กิตติ สิงหาปัด: “ไม่มีใครทำลายสถานะสื่อของเราได้ นอกจากเราทำลายกันเอง”

แม้ว่าการชุมนุมทางการเมืองจะเริ่มเป็นข่าวน้อยลงท่ามกลางกระแสพิษเศรษฐกิจและการระบาดของไวรัส COVID-19 แต่ก็ไม่ได้ทำให้นักข่าวทั้งสื่อเจ้าดังหรือนักข่าวอิสระต่างๆ หยุดการเข้าไปทำหน้าที่ในบริเวณที่มีการชุมนุมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อยังคงเป็นที่ตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐพยายามแบ่งแยกความเป็น ‘สื่อแท้’ หรือ ‘สื่อเทียม’ ออกจากกันด้วยสัญลักษณ์ปลอกแขน

คำถามสำคัญอย่าง “สื่อคืออะไร” “แค่ไหนถึงเรียกว่าสื่อ” จึงนำพา WAY โคจรมาร่วมพูดคุยกับอีกหนึ่งคนทำงานสื่อชื่อดังที่มีประสบการณ์ในวงการสนามข่าวมายาวนาน อย่าง กิตติ สิงหาปัด แห่งไทยทีวีสีช่อง 3 ผู้ประกาศข่าวในรายการ ข่าว 3 มิติ อันโด่งดัง เพื่อร่วมหาคำอธิบายต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวที่ยังคงคาใจสื่อไทยทั้งผู้มีสังกัดและไร้สังกัด ท่ามกลางสมรภูมิการชุมนุมบนท้องถนนมาหลายเดือน

สื่อคืออะไร ต้องแค่ไหนถึงจะเป็นสื่อ 

“สื่อคือตัวแทนประชาชน”

เมื่อถามว่าสื่อคืออะไร กิตติตอบอย่างรวดเร็วด้วยคำนิยามที่สั้น กระชับ เขาขยายความเพิ่มเติมไว้ว่า เป็นเพราะประชาชนทั้งหมดในสังคมไม่สามารถรุดหน้าไปยังที่เกิดเหตุต่างๆ ได้ วิชาชีพนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้หน้าที่ดังกล่าว

“สอง คือมีหน้าที่ค้นหาความจริง”

กิตติพูดถึงประเด็นนี้อย่างเน้นย้ำ เนื่องจากเขามองว่าความเป็นสื่อนั้นมี ‘อภิสิทธิ์ทางวิชาชีพ’ บางอย่างอยู่ ซึ่งอภิสิทธิ์ตรงนี้เป็นสิ่งที่สังคมและกฎหมายเป็นผู้มอบให้แก่คนทำงานสื่อ ดังนั้นสื่อจึงมีหน้าที่อีกประการนอกจากรายงานสถานการณ์แล้ว คือการใช้อภิสิทธิ์นี้ในการเข้าไปสืบเสาะหาความจริงจากแหล่งข่าวต่างๆ ที่ประชาชนทั่วไปยากจะเข้าถึง เพื่อนำมาบอกเล่าต่อไป

ทว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปด้วยการมาถึงของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่ทำให้ทุกคนมีกล้องติดตัว พร้อมจะรายงานข่าวหรือถ่ายทอดสดได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในวิชาชีพสื่อนั้น กิตติได้อธิบายเอาไว้ว่า กรณีนี้อาจมีทั้งความเหมือนและความต่างระหว่างสื่อวิชาชีพกับคนทั่วไปในการรายงานสถานการณ์ต่างๆ 

“ในแง่ความเป็นอิสระในการทำงานนั้นทุกคนมีเหมือนกัน แต่ในแง่สถานะความเป็นสื่อนั้นไม่เหมือนกัน” เขากล่าว

ข้อแตกต่างสำคัญที่กิตติอธิบายเอาไว้คือ สื่อมวลชนที่มีลักษณะทางการนั้นถูกกำหนดเอาไว้ในกฎหมายต่างๆ อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว เช่น การอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภาเพื่อทำข่าว ไปจนถึงสื่อสายกีฬาที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกให้เข้าไปรายงานการจัดแข่งกีฬาครั้งสำคัญๆ ในสนามต่างๆ ตรงนี้คือข้อเท็จจริงที่ประเทศไหนก็มีเหมือนกัน

ส่วนคำพูดที่กล่าวว่า “ทุกวันนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” เขามองว่าก็เป็นคำกล่าวที่ถูก แต่ถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะทุกคนสามารถเป็นสื่อในระดับปัจเจกได้ เช่น การรายงานสถานการณ์หรือแจ้งข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัว ซึ่งเขาให้ข้อสังเกตว่าในหลายครั้งสื่อปัจเจกเช่นนี้ก็มีความรวดเร็วกว่าสื่อในวิชาชีพเสียอีก เพราะอยู่ในพื้นที่โดยตรง หรืออาจพบเห็นเหตุการณ์แล้วรายงานได้ทันที แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ สถานะในการทำงานดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ปลอกแขน สังกัด และสถานการณ์การชุมนุม

ประเด็นร้อนแรงที่สุดในวงการสนามข่าวการเมืองในช่วง 1 ปีมานี้ คงหนีไม่พ้นสถานะความปลอดภัยของสื่อในพื้นที่การปะทะ ซึ่งทำให้ปลอกแขนสื่อมวลชนกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญขึ้นมาทันทีในสายตาของเจ้าหน้าที่ขณะทำการสลายการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนทุกคนจะมีปลอกแขน และไม่ใช่ทุกคนที่มีปลอกแขนจะรู้สึกปลอดภัยในการทำงาน

“ผมเห็นด้วยเรื่องปลอกแขนว่าทุกคนที่เป็นสื่อต้องมี ไม่ว่าจะเป็นสื่อภาคประชาชน สื่อมือถือเครื่องเดียว ก็ต้องหาทางมีปลอกแขนเพื่อแยกตนเองว่าไม่ใช่ผู้ชุมนุมให้ได้” 

เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีปลอกแขนสื่อ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการสลายการชุมนุม และเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการสวมปลอกแขนในพื้นที่การชุมนุมว่า ในช่วงแรกมาจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง นับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรื่อยมาจนถึงยุค กปปส. เนื่องจากผู้ชุมนุมต้องการจำแนกให้ได้ว่าผู้ที่เดินเข้าออกหลังเวทีนั้นใครบ้างที่เป็นสื่อ และใครบ้างที่อาจจะแฝงตัวเข้ามา

ส่วนในกรณีปัจจุบันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้นผู้ที่ไม่มีปลอกแขน ไม่ให้ทำการถ่ายทอดสด ถ่ายภาพ หรือรายงานข่าวนั้น กิตติกล่าวว่าคงห้ามได้แต่เพียงลมปาก เพราะทุกคนในพื้นที่ชุมนุมต่างก็มีโทรศัพท์มือถือกันทั้งนั้น และหลายคนในพื้นที่ก็คือคนที่คอยส่งรูปหรือคลิปให้นักข่าวเสียด้วยซ้ำ 

“ในแง่ความปลอดภัย ปลอกแขนนั้นจำเป็น ถ้าผมไปทำข่าว ผมเองก็อยากมีปลอกแขน ถ้าใครไม่ให้ ผมก็หาเอง อย่างเช่นเมื่อครั้งที่ผมไปรายงานข่าวการชุมนุมที่ฮ่องกง ผมต้องสวมทั้งหมวกและปลอกแขน เพื่อให้ผู้ชุมนุมและตำรวจรู้ว่า เราคือ Press ซึ่งเป็นเรื่องของความปลอดภัยส่วนบุคคล”

กิตติกล่าวว่า การมีสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกสถานะว่าตนเองกำลังทำหน้าที่สื่อนั้น สามารถทำได้หลายรูปแบบ อาจจะเป็นเสื้อกั๊กสะท้อนแสง ป้าย ‘Press’ แปะบนเสื้อ ไปจนถึงปลอกแขนทำมือ เขาสรุปอย่างง่ายว่า สัญลักษณ์เหล่านี้จะซื้อหามาเองก็ย่อมได้ เพราะมันคืออะไรก็ได้ที่จะบ่งบอกผู้คนว่าเรามาทำงานในฐานะสื่อ แต่ขณะเดียวกันผู้ทำหน้าที่สื่อทุกคนก็ต้องหวงแหนสถานะความเป็นสื่อของตนเองด้วยเช่นกัน 

“ไม่มีใครทำลายสถานะความเป็นสื่อของเราได้ นอกจากเราทำลายกันเอง ซึ่งอนาคตก็จะทำให้ทำงานกันยากและเกิดความโกลาหลกันไปหมด”

ในเมื่อสวมใส่สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าตนเองเป็นสื่อแล้ว เหตุใดยังมีผู้สื่อข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยางจนได้รับบาดเจ็บอยู่ กิตติกล่าวย้ำว่า สัญลักษณ์ความเป็นสื่อทั้งหลายไม่ได้ช่วยป้องกันการถูกยิง มันเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่คอยเตือนว่าเราคือสื่อและกำลังทำหน้าที่สื่อเท่านั้น แต่หากได้รับบาดเจ็บจากการปะทะขึ้นมาก็จะเป็นประโยชน์ในการต่อสู้กันในชั้นศาลต่อไปได้ว่า ทำไมผู้ที่ทำหน้าที่สื่อถึงถูกยิงด้วยกระสุนยาง เป็นต้น

กรณีสื่อถูกจับ และข้อคิดเห็นถึงทุกฝ่ายในภาคสนาม

จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวราษฎรถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว กิตติกล่าวว่า เขาเองไม่แน่ใจนักว่าเจ้าหน้าที่ใช้ข้อหาอะไรในการจับกุมครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวจริงๆ แล้ว ย่อมเป็นเหตุผลสำคัญในการต่อสู้คดีในชั้นศาล

เขายังกล่าวต่อไปอีกว่า การจับกุมในลักษณะนี้หากเกิดขึ้นแล้วก็ต้องไปต่อสู้คดีกันในทางกฎหมาย ซึ่งหากเหตุผลของทางฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่เพียงพอก็จะทำให้จำเลยมีโอกาสที่จะชนะได้ทุกคดี 

“ผมว่าเรื่องพวกนี้ไม่ต้องเป็นห่วง มันก็เหมือนการจับประชาชนนั่นแหละครับ ไม่ต้องพูดถึงการจับสื่อมวลชน เพราะการจับคนไม่มีความผิด มันไม่มีเหตุผลในการเข้าจับกุมทั้งสิ้นอยู่แล้ว”

ท่ามกลางการปะทะที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกการสลายการชุมนุมตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะที่จะเสนอต่อผู้ทำงานภาคสนาม ไม่ว่าจะทั้งฝั่งสื่อมวลชนที่ต้องเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ หรือทางฝั่งเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ประสานกับสื่อมวลชน กิตติสรุปเอาไว้ว่า

“หลักสากลโดยทั่วไปคือ การที่ทุกคนเคารพการทำงานซึ่งกันและกัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยส่วนตัว เจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าใจว่าเราเป็นสื่อ เราเข้ามาทำงาน เราไม่ได้เข้าไปเพื่อมีเรื่องกับตำรวจ ส่วนสื่อก็เข้าไปดูเหตุการณ์ เข้าไปรายงานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แค่นั้น”

การเคารพการทำงานระหว่างกันและกันนี้ กิตติกล่าวย้ำต่อไปว่า เจ้าหน้าที่ไม่ควรมองสื่อมวลชนว่าจะเข้ามาจับผิดการกระทำต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็ไม่ควรคิดว่าจะเข้าไปยังพื้นที่เพื่อจ้องหาทางเล่นงานตำรวจเพียงอย่างเดียว หากทั้งสองฝ่ายเคารพในการทำงานซึ่งกันและกัน ก็จะไม่เกิดปัญหาพิพาทขึ้น

“นักข่าวไม่สามารถสร้างข่าวขึ้นมาเองได้หากเหตุการณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้น นักข่าวรายงานตามสิ่งที่เกิด สัมภาษณ์ทั้งตำรวจและผู้ชุมนุมตามความเป็นจริง หากทุกคนเคารพหน้าที่ของกันและกัน ก็จะไม่มีปัญหาครับ”

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า