บ้านที่อยู่ไม่ได้ กับปลายทางที่ไร้ตัวตน แรงงานเมียนมาบนแผ่นดินไทย ชีวิตหลังรัฐประหาร และระหว่างโรคระบาด

“ฉันกับน้องสาวต้องส่งเงินทั้งหมดกลับบ้าน เราไม่เหลือเงินเก็บ ชีวิตในเมียนมายากลำบากขึ้นเรื่อยๆ แม่ต้องพึ่งพาเงินจากพวกเราสำหรับค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ของทุกอย่างแพงขึ้น และตลาดก็ค้าขายไม่ได้ตามปกติ ถ้ากองทัพเมียนมายังคงอยู่ในอำนาจ พวกเราลำบากแน่ๆ” แรงงานหญิงชาวเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการทำรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

การถดถอยของประชาธิปไตยในเมียนมาส่งผลให้ชีวิตของแรงงานชาวเมียนมา 4.25 ล้านคนในต่างแดนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้[1] พวกเขาส่วนใหญ่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย เมื่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงานหมดอายุ พวกเขาก็หลุดพ้นจากความคุ้มครองของกฎหมาย และมีโอกาสที่จะถูกข่มขู่ขูดรีดจากทั้งนายจ้างและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ความเปราะบางของแรงงานข้ามชาติที่บ้านเกิด

30 ปีก่อนหน้านี้ แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทยถูกรัฐบาลทหารเมียนมาปฏิเสธการมีอยู่มาโดยตลอด ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่ออองซานซูจีเดินทางมาพบกับพวกเขาเมื่อปี 2555 โดยเธอให้สัญญาว่าจะไม่ทอดทิ้งชาวเมียนมาในต่างแดนอีกต่อไป แรงงานชาวเมียนมามุ่งหวังว่ารัฐบาลพลเรือนจะตระหนักถึงการดำรงอยู่ของพวกเขา และช่วยให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งในไทยและเมียนมา

ในช่วงการเลือกตั้งของเมียนมาเมื่อปี 2558 ผู้เขียนได้พบกับแรงงานที่เดินทางกลับไปเลือกตั้ง เงินโอนจากผู้ที่ออกไปทำงานนอกประเทศ (remittance) มีบทบาทสำคัญในทางการเมือง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐกะเหรี่ยงบอกกับผู้เขียนว่า “ผมต้องใช้เงินเก็บเพื่อเดินทางกลับไปเลือกพรรคเอ็นแอลดีที่บ้านเกิด ผมเชื่อว่าระบอบทหารคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมต้องออกจากบ้าน การใช้ชีวิตในฐานะแรงงานข้ามชาติในต่างแดนไม่ใช่เรื่องง่าย บ้านของผมที่เมียนมามาจากเงินที่ผมหามาได้ เราเห็นประเทศไทยพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เมียนมายังคงย่ำอยู่กับที่ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เมียนมาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ผมต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารในปี 2564 แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาและครอบครัวของพวกเขาในประเทศไทยเชื่อมั่นว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ และนี่คือโอกาสของการหลุดพ้นจากความเหนื่อยยากและการเป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศไทย ด้วยการกลับไปก่อร่างสร้างธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองที่บ้านเกิด อย่างไรก็ตาม ความฝันของพวกเขาก็พังทลาย เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า เศรษฐกิจของเมียนมาตกต่ำดำดิ่งย้อนกลับไปสู่จุดต่ำสุดที่เกิดขึ้นในปี 2548[2]

แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากรัฐประหารในฉับพลันทันที การติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในบ้านเกิดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ถูกปิดกั้น[3] พวกเขาวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยของสมาชิกในครอบครัว โดย ณ วันที่ 10 กรกฎาคม กองทัพเมียนมาสังหารประชาชนไปแล้วมากกว่า 899 คน ขณะที่อีก 6,578 คนถูกจับ[4] และพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยถูกโจมตีทางอากาศ[5] และตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายวันพุ่งไปที่ 4,320 คน[6]

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลทหารยังไม่มีทีท่าว่าจะให้ความสนใจแรงงานข้ามชาติ การไร้ความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ ทำให้รัฐบาลทหารสนใจเรื่องการกระชับอำนาจของตนเป็นลำดับแรก แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการต่อต้านจากประชาชนและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งให้ความสำคัญกับการต่อต้านรัฐบาลทหารและสร้างการยอมรับในระดับนานาชาติมากกว่าการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่แรงงานข้ามชาติ หรือแม้กระทั่งการเจรจากับประเทศที่แรงงานเหล่านั้นใช้ชีวิตและทำงานอยู่อย่างประเทศไทย

มีการคาดการณ์ว่าหนังสือเดินทางของแรงงานชาวเมียนมาราว 500,000 คนจะหมดอายุในเดือนกรกฎาคม 2564[7] พวกเขาต้องทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่กับสถานทูตเมียนมาซึ่งปราศจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในเดือนมีนาคม 2564 รัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ของทางการประเทศเมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้ทำงานต่อไปได้[8] แต่มาตรการนี้ก็ล่าช้าและปราศจากการประชาสัมพันธ์ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากมองว่า เรื่องนี้สะท้อนถึงการไร้ความรับผิดชอบของรัฐบาลเมียนมาในการปกป้องประชากรของตน

ความเปราะบางของแรงงานข้ามชาติในต่างแดน

มีแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาอย่างน้อย 3 ล้านคนทำงานอยู่ในประเทศไทย[9] ทั้งในภาคประมง การก่อสร้าง การเกษตร ภาคบริการ และงานรายได้น้อยอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยจากเมียนมาอีก 91,818 คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีตัวเลขที่แท้จริงของแรงงานข้ามชาติทั้งถูกและผิดกฎหมายในประเทศไทย

ภายหลังการทำรัฐประหาร การส่งเงินกลับบ้านของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในประเทศไทยต้องพบกับปัญหา[10] องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM) ประมาณการว่า แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในไทย มาเลเซีย จีน และประเทศอื่นๆ ส่งเงินกลับประเทศผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการราว 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ 

ขณะนี้ทั้งธนาคารและช่องทางอย่างเป็นทางการหยุดให้บริการหรือลดชั่วโมงการให้บริการ แรงงานข้ามชาติจึงต้องส่งเงินกลับบ้านผ่านช่องทางแบบไม่เป็นทางการ แต่จากการพูดคุย แรงงานข้ามชาติให้ข้อมูลว่า ช่องทางแบบไม่เป็นทางการก็อยู่ภายใต้การสอดส่องตรวจตราของทหารเมียนมาเช่นกัน และพวกเขากังวลว่าเงินที่ส่งกลับจะไปไม่ถึงมือคนในครอบครัว ซึ่งจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายประจำวันของคนที่บ้าน รวมถึงการดูแลลูกๆ ของแรงงานข้ามชาติที่ปู่ย่าตายายเป็นผู้เลี้ยงดู

ยิ่งไปกว่านั้น การปิดจุดผ่านแดนทั้งหมดภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องพึ่งพาขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงาน[11] กฎหมายของประเทศไทยจัดวางแรงงานข้ามชาติ (migrant) ผู้ลี้ภัย (refugee) และผู้ขอลี้ภัย (asylum seeker) ในฐานะ ‘ผู้อพยพผิดกฎหมาย’ (illegal immigrant) ดังนั้น คนเหล่านี้จึงมีความผิดตามกฎหมายเป็นเงาตามตัว 

ในปี 2563 มีแรงงานชาวเมียนมาเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยแบบถูกกฎหมายอย่างน้อย 60,000 คน อย่างไรก็ตาม องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานระบุว่า มีชาวเมียนมา 1,000 คนพยายามลักลอบเข้าสู่ประเทศไทย โดยแต่ละคนต้องจ่ายเงินให้กับนายหน้าราว 14,000-16,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตลอดเส้นทาง ผู้ลักลอบเหล่านี้จึงมีโอกาสถูกข่มขู่รีดไถจากขบวนการค้ามนุษย์ได้ทุกเมื่อ

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐไทยก็เพิ่มความเข้มงวดในการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าแรงงาน[12] ด้วยข้ออ้างเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19[13] รัฐบาลไทยแถลงว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 มีการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ทั้งหมด 15,378 คน โดยเป็นชาวเมียนมา 6,072 คน[14] แรงงานข้ามชาติเหล่านี้คือเป้าหมายของการข่มขู่กรรโชกโดยเจ้าหน้าที่ที่ฉ้อฉล เมื่อถูกจับกุม แทนที่จะมีกระบวนการคัดกรองเพื่อรวบรวมข้อมูลของผู้ลักลอบเข้าเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการควบคุมตัวผู้ลักลอบเข้าเมือง ก่อนจะส่งกลับประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานหมดอายุ แรงงานข้ามชาติก็ต้องใช้วิธีติดสินบนเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายต่อไปโดยไม่ถูกส่งตัวกลับประเทศ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 ภรรยาของแรงงานก่อสร้างและแม่ของลูก 4 คนให้ข้อมูลกับผู้เขียนว่า เธอต้องจ่ายเงินให้ผู้ใหญ่บ้านเดือนละ 300 บาท 

การลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้น[15] ด้วยแรงผลักดันจากการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาต่อผู้ประท้วงที่ต่อต้านการยึดครองอำนาจและการสู้รบในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย แต่รัฐบาลทหารของไทยกลับผลักดันผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจากเมียนมา[16] ซึ่งละเมิดหลักการไม่ผลักดันกลับไปยังประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกประหัตประหาร อันเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ

มาตรการหนึ่งที่รัฐบาลไทยใช้จัดการกับปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายคือการลงทะเบียน มาตรการนี้เริ่มใช้ในบริเวณแนวชายแดนเมื่อปี 2535 และขยายไปทั่วประเทศในปี 2544 หลังจากลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ แรงงานข้ามชาติจะได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดทำให้มาตรการดังกล่าวหยุดชะงัก และจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ลงทะเบียนก็เพิ่มสูงขึ้น[17] มีการคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนตุลาคม 2563 มีแรงงานข้ามชาติ 600,000 คนสูญเสียสถานะทางกฎหมาย

การสูญเสียสถานะทางกฎหมายเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น การถูกเลิกจ้าง การไม่ได้ต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และการมีเงินไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในกระบวนการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน แรงงานจำนวนมากไม่สามารถหานายจ้างใหม่ได้ภายใน 30 วันตามเงื่อนไขของใบอนุญาตทำงาน ใบอนุญาตทำงานของพวกเขาจึงถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ ขณะที่พยายามหาทางอยู่ต่อในประเทศไทย แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายจะถูกตีตราว่าเป็นพวกลักลอบเข้าเมือง ด้วยเหตุดังนั้น พวกเขาจึงเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด

ด้วยมุมมองเชิงลบดังกล่าว นโยบายของรัฐไทยในเวลานี้จึงเน้นที่การจับกุมแรงงานผิดกฎหมาย[18] การจับกุมอย่างต่อเนื่องสร้างความหวั่นกลัว และผลักดันพวกเขาไปสู่จุดที่เปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมาตรการปิดไซต์ก่อสร้างแต่ทอดทิ้งให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการเยียวยา อาหาร และน้ำ 

การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาวะวิกฤติการเมืองและวิกฤติสุขภาพ

รัฐบาลไทยได้รับแรงกดดันจากนานาประเทศที่ต้องสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายและคุ้มครองแรงงาน ขณะที่รัฐบาลเมียนมาไม่สามารถปฏิรูปกฎหมายและมีแต่นโยบายที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อทั้งการเดินทางและการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในช่วงวิกฤติการเมืองและวิกฤติสุขภาพ ทำให้กระบวนการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติมีปัญหา

ตลอด 5 เดือนภายหลังการยึดอำนาจ รัฐบาลทหารเมียนมาเผชิญหน้ากับการไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนภายในประเทศ กลไกการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่ควรจะตอบสนองกับสถานการณ์อันยากลำบากของแรงงานข้ามชาติจึงล่มสลาย เมื่อการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารของคนงานภาครัฐขยายตัวไปทั่วประเทศ[19] การกลับสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะเป็นเพียงความหวังเดียวของแรงงานข้ามชาติ

สำหรับรัฐบาลไทย ต้องไม่ลืมว่าแรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย ผลผลิตของพวกเขาคิดเป็นร้อยละ 1.25 ของจีดีพี หรือราว 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[20] ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงควรปรับเปลี่ยนท่าทีต่อแรงงานข้ามชาติ โดยทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่นโยบายที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และปกป้องคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ แทนที่จะมุ่งเน้นที่การกวาดล้างจับกุม การปรับเปลี่ยนกรอบมโนทัศน์ของรัฐไทยจะส่งผลดีต่อทั้งการนำเสนอภาวะไร้สมรรถภาพของประเทศต้นทาง และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยในยุคหลังโควิด-19

อ้างอิง

[1] https://www.iom.int/countries/myanmar

[2] https://apnews.com/article/aung-san-suu-kyi-global-trade-myanmar-civil-disobedience-coronavirus-pandemic-797afa3259ae6759d19351d304e7082c

[3] https://www.bbc.com/news/world-asia-55889565

[4] https://aappb.org/

[5] https://www.reuters.com/world/asia-pacific/fighting-flares-myanmar-town-chinese-border-2021-05-23/

[6] https://github.com/CSSEGISandData/COVID-19

[7] https://prachatai.com/journal/2020/12/90994

[8] https://www.prachachat.net/csr-hr/news-626948

[9] https://www.iom.int/countries/myanmar

[10] https://www.reuters.com/article/myanmar-migrant-economy-idUSL8N2KU0K9

[11] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2098823/13-myanmar-migrants-arrested-on-western-border

[12] https://www.irrawaddy.com/news/burma/30-thai-police-accused-trafficking-myanmar-migrants.html

[13] https://web.facebook.com/ThailandMOL/posts/5703735289668901?_rdc=1&_rdr

[14] https://www.thaipost.net/main/detail/102345

[15] https://www.eastasiaforum.org/2021/04/22/thailands-weak-reaction-to-the-myanmar-coup/

[16] https://www.benarnews.org/english/news/thai/thai-myanmar-border-03302021173239.html

[17] https://thepattayanews.com/2020/12/25/dpm-prawit-appointed-to-solve-problem-of-undocumented-migrant-workers-with-temporary-committee-due-to-recent-covid-19-infections/

[18] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2107955/illegal-migrants-face-blitz

[19] https://www.theguardian.com/world/2021/feb/20/myanmar-protesters-democracy-demonstrators

[20] https://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/—asia/—ro-bangkok/documents/publication/wcms_098230.pdf

Author

โรยทราย วงศ์สุบรรณ
ที่ปรึกษาการรณรงค์นโยบายเพื่อเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติแห่งประเทศไทย (Migrant Working Group) ทำงานรณรงค์นโยบายผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และผู้อพยพในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี รวมทั้งเคยเป็นผู้สังเกตุการเลือกตั้งพม่า 2016 ประจำในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า