เครือข่ายผู้บริโภคหนุนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

30 เมษายนของทุกปี คือวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ถือเอาฤกษ์นี้จัดเวทีเสวนาสะท้อนความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ว่าด้วยเรื่องสิทธิของผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องให้มีการทำ ‘ประชามติ’ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างแท้จริง

IMG_9516 rz

30 เมษายนของทุกปี คือวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ถือเอาฤกษ์นี้จัดเวทีเสวนาสะท้อนความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ว่าด้วยเรื่องสิทธิของผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องให้มีการทำ ‘ประชามติ’ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างแท้จริง

 

ชี้จุดอ่อนร่าง รธน. ด้านผู้บริโภค

กฎหมายมาตราสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง คือ

“มาตรา 60 สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง

“ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยไม่กระทำการอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การดังกล่าวด้วย”

แม้สาระสำคัญของกฎหมายจะมีเจตนารมณ์ที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง แต่ในรายละเอียดของบางถ้อยคำอาจต้องมีการพิจารณาทบทวน

 

นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา

 

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสุขภาพ คอบช. มองว่า เครือข่ายผู้บริโภคมีความคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะให้ความสำคัญต่อผู้บริโภคมากขึ้น จากการติดตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญพบว่ามีการแยกเรื่องสิทธิออกเป็น 2 ส่วนคือ สิทธิมนุษยชนกับสิทธิพลเมือง ซึ่งในมาตรา 60 ของสิทธิพลเมือง ระบุไว้ว่า ควรต้องมีการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เช่นเดียวกับที่เคยบรรจุไว้ในมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550

“แต่ปรากฏว่า ข้อความในมาตรา 60 กลับหายไป 1 ย่อหน้า และเป็นข้อความที่สำคัญคือ ‘สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค’ ทาง คอบช. จึงขอเสนอให้มีการทบทวนอีกครั้งโดยยึดตามถ้อยคำในมาตรา 61 เป็นสำคัญ” สุรีรัตน์ กล่าว
สุรีรัตน์ระบุข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่า คำว่า ‘พลเมือง’ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจทำให้เกิดการตีความที่แคบลง เนื่องจากมีการกำหนดนิยามว่า พลเมืองหมายถึงปวงประชาชนชาวไทยเท่านั้น ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองประชาชนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย เพราะที่จริงแล้วพลเมืองหมายถึงผู้ที่เป็นกำลังสำคัญของเมืองและเป็นผู้จ่ายภาษีให้กับเมือง ฉะนั้น รัฐจึงควรปกป้องคุ้มครองคนทุกคน และรัฐธรรมนูญต้องเปิดกว้างมากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ สุรีรัตน์ยืนยันว่า จะต้องมีการทำประชามติ เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง

“ร่างรัฐธรรมนูญจะสะท้อนถึงที่มาที่ไปของการมีส่วนร่วมได้ก็คือ การแสดงความเห็นของประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร และจะต้องมีการลงมติประชามติว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งภาคประชาชนต้องช่วยกันลุกขึ้นมาเรียกร้อง เพราะยังมีเวลาที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ใน 60 วัน”

 

สถานการณ์ผู้บริโภค 2557 ถูกละเมิดหนัก

ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ประชาชนยังไม่สามารถพึ่งพาหน่วยงานรัฐในการจัดการปัญหาได้ทั้งหมด จากการรวบรวมสถิติการรับเรื่องร้องเรียนที่ส่งตรงมาถึงเครือข่ายภาคประชาชน พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 2,710 เรื่อง ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความเดือดร้อนของประชาชนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

“จากสถิติที่มีการร้องเรียนมายังเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนในปี 2557 รวมทั้งสิ้น 2,710 เรื่อง พบปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุด ได้แก่ ปัญหาบริการสุขภาพและสาธารณสุข 858 เรื่อง ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร 476 เรื่อง และปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 426 เรื่อง” สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล หนึ่งในกรรมการ คอบช. ระบุ

 

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล
นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล

 

นอกจากนี้ ในด้านการตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐ พบว่า หลายหน่วยงานไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น กรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานเขตปทุมวันอนุญาตให้มีการก่อสร้างตึกสูงในซอยร่วมฤดีโดยผิดกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ชาวบ้านในชุมชนซอยร่วมฤดีชนะคดี พร้อมมีคำสั่งให้ กทม. และสำนักงานเขตปทุมวัน ดำเนินการรื้อถอนอาคารเจ้าปัญหาภายใน 60 วัน ซึ่งคดีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐที่ต้องมีความเข้มงวดในการอนุญาตการก่อสร้างอาคารมากขึ้น

อีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตีในการยกเลิกแร่ใยหิน ทำให้ผู้บริโภคยังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อสุขภาพจากอันตรายของแร่ใยหิน ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ก็มีการตั้งหน่วยงานตรวจสอบขึ้นมามากมาย และหนึ่งในนั้นคือ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้กำหนดไว้ในมาตรา 60

สุภาพร กล่าวต่ออีกว่า รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญต่อสิทธิประชาชน และประชาชนก็คือผู้บริโภคเกือบ 70 ล้านคนทั่วประเทศ ดังนั้น ผู้บริโภคทุกคนต้องแสดงพลังที่จะแก้ไขจัดการปัญหาของตนเอง

ที่ผ่านมาบทบาทของ คอบช. ได้มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคทั้งประเทศในการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ขณะนี้สามารถแบ่งได้เป็น 6 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ภาคกลาง และ กทม. โดยผ่านการทำงานในโครงการต่างๆ ร่วมกัน เช่น โครงการรถโดยสารสาธารณะ โครงการเฝ้าระวังสื่อ และโครงการสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เป็นต้น

 

เดินหน้าเรียกร้อง ‘องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค’

สิ่งที่เครือข่ายภาคประชาชนพยายามผลักดันมาโดยตลอดคือ การจัดตั้ง ‘องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค’ ในการทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนโดยมีกฎหมายรองรับอย่างเป็นรูปธรรม โดยองค์กรนี้จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี แต่การแก้ปัญหาก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อีกทั้งมีความล่าช้าในการดำเนินการ ไม่สามารถตอบสนองข้อร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชนได้อย่างครบถ้วน

กว่า 17 ปีมาแล้วที่เครือข่ายผู้บริโภคเรียกร้องให้มี พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ ภาคประชาชนจึงได้รวมตัวกันขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในนามของ คอบช. ซึ่งเป็นเสมือนองค์กรเงาที่ทำหน้าที่เกาะติดนโยบายสาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธาน คอบช. เผยว่า เส้นทางของร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ถูกเสนอต่อรัฐบาลมาแล้วหลายสมัย โดยล่าสุดเมื่อปี 2554 ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภามาเป็นลำดับและเตรียมนำเข้าสู่วาระ 3 เพื่อให้ที่ประชุมของวุฒิสภาให้การรับรอง จนกระทั่งรัฐบาลประกาศยุบสภาเมื่อปี 2556 ทำให้หยุดชะงักไป และต่อมาเกิดการรัฐประหารในปี 2557 จึงถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง

“ถึงแม้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะนำกฎหมายที่พิจารณาค้างอยู่ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคเองไม่สามารถรอต่อไปได้ จึงต้องตั้งคณะทำงานภาคประชาชนขึ้นมา เพื่องานคุ้มครองผู้บริโภคสามารถขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้า ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการมากว่า 2 ปีแล้ว” รศ.ดร.จิราพร กล่าว

 

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์

 

ประเด็นการขับเคลื่อนของ คอบช. ได้แบ่งภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภคออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านบริการสาธารณะ ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ และด้านที่พักอาศัย

ภาพรวมการทำงานในรอบปีที่ผ่านมาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นหลากหลายเรื่อง กรณีที่สำคัญ เช่น การกำหนดค่าโทรศัพท์ตามจริงโดยไม่ปัดเศษเป็นนาที เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการใช้บริการโทรคมนาคม การผลักดันให้มีการออก พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ และเพิ่มมาตรการเยียวยาลูกหนี้ การเสนอให้แก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ถูกเรียกเก็บเงินเพิ่ม การตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน กรณีรถยนต์เชฟโรเลต ครูซ และแคปติวา การเสนอให้ กสทช. ออกคูปองกล่องทีวีดิจิตอลในราคา 690 บาท และการเสนอให้รัฐบาลเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนการให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นต้น

และถัดจากนี้ไป คอบช. กำหนดประเด็นไว้ว่า จะมีการติดตามความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินธุรกิจของเครื่องดื่มชาเขียวผสมน้ำตาลว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ในอนาคตข้างหน้าหากมีการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้สำเร็จ จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในหลายด้าน ได้แก่ การเปิดเผยชื่อสินค้าที่เอาเปรียบผู้บริโภค การป้องกันปัญหาและเป็นปากเป็นเสียงของผู้บริโภคในทุกกรณี ไม่ถูกหลอก ถูกโกง เป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Service) รวมถึงการผลักดันกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปกันต่อก็คือ คำว่า ‘องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ’ จะจัดเป็นหน่วยงานประเภทใด ในประเทศไทยมีองค์การในลักษณะนี้หรือไม่

หากองค์การผู้บริโภคนี้มิใช่หน่วยงานรัฐแล้ว ยังถือเป็นหน้าที่ของของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐหรือไม่ที่จะต้องส่งกฎหมาย กฎที่จะตราขึ้นหรือจะบังคับใช้ มาให้องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคพิจารณาให้ความเห็นหรือไม่ และความเห็นนี้จะมีผลผูกพันต่อหน่วยงานต่างๆ ของรัฐหรือไม่

นอกจากนี้ หน้าที่ขององค์การผู้บริโภคในการตรวจสอบและรายงานการกระทำที่เป็นการละเลยการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานต่างๆ ในทางปฏิบัติจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะในเมื่อองค์การผู้บริโภคมิใช่หน่วยงานของรัฐ จะอาศัยอำนาจใดในการเรียกหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน หรือบุคคลเข้ามาชี้แจง ให้ข้อมูล หรือเข้าไปตรวจสอบหาข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อจัดทำรายงาน

สุดท้ายเรื่องของงบประมาณที่จะสนับสนุนองค์การผู้บริโภคนั้น เมื่อมิใช่หน่วยงานของรัฐ การสนับสนุนงบประมาณจะเป็นไปในลักษณะใด จะเพียงพอต่อการดำเนินการได้อย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพหรือไม่

ทั้งหมดนี้จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาเพื่อให้ตกผลึกทางความคิดกันต่อไป

ในขณะที่สถานการณ์ด้านสิทธิของผู้บริโภคยังคงถูกละเมิดอย่างต่อเนื่อง ภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องตระหนักในสิทธิของตนเอง เพราะหากหวังพึ่งพาหน่วยงานรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวอาจไม่สามารถคลี่คลายทุกปัญหาให้ลุล่วงได้ ดังนั้นจำเป็นต้องยกระดับสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

 

IMG_9541 rz

 

***************************************

logo

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า