ความเหยียดหยันอันย้อนแย้ง แรงงานต่างด้าวยุค 4.0

เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์
ภาพ: ชินกฤต เชื้ออินต๊ะ

ก่อนจะเริ่มอ่านและหาคำตอบร่วมกัน อยากชวนคิดสักประเดี๋ยว หากได้ยินคำว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ ภาพในหัวของคุณคืออะไร? พวกเขาเหล่านั้นประกอบอาชีพอะไร? และมีความเป็นอยู่กันอย่างไร? – เก็บภาพเหล่านั้นไว้ในหัว ยังไม่ต้องตอบตอนนี้ก็ได้

กระแสความโกลาหลที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ หลังจากรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติจำนวนมากต่างพากันอพยพกลับประเทศบ้านเกิดของตน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลพวงจากความเข้มข้นของตัวกฎหมายที่เพิ่มมากขึ้น แต่ความตื่นตระหนกดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับฝั่งแรงงานข้ามชาติเท่านั้น เพราะทางฝั่งผู้ออกนโยบายเองก็ดูจะมึนงงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามมา จนสุดท้ายต้องใช้มาตรา 44 ชะลอการใช้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าว

WAY ถือโอกาสเดินทางไปเยือนเชียงใหม่ ตามหาผู้รู้ที่จะมาไขคำตอบของความโกลาหล เพื่อพูดคุยถึงประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ – ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาเรื่องราวและความเป็นไปของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับแรงงานข้ามชาติผ่านระบบเอกสารมาอย่างต่อเนื่อง

จากการชวนคุยชวนถกถึงปัญหาที่จะตามมาจากกฎกติกาใหม่นี้ อาจารย์ปิ่นแก้วได้พาเราเข้าไปสู่ห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยผ่านคำว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ ตั้งแต่ต่างด้าวชาวจีนรุ่นบุกเบิกที่ปัจจุบันยึดครองเสียงส่วนใหญ่ของชนชั้นกลางเอาไว้อย่างแน่นหนา สู่ความย้อนแย้งที่กระทำต่อคนต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านรุ่นปัจจุบัน ท่ามกลางสภาวะและบริบทที่ภาครัฐและภาคธุรกิจไทยต้องการจะก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลชุดปัจจุบันออกมาตรการผลักดันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายออกนอกประเทศ แต่ถือว่าเป็นครั้งที่สองแล้ว อาจารย์มองว่า เหตุผลจริงๆ ที่รัฐบาลต้องการคืออะไร

ที่จริงปลัดกระทรวงแรงงานก็ออกมาพูดเองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการคิดกันมานานแล้ว แล้วเขาก็อ้างด้วยว่า เอ็นจีโอเห็นชอบกับมาตรการนี้ แต่หลังจากมีแถลงการณ์พระราชกำหนดฉบับนี้ เอ็นจีโอกลับออกมาคัดค้าน นั่นแสดงว่าคงมีการเตรียมการมาช่วงหนึ่งแล้ว

ถามว่าทำไมรัฐบาลต้องมาประกาศตอนนี้ ถ้าจะให้วิเคราะห์ก็มี 2 ระนาบ อย่างแรกเลยคือ ไทยโดนขึ้นบัญชีดำเรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องการกดขี่และละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติอยู่ ซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ของสินค้าจากอุตสาหกรรมประมงของไทยในตลาดโลก ถ้าจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ขายของให้ได้มากขึ้น รัฐบาลทหารจึงคิดง่ายๆ ว่า จะสามารถเอาชื่อออกจาก Watch List ระดับ Tier 2 ของ TIP (Trafficking in Persons Report – รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา) ด้วยการกวาดจับแรงงาน ต้อนให้เข้าสู่ระบบการลงทะเบียน และการพิสูจน์สัญชาติ โดยไม่ได้วิเคราะห์ว่าปัญหาการค้าแรงงาน การกดขี่แรงงาน เกิดจากอะไร คิดง่ายๆ ว่า ถ้ากำหนดโทษพวกไม่มีบัตรให้เข้มข้น ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง แล้วทุกอย่างจะเข้าสู่ระบบเอง ผลก็คือ เศรษฐกิจพังกันทั้งระบบ และนี่สะท้อนถึงความอ่อนหัดของรัฐทหารที่พยายามจะบริหารเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ด้วยกลไกราชการที่ล้าหลัง

เหตุผลอีกประการที่สำคัญซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำรัฐทหารเคยพูดไว้ตั้งแต่ช่วงแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่ง คือ ทำอย่างไรไม่ให้แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาถึงเขตพื้นที่ชั้นใน ซึ่งเรื่องนี้ตีความได้อย่างเดียวว่า รัฐบาลต้องการให้เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมีจำนวนแรงงานมากพอที่จะรองรับนักธุรกิจหรือนักลงทุนในบริเวณนั้นให้อยู่ได้ การบังคับให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบการลงทะเบียนของราชการ จึงเป็นความเชื่อที่มีมาโดยตลอดว่าจะทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่ไหลเข้ามาในเขตตัวเมือง ตรรกะการจัดการแรงงานประเภทนี้ คือ การจำกัดให้แรงงานทักษะต่ำทำงานรับใช้อุตสาหกรรมโดยไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายเชิงกายภาพ หรือเลื่อนชั้นสถานะ เป็นตรรกะของทุนนิยมที่รัฐทหารรับทอดมาจากรัฐบาลก่อนหน้า และนำมันมาเชื่อมต่อกับวาทกรรมความมั่นคงแห่งชาติ

ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่า การทำให้แรงงานไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ที่รัฐกำหนด ก็เท่ากับการแปรสภาพให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นคุก ถ้าคุณปฏิบัติเหมือนกับเอาคุกไปขังเขา ก็ย่อมไม่มีใครอยากอยู่อยู่แล้ว แน่นอนคำว่า ‘คุก’ ก็ให้ภาพว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ดีและไม่มีมนุษย์ที่ไหนพึงปรารถนาอยู่แล้ว ฉะนั้น กระบวนการราชการที่ล้าหลัง ระบบเอกสารที่ไร้ประสิทธิภาพ จึงทำให้เขตชายแดนกลายเป็นเขตที่มีส่วยเยอะสุด

ทั้งเจ้าของโรงงาน เจ้าของธุรกิจ ต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่แทบทุกประเภท ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ยิ่งเป็นคนงานยิ่งต้องจ่ายส่วยเยอะสุด เพราะมันขูดรีดกันมาหลายระดับ มีการเล่ากันว่า คนที่จะเข้าไปนั่งตำแหน่งตรวจคนเข้าเมืองได้ จะต้องจ่ายเยอะมาก ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องยากมากที่เจ้าของโรงงานหรือนายทุนจะสามารถปฏิบัติต่อแรงงานในพื้นที่ชายแดนในระดับที่เทียบเท่ากับแรงงานในเขตชั้นในได้

แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับธุรกิจชายแดน แต่ในเมื่อคุณปฏิบัติกับแรงงานด้วยการขูดรีดหนักขนาดนั้น มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่พยายามหลบหนีออกจากวงจรแบบนั้น กลายเป็นปัญหางูกินหางที่แก้ไม่จบ แล้วนอกจากจะรักษาแรงงานเหล่านี้ไว้ไม่ได้ ยังทำให้พวกเขาหนีกลับประเทศกันอีกด้วย การขูดรีด หรือการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้เกิดจากการที่แรงงานไม่มีบัตร หรือไม่มีเอกสาร หากแต่เกิดจากระบบบริหารแรงงานข้ามชาติที่ล้มเหลว

แม้จะชะลอการใช้ พ.รก.ฉบับนี้ไปแล้ว แต่วิธีการแก้ปัญหาก็ยังไม่พ้นรูปแบบเดิมๆ อยู่ดี อาจารย์มองว่า อนาคตของแรงงานข้ามชาติต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

ล่าสุดเห็นเขาออกประกาศกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม มีการกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างจะต้องเข้าสู่ระบบ MOU เพียงช่องทางเดียว อีกส่วนก็คือ ต้องมีการตรวจพิสูจน์สัญชาติเพื่อให้มีเอกสารรับรอง และภายใต้ระบบ MOU แบบนี้ การเข้ามาของแรงงานจะต้องผ่านการขอโควตา การตอบสนองต่ออุปสงค์ของทุนที่ต้องการแรงงานภายใต้ระบบนี้ ทุนขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์มากที่สุด และจะเป็นการสิ้นสุดลงของแรงงานอิสระ และอิสระของแรงงานที่จะเข้ามาแสวงหางานนอกอุปสงค์ของทุนใหญ่ ทิศทางการจัดการแรงงานแบบนี้ เป็นไปเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของไทย ด้วย secure แรงงานให้กับทุนทั้งเทศและไทย

จริงๆ แล้วการประกาศ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ครั้งนี้น่าจะสะท้อนถึงปัญหาอะไร

เป็นการพยายามที่จะตอบโจทย์เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ด้วยการดันทุรังใช้กลไกราชการที่ล้าหลังและล้มเหลว ถ้าถามคนที่อยู่ในเขตชายแดนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทนายหน้าหรือคนเมียนมาร์ที่ได้ไปสัมภาษณ์มา ทุกคนพูดเสียงเดียวกันเลยว่า ระบบการลงทะเบียนแรงงานของรัฐไทยมีปัญหามาโดยตลอด และเป็นปัญหาของรัฐไทยเอง โดยเฉพาะปี 2559 เป็นปีที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายเยอะที่สุด

การพยายามแปลงประชากรข้ามพรมแดนให้เป็นแรงงานต่างด้าว ทำกันมาตั้งแต่ปี 2535 และไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะใช้วิธีคิดในการควบคุม จำกัดสิทธิ และขูดรีดอย่างเดียว แรงงานถูกบังคับให้อยู่กับที่ เป็นได้เพียงกรรมกรกับคนใช้ จะขึ้นทะเบียนก็ต้องมีนายจ้างพามา คล้ายๆ ระบบไพร่ในสมัยก่อน ทั้งๆ ที่รัฐก็ต้องการแรงงานเหล่านี้มาก แต่ก็บริหารด้วยวิธีคิดแบบศักดินา เคยมีถึงขั้นที่ว่าแรงงานผู้หญิงตั้งครรภ์ให้ส่งกลับ เพื่อไม่ให้มาเกิดลูกเกิดหลานในไทย การไม่เห็นแรงงานเหล่านี้เป็นมนุษย์ ต้องการแต่จะขูดรีดพวกเขาเพียงอย่างเดียว ทำให้ระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานล้มเหลวมาตลอด แรงงานส่วนใหญ่จึงมักไม่ให้ความร่วมมือ เพราะค่าธรรมเนียมที่แพง จ่ายซ้ำจ่ายซ้อน ระบบไม่แน่นอน และจำกัดสิทธิอย่างมาก

คนพม่าที่เคยสัมภาษณ์ กล่าวว่า ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน เป็นยุคที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับเอกสารแรงงานต่างด้าวบ่อยที่สุด มีความซ้ำซ้อน และต้องจ่ายเงินถี่ขึ้น แต่เดิมการออกบัตรแรงงานอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย พอเปลี่ยนมาเป็นระบบพาสปอร์ต ก็ให้กระทรวงแรงงานดูแล กลายเป็นว่ามีสองระบบมาพร้อมกัน แรงงานก็ต้องถือเอกสารทั้งสองแบบ จ่ายเงินลงทะเบียนแบบแรกไปแล้ว มาบังคับให้เปลี่ยนเป็นระบบพาสปอร์ต แล้วช่วงเวลาที่เปิดให้ลงทะเบียนก็ไม่ตรงกัน และไม่ได้เปิดให้ลงทะเบียนได้ทั้งปี

สมมุติว่า คุณไปลงทะเบียนไม่ทันตามช่วงเวลาที่เขากำหนด แล้วบังเอิญเจอตำรวจตั้งด่านอยู่ จริงๆ ไม่ต้องบังเอิญหรอก เพราะมีตำรวจยืนดักอยู่เป็นประจำในอำเภอแม่สอด ก็แน่นอน คุณก็ต้องจ่าย อันนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวตอนขับรถผ่านเองเลย พอเห็นอีกฝั่งมีกลุ่มเป้าหมายก็เลี้ยวรถข้ามไปไถเงิน ในถนนเส้นเล็กๆ ที่อำเภอแม่สอด มีตำรวจยืนเป็นจุดๆ ไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง บางทีคนพม่าเขาเล่นเตะตะกร้อกันอยู่ดีๆ ตอนเย็น พอตำรวจขับรถผ่านมาก็แวะจอดไถเงินกันเสียเฉยๆ มันทำกันจนเป็นปกติวิสัย แรงงานคนหนึ่ง เคยเล่าให้ฟังว่า เดินมากับน้องชายที่ไม่มีบัตร เคยถูกตำรวจเรียกจะตั้งข้อหาค้ามนุษย์ ต่อรองราคากันไปมา จากหลักหมื่น เหลือเงินในกระเป๋าเจ็ดร้อย อยากแนะนำให้ลองนั่งรถ บขส. จากเชียงใหม่ไปแม่สอด คุณจะเห็นการรีดไถอย่างซึ่งหน้า ไม่อายฝรั่งที่นั่งเต็มรถ คนเมียนมาร์บางคนก็จะหยิบเงินร้อยหนึ่งเตรียมไว้ ยัดใส่มือ วันหนึ่งมีสักสิบเที่ยวก็สบายแล้ว ที่เล่ามาทั้งหมดเพื่อจะให้เห็นว่ามันทำให้ค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนหรือการมีเอกสารแสดงตัวมีราคาสูงมาก ยิ่งไปกว่านั้น การที่คุณมีเอกสารรับรองก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะหมดห่วงกับการต้องถูกรีดไถ

เพราะเหตุนี้ระบบการออกบัตรของรัฐจึงมีปัญหามาก นอกเหนือจากช่วงเวลาที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และค่าใช้จ่ายที่สูงแล้ว บัตรยังจำกัดอิสรภาพในการเคลื่อนย้าย หนึ่ง – เมื่อเข้ามาแล้วออกจากพื้นที่ไม่ได้ สอง – ประกอบอาชีพได้แค่แรงงานก่อสร้างกับแม่บ้าน เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ เปลี่ยนงานไม่ได้ คนที่เข้ามาอยู่ตามเขตชายแดนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หรือจังหวัดระนอง จึงให้ความรู้สึกเหมือนติดกับ ลองคิดดูในสภาพความเป็นจริงที่ว่า ถ้าเกิดไปเจอนายจ้างที่โกง หรือปฏิบัติกับแรงงานไม่ดี เขาจะทำอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ระบบใต้ดิน เช่น ระบบนายหน้านายจ้าง ซึ่ง พ.ร.บ.ที่ออกมาใหม่ ไม่ได้แก้ปัญหาที่แรงงานเผชิญเลย การจำกัดสิทธิยังคงอยู่เหมือนเดิม แถมกำหนดโทษสูงมาก จึงไม่แปลกใจที่แรงงานจะพากันหนีกลับประเทศกันหมด

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าระบบเอกสารของประเทศต้นทางแรงงานต่างด้าวเองก็มีปัญหาด้วยใช่ไหม

ใช่ค่ะ เคยไปสัมภาษณ์ที่กระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับระบบลงทะเบียนเองก็ไม่เห็นด้วย กับวิธีการที่ค่อนข้างสุดโต่งที่พยายามผลักดันประเด็นความมั่นคงเพื่อควบคุมแรงงานข้ามชาติ คือ ในเมื่อต้นทางเขาไม่สามารถมีกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่แรงงานเขาก็ต้องการเข้ามาทำงาน และไทยเองก็ต้องการแรงงาน ถ้าเราใช้วิธีหักดิบแบบนี้ก็สร้างความฉิบหายอย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้

กระทรวงมหาดไทยเองก็ใช้วิธีลงทะเบียนคนที่ไม่มีบัตรประจำตัวมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อย่างกรณีบัตรสีชมพู ถ้าลองไปศึกษาดูจะเห็นประวัติความเป็นมาของบัตรสีชมพูที่มีมาอย่างยาวนาน ลากยาวเป็น 10-20 ปี ทุกวันนี้ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จสักเท่าไร

ถ้าพูดตรงๆ กฎหมายฉบับนี้เป็นการผลักภาระให้แรงงานข้ามชาติต้องไปจัดการเรื่องเอกสารด้วยตัวเขาเอง ทั้งๆ ที่คุณรู้อยู่แล้วว่า เอกสารไม่ใช่เรื่องที่เขาออกเองได้ ในเมื่อประเทศต้นทางเขาก็ไม่มีความพร้อมอยู่ก่อนแล้ว เราควรจะทำอย่างไร ซึ่งนี่เป็นปัญหาใหญ่มาก พอรัฐไทยประกาศ พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมา คนก็ตื่นตระหนกหนีออกไปไม่รู้ต่อกี่แสน แสดงให้เห็นเลยว่า ประเทศเพื่อนบ้านเราเป็นประเทศที่มีระบบเอกสารพิสูจน์ตัวบุคคลที่ยังไม่พร้อม แล้วคุณจะไปบังคับให้เขาพร้อมภายใน 120 วันได้อย่างไร

การผลักให้แรงงานเข้าสู่ระบบ MOU หมด ทั้งที่แรงงานจำนวนมากทำงานอยู่ในทุกประเภทและทุกหัวระแหงในไทย จำนวนไม่น้อยเข้ามานานมากแล้ว และขยับฐานะไปขายของ ทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ระบบนี้จะสร้างปัญหาให้กับกลุ่มคนที่เข้าประเทศมานาน รวมถึงแรงงานอิสระ เท่าที่ได้ยินได้ฟังมา ชาวเมียนมาร์ไม่ค่อยเห็นด้วยนัก และสร้างความยุ่งยากต่อการจ้างงานรายย่อย เพราะการทำพาสปอร์ตสำหรับประเทศเมียนมาร์ต้องเดินทางไปถึงย่างกุ้ง เป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายมาก ภายใต้ระบบ MOU บริษัทก็จ้างบริษัทนายหน้าจัดการ แต่ในการจ้างงานระดับย่อย คนหรือสองคน บริษัทนายหน้าที่ไหนจะรับทำ การผลักภาระแบบนี้ยังทำให้คนเมียนมาร์ที่เข้ามาอยู่ไทยนานเป็นสิบยี่สิบปี แต่ไม่มีบัตรอะไรเลย ต้องเผชิญกับปัญหาหนัก ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ใหม่ๆ หลายคนถึงกับหนีไปอยู่ในป่า เพราะกลัวถูกจับกุม น่าสงสารมากๆ เขาไม่มีเงินขนาดจะจ่ายค่าปรับที่สูงขนาดนั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้บอกว่ารัฐต้องเปิดพรมแดนเสรี โดยไม่ต้องถือเอกสารใดๆ ก็เข้าได้ แต่รัฐไทยควรใช้แนวทางในการเอื้ออำนวยความสะดวก ไม่ใช่แนวทางกดดัน คือ ต้องประสานงานทั้งสองฝ่าย ควรมีการแบ่งกลุ่มคนให้ชัดว่ามีกี่ประเภท อะไรบ้าง แล้วจะหาวิธีช่วยเหลือเขาได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานได้โดยไม่ถูกรีดไถ

ระบบนายหน้าเกิดขึ้นมาจากช่องโหว่นี้หรือเปล่า

ทั้งรัฐและเอ็นจีโอมักมองว่า ระบบนายหน้าก่อให้เกิดการค้ามนุษย์ เกิดการค้าแรงงานทาส แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ และเป็นที่มาของข้ออ้างในการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ ในการขจัดกลไกนายหน้าที่ทำให้ไทยถูกขึ้นบัญชีดำค้ามนุษย์ แต่ในความจริง รัฐไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ระบบนายหน้าที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารแรงงานข้ามชาติของรัฐเอง การควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด การจำกัดสิทธิการทำงาน การขูดรีดแรงงาน และระบบส่วย เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สร้างระบบนายหน้าหลายประเภทขึ้นมา

นายหน้าประเภทหนึ่งที่แพร่หลายมาก และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้ต่อการผูกแรงงานไว้กับนายจ้างเดียว คือ ‘นายหน้านายจ้าง’ นายหน้าประเภทนี้จะรับเป็นนายจ้างให้กับแรงงาน ดำเนินเอกสารอะไรต่างๆ ให้ โดยเก็บค่าธรรมเนียม แรงงงานที่อยู่ภายใต้ระบบนายหน้านายจ้างสามารถที่จะเปลี่ยนงานได้ หากเจอตรวจจับหรือมีปัญหากับตำรวจ นายหน้านายจ้างก็จะมาเคลียร์ให้

คือถ้าเปรียบเทียบระบบล็อคแรงงานไว้กับนายจ้างเดียว ห้ามเปลี่ยนงาน คล้ายๆ กับระบบไพร่สมัยก่อนที่ต้องขึ้นกับมูลนาย การปราศจากนายจ้าง หรือการปราศจากมูลนาย ทำให้แรงงานมีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะเท่ากับปราศจากอำนาจคุ้มครอง ในกรณีแรงงานข้ามชาติ คือเสี่ยงต่อการถูกรีดไถและจับเนรเทศกลับประเทศ สำหรับพวกเขานั้น ‘นายหน้านายจ้าง’ จึงทำหน้าที่หลายๆ อย่าง คือคุ้มครองพวกเขาจากอำนาจรัฐไทย และเอื้ออำนวยให้พวกเขาเคลื่อนย้ายได้ เลื่อนสถานะได้ ให้เสรีภาพในการทำงาน โดยแลกเปลี่ยนกับค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าที่ถูกตำรวจรีดไถ

ทั้ง พ.ร.ก. และ พ.ร.บ.ฉบับล่าสุด จะทำให้เสรีภาพในการทำงานของแรงงานสิ้นสุดลง และเป็นการสิ้นสุดของอิสรภาพในการข้ามพรมแดนเพื่อมาหางานทำอย่างเสรีด้วย ที่สำคัญระบบนายหน้าจะไม่หมดไป แต่จะถูกรวมศูนย์และผูกขาด นายหน้ารายย่อยที่เคยเอื้ออำนวยให้แรงงานไหลเวียนและเคลื่อนย้ายได้จะถูกกำจัดลง ในขณะที่ผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับบริษัทนายหน้าขนาดใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐ ทำหน้าที่ช่วยรัฐในการกวาดต้อนแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมใหญ่

ส่วนนายหน้าระดับย่อยๆ ก็คงต้องไปหางานอย่างอื่นทำ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า ถึงที่สุดแล้วระบบแบบนี้ยังไงก็ต้องคงอยู่ มันไม่มีทางหายไปไหน ต่อให้รัฐบาลพยายามจะจัดให้เข้าระบบอย่างไรก็ตาม เพราะระบบ MOU มันเป็นระบบที่ทำให้แรงงานข้ามชาติออกไปทำงานนอกเขตไม่ได้ ถ้าเข้ามาแล้วก็ต้องสังกัดอยู่ที่เดิม แต่ถ้ายังเกิดปัญหาการขูดรีดแรงงานอยู่อีก ก็จะเปิดช่องให้ระบบนายหน้านายจ้างกลับเข้ามาได้เหมือนเดิม

และถึงแม้ว่าใน พ.ร.ก.ฉบับปัจจุบันจะเขียนชัดว่า ห้ามรับเงิน ก็ต้องดูกันต่อไปว่า ในการขอโควตาแรงงาน ระบบการเรียกเงินจะหายไปจริงหรือไม่ แล้วถ้านายจ้างดูแลแรงงานไม่ดี กดค่าแรง หรือจ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง เงื่อนไขการทำงานแย่ ถ้าแรงงานไม่อยากอยู่ภายใต้นายจ้างแบบนี้ เขาจะกลับไปสู่ระบบนายหน้าแบบเดิมหรือไม่ นี่ก็ต้องดูว่าแนวทางแก้ปัญหาของรัฐที่พุ่งตรงมาที่ระบบเอกสาร แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ตัวระบบ จะสามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและการขูดรีดแรงงานได้อย่างไร รวมถึงจะช่วยแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดจากเงินใต้โต๊ะอย่างไร ก็ต้องรอดูกันต่อไป

ถ้ามองไปถึงแรงงานข้ามชาติรุ่นสองหรือสาม โดยส่วนใหญ่ก็เกิดและโตในไทย บ้างก็พูดภาษาต้นกำเนิดตัวเองไม่ได้ บ้างก็ไม่มีความผูกพันในชาติบ้านเกิดตัวเองเลย รัฐไทยควรจะมีทางออกให้กับคนกลุ่มนี้อย่างไร

จริงๆ แล้วก็มีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องคนที่เกิดในไทย แต่มีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว จะพิจารณาให้สัญชาติเฉพาะราย ซึ่งออกมาเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการพยายามผลักดันของกลุ่มคนที่ทำงานเรื่องนี้มานานภายในกระทรวงมหาดไทย และมีความคิดต่างจากพวกสายความมั่นคงในรัฐ แต่ก็ยังมีเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ อาทิ ต้องมีหลักฐานการเกิดครบถ้วน ต้องมีชื่อในทะเบียนราษฎร์ หรือไม่ก็ต้องประกอบคุณงามความดีอะไรต่างๆ ทั้งนี้ ประกาศนี้ไม่ได้เป็นนโยบายทั่วไป แต่ให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป

ซึ่งหากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า แม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้ที่มีสิทธิในการขอสัญชาติในปัจจุบัน กระบวนการได้มาซึ่งสัญชาติยังเต็มไปด้วยความยากลำบากและล่าช้ามาก กรณี ‘บุตรของคนต่างด้าว’ ในทางปฏิบัติน่าจะเป็นไปได้ลำบากมาก เคยสัมภาษณ์ปลัดอำเภอแม่สอด บุคคลที่มีเลขบัตรขึ้นด้วยเลข 6 ที่ส่งไปโดยอำเภอให้พิจารณาสถานะ หลายปีมานี้ยังไม่ได้ถูกพิจารณาเลยแม้แต่รายเดียว ซึ่งสะท้อนความแข็งกระด้างของระบบราชการไทยในแนวคิดเรื่องพลเมือง กรณีของบุตรแรงงานข้ามชาติก็ต้องเผชิญกับความล้าหลังนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ฝั่งเอ็นจีโอสายแรงงาน พูดถึงประเด็นนี้กันอย่างไรบ้าง

เขาก็คงไม่เห็นด้วย แต่เนื่องจากเอ็นจีโอทำงานใกล้ชิดกับรัฐ เขาเลยพูดลำบาก รัฐบาลก็ออกมาพูดเองเลยว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ผ่านการปรึกษาหารือกับเอ็นจีโอแล้ว ซึ่งถ้าไม่เป็นความจริง เอ็นจีโอก็ควรออกมาแย้งแล้ว แต่นี่เงียบมาก ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

เอ็นจีโอสายแรงงานทำงานกับภาครัฐมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการจัดการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ พอเขาคิดบนฐานแบบนี้ก็เกิดความร่วมมือกัน ฉะนั้น ถ้าจะออกมาคัดค้านนโยบายรัฐมันก็ยาก เรื่องนี้ก็กลับไปสู่ประเด็นที่ว่า รัฐกับเอ็นจีโอควรวางระยะห่างกันมากน้อยแค่ไหน คือถ้าคุณจะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เขาก็จะอ้างว่าเอ็นจีโอเป็นส่วนหนึ่งของเขา พอระยะห่างไม่มี การทำหน้าที่ในฐานะ watchdog หรือเพื่อถ่วงดุลนโยบายรัฐที่ไม่ถูกไม่ควร ก็ทำได้ลำบาก เพราะเกิดความเกรงใจ นี่ก็เป็นปัญหาอีกอย่างของเอ็นจีโอไทย

ปกติแล้วเอ็นจีโอด้านแรงงาน มีส่วนช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนหนึ่งก็ทำงานในลักษณะ service provider คือ ให้บริการกับกลุ่มแรงงานที่ต้องการความช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก เพราะถ้าแรงงานถูกนายจ้างขูดรีด ไม่จ่ายค่าแรง หรือโดนรัฐฉ้อฉล พวกเขาก็ต้องการเครื่องมือลักษณะนี้ เพียงแต่บทบาทการทำงานในเชิงนโยบายเพื่อต่อรองกับรัฐอาจยังไม่ชัดนัก

ถ้าอย่างนั้นแล้วระบบนายหน้ากับเอ็นจีโอต่างกันอย่างไร ในเมื่อต่างก็เป็น service provider คล้ายกัน

ในทางสังคมวิทยาเรามองนายหน้าต่างจากที่รัฐมอง คือ นายหน้าก่อให้เกิด mobility ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้าย เป็นสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐกับแรงงาน เมื่อไรก็ตามที่รัฐมีการควบคุมเข้มงวด ระบบนายหน้าก็จะเติบโต ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่รัฐเชื่อ กล่าวคือ ยิ่งควบคุมมาก ระบบนายหน้าจะหายไป ซึ่งไม่ใช่ เพราะระบบนายหน้าที่เกิดขึ้นมา เป็นการเอื้อให้แรงงานต่างด้าวมีความเป็น ‘มนุษย์’ มากยิ่งขึ้น สามารถต่อรองกับระบบที่เคร่งครัดของรัฐ ที่มองแรงงานเป็นแค่วัตถุหรือสินค้า

คำถามก็คือ เอ็นจีโอในฐานะที่เป็น service provider เช่นเดียวกับนายหน้า ช่วยทำให้แรงงานข้ามชาติมีอำนาจต่อรอง มีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายมากน้อยแค่ไหน พวกเขาจะช่วยให้แรงงานสามารถต่อรองกับรัฐได้อย่างไรบ้าง ตั้งแต่มี พ.ร.บ. ออกมา ยังไม่เห็นมีเอ็นจีโอที่ไหนออกมาคัดค้านเลย เห็นแต่ Human Rights Watch ซึ่งเป็นองค์กรต่างชาติออกมาเสนอให้ระงับ พ.ร.บ. ไว้ก่อน

พูดถึงแรงงานข้ามชาติระดับบนอย่างเช่นชาวตะวันตกบ้าง ทำไมคนกลุ่มนี้จึงมักไม่ค่อยถูกเพ่งเล็งนัก

เพราะเป็นแรงงานชั้นดี แรงงานปกขาว ที่สร้างผลิตภาพที่รัฐมองว่าสูงกว่าแรงงานชั้นล่าง พวกเขาเหล่านั้นมาจากประเทศที่เจริญกว่า และดังนั้นจึงมาสร้างความเจริญให้ประเทศเรา ไม่ได้มาทำงานประเภท 3D (dirty-difficult-dangerous) ตรรกะในการแยกการปกครองประชากรตามผลิตภาพ เป็นตรรกะของเสรีนิยมใหม่ ที่ไปกันได้ดีกับการเหยียดเชื้อชาติ รัฐไม่ควบคุมคนเหล่านี้เพราะรัฐมองว่าพวกเขาเป็นต่างชาติที่มาสร้างความศิวิไลซ์ให้ประเทศ และดังนั้นจึงไม่สร้างปัญหาความมั่นคงให้กับประเทศ

ถ้าจะถามว่าใครเป็น ‘ต่างด้าว’ ใครเป็น ‘ต่างชาติ’ ให้ดูวัฒนธรรมเชิงปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะคนชอบเข้ามาเถียงว่า ฝรั่งก็เป็นแรงงานข้ามชาติเหมือนกันตามกฎหมาย จริง ใช่ ทุกคนที่เข้ามาก็ต้องผ่านระบบเอกสารเหมือนกัน แต่ถ้าคุณไปดูกระบวนการทางวัฒนธรรม คุณจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เหมือนกัน

คุณลองเข้าไปที่ด่าน ตม.แม่สอด เขาแยกห้องไว้ชัดเจนเลย ถ้าเป็นฝรั่งให้ขึ้นห้องแอร์ข้างบน ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าวก็ไปอีกห้องหนึ่ง แรงงานข้ามชาติฝรั่งไม่เคยถูกเรียกตรวจบัตรตามท้องถนนเพื่อรีดไถโดยตำรวจ เพราะพวกเขาถูกถือว่าเป็นแรงงานชั้นดี จากประเทศที่เจริญ

น่าแปลกที่ว่า ทั้งที่ฝรั่งก็เป็นแรงงานต่างด้าวเหมือนกัน แต่คำที่ใช้เรียกกลับไม่เหมือนกัน กล่าวได้ไหมว่า จุดเริ่มต้นมาจาก…ความเหยียด (กระซิบ)

เราเคยเห็นคนไทยเรียกฝรั่งว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ หรือเปล่าล่ะ (หัวเราะ) เคยสัมภาษณ์นายหน้าชาวเมียนมาร์ที่อยู่แม่สอด ว่าเขาเข้าใจคำว่า ‘ต่างด้าว’ คืออะไร เขาก็ตอบว่าเมียนมาร์ไง

คือคนไทยเรียกต่างด้าวในเซนส์ของประเทศเพื่อนบ้านที่ต่ำกว่าเรา จนกว่าเรา แย่กว่าเรา แต่ ‘ต่างชาติ’ คือประเทศที่เหนือกว่าเรา เป็นกลุ่มคนจากโลกตะวันตก เป็นเซนส์ของการเหยียดทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว ต่อให้คำว่า ‘ด้าว’ ในทางกฎหมายจะแปลว่า แดนดิน หรือผู้ซึ่งมาจากแดนดินอื่นก็ตาม แม้กฎหมายมีความเป็นกลาง แต่พอถูกใช้ในทางวัฒนธรรมมันไม่เป็นกลาง ส่งผลต่อการปฏิบัติของรัฐต่อกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย ตำรวจก็ไม่ได้เรียกฝรั่งว่าต่างด้าว ก็เรียกว่าฝรั่ง เราเองก็ไม่เรียกคนญี่ปุ่นหรือคนจีนว่าเป็นต่างด้าว คำว่าต่างด้าวจึงถูกใช้เรียกอยู่ 3 กลุ่มทางพฤตินัย คือ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ อันเป็นประเทศที่คนไทยดูถูกมาแต่ไหนแต่ไร

ถ้ามองในแง่ความมั่นคง มีความชอบธรรมจริงหรือไม่จากการที่รัฐใช้มาตรการกีดกันคนต่างด้าวเพื่อป้องกันปัญหาสังคมหรืออาชญากรรมในประเทศ

ขอถามกลับไปว่า แล้วการเพิ่มค่าธรรมเนียม และกีดกันไม่ให้ทำงานอื่นนอกจากก่อสร้างและคนใช้ มันไปช่วยลดปัญหาอาชญากรรมตรงไหนล่ะ?

การมีอาชญากรรมจากการที่มีคนแปลกหน้าหรือคนนอกเข้ามาอยู่ด้วยกันมากๆ เราจะควบคุมไม่ให้เกิดได้อย่างไร แน่นอนก็ต้องมีหลายขั้นตอน ต้องรู้ว่ากลุ่มคนนี้เป็นใคร ต้องให้พวกเขามีสังกัด ใช้การควบคุมทางสังคม การควบคุมทางกฎหมาย และการทำให้เขามีตัวตนทางกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งของสังคม การกีดกันพวกเขาออกจากสังคม น่าจะยิ่งทำให้พวกเขาแปลกแยก และไม่เป็นผลดีต่อสังคม

รัฐมักอ้างเรื่องความมั่นคง ที่จริงแล้วยุคที่คนจีนอพยพเข้ามาดูจะส่งผลกระทบในด้านนั้นมากกว่า มีศักยภาพมากกว่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในยุคปัจจุบัน คนจีนโพ้นทะเลบางกลุ่มในสมัยนั้น แม้ตัวจะอยู่ไทย แต่ใจเขาอยู่จีนแผ่นดินใหญ่ จึงมีขบวนการชาตินิยมเกิดขึ้นเต็มไปหมด มีการจัดตั้งสมาคมอั้งยี่ แต่รัฐไทยหรือสยามก็ยังคงอนุญาตให้คนจีนทำงานในไทยได้ แม้จะควบคุมอย่างเข้มงวดหลายอย่าง แต่ลูกหลานก็เป็นไทยกันหมด

อยากถามจริงๆ เถอะว่า เมียนมาร์หรือลาว มีศักยภาพที่จะไปก่อความไม่มั่นคงอย่างไร ทั้งที่ทุกวันนี้ผ่านยุคสงครามเย็นมากี่ปีแล้ว

คำพูดที่ว่า ‘แรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงานคนไทย’ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการผลักดันคนต่างด้าวด้วยไหม

ไทยก็เป็นประเทศรายได้ปานกลาง ค่าแรงขั้นต่ำ 300 กว่าบาท มีแรงงานไทยที่ไหนอยากทำ ฉะนั้น แรงงานไทยส่วนหนึ่งก็ย้ายไปทำงานที่สิงคโปร์ซึ่งรายได้ดีกว่า นี่ก็เป็นผลพวงหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่แล้ว เราจึงได้แรงงานมาจากประเทศที่ยากจน

วลีที่บอกว่า ต่างด้าวเข้ามาแย่งงานคนไทย ก็ไม่เมคเซนส์อยู่แล้ว เป็นการพูดบนฐานคิดของการเหยียดเชื้อชาติ ไม่ได้เกิดบนความคิดที่มาจากฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งรัฐไทยไม่ได้พูดนะ แต่เป็นคนไทยกันเองที่พูด แล้วคนไทยที่พูดก็เป็นคนไทยที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากจีน มีบรรพบุรุษเป็นต่างด้าวทั้งสิ้น คงลืมไปว่าสมัยอากง อาม่า ที่โล้สำเภามา เคยถูกคนไทยเหยียดหยามขนาดไหน กว่าจะแปลงสัญชาติเป็นคนไทยได้

ตอนที่คนจีนต่างด้าวอพยพเข้ามาไทย ณ ตอนนั้น ก็ไม่เห็นคนไทยบอกว่ามาแย่งงาน วาทกรรมการแย่งงานก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ เหมือนว่าคุณต้องการสร้างความชอบธรรมในการเหยียดหรือกีดกันอีกกลุ่ม ก็อ้างว่าเป็นเพราะมือที่สามหรือได้รับเงินจากต่างชาติมา ซึ่งไม่มีความโยงใยเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น วาทกรรมประเภทนี้มันสะดวกและง่ายต่อการหยิบมาใช้โดยไม่ต้องพิสูจน์ เอาไว้ใช้เหยียดและกีดกันคนอื่น

อาจารย์พูดถึงแรงงานต่างด้าวชาวจีน ณ เวลานั้น กลไกในการควบคุมแรงงานต่างด้าวกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร

ต้องคิดบนฐานที่ว่า พรมแดนชาติเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ เป็นผลผลิตของรัฐชาติสมัยใหม่ ขณะที่ในอดีตการเดินข้ามไปข้ามมาระหว่างพรมแดนหรือการเดินออกจากอาณาจักรนี้ไปยังอีกอาณาจักรถือเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น รัฐก่อนยุคสมัยใหม่จึงไม่มีการกีดขวาง

ทีนี้ถามว่า ความพยายามที่จะเริ่มหากลไกมาควบคุมกำกับการเคลื่อนย้ายของผู้คนในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างไร ก็มาจากการที่รัฐก่อตัวเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ขึ้นมา ในสมัย ร.5 ก็เริ่มทำทะเบียนราษฎร์ ใครจะเดินทางไปต่างจังหวัดไปค้าขายก็ต้องมีการลงทะเบียน มีการใช้เอกสารควบคุมคน อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากยุคที่สยามเริ่มมีความเป็นรัฐสมัยใหม่แล้ว

แต่ระบบเอกสารในการกำกับควบคุมว่า คนนี้เป็นคนไทย คนนี้ไม่ใช่ การจะเข้าสู่ประเทศๆ หนึ่งต้องผ่านการควบคุมของรัฐนั้นเริ่มขึ้นสมัย ร.7 อาจถือเป็นยุคแรกที่เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ใบต่างด้าว’ ขึ้นมา

ถามว่า ยุค ร.7 เกิดอะไรขึ้นถึงต้องออกใบต่างด้าว ก็เพราะว่ารัฐมีความพยายามที่จะกีดกันคนจีน หากว่ากันตามจริงแล้ว การกีดกันคนจีนมีมาแต่สมัย ร.6 เป็นยุคที่ออกกฎหมายมา 2 ตัว ได้แก่ พระราชบัญญัติแปลงชาติ กับพระราชบัญญัติสัญชาติไทย ถ้าจำตรงนี้ให้ดี เราก็จะเห็นว่า มีความพยายามที่จะทำให้คนที่อยู่ในไทยเป็นคนไทย โดยหลักการทางกฎหมายเริ่มจากตรงนั้น จากนั้น ร.7 ก็ดำเนินการต่อ เช่น สั่งปิดโรงเรียนจีน คนจีนที่ใช้นามสกุล ‘แซ่’ ต้องพากันเปลี่ยนให้เป็นนามสกุลไทย อาชีพสำคัญต่างๆ คนจีนไม่สามารถทำได้ จะไปรับราชการก็ลำบาก สาเหตุสำคัญก็เพราะว่าลัทธิชาตินิยม และการที่คนจีนอพยพเข้ามามาก

จุดที่อยากชี้ให้เห็นถึงความต่างก็คือว่า ในยุคแรกที่มีการนำใบต่างด้าวมาควบคุมคน ถ้าใครที่มีเชื้อสายจีนจะรู้ดีว่า รุ่นอากง อาม่า ทุกคนต่างก็มีใบต่างด้าว แต่พอรุ่นถัดไปก็กลายเป็นคนไทยหมด ได้สัญชาติกันหมด อันนี้แปลว่าอะไร ในยุคที่แม้จะกีดกันคนจีน แต่ยุทธศาสตร์ของรัฐไทยในตอนนั้นคือ การทำให้คนต่างด้าวจงรักภักดีประเทศไทยด้วยการทำให้กลายเป็นคนไทยเสีย ด้วยนโยบายการ ‘กลืนกลาย’ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่เตะคนออกไปหรือขับไล่เหมือนตอนนี้ แต่เป็นการทำให้ ‘คนที่เป็นไทยแต่ตัว แต่ใจเป็นจีน’ กลายเป็นไทยได้ทั้งตัวและทั้งใจ

จริงๆ แล้วการแปลงสัญชาติมีมาตั้งแต่สมัย ร.6 หลังจากนั้นจึงมีพระราชบัญญัติสัญชาติ (Nationalization Act) ส่งผลให้คนจีนแปลงสัญชาติได้ การปฏิบัติต่อคนจีนที่เข้ามาในไทยในอดีต จึงไม่เหมือนกับแรงงานข้ามชาติในปัจจุบัน

ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากต้องการให้เห็นภาพในยุคปัจจุบัน ระหว่างไทยและเมียนมาร์ที่มีพัฒนาการทางการเมืองและประวัติศาสตร์ที่มีความแตกต่างกันอยู่ คือ รัฐไทยมีความพยายามที่จะทำให้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศกลายเป็นคนไทย ทุกคนต้องมีบัตร จากแถบแม่เหล็กบนบัตรประชาชนมาเป็นระบบดิจิตอล

แต่สำหรับเมียนมาร์ ถ้าลองไปดูในหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกล กระบวนการรับทำบัตรประชาชนของบ้านเขายังเป็นกระดาษอยู่เลย การเข้าถึงของรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อจะทำให้พลเรือนบ้านเขามีบัตรประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย ประการแรกคือ มันไม่ทั่วถึง เป็นเรื่องธรรมดามากที่ชาวเมียนมาร์ที่ข้ามมายังอีกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว หรือจีน ถ้าสุ่มลงไปใน 100 คน คงมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีบัตรประจำตัว ฉะนั้น ถ้าคิดแบบย้อนกลับไปจากที่กล่าวมาข้างต้นเปรียบเทียบตามประวัติศาสตร์ คนเมียนมาร์ที่เข้ามาไทยโดยที่ไม่มีบัตร ก็ไม่ต่างอะไรกับคนจีนรุ่นอากง อาม่า ที่ไม่มีบัตรเช่นกัน

ทำไมไทยไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกับคนจีนโพ้นทะเล เอามาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้

เพราะตรรกะในการปกครองพลเมืองเปลี่ยนไป การธำรงความเป็นแรงงานต่างด้าวช่วยให้รัฐไทยขูดรีดแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะต่ำได้มากกว่า โดยรัฐไม่ต้องแบกรับภาระของความเป็นพลเมือง ขณะเดียวกัน ก็ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงของประเทศที่ทหารต้องการ

ในช่วงที่ไทยยังเป็นสยาม เราก็มีบริบทต้องการแรงงานเช่นเดียวกับปัจจุบัน แต่ทำไมกฎหมายการควบคุมแรงงานที่เข้ามากลับเข้มงวดมากกว่าอดีต

มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก คือสิ่งที่เรียกว่า xenophobia หรือ การเหยียดเชื้อชาติ การมีสมมุติฐานที่ว่า ชาติอื่นที่เข้ามาอาศัยในชาติตัวเองจะเข้ามาแย่งงานเรา หรือคนชาติอื่นจะเข้ามาก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงในชาติ ประเทศอื่นๆ ก็เป็น ไม่ใช่แค่ไทย

แต่ในขณะเดียวกัน อย่างที่บอกไปแล้วว่า รัฐไทยก็เรียนรู้ว่า ตรรกะในการจัดการแรงงานข้ามชาติทักษะต่ำที่เข้มงวดมากขึ้น ช่วยให้ทุนสามารถขูดรีดแรงงานเหล่านี้ได้มากขึ้นด้วย มากกว่าการยอมให้คนเหล่านี้เป็นพลเมือง การกักขังให้คนเหล่านี้เป็นแรงงานทักษะต่ำตลอดไป ช่วยสร้างหลักประกันให้กับอุตสาหกรรม เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทุนอุตสาหกรรมต้องการ ในภาวะการเมืองปกติ การทำอะไรแบบนี้ สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ หรือแรงเสียดทานจากสาธารณะ แต่รัฐบาลทหาร สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ตามอำเภอใจ

คนจีนที่อพยพมาเป็นแรงงานในไทยซึ่งถูกกระบวนการชำระล้างแปลงสัญชาติเป็นไทยโดยสมบูรณ์ และมีความเป็นชาตินิยมไทยสูงมาก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนไทยโดยกำเนิด เพราะอะไรกระบวนการนี้จึงสำเร็จและมีประสิทธิภาพสูงขนาดนั้น

ถ้าให้ตีความอันนี้ก็เป็นปัญหาของชนชั้นกลางไทย ชนชั้นกลางลูกเจ๊ก ที่อีกด้านหนึ่งก็อยากถีบตัวเองเป็นคนไทย คือพวกเขาอยู่ตรงกลาง ไม่มีรากที่จะอ้างได้ว่าเป็นคนไทย จึงจำเป็นต้องเกาะชนชั้นที่สูงกว่าเอาไว้ เพื่อจะอ้างว่าตนเองเป็นไทย เพื่อไปเหยียดชนชั้นที่ต่ำกว่าอีกทอดหนึ่ง และเพื่อจะได้เคลมว่าตัวเองเป็นไทยโดยสมบูรณ์

แต่ในเมื่อบรรพบุรุษของพวกเขาคืออากง อาม่า ที่โล้สำเภามา ก็ไม่ต่างอะไรจากต่างด้าว ชาวเมียนมาร์ ชาวกัมพูชา มันจึงเป็นความย้อนแย้งที่น่าสนใจ แล้วถ้าใครแย้งว่ามันไม่เหมือนกัน สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว ก็จะถามกลับว่า ไม่เหมือนตรงไหน ในเมื่อเป็นต่างด้าวเหมือนกัน

ประการแรก เราต้องมองว่า ชนชั้นกลางพวกนี้เป็นใคร อยู่ที่ไหน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะมองผ่านมิติของภาคการผลิต คือมองว่าชนชั้นกลางโตมาจากทุนนิยม อุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูเป็นผลผลิตจากการขยายตัวของทุนนิยม และหล่อหลอมให้ชนชั้นกลางมองแค่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าในการสร้างความสำเร็จทางเศรษฐกิจ

แต่ถ้ามองละเอียดกว่านั้นสักนิด ลูกเจ๊กทั้งหลายซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในส่วนกลางก็คือ กรุงเทพฯ พวกเขาต่างก็ได้ประโยชน์จากความเจริญที่รวมศูนย์อยู่ในนั้นทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน คนรุ่นที่ 3 ซึ่งเติบโตบนฐานทรัพยากรที่กรุงเทพฯเจริญไปแล้วเรียบร้อย โดยหารู้ไม่ว่า การเติบโตนั้นมาจากการปล้นสิทธิ ปล้นทรัพยากรคนอื่น โตบนฐานการขูดรีดจากคนอื่นๆ

แม้ว่าจะมีอภิสิทธิ์ตรงนี้ แต่การที่ชนชั้นกลางเติบโตมาอย่างไม่มีฐานราก ทำให้ต้องถีบตัวเองขึ้นมา อย่างน้อยคือต้องใกล้ชิดกับวัฒนธรรมชนชั้นสูงให้ได้มากที่สุด เพื่อจะเลื่อนชั้นสถานะของตัวเองให้มั่งคั่งขึ้นมา หรือพยายามแสดงออกว่าตัวเองมีรสนิยมเป็นไทย

พอพูดถึงคำว่า ‘เจ๊ก’ แน่ล่ะ หลายคนอาจไม่ชอบใจ เพราะไปกระแทกปมอัตลักษณ์อย่างแรง เพราะเจ๊กส่วนใหญ่อยากเป็นไทย การที่พวกเขาอยู่ตรงกลางกองอำนาจในกรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทั้งหมด ประกอบกับมีความพยายามที่จะตะกายขึ้นไปอยู่บนอำนาจทางวัฒนธรรมเดียวกับกลุ่มชนชั้นสูง การดูถูก ‘ต่างด้าว’ หรือคนชนบทว่าเป็นพวกบ้านนอก ก็ย่อมไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นการสลัดทิ้งความเป็นต่างด้าวภายใน เพื่อสร้างความเป็นไทยให้กับตัวเองเท่านั้นเอง พวกลูกจีนจึงไม่ชอบให้ใครเรียกว่า ‘เจ๊ก’ เพราะคำนี้มันมีนัยของการเหยียด

แต่ก็ยังมีชนชั้นกลางลูกหลานชาวจีนอีกส่วนหนึ่งที่ยังสืบทอดมรดกความเป็นจีนบางอย่าง และมีความภาคภูมิใจในความเป็นจีนอยู่ไม่ใช่หรือ

ต้องเข้าใจว่า ‘จีนโพ้นทะเล’ กับ ‘จีนต่างด้าว’ ความหมายไม่เหมือนกัน จีนโพ้นทะเลคือ พวกที่มีต้นตระกูล มีตำแหน่งแห่งที่ในแผ่นดินไทย แต่คำว่าจีนต่างด้าว คือภาวะที่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย มีความเป็นคนแปลกถิ่น และถูกรัฐไทยปฏิบัติแบบดูถูกเหยียดหยาม

การสืบทอดมรดกความเป็นจีน จึงไม่ได้รวมเอาความเป็นต่างด้าวมาไว้ด้วย ในที่นี้หมายถึงสำนึกของการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามจากรัฐไทยเข้ามาไว้ด้วย narrative ของความทรงจำของจีนโพ้นทะเล คือประวัติศาสตร์ของการสร้างเศรษฐกิจอันรุ่งเรืองของครอบครัว การกระเหม็ดกระแหม่ มีบรรพบุรุษหอบเสื่อผืนหมอนใบ สร้างฐานะขึ้นมา ก่อร่างสร้างตัวด้วยความยากลำบาก แล้วลงท้ายด้วยการประสบความสำเร็จ ช่วยสร้างประเทศและสังคมไทยให้รุ่งเรือง ไม่ใช่มรดกความเป็นจีนที่ขัดแย้งกับความเป็นไทย

ชนชั้นกลางไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ในสังคม แต่ทำไมจึงส่งเสียงดังมากกว่ากลุ่มอื่น

เพราะเขาอยู่ในกรุงเทพฯไง เขาอยู่ในศูนย์กลางแห่งอำนาจ เป็นคนกลุ่มน้อยของเสียงส่วนใหญ่ ถึงแม้เขามีจำนวนน้อยนิด แต่สามารถตัดสินความเป็นไปของสังคมได้ ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวง เป็นศูนย์รวมของสื่อ รสนิยมของเขาก็เป็นตัวกำหนดเทรนด์ในวัฒนธรรมของไทย รวมถึงการปฏิบัติการของเขา ไม่ว่าจะขยับตัวไปไหนก็ได้อภิสิทธิ์มากกว่าชนกลุ่มอื่น

คนชนชั้นกลางกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เมื่อถูกชักจูงไปในทางหนึ่งก็สามารถเปลี่ยนไปได้ง่าย เพราะสิ่งที่เขาเสพหรือบริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ประกอบสร้างด้วยบริบทแบบนี้ทั้งสิ้น เช่น ประเทศควรจะมีพื้นที่สีเขียว เราต้องออกไปปลูกป่า หรือชนบทเป็นที่ที่คนมีจิตใจงดงาม มีเศรษฐกิจเรียบง่าย เสาร์อาทิตย์ก็ชักชวนกันไปทำนาในวันหยุด เป็นต้น นี่คือภาพฝันของชนชั้นกลางส่วนน้อยที่มีต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศ โดยไม่มีฐานอยู่บนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริง และไม่รู้หรอกว่าป่าที่ไปปลูกกันเป็นการไปแย่งพื้นที่ชาวบ้านอย่างไร ไม่รู้หรอกว่านาข้าวที่ชาวบ้านปลูก ราคาข้าวต้องสู้กันสูงขนาดไหน

มิติที่คนไม่ค่อยมองคือ ตำแหน่งแห่งที่ที่ชนชั้นกลางสังกัดอยู่นั้นมีความสำคัญมาก ถึงขนาดทำให้คนเหล่านี้มีเสียงที่ดัง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทุกอย่างที่หล่อหลอมให้คนเหล่านี้เติบโตขึ้นมา ในขณะเดียวกัน คนเหล่านี้ก็ไม่มีรากหรืออาจเคยมีรากเดิมมาจากต่างจังหวัด แต่ก็พยายามถีบตัวเองให้สูงขึ้น ด้วยการเรียนหนังสือให้สูงและเข้าไปแข่งขันฝ่าฟันในบริษัท

ชีวิตชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จึงมีฐานความเป็นปัจเจกชนนิยมสูง แข่งขันกันเอง ขณะเดียวกันก็มีวัฒนธรรมที่หล่อหลอมขึ้นมาผ่านการประกอบสร้างของวัฒนธรรมร่วม บนความสัมพันธ์ที่กรุงเทพฯ มีต่อชนบทและแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ เรามองมิติการผลิตอย่างเดียวไม่ได้ ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ผลิตอย่างเดียว แต่บริโภคและเสพด้วย เป็นการผลิตซ้ำในวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มขึ้นมา

คนชั้นกลางเสพอะไร มีอยู่สองวัฒนธรรมที่มีความย้อนแย้งอยู่ ประการแรกคือ พยายามที่จะทำให้ตัวเองศิวิไลซ์ประสบความสำเร็จ กล่าวคือ เสพวัฒนธรรมตะวันตกล้วนๆ ถ้าจะเป็นชนชั้นกลางที่ประสบความสำเร็จต้องบริโภคสิ่งที่ตะวันตกเขาเสพกัน ใช้สินค้าแบรนด์เนม กินกาแฟมียี่ห้อ วันหยุดต้องไปเที่ยวต่างประเทศ ไปในที่ที่คนทั่วไปเขาไม่ไปกัน นั่นคือการ look west ในฐานะที่เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต

อีกประการคือ การที่คุณไม่มีวัฒนธรรมแบบชนชั้นสูง สิ่งที่ชนชั้นกลางทำได้ก็คือ เป็น supporter หรือผลิตซ้ำวัฒนธรรมแห่งชาติ ความย้อนแย้งมันอยู่ตรงนี้ เพราะชนชั้นกลางอยู่ตรงกลางจริงๆ อยู่ตรงกลางของทุกสิ่ง ทั้งวัฒนธรรมชาติและวัฒนธรรมตะวันตก การเสพวัฒนธรรมตะวันตกของชนชั้นกลางก็เป็นลักษณะเลือกเสพ ไม่ได้เลือกเอาอุดมการณ์ฐานสำคัญของเสรีนิยมมาทั้งหมด เลือกมาแต่ผิวเผิน เลือกแต่สิ่งที่นำมาบริโภคแล้วจะสร้างความหรูหราให้กับตัวเอง แต่ไม่ได้เลือกอุดมการณ์ ฉะนั้น สิ่งที่ชนชั้นกลางหยิบมาจึงไม่ใช่ความมีเสรีภาพ เพราะว่าอีกขาหนึ่ง ชนชั้นกลางต้องค้ำจุนวัฒนธรรมของชนชั้นสูง

ทั้งสองลักษณะนี้จึงไปด้วยกันแบบย้อนแย้ง แต่ค้ำจุนกัน คือ การที่วัฒนธรรมชนชั้นกลางต้องค้ำจุนชนชั้นสูงตลอดยุคสมัย เราจึงเห็นภาวะการณ์แบบนี้ คนไปเรียนต่อในประเทศที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมสูง ใช้สินค้าแบรนด์เนม มีวิธีคิดทางธุรกิจที่ก้าวหน้า แต่กลับมีหัวคิดแบบอนุรักษนิยมหรือ royalist มาก เขาไม่ได้เป็น royalist เพราะถูกบังคับ แต่เป็น royalist เพราะเป็นประโยชน์ต่อการยกสถานะของตัวเขาเอง คนประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งมีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ ของสองข้อนี้

อาจารย์ยังเห็นภาพแนวคิดแบบนั้นในลูกหลานชนชั้นกลางรุ่นปัจจุบันอยู่ไหม

เท่าที่สอนนักศึกษา เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ล้วนเป็นผลผลิตจากสิ่งที่เขาโตขึ้นมา สอนหนังสือมา 10 ปี สิ่งที่เห็นคือ นักศึกษามีแนวโน้มในการวิพากษ์ลดลง ทั้งที่อยู่ภายใต้ระบอบที่ค่อนข้างกดทับ เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้านี้ กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาวิพากษ์วิจารณ์น้อยมาก และกลับกลายเป็นว่ากระแสโซตัสแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งตกสมัย ประเทศที่เจริญแล้วระบบโซตัสค่อยๆ หายไป แต่ในสังคมไทยกลับพบว่าระบบโซตัสแรงขึ้น ตอนนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะในมหาวิทยาลัย แต่ลงไปสู่โรงเรียนมากขึ้นด้วย

กระแสอนุรักษนิยมที่กลายเป็นวัฒนธรรมชาติในปัจจุบันที่แข็งตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีผลต่อการหล่อหลอมเด็กยุคปัจจุบันที่จะโตเป็นชนชั้นกลางในอนาคต รวมถึงระบอบการเมืองก็มีผลต่อการหล่อหลอมระบอบสังคมแน่นอนอยู่แล้ว

ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าค่อนข้าง hopeless (หัวเราะ) จะพบว่า เด็กรุ่นใหม่ยอมจำนนกับระบบแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และมองการวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องที่ผิดขนบ หรืออีกแบบคือ อย่าไปยุ่งเลย เป็นวัฒนธรรม ‘อยู่เป็น’ ซึ่งการกดทับที่ว่านี้ก็เป็นการสร้างพฤติกรรมทางสังคมหลายๆ แบบ บ้างก็พูดว่า การกดทับเป็นการสร้างระเบียบให้กับเรา ก็จะเห็นภาพตัวอย่างแบบสิงคโปร์ที่บ้านเขากดทับแล้วยังสร้างความเจริญได้ ตรงข้ามกับประเทศไทยที่ไม่ได้สร้างความเจริญใดๆ ให้เลย ก็แปลกใจที่อยู่กันได้ (หัวเราะ)

หรืออีกประเภทหนึ่งคือ ไปท้าทายหรือวิพากษ์มาก คนก็จะไม่ยอมรับ เพื่อนจะแอนตี้ ก็ต้องอยู่ให้เป็น กลายเป็นแบบนี้ ถ้าให้ประเมิน มีความรู้สึกว่าเด็กที่จะโตเป็นชนชั้นกลางในอนาคต ยิ่งระบอบเผด็จการมันอยู่นานมากเท่าไร เผด็จการยุคนี้แตกต่างกับยุคก่อนนะ เข้าไปแทรกแซงชีวิตประจำวันมากกว่าเผด็จการเมื่อทศวรรษที่ผ่านมาเยอะมาก ไปแทรกแซงถึงระดับที่ว่านักร้องจะแต่งตัวยังไง หนักขนาดนั้นแล้ว เข้าไปแทรกแซงรสนิยมกันแล้ว มีผลต่อวิธีคิดของเด็ก ยุคก่อนเด็กประถมอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ไม่ใช่ในยุคนี้ ซึ่งนับเป็นยุคแห่งความเสื่อมและถดถอยที่แท้จริง


#ปิ่นแก้วอ่าน

อาจารย์ปิ่นแก้วเล่าว่า เธอกำลังทำงานวิจัยว่าด้วยเรื่อง ‘การปกครองด้วยเอกสาร’ ฉะนั้น หนังสือที่เธออ่านในห้วงยามนี้จึงเกี่ยวข้องกับงานวิชาการมานุษยวิทยาในต่างประเทศแทบทั้งสิ้น

“อำนาจรัฐในการปกครอง คนทั่วไปที่รู้จักก็คือ อำนาจทางกฎหมาย แต่งานพวกนี้พยายามบอกว่า รัฐใช้เอกสารในการควบคุมคน หนังสือพวกนี้จึงช่วยพัฒนากรอบคิดในการอธิบายได้ว่า แรงงานข้ามชาติปัจจุบันกำลังถูกรัฐใช้กระดาษปกครอง ผ่านเอกสารหรือบัตรเล็กๆ ก่อให้เกิดทุนนิยมจากเอกสารได้อย่างไร เช่น ระบบนายหน้า นอกจากนั้นแล้ว งานเอกสารเหล่านี้ยังก่อให้เกิดระบบราชการที่งอกออกมาอย่างยิ่งใหญ่ได้อย่างไร การเก็บส่วย ระบบใต้โต๊ะ ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือในการศึกษาแบบใหม่ นอกจากศึกษาระหว่างคนกับคน แล้วก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคน เอกสาร หรือการเมืองระหว่างคนกับเอกสาร”

Government of paper: The Materiality of Bureaucracy in Urban Pakistan
โดย Matthew S. Hull

“เป็นงานด้านมานุษยวิทยาร่วมสมัยในปากีสถาน เกี่ยวกับวัฒนธรรมเอกสารในรัฐราชการ ช่วยให้เข้าใจว่าเอกสารนั้นสร้างวัฒนธรรมราชการอย่างไร”

Document: Artifacts of Modern Knowledge
โดย Annelise Riles

“ในสังคมสมัยใหม่ เอกสารเข้ามามีบทบาทสำคัญมากในการจัดความสัมพันธ์ของคน คนกับรัฐ และระบบทุนนิยม การประเมินและควบคุมกำกับผลิตภาพของคน ที่เรียกว่า audit culture ที่เปลี่ยนวิธีคิดในการสื่อสารในสังคม”

The Social Production of Indifference
โดย Michael Herzfeld

“เป็นชิ้นคลาสสิกของ Michael Herzfeld ก่อนที่จะมาทำเรื่องป้อมมหากาฬ หนังสือเล่มนี้เป็นชิ้นแรกๆ ของมานุษยวิทยาว่าด้วยระบบราชการ”

Refracted Visions: Popular Photography and National Modernity in Java
โดย Karen Strassler

“เป็นงานมานุษยวิทยาเช่นกัน สำหรับคนที่สนใจเรื่องภาพถ่าย กล่าวคือ ภาพถ่ายสามารถเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมในการศึกษาประวัติศาสตร์และชีวิตของผู้คนได้ เป็นหนังสือที่มีภาพสวย ถ่ายที่เกาะชวา อินโดนีเซีย วิเคราะห์การเปลี่ยนผ่านของสังคมประวัติศาสตร์เฉพาะผ่านวัตถุรูปภาพและคำบอกเล่า”

Red Tape: Bureaucracy, Structural Violence and Poverty in India
โดย Akhil Gupta

“หนังสือศึกษาเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชันในอินเดีย เป็นเล่มที่อ่านอยู่ ไว้ใช้เปรียบเทียบกับเมืองไทย”

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า