ผลงาน 7 มนุษย์ กกต. ผู้พิทักษ์การเลือกตั้ง

กกต. หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่แทนกระทรวงมหาดไทยที่เคยเป็นผู้จัดการเลือกตั้งมาแต่เดิม การจัดการเลือกตั้งครั้งแรกของ กกต. คือการเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม 2544 สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของ กกต.

จาก 5 เป็น 7

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) กกต. ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวน กกต. จาก 5 คน เป็น 7 คน

นับจากหลังรัฐธรรมนูญ 2540 คณะกรรมการ กกต. ชุดปัจจุบันนับเป็นชุดที่ 5 มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2561 และวันที่ 4 ธันวาคม 2561

การลงมติคณะกรรมการ กกต. ทั้ง 7 คน เป็นอำนาจของ สนช. ซึ่งต้องใช้การพิจารณาถึง 3 ครั้ง การลงคะแนนเลือก กกต. ของ สนช. เป็นการพิจารณา ‘ลับ’ ทุกครั้ง จนได้ กกต. ที่ไว้วางใจให้มาดำเนินการจัดการเลือกตั้ง 2562

ปรากฏว่าผู้ที่จะมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง กลับไม่ได้เป็นผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและนักกฎหมาย

ล้ม สส.ที่มาจากการเลือกตั้งได้

อำนาจใหม่ของ กกต. ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 ระบุให้ กกต. หรือ ส.ส. รวมกัน 50 คน หรือ ส.ว. รวมกัน 25 คน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยคุณสมบัติของนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้ หากเห็นว่าผู้ใดขาดคุณสมบัติก็สั่งให้พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองได้

ใบส้ม

กกต. ยังให้อำนาจใหม่ กกต. คือ ‘ใบส้ม’ ในกรณีที่พบการกระทำใดของบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตฯ ให้ กกต. แจก ‘ใบส้ม’ หรือระงับสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว (ไม่เกิน 1 ปี) ทั้งนี้ ให้อำนาจดังกล่าวให้ถือเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้

นอกจากบทบาทหน้าที่ที่ถูกเพิ่มเข้ามา งบประมาณจัดการเลือกตั้งในปี 2562 นี้ก็ถือว่าสูงกว่าครั้งที่ผ่านมา

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 กกต. ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 กกต. ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 กกต. ใช้งบประมาณ 2,159 ล้านบาท

ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 กกต. ใช้งบประมาณ 2,521 ล้านบาท

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม 2554 กกต. ใช้งบประมาณ 3,300 ล้านบาท

ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กกต. ใช้งบประมาณ 3,885 ล้านบาท

ครั้งที่ 7 วันที่ 24 มีนาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง วางกรอบงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5,800 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายที่น่าสนใจ

พิมพ์บัตรเลือกตั้ง

บริษัท ที.เค.เอส เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เสนอราคาจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 37 จังหวัด 180 เขตเลือกตั้ง จำนวนการจัดพิมพ์ 28,430,000 ฉบับ รวมเป็นเงิน 55,364,582 บาท

สำหรับการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเบตเลือกตั้งภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันอออก ปริมณฑล และกรุงเทพมหานคร จำนวนการพิมพ์ 27,670,000 ฉบับ ราคา 53,884,558 บาท ผู้เสนอราคาชนะคือ บริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคา

คูหาเลือกตั้ง

จัดจ้างในโครงการจ้างทำคูหาลงคะแนนสำหรับใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. งบประมาณ 18 ล้านบาท

คู่มือเลือกตั้ง

ผลิตคู่มือประชาชน เผยแพร่ความรู้เรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 200,000 เล่ม เป็นเงิน 800,000 บาท

แผ่นพับเลือกตั้ง

ผลิตแผ่นพับและแผ่นปลิวให้ความรู้การเลือกตั้ง ส.ส. อย่างละ 400,000 แผ่น เป็นเงิน 3,200,000 บาท

แชร์ในโลกออนไลน์

งบสำหรับการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ส.ส. ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 5,000,000 บาท

คู่มือปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน

ผลิตคู่มือปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง และแผ่นพับการเลือกตั้ง ส.ส. 8,412,000 บาท

บัตรทาบสำหรับผู้พิการทางสายตา

พิมพ์บัตรทาบเลือกตั้งสำหรับผู้พิการทางสายตาจำนวน 100,000 แผ่น เป็นเงิน 1,000,000 บาท

บัตรตัวอย่าง

พิมพ์บัตรตัวอย่างเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 500,000 ฉบับ เป็นเงิน 1,000,000 บาท

How to เลือกตั้ง

ผลิตสื่อเผยแพร่ความรู้การเลือกตั้ง ส.ส. และผลิตสื่อเครือข่ายพลเมืองการเลือกตั้ง เป็นเงิน 9,625,000 บาท

เผยแพร่ความรู้

การรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องการเลือกตั้ง โดยกระทรวงศึกษาธิการ 88,862,000 บาท

เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

ภารกิจสนับสนุนการควบคุมและจัดการเลือกตั้ง ส.ส.นอกราชอาณาจักร (โดยกระทรวงต่างประเทศ) 50 ล้านบาท

ตรวจตราสอดส่อง

การควบคุม สอดส่อง สืบสวนสอบสวน ไต่สวน วินิจฉัยชี้ขาด และดำเนินคดีในศาล 169,653,250 บาท

งานเอกสาร

การลงทะเบียนขอใช้สิทธิก่อนวันเลือกตั้ง การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดย สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เป็นเงิน 148,821,090 บาท

ดูไฟอย่าให้ดับ

ภารกิจสนับสนุนดูแลและเฝ้าระวังไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นเงิน 22 ล้านบาท

แผนกขนส่งบัตรเลือกตั้ง

ภารกิจขนส่งบัตรเลือกตั้ง หีบเลือกตั้ง หนังสือแจ้งเจ้าบ้าน วัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้งอื่นๆ ดำเนินการโดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการลักษณะเดียวกัน เป็นเงิน 160 ล้านบาท

 

ประชาชนยังไม่รู้ต้องกายังไง

นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ‘การลงคะแนนเลือกตั้ง 2562’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 6 มีนาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง ปี 2562

โพลถามถึงการรับทราบของประชาชนว่าจะต้องกาบัตรลงคะแนนคนละกี่ใบ

ร้อยละ 51.96 ระบุว่า “ทราบ”

ร้อยละ 48.04 ระบุว่า “ไม่ทราบ”

ในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า “ทราบ” พบว่าร้อยละ 92.77 ระบุคำตอบได้ถูกต้องว่าจะต้องกาบัตรลงคะแนน ‘เพียง 1 ใบ’ และร้อยละ 7.23 ระบุว่า กาบัตรลงคะแนน ‘คนละ 2 ใบ’ ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ถูกต้อง

ด้านการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกันจะเป็นแบบ ‘ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข’ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.80 ระบุว่า “ทราบ” ขณะที่ร้อยละ 48.20 ระบุว่า “ไม่ทราบ”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า