ผ่ายุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี: ฝันใหญ่ แต่ไม่สรุปบทเรียน

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ปี ค.ศ. 1985 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญที่มนุษย์ทุกคนต้องเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ และเป็นการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัยแก่มนุษยชาติ ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้วิเคราะห์นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (2560-2579) ซึ่งประกาศเมื่อปี 2560 ว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีวิสัยทัศน์ในการจัดการที่อยู่อาศัย ใหม่หรือเก่า กว้างหรือแคบ อย่างไร

ประเด็นแรก คำแถลงของคณะรัฐมนตรีชุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สะท้อนว่ารัฐบาลแทบไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาที่อยู่อาศัย ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่ กระทบกับคนจำนวนมากในหลายลักษณะ ตั้งแต่ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยต้องนอนข้างถนน ผู้ที่ต้องทนพักอาศัยอยู่ในห้องเช่าราคาถูกแต่มีคุณภาพต่ำ คับแคบ ไม่ถูกสุขลักษณะ คนจนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด แต่ไม่มีความมั่นคง สุ่มเสี่ยงต่อการถูกขับไล่ รวมถึงชนชั้นกลางที่ต้องผ่อนบ้านระยะยาวแบกภาระดอกเบี้ยจนแทบจะเท่ากับเงินต้น

ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ทั้ง 66 หน้า มีส่วนที่กล่าวถึงประเด็นที่อยู่อาศัยเพียง 2-3 แห่งเท่านั้น แห่งแรกซึ่งระบุถึงปัญหาที่อยู่อาศัย อยู่ในนโยบายด้านการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ข้อ 7.2.3 ที่เขียนว่า

“แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน สร้างชุมชนที่น่าอยู่ มุ่งเน้นการจัดการที่อยู่อาศัย การพัฒนาทักษะอาชีพ และการพัฒนาพื้นที่เมืองแบบองค์รวม เพื่อพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง สังคมที่เอื้ออาทร มีความสะดวกสบาย ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีวัฒนธรรมและจิตวิญญาณที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองและชุมชน และมีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงเพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” (คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีฯ, 2562. หน้า 19)

จากการจัดหมวดหมู่ให้ประเด็นที่อยู่อาศัยมาอยู่ในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากและเนื้อความข้างต้น สะท้อนถึงการมองปัญหาที่อยู่อาศัยที่ห่างไกลจากความเป็นจริงที่ว่า มีครัวเรือนที่มีรายได้น้อยต้องการความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยถึง 3.57 ล้าน ครัวเรือน (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2560. ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579). หน้า 12) และหากเน้นเฉพาะชุมชนที่เดือดร้อนหมายถึงอยู่ในข่ายที่จะถูกขับไล่จะมีมากถึง 791,647 ครัวเรือน (เพิ่งอ้าง หน้า 18) ปัญหาหลักที่พวกเขากำลังเผชิญการถูกบังคบให้รื้อย้ายเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง การพัฒนาย่านสถานี การรื้อย้ายชุมชนริมคูคลอง หรือกล่าวโดยรวมว่า การพัฒนาเมืองที่ขับไล่คนจนออกจากเมือง

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับคนกลุ่มนี้ จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงในประเด็นแรกก่อนว่า จะทำให้พวกเขาเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคงได้อย่างไร หากไม่มีความมั่นคง ถ้อยคำสวยหรูอย่าง ‘ชุมชนเข้มแข็ง’ ‘เอกลักษณ์ของเมือง’ ‘สังคมยั่งยืน’ ก็เป็นเพียงแค่คำที่เลื่อนลอย

‘ที่อยู่อาศัย’ ถูกกล่าวถึงในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่มี 12 เรื่อง ถูกกล่าวถึงอยู่ในเรื่องแรกคือ การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นย่อหน้าที่มีเนื้อหายาว ทั้งเรื่อง การประกอบอาชีพ การคมนาคม หาบเร่แผงลอย ปัญหาหนี้สิน และวรรคหนึ่งเขียนว่า “ปรับปรุงระบบภาษีและการให้สินเชื่อที่เอื้อให้ประชาชนสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ตามความพร้อม” (คำแถลงนโยบายฯ 2562. หน้า 30) เป็นการให้น้ำหนักกับระบบภาษีและสินเชื่อ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีผลต่อความสามารถในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย หากแต่ถ้อยแถลงเพียงเท่านี้ ไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะปฏิรูปภาษีและระบบสินเชื่อเพื่อเอื้อกับคนจนอย่างไร

ปัญหาหลักในการเข้าถึงสินเชื่อของคนจนเมืองกลุ่มใหญ่ไม่ใช่แค่พวกเขามีรายได้น้อย แต่พวกเขามีรายได้ไม่มั่นคง ผู้ประกอบอาชีพนอกระบบที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรือเป็นเจ้านายตัวเอง ไม่มีหลักฐานสลิปเงินเดือน สถาบันการเงินไม่ยินดีให้กู้เพื่อซื้อบ้าน นี่คือข้อเท็จจริงที่รับรู้กันแต่ยังไม่มีผู้เสนอหนทางแก้ไข

คำว่า ‘ที่อยู่อาศัย’ ยังมีปรากฏอีกแห่งหนึ่งในคำแถลงนโยบาย หมวด 10 ด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ข้อ 10.2 “เรื่องปรับปรุงระบบที่ดินทำกินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินโดยจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกรตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ”

เนื้อหาในถ้อยแถลงนี้มีความชัดเจนเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่น่าเสียดายที่เป้าหมายของการจัดการที่ดินในที่นี้เน้นเฉพาะในภาคการเกษตรที่มักมีข้อพิพาทกับหน่วยราชการ โดยไม่ได้ตระหนักว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินนั้น ส่งผลกระทบต่อปัญหาที่อยู่อาศัยในเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เพราะต้นทุนที่อยู่อาศัยราคาแพงนั้นมีพื้นฐานสำคัญมาจากต้นทุนที่ดินที่มีราคาแพงจากการเก็งกำไร แต่นโยบายของรัฐบาลกลับไม่ครอบคลุมถึง

นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ จะดูดีขึ้นกว่านี้อีกมาก หากเขียนเป็นเอกเทศเอาจริงเอาจังกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองที่ดินในเมืองเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น หมวดใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ กลับเป็นด้านการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย ที่มีเนื้อหาและมาตรการต่างๆ มากถึง 10 หน้า จากทั้งหมด 35 หน้า หรือกล่าวได้ว่า ยังคงให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจ มากกว่าด้านลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและปัญหาที่อยู่อาศัย อย่างเทียบกันไม่ได้

นโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ชุดนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่อยู่อาศัยมากนัก ปี 2560 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เผยแพร่ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี ซึ่งปรับปรุงจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย (2559-2568) ที่เคยผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 การเปลี่ยนจากแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี มาเป็น แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับ แผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีระยะเวลา 20 ปี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

สาระสำคัญของยุทธศาสตร์มีวิสัยทัศน์ว่า ‘คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Housing For All)’ โดยอ้างถึงปฏิญญาสากล และคำขวัญต่างๆ ขององค์การระหว่างประเทศ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ วาระใหม่แห่งการพัฒนา (NUA- New Urban Agenda) จากที่ประชุม Habitat III เมืองสุขภาวะ (healthy city) ขององค์การอนามัยโลก รวมถึงอ้างถึงนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น (ซึ่งก็มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันกับคนปัจจุบัน) ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้มาตรฐาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์มี 5 ข้อ คือ

  1. สนับสนุนให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน
  2. ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการเงินและระบบสินเชื่อ
  3. ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านที่อยู่อาศัย
  4. ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้
  5. การจัดระบบสาธารณูปโภค และระบบสาธารณูปการ จัดการที่ดิน และผังเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2560. ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579). หน้า 5-9)

ในด้านเป้าหมายเชิงรูปธรรม ตั้งเป้าหมายจะช่วยให้ครัวเรือน 5.87 ล้านครัวเรือน ได้มีที่อยู่อาศัยภายใน 20 ปี ข้างหน้า โดยแบ่งความรับผิดชอบกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ภายใต้ความรับผิดชอบของการเคหะแห่งชาติราว 2,2710,000 หน่วย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 1,053,000 ครัวเรือน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชารัฐ 1,863,000 หน่วย ส่วนที่เหลือเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ ในกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมถึงที่อยู่อาศัย สำหรับคนไร้ที่พึ่ง และกลุ่มเปราะบางต่างๆ

ประเด็นหลักที่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นในบทความตอนนี้ก็คือ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณไว้สูงมาก และหากวิเคราะห์จากตัวเลขเชิงสถิติที่ผ่านมา น่าเป็นห่วงว่า ในส่วนเป้าหมายที่จะดำเนินการโดยสองหน่วยงานหลักคือ การเคหะแห่งชาติ และ พอช. มีโอกาสน้อยมากที่จะสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

เริ่มจากการเคหะแห่งชาติ มีแผนจะสร้างที่อยู่ใหม่ ราว 530,609 หน่วย แผนนี้ชวนให้นึกถึงนโยบาย บ้านเอื้ออาทร สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเคยตั้งเป้าหมายจะสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย 600,000 หน่วย ภายใน 5 ปี (2546-2550) แต่เมื่อถึงเดือนกันยายนปี 2550 สามารถสร้างได้เพียง 78,236 หน่วย (รายงานประจำปี 2550 การเคหะแห่งชาติ. 2550. น.20) หรือเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่วางไว้  และต่อมาจึงมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ให้ปรับลดจำนวนหน่วยลงเหลือ 281,556 หน่วย และกว่าจะทำได้ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ ก็ต้องใช้เวลาถึง 16 ปี ก่อนที่โครงการนี้จะปิดตัวลงในปี 2562 นี้เอง

หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือ

เดิมโครงการบ้านเอื้ออาทรเคยตั้งเป้าไว้ 600,000 หน่วย ภายใน 5 ปี แต่เอาเข้าจริงผ่านไปถึง 16 ปี ทำได้และขายออกประมาณ 281,000 หมายถึง ต่ำกว่าเป้าหมาย 50 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หากแผนตามยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยแห่งชาติยังจะให้ กคช. ดำเนินตามรอยเดิม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

โครงการบ้านเอื้ออาทรทำให้การเคหะแห่งชาติต้องมีหนี้สะสมสูงถึง 90,000 ล้านบาท (50 ปี การเคหะแห่งชาติ, 2546. หน้า 39) จากการกู้เงินมาซื้อที่ดินและเตรียมพัฒนาโครงการ แต่รัฐบาลสั่งระงับ เพราะคาดการณ์ว่า หากลงทุนก่อสร้างแล้วขายไม่ออกจะสร้างหนี้ก้อนใหญ่กว่าเดิม แต่การเคหะแห่งชาติมีภาระต้องผ่อนส่งดอกเบี้ย

การที่โครงการบ้านเอื้ออาทรขายไม่ดี เพราะมีการสร้างอุปสงค์ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยการแสดงตัวเลขว่า ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในไทยมีกี่ครัวเรือน ครัวเรือนเหล่านี้ต่างต้องการที่อยู่อาศัยราคาถูก ดังนั้นโครงการของการเคหะแห่งชาติ จึงตอบสนองกลุ่มเป้าหมายนี้ รวมถึงมีการเปิดให้ลงชื่อจองก่อนจะทำโครงการ แต่ความจริงแล้ว กระบวนการคิดคำนวณข้างต้น มีช่องโหว่ที่เห็นได้ชัดสองจุด

ช่องโหว่แรก จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและอยากมีที่อยู่เป็นของตัวเองนั้นมีจริง แต่ปัญหาคือโครงการที่อยู่อาศัยที่การเคหะฯ สร้างขายนั้น อยู่ห่างไกลจากเมือง ที่ต้องอยู่ไกล เพราะราคาที่ดินถูก แต่คนจนที่ต้องประกอบอาชีพอยู่ในเมืองพบว่า การเดินทางไกล เสียค่าใช้จ่ายสูงมาก พวกเขาเหล่านี้จึงไม่อยากไปซื้อที่อยู่ในโครงการของการเคหะฯ จึงยอมเช่าที่อยู่ราคาถูกในเมืองที่แม้จะมีคุณภาพต่ำก็ตาม

ช่องโหว่ที่สอง คือ การให้ประชาชนมาลงชื่อจองที่อยู่อาศัย ต่อให้ผู้ที่มาจองอยากจะซื้อบ้านของการเคหะฯ จริง แต่ในขั้นตอนการขอสินเชื่อ หลายคนประสบปัญหาในการขอเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน ด้วยเหตุที่เป็นผู้ไม่มีรายได้ประจำ สถาบันการเงินจึงปฏิเสธการให้กู้เงิน

อีกหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน คือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติต้องรับผิดชอบรวม 1,053,702 หน่วย เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนแออัดและชุมชนเมือง ราว 701,702 หน่วย และในพื้นที่ชนบทอีก 352,000 หน่วย

ในส่วนของชนบทอาจจะดำเนินการได้ไม่ยากนัก เพราะเป็นการให้กู้เงินเพื่อนำไปปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งผู้อยู่อาศัยไม่ได้มีปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดิน หรือหากจะกู้เงินมาทำโครงการสร้างที่อยู่อาศัยในชนบท ราคาก็ย่อมถูกกว่าเพราะต้นทุนราคาค่าที่ดินไม่แพง

แต่ที่น่าสนใจคือ การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนแออัดในเมือง โดยพิจารณาเปรียบเทียบจากโครงการในอดีตตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงรัฐบาลชุดนี้ คือโครงการ บ้านมั่นคง หลังจากที่มีโครงการนำร่อง 10 ชุมชนในปี 2546 และมีคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนให้ก่อสร้าง 285,000 หน่วย ภายใน 3 ปี (2548-2551) ต่อมามีมติ ครม. วันที่ 12 ธันวาคม 2549 ลดเหลือ 200,218 หน่วย (โครงการบ้านมั่นคง, 2558. หน้า 9) แต่จากข้อมูลจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 สามารถทำได้เพียง 111,269 หน่วย

สรุปว่าใช้เวลา 16 ปี ทำได้เพียง 100,000 หน่วยเศษ แต่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติกลับตั้งเป้าหมายไว้ถึง 700,000 หน่วย โอกาสที่จะทำได้ตามเป้าหมายจึงน้อยมาก

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เป้าหมายเชิงปริมาณที่กำหนดไว้ในอดีตและที่วางแผนสำหรับในอนาคต ประสบความสำเร็จได้ยาก ก็เพราะ ปัญหาการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย ภาษาวิชาการเรียกว่า มีความขัดแย้งระหว่างที่ตั้งที่ผู้อยู่อาศัยต้องการ กับ ราคาที่สามารถจ่ายได้

กล่าวคือ ในกรณีของการเคหะแห่งชาติ จะสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูก ก็ต้องไปหาซื้อที่ดินนอกเมือง แต่คนจนก็ไม่อยากไปอยู่เพราะห่างไกลแหล่งอาชีพ ทำนองเดียวกัน ชาวชุมชนแออัด ส่วนใหญ่ต้องการจะอยู่ในที่เดิมที่ชุมชนตั้งอยู่เพราะอยู่ใกล้แหล่งงาน แต่เป็นไปได้ยาก เช่น หากชุมชนแออัดอยู่บนที่ดินเอกชนแทรกอยู่กลางเมือง จะซื้อที่ดินในราคาตลาดก็แทบเป็นไปไม่ได้ หรือต่อให้อยู่ในที่ดินของรัฐ หน่วยงานของรัฐก็อยากได้ที่ดินคืนไปใช้ประโยชน์เพราะได้ผลตอบแทนทางธุรกิจมากกว่าที่จะให้ชุมชนเช่า เพราะคนจนมีความสามารถในการจ่ายค่าเช่าได้น้อยกว่า ด้วยเหตุนี้โครงการบ้านมั่นคงที่ พอช. รับผิดชอบ จึงดำเนินไปได้ช้า

ยังมีประเด็นอื่นๆ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านที่อยู่อาศัยที่ควรจะได้รับการวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน เช่น โครงการบ้านประชารัฐซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1,500,000 หน่วย ว่าจะทำให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบเข้าถึงได้อย่างไร หรือจะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายของโครงการไปสนับสนุนการขายบ้านของผู้ประกอบการเอกชน ส่วนการช่วยเหลือคนจนก็ถูกละทิ้งต่อไป ฯลฯ

ในชั้นนี้ ผู้เขียนขอชี้ให้เห็นว่า อุปสรรคสำคัญของการจัดการที่อยู่อาศัยที่เป็นอยู่ ก็เพราะเป็นการจัดการที่วางอยู่บนกลไกตลาดเป็นสำคัญ แต่ขาดการคุ้มครองผู้มีรายได้น้อย ทำให้ที่อยู่อาศัยเป็นสินค้า แต่ละคนซื้อหาตามกำลังที่มี มากกว่าจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรเข้าถึงได้

จึงน่าเป็นห่วงว่า ท้ายที่สุดผู้ที่ได้ประโยชน์จากนโยบายที่อยู่อาศัยของรัฐจะไม่ใช่คนจนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน แต่จะเป็นคนที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว ที่ได้โปรโมชั่น ยุทธศาสตร์นี้จึงอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยหนักหน่วงและรุนแรง มากขึ้น

เหล่านี้คือ ประเด็นตัวอย่างที่งานเขียนชุด บ้านเรือนก็สิทธิของเรา ที่จะนำเสนอกรอบความคิดเชิงวิพากษ์เพื่อถอดรื้อกรอบความคิดการจัดการที่อยู่อาศัยแบบเดิม ในตอนต่อๆ ไป

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า