รื้อ-ร่าง-สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการ ‘รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน’ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2566 การเสวนาในครั้งนี้มุ่งสร้างความเข้าใจต่อการมี ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ หลังการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลที่ให้คำมั่นแก่ประชาชนว่า พรรคแกนนำรัฐบาลจะผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จากความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นโอกาสสำคัญของคนไทยในการเข้าไปมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ให้เป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง

ประเทศไทยมี ‘ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ’ หนึ่งเดียวในโลก

รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนานำเสนอว่า ในความเป็นจริงแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลผลิตจากการศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญในส่วนของหลักการ ระบบ และการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ผ่านการศึกษาต้นแบบรัฐธรรมนูญของเยอรมนี ฝรั่งเศส และชาติต่างๆ ในเอเชีย จนประเทศไทยได้สร้างนวัตกรรมทางรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง นั่นคือ การให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรี การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยทุกอย่างให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งยังมี ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ด้านรัฐธรรมนูญ หมายความว่า ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ต้องมีประสบการณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ ซึ่งคงมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่มีผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ 

“ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญมีหลักคิดว่า ประชาชนเป็นผู้ไร้ความสามารถ ไร้วุฒิภาวะในการใช้อำนาจอธิปไตย เป็นเพียงผู้เยาว์ที่ต้องมีผู้ชี้นำ จึงสร้างผู้แทนโดยชอบธรรมเพื่อมายกเลิกเพิกถอนเจตนารมณ์ของประชาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ”

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน

การออกแบบรัฐธรรมนูญโดยการศึกษาจากหลากหลายประเทศนั้น สามารถระบุได้ว่ามี 2 ประเภทคือ รัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมเจ้าของอำนาจอธิปไตย (ประชาชน) กับรัฐธรรมนูญที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยจัดอยู่ในประเภทหลัง แม้ว่าจะมีมาตรา 3 กำหนดเอาไว้ แต่เจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นกลับถูกจำกัด ไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์ 

รศ.ดร.มุนินทร์ กล่าวว่า การจำกัดอำนาจอธิปไตยของประชาชนนั้น วางอยู่บนหลักคิดหรือชุดความคิดของผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญที่มองว่า ประชาชนเป็นผู้ไร้ความสามารถ ไร้วุฒิภาวะ ในการใช้อำนาจอธิปไตย เป็นเพียงผู้เยาว์ที่ต้องมีผู้ชี้นำ จึงได้สร้างผู้แทนโดยชอบธรรมเพื่อมาเพิกถอนเจตนารมณ์การใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระต่างๆ 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หลักการ ที่มา และกระบวนการทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงขัดต่อหลักการประชาธิปไตย หลักนิติศาสตร์ และความชอบธรรมทางการเมือง จึงเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ‘โมฆะ’

รัฐธรรมนูญใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร เริ่มต้นที่ สสร.

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณะบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ถือเป็นสารตั้งต้นสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราสามารถคาดเดาหน้าตาของรัฐธรรมนูญได้จาก สสร. เหล่านี้ หากลองจินตนาการว่าถ้ามีรายชื่อบุคคลต่อไปนี้มาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เช่น มีชัย ฤชุพันธ์ุ พรเพชร วิชิตชลชัย วิษณุ เครืองาม บวรศักดิ์ อุวรรณโณ 

“รัฐธรรมนูญที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย มันมักจะอยู่ได้นานเนอะ!”

รศ.ดร.นันทนา นัทวโรภาส
รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส

รศ.ดร.นันทนา กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงต้องให้ความสำคัญกับคนที่จะมาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งเน้นไปที่หลักสำคัญคือ 1) ต้องยึดโยงกับประชาชน 2) มีอิสระปราศจากการครอบงำทางอำนาจหรือใบสั่ง 3) ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ 4) การร่างรัฐธรรมนูญต้องมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีกรอบเวลาชัดเจน ไม่ยืดเยื้อยาวนาน 

โดยคุณลักษณะที่บ่งบอกหน้าตาของรัฐธรรมนูญใหม่ต้องประกอบไปด้วย 1) บุคคลที่มีความหลากหลาย ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง 2) มีความหลากหลายของช่วงอายุ เริ่มตั้งแต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปี 3) จำนวนที่เหมาะสม 150-200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงตามสัดส่วนแต่ละจังหวัด การเลือกผู้ทรงคุณวุฒิตามสาขาต่างๆ ทางอ้อม และการเลือกผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ 30 คน รวมแล้วโดยประมาณ 230 คน ดังนั้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถือเป็นโมเดลหรือรูปร่างหน้าตาที่ รศ.ดร.นันทนา อยากจะเห็นมากที่สุด

รัฐประหารซ้อน 2 ชั้น สืบทอดอำนาจผ่านกลไก รธน. 2560 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ว่าเป็นการ ‘รัฐประหารซ้อน 2 ชั้น’ (dual coup d’etat) โดยชั้นที่ 1 คือ การรัฐประหารเพื่อการยึดอำนาจ และชั้นที่ 2 คือ การรัฐประหารโดยการใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญที่เป็นผลผลิตจากการรัฐประหารหรือการรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ (constitutional coup) 

การทำรัฐประหารผ่านกลไกรัฐธรรมนูญนั้นมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ คือ 1) พยายามลดทอนความเป็นประชาธิปไตย 2) ควบคุมและกำกับการเมืองด้วยรัฐธรรมนูญ 3) การกำจัดศัตรูทางการเมือง และ 4) การคงสถานะทางอำนาจของคณะรัฐประหารให้ยาวนานที่สุด โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 ตอบโจทย์ต่อวัตถุประสงค์นี้คือ 1) การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ล้มกระดานทางการเมือง 2) การดึงองค์กรยุติธรรมเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง เพื่อการตัดสิทธิ์ทางการเมือง ยุบพรรคการเมือง จากการเพิ่มบทบัญญัติคุณสมบัติต้องห้าม การกระทำต้องห้าม มาตรฐานจริยธรรมทางการเมือง ที่มีความยาวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการกำจัดศัตรูทางการเมือง 3) เงื่อนไขการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถูกล็อกตายแก้ไขยาก และ 4) การทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ปราศจากความชอบธรรมทางการเมือง ไม่สามารถทำการรณรงค์ได้ มีผู้ถูกจับกุมติดคุก ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสนใจ ขณะที่การทำประชามติเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ยากและซับซ้อน 

“การทำนิติสงครามโดยอาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ (constitutional lawfare) มีผลกระทบมากกว่านิติสงครามทั่วๆ ไป เพราะคุณกำลังนำองค์กรต่างๆ ไปใช้โดยไม่สอดคล้องกับคุณค่าในรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญนั้นไร้ความชอบธรรม และเป็นการบ่อนทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญเอง”

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และกลายเป็นการทำนิติสงคราม (lawfare) ซึ่งโดยส่วนตัว ผศ.ดร.พรสันต์ มองว่า นี่ไม่ใช่การทำนิติสงครามปกติ แต่คือการทำ ‘สงครามผ่านรัฐธรรมนูญ’ (constitutional lawfare) เป็นการทำนิติสงครามโดยอาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ และมีผลกระทบมากกว่านิติสงครามทั่วๆ ไป เพราะคุณกำลังนำองค์กรต่างๆ ทางรัฐธรรมนูญไปใช้โดยไม่สอดคล้องกับคุณค่าในรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ประชาชนมองว่า รัฐธรรมนูญนั้นไร้ความชอบธรรมจากการบังคับใช้ และเป็นการบ่อนทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญเอง

ของขวัญวันคริสต์มาส ความคืบหน้าการทำประชามติ รธน. ใหม่

นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ รายงานความคืบหน้าของการทำประชามติเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมองว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นระบบปฏิบัติการ (operating system) ที่เป็นตัวกำหนดโครงสร้างของประเทศ กำหนดกลไกต่างๆ แต่หากถามถึงรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่มี แต่ว่าต้องแก้ไขได้เรื่อยๆ ให้เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยที่โลกนั้นหมุนเร็วไปเรื่อยๆ และที่มาของรัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน

การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ที่จริงแล้วเป็นการดำเนินการที่ซับซ้อนมาก ไม่ใช่การถ่วงเวลาของรัฐบาลด้วยการตั้งคณะกรรมการเพื่อการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อขึ้นมาศึกษาก่อน ในทางการเมืองนั้นรัฐบาลมีความชัดเจนมากว่าต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยไม่มีการไปแก้ไขในหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ โดยกำหนดเวลาในการศึกษาไว้ถึงสิ้นปีนี้ โดยคณะของนายนิกรคือ คณะที่ออกไปรับฟังความคิดเห็น และคณะที่สองคือ คณะที่ไปดำเนินการศึกษาการทำประชามติว่าต้องทำกี่ครั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

“รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ไม่มี สำหรับผมมันจะต้องแก้ได้เรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้นหรอก เพราะโลกมันหมุนเร็ว และต้องมีที่มาจากประชาชน”

นิกร จำนง
นิกร จำนง

ส่วนการรับฟังความคิดเห็นนั้น คณะกรรมการฯ ได้ข้อสรุปแล้วจากทุกภาคส่วน โดยกลุ่มที่ยังไม่ได้ข้อคิดเห็นคือ กลุ่มสมาชิกรัฐสภา หากสามารถดำเนินการเก็บแบบสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มนี้เสร็จ จะมีการสรุปการรับฟังความคิดเห็นและประชุมคณะกรรมการฯ ทั้งหมดในวันที่ 22 ธันวาคม ก่อนจะมีการประชุมใหญ่ในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ 

จากการรับฟังความคิดเห็นข้างต้นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เห็นด้วยกับการมี สสร. แต่รายละเอียดหรือที่มานั้น อาจจะต้องลงรายละเอียดกันอีกทีหนึ่ง 

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ในฐานะผู้ดำเนินการรายการได้ตั้งคำถามกลับต่อนายนิกรว่า จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วน ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือว่าต้องการมีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นายนิกรยืนยันว่า การสำรวจความคิดเห็นนี้วางอยู่บนแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของรัฐบาลที่จะไม่มีการแตะหมวด 1 และหมวด 2 เพราะคณะกรรมการฯ เขียนคำถามไปแบบนี้ ตามนโยบายรัฐบาล

รัฐธรรมนูญใหม่ต้องสร้าง ‘ฉันทามติใหม่’ ให้กับสังคม

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงจุดยืนที่แตกต่างจากทางคณะกรรมการเพื่อการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ที่ทางรัฐบาลตั้งขึ้นมา โดยนายชัยธวัชได้ชวนคิดว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้าง ‘ฉันทามติใหม่’ ให้กับสังคมไทย เพราะความขัดแย้งทางการเมืองในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาได้สะท้อนว่า เราไม่สามารถหาข้อยุติทางการเมืองร่วมกันได้ เพราะมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าระบบการเมืองแบบไหนที่เราเห็นร่วมกัน เพื่อจะนำมาซึ่งการยุติข้อขัดแย้งทางการเมือง 

นายชัยธวัชกล่าวอีกว่า อยากให้การออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่คำนึงถึงโจทย์ในข้อนี้ด้วย เพราะหากเราอยู่ในกระบวนการออกแบบรัฐธรมนูญใหม่ โดยที่มีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรู้สึกถูกกีดกันออกจากกระบวนการไปตั้งแต่แรก จะยิ่งทำให้เราเสียโอกาสในการสร้างฉันทามติใหม่ให้กับสังคมที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน นี่คือข้อท้วงติงพรรคก้าวไกลต่อรัฐบาล

“การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นโอกาสสำคัญในการสร้าง ‘ฉันทามติใหม่’ ให้กับสังคมไทย เพราะความขัดแย้งทางการเมืองเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาสะท้อนว่า เราไม่สามารถหาข้อยุติทางการเมืองร่วมกันได้ เพราะมีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าระบบการเมืองแบบไหนที่เราเห็นร่วมกัน เพื่อจะยุติข้อขัดแย้งทางการเมือง”

ชัยธวัช ตุลาธน
ชัยธวัช ตุลาธน

ขณะเดียวกัน การออกแบบคำถามประชามติหลัก ไม่ควรใส่รายละเอียดมากไปจนเกิดความสับสน แต่อาจเพิ่มคำถามที่ยังไม่ถือเป็นข้อยุติลงไปในคำถามพ่วงแทน เช่น ต้องการมีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ หรือต้องการเว้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้ เป็นต้น อย่างน้อยสังคมไทยจะได้หาข้อยุติร่วมกันตามกระบวนการประชาธิปไตยในเบื้องต้นได้

อีกข้อหนึ่งคือ เรามักพูดถึงรัฐธรรมนูญในมิติทางกฎหมายมากกว่ามิติทางประวัติศาสตร์สังคมของมนุษย์ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานลงมา แต่เป็นผลผลิตของมนุษย์ที่เขียนขึ้นในนามของประชาชน เพื่อแตกหักกับระบอบการเมืองแบบจารีต แล้วสถาปนาระบอบการเมืองใหม่โดยยึดโยงกับประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น เราทุกคนมีศักยภาพในฐานะผู้ทรงอำนาจในการออกแบบ สถาปนา ก่อตั้ง รูปแบบทางการเมืองที่เราปรารถนาได้ 

ท้ายที่สุด นายชัยธวัชระบุว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกลอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีที่มาจาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งทางพรรคก้าวไกลอยู่ในระหว่างการศึกษาโมเดลของ สสร. มานำเสนอ เพื่อออกแบบ สสร. ที่ยึดโยงกับประชาชน ไม่ผลักกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกจากกระบวนการนี้


ด้านนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw ในฐานะผู้ดำเนินการรายการ ถามนายชัยธวัชว่า บทบาทในสภานั้นพรรคก้าวไกลมีจุดยืนอย่างไรในประเด็นรัฐธรรมนูญ นายชัยธวัชกล่าวว่า ก้าวไกลต้องการให้มีการลงประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในครั้งที่ 1 พร้อมด้วยคำถามพ่วงที่ได้กล่าวไป ซึ่งจะนำมาสู่การหาข้อยุติทางการเมืองในเบื้องต้นได้ แต่หากข้อเสนอของทางรัฐบาลไม่ตรงกับก้าวไกล และเสียงส่วนใหญ่ในสภาไปในทิศทางเดียวกัน ทางพรรคก็ยินดียอมรับข้อนี้

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า