เวลานี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมผลักดันร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. … เรื่องการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม หรือ GMO โดยจะอนุญาตให้อาหารที่มีส่วนประกอบของ GMO ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องติดฉลาก
ผลจากการดำเนินการของ อย. ทำให้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เกิดข้อกังวลว่า หากมีการออกประกาศเช่นนี้เท่ากับเป็นการปิดบังข้อมูลแก่ผู้บริโภค อันเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัย
คอบช. มีความเห็นต่อร่างประกาศฯ นี้ว่า อาหารทุกชนิดจำเป็นต้องระบุที่ฉลากว่า เป็นอาหารที่มีส่วนผสมของพืชหรือสัตว์ดัดแปรพันธุกรรมโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีส่วนผสมกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ผู้บริโภคในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ตนบริโภค
ทั้งนี้ คอบช. เห็นว่าร่างประกาศฯ นี้ถือเป็นการกระทำผิดหลักการของกฎหมาย และเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า
สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธาน คอบช. กล่าวว่า การทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการแสดงฉลาก GMO จะต้องนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง แต่ร่างประกาศที่ออกมา แม้จะครอบคลุมทั้งพืชและสัตว์ GMO ทุกชนิด แต่กลับระบุให้รายงานเฉพาะที่มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้ส่วนประกอบของ GMO ที่ผู้ประกอบการจงใจใส่ลงไปในสูตรน้อยกว่าร้อยละ 5 ได้รับการยกเว้นไม่ต้องแสดงในฉลาก จนทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีส่วนผสมของ GMO และไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่ปลอด GMO ได้จริง
“สิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม”
ความหมายก็คืออาหารทุกชนิด ได้แก่ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และวัตถุเจือปนอาหาร ที่มีการตัดต่อ ตัดแต่ง ดัดแปร หรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมหรือผสมผสานสารพันธุกรรมใหม่จากวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ และใช้บริโภคเป็นอาหาร ต้องระบุที่ฉลากให้ชัดเจนว่ามีส่วนผสมของ GMO โดยไม่มีข้อแม้ว่ากี่เปอร์เซ็นต์
“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่แสดงฉลาก GMO โดยสมัครใจหลายราย แต่ต่อไปจะไม่ต้องแสดงเลย” ประธาน คอบช. กล่าว
นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับฉลาก GMO ชี้ชัดว่าผู้บริโภคต้องการให้มีการแสดงข้อความบนฉลากด้วยตัวอักษรหนาและอ่านได้ชัดเจน สีของตัวอักษรตัดกับสีพื้นของฉลาก มีขนาดสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ฉลาก และต้องแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม พื้นสีเหลือง ตัวอักษรสีดำ โดยมีข้อความว่า ‘GMO’ บนฉลาก ไม่ใช่เป็นแค่ความสมัครใจของผู้ผลิตเท่านั้น
ประธาน คอบช. เน้นย้ำด้วยว่า ถึงแม้ว่าจะเลยกำหนดระยะเวลาการรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศฯ ฉบับนี้ไปแล้ว แต่ทาง คอบช. และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคต้องมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงในการบริโภคอาหาร
“อย. เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ต้องรับฟังและพิจารณาปรับแก้ไขเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ไม่ใช่ห่วงผู้ประกอบการเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันห้องทดลองสามารถตรวจสอบได้หมดหากมีการใช้พืชสัตว์ดัดแปรพันธุกรรม โดย คอบช. และเครือข่ายจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดทุกระยะ”