เรื่องบ้าน เรื่องเรือน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ตอนหนึ่งของซีรีส์ชุด ‘สายสตรีท’ ผมเล่าถึง ‘คาเรล’ กับครอบครัว ซึ่งอาศัยหลับนอนที่ชายคาหน้าตึกแถวบนถนนโอติส แม้เธอและครอบครัวจะเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย (houseless) แต่ความที่คาเรลอาศัยอยู่กับครอบครัวของเธอที่ข้างถนนอย่างสบายใจ เธอจึงรู้สึกว่าข้างถนนคือ ‘บ้าน’ ของเธอ ต่างกับสมัยที่คาเรลอาศัยอยู่กับน้าและมีเรื่องขัดเคืองกันอยู่เนืองๆ ในตอนนั้นถึงแม้คาเรลจะมี ‘ที่อยู่อาศัย’ แต่เธอไม่มี ‘บ้าน’1

ผมเล่าเรื่องของคาเรลเพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘ที่อยู่อาศัย’ (house) แม้จะมีความหมายสัมพันธ์คาบเกี่ยวกับคำว่า ‘บ้าน’ (home) แต่สองสิ่งนี้ ไม่ได้มีความหมายเหมือนกันเสียทีเดียว ‘ที่อยู่อาศัย’ เป็นมิติด้านกายภาพ หมายถึง พื้นที่สำหรับการอยู่อาศัย มีความมั่นคงระดับหนึ่ง ส่วน ‘บ้าน’ มีความหมายในเชิงประสบการณ์ความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อที่พักอาศัย2

อย่างไรก็ดี ผมอยากขยายความประเด็น ‘บ้านและที่อยู่อาศัย’ ให้ชัดเจนขึ้น เพราะเรื่องเล่าข้างต้นอาจชวนให้ไขว้เขวได้ว่า ‘บ้าน’ นั้นมีแต่มิติความรู้สึกส่วนตัว หรืออยู่ที่ ‘ใจ’ ของปัจเจกล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับบริบทสังคม อีกทั้งนักวิชาการหลายคนมักจะย้ำว่า ความเป็นส่วนตัว (privacy) เป็นมิติสำคัญมิติหนึ่งของบ้าน บ้านจึงถูกเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว (private space) ที่คนในบ้านมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะทำอะไรตามใจปรารถนาในบ้านของตน ต่างกับโลกนอกบ้านที่มีกฎระเบียบสังคมให้ต้องทำตาม

ความเข้าใจที่ว่าบ้านเป็นเรื่องความรู้สึกส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยในบ้าน ไม่ใช่ความเข้าใจที่ผิด แต่ก็ไม่ใช่ความเข้าใจที่ครบถ้วนสมบูรณ์เสียทีเดียว เพราะพลังของสังคมใช่ว่าจะหยุดอยู่ที่ขอบรั้วบ้านปล่อยให้บ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเราตามลำพัง

ในโลกความเป็นจริงพลังของสังคมยังแผ่ซ่านทะลุทะลวงเข้ามาถึงพื้นที่ภายในบ้าน และมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและความคิดของเราเกี่ยวกับบ้านพอสมควรทีเดียว

เริ่มตั้งแต่สังคมเป็นผู้ให้ความหมายต่อคำว่า ‘บ้าน’ สิ่งที่สะท้อนประเด็นนี้ได้ชัดก็คือ ความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ไม่ว่าในภาษาไทยหรือภาษาอื่นๆ ก็ไม่ใช่ความหมายที่หยุดนิ่งตายตัว หากแต่สังคมแต่ละยุคสมัยให้ความหมายต่อคำคำนี้แตกต่างกันไป ความหมายของบ้านที่ผูกกับความเป็นส่วนตัวของครอบครัวเดี่ยวในเมือง เป็นความหมายที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อสังคมก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่

ปีเตอร์ โซเมอร์วิลล์ (Peter Somerville) นักวิจัยด้านนโยบายสาธารณะที่มหาวิทยาลัยลิงคอล์น (University of Lincoln) ในอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่า ความหมายของคำว่า home ในฐานะพื้นที่ส่วนตัว เริ่มก่อตัวขึ้นในศตวรรษที่ 17 ก่อนหน้านี้พื้นที่ภายในบ้านมีลักษณะเป็นพื้นที่สาธารณะและมีหลายหน้าที่ คำว่า ‘บ้าน’ ไม่ได้มีความหมายแคบหรือจำกัดความหมายแค่ ‘ที่อยู่อาศัย’ ของครัวเรือน แต่บ้านหมายถึง หมู่บ้าน (village) บ้านเกิดหรือประเทศ ดังเช่นคำว่า homeland ที่แปลว่าประเทศบ้านเกิด

ความสำคัญของความเป็นส่วนตัวของบ้าน เกิดขึ้นพร้อมๆ กับกระบวนการกลายเป็นอุตสาหกรรม การกลายเป็นเมือง และการเปลี่ยนรูปแบบของชีวิตครอบครัวและงาน ในยุคก่อนอุตสาหกรรมหน่วยทางสังคมที่สำคัญคือหมู่บ้าน แรงงานที่ทำงานก็ไม่ได้มีเฉพาะคนในครอบครัวเดี่ยว แต่มีเครือญาติและคนในหมู่บ้านที่ไม่ใช่ญาติ กระทั่งการเกิดขึ้นของสังคมอุตสาหกรรมทำให้เกิดการแยกพื้นที่บ้านกับพื้นที่ทำงาน พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของครอบครัวเดี่ยว ซึ่งกลายเป็นหน่วยทางสังคมหน่วยใหม่ ในช่วงนี้ที่ความหมายของคำว่า home ซึ่งเน้นความเป็นส่วนตัว

ความใกล้ชิดของสมาชิกในครัวเรือนจึงถูกเน้นในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19

การออกแบบบ้านเพื่อสร้างเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกบ้าน เริ่มถูกขับเน้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 มีการออกแบบให้เห็นความแตกต่างระหว่างหน้าบ้านกับหลังบ้าน ในฝรั่งเศสใช้ห้องโถงรับแขก (salon) เป็นพื้นที่รับแขก ในอังกฤษใช้ห้องรับแขก (parlor room) ต่อมาเมื่อห้องโถงและห้องรับแขกนี้ ถูกลดบทบาทลง ก็เกิดห้องนั่งเล่น (living room) เป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับสมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่ด้วยกัน

การขยายตัวของครอบครัวเดี่ยว ทำให้ความหมายของ home ใกล้เคียงกับคำว่า house ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า domus ในภาษาละติน ที่แปลว่า domain สื่อความหมายถึงขอบเขตและการควบคุมได้ ดังนั้นคำว่า house ที่สัมพันธ์กับ home และครอบครัวเดี่ยว จึงมีความหมายถึงพื้นที่ที่เจ้าบ้านมีสิทธิอำนาจชอบธรรมภายในบ้านของตัวเอง3

คำอธิบายในบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมตะวันตกข้างต้นสามารถประยุกต์มาเทียบเคียงกับสังคมไทยได้เช่นกัน ลองย้อนกลับไปถามคนในชนบทเมื่อยี่สิบหรือสามปีที่แล้ว ว่า “เป็นคนบ้านไหน?” คงไม่มีใครตอบด้วยการบอกบ้านเลขที่ หรือตอบชื่อสกุล อันเป็นชื่อบ้านเหมือนที่เราเห็นบ้านคนใหญ่คนโตที่มักจะมีชื่อสกุลของเจ้าบ้านติดอยู่ที่ประตู คนในชนบทจะตอบด้วยชื่อหมู่บ้านแทน เพราะชีวิตของคนไม่ได้ถือครอบครัวเดี่ยวเป็นหัวใจของบ้าน แต่ถือเอาเครือญาติและชุมชนเป็นสำคัญ

ทำนองเดียวกัน ความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ ในสำนวน ‘สร้างบ้านแปงเมือง’ ในภาษาไทย ก็ไม่ได้หมายถึง บ้านของครัวเรือนเดี่ยว แต่หมายถึง สร้างเมือง หรือการตั้งถิ่นฐานสร้างอารยธรรม ดังนั้น ความหมายของบ้านที่เข้าใจว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว แท้ที่จริงแล้วเป็นความหมายที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสังคมเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ และกลายเป็นเมืองแล้ว ซึ่งก็ชี้ให้เห็นว่า อิทธิพลของสังคมทำให้ความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

พลังของสังคมยังมีอิทธิพลต่อภาพจำเรื่องบ้านของเราโดยที่เรามักไม่รู้ตัว เมื่อผมขอให้นักศึกษาในชั้นเรียนวาดภาพ ‘บ้าน’ ในความคิดของพวกเขา ภาพที่ถูกวาดออกมา สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ภาพกลุ่มแรก คือ ภาพบ้านในชนบทเชิงโรแมนติก คือมีหลังคาจั่ว บ้างมีใต้ถุน บ้างไม่มี บางคนอาจเติมท้องนา ภูเขาเป็นฉากหลัง ชุดที่สอง เป็นภาพบ้านสไตล์โมเดิร์น ฝาบ้านเป็นกระจก มีที่จอดรถกว้างขวาง บ้างมีสระว่ายน้ำ ภาพชุดสุดท้าย เป็นจำพวกภาพปราสาท บ้านที่มีปล่องควัน มีห้องใต้หลังคา

นักศึกษาที่วาดภาพชุดหลังอธิบายว่า เป็นภาพบ้านที่เขาจำมาตั้งแต่ตอนดูการ์ตูนสมัยเด็กๆ เมื่อถามนักศึกษาต่อไปว่า มีใครสักคนหรือไม่ ที่วาดภาพบ้านซึ่งตัวเองอยู่อาศัยจริงๆ คำตอบก็คือ ไม่มีแม้แต่คนเดียว

ภาพวาดบ้านทั้งสามชุด และบ้านที่ไม่ถูกวาด สะท้อนให้เห็นว่าภาพแสดงแทน (representation) ของบ้านที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมมีอิทธิพลต่อความคิดและจินตนาการของคนในสังคมที่รับเอาภาพบ้านนั้นมาอยู่ในความคิดของตัวเอง กลายเป็นบ้านในอุดมคติที่ถวิลหา แต่บ้านในโลกความเป็นจริงที่ไม่ได้สวยงามถูกละเลย4

ขยับจากบ้าน มาสู่การพิจารณา ‘ที่อยู่อาศัย’ ซึ่งเป็นมิติที่จับต้องได้ของบ้าน เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่า เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเลือกที่อยู่อาศัยของเรา ใครจะซื้อบ้านสักหลังต้องคิดกันอย่างรอบคอบ เพราะเป็นสินค้าที่มีราคา บางคนอาจมีโอกาสตัดสินใจซื้อบ้านได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต จึงต้องคำนึงถึงเงินในกระเป๋า และภาระหนี้สินระยะยาวเป็นธรรมดา

มากกว่านั้น เหตุที่เราต้องคิดอีกหลายตลบตอนซื้อบ้าน เพราะบ้านเป็นมากกว่าที่พักหลับนอนเท่านั้น แต่หน้าตาของบ้านยังเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความเป็นตัวเราอีกด้วย นักสังคมวิทยาชื่อดังแห่งยุคสมัย ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) ผู้สนใจศึกษารสนิยม (taste) ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราเรียกว่า รสนิยมนั้นไม่ใช่เรื่อง ‘ส่วนตัว’ หากแต่รสนิยมเป็นสิ่งที่ถูกกล่อมเกลาจากสถานการณ์แวดล้อมทางสังคม ไล่ตั้งแต่ภูมิหลังครอบครัว การศึกษา การเรียนรู้ทางสังคม ทักษะเครือข่ายทางสังคม กระทั่งหล่อหลอมเป็นแนวโน้มทางรสนิยม ซึ่งเป็นตัวบอกชนชั้นทางสังคมได้ แถมยังเป็นการบอกชนชั้นอย่างแนบเนียนไม่โจ่งแจ้ง

แทนที่จะบอกความเป็นชนชั้นสูงด้วยการอวดร่ำรวยเงินทอง (อย่างนี้เรียกว่า ไม่ใช่คนชั้นสูงจริง อาจจะรวย แต่ไม่ใช่คนชั้นสูง) คนชั้นสูงมีวิธีการบอกสถานะตัวเองได้แนบเนียนกว่า ผ่านการบริโภคข้าวของเครื่องใช้อย่างมี ‘ระดับ’ คือไม่ใช่สักแต่ว่ามีเงิน แต่ต้องมีความรู้ หรือที่เขาเรียกว่า ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ ในการเสพใช้ข้าวของต่างๆ ด้วย เช่น การจะกินไวน์ ไม่ใช่แค่มีเงินซื้อของแพง แต่ต้องมีความรู้และคุยเกี่ยวกับไวน์ได้ด้วย เป็นต้น5

ดังนั้นการจะเลือกซื้อบ้านย่านไหน ย่านธุรกิจใจกลางเมือง ติดรถไฟฟ้า ย่านเก่าดูมีสไตล์ หรือ บ้านชานเมืองเพื่อมีพื้นที่เยอะ รวมถึงการเลือกสไตล์ของบ้าน จะเป็นคอนโดมิเนียมกะทัดรัดทันสมัย บ้านแนวกรีนๆ ร่มรื่นมีต้นไม้ บ้านหรูหราประดับโคมไฟระย้าบนโต๊ะกินข้าวที่มีเชิงเทียนขายาว หรือบ้านสไตล์ลอฟท์ปูนเปลือย แม้แต่รูปแขวนประดับบ้าน ก็ต้องคิดว่า จะเป็นรูปเหมือนจริงเข้าใจง่ายๆ หรือ รูปภาพแนวแอบสแตร็ค (abstract) ทั้งหมดนี้ที่ดูเหมือนเป็น ‘ความชอบ’ ส่วนตัว เอาเข้าจริงแล้ว การชอบของเราได้รับอิทธิพลจากสังคมต่างหาก และสำคัญตรงที่ว่า เราอยากให้สังคมมองเราอย่างไร

ไม่ต้องยกตัวอย่างอื่นไกล เวลาที่ผมรับนัดคนมาคุยด้วยที่บ้าน ผมมักเลือกมุมห้องทำงานที่มีชั้นหนังสือเป็นฉากหลัง เป็นมุมสำหรับนั่งสนทนา เพื่อจะสื่อภาพลักษณ์ของความเป็นนักวิชาการ หากผมเลือกให้ไปนั่งสัมภาษณ์ที่ห้องนั่งเล่นก็ดูจะธรรมดาเกินไป หรือหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ที่ผมยังอาศัยอยู่ที่หอพักของมหาวิทยาลัย ผมจะนัดให้ไปคุยกันที่คณะแทน เพราะห้องในหอพักมหาวิทยาลัยไม่น่าจะใช่สถานที่ที่จะเหมาะกับภาพลักษณ์นักวิชาการเท่าไรนัก

ดังนั้น มนุษย์เราจึงแคร์เรื่องที่อยู่อาศัย ไม่ใช่แค่เพราะเป็นที่หลับนอน ไม่ใช่แค่ความสะดวกสบายมีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอ หากแต่เราคัดสรรเรื่องที่อยู่ เพราะเป็นการแสดงตัวตนของเราให้สังคมได้รับรู้

มากกว่านั้น หากพิจารณาถิ่นที่อยู่ของคนจน จะเห็นได้ชัดเจนว่าการเลือกที่อยู่อาศัยถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่เรื่องความชอบส่วนตัวของคนจนที่จะอยู่ในชุมชนแออัด แต่เพราะพวกเขามีทางเลือกจำกัด จึงต้องอยู่อาศัยในชุมชนแออัดหรือสลัมที่ต้องเดินผ่านสะพานไม้พาดบนน้ำครำเข้าบ้าน เวลาฝนตกทีก็ต้องคอยเอาหม้อกะละมังมารองน้ำรั่วจากหลังคาสังกะสี ไหนจะต้องลุยน้ำครำเวลาน้ำท่วม

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อประดิษฐ์วลีที่แค่ทำให้ดูเท่ว่า บ้านเรือนไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่เพื่อชี้ว่า ‘บ้าน’ และ ‘ที่อยู่อาศัย’ เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม หรือพูดให้เป็นรูปธรรมก็คือ ค่านิยมทางสังคมกติกาและกลไกของระบบทุนนิยม รวมถึงนโยบายของรัฐมีส่วนสำคัญ ในการกำหนดว่าคนแต่ละคนจะมีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้มากน้อยแตกต่างกันอย่างไร

การตั้งคำถามต่อระบบโครงสร้างการจัดการที่อยู่อาศัยที่ดูเหมือนเป็น ‘ธรรมชาติ’ เช่น คำถามง่ายๆ ทำไมราคาที่อยู่อาศัยจึงแพงมากเมื่อเทียบกับรายได้ของคนทั่วไป ทำไมการถือครองที่อยู่อาศัยบางแบบอย่างการเป็นเจ้าของ จึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐและธนาคาร มากกว่าการเช่า ฯลฯ คำถามเหล่านี้ จะทำให้เราเห็นลึกลงไปว่า การจัดการที่อยู่อาศัยที่เป็นอยู่ วางอยู่บนอุดมการณ์ชุดหนึ่งที่ไม่ได้มีความเป็นกลาง หากแต่มีอคติ ลำเอียงเลือกข้างคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กลับทำให้คนทั้งสังคมคล้อยตามไปได้ หากเรายึดติดกับระบบและความคิดที่ดำรงอยู่น้อยลง และตั้งคำถามถึงระดับรากลึกลงไปมากขึ้น เราจะเปิดรับแนวคิดใหม่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น และนี่คือหัวใจสำคัญของงานเขียน ‘บ้านเรือนก็สิทธิของเรา’ ชุดนี้

คราวหน้าเราจะได้เวลาคุยเรื่องหนักๆ กันเสียที ว่าด้วยเรื่อง ‘เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องที่อยู่อาศัย’

 


เชิงอรรถ

  1. บุญเลิศ วิเศษปรีชา. (2561). ‘บ้านข้างถนนของครอบครัวคาเรล’ ใน สายสตรีท. WAY of BOOK: กรุงเทพฯ. น. 105-111.
  2. Somerville, P.(1997). The Social Construction of Home. Journal of Architectural and Planning Research, 226-245.
  3. Atkinson, R., & Jacobs, K. (2016). House, Home and Society. Macmillan International Higher Education.
  4. เพิ่งอ้าง น. 38
  5. เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปิแอร์ บูร์ดิเยอ ให้ความสนใจกับรสนิยมในฐานะสิ่งบ่งชี้ทางชนชั้น ในงานชิ้นนี้ Bourdieu, P. (2013). Distinction: A Social Critique of the Judgement of Taste. Routledge. มากกว่านั้น บูร์ดิเยอยังสนใจเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นพิเศษในหนังสือเล่มนี้ Bourdieu, P. (2005). The Social Structures of the Economy. Polity. บูร์ดิเยอได้วิเคราะห์ปัญหาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า ตลาดเสรีแท้ที่จริงดำรงอยู่ได้เพราะการกำกับของรัฐ เขาชี้ชวนให้ถอดรื้อความเป็นธรรมชาติ (denaturalization) ของชุดความคิดและปฏิบัติการต่างๆ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า