาดนี้เหมือนจะไม่ใหญ่ แต่ก็เป็นงานหนักอยู่สำหรับผมและ อาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ (ภัณฑารักษ์ร่วม) เพราะเราไม่ได้ทำงานประจำด้านศิลปะ เราสอนหนังสือกันทั้งคู่ มันก็ใช้เวลาและใช้พลังงานเยอะมาก

คุณภาพอะไรที่แสดงความเป็นศิลปะในงานของไข่แมว

มันมีความเป็น fine art อยู่ คือมีความงามของภาพ มีความละเมียดบางอย่าง ถึงแม้ผมจะเพิ่งมาค้นพบว่าเขาทำงานบนแพลตฟอร์มง่ายๆ แบบมือถือ แต่เราเห็นคุณภาพของงาน คือมันไม่ใช่การ์ตูนลายเส้นธรรมดา มันมีแบ็คกราวด์ มีเรื่องเล่า มีประเด็นที่คิดต่อได้เยอะมาก รวมถึงความถี่ของงานที่ยังคงคุณภาพเดิมไว้ได้ ไม่มีลดลง

“อีกอย่างหนึ่งคือ ศิลปะมันไม่ได้มีแค่เรื่องของลายเส้น แต่ประเด็นที่เขาหยิบมาพูด เราขำได้ในช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุดในการเมืองไทย ผมว่าในรอบตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ไม่มีช่วงไหนที่ดาร์คได้เท่าช่วงนี้อีกแล้ว การสร้างอารมณ์ขันในช่วงยุคเผด็จการที่ไข่แมวทำให้เราหัวเราะได้ มันมีคุณภาพกว่างานศิลปะด้วยซ้ำไป”

ในขณะที่ศิลปะที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ศิลปะเพื่อสังคม’ กลับไม่ได้ทำเพื่อสังคมอย่างที่ควรจะเป็น หรือกับศิลปินที่อ้างว่า ทำเพื่อสังคมแล้ว กลับลดถอยลงไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ในปริมณฑลส่วนตัว ไข่แมวเป็นคนที่ไม่มีชื่อใดๆ เลย ไร้ชื่อ ไร้เสียง ใช้ชื่อก็ตลกๆ ‘ไข่’ กับ ‘แมว’ มารวมกัน แล้วกลายเป็นคนที่สื่อสารกับคนหมู่มากได้ เขาเขียนประเด็นที่เข้าถึงคนหลักแสน หรือมากกว่านั้น มันมีการแชร์ต่อกันเป็นทอดๆ

เพราะฉะนั้นคุณลักษณะของงานแบบนี้มันมีค่ามาก ไม่เพียงแต่เรื่องของศิลปะ มันมีเสียงหัวเราะ มีการวิจารณ์ มีคุณภาพของความงาม สามสิ่งนี้ ถ้าไปถามผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะ เขาก็คงบอกว่ามันเข้าองค์ลักษณะของความเป็นศิลปะนะครับ ตรงนี้เป็นหลักพื้นฐานที่ทำให้อยากเอางานเขาที่อยู่ในโลกออนไลน์มาอยู่ในโลกความเป็นจริง

ในฐานะภัณฑารักษ์ มีเกณฑ์ในการเลือกแต่ละรูปอย่างไรบ้าง

ชีวิตของการ์ตูนไข่แมวแต่ละชิ้นมันสั้น มันแค่ไม่กี่ชั่วโมง บางทีแค่หลักวันสองวัน ก็เปลี่ยนรูปใหม่ บางรูปพ้นเวลาไปแล้ว เราก็ไม่สามารถเข้าใจมันได้ ดังนั้นการที่จะเอารูปที่มีอยู่ในโซเชียลมีเดียที่มีระยะเวลาสั้นออกมาเป็นนิทรรศการให้คนสัมผัสกัน มันจะต้องใช้ประเด็นบางอย่างที่เชื่อมโยงกัน

หนึ่ง-ดูแล้วมันยังมีความหมายในปัจจุบัน ฉะนั้นอันดับแรกเลยคือมันต้องสัมพันธ์กับยุคสมัย ดังนั้นมันต้องมีคุณภาพในการบันทึกประวัติศาสตร์ อีกอย่างคือมันมีคุณภาพในความงาม ตกแต่งได้ เป็นของประดับได้ มันเลยมีหลายฟังก์ชั่น ผมก็ต้องเลือกอันที่ยังพอมีความหมายอยู่ เพราะคนจำนวนมากต้องการเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาเห็น

องค์ประกอบอื่นๆ ในงาน อย่างหุ่นตัวละครในการ์ตูนไข่แมวตัวใหญ่ๆ พวกนี้ หรือกะลายักษ์ที่อยู่ตรงทางเข้า หน้าที่ของมันคืออะไรคะ ไม่ได้มีแค่ให้คนมาถ่ายรูปเซลฟี่ใช่ไหม

หน้าที่มันคือมีไว้ขายครับ (หัวเราะ)

พูดเล่นๆ คืองานนี้ผมเอาออกมาจากโลกออนไลน์ให้คนได้สัมผัสมัน ตัวศิลปินก็อยากจะทำแบบโลกสมมุติ คือกะลาแลนด์ ความจริงกะลายักษ์ด้านหน้านี่ ตอนแรกจะให้อยู่ข้างใน แต่แปลนมันเปลี่ยน ก็ต้องจัดวางใหม่ เราอยากมีจุดให้คนเชื่อมโยงได้ ถ่ายรูปได้ บางคนมีความสัมพันธ์กับตัวละครเหล่านี้ ก็มาถ่ายรูปคู่กับมัน บางคนเกลียดมัน ก็มาเขกกบาลมัน คือผมคิดว่ามันเกิดสิ่งที่เราคาดไม่ถึงหลายอย่าง มันเกิดความหมายใหม่ของหุ่นเหล่านี้

โลกออนไลน์กับโลกศิลปะ คิดว่าอันไหนจับต้องง่ายกว่ากัน มันมีความทับซ้อนกันอยู่หรือเปล่า

มันแบ่งกันไม่ได้หรอกครับ โลกความจริง โลกออนไลน์ หรือแม้แต่โลกศิลปะ คือยุคนี้มันแบ่งกันไม่ได้แล้ว คุณภาพของงานศิลปะ ถึงมันจะไม่เท่าในเชิง fine art แต่คุณภาพในการวิจารณ์มันมี ศิลปินมีทั้งฝีมือ ทั้งประเด็น ทั้งความแยบยลในการวิจารณ์ เส้นแบ่งพวกนี้มันข้ามไปแล้ว

โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) บอกว่าทุกคนเป็นศิลปินได้ ถ้าอย่างนั้นไข่แมวก็เป็นได้ พวกเราที่มาชมงานก็เป็นศิลปินได้ เราอยู่ในพื้นที่ที่เป็นความร่วมสมัยแล้ว

โลกออนไลน์มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคมมากแค่ไหน

“โลกออนไลน์ก็เหมือนศิลปะ มันเปลี่ยนสังคมทันทีไม่ได้หรอก แต่โลกออนไลน์คือชุมชนทางการเมือง คือชีวิตทางการเมืองอย่างหนึ่ง มันเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนได้ปลดปล่อยตัวตนจากความคับข้องใจ กดโกรธได้ กดแชร์ได้ แทนที่จะเดินไปต่อยใคร”

มันก็ทำให้เรามีพื้นที่ที่ได้พูดถึง แล้วมันก็กลายเป็นชุมชนจากการแชร์ คนได้รู้สึกร่วมกัน

คิดว่าความเป็นการ์ตูนดึงให้คนสนใจและเข้าใจการเมืองมากน้อยแค่ไหน

คอการเมืองก็คือคอการเมือง มันมีคนที่ติดตามเรื่องการเมืองอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ใช่คอการเมืองแล้วมีความคับข้องใจ การ์ตูนไข่แมวให้คำตอบนี้ได้ แฟนเพจไข่แมวมีความคับข้องใจกับประเด็นต่างๆ ที่มันเกิดความวิปริตของเหตุผล

อย่างเช่น รูปรถไฟความเร็วสูง เมื่ออยู่ในรัฐบาลคราวที่แล้วโดนต่อต้าน แต่พอมารัฐบาลนี้จะทำ คนกลับเงียบ กลายเป็นคนหาย และอื่นๆ ผมว่านี่คือคุณภาพของการวิจารณ์ของไข่แมว ที่ไม่ใช่แค่คอการเมือง แต่คนที่ไม่รู้ คนที่สนใจ คนที่อยากจะพูด ได้พูดออกมา เป็นสิ่งที่ศิลปะทั่วไปไม่มี มันก็เลยต้องมาที่ช่องทางของไข่แมว

เวลาเราเย้ยหยันอำนาจเผด็จการให้เป็นเรื่องตลก คิดว่าปลายทางจะนำไปสู่อะไร

“อย่างน้อยที่สุด สังคมที่ไม่มีทางออก มันก็เหมือนหม้อต้มความดันที่ไม่มีรูรั่ว อารมณ์ขันก็เหมือนรูรั่วที่ทำให้สังคมมันคลายตัว”

เหตุผลหนึ่งที่เพจไข่แมวที่ยังดำรงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ หรือนิทรรศการนี้ที่ไม่มีคนแปลกๆ มาเยี่ยม มันก็คงเป็นเพราะอารมณ์ขัน ผมว่าจุดนี้เป็นคุณภาพของความเพลิดเพลิน

แล้วนิทรรศการครั้งนี้ มันดึงโลกสมมุติมาเป็นโลกความจริง ในกะลาแลนด์นี้ คุณเล่นเกมได้ คุณจับหุ่นตัวนั้นตัวนี้จากตู้จับตุ๊กตาได้ มันก็ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นชุมชนร่วม

เราใช้อารมณ์ขันในการต่อสู้กับความกลัวในยุคเผด็จการรุนแรงที่สุด แต่อาจารย์คิดว่า คนไทยใช้อารมณ์ขันมากเกินไปจนการแก้ปัญหามันไม่ไปไหนหรือเปล่า

ยากนะ เราก็อยู่ในโลกของคนธรรมดาสามัญที่อยากจะหัวเราะบ้าง ในยามที่เราขมขื่นกับมัน สังคมไทยในรอบหลายปีมานี้ทำให้การหัวเราะเป็นพื้นที่ส่วนตัวเพียงหนึ่งเดียวในโลกปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่ามือถือนี่เป็นทั้งพื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะ ในทันทีมันอยู่ในมือเรา เราดูที่บ้านได้ ดูที่ทำงาน หรือดูในห้องส้วมได้ เฟซบุ๊คมันก็เป็นพื้นที่สาธารณะอีกแบบ สิ่งเหล่านี้มันผสมผสานกัน ทำให้ความสามารถในการหัวเราะเกิดขึ้นได้ในยุคที่เราหาเสียงหัวเราะได้ยาก เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ไข่แมวเองก็อาจจะคิดไม่ถึงก็ได้

อันนี้จริงๆ ก็ต้องนึกถึงกรณีเพจของ สปป. หรือ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารไม่กี่เดือน เพจ สปป. ตั้งในตอนเย็นของวันที่ 10 ธันวา จากไลค์หลักร้อยมาเป็นหลักแสนในชั่วข้ามคืน ก่อนรัฐประหารนี่เกือบล้าน มันสะท้อนความคับข้องใจของคน จำนวนของคนที่มากดไลค์ กดติดตาม มันสะท้อนสภาพบางอย่างของสังคม ของผู้เสพการ์ตูน มันเลยไม่ใช่แค่เสียงหัวเราะบางอย่าง แต่มันคือการแชร์ความรู้สึกร่วมกัน การกดไลค์ กดแชร์ มันก็เป็นช่องทางในการนำเสนออะไรบางอย่างที่มีความเป็นชุมชนร่วมกัน ชุมชนของไข่แมวก็คือชุมชนที่อยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย เป็นห้องนี้ เป็นนิทรรศการนี้ เราก็เห็นพลังของมัน

แฟนเพจไข่แมวมีหลายกลุ่ม หลายระดับ มีทั้งเด็กมัธยม จนถึงครูบาอาจารย์ คุณชัชชาติ (สิทธิพันธุ์) ก็มา คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ก็มา ไม่ได้เชิญด้วยซ้ำ เขาก็วอล์คอินเข้ามา เราจะเห็นว่ามันมีคุณภาพบางอย่างที่ดึงดูดให้คนเข้ามา

อาจารย์มองว่าสังคมแบบไหนที่ทำให้การ์ตูนแบบนี้มีพลังได้ เพราะมันไม่ได้มีแค่ในสังคมเผด็จการ บางทีต่างประเทศก็มีการเยาะเย้ยเรื่องทางการเมือง ทั้งที่เป็นสังคมประชาธิปไตย

แน่นอนว่าการ์ตูนชิ้นหนึ่งคงเปลี่ยนสังคมไม่ได้ มันเหมือนกับเราไปคาดหวังให้ศิลปะเปลี่ยนแปลงสังคม แบบศิลปะเพื่อชีวิต มันต้องไปในทางนั้น แต่ผมว่า คุณภาพของมันคือการกระตุ้นเตือนให้เห็นความผิดปกติของเหตุผล

อย่างสิ่งที่เราเห็นในการ์ตูน ไม่ว่าจะการกระทำใดๆ รัฐบาลก่อนคุณโวยกันมากเลย ทำไมยุคนี้คุณไม่สามารถทำอะไรได้ ทำไมคุณอยากจะโวยแต่คุณไม่กล้าโวย

คิดว่าทำไมปีนี้ความแอคทีฟมันถึงสู้สมัยก่อนไม่ได้

มันเป็นธรรมชาตินะ การเมืองมันมีโมเมนตั้มของมัน หลายๆ คนบอกคนไทยยังโกรธไม่พอ แต่ผมว่ารอบหลายปีที่ผ่านมา เราผ่านความเศร้าบางอย่าง มันเป็นมวลรวมของประเทศ โหมดของความเศร้ามันปกคลุมประเทศ แล้วประเทศกำลังจะเดินเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง มันคงเป็นความหวังเดียวของเราตอนนี้ เราเห็นแล้วว่าความตายจากความขัดแย้งที่ผ่านมา มันไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย คนไทยก็คงมีบทเรียน แล้วก็ระมัดระวังมากขึ้น

แน่นอน ในโลกของเรา ไม่มีใครอยากจะเดินเข้าหาความรุนแรง พอมันเกิดขึ้นมา มันลงยาก มันบานปลาย แต่ผมว่าเราก็พยายามที่จะมองโลกในแง่ดีมากขึ้น เพื่อปรับสมดุลให้เรามีความสุขมากขึ้น

การเอาบุคคลที่มีอยู่จริงเหล่านี้ ยกตัวอย่างตัวละครในกลุ่มเผด็จการ ไข่แมวทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นไอคอนขึ้นมา มันทำให้คนชินชากับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเปล่า

ในด้านหนึ่ง เราอยู่ในช่วงการเมืองที่เครียดที่สุด ผมเห็นเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ผมเห็นคนตายซ้ำแล้วซ้ำอีก อารมณ์ขันมันหายไปหมดแล้ว การเมืองไทยดิ่งลงทั้งสิทธิ เสรีภาพ การที่การ์ตูนทำให้ฉุกคิด คุณอาจจะบอกว่าทำให้เผด็จการน่ารัก แต่สำหรับผม การ์ตูนทำให้เราวิจารณ์ได้ ตรงนี้มันเป็นศิลปะ งานนี้ก็เป็นศิลปะในการเจรจา ต่อรองกับพื้นที่ กับศิลปิน กับคนที่เข้ามาดู เราอยากจะให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ มันมีจุดที่ผมคิดว่า มันต้องเจรจา

การที่เราเอาบุคคลทางการเมืองจริงๆ แล้วโดนวิจารณ์บนโลกออนไลน์ กลับมาอยู่ในโลกของคนจริงๆ มันเสี่ยงนะ ไข่แมวคือบุคคลปริศนา เขาไม่เปิดเผยหน้า ถ้าเขามาจับ ก็จับผมก่อน

การปิดตัวตนก็มีพลังอีกแบบ?

มันก็เป็นสเน่ห์นะครับ ผมว่าเราต้องรักษาความเป็นส่วนตัวของเขา ให้เขาผลิตงานให้เราได้ ศิลปินแบบนี้ก็มีหลายคน อย่าง แบงค์ซี (Banksy) แน่นอน ในสังคมแบบมันคงไม่ยากหรอกที่จะสืบว่าเขาเป็นใคร แต่แทนที่จะหาว่าตัวตนเขาคือใคร เราพอใจงานของเขา เราอยากให้เขาอยู่ต่อในโลกของการวิจารณ์ สร้างเสียงหัวเราะให้เรา แบบนี้จะดีกว่ามั้ย

อยู่ในบทบาทนี้ กลัวบ้างไหม

ถ้ากลัวก็ไม่ทำครับ แต่ประเด็นคือ เราเสี่ยงให้คุณได้ขนาดนี้แล้ว ถ้าคุณเอนจอยกับมัน เราก็ยินดี

คำถามสุดท้าย ได้เงินทักษิณมาเท่าไหร่คะ

โอ๊ย เปิดรออยู่ครับ เอาเบอร์พร้อมเพย์ไปได้เลยครับ

 

นิทรรศการ  ‘Khai Maew X: Kalaland’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 7-22 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.00-18.00 น.

ที่ Gallery Artist+Run ซอยทวีวัฒนา (นราธิวาส 22)

 

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า