มนุษย์กับ AI ใครจะถึงเส้นชัยในตลาดแรงงาน

หลายปีที่ผ่านมาที่มนุษย์เริ่มตื่นตัวกับการเข้ามาของเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็สร้างความกังวลให้แก่ผู้คนในหลากหลายอาชีพ ด้วยเหตุที่เทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้สามารถทำงานได้เหมือนกับมนุษย์ พลิกผันตลาดแรงงานอย่างมหาศาล

บทบาทของ AI นอกจากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้นแล้ว ความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ค่อนข้างกังวล นอกจากเรื่องตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ยังมีเรื่องทางกฎหมายที่หมิ่นเหม่ต่อจริยธรรมของ AI 

จากเวทีสัมมนา ‘ตามให้ทัน Generative AI – ประเด็นทางกฎหมาย’ จัดโดยสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ที่มีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสรุจ ทิพเสนา ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ AI ทั้งในด้านกฎหมายและสายอาชีพ WAY จึงหยิบยกประเด็นการใช้ AI ในตลาดแรงงานมาพูดถึงว่า นอกจากวงการศิลปะแล้ว ในตลาดแรงงานยังมีสายอาชีพอีกมากมายที่ต้องกลายมาเป็นคู่แข่งกับเทคโนโลยี AI 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายงานที่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่เริ่มมีการพัฒนารูปแบบการทำงานให้เทียบเคียงกับมนุษย์ จนนำไปสู่คำถามว่า หากมีการใช้ Generative AI กันมากขึ้น อาชีพของเราจะถูกคุกคามหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

AI ผู้ช่วยหรือคู่แข่ง?

ในสายงานที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหรือสายงานธุรการ เช่น ธนาคาร โทรคมนาคม ลอจิสติกส์ การใช้ AI ค่อนข้างเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตที่นำ AI มาใช้ รวมถึงระบบจักรกลมาช่วยทุ่นแรงของมนุษย์ในขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้ความจำเป็นในการจ้างงานลดลงตามไปด้วย

ภาพ: งานสัมมนา ‘ตามให้ทัน Generative AI – ประเด็นทางกฎหมาย’

ภาพรวมกระบวนการทำงานทั่วไปของมนุษย์จะแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน 1) การทำความเข้าใจปัญหา 2) รวบรวมข้อมูล 3) แปลงข้อมูลเป็นความรู้ 4) ประสานงานและทำแผน 5) ตัดสินใจ ดำเนินการ และติดตามผล ซึ่งเทคโนโลยี AI จะมาทดแทนในกระบวนการที่ 2 และ 3 เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานของมนุษย์

ยกตัวอย่างกรณีการทำงานของแพทย์ที่จะใช้ภาษาแพทย์ในการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วยและการออกใบรับรองแพทย์ ซึ่ง AI จะสามารถอ่านภาษาแพทย์และแปลออกมาเป็นภาษาที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ แม้จะเข้ามาทดแทนการทำงานในกระบวนการที่ 2 และ 3 ของมนุษย์ได้ แต่ AI ก็ยังไม่สามารถทดแทนการทำงานในกระบวนการต้นทางและปลายทางอย่างการทำความเข้าใจปัญหาและการตัดสินใจดำเนินงานตามแผนได้

หากมองตามหลักความเป็นจริงแล้ว แม้การใช้ AI จะช่วยสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของมนุษย์ก็จริง โดยเฉพาะกับอาชีพที่ต้องใช้การตัดสินใจ เช่น แพทย์ หรือสายกฎหมาย แต่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลและแรงงาน ซึ่งไม่กี่ปีมานี้อุตสาหกรรมการผลิตบางแห่งก็มีการใช้ AI มาเป็นสายพานการผลิตแทนแรงงานมนุษย์เพื่อลดต้นทุนการจ้างงาน หรือการมาถึงของคอมพิวเตอร์ที่ทำให้การทำงานของสายธุรการถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง การมาถึงของ AI อาจจะไม่ได้หมายถึงการเข้ามาแย่งงานจนทำให้มนุษย์หมดความสำคัญเสมอไป แต่อาจจะเป็นการบีบให้กลายมาเป็นคู่แข่งทางตลาดแรงงาน โดยมนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการหรือลักษณะการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตนเองมาแข่งขันกับเทคโนโลยี และไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังตลาดแรงงาน

เรียนรู้ทักษะเท่าทัน AI

หนึ่งในความมหัศจรรย์ของ AI นั้น ส่งผลให้เกิดดาวดวงใหม่ในวงการเทคโนโลยี สายงานใหม่ที่เป็นที่นิยมอีกสายงานหนึ่งคือ วิศกรพรอมต์ หรือ prompt engineering ซึ่งเป็นสายงานที่จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของ AI ให้สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการสั่งการที่นับเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่ง อันมีเทคนิคและกระบวนการมากมาย

การใช้ประโยชน์ AI ในช่วงแรกๆ อาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งนับเป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกๆ การมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ๆ มนุษย์จำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้และทำความเข้าใจ ทักษะสั่งการหรือ prompt จึงเป็นทักษะที่จะช่วยให้เราสื่อสารกับ AI ด้วยภาษามนุษย์ เพื่อให้ AI สามารถทำงานออกมาได้ตามที่ต้องการ

“ถ้าเชื่อใน AI แล้ว เราต้องปรับตัวอย่างไรบ้างเพื่อให้ทำงานเป็น ผมคิดว่าควรต้องลองใช้และต้องลองสั่งการ” สรุจ ทิพเสนา กล่าว

อีกหนึ่งทักษะที่สามารถช่วยให้มนุษย์รู้เท่าทัน AI คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ หรือ critical thinking ที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลหลากดั่งแม่น้ำหลายสายมารวมกัน การตั้งคำถามและวิเคราะห์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยคัดกรองข้อมูลให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การมาถึงของเทคโนโลยี AI นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากมองในมุมสายอาชีพที่ต้องการการซัพพอร์ตข้อมูลจาก AI ก็นับเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยทุ่นแรงและทำให้การทำงานในด้านอื่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในทางกลับกัน หากมองในมุมแรงงานแล้ว ถ้าการมีอยู่ของ AI อาจถือเป็นการเข้ามาแย่งพื้นที่ในการทำงานของมนุษย์ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ในโลกที่กำลังพัฒนาไปข้างหน้า ในอนาคตมนุษย์จะยังคงมีพื้นที่ในตลาดแรงงานหรือไม่


ที่มา: https://www.facebook.com/JtiCOJ/videos/2985847698216729/

อชิรญา ดวงแก้ว
ชอบฟัง ชอบเขียน ชอบแลกเปลี่ยนเรื่องราว

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า