ตลอดหลายสัปดาห์มานี้ ทุกคนน่าจะได้ยินคำว่า ‘แกง’ กันมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน อันที่จริง แกงได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนรุ่นใหม่มาพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเจเนอเรชั่นวายและเจเนอเรชั่นแซด ที่ใช้พูดหยอกล้อกันในกลุ่มเพื่อน รวมถึงตามสื่อโซเชียลมีเดียเองด้วย
แกง ที่เป็นคำกริยา บ่งบอกถึงลักษณะเหตุการณ์ที่คนคนหนึ่งกำลังถูกหลอก หรือทำให้เชื่อโดยที่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริงนั้น ตอนนี้ไม่ใช่คำศัพท์ชนิดใหม่ที่เข้าใจยาก หรือต้องมานั่งกางอภิธานศัพท์กันอีกต่อไป
วิวัฒนาการจากคำศัพท์เฉพาะกลุ่ม จนมาถึงปัจจุบัน ‘แกง’ ได้ถูกส่งต่อ-แพร่ขยาย ไปสู่คนเจเนอเรชั่นอื่นๆ มากขึ้น กระทั่งสื่อหลักเอง ก็ยังมีการหยิบยกคำว่า แกง ขึ้นมาอธิบาย เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชนด้วย ทำให้พื้นที่ของการแกงไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มคณะราษฎร 2563 เท่านั้น แต่การแกงยังกลายเป็นกลยุทธ์ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ และตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า วิธีการเช่นนี้จะนำไปสู่ชัยชนะได้หรือไม่ และการแกงแบบปุ๊บปั๊บรับโชค สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้จริงรึเปล่า?
แกงศาสตร์
ตลอด 2 สัปดาห์ที่มีการนัดหมายการชุมนุมต่อเนื่องแทบทุกวัน คณะราษฏร 2563 เลือกใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กในการสื่อสารกับกลุ่มคนที่สนใจเข้าร่วมชุมนุม ทั้งแบบที่ให้ลุ้นและเตรียมตัวกันดีๆ รวมถึงการประกาศสถานที่แฟลชม็อบก่อนเวลานัดหมายเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
ย้อนกลับไปในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มแกนนำอย่างเยาวชนปลดแอก และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเอง ต่างก็ถอดบทเรียนจากความผิดพลาดในการก่อรูปม็อบอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเราลองลำดับไล่เรียงตั้งแต่มีการประกาศม็อบใหญ่ นัดหมายก่อนวันจริงมากกว่า 2 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นม็อบ 19 กันยายน หรือม็อบ 14 ตุลาคมเอง วิธีการเช่นนี้ กลับทำให้กลุ่มผู้ชุมนุม ‘เสีย’ มากกว่า ‘ได้’
สาเหตุเพราะรัฐมีเวลาในการเตรียมตัวเพื่อใช้กลไกอย่างทหารตำรวจเข้าปราบปรามได้ง่ายและรัดกุมมากกว่า แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะรับมือด้วยการเพิ่มอาสาสมัครการ์ดมามากเท่าไร แต่นั่นก็เทียบไม่ได้เลยกับรัฐที่ถือครองไว้ทั้งอำนาจบังคับใช้กฏหมาย และการเพิ่มกำลังพลล้อมรอบกลุ่มผู้ชุมนุม
นอกจากนี้ การที่รัฐมีอำนาจเต็มในการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมได้ตลอดเวลา จนทำให้แกนนำทยอยถูกดำเนินคดีไปเรื่อยๆ นั้น ก็เป็นอีกบทเรียนสำคัญที่กลุ่มคณะราษฏร 2563 ได้เรียนรู้ว่า การตั้งเวทีม็อบขนาดใหญ่คงจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป การปรากฏตัวของใครคนใดคนหนึ่งอย่างโดดเด่นก็ไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีทั้งกับตัวแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุม ดังนั้น เราจึงเริ่มเห็นการเปลี่ยนรูปแบบเป็นแฟลชม็อบที่มีความคล่องตัวมากขึ้น และเพิ่มความถี่ในการก่อม็อบเพื่อสร้างแรงกดดัน จากเดือนละครั้งหรือสองสัปดาห์ครั้ง เป็นการจัดแฟลชม็อบทุกวัน
แล้วจะทำอย่างไรให้แฟลชม็อบทุกวันมีคนมาร่วมชุมนุมอย่างพร้อมเพรียงกันได้? วิธีการคือ เพจหลักทั้งสองอย่างเยาวชนปลดแอก และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะทยอย ‘ปล่อยข่าว’ แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง แทนการนัดหมายที่กินเวลาหลายวันเหมือนก่อน การสับขาหลอกของกลุ่มแกนนำใช้กลยุทธ์แบบที่นัดหมายยังสถานที่หนึ่งก่อน จากนั้นอีก 2-3 ชั่วโมงถัดมา จึงประกาศสถานที่นัดชุมนุมจริงแทน
ไม่หยุดแค่นั้น แกนนำม็อบยังสับขาหลอกได้แสบสุดๆ อีกครั้งเมื่อวันอังคารที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา จากการนัดหมายที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกสถานีใกล้บ้าน แล้วปล่อยเวลาไปจนถึง 18.00น. จึงมีการประกาศว่า วันนี้หยุดพักไม่มีม็อบ ซึ่งเป็นวันที่ทุกคนทั้งรัฐ เจ้าหน้าที่ รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนก็พลอย ‘ถูกแกง’ ไปด้วย
ผลสรุปวันนั้นคือ เสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ด้านหนึ่งมองว่า การแกงครั้งนี้เป็นแทคติคส์ที่ดีมากๆ ในการต่อกรกับอำนาจรัฐ เพื่อท้าทายและก่อกวนกลไกรัฐเผด็จการ แต่อีกฟากหนึ่งกลับชี้ให้เห็นว่า การแกงแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้น ซ้ำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตั้งใจออกมาร่วมขบวนการยังถูกทิ้งไว้กลางทางอย่างที่ไม่ควรจะเป็นด้วย
สรุปแล้ว การแกงครั้งนี้ให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจไหม หรือถึงที่สุดแล้ว เรากำลังแกงใครอยู่กันแน่?
แกงเขา แกงเรา แกงรัฐ?
ถ้าลองย้อนกลับไปช่วงที่มีการพูดถึงการแกงในบริบทม็อบเป็นครั้งแรก น่าจะเป็นวันที่ 19 กันยายนกับม็อบที่จัดตั้งขึ้นโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ณ ท้องสนามหลวง ครั้งนั้นแกนนำประกาศว่า จะมีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล และเมื่อถึงเวลาย่ำรุ่ง ม็อบประกาศเซอไพรส์ครั้งใหม่ด้วยการตัดสินใจเคลื่อนขบวนไปเข้าพบองคมนตรีแทน
การแกงครั้งนั้นนำมาซึ่งชัยชนะเล็กๆ ที่พอจะหล่อเลี้ยงขบวนการนักศึกษา และผู้คนที่เฝ้าติดตามเป็นกำลังใจให้ม็อบ หลายความเห็นมองตรงกันว่า การแกงได้สะท้อนภาพของประชาชนที่เข้าไปเขย่าอำนาจรัฐสำเร็จ รั้วหลวดหนามและแนวกั้นแบริเออร์อันแน่นขนัดบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ แสดงถึงความอ่อนด้อยและหวาดกลัวที่รัฐมีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเสียไม่ได้
เมื่อการแกงครั้งนั้นได้ผล แทคติคส์นี้ก็ถูกหยิบมาใช้ตามวาระโอกาสอีกหลายครั้ง และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา การแกงที่มีเสียงสนับสนุนแตกเป็นสองฝ่ายก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า ยุทธการแกงหม้อใหญ่ยังใช้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องแบ่งประเด็นให้เห็นภาพชัดๆ 3 ส่วนด้วยกัน
ประการแรกคือ ตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฏร 2563 นี่นับว่า เป็นการแกงหม้อใหญ่ครั้งแรก ที่เป็นการแกงแบบ ‘real แกง’ จริงๆ หากกลุ่มผู้ชุมนุมติดตามการประกาศอย่างใกล้ชิดและถอดรหัสแกงหม้อนี้ให้ดีๆ ก็จะพบว่า กลุ่มแกนนำได้ส่งสัญญาณของการแกงมาหลายครั้ง ทั้งการดึงเช็งประกาศเวลารวมตัวที่สถานีบีทีเอสใกล้บ้านเวลา 16.00น. ซึ่งเป็นไทม์ไลน์ที่แปลกไปจากปกติ และคำใบ้อย่าง “ใครอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้าใกล้บ้าน เตรียมเปิดหน้าจอรอกันได้เลย” ก็มีความหมายซ่อนอยู่อีกเหมือนกันว่า ให้ทุกคนรอพร้อมกันที่ ‘หน้าจอ’
ประการถัดมาคือ แม้ว่าคุณจะไม่สามารถถอดรหัสจากประกาศดังกล่าวได้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะหมดสิทธิ์ในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในทางกลับกัน นี่กลับเป็นสัญญะที่ม็อบพยายามชูมาตลอดว่า “ทุกคนคือแกนนำ” ฉะนั้น หากออกจากบ้านมาแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรอให้มีกลุ่มคนหลายพันคนหรือมีแกนนำประกาศรวมตัวเลย
ถ้าทุกคนคือแกนนำ อย่างที่ม็อบพร่ำบอกมาตลอด การยืนชูสามนิ้วบนสถานีบีทีเอสก็ดี หรือการไปรวมตัวยังสถานที่อื่นๆ ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากออกมาเอง อย่างบริเวณปิ่นเกล้า, รังสิต, อุดมสุข, ปากเกร็ด และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามก็ดี ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำแนวทางที่ว่า ทุกคนคือแกนนำ ม็อบที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ไม่มีความจำเป็นต้องรอปริมาณคน เพราะถึงที่สุดแล้ว เมื่อถึงวันหนึ่งที่ไม่มีแกนนำอยู่ ม็อบลักษณะนี้ก็จะไม่สูญสลายไปด้วย เพราะนี่คือ การส่งต่ออุดมการณ์ (ideology) มากกว่าผลักให้การดึงแนวร่วมไปอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนับว่า เป็นกลวิธีแบบเก่าที่ไม่อาจใช้ได้อีกต่อไป
หรือถึงที่สุดแล้ว การมีแกนนำที่เราไม่สามารถการันตีความปลอดภัยให้พวกเขาได้ ในห้วงเวลาแบบนี้ เรายังต้องรอให้มีใครมานำอีกหรือ ในความเข้าใจแบบเดิม วิธีนี้อาจจะถูกมองว่า เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่หนักแน่นเหมือนการปราศรัย หรือรวมตัวด้วยกลุ่มคนจำนวนมหาศาล แต่มันกลับสะท้อนให้ทุกคนรวมถึงอำนาจรัฐเห็นว่า เรากำลังต่อกรกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ด้วยจุดยืนของปัจเจกอย่างไม่ยี่หระ
ประการสุดท้ายคือ การมองว่า การแกงมีราคาที่ต้องจ่ายมากเกินไป นอกจากคนที่ออกมาจากบ้านเก้อแล้ว หลายความเห็นยังชี้ไปที่กลุ่มพ่อค้าแม่ขายอย่างร้านลูกชิ้นทอด ร้านน้ำ หรือร้านไก่ทอด ที่น่าจะมารอยังสถานที่นัดหมายกันก่อนแล้ว และได้มีการแสดงความกังวลว่า การแกงครั้งนี้จะทำให้พวกเขาสูญเสียรายได้หรือไม่ ในส่วนนี้ หากจะพูดอย่างสุดโต่งก็ต้องบอกว่า เราคงต้องมองตรงไปที่เป้าหมายเดียวของม็อบนั่นคือ ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ มากกว่าการเก็บปัญหายิบย่อยระหว่างทางมาแบให้ทุกคนตระหนัก และเบี่ยงโฟกัส
ซึ่งเราอย่าลืมว่า ม็อบนี้ถูกตั้งไข่ขึ้นด้วยนักศึกษาเป็นแกนหลัก ฉะนั้น ความผิดพลาดจากการแกงระหว่างกัน ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่เราทุกคนต้องมีส่วนช่วยในการประคับประคองขบวนการนี้ร่วมกันต่อไป มากกว่าผลักภาระไปให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและชี้หน้าประนามถึงกระบวนการจัดตั้ง
หากการแกงครั้งนี้กระทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือคนที่แวดล้อมจริงๆ สิ่งที่ควรทำคือ ช่วยกันตักเตือน ตบบ่า และทำให้ครั้งหน้าเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ท้ายที่สุดทั้งหมดจะวนกลับไปที่จุดเดิมคือ การผลักทุกอย่างให้แกนนำ และถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ ขบวนการก็พร้อมจะพังครืนลงมาได้ทุกเมื่อเช่นเดียวกัน
การแกงไม่เพียงแต่จะทำให้เราได้สะใจกับชัยชนะเล็กๆ ที่ได้เก็บเล็กผสมน้อยในการปะทะกับอำนาจรัฐตรงๆ ระหว่างทางเท่านั้น แต่การแกงที่เห็นผลยังนำมาซึ่งขวัญและกำลังใจ ในการเดินหน้าสู่ถนนประชาธิปไตยอันยาวไกลหลายพันไมล์ที่ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดตรงไหนด้วย
ฉะนั้น แกงไปเถอะ เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่ารัฐจะใช้กำลังปราบปรามเท่าไร คุณก็ได้เห็นแล้วว่า แม้ไม่มีแกนนำ ม็อบตามจุดเล็กจุดน้อยก็พร้อมใจกันเกิดใหม่ได้ตลอดเวลา
ตายหนึ่ง เกิดสิบ
ตายสิบ เกิดแสน