ภาพ: ชิน เอกก้านตรง
ในวาระสัปดาห์หนังสืออิสระ ร้านหนังสือ Fathom Book จัดกิจกรรมว่าด้วยการอ่านในหัวข้อ ‘หนังสือดีๆ มีช่องว่างให้เด็กเติบโต’ ในบรรยากาศของวงน้ำชาและของว่างยามบ่ายวันครอบครัวที่คุณแม่ๆ พากันแอบชวนมาตั้งวงคุย เพื่อค้นหาคำตอบภายใต้คำถามที่ว่า การอ่านจะสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร หนังสือแบบไหนที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ศักยภาพ และหนังสือที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัยของเด็กควรเป็นแบบไหน
ในงานได้เชิญ ‘แม่หมี’ แอดมินเพจ อ่าน อาน อ๊าน หรือ เกื้อกมล นิยม บรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร และ ‘แม่บี’ มิรา ชัยมหาวงศ์ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งในฐานะแม่และในฐานะผู้ทำงานด้านเด็กโดยตรง ซึ่งแม่บีได้กล่าวนำด้วยท่วงทำนองสบายๆ ว่า
“กิจกรรมวันนี้ที่เกิดขึ้นมาก็อยากให้เป็นการพูดคุยสบายๆ เราจะมาคุยกันว่าการอ่านสำคัญยังไง? เอ๊ะ เสียงที่เราอ่านให้ลูกฟัง ลูกจะได้ยินว่ายังไง…การอ่านที่มันไปมากกว่าการที่ทำให้เขาแค่อ่านออกเขียนได้ เดี๋ยวในวันนี้เราจะมาพูดคุยกันแบบสบายๆ” แม่บี เปิดประเด็นด้วยการบอกเล่าที่มาในการเชื้อเชิญแม่ๆ แอบลูกมาตั้งวงจิบน้ำชาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
เราอ่านกันไปทำไม?
แม่หมี หรือเกื้อกมลตั้งคำถามต่อคุณแม่ถึงการอ่านหนังสือให้ลูกฟังว่าคาดหวังสิ่งใด ก่อนจะได้รับคำตอบที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของการสร้างความสัมพันธ์ สร้างทักษะในการอ่าน และเรียนรู้ชีวิตจริงจากหนังสือ ซึ่งเมื่อได้ฟังคำตอบแล้ว ในฐานะแอดมินเพจ อ่าน อาน อ๊าน เกื้อกมลกล่าวว่า จากการทำเพจ คนส่วนมากยังเข้าใจว่าการอ่านคือการเพิ่มความฉลาด เพื่อให้รู้ภาษา ทว่าในความเป็นจริงแล้ว จุดประสงค์หลักของการอ่านระหว่างแม่กับลูก คือ การสร้างความสัมพันธ์อย่างที่คุณแม่คนหนึ่งได้ตอบมา
“การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในช่วงเวลาของการอ่านหนังสือก่อนนอน มันเป็นช่วงเวลาที่นิ่ง สงบ แล้วก็เรากอดเขาอยู่อย่างนี้ แล้วอ่านให้เขาฟัง ให้เขาได้ฟังเสียงของแม่ และสัมผัสของแม่”
ทักษะ EF
นอกเหนือจากการสร้างความสัมพันธ์ เกื้อกมลยังกล่าวต่อในประเด็นต่อมาว่า การอ่านจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างทักษะชีวิตให้กับลูก ซึ่งมีหลายทฤษฎีที่กล่าวถึงเรื่องพัฒนาทักษะ ผ่านการอ่านร่วมกันระหว่างแม่กับลูก โดยทฤษฎีที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดในปัจจุบันคือ ทฤษฎีที่ได้จากการศึกษาเรื่องการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่เรียกว่า Executive Function หรือกระบวนการทางความคิดในส่วนของสมองส่วนหน้า เรียกสั้นๆ ว่า EF
กล่าวสั้นๆ เกื้ออธิบายอย่างรวบรัดต่อความสำคัญของ EF เอาไว้ว่า มีกลุ่มทักษะทั้งหมด 9 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้
1.ทักษะความจำที่นำมาใช้งาน (Working Memory) คือทักษะความจำหรือการเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และดึงมาใช้ประโยชน์ตามสถานการณ์ที่พบเจอ
2.ทักษะการยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) คือความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
3.ทักษะการยืดหยุ่นความคิด (Shift Cognitive Flexibility) คือความสามารถในการยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนความคิดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้
4.ทักษะการใส่ใจ จดจ่อ (Focus) คือความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง
5.ทักษะการควบคุมอารมณ์ (Emotion Control) คือความสามารถในการควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เป็นคนโกรธง่าย
6.ทักษะการประเมินตัวเอง (Self-monitoring) คือการสะท้อนการกระทำของตัวเอง หรือการรู้จักตัวเอง
7.ทักษะการริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) คือความสามารถในการริเริ่ม และลงมือทำตามที่วางแผน รวมถึงการประเมินเพื่อหาข้อบกพร่อง
8.ทักษะการวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ (Planning and Organizing) คือความสามารถในการทำงานทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น โดยการตั้งเป้าหมาย การวางแผน
9.ทักษะการมุ่งเป้าหมาย (Goal-directed Persistence) คือความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจแล้วจะต้องทำให้สำเร็จ
EF กับการอ่าน
เกื้อกมลกล่าวต่ออีกว่า ด้วยทฤษฎี EF นี้เพิ่งจะเริ่มมีการพัฒนาในช่วงเวลาไม่กี่ปีในประเทศไทย แม้จะมีการคิดค้นในต่างประเทศมาแล้วกว่า 30 ปี พอมาถึงปัจจุบันที่วิถีการใช้ชีวิตของคนเราเปลี่ยนไปในทิศทางที่รวดเร็วขึ้น ทั้งการดำเนินชีวิตตั้งแต่เรื่องการรับประทานอาหารไปจนถึงเรื่องอื่นๆ ดังนั้น วิธีการเรียนแบบโบราณจึงอาจไม่ตอบโจทย์การมุ่งให้เด็กไปสู่ความเป็นเด็กที่ฉลาดเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
“EF เกี่ยวข้องกับการอ่าน เพราะตัวหนังสือนั้นมีเรื่องราว และเรื่องราวจะสะกดเด็กให้โฟกัสได้ มีใจที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยที่ไม่ได้บังคับหรือต้องทำอะไรเพิ่มเติมมากมาย”
เกื้อกมลยกตัวอย่างจากทักษะข้อ 1 ในส่วนของการจำเพื่อใช้งานว่า เพราะหนังสือที่มีเนื้อเรื่องนั้นจะทำให้เด็กสนใจติดตามเนื้อเรื่องต่อไป ซึ่งการที่เด็กจะติดตามเนื้อเรื่องไปอย่างสนุกสนานได้นั้นจะเกิดขึ้นก็จากการจดจำนั่นเอง
การอ่านที่นำไปสู่การควบคุมอารมณ์
การจดจ่อกับการอ่าน ทั้งด้วยการอ่านจากแม่สู่ลูก ไปจนถึงการปล่อยให้ลูกได้อ่านเองเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เกื้อกมลมองว่าการอ่านมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะ EF
“เสียงที่อ่านอย่างมีจังหวะสม่ำเสมอ บวกกับภาพนิ่งที่รอคอยให้เด็กค่อยๆ ไล่สายตาดู ทำให้เด็กได้หยุดอยู่นิ่งๆ อย่างเต็มใจ และค่อยๆ รับข้อมูลอย่างมีลำดับขั้นตอน จนเกิด ‘ความสงบ’ ขึ้นในใจ เอื้อให้เด็กควบคุมอารมณ์ตัวเองได้”
ปัญญาและความคิด
ประเด็นต่อมา ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างการอ่านของแม่และลูก คือ การเปิดปัญญา ซึ่งเกื้อกมลให้นิยามว่า ปัญญาเป็นเรื่องที่มีความลึกมากกว่าความคิด เปรียบกับหนังสือแล้วเหมือนส่วนที่ผสมกันระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ซึ่งหนังสือเด็กจะทำหน้าที่นำทั้งสองสิ่งนี้มาประกบกัน จนเกิดเป็นเรื่องราวที่เร้าความสนใจของเด็ก
แม่บี กล่าวเสริมด้วยการยกตัวอย่างนิทานสำหรับเด็กเรื่องหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสอนเด็กให้อย่ามองคนแต่เพียงภายนอก หรือไม่ตัดสินใจคนที่รูปลักษณ์อันน่ากลัว ผ่านเรื่องราวของลูกหมาป่าสามตัวกับหมูเกเร ซึ่งความเข้าใจทั่วไปของคนมักจะมองว่าหมาป่าเป็นสัตว์ดุร้าย เจ้าเล่ห์ และหมูป่าเป็นสัตว์ที่น่าสงสาร แต่ในนิทานเรื่องนี้กลับเล่าตรงกันข้าม หมูป่าต่างหากที่ชอบแกล้งลูกหมาป่า แต่สุดท้ายลูกหมาป่าทั้งสามก็ใช้ ‘ปัญญา’ ในการแก้ปัญหาที่จะทำอย่างไรไม่ให้ถูกหมูป่าแกล้งอีก และยังสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้
เลือกหนังสืออย่างไรให้เหมาะกับช่วงวัย
ประเด็นสุดท้าย เกื้อกมลแนะนำภาพกว้างๆ ของหนังสือเด็กที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย โดยเริ่มตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิดก็สามารถเข้าถึงการอ่านได้
0-6 เดือน
ในช่วงวัยนี้ เกื้อกมลกล่าวว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะที่สุดสำหรับการปลูกฝังให้เด็กจดจำว่า การอ่าน=ความสุข จะทำให้เด็กเข้าใจเช่นนั้นได้อย่างไร ก็ด้วยการกอดจากพ่อหรือแม่ ได้ยินเสียงที่จะเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดการอ่านให้เป็นจังหวะ สอดคล้องกับภาพประกอบที่ชัดเจน รายละเอียดไม่เยอะ ใกล้เคียงความจริง เพราะเด็กยังมองเห็นได้ไม่ชัดเจน
7-12 เดือน
ในช่วงวัยนี้ เด็กจะเริ่มเข้าใจว่าภาพเล่าเรื่องและสื่อแทนของจริง จึงต้องเลือกหนังสือที่มีเนื้อหาใกล้ตัว ไม่สลับซับซ้อน พ่อแม่สามารถเล่าพร้อมกับชี้ภาพประกอบการเล่า ด้วยน้ำเสียงและการแสดงท่าทางที่ไม่มากล้นจนเกินไป รวมไปถึงเปิดโอกาสให้เด็กได้โต้ตอบ
12-24 เดือน
ต่อมาในช่วงหนึ่งขวบถึงสองขวบ เด็กจะเริ่มมีการเข้าใจประโยคแล้ว ไม่ใช่คำสั้นๆ หรือคำเดี่ยวๆ ดังนั้น จึงควรเลือกหนังสือที่มี 1-2 ประโยคต่อหน้า เล่าด้วยน้ำเสียงตลก อาจสมมุติเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ ตามแต่ประเภทของเรื่องเล่าที่หยิบมา กระตุ้นให้เด็กเกิดการโต้ตอบด้วยคำถามเปรียบเทียบระหว่างเรื่องราวในหนังสือกับของจริง
นักอ่านตัวน้อยตัวนิด
เกื้อกมลจัดแบ่งประเภทของนักอ่านวัยเด็กไว้ 3 ขั้นตอน โดยเริ่มจากขั้นแรกคือ ในขั้นก่อนภาษาเริ่มต้น อยู่ในช่วงวัยเตาะแตะถึงชั้นอนุบาล
ขั้นก่อนภาษาเริ่มต้น
– จำหนังสือได้จากปก
– รู้วิธีในการหยิบจับหนังสือ
– เรียนรู้การอ่านกับพ่อแม่จนเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ
– สนุกนานกับการเล่นคำและเล่นเสียง
– ระบุสิ่งของในหนังสือได้
– แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวละครได้
– รู้ว่าภาพในหนังสือไม่ใช่ของจริง
– เริ่มสนใจอักษรบางตัว
– ขีดเขียนอย่างมีความหมายมากขึ้น
ขั้นภาษาเริ่มต้น (ปลายอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 1)
– รู้ว่าสื่อรอบตัวสื่อสารข้อความบางอย่าง แต่ยังระบุความหมายชัดเจนไม่ได้
– เริ่มเห็นความแตกต่างของคำและหลักภาษาในการเขียน
– รู้จักเสียงและรูปของพยัญชนะแต่ละตัว
– ใช้ข้อมูลจากภาพและภาษาช่วยในการอ่านและตรวจสอบการอ่านของตัวเอง
ขั้นเริ่มต้น (ประถมศึกษาปีที่ 1)
เด็กในวัยนี้ยังคงอ่านออกเสียง แต่ส่วนใหญ่ไม่ชี้นิ้วไปตามคำที่อ่านแล้ว
– คุ้นเคยและจำคำที่พบบ่อยได้
– เริ่มใช้พยัญชนะและสระมาถอดรหัสคำ
– อ่านข้อความง่ายๆ ที่คุ้นเคยได้คล่องขึ้น
– ยังคงใช้ภาพตีความ แต่เริ่มอ่านข้อความที่มีภาพประกอบน้อยลงได้
หนังสือเด็กที่ควรเป็น
ในมุมมองของเกื้อกมล หนังภาพสำหรับเด็กที่ดีควรมีลักษณะร่วมกันที่สามารถจำแนกได้ดังนี้
ใช้ภาษาธรรมชาติ
กล่าวคือเป็นภาษาที่เด็กคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างกันไปในแต่ละวัย ต้องนำมาเรียบเรียงให้พอเหมาะพอดี และให้จังหวะในการอ่านที่ดี อ่านแล้วไหลลื่น เข้าถึงเด็กได้ง่าย
มีรูปแบบการนำเสนอเรื่องซ้ำๆ
กรณีเด็กเล็กหรือเด็กที่ยังไม่คุ้นเคยกับการอ่านมากนัก ไม่ว่าจะซ้ำด้วยการใช้ภาษาหรือการกระทำในเรื่อง แบบแผนนี้จะทำให้เด็กคาดเดาเรื่องได้ ติดตามเรื่องได้ง่าย
มีเอกลักษณ์หรือเกินคาดหมาย
ทั้งในแง่ของภาษา ภาพ และการนำเสนอของใหม่ๆ เพื่อจะทำให้สมองตื่นตาตื่นใจ กระหายใคร่รู้ที่จะตีความ ทำความเข้าใจ และจดจำไปใช้
ใช้ตัวละครที่เด็กๆ ผูกพัน
ตัวละครในหนังสือ ก็คือตัวละครที่เหมือนกับเด็กๆ นั่นเอง ซึ่งบางครั้งหนังสือภาพก็ใช้สัตว์ที่แสดงลักษณะนิสัยไม่ต่างจากเด็ก คือ มีชีวิตชีวา แสดงอารมณ์ทางความรู้สึกได้ชัดเจน มีทั้งนิสัยดีและไม่ดี ซึ่งเด็กจะเรียนรู้ได้ และทำให้เด็กมีส่วนร่วมไปกับเรื่องได้ดี
ให้ความสุข
ไม่ว่าเรื่องราวในหนังสือสำหรับเด็กจะเป็นเช่นไร ท้ายที่สุด หนังสือเล่มนั้นจะต้องให้ความสุขกับเด็กเมื่ออ่านจบ เกื้อกมลขยายความว่า หนังสือเด็กจะมีการคลี่คลายเสมอ และเมื่อสื่อสารได้ตรงใจเด็ก เด็กจะมีส่วนร่วมโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้เกิดความสุขที่มาจากการมีส่วนร่วมในการตีความ และความพอใจในการคลี่คลายเมื่อเรื่องราวจบลง “ความสุขที่สำคัญที่สุด คือ เด็กๆ ได้อยู่ในอ้อมกอดของพ่อแม่ด้วยค่ะ”