บ้านเรือน: มุมมองทางสังคมที่ถูกบดบัง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เราต่างเคยได้ยินตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมว่า ‘ที่อยู่อาศัย’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เช่นเดียวกับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค หากขาดปัจจัยข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมกระทบกับชีวิตมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ

แต่เอาเข้าจริง ปัญหาที่อยู่อาศัยซึ่งผู้มีรายได้น้อยราว 3.5 ล้านครัวเรือนไม่สามารถมีที่อยู่เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะคนจนเมืองที่ต้องเช่าที่อยู่ราคาถูกและคุณภาพต่ำ ส่วนคนที่พอมีกำลังทรัพย์ซื้อบ้านได้แต่ก็ต้องแบกภาระหนี้สินก้อนโตเกือบครึ่งชีวิต กลับไม่ถูกศึกษาวิเคราะห์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะนักสังคมวิทยาไม่ค่อยนับเอา ‘ที่อยู่อาศัย’ (housing) เป็นประเด็นในการศึกษา

เราหานักวิชาการด้านสังคมวิทยาที่สนใจเรื่องที่อยู่อาศัยได้น้อยเต็มที หนึ่งในนั้นคือ รองศาสตราจารย์สายใจ คุ้มขนาบ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก่อนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2551 ท่านก็ไม่ได้สอนวิชาสังคมวิทยาที่อยู่อาศัยหลายปีแล้ว

ไม่เพียงแต่นักสังคมวิทยาไทยที่สนใจเรื่องที่อยู่อาศัยกันน้อย ในแวดวงนักสังคมวิทยาต่างประเทศก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน แต่ยังมีสัญญาณดีกว่าในแวดวงสังคมวิทยาไทยอยู่บ้างก็คือ เมื่อไรก็ตามที่ ‘ที่อยู่อาศัย’ กลายมาเป็นปัญหาทางสังคม นักสังคมวิทยาก็จะกลับมาสนใจวิเคราะห์วิจัยประเด็นนี้ เช่น ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งที่อยู่อาศัยขาดแคลนเพราะถูกทำลายไปมาก รัฐบาลในหลายประเทศเร่งสร้างที่อยู่ชดเชย นักสังคมวิทยาก็หันมาสนใจนโยบายที่อยู่อาศัยที่รัฐสนับสนุน (public housing)

กระแสล่าสุดที่ทำให้นักสังคมวิทยาหันมาสนใจเรื่องที่อยู่อาศัยกันมากอีกครั้งก็คือ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกา ปี 2008  ซึ่งต้นเหตุสำคัญมาจากวิกฤติฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการขยายตัวของตลาดสินเชื่อที่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง ตลาดสินเชื่อประเภทนี้เรียกว่า ซับไพรม์ (subprime)

เมื่อผู้กู้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้คืน ทำให้เกิดปัญหาต่อสถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นกองทุนที่เป็นเจ้าหนี้ในตลาดสินเชื่อซับไพรม์ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิกฤติซับไพรม์ (subprime crisis)

นักสังคมวิทยาหลายคนต่างวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาซับไพรม์ โดยเจาะลึกลงไปไกลกว่าการโทษความเลินเล่อและความละโมบของบรรดานักธุรกิจการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับผู้มีความเสี่ยงสูง หรือประณามคนจนที่ไม่รู้จักประมาณตนและกู้เงินเกินตัว โดยชี้ให้เห็นว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นนั้น เป็นวิกฤติของระบบทุนนิยมที่มุ่งเน้นแต่มิติกำไรและการจัดการที่อยู่อาศัยด้วยกลไกตลาด ทำให้คนจนไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูกและมีคุณภาพได้ รวมถึงคนที่มีรายได้ไม่มั่นคง แต่ตกอยู่ในความเย้ายวนของความต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย1

หากเปรียบเทียบกลับมาที่สังคมไทยช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997  (พ.ศ. 2540) ซึ่งเริ่มจากปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เช่นกัน แต่ช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว ปัญหาที่อยู่อาศัยแทบไม่ได้รับความสนใจในเชิงสังคม มีแต่เพียงนักเศรษฐศาสตร์และนักการธนาคารที่พยายามสรุปบทเรียนด้านวินัยการให้สินเชื่อ

ส่วนผลกระทบทางสังคมที่ได้รับความสนใจช่วงนั้นคือ คนตกงานจากธุรกิจซึ่งปิดกิจการลง แต่ปัญหาของคนที่ผ่อนบ้านไม่ไหว ถูกยึดบ้าน กลับไม่ได้รับความสนใจวิเคราะห์ ตรงกันข้ามกับในสหรัฐอเมริกาที่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนที่กำลังจะถูกยึดบ้าน และนักสังคมวิทยาก็หันมาสนใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยึดบ้าน ถูกฟ้องขับไล่กันอย่างกว้างขวาง

 

ที่อยู่อาศัย ที่ถูกบดบัง

การที่มีประเด็นอื่นๆ ซึ่งเหมือนจะถูกให้ความสำคัญเหนือกว่าประเด็นที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมายาวนาน ตั้งแต่ยุค คาร์ล มาร์กซ์ และ เฟเดอริค เองเกิลส์ สองนักคิดคนสำคัญในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผู้วางรากฐานแนวทฤษฎีมาร์กซิสม์ซึ่งเป็นหนึ่งทฤษฎีหลักในทางสังคมวิทยา โดยเฉพาะเองเกิลส์ ผู้เขียน The Condition of the Working Class in England (เขียนเป็นภาษาเยอรมันปี 1845 และแปลเป็นภาษาอังกฤษปี 1985)

แม้ทั้งสองจะเห็นว่า สภาพที่อยู่อาศัยของกรรมกรในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 จะเลวร้ายย่ำแย่เพียงใด แต่ทั้งสองไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่อยู่อาศัยในตัวมันเอง ทว่าใช้สภาพที่อยู่อันย่ำแย่เป็นตัวบ่งชี้ ‘อาการป่วย’ ของระบบทุนนิยม ซึ่งหมายความว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับการโค่นล้มระบบทุนนิยม และเมื่อสังคมคอมมิวนิสต์ถูกสร้างสรรค์ขึ้น ปัญหาที่อยู่อาศัยก็จะหมดไปเอง

หลังจากยุคมาร์กซ์และเองเกิลส์ ก็ยังมีนักสังคมวิทยาไม่น้อยที่ศึกษาที่อยู่อาศัย เพื่อฉายความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น ในสังคมอเมริกัน การแบ่งแยกสถานะไม่เพียงแบ่งตามสถานะทางเศรษฐกิจยากดีมีรวยเท่านั้น แต่แบ่งตามเชื้อชาติสีผิวเป็นสำคัญ หนังสือของ ดับเบิลยู. อี. บี. ดู บัวส์ (W.E.B. Du Bois-1903) ทำให้ชาวอเมริกันตระหนักว่า คนผิวสีในเมืองนิวยอร์คต้องทนอยู่ในสภาพย่ำแย่ ต่างจากคนผิวขาวที่มีฐานะร่ำรวยเพียงใด ทำนองเดียวกันกับบทความและรูปภาพบ้านของคนจนในชิคาโกโดย เจน อดัมส์ (Jane Adams-1895) ที่มีตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Sociology

หลังจากนั้น หลุยส์ เวิร์ธ (Louis Wirth) นักสังคมวิทยาคนสำคัญของสำนักชิคาโก (Chicago School) ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า เราไม่อาจเข้าใจที่อยู่อาศัยโดดๆ โดยแยกจากย่านหรือละแวกบ้านซึ่งที่อยู่อาศัยนั้นตั้งอยู่ได้2 เพราะคุณภาพของที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสาธารณูปการพื้นฐานในย่านนั้นด้วย เช่น ต่อให้บ้านสวยงามเพียงใด หากตั้งอยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะก็คงไร้ราคาไปทันที บ้านคงไม่น่าอยู่หากตั้งอยู่ในย่านที่ไม่ปลอดภัย มีสถิติอาชญากรรมสูง บ้านที่กว้างขวางมีห้องหับมากมาย แต่ถ้าการคมนาคมเข้าถึงได้ยาก ก็คงเรียกว่าเป็นบ้านที่สะดวกสบายได้ยาก

อย่างไรก็ดี ผลพวงที่คาดไม่ถึงจากประเด็นที่ หลุยส์ เวิร์ธ ชี้ให้เห็นก็คือ ความสนใจเรื่องที่อยู่อาศัยถูกบดบังอีกครั้ง เพราะนักสังคมวิทยาหันมาสนใจชุมชนและละแวกบ้าน มากกว่าสนใจเรื่องที่อยู่อาศัย

ลักษณะเช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการไทยเช่นกัน ดังที่มักจะเห็นทั่วไปว่า ‘ชุมชน’ ถูกให้ความสำคัญทั้งในทางวิชาการและในทางสาธารณะมากกว่า ‘บ้านเรือน’ กล่าวคือ หน่วยของความสนใจไปอยู่ที่ชุมชน ไม่ใช่บ้านเรือนหรือครัวเรือน

ความสนใจในแนวนี้สามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2510 เช่น การสำรวจวิจัยทางสังคมสงเคราะห์บริเวณแหล่งเสื่อมโทรม จังหวัดพระนคร (2514) โดย คณาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานสำรวจชิ้นนี้ถือได้ว่า เป็นงานศึกษาที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองในเชิงสังคมรุ่นแรกๆ หากแต่จุดเน้นอยู่ที่ความเป็น ‘แหล่งเสื่อมโทรม’ มากกว่า ‘บ้านเรือน’

ในปัจจุบัน เราอาจเห็นการศึกษาย่านเก่า เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนย่านเยาวราช ชุมชนท่าเตียน ฯลฯ เป็นการศึกษาและเคลื่อนไหวที่เน้นความเก่าแก่ของชุมชน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง แต่ไม่ได้เน้นความเดือดร้อน หากพวกเขาต้องถูกรื้อย้ายจากที่อยู่อาศัยเดิม ทั้งๆ ที่ประเด็นหลักที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยในย่านเหล่านี้ตื่นตัวขึ้นมา ก็เพื่อปกป้องบ้านเรือนตัวเองจากการถูกไล่ที่ แต่ประเด็นเหล่านี้กลับไม่ถูกให้น้ำหนักมากเท่าที่ควร

นี่คือสภาวะอิหลักอิเหลื่อ ด้านหนึ่ง เราถูกสอนว่า ที่อยู่อาศัยสำคัญ แต่อีกด้านหนึ่ง ครั้นจะบอกว่า กำลังมีคนเดือดร้อนจากการถูกบังคับให้ย้ายที่อยู่ กลับไม่ได้รับความสนใจและเห็นใจจากสาธารณะ จึงต้องมาชูประเด็นความเป็นประวัติศาสตร์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากกระแสสังคมแทน

ประเด็นที่อยู่อาศัยยังถูกบดบังจากอีกประเด็นหนึ่งที่ใกล้เคียงกันมาก แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทีเดียว คือ ประเด็นเรื่องคนไร้บ้าน (homeless people)

ทั้งในแวดวงวิชาการต่างประเทศและในสังคมไทย ประเด็นคนไร้บ้านได้รับความสนใจและมีงานวิจัยออกมาจำนวนมาก เป็นการเฉพาะแยกจากประเด็นที่อยู่อาศัยอื่นๆ สื่อเองก็สนใจนำเสนอเรื่องคนไร้บ้านมากกว่าเรื่องที่อยู่อาศัยอื่นๆ เช่น คนจนที่เช่าห้องซอมซ่ออยู่ หรือการถูกบังคับไล่ที่ เพราะเรื่องราวของคนกลุ่มหลังดูเป็นเรื่องธรรมดาเกินไป

ผมเองเคยทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของคนจน ทั้งคนจนที่อยู่ใต้สะพานและคนสลัมริมทางรถไฟมาก่อน ก็เคยมีประสบการณ์ตรงด้วยตัวเองว่า การชุมนุมของคนสลัมนับพันคนยังได้รับความสนใจจากสื่อน้อยกว่าการรวมตัวของคนไร้บ้านไม่กี่สิบคน

 

บ้านเรือนในมุมมองสาขาวิชาต่างๆ

เมื่อนักสังคมวิทยาไม่ค่อยแสดงตนหรือมีปากมีเสียงในประเด็นที่อยู่อาศัย จึงไม่น่าแปลกใจที่สาขาวิชาอื่นๆ ซึ่งมีเนื้อหาสัมพันธ์กับเรื่องบ้านเรือนมากกว่าจะมีบทบาทชี้นำประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยจากมุมมองของสาขานั้นๆ แทน

สาขาที่เกี่ยวข้องอย่างมากก็คือ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เพราะเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบตกแต่งบ้านและสภาพแวดล้อมโดยตรง และยังมีนิตยสารในแวดวงสถาปนิกเกี่ยวกับการออกแบบ จัดบ้าน จัดสวน อีกหลายหัวให้บรรดาเจ้าของบ้านและคนอยากมีบ้านได้แสวงหาไอเดีย งานวันสถาปนิกที่ผมเองเคยไปร่วมงานก็บรรยากาศคึกคัก (มีความรู้สึกต่างจากงานวิชาการทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอย่างมาก) เพราะนอกจากงานวิชาการแล้ว ยังมีคนในแวดวงออกแบบตกแต่งบ้าน สถาปนิก และบริษัทในแวดวงดังกล่าว จนถึงคนขายผลิตภัณฑ์วัสดุต่างๆ มาเข้าร่วมประชันขันแข่งกันอย่างคับคั่ง

อย่างไรก็ดี งานตกแต่งออกแบบบ้านกระแสหลัก มักเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของ ‘ลูกค้า’ ผู้มีกำลังซื้อ และมักเป็นลูกค้ากระเป๋าหนัก สามัญชนคนธรรมดาอาจไม่ได้มีโอกาสเป็น ‘ลูกค้า’ ว่าจ้างสถาปนิกดีกรีวิชาชีพเท่าไรนัก ชาวบ้านคนสลัมที่ปลูกบ้านกันเองจึงไหว้วานได้แค่ ‘สถาปนึก’ – พรรคพวกที่เป็นช่างก่อสร้างบ้านเรือนตามประสบการณ์ของช่างและทุนทรัพย์ของเจ้าบ้าน

ถึงกระนั้น ระยะหลังก็มีสัญญาณที่ดีบ้าง เพราะมีบัณฑิตจากสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์สนใจทำงานออกแบบผังชุมชนให้กับคนสลัม ซึ่งต้องการปรับปรุงรื้อบ้านหรืออพยพโยกย้ายจากที่เดิมไปยังที่รองรับแบบใหม่ โดยเฉพาะในโครงการบ้านมั่นคง ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังที่รู้จักสถาปนิกแนวนี้ในชื่อ  ‘สถาปนิกชุมชน‘ แต่นับว่ายังมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับสถาปนิกโดยภาพรวม

ส่วนในทางวิชาการ มีงานวิจัยไม่มากในสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่สนใจที่อยู่อาศัยของคนจน เช่น สมุดภาพวิชาการเรื่องบ้านของคนจนเมือง (2547) ของ อาจารย์สุพิชชา โตวิวิชญ์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเดียวกันของ วศิน วิเศษศักดิ์ดี ซึ่งศึกษาการจัดการพื้นที่บ้านของคนเก็บของเก่า

นอกเหนือจากนี้ ยังมีงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ในภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจกล่าวได้ว่า เป็นงานเชิงสถาปัตยกรรมที่สนใจมิติทางสังคมกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะการศึกษาวิเคราะห์โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของรัฐบาล ก่อนหน้านี้ก็มีวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่งคือเรื่อง บ้านใต้สะพานในเขตกรุงเทพมหานคร (2537) โดย ทรงเดช ดารามาศ

ส่วนการศึกษาการจัดการที่อยู่อาศัยในฐานะ ‘อสังหาริมทรัพย์’ คือ เป็นสินค้าที่ถูกผลิตเพื่อขายทำกำไร และเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนและสร้างผลตอบแทนในอนาคต ในสาขาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยจึงไม่ใช่จุดเน้นของผู้ประกอบธุรกิจและสาขาวิชานี้

สาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน ทั้งที่อยู่ในคณะสังคมสงเคราะห์หรือสาขาอื่นๆ ในสังคมศาสตร์ก็มีความคาบเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย แต่ก็เป็นดังที่ได้กล่าวไปแล้วคือ แม้จะมีการศึกษาในประเด็นคาบเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น โครงการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน แต่ประเด็นน่าสนใจก็อยู่ที่ชุมชนมากกว่าที่อยู่อาศัยของครัวเรือน และมักเป็นเรื่องเทคนิค เช่น การจัดการชุมชน ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของชุมชน เป็นต้น มากกว่าจะมองที่อยู่อาศัยโดยเชื่อมโยงกับมิติทางโครงสร้างสังคม

 

ทวงคืนพื้นที่ สังคมวิทยาที่อยู่อาศัย

แมทธิว เดสมอนด์ (Matthew Desmond)3 นักสังคมวิทยารุ่นใหม่ซึ่งจบปริญญาเอกด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ไว้อย่างแหลมคมว่า นักสังคมวิทยาให้ความสนใจกับประเด็นที่อยู่อาศัยน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่ที่อยู่อาศัยสัมพันธ์กับมนุษย์และสังคมอย่างสำคัญในหลายด้าน เช่น บ้านเป็นส่วนประกอบสำคัญของการก่อร่างสร้างครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคม การเลือกที่อยู่มีส่วนสำคัญต่อโอกาสในการเลื่อนหรือจมปลักกับชนชั้นเดิม

โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบของคนที่ต้องถูกบังคับให้โยกย้ายจากที่อยู่เดิม เช่น คนที่ถูกไล่ออกจากอพาร์ตเมนต์ ห้องเช่า หรือคนที่ถูกยึดบ้าน เป็นประเด็นที่กระทบกับคนจำนวนมากซึ่งนักสังคมวิทยาไม่ควรมองข้าม

ตัวผมเองเห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ของเดสมอนด์ และคิดว่าถึงเวลาที่การวิเคราะห์เชิงสังคมวิทยาจะช่วยขยายมุมมองในการพิจารณาเรื่องที่อยู่อาศัยให้มากกว่าการออกแบบตกแต่งหรือการจัดการเชิงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นการศึกษาชีวิตของคนที่สัมพันธ์กับที่อยู่อาศัย ศึกษาปัญหาใจกลางของที่อยู่อาศัยที่ว่า ทำไมคนจำนวนมากในสังคมไทยจึงไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพในราคาที่ไม่สูงเกินเอื้อม ทำอย่างไรเราจะไม่ดูดายเพื่อนในสังคมที่ต้องถูกบังคับให้โยกย้ายและมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงกว่าเดิม เพียงเพื่อสนองผลกำไรของคนที่ได้ประโยชน์ไม่กี่คน โดยเฉพาะคนที่ถูกโยกย้ายด้วยเหตุผลที่เป็นนามธรรมอย่าง ‘เพื่อความสวยงาม‘

มุมมองการศึกษาที่อยู่อาศัยด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงวิพากษ์ จะช่วยสืบสาวรากลึกของปัญหาที่อยู่อาศัยในสังคมเรา หากสังคมไทยกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย บ้านเรือนจะเป็นภาพสะท้อนแง่มุมนี้ได้อย่างชัดเจนทีเดียว

 

 

เชิงอรรถ

  1. ผู้ที่สนใจประเด็น วิกฤติการเงินโลกกับปัญหาซับไพรม์สามารถศึกษาได้จากบทความนี้ Aalbers, M. B. (2009). The Sociology and Geography of Mortgage Markets: Reflections on the Financial Crisis. International Journal of Urban and Regional Research, 33(2), 281-290. หรือติดตามคอลัมน์ บ้านเรือนก็สิทธิของเรา ในตอนต่อๆ ไป
  2. Wirth, L. (1947). Housing as a Field of Sociological Research. American Sociological Review 12(2), 137-143.
  3. ผู้ที่สนใจงานของ แมทธิว เดสมอนด์ สามารถอ่านได้จากงานบางชิ้นของเขา เช่น Desmond, M. (2012). Eviction and the Reproduction of Urban Poverty. American Journal of Sociology, 118 (1), 88-133; Desmond, M., & Bell, M. (2015). Housing, Poverty, and the Law. Annual Review of Law and Social Science, 11, 15-35.  Desmond, M. (2018). Heavy is the House: Rent Burden among the American Urban Poor. International Journal of Urban and Regional Research, 42(1), 160-170.

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า