จากตอนที่แล้ว ซึ่งผมชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแบบ ‘สิงคโปร์โมเดล’ สำเร็จได้ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการใช้ที่ดินของรัฐเพื่อที่อยู่อาศัย ทำให้ต้นทุนโครงการที่อยู่อาศัยอยู่ในระดับราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้
ดังนั้น หากรัฐบาลมีความมุ่งมั่นจริงที่จะทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึงและยั่งยืน จำเป็นต้องแบ่งที่ดินที่หน่วยงานรัฐถือครองอยู่ มาใช้ประโยชน์เพื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะที่ดินของหน่วยงาน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ราชพัสดุ ที่มีประชาชนครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยอยู่แล้ว หากหน่วยงานเหล่านี้มีวิธีคิดในการบริหารจัดการที่ไม่ได้มุ่งแต่ด้านรายได้เป็นเม็ดเงินจากการนำที่ดินให้บริษัทเอกชนซึ่งร่ำรวยอยู่แล้วได้เช่าเพื่อหาประโยชน์เชิงธุรกิจ แต่ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสังคม รวมถึงการใช้เป็นที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย แล้วสังคมไทยจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ‘สลัม’ ‘ชุมชนแออัด’ เป็น ชุมชนบ้านมั่นคง ที่คนทั้งสังคมได้ประโยชน์ร่วมกัน
ตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งซึ่งผมมีประสบการณ์มาเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ก็คือ การแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินของการรถไฟฯ ที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ผลักดันกับกระทรวงคมนาคม สมัย นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็น รมช.คมนาคม คุมการรถไฟฯ จนกระทั่งมีมติคณะกรรมการรถไฟฯ ออกมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มีสาระสำคัญคือ อนุญาตให้ชุมชนที่อยู่บนที่ดินของการรถไฟฯ ในรายชื่อ 61 ชุมชน ตามข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค โดยมีหลักการ
- อนุญาตให้ชุมชนแออัดที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ คือห่างจากรางรถไฟเกิน 40 เมตร หรือที่การรถไฟเลิกใช้แล้ว สามารถเสนอแผนปรับปรุงชุมชนและขอเช่าที่ดินระยะยาวจากการรถไฟฯ สัญญาเช่า 30 ปีได้
- กรณีชุมชนที่อยู่ในเขตทางรถไฟและจะต้องรื้อย้าย เพราะการรถไฟฯ มีโครงการใช้ที่ดินเพื่อการเดินรถ การรถไฟจะจัดหาที่ดินรองรับ ห่างจากที่เดิมไม่เกิน 5 กิโลเมตร
- ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการร่างสัญญาเช่าและกำหนดอัตราค่าเช่า
หลังจากคณะกรรมการรถไฟฯ มีมติดังกล่าว ชุมชนทับแก้ว ซึ่งเดิมตั้งอยู่ข้างทางขึ้นทางด่วนพระราม 9 ตัดกับถนนรัชดาภิเษก ต้องรื้อย้ายเพราะโครงการตัดถนนจตุรทิศ จึงเป็นโครงการแรกที่มติบอร์ด 13 กันยายน 2543 ได้ถูกนำมาใช้และมีผลในทางปฏิบัติ แน่นอนว่าต้องอาศัยการกดดันจากภาคประชาชนด้วย การรถไฟฯ จึงหาที่รองรับให้ตรงย่านสถานีรถไฟคลองตัน สำหรับให้ชุมชนได้ย้ายมาปลูกบ้านใหม่ที่ไม่ใช่ ‘สลัม’ แบบเดิม โดยจ่ายค่าเช่าในอัตราตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี หรือเป็นค่าเช่าที่ดินราวเดือนละ 200 บาทต่อครอบครัว ซึ่งเป็นอัตราที่ชาวบ้านรับไหว
มติบอร์ดรถไฟฯ ที่ให้ชาวชุมชนได้เช่าที่ดินระยะยาว เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่า มีหน่วยงานรัฐให้เช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันก็เป็นการจัดระเบียบและพัฒนาที่ดินของการรถไฟฯ เองด้วย คุณภาพชีวิตของชาวบ้านก็ดีขึ้นมาก เมื่อสภาพแวดล้อมดี มีผลต่อความรู้สึกว่า เราไม่ใช่คนสลัมแล้ว เด็กที่อยู่ในวัยเรียนชั้นมัธยมซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก็สะท้อนว่า พอเป็นชุมชนใหม่ พวกเขามีความรู้สึกว่าไม่ใช่เด็ก ‘สลัม’ พฤติกรรมต่างๆ ก็เปลี่ยนไป
ในทางกลับกัน หากการรถไฟฯ ใช้วิธีการไล่รื้อ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ก็จะเกิดการต่อต้านเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ต่อให้รื้อย้ายชาวบ้านสำเร็จโดยไม่มีที่รองรับ ชาวบ้านก็ต้องไปอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่าเดิม บ้างต้องไปหาห้องเช่าราคาถูกแต่คุณภาพต่ำอยู่ ต้องย้ายที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งอาชีพ และยังไม่อาจจินตนาการว่า คนที่รายได้น้อยมากๆ ไม่มีลูกเต้า บางคนอาจจะต้องถึงขั้นสร้างเพิงเล็กๆ แอบๆ อยู่ สภาพไม่ต่างกับคนไร้บ้านเลยก็ได้
อย่างไรก็ดี ในช่วงสองถึงสามปีหลัง การรถไฟฯ มีโครงการต่างๆ มากมาย ตั้งแต่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) เงินลงทุน 224,000 ล้านบาท ควบคู่กันกับโครงการพัฒนาย่านมักกะสัน ซึ่งบริษัทซีพีได้สัมปทานเช่าที่ดิน 150 ไร่ สัญญาเช่า 50 ปี นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงเปลี่ยนโฉมสถานีกลางบางซื่ออย่างขนานใหญ่ ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการคมนาคม โดยนายกรัฐมนตรีเพิ่งไปเปิดสถานีใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว
โครงการอภิมหาโปรเจ็คต์นี้ เลี่ยงไม่พ้นที่จะกระทบกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟฯ เริ่มตั้งแต่ริมทางรถไฟเส้นที่ขนานกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ไปทางคลองตัน คือช่วงถนนพระราม 6 ไปตัดถนนพญาไท ต่อเนื่องไปตัดถนนราชปรารภตรงประตูน้ำ ขนานไปกับถนนนิคมมักกะสัน ตรงแยกนิคมมักกะสันตัดกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ก็มีชุมชนแออัดอยู่หนาแน่น รวมชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟเชื่อมต่อสามสถานี 4 ชุมชน คือ ชุมชนหลังกรมทางหลวง ชุมชนบุญร่มไทร ชุมชนแดงบุหงา ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา (ปัจจุบันคืออยู่หลังโรงพยาบาลพญาไท) รวมผู้เดือดร้อน 400 ครอบครัวเศษ และที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาย่านมักกะสันอีก 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ชุมชนหลังวัดมักกะสัน ชุมชนนิคมมักกะสัน และชุมชนโรงเจ รวม 990 ครอบครัว[1]
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผมลงพื้นที่ย่านนี้เป็นหลัก และติดตามว่าการรถไฟฯ จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร ทางเลือกที่การรถไฟฯ มีข้อเสนอให้ชาวบ้าน แต่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านนักก็คือ ให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ที่ดินที่รองรับ ย่านหลักหก จังหวัดปทุมธานี เหตุผลที่ชาวบ้านไม่อยากย้ายไปอยู่ไกล เพราะจะห่างไกลพื้นที่ประกอบอาชีพของพวกเขา ผมเคยลงพื้นที่เก็บข้อมูลการประกอบอาชีพของชาวบ้านชุมชนบุญร่มไทร อยู่ริมทางรถไฟเข้าทางถนนเพชรบุรี ซอย 5 จำนวน 93 คน พบว่า ระยะทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานของชาวบ้าน มีชาวบ้านถึงร้อยละ 82.8 ที่ทำงานอยู่ห่างจากบ้านไม่เกิน 1 กิโลเมตร ตอนที่ผมดูเห็นตัวเลข ‘200’ ในแบบสอบถาม ผมตกใจ เพราะสงสัยว่า ใครจะเดินทางไปทำงานถึง 200 กิโลเมตร แต่พอดูหน่วยแล้วจึงเข้าใจว่า บ้านห่างจากที่ทำงานแค่ 200 เมตร ไม่ใช่ 200 กิโลเมตร นี่คือตัวอย่างว่า หากย้ายชาวบ้านไปอีก 30 กิโลเมตร จะทำให้เขาห่างไกลจากแหล่งอาชีพ
มาดูกันว่าคนในชุมชนประกอบอาชีพอะไรกันบ้าง พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 (เปอร์เซ็นต์) ประกอบอาชีพค้าขาย เช่น ขายอาหารตามสั่ง อาหารอีสาน ลูกชิ้นปิ้ง ผลไม้ ปลาเผา กับข้าว ผักสด ฯลฯ อาชีพเหล่านี้ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ เพราะทำเลที่ตั้งในย่านถนนเพชรบุรี ซอย 5 มีอพาร์ตเมนต์และหอพักต่างๆ จึงมีลูกค้ามากมาย รองลงมาคือ อาชีพรับจ้างอิสระ (31.4 เปอร์เซ็นต์) ได้แก่ ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีรถให้เช่าส่งของ รับจ้างซ่อมเครื่องทำความเย็น ช่างตัดผม รับจ้างรีดผ้า อาชีพเหล่านี้ต้องการทำเลที่อยู่ในย่านเมืองจึงจะมีผู้เรียกใช้บริการ ส่วนอาชีพรับจ้างประจำ เป็นระดับงานบริการอย่างแม่บ้านหรือพนักงาน รปภ. ราว 12 เปอร์เซ็นต์ เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าอาชีพเหล่านี้รายได้ไม่มาก แต่ที่ชาวบ้านอยู่ได้เพราะทำงานเป็นแม่บ้านในตึกใกล้เคียงชนิดที่เดินไปทำงานได้ และก็อยู่ในชุมชนแออัดที่ไม่ได้เสียค่าเช่า รายจ่ายจึงต่ำพอกับรายได้ที่น้อย
อาชีพที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า เป็นอาชีพที่มีความสัมพันธ์กับที่ตั้งอย่างมาก หากพวกเขาถูกย้ายไปอยู่ที่ไกล นั่นหมายความว่าประกอบอาชีพเดิมไม่ได้ เพราะที่รองรับอยู่ชานเมือง ไม่มีผู้คนให้ค้าขายหรือให้บริการ พี่ตี๋-เชาวน์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร อาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่วนภรรยาขายลูกชิ้นปิ้ง บอกกับผมว่า “ซอยนี้มันทำเลทอง ทำมาหากินอะไรก็ได้ ถ้าเราย้ายไปไกลๆ พวกผมจะไปทำมาหากินอะไร”
ส่วนข้อสงสัยว่า ชนชั้นกลางหลายคนที่ซื้อบ้านอยู่ชานเมืองก็ยังต้องยอมเดินทางเหน็ดเหนื่อยฝ่ารถติดมาทำงานในเมือง ทำไมชาวบ้านจึงทำแบบเดียวกันไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอาชีพและรายได้ของคนจนต่างจากชนชั้นกลาง ลองนึกถึงอาชีพรถเข็นขายของ จากเดิมเคยเข็นจากในชุมชนมาขายในซอย ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข็นของมาจากหลักหกหรือขนของขึ้นรถไฟมาขายของที่เพชรบุรี ซอย 5 ส่วนคนที่ประกอบอาชีพแม่บ้าน ลองนึกว่ารายได้ที่น้อยอยู่แล้ว หากต้องเสียค่าเดินทาง รายจ่ายก็ยิ่งเพิ่ม จนรายได้ที่มีไม่พอใช้ นอกจากนี้ การย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ไม่ได้แปลว่าจะไปอยู่ฟรี หากแต่ชาวบ้านต้องกู้เงินปลูกบ้านมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น หากรายได้ลดลง แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ ต้องเซ้งสิทธิกลับมาอยู่ในเมือง
บทเรียนครั้งสำคัญของการย้ายคนชุมชนแออัดไปอยู่ไกล สุดท้ายชาวบ้านผ่อนค่าที่ ค่าปลูกบ้านไม่ไหวก็เซ้งสิทธิกลับมาหาที่อยู่ใหม่ เป็นชุมชนแออัดขนาดเล็กกระจัดกระจาย ซึ่งก็มาจากโครงการโฮปเวลล์ช่วงปี 2540-2541 ที่มีการรื้อย้ายชุมชนริมทางรถไฟนับพันครอบครัวไปอยู่ที่โครงการฉลองกรุง เขตลาดกระบัง ซึ่งอยู่ไกลมาก ไกลและลึกขนาดขนส่งสาธารณะก็ยังเข้าไม่ถึง
บทเรียนจากโครงการโฮปเวลล์ ทำให้ชุมชนแออัดตกผลึกว่า คำโฆษณาที่ให้ไปซื้อที่ปลูกบ้านผ่อน แล้ววันหนึ่งจะได้เป็นของเรา เป็นแค่การวาดวิมานในอากาศ เพราะคนส่วนใหญ่เซ้งสิทธิกลับมาหาแหล่งอาชีพในเมือง ลุงป้อม-ไพโรจน์ ภูษาทอง ที่ประกอบอาชีพขายอาหารตามสั่งอยู่ท้ายซอยเพชรบุรี ซอย 5 พูดกับผมว่า “อาจารย์ ที่อยู่อาศัยไม่ยากหรอก อยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ที่ทำกินนี่สิสำคัญ ผมอายุป่านนี้แล้ว ถ้าให้ผมย้ายไปไกล ไม่มีที่ทำมาหากินแล้วผมจะอยู่ยังไง” นี่คือเสียงสะท้อนตัวอย่าง
ส่วนอีกข้อเสนอหนึ่งจากการรถไฟฯ ที่ถูกพูดถึงในระหว่างการประชุมบ้างก็คือ หากชาวบ้านอยากจะอยู่ในเมืองก็ต้องขึ้นแฟลต เพราะการย้ายคนไปอยู่ในแนวตั้งจะได้จำนวนหน่วยหนาแน่นกว่า ผมเคยถามนักศึกษาว่า ทำงานจบแล้วอยู่คอนโดมิเนียมรับได้หรือไม่ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์จะตอบว่าได้ แต่หากถามคนในชุมชนแออัด คำตอบจะกลับกัน คือมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่อยากอยู่แฟลต รองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ นักวิชาการอาวุโสที่ศึกษาสลัมมาอย่างลึกซึ้ง เคยอธิบายไว้นานแล้ว และคำอธิบายของท่านก็ยังใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน[2]
เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนชุมชนแออัดไม่อยากย้ายขึ้นแฟลต เพราะคนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ต้องใช้บ้านเป็นที่ทำงานด้วย ต่างกับพนักงานบริษัทหรือพนักงานโรงงานที่แยกระหว่างบ้านซึ่งเป็นที่พักผ่อนกับที่ทำงาน แต่คนสลัมใช้พื้นที่บ้านในการเตรียมของขาย บ้างทำครัวครั้งละ 5-6 เตา เพื่อทำกับข้าวไปขาย ส่วนคนขายผลไม้ต้องล้างหั่นผลไม้หลายประเภทก่อนจะไปขาย อาชีพเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ในห้องขนาดเล็ก 28 ตารางเมตรของแฟลต บทเรียนของการย้ายคนในชุมชนคลองเตยขึ้นแฟลตตั้งแต่ทศวรรษ 2530 แต่ปรากฏว่าคนจำนวนมากเซ้งแฟลตกลับมาอยู่ในชุมชนแออัดใหม่ เป็นบทเรียนที่ไม่ควรทำอีก
ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอของชาวบ้านก็คือ ขอแบ่งปันที่ดินจากการรถไฟฯ ที่ย่านมักกะสัน จากที่ดินของการรถไฟทั้งหมด 497 ไร่ ให้ซีพีเช่าไปแล้ว 150 ไร่ เป็นเวลา 50 ปี ชาวบ้านขอเช่า 25 ไร่ เพื่อจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยราว 650-680 แปลง รองรับชาวชุมชนที่จะต้องถูกรื้อย้ายจากโครงการ 3 สนามบินและพัฒนาย่านมักกะสัน (ชาวบ้านที่เหลือเลือกที่จะกลับภูมิลำเนาหรือสามารถหาที่อยู่อาศัยเองได้)
ถามว่าข้อเสนอของชาวชุมชนนี้มากเกินไปหรือไม่ ตอบโดยภาพรวมก็ต้องถือว่าไม่มากเลย การขอแบ่งปันที่ดินรถไฟ 25 ไร่ จาก 497 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนราว 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยหลายร้อยครอบครัว ตรงกันข้ามกับการให้บริษัทเจ้าสัวเช่า ซึ่งผลกำไรก็ตกกับคนไม่กี่คน
ปัจจุบัน สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่สร้างความแตกแยกร้าวลึกนั่นคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม หากการทำโครงการอภิมหาโปรเจ็คต์ ที่ถึงที่สุดผลประโยชน์กำไรตกกับบริษัททุนขนาดใหญ่ ส่วนคนจนถูกไล่ที่ไร้ที่อยู่ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงขึ้นอีก
รัฐบาลต้องตัดสินใจเรื่องนี้ ก่อนที่เรื่องจะลุกลามจนสังคมพูดกันว่า “ไล่คนจน ประเคนที่ให้เจ้าสัว”
เชิงอรรถ
[1] ข้อมูลจากเอกสารนำเสนอของ สำนักงานพัฒนาเองค์กรชุมชน (พอช.)
[2] ดู อคิน รพีพัฒน์, ม.ร.ว., และวรรณพร (2525). “ชุมชนแออัดและแนวทางเกี่ยวกับปรับปรุงชุมชนแออัด”. ในหนังสือ สลัม: ปัญหาและแนวทางแก้ไข, อคิน รพีพัฒน์ และคณะ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. โดยเฉพาะหัวข้อ แนวทางแก้ปัญหาโดยสร้างอาคารสงเคราะห์แบบแฟลต