ความหมายของ gap year นั้นเลื่อนไหลจากการเป็นช่วงรอยต่อระหว่างชีวิตนักเรียนมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย ก่อนจะเข้าสู่ชีวิตการทำงาน กลายเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้เจาะจงว่าจำต้องเกิดขึ้นในช่วงใดของชีวิต ในโลกปัจจุบันที่การดำเนินชีวิตตามขั้นตอนแบบมาตรฐานถูกตั้งคำถามและท้าทาย บ่อยครั้ง gap year อาจไม่ได้เกิดขึ้นบนรอยต่อระหว่างขั้นการศึกษา และมนุษย์ในระบบแรงงานผู้เหนื่อยล้าอาจคิดถึงช่วงเวลาหนึ่งที่เป็นช่องว่างจากกิจวัตรเดิมๆ เพื่อค้นหาความหมาย ทดลอง หรือใคร่ครวญกับคำถามในชีวิต
หลายคนอาจคุ้นเคยกับชื่อ ป๊อบ-กิตติพงษ์ หาญเจริญ พ่วงมากับ ‘มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ’ และ ‘Gap Year Program’ ที่แสนจะสร้างแรงบันดาลใจและน่าสนใจ
ดูเหมือนเขาจะมีโปรเจ็คต์ใหม่ๆ อยู่ตลอด แต่หากถามกิตติพงษ์ว่า หากให้นิยามจุดแข็งของตน เขาจะนิยามว่าเป็นเพียงเพื่อนที่จริงใจ เป็นเพื่อนผู้อยากสร้างชุมชนที่คนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
1
เยียวยาบาดแผล
อาจไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่ gap year ครั้งแรกของตัวป๊อบเอง คือ การไหลไปเรื่อยเมื่อความทะเยอทะยานไม่เป็นไปดั่งภาพฝัน
“ตอนปี 4 เทอม 2 ของการเรียนฟิล์ม ต้องทำโปรเจ็คต์จบ เอ้อ…เป็นคนชอบทำโปรเจ็คต์ใหญ่ แล้วชวนหลายๆ คนมาทำด้วยกันโดยไม่ได้เจตนา หมายถึงว่า เราเชื่อว่ามันเป็นไปได้ แล้วก็มีคนเชื่อไปกับเรา ฝันไปกับเรา แล้วพอทำจริงมันยากกว่าที่คิด เราคงมีธรรมชาติแบบนี้ในตัวมาตั้งนานแล้ว ตอนปี 4 คือจะทำหนังใหญ่ ชื่อ Summer Melody โดยตั้งใจว่าจะต้องฉายในโรง
“เราเป็นคนเขียนบทเอง แล้วก็ทำเพลงกับวัยรุ่นมัธยมเอง เป็นหนังเกี่ยวกับหน้าร้อนหนึ่งที่เด็ก ม.ปลาย 5 คน มาเล่นดนตรีด้วยกัน เป็นหนังสไตล์วัยรุ่น
“ความตั้งใจคืออยากขายให้ GTH แล้วปีนั้น GTH ก็มีเรื่อง Season Change เป็นหนังรักที่อยู่ใน campus ดนตรี แต่อันนี้คือหนังดนตรีเลย เป็นหนังที่เน้นเรื่องมิตรภาพและดนตรีมากๆ วางโทนเหมือนหนังญี่ปุ่นกรุ่นๆ หน่อย แต่ก็รั่วนิดๆ
“ตอนที่เราเรียนจบมามันเป็นรอยต่อ แคสต์นักแสดงเสร็จแล้ว บทเสร็จแล้ว คือพร้อมถ่าย แต่สภาพตอนนั้นที่ยังไม่ค่อยมีช่องทางฉาย ไม่มี YouTube คือถ้ามันไม่ผูกกับค่ายก็ไม่ได้ฉายโรง เราดันไปยึดว่าเราอยากให้มันได้ฉายโรง ก็เลยต้องไปหาค่าย
“สุดท้ายเราเลือกไปหาสหมงคลฟิล์ม เพราะมีรุ่นพี่เคยทำหนังกับค่ายนี้ (กั๊กกะกาวน์) แต่สุดท้าย โปรเจ็คต์เราก็ไม่มีคำตอบ แล้วก็แยกย้ายกันไปแบบเงียบๆ งงๆ รู้สึกผิดกับน้องๆ หลายคนที่เราชวนเขามาลงเรือกับเรา แต่สุดท้ายก็จบไปแบบงงๆ เลยทำให้เกิด gap year ขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจ เพราะช่วงหลังเรียนจบแล้วก็ไม่รู้ว่าหนังมันจะได้ทำ หรือไม่ได้ทำ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้
“รู้ตัวอีกทีคือ เพื่อนบอก กูไปทำงานแล้วนะ กูไปสมัครงานแล้วนะ ป๊อบโทษที หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วก็แยกย้ายกันไป
2
พักจากตลาดแรงงานที่สวนพันพรรณ
จากความสนใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย กิตติพงษ์รวมตัวกับเพื่อนๆ ในนาม ‘กระต่ายตื่นตัว’ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผลิตรายการโทรทัศน์ป้อนช่อง 11 และไทยพีบีเอส เพื่อสื่อสารในประเด็นที่เกี่ยวกับผู้บริโภค
“ชีวิตช่วงนั้นช่วยให้ผมจับประเด็นสองประเด็นได้ คือ เรื่องเกษตรอินทรีย์กับโรงไฟฟ้า เราได้ทำอยู่หลาย episode ก็เลยทำให้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากๆ” กิตติพงษ์เล่าว่า นั่นเหมือนจุดเชื่อมโยงจากความสนใจในวัยเด็ก
“ตอน ป.5 ผมเรียนพิเศษที่โรงเรียนกานดา แถวลาดพร้าว เด็กส่วนใหญ่จะชอบไปติวเข้าบดินทร์ [โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)] ผมก็ไปเรียนกานดา เป็นโรงเรียนโหดๆ เนิร์ดๆ เรียนอัดๆ แบบโคตรไม่มีความสุข แต่จำได้ว่ามีครูคนหนึ่งแกสอนเรื่องโฟม เรื่องสาร CFC โฟมไม่ย่อยสลาย แล้วถ้าเผาโฟมมันก็จะไปทำลายโอโซนโลกอีก และโลกกำลังจะเข้าสู่สภาวะโลกร้อน จากทั้งรู้รั่วของโอโซนและก๊าซเรือนกระจกต่างๆ อันนั้นคือความรู้ตอน ป.5 ซึ่งเราก็ช็อกว่า จริงเหรอวะ เรากำลังอยู่ในโลกที่หายนะ เรื่องภาวะโลกร้อนดูเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ แล้วเราก็งงมากว่า ทำไมผู้ใหญ่ไม่พูดถึงเลย ทั้งที่เรื่องมันใหญ่ขนาดนี้
“กระทั่งเรื่องสิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นกระแสอีกทีจากหนังสารคดีเรื่อง Inconveniece Truth ซึ่งเนื้อหาของมันไม่ต่างจากที่เราได้ยินครั้งแรกตอน ป.5 มันคือเรื่องเดิม”
กิตติพงษ์ทำงานสื่อกับทีมกระต่ายตื่นตัวอยู่ประมาณ 2 ปี ควบคู่ไปกับความสนใจแง่มุมทางศาสนา
“ก่อนหน้านั้นผมสนใจเรื่องการคิด แล้วถึงจุดหนึ่งก็ตกผลึกได้ว่า ‘เชี่ย…กูฉลาดฉิบหาย เวลากูเถียงคนอื่น กูเถียงได้หมดเลย แต่ทำไมไม่มีความสุขเลยวะ’ นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้สนใจเรื่องธรรมะ
“มันปนๆ กับความคิดที่ว่า ที่ผ่านมาเราพยายามทำให้ตัวเองมีความสุขมาโดยตลอด แต่สุดท้ายชีวิตเรา ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน เราจะมีทั้งความสุขและความทุกข์เสมอ เราเคยโฟกัสเรื่องอยากสุข อยากสนุกใช่ไหม แต่สุดท้ายก็ยังมีความทุกข์อยู่ดี
“ดังนั้นหลังจากนี้เราไม่ต้องสนใจแล้วก็ได้ ว่าจะทำอะไรเพื่อมีความสุข เราโฟกัสดีกว่าว่า เราทำอะไรแล้วมันจะเป็นประโยชน์ แล้วความคิดนี้ก็เริ่มก่อตัว ทำให้เริ่มคิดไปถึงสังคม คือขยายจาก spiritual เข้าสู่สังคมมากขึ้น”
จากการได้ไปคอร์สสั้นๆ ของ วิจักขณ์ พานิช ที่สวนพันพรรณ กิตติพงษ์ได้ฟัง โจน จันใด บรรยายเรื่องเมล็ดพันธุ์แล้วเกิดแรงบันดาลใจอย่างมาก เขาจึงใช้ชีวิตที่พันพรรณอยู่ถึง 4 ปี โดยไม่ใช่แค่การไปพักร้อนชั่วคราว
“ตอนแรกไม่คิดว่าจะออก (จากสวนพันพรรณ) คิดว่าจะอยู่นี่เลย เพราะเราจะไปทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ มันมี mission มันเป็นหน้าที่ เราตั้งใจว่า ‘เราจะเป็นบรรพบุรุษที่ดี’ ความคิดอันนี้แรงสุด ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องหลักอยู่นะ เลยทำให้สนใจเรื่องการศึกษา เรื่องการเมือง เราตั้งใจว่าจะไม่ส่งต่ออะไรที่ไม่ดี เมล็ดพันธุ์ที่ต้องพึ่งสารเคมี การศึกษาที่ทำให้คนมีปัญญาลดลง เกษตรแบบผูกขาด การคอร์รัปชันเละเทะ คืออยากให้มันจบที่รุ่นเราอะ คือความรู้สึกนี้มันมีอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนจะมีคำนี้”
ช่วงเวลา 4 ปีที่สวนพันพรรณ กิตติพงษ์ได้พบเจอกับคนมากหน้าหลายตาที่มาเทคคอร์ส พวกเขาล้วนมีพื้นเพหลากหลาย แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะกลับไปแล้วสามารถทำการเกษตรเป็นวิถีชีวิต แต่ที่แน่ๆ คือ เป็นการใช้เวลาเพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่การศึกษาในระบบไม่เคยสอน
“พันพรรณเป็นเหมือนโรงเรียนทางเลือกที่ทำให้เราเห็นว่า เฮ้ย มนุษย์แม่งเรียนรู้เร็วมาก ถ้าได้ลงมือทำแค่นั้น จบ ไม่มีอะไรซับซ้อน ทำเลย อยากทำอะไรทำเลย เราไม่ได้อยากเป็นคนกำหนดโจทย์ให้ว่าจะต้องทำอะไร มันเป็นเหมือนมุมมองของเราต่อเรื่องการศึกษา คืออยากทำอะไรก็ทำอันนั้นเลย แล้วเดี๋ยวได้เรียนรู้จากสิ่งนั้นเองนั่นแหละ
“คนมากมายที่มาที่สวนพี่โจน มีความสนใจหลากหลาย แต่เข้ามาเพราะหลงคารมพี่โจนเป็นหลัก (หัวเราะ) พวก ‘ชีวิตต้องง่ายๆ ถ้ามันยาก แสดงว่ามันผิด’ อะไรอย่างนี้ หรือสนใจเรื่องบ้านดินนี่ก็เยอะ ฮิตสุด รองลงมาคือเกษตรอินทรีย์ กับเรื่องเมล็ดพันธุ์”
แล้วประสบการณ์ที่สวนพันพรรณ มันจริงไหมที่ว่าชีวิตควรจะต้องง่ายๆ — เราสงสัย
“มันไม่เสมอไป ปกติของพันพรรณคือไม่มีสูตรสำเร็จ แต่มองในอีกมุมก็เหมือนคนไม่ใช้ความรู้เหมือนกันนะ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องโรคพืช พี่โจนจะไม่ได้มาบอกว่าใช้วิธีการอย่างนี้สิๆ แต่แกจะบอกทำนองว่า ‘อ๋อ ต้นนี้อ่อนแอไง ก็เลยมีศัตรูพืช ต้นที่แข็งแรง บาลานซ์ดี สิ่งแวดล้อมหลากหลายเนี่ย ไม่ค่อยเป็นโรคหรอก ต้นที่อ่อนแอก็ตายไป”
ในแง่หนึ่ง กิตติพงษ์เองก็ได้เรียนรู้ว่า บางทีการแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด
“พี่โจนแทบไม่ได้บอกอะไรผมเลยนะ ยกเว้นช่วงไหนที่เราทำงานไม่ทัน เราจะรู้สึกได้เลยว่าแกเริ่มเป็นห่วงแล้ว อย่างเช่น กองนั้นทั้งกอง ผมนั่งทำทีละกิ่ง แล้วแกรู้สึกว่ามันช้ามาก แกก็เลยเดินมาถามว่า ให้ช่วยไหม แป๊บเดียวเสร็จเลย แต่แกไม่ใช่จะกระโดดเข้ามาทำให้ แกจะถามเราก่อน เหมือนแกให้เกียรติเรามากๆ แกเป็นคนไม่เผือกอะ แกให้พื้นที่เราจริงๆ ถ้าแกเห็นท่าไม่ดี รู้ว่าเราจะลำบาก แกค่อยมาเสนอ แล้วถ้าเรายืนยันว่า ไม่เป็นไรครับ แกก็เดินไป
“ถ้าเราถาม ‘พี่จะทำยังไง’ นั่นแหละ แกถึงจะทำให้ดู ซึ่งพอเราถาม แกสาธิตให้ดูเลย แกเอากิ่งทั้งกองนั่นมายัดใส่กระสอบ แล้วแกก็เหยียบๆๆๆ แล้วเปิดกระสอบ เทออก เสร็จ แทนที่จะเอามือรวบทีละอัน อันนี้คือจริง เราได้วิธีใหม่จากแก หลังจากนั้นเราก็เหยียบๆๆ พาคนอื่นทำก็เหยียบๆๆ ให้ดู เร็วกว่าจริงๆ แต่แกจะไม่เข้ามาเหยียบโชว์ถ้าเราไม่อนุญาต ผมรู้สึกว่าพี่โจนแกเคารพพื้นที่การเรียนรู้ของเรามากๆ เลย แล้วผมก็เลยรู้สึกว่า มนุษย์มันควรได้อะไรแบบนี้จากระบบการศึกษา”
ประสบการณ์ที่พันพรรณเป็นเหมือนกระบวนการสร้างการเรียนรู้ในฐานกาย ที่อาจพร่องไปจากระบบการศึกษาตามมาตรฐานในสังคม ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานในโรงเรียนอยู่แล้ว ทั้งสนามหญ้ากว้างๆ กองทราย ใบไม้ใบหญ้า ฯลฯ
แต่ที่มากกว่าการเรียนรู้จาก gap year สวนพันพรรณยังให้สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การเรียนรู้ในการอยู่ร่วมเป็นชุมชน
“สวนพันพรรณเป็นที่ที่ไม่มีกฎชัดเจน มีแต่คล้ายๆ พอรู้กันว่าประมาณนี้ แล้วแกเลือกที่จะไม่ออกกฎ เพราะแกเห็นว่าทุกๆ ที่ที่มีกฎ ก็มักมีคนแหกกฎ แกก็เลยบอกว่า ถ้างั้นไม่ออกกฎดีกว่า คนจะได้พัฒนา common sense”
3
Gap Year Program มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ
จากความสนใจในแง่มุมเรื่องการศึกษา หลังออกจากสวนพันพรรณ กิตติพงษ์จึงใช้ความรู้ที่บ่มเพาะมาเริ่มโปรเจ็คต์ ‘มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ’ ซึ่งเป็นการออกแบบหลักสูตรระดับปริญญาที่เน้นไปที่ project-based learning โดยเริ่มจากการลงหลักปักฐานบนที่แปลงหนึ่งที่ปากช่อง ก่อนจะพัฒนาเป็นโครงการเรียนรู้ในระยะเวลา 6 เดือนที่ชื่อว่า Gap Year Program
Gap Year Program เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบ on the road จากเหนือจรดใต้ อาทิ วิชาด้านการเกษตร ปลูกป่า ทำนา ดูงานในฟาร์มออร์แกนิค ในพื้นที่ทางภาคเหนือและอีสานอย่างลำปลายมาศ กุดชุม หนองกี่ เติมความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับโลกที่อาศรมธรรมชาติ หนองคาย สร้างสมดุลในชีวิตแบบองค์รวมที่ปากช่อง ใช้ชีวิตง่ายๆ ที่สวนพันพรรณ ลงใต้ไปเรียนรู้ระบบนิเวศชายฝั่งที่ปากบาราและจะนะ เรียนรู้จากภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอ เข้ากระบวนการทางศิลปะ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์ การสื่อสาร และการทำความเข้าใจเพื่อรู้จักตัวเอง ฯลฯ
Gap Year Program ครั้งนั้น ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้มากมายในรายทางของผู้ที่เข้าร่วมและตัวผู้จัดเอง หากให้กิตติพงษ์ถอดบทเรียนจากโปรเจ็คต์นี้ เขามักจะเกิดคำถามว่า “สรุปเรามาเรียนรู้หรือมาค้นหาตัวเอง”
“ณ มุมหนึ่งมันก็เป็นเรื่องเดียวกัน อีกมุมหนึ่งมันแยกไปคนละเรื่องได้ แล้วสมมุติบางเรื่องในโปรแกรมบางคนไม่ได้อินล่ะ แต่การไปอยู่ในแต่ละพื้นที่ที่มีกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป อิสรภาพแต่ละคนมันได้แค่ไหน ความรับผิดชอบมากแค่ไหน ซึ่งเรารู้สึกว่าหลายครั้งการมีหลายๆ คนต่างภูมิหลัง ต่างความต้องการ มาอยู่ในทริปยาวๆ เหมือนกัน แล้วแต่ละที่ของทริปมีจุดโฟกัสที่ไม่เหมือนกัน เลยรู้สึกว่า ถ้าเลือกได้ อยากทำ Gap Year Program ที่ออกแบบมาให้แต่ละคนต่างกันไป
“เพราะจริงๆ โปรแกรมของเราจะแยกเป็นก้อนก็ได้ เช่น ศิลปะ DIY เซ็ตหนึ่ง จิตวิญญาณ ความสัมพันธ์เซ็ตหนึ่ง และการเกษตรธรรมชาติอีกเซ็ตหนึ่ง ถ้าแยกกันอาจจะจัดการได้ง่ายกว่า
“หลังจากที่เราได้ลองทำทริป gap year เราเลยได้ข้อสรุปว่า ควรเป็นพื้นที่ที่เจอกันตรงกลางระหว่างแรงผลักดันข้างในของคนคนนั้น กับสิ่งที่คนคนนั้นจะได้เรียนรู้จากโลกภายนอก”
กว่า 10 ปีในชีวิตทางเลือก กิตติพงษ์ได้พบเจอกับความฝันของคนมากมาย
“กรณีคลาสสิกที่เจอบ่อยมากคือ บั้นปลายชีวิตอยากอยู่ต่างจังหวัด อันนี้ฮิตมาก… อยากใช้ชีวิตเรียบง่าย พอเพียง ปลูกผักกินเอง มีบ้านอยู่ต่างจังหวัด โคตรฮิต ประโยคนี้ได้ยินจนบางทีรู้สึกอยากจะอ้วก คือ อีกแล้วเหรอวะ”
นี่ก็อาจเป็นตัวชี้วัดอะไรบางอย่างถึงภาวะที่ผู้คนยุคนี้ถูกหล่อหลอม แม้กระทั่งความฝันถึงบั้นปลายยังมีภาพฝันคล้ายๆ กัน
“แต่เราเข้าใจ เราไม่ได้ติดที่ความฝัน แต่ที่รู้สึกคือ เฮ้อ…คือเราเห็นด้วย แต่หลายๆ ครั้งเรารู้ว่า เขาจะไม่ทำมัน เขากะว่าสักวันตอนแก่ๆ เขาจะเริ่ม ซึ่งวันนั้นมันจะไม่มี เพราะวันนี้เขายังไม่ได้เริ่มเลย
“ตอนนั้นเขาจะแรงน้อยกว่าตอนนี้ ไฟอาจจะไม่เท่านี้อีกแล้ว สุดท้ายเขาจะเอาเงินที่เขาเก็บมาใช้ทำ แล้วมันจะไม่เหมือนที่เขาคิดไว้แล้ว เพราะว่าทักษะการเกษตรมันเป็นเรื่อง skill มันไม่ใช่เรื่องความรู้อย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องที่แบบว่า คิดเสร็จแล้วทำได้ทันที
“เราเคยสอน ‘จอบ 101’ กับหลายๆ คน ‘พี่ๆๆ อย่าใช้จอบท่านั้นท่านี้ เดี๋ยวหลังพี่จะพัง พี่เซฟหลังหน่อย พี่ยืนตัวตรงๆ แล้วใช้แขนอย่างเดียว ก็ทำให้ดู สักพักเขาก็ทำได้ มันทำให้เราเห็นเลยว่า จอบ 101 สำคัญมาก พอคนบอกว่า เดี๋ยวตอนแก่ค่อยทำ เดี๋ยวจะโน่นจะนี่ แต่กลับไม่เริ่มต้นวันนี้ ไม่ฝึก skill อะไรเลย เรารู้สึกเลยว่าพอถึงวันนั้น มันก็ยิ่งเกิดขึ้นยากกว่าวันนี้อีก”
4
friends & forest และชีวิตยากๆ ที่พี่โจนช่วยไม่ได้
ปัจจุบันป๊อบและมิตรสหายอีก 5 คน ย้ายรกรากมาอยู่ที่สวนแห่งหนึ่งที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในอาณาเขต 28 ไร่ ป๊อบเปิดให้เพื่อนๆ ใน Facebook โหวตชื่อกัน จนได้ชื่อว่า ‘friends & forest’ ที่นี่เคยเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตต้นไม้ มีไม้ล้อมมากมายตามสมัยนิยมวางเรียงรายรอให้ลูกค้ามาจับจอง
“ตอนเราเริ่มทำ มหา’ลัยแห่งความรักและธรรมชาติ มันเป็นที่ดินเปล่าๆ เราเหมือนเริ่มจากศูนย์ แต่ที่นี่ (friends & forest) เหมือนเริ่มจาก 100 ถ้าถามว่าอะไรง่ายกว่ากัน เริ่มจากศูนย์ง่ายกว่าเยอะ”
กิจวัตรประจำวันของเหล่าเพื่อนผู้บุกเบิกคือ การรดน้ำต้นไม้ ดูแลและย้ายไม้ล้อมลงตามผังบริเวณที่ออกแบบใหม่ เก็บเศษวัสดุแปลกปลอมประดามี ไม่ว่าจะเป็นไนล่อน ตะปู เศษแก้ว ฯลฯ ออกจากผืนดิน แก้ปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ จดบันทึกทำผังท่อประปา เมื่อรถขุดเจอแนวท่อโดยไม่คาดฝัน
บ่ายวันนั้นป๊อบชี้ให้เราดูแนวคูชลประทาน บ่อขุด และระบบกรองน้ำที่ลงทุนติดตั้งขึ้นมาใหม่ มีแทงค์เก็บน้ำสแตนเลสบนหอสูง ผ่านถังกรอง 3 ถัง ที่บรรจุฟิลเตอร์กรองต่างชนิดกันไป
“ตอนปรึกษาพี่โจน แกแนะนำว่าไม่ต้องใช้ปั๊มน้ำหรอก เราตั้งแทงค์ขึ้นไปสูงๆ แรงดันน้ำก็พอเอง แต่สูตรพี่โจนใช้ไม่ได้กับที่นี่ (หัวเราะ) ภูมิประเทศมันไม่เหมือนกัน”
ป๊อบพูดถึงแนวคิดของ โจน จันใด ที่ว่าชีวิตควรจะเป็นเรื่องง่ายๆ อะไรที่มันยาก แปลว่ามันผิด “ที่นี่ ยังไม่มีอะไรง่ายๆ เลย” ป๊อบพูดด้วยรอยยิ้ม “พวกเราเจอโจทย์ที่คาดไม่ถึงมาหลายเดือนติดละ”
เราเดินดูรอบสวน อาณาเขตสองฝั่งที่ติดกับ friends & forest คือนาข้าว
“วันที่เขาพ่นสารเคมีแล้วฟุ้งมาถึงสวนเรา เราก็ไปคุยนะ รู้ว่าถ้าบอกไปว่าอย่าใช้สารเคมีเลย ไม่เวิร์คแน่ เลยถามว่าสนใจอยากทำนาข้าวปลอดสารไหมครับ ถ้าทำนะเราพร้อมรับซื้อเลย แต่ลุงเขาไม่เอา”
ปัญหาเรื่องนี้ซับซ้อนกว่าที่คิด และกิตติพงษ์ก็เข้าใจถึงปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง
“เราต้องเข้าใจก่อนว่า ส่วนใหญ่คนที่อยากมาทำอินทรีย์ อยากมาทำเศรษฐกิจพอเพียง สนใจเรื่อง permaculture ถ้าเราสังเกต ส่วนใหญ่คือคนมีตังค์นะ เป็นคนชั้นกลางหรือรวยเลย คนทำเกษตรเคมีส่วนใหญ่คือคนจนนะ คือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศด้วยซ้ำ แค่นี้ก็ควรเริ่มตะหงิดแล้วว่า เฮ้ย เกิดอะไรขึ้นวะ
“มันเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องความรัก คือเรามองหาสิ่งที่เราไม่มี คือคนที่มีทุกอย่างแล้ว แต่ขาดความเรียบง่ายของชีวิต ขาดธรรมชาติ แต่ทีนี้บางคนก็แค่ กูไม่ต้องการหาความเรียบง่าย กูอยากมีกิน อยากมีตังค์ส่งลูกไปโรงเรียน อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้
“มันมีความจริงอยู่ในทั้งสองด้าน เลยคิดว่าจุดที่ค่อนข้างไปได้ดีเท่าที่ผมเห็น คนที่มีพื้นฐานเคยทำเกษตรเคมีมาก่อนแล้วค่อยๆ ขยับมาเป็นเกษตรปลอดภัย ค่อยๆ ขยับเป็นปลอดสาร ค่อยๆ ขยับเป็นอินทรีย์ ผมว่ามันจะมีความจริงบางอย่างอยู่ในนั้น ไม่ใช่ว่าวาร์ปมาได้เลย อย่างนาข้าวสองข้างที่ผมไปคุยเนี่ย การจะเปลี่ยนพันธุ์ข้าวของเขานี่เรื่องใหญ่มากนะ”
สุดท้ายการจะตอบคำถามว่า ทำไมคนถึงไม่เลือกทำเกษตรอินทรีย์ ในแง่มุมของ friends & forest คืออะไร
“เกษตรกร คือหนึ่งในอาชีพที่ใช้ปัญญามากที่สุด จริงๆ เกษตรกรไม่ใช่งานที่ถูกมองว่าเป็นคนโง่นะ ถ้ามองตามรากเดิม วรรณะกษัตริย์มันคือวรรณะเกษตร กษัตริย์คือผู้ที่จัดสรรพื้นที่เรื่องการเกษตรกับคนต่างๆ หรืออย่างตอนพระพุทธเจ้าทำสมาธิเกิดฌานสมาบัติครั้งแรกก็ตอนที่ไปแรกนาขวัญกับพ่อ พระเจ้าสุทโธทนะ เราไม่เชื่อเรื่องวรรณะนะ ไม่ได้อินเรื่องวรรณะนะต้องบอกก่อน แค่มองว่าเกษตรกรจริงๆ แล้วมันไม่ใช่อาชีพของศูทร (วรรณะผู้ใช้แรงงาน) แต่มันคือเซนส์ของวรรณะกษัตริย์
“ยิ่งเกษตรอินทรีย์ เราจะรู้เลยว่ามันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างดิน พืช น้ำ ดวงดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ ทีนี้เกษตรอุตสาหกรรมที่อ่านตามกระป๋อง มันจะค่อยๆ เปลี่ยนมาสู่เกษตรที่เราต้องอ่านพืช อ่านดิน อ่านน้ำ เราก็ต้องให้เวลาเหมือนกัน ดังนั้นจะไปมองว่า เขาดักดานอะไรอย่างนี้ มันไม่แฟร์”
แม้แนวคิดเรื่องการทำให้ทุกอย่างง่ายจะใช้ไม่ค่อยได้ผล เมื่อกิตติพงษ์เจอเรื่องเซอร์ไพรส์ไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นรถขุดจิ้มสายไฟฟ้าและท่อน้ำใต้ดิน จนสายไฟขาด น้ำพุ่งขึ้นฟ้า (เพราะเจ้าของเดิมไม่เคยทำผังมาก่อน) หรือการย้ายต้นไม้เดิมที่ถูกล้อมทิ้งไว้จนหยั่งรากหลายร้อยต้น ต้องใช้แรงคนและแรงเงินมหาศาลเกินกว่าที่ประมาณไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาสืบทอดมาจากพันพรรณ คือสปิริตของการอยู่ร่วมกันแบบชุมชนที่ยังยืดหยุ่นให้กับกฎยิบย่อย
“ทีนี้ก็คุยกันว่า เอาอย่างนี้เพื่อให้ยืดหยุ่นกับทุกคนด้วย กับตัวผมเองด้วย ซึ่งบางทีผมเลิกงานไม่ตรงกัน งั้นเราตกลงกันก็คือ วันทำงาน ความหมายคือ 7 ชั่วโมงนะ จะทำอะไรก็ได้ที่รู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์กับสวน จะเริ่มกี่โมงและจะเลิกกี่โมงก็แล้วแต่ ซึ่งผมว่ามันโอเค ถือว่าเป็นกฎไหมก็เป็นกฎ แต่มันเป็นกฎแบบหลวมๆ หรือว่าเดือนหนึ่งเราหยุดได้ 8 วัน จะหยุดวันไหนก็แจ้งบอกเพื่อนหน่อยก็ดี ผมชอบกฎประมาณนี้ มีหลักการไว้ให้ แต่ไม่ได้บอกวิธีการมากขนาดนั้น ให้เอาไปคิดกันเอง”
เพราะการจูน common sense จะช่วยสร้างปัญญาของการอยู่ร่วมกัน
“อย่างล่าสุดที่ตกลงกันว่า ผู้หญิงสามารถหยุดงานในวันที่ปวดท้องเมนส์ได้ โดยไม่หักโควตาวันหยุด หรือการที่เราเห็นว่าบางออฟฟิศที่ก้าวหน้าในเยอรมนี เขาอนุญาตให้สตาฟไปร่วมชุมนุมทางการเมืองได้ โดยไม่หักว่าเป็นวันหยุด เพราะเราต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เราเลยคุยกันว่า จะทดลองให้มีวันหยุดพิเศษได้ปีละ 12 วัน เอาไว้ออกไปทำอะไรเพื่อส่วนรวมได้”
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ อยู่ในสวน ดูแลต้นไม้ gap year อาจมีหน้าตาที่หลากหลาย แต่คำถามข้อใหญ่คือ แล้วถ้าเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องการทำอะไร แล้วถ้าเด็กมหา’ลัยคนหนึ่งที่กำลังเคว้งคว้าง ในฐานะผู้ลองอะไรมามากมาย ป๊อบพอจะมีข้อเสนอแนะอะไรที่น่าจะทำได้จริงไหม
“ผมอยากให้ลองทบทวนตัวเองว่าอะไรที่เราเคยคิด เคยมีแรงบันดาลใจว่าจะทำ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำสักที เพราะ ‘ไม่มีเวลา’ เอาอันนั้นแหละ มาออกแบบ gap year ของตัวเองได้
“ถ้าคิดไม่ออกจริงๆ ว่าอะไรสำคัญมาก สำคัญน้อย ให้ลองหลับตานิ่งๆ กับตัวเอง จินตนาการว่าตัวเองกำลังจะตายใน 1 วัน เราจะใช้ 1 วันสุดท้ายนี้ทำอะไร?
“แล้วถ้าเราได้พร ให้มีเวลาเหลือบนโลกแค่ 1 สัปดาห์ล่ะ เราจะใช้ 1 สัปดาห์นี้ทำอะไร?
“แล้วถ้าโชคดี ได้ขยายเวลาเป็น 1 เดือนล่ะ เราจะใช้ 1 เดือนนี้ ไปทำอะไรบ้าง?
“แล้วสุดท้ายลองขยายดูว่า ถ้าเราได้เวลา 1 ปีล่ะ เราจะทำปีนี้ให้มีความหมายที่สุดยังไง?
“แล้วลองเอาที่ได้ใน 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน 1 ปี มาออกแบบ gap year ในแบบของคุณดูครับ”
ทดลองดูแล้วได้ผลยังไงมาเล่าให้ฟังได้นะ ป๊อบเสริม
5
จงใจปล่อยให้รกร้าง
gap year ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นช่องว่าง รอยต่อ เราคงไม่จำเป็นต้องตั้งความหวังสูงส่งกับช่องว่าง เพราะยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ในสภาพปัจจุบันที่มองทางซ้ายก็เห็นว่าเพื่อนเราทำธุรกิจตั้งแต่ตอนเรียน อาจจะเปิดร้านใน IG รายได้มากกว่าเงินเดือน มองทางขวาก็เห็นบางคนที่มีแผนชัดเจนว่าจะมุ่งไปทางไหน เงยหน้าก็เห็นเทคนิคการสร้างความ productive สร้าง growth mindset บริหาร EF …คำถามคือการใช้ gap year เพื่อค้นหาตัวเองนี่มันจะไม่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์หรือ — เราถาม
“เข้าใจนะ โอเคคือส่วนหนึ่งเรื่องของ productive กับ growth mindset มันเป็นเรื่องจริง เพราะในการทำงานถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้มันก็เป็นปัญหา พวกทฤษฎีเหล่านี้มันโผล่มาจากปัญหาที่เคยมีอยู่ แล้วมันต้องการจะแก้ปัญหาเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ดังนั้นเราต้องยอมรับว่าอันนี้มันเป็นความจริงด้วย คือเราไม่มองข้ามมัน เรื่อง productive กับ growth mindset เราต้องใช้ แต่ในขณะเดียวกัน ชีวิตก็มีเรื่อง passion ซึ่งจริงๆ เรื่อง passion มันคือ ฉันทะ คือตัวแรกของอิทธิบาท มันคือตัวแรกของความสำเร็จด้วยซ้ำ”
ที่บริเวณท้ายสวน ป๊อบชี้ให้ดูและบอกว่า โซนนี้เคยเจอลุงคนหนึ่งมาเผาถ่าน บรรยากาศสองข้างค่อนข้างรก มีเส้นทางธรรมชาติที่ลุงเคยบอกว่า ทะลุไปถึงหมู่บ้านได้
ป๊อปตั้งใจปล่อยโซนท้ายสวนไว้เช่นนี้ ตามหลัก permaculture ที่มักปล่อยผืนดินบางส่วนไว้ตามธรรมชาติ เพื่อให้สัตว์ แมลง และพืชพรรณงอกงามตามธรรมชาติของมันเอง
บางทีรูปธรรมของ gap year อาจหมายถึงการปล่อยบางพื้นที่ในบางช่วงเวลาให้เป็นไปของมันเอง แล้วพิจารณา
เพราะในที่ว่างนั้น อาจมีบางเมล็ดพันธุ์ที่รอวันงอกขึ้นมา