ภาพ: อาทิตย์ เคนมี
ประกาศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 70/2557 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2557 เรื่อง มาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว* และการค้ามนุษย์ วิธีหนึ่งคือการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือในชื่อเล่นว่า ‘One Stop Service’
เป็นความพยายามที่จะยกระดับแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายสัญชาติลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ให้เข้าสู่ระบบ คือจัดทำทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัว และตรวจสุขภาพแรงงาน
เมื่อออกจากจุดบริการ แรงงานจะได้ ‘บัตรสีชมพู’ มีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยตัวเลข 00 อันหมายความว่าเป็น ‘แรงงานที่ได้รับสิทธิผ่อนผันให้ทำงานชั่วคราวได้หนึ่งปี’ กำลังรอการพิสูจน์สัญชาติเพื่อเป็นแรงงานถูกกฎหมาย และจะเปลี่ยนจากบัตรสีชมพูเพื่อเป็นบัตรสีเขียวต่อไป
หากจุดประสงค์ที่สำคัญของ one stop service คือการให้แรงงานที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบ ไม่มีสิทธิ์ใน ‘ประกันสังคม’ (หากเป็นแรงงานถูกกฎหมายตั้งแต่เข้าเมือง มีวีซ่าทำงานและมีนายจ้างอย่างถูกกฎหมาย แรงงานกลุ่มนี้จะเข้าสู่ระบบ ‘ประกันสังคม’ เสมือนแรงงานทั่วไป) ได้มีหลักประกันสุขภาพ เข้าถึงการรักษาพยาบาลในราคาถูกและง่ายบนฐานของหลักสิทธิมนุษยชน
แต่ทุกระบบย่อมมี ‘รูรั่ว’ และต้องการการปะผุ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งถูกทอดทิ้งออกจากระบบ
ต้นปีที่ผ่านมา เครือข่ายแรงงานข้ามชาติจังหวัดภูเก็ต (Migrant Worker’s Network in Phuket: MNP) สำรวจสถานการณ์แรงงานต่างด้าวกับการซื้อสิทธิประกันสุขภาพในพื้นที่ พบว่ามีปัญหาหลักๆ อยู่สองประการคือ
1. โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ไม่ขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานและผู้ติดตามแรงงาน
2. โรงพยาบาลแห่งเดิม ขอเอกสารยืนยันตัวจากนายจ้าง สำหรับแรงงานหรือผู้ติดตามแรงงานที่จะมาคลอดบุตร
3. เมื่อไม่มีเอกสารจากข้อสอง โรงพยาบาลแห่งนั้นจะไม่ออกใบสูติบัตรให้ แรงงานจึงไม่มีเอกสารแจ้งเกิดบุตร ทำให้เด็กคนนั้นตกอยู่ในสภาพ ‘เด็กไร้สัญชาติ’
พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มตัวแทนแรงงาน MNP เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในพื้นที่ (โรงพยาบาลที่มีปัญหา และไม่มี) และแรงงานเจ้าของปัญหา พบว่า ปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนนี้อาจเกิดจากตัวกฎหมายที่ไม่ชัดเจน มีการปรับเปลี่ยนนโยบายอยู่บ่อยครั้ง อคติต่อชาติพันธุ์ ความไม่รู้และกลัวกฎหมายของแรงงาน รวมถึงปัญหาความไม่สมจริงเชิงโครงสร้างการบริหารเงินของระบบหลักประกันสุขภาพ
ความหมายของคำว่า ‘ประกันสังคม’ และ ‘ประกันสุขภาพแรงงาน’
จากภาพประกอบอาจตีความได้ว่า ปลายทางของหน่วยงาน one stop service คือ การดันให้แรงงานเข้าสู่ระบบ และสิทธิการรักษาพยาบาลของแรงงานจะย้ายไปอยู่ในระบบ ‘ประกันสังคม’ อันหมายถึงเงินที่อยู่ในถังกลางนี้จะมาจากสามทาง คือ รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง (ผู้ประกันตน)
ไม่เหมือนกันกับระบบ ‘ประกันสุขภาพ’ ที่มีเงินจากสองทางคือ ‘ผู้ซื้อประกัน’ กับ ‘รัฐหรือโรงพยาบาล’
ราคาประกันสุขภาพ
1. แรงงานข้ามชาติ และผู้ติดตามที่อยู่ในประเทศไทย คุ้มครอง 1 ปี ราคา 2,100 บาท (ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ 1,600 บาท)
2. แรงงานข้ามชาติ และผู้ติดตามที่อยู่ในประเทศไทย คุ้มครอง 6 เดือน ราคา 1,400 บาท (ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ 900 บาท)
3. แรงงานข้ามชาติ และผู้ติดตามที่อยู่ในประเทศไทย คุ้มครอง 3 เดือน ราคา 1,000 บาท (ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ 500 บาท)
4. เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี คุ้มครอง 1 ปี ราคา 365 บาท (ไม่มีค่าตรวจสุขภาพ)
‘ประกันสุขภาพ’ มีโมเดลเหมือนหลักประกันทั่วไป โดยแนวคิดตั้งต้นของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เริ่มขายบัตรประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติในปี 2555 (ระบบประกันสุขภาพแรงงาน ถูกเซ็ตขึ้นอย่างเป็นระบบในปี 2544) คือ
- ต้องการลดภาระงบประมาณการรักษาพยาบาลแก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งคิดเป็นเงินแต่ละปีราวพันล้านบาท ด้วยการให้แรงงานเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจ่ายค่าประกันนั้นด้วย
- ต้องการให้แรงงานข้ามชาติทุกกลุ่มเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ โดยไม่จำกัดเรื่องสถานะบุคคลตามกฎหมาย
เงื่อนไขการขายประกันสุขภาพคืออะไร?
การขายประกันสุขภาพจะเปิดขายเป็นรอบๆ เกณฑ์การขายหลักประกันจึงปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง อ้างอิงจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 70 เรื่อง การตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ระบุเงื่อนไขที่จะไม่ขายให้กับบุคคลที่คาดว่าจะเป็นภัย สร้างความไม่สงบ มีพฤติการณ์ที่น่าเชื่อว่าจะเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี ยาเสพติด หรือลักลอบหนีภาษีศุลกากร
และผู้ ‘วิกลจริตหรือเป็นโรคที่ต้องห้ามตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด หรือเป็นผู้ที่สุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานโดยดุลยพินิจของแพทย์’
ซึ่งเหตุผลในข้อสุดท้ายนี้เอง ที่โรงพยาบาลดังกล่าวใช้เป็นข้อชี้แจงว่า ทำไมจึงไม่ขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าว
ปัญหาในพื้นที่: ไม่ขายประกัน ขอเอกสารยืนยันตัวจากนายจ้าง ไม่ออกสูติบัตร บ่อเกิดปัญหาเด็กไร้สัญชาติ
เครือข่ายแรงงานข้ามชาติจังหวัดภูเก็ต หรือ MNP รายงานว่า ปัญหาการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติที่พบในพื้นที่ภูเก็ตคือ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งไม่ขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานในพื้นที่ โดยเฉพาะแรงงานที่ตั้งครรภ์ โดยให้เหตุผลว่าหญิงตั้งครรภ์ไม่มีคุณสมบัติที่จะทำงานได้ ตามเงื่อนไขในข้อที่ว่า ‘ผู้ที่สุขภาพไม่สมบูรณ์แข็งแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานโดยดุลยพินิจของแพทย์’
ด้วยเหตุนี้แรงงานจึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรเอง เป็นจำนวนเงินตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป และบางรายที่ภาวะตั้งครรภ์มีปัญหาและต้องทำคลอดด้วยวิธีเฉพาะ อาจต้องเสียค่าทำคลอดในราคาหลายหมื่น
สุมนา ภักบุลวัชร ผู้ประสานงานภาคสนาม ศูนย์พัฒนาสังคม มูลนิธิคาทอลิคสุราษฎร์ธานี (สาขาภูเก็ต) อธิบายปัญหาว่า หากแรงงานมีหลักประกันสุขภาพจะสามารถประเมินรายจ่ายที่แน่นอนได้ คือ ค่าทำคลอดธรรมชาติจะอยู่ที่ 6,000 บาท ผ่าตัดทำคลอด 12,000 บาท ซึ่งนับรวมการฝากครรภ์และการดูแลทั้งแม่และลูกหลังคลอดเป็นเวลา 28 วัน และในทางกลับกันหากแรงงานผู้นั้นไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ ผู้เป็นแม่และครอบครัวต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์
ปัญหาอีกประการคือ มีแรงงานจำนวนหนึ่งเข้ามาร้องเรียนกับ MNP ว่าโรงพยาบาลจะขอเอกสารยืนยันตัวบุคคลจากนายจ้างขณะที่แรงงานไปคลอดบุตร และหากแรงงานหาเอกสารนั้นมาไม่ได้ โรงพยาบาลจะไม่ออกใบสูติบัตรให้
สุมนาอธิบายถึงปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อไม่มีเอกสารรับรองการเกิดของบุตร เด็กคนนั้นจะกลายเป็นเด็กไร้สัญชาติโดยปริยาย และอาจถูกดึงเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ต่อไป
“จากที่ได้รับรายงาน แรงงานบางคนไม่มีหลักประกันสุขภาพ จึงต้องเสียค่าทำคลอดในราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับรายรับที่ได้คือวันละสามร้อยถึงห้าร้อยบาท ก็อาจไม่มีกำลังจ่ายค่าทำคลอดได้เลย
“เมื่อไม่มีหลักประกัน โรงพยาบาลจึงเรียกเอกสารรับรองการทำงานจากนายจ้าง เมื่อไม่มี โรงพยาบาลจึงไม่ออกใบสูติบัตรให้ ทำให้พ่อแม่แรงงานไม่มีเอกสารแจ้งเกิด เด็กคนนั้นจึงเป็นเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งอาจทำให้เขาเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ต่อไป” สุมนากล่าว
มากกว่านั้น ยังมีปัญหากรณีเฉพาะจากการตั้งครรภ์อีก เช่น ภาวะครรภ์ผิดปกติ ทารกผิดปกติ ความเครียดจากมารดาที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก การไม่ได้รับการดูแลและบำรุงสุขภาพอย่างถูกสุขลักษณะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อพัฒนาการของทารกทั้งสิ้น และแน่นอนเมื่อมีปัญหา ค่าใช้จ่ายที่สูงย่อมตามมา
นอกจากกรณีการไม่ขายประกันสุขภาพให้กับแรงงานที่ตั้งครรภ์แล้ว ยังพบข้อมูลอีกจำนวนหนึ่งว่า โรงพยาบาลไม่ขายหลักประกันให้กับเด็กหรือลูกของแรงงานอีกด้วย
ตอบปัญหาจากคุณหมอ
ข้อชี้แจงของโรงพยาบาลเจ้าของปัญหาให้เหตุผลที่ต้องปฏิเสธการให้บริการแก่แรงงานข้ามชาติว่า เพราะแรงงานผู้นั้นมีคุณสมบัติไม่ตรงตามข้อกำหนดของแรงงาน (เมื่อท้อง จึงทำงานไม่ได้) จึงไม่เข้าเงื่อนไขประกันสุขภาพ ซึ่งโรงพยาบาลให้อำนาจการพิจารณาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
เหตุผลอีกประการที่โรงพยาบาลชี้แจงคือ เพราะมีผู้ลักลอบเข้าเมืองจำนวนหนึ่งเข้ามาเพื่อคลอดบุตรที่ไทยโดยเฉพาะ โรงพยาบาลไม่อาจรู้ได้ว่าเป็นแรงงานจริงหรือไม่ จึงพิจารณาไม่ขายประกันให้กับบุคคลนั้นๆ
รวมทั้งเหตุผลในด้านการบริหารจัดการงบประมาณและตัวเลขค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระจากแรงงานที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล หรือบางรายเข้ามารักษาแล้วหนีหายไป กรณีจิปาถะเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลต้องมีความเข้มงวดในการขายบัตรประกันสุขภาพมากขึ้น
พ้นไปจากปัญหาจิปาถะแต่ละกรณีแล้ว ยังมีอุปสรรคในเรื่องภาษา การไม่เข้าใจระเบียบบังคับ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการบริหารจัดการของแต่ละโรงพยาบาลเอง
ในความเห็นของ นายแพทย์ศิริชัย ศิลปอาชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง ในฐานะโรงพยาบาลต้นแบบ ได้ให้คำแนะนำว่า หากมองในมุมของการบริหารจัดการของโรงพยาบาล ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือภาระค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้จากแรงงาน เพราะตามหลักการแล้วโรงพยาบาลย่อมปฏิเสธคนไข้ไม่ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องนำเงินส่วนอื่นมาทดแทนเงินที่หายไป ซึ่งรูปแบบการจัดการที่โรงพยาบาลป่าตองนำมาใช้คือ การใช้เงินอุดหนุน (subsidize) จากหน่วยให้บริการที่ได้กำไร เช่น เงินค่ารักษาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นต้น
นายแพทย์ศิริชัย สะท้อนว่า ทางออกของปัญหาอาจต้องกลับไปทบทวนโมเดลเงินในถังของระบบประกันสุขภาพแรงงานที่ไม่สมจริง
“ถ้าให้รักษาฟรียังสมจริงและง่ายกว่าเลยนะ เพราะถ้าดูอัตราการเรียกเก็บจากแรงงาน อย่างประกันสุขภาพเด็กเก็บ 365 บาท แค่ค่าวัคซีนเข็มเดียวยังไม่พอเลย ระบบแบบนี้มันจะทำให้ล่มทั้งหมด”
ข้อเสนอของนายแพทย์ศิริชัยคือ อาจต้องเพิ่มผู้สมทบอีกหนึ่งหน่วย ได้แก่ นายจ้าง เพื่อให้เข้ามาร่วมรับผิดชอบในกระบวนการนี้ด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบที่คล้ายกับ ‘ประกันสังคม’ แต่ต้องทดไว้ด้วยว่า มูลเหตุหนึ่งที่ทำให้นายจ้างไม่ยอมนำแรงงานเข้าสู่ระบบการประกันสุขภาพก็คือ การต้องเป็นผู้ร่วมจ่ายด้วยในอีกทางหนึ่ง สิ่งที่นายแพทย์ศิริชัยเห็นว่าอาจทำได้จริง คือการตั้งกองทุนในหมู่นายจ้างขึ้นเอง
“อาจจะไม่ต้องมากก็ได้ สมมุตินายจ้างมีแรงงานในครัวเรือนทั้งหมด 100 คน นายจ้างก็จ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสุขภาพคนละ 10 บาท เฉลี่ย 1,000 บาทต่อเดือน ถ้าทำแบบนี้ได้ในสถานประกอบการหลายๆ แห่ง ก็จะได้เงินจำนวนหนึ่งที่สมจริงต่อการบริหารกองทุน”
แน่นอนที่สุดว่า เราไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงเรื่องภาระด้านการเงินในการรักษาพยาบาลให้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าว แต่การให้โอกาสผู้คนทุกหมู่เหล่าได้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ย่อมยืนอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน
*คำว่า ‘คนต่างด้าว’ ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว ปี 2551 หมายถึง ‘บุคคลทำงานที่ไม่ใช่สัญชาติไทย’ หากในกลุ่มคนทำงานเรื่องแรงงานเสนอให้ใช้คำว่า ‘แรงงานเพื่อนบ้าน’ หรือ ‘แรงงานข้ามชาติ’ เพื่อแสดงความหมายว่าเป็น ‘คน’ ทำงานต่างสัญชาติ และหลีกเลี่ยงนัยยะเชิงหมิ่นเหยียดชาติพันธ์ุ