ไม่มีแรงงานนอกระบบในประวัติศาสตร์ไทย

img_9993

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: อารยา คงแป้น

 

9 กันยายน 2559 คือคิวเสวนาหัวข้อ ‘กลางเมืองไม่ได้มีแค่โปเกม่อน: ซอกหลืบของแรงงานที่ไม่มีใครออกตามหา’ หนึ่งในซีรีส์เสวนาประวัติศาสตร์แรงงานไทย-เยอรมัน

ทำไมต้องมีโปเกม่อนอยู่ในประเด็นด้วย?

ผู้จัดชี้แจงเป็นการส่วนตัวว่า หนึ่ง-ก็ต้องการเรียกร้องความสนใจ… สอง-เกี่ยวพันกับกรณีที่หนึ่ง เพราะเราต่างก็ใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ทุกวัน แต่พวกเขา ‘แรงงานนอกระบบ’ กลับถูกปฏิบัติราวกับว่าไม่มีตัวตน ไม่มีใครมองเห็น ไม่มีใครออกตามหาและให้ความสำคัญ

แอบได้ยินผู้จัดงานเขาคุยกัน

“นี่เราต้องเรียกร้องความสนใจ ขนาดว่าต้องหยิบโปเกม่อนมาเชื่อมให้คนรู้สึกว่าประเด็นนี้ใกล้ตัวพวกเขา และเรียกร้องให้เขาฟังมากขนาดนี้เลยหรือ?”

แรงงานเพื่อนบ้าน ‘ฉันถูกทำให้เป็นอื่น’

“ปัญหาประการแรก แรงงานเพื่อนบ้านไม่ใช่คนไทย ฉะนั้นจึงไม่มีสิทธิ์”

อดิศร เกิดมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานข้ามชาติ เสนอประเด็นที่ติดอยู่ในใจคนไทยหลายคนว่า เพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาใช้ทรัพยากรของประเทศไทย พวกเขาได้รับประโยชน์จากบ้านเมืองของเราอยู่แล้ว แรงงานเหล่านี้จึงถูกบอกให้ ‘เป็นอื่น’

อดิศรตั้งคำถามต่อไปว่า

แล้วใครบ้างที่ไม่ใช้ทรัพยากรที่ถูกผลิตมาจากแรงงานเหล่านี้?

ไม่นับความเชื่อที่ว่า แรงงานข้ามชาติเป็นต้นกำเนิดของอาชญากรรมในบ้านเรา หลักฐานคือสมมุติฐานบนหน้าหนังสือพิมพ์ ทุกครั้งที่เกิดเหตุอาชญากรรมใหญ่ๆ หน้าหนังสือพิมพ์มักจั่วหัวว่า ‘ผู้ต้องหา’ คือแรงงานเพื่อนบ้าน

ในมุมมองของอดิศร กระบวนการคิดแบบนี้ยิ่งฉายซ้ำให้เราเห็นคนไม่เท่ากัน ความสำคัญของแรงงานเพื่อนบ้านยิ่งต่ำชั้นไปกว่าแรงงานนอกระบบที่เป็นคนไทยมากขึ้นไปอีก

“ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นแรงงานที่ถูกต้องถามกฎหมายหรือไม่ เราก็มองว่าเขาเป็นแรงงานเพื่อนบ้านอยู่ดี หากมองกลับไปในประวัติศาสตร์ แรงงานกลุ่มแรกที่เข้ามาทำงานสร้างเศรษฐกิจให้บ้านเรา ก็คือแรงงานเพื่อนบ้าน คือแรงงานจีน ซึ่งตอนนั้นพวกเขาก็ถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย เป็นคนอื่นเหมือนกัน แต่ตอนนี้ชาวจีนไม่ถูกเรียกว่าเป็นแรงงานเพื่อนบ้านแล้ว

“เรื่องนี้มองได้ว่า แรงงานข้ามชาติก็มีลำดับชั้นในตัวเองเหมือนกัน”

img_9883

แรงงานไม่มีประวัติศาสตร์ และคนไทยก็ไม่สนใจจะศึกษามัน

ก่อนที่อดิศรจะวางไมค์ เขาจุดประเด็นเรื่อง ‘ลำดับชั้นของแรงงาน’ และยกปรากฏการณ์การถูกเหมารวมว่าเป็น ‘คนไม่ดี’ ที่เห็นได้ตามข่าวว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุอาชญากรรม แรงงานข้ามชาติมักถูกตีตราจากสังคมไปแล้วว่าเป็นผู้ก่อเหตุนั้น

ภาสกร จำลองราช อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชนประจำสายแรงงานและผู้สื่อข่าวสำนักข่าวชายขอบ ขยายประเด็นดังกล่าวในมุมมองของสื่อมวลชนว่า

“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราละเลย เหมารวม และไม่ยอมทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านเลย”

ในฐานะสื่อมวลชนที่เกาะติดประเด็นคนชายขอบในสังคม ภาสกรอธิบายว่า นอกจากการเหยียดชาติพันธุ์แล้ว เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรากำลังเหยียดชาติพันธุ์อะไรอยู่

“คือเราไม่รู้ ไม่ได้ทำความเข้าใจเสียทีว่า พม่าไม่ได้มีแค่พม่า แต่มีรัฐฉาน กะฉิ่น และชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งมีความใกล้ชิดและเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เราเหมารวมว่าทั้งหมดคือ ‘พม่า’ พอเป็นพม่า พวกเขาจึงเป็นผู้เผาบ้านเผาเมืองเรา มองเขาเป็นศัตรู พวกเขาไม่ใช่คน ฉะนั้น จึงจะกดขี่เอาเปรียบเท่าไรก็ได้”

การเหมารวมนี้ยังมีการผลิตซ้ำไปวนมา มันคือการสร้างและตอกย้ำความเชื่อนี้ผ่าน ‘ภาษา’ ของสื่อมวลชน รวมทั้งการรายงานข่าวที่อธิบายแบบเหมารวมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การรายงานโดยการใช้คำว่า ‘ต่างด้าว’ เป็นผู้ก่ออาชญากรรม แต่ไม่ได้อธิบายถึงที่มาหรือชวนให้คิดต่อว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ หรือแท้ที่จริงแล้วเขาเป็นคนเชื้อชาติอะไร มองให้ลึกไปมากกว่านั้น ภาสกรเห็นว่า สื่อมวลชนเองก็ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่นำเสนอเลย

ประเด็นสืบเนื่องของการที่แรงงานชาวพม่า–ตามสัญชาติ เข้ามาทำงานในบ้านเรา ทำให้แรงงานเหล่านี้สามารถพูดภาษาไทยได้ เมื่อรวมกับสถานการณ์สื่อมวลชนในประเทศพม่าตอนนี้ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารได้หลายภาษา ทั้งภาษาท้องถิ่นของเขาเอง ภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ มากกว่านั้นเขายังเข้าใจสิ่งที่สื่อไทยกำลังนำเสนอด้วย

สื่อพม่าขณะนี้น่าสนใจมาก เพราะเขาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และการที่เขาเข้าใจภาษาไทย นั่นหมายความว่าเขาก็รู้สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะที่เราไม่เข้าใจอะไรเขาเลย

img_0030

แรงงานนอกระบบไม่ใช่ผู้สร้างชาติ

“คุณคิดว่าตัวเองเป็นแรงงานหรือเปล่า? คนที่ทำงานฟรีแลนซ์ หรือ startup คุณเป็นแรงงานหรือเปล่า? อย่าลืมว่าที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบไม่เคยถูกนับรวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศนี้ เป็นฟันเฟืองหนึ่งของประเทศนี้เลย

“มีใครใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาแรงงานนอกระบบบ้าง?”

ในประเด็นนี้ พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องแรงงานนอกระบบ อธิบายให้เห็นภาพว่า ถ้าพื้นที่รอบๆ โรงงานผลิตสินค้า A ไม่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไม่มีคนขายอาหารราคาถูก ไม่มีผู้ที่ทำงานเหล่านี้รองรับการใช้ชีวิตของคนทำงานในระบบ มันจะเป็นอย่างไร

“มันคือการมองปัญหาแบบแยกส่วน” พูลทรัพย์อธิบายถึงข้ออ้างของรัฐในการกำหนดสวัสดิการที่แตกต่างกันระหว่างแรงงานในระบบและนอกระบบ แต่หากถอยออกมามองระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ พูลทรัพย์เห็นว่าแรงงานเหล่านี้คือจุดเชื่อมต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าไปได้โดยไม่สะดุด

และแท้จริงแล้ว แรงงานนอกระบบต่างหากที่เป็นผู้เล่นสำคัญที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล

พูลทรัพย์ยกตัวเลขตามรายงานสถิติแห่งชาติปี 2558 ที่รายงานว่า 22 ล้านคน คือจำนวนแรงงานนอกระบบ และหากเปรียบเทียบกับผู้ที่ทำงานในระบบจำนวนกว่า 16 ล้านคนนั้น ผู้ที่ทำงานนอกระบบถือเป็นสัดส่วนที่มากกว่า

“กว่า 22 ล้านคนที่ทำงานเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะแรงงานคนหนึ่ง เพราะพวกเขาเป็นคนขับแท็กซี่ ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขายอาหารราคาถูกข้างทาง แม่บ้าน พวกเขาถูกมองว่าเป็นแรงงานอิสระ แน่นอนว่าปัจจุบันก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับการปฏิบัติ คือการขูดรีดแรงงานอย่างถึงที่สุด และก็ไม่มีมาตรการใดๆ มาตรวจสอบด้วย”

ก่อนที่วงสนทนาจะจบลง พูลทรัพย์ทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่อยู่บนเวทีนี้อาจเป็นสิ่งที่ต้องออกมาพูดกันร่ำไป ถ้าภาคประชาชนยังไม่เชื่อว่า

รัฐไม่ใช่เจ้านาย รัฐเป็นประชาชนที่เราสร้างขึ้น

และขบวนการต่อสู้ ยังย่ำอยู่เพียงการขอความเป็นธรรมจากรัฐ

 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า