Добродошли у Београд, Србија
“ยินดีต้อนรับสู่เบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย”
หลายคนเห็นประโยคนี้ คงงงเป็นไก่ตาแตกเหมือนกับฉัน นี่คือภาษาเขียนที่เรียกว่า ‘ซิริลลิค’…ภาษาราชการของเซอร์เบีย!!!
เป็นครั้งแรกที่ฉันเดินทางในประเทศยุโรปแล้วปวดหัวมากกับการอ่านชื่อป้ายตามอาคารและถนนหนทาง เพราะเข้าใจความหมายแค่หางอึ่ง
เซอร์เบียเป็นเพียงไม่กี่ประเทศแถบยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ที่มีคนเชื้อสายสลาฟเข้ามาอยู่ในภูมิภาคในศตวรรษที่ 6 นับถือคริสต์นิกายออร์ธอดอกซ์ และใช้ภาษาเขียนซิริลลิค (Cyrillic) เป็นภาษาราชการ เช่นเดียวกับรัสเซีย เบลารุส ยูเครน บัลแกเรีย มาซิโดเนีย มอนเตเนโกร และประชากรบางส่วนในบอสเนียฯ และโครเอเชีย ซึ่งต่างจากประเทศยุโรปส่วนใหญ่ที่ใช้ภาษาเขียนที่มีรากมาจากภาษาละติน
ฉันได้ชื่อเกสต์เฮาส์ในเมืองเบลเกรดมาจากเว็บไซต์ booking.com ซึ่งในเว็บไซต์จะเขียนที่อยู่เป็นภาษาอังกฤษ คือใช้ภาษาละตินในการเทียบ คนขับรถตู้ที่ฉันนั่งมาจากซาราเยโวสามารถพาฉันมาส่งถึงหน้าเกสต์เฮาส์ได้จากรายละเอียดที่ฉันให้เขาจากใบจองโรงแรม
คนเซอร์เบียนเข้าใจทั้งภาษาซิริลลิคและละติน อันเป็นมรดกของการอยู่ร่วมกันของภูมิภาคบอลข่าน ที่ภาษาเกือบทุกภาษามีรากมาจากตระกูลสลาวิคใต้ ในเซอร์เบียเองก็มีการพัฒนาภาษาเขียนที่เรียกว่า ‘เซอร์เบียนละติน’ (Serbian Latin) ที่คล้ายคลึงกับภาษาละตินโดยทั่วไป เพื่อให้มีการสื่อสารที่เข้าถึงได้มากขึ้น อย่างคำว่า ‘เบลเกรด’ ในภาษาเซอร์เบียนละตินคือ ‘บีโอกราด’ (Beograd)
วันแรกที่ฉันออกไปเดินเล่นและหาข้อมูลภาษาอังกฤษ พอใส่ข้อมูลสถานที่บางแห่งลงไปในแผนที่ ปรากฏว่า Google Maps ดันแสดงข้อมูลแผนที่เป็นภาษาซิริลริค แล้วจะให้จำได้อย่างไร อ่านก็ไม่ออก ออกเสียงก็ไม่ถูก อย่างน้อยหากเป็นตัวอักษรละติน เช่นคำว่าไปรษณีย์ หรือ post ในภาษาอังกฤษ ก็ยังพอเดาหรือเทียบเคียงได้จากภาษาที่มีรากมาจากภาษาละตินได้บ้าง เช่น post ที่ใช้ในภาษาเยอรมันด้วย หรือ poste ไม่ก็ posta เป็นต้น แต่ในภาษาซิริลลิค ไม่มีทางเลยแม้แต่จะเดา ต้องถ่ายรูปชื่อถนนที่พักตัวเองไว้อย่างแรก และใช้เทคโนโลยีแผนที่ออฟไลน์จดจำที่อยู่ชั่วคราวของตัวเองไว้ และพอเดินไปไหนจริงๆ ก็ยากที่จะเดาว่าสถานที่ที่ตัวเองเดินผ่านเป็นอะไรกันแน่ โชคดีที่ยังมีหนังสือแนะนำท่องเที่ยวบอกทาง และก็เดินไปตามนั้น
ฉันจึงได้แต่ขอให้เซอร์เบียใช้ภาษาเซอร์เบียนละตินให้มากกว่านี้ เอาบุญกับคนเดินทางหรือนักท่องเที่ยว จะได้เข้าใจความเป็นตัวตนหรือท้องถิ่นของเซอร์เบียมากขึ้น
การใช้ภาษาเขียนในภูมิภาคบอลข่านมีความสัมพันธ์กับศาสนาอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ซิริลลิคเป็นตัวเขียนนั้นเป็นพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่นับถือคริสต์ออธอด็อกซ์ ‘ซิริลลิค’ มาจากชื่อของนักบุญไบแซนไทน์ ซีริล (Cyril) กับพี่ชายของเขาชื่อ เมธอดิอุส (Methodius) ในราวศตวรรษที่ 9 ยุคกลางของยุโรป ทั้งสองเดินทางจากกรีซเพื่อไปเทศน์ให้กับเหล่าสาวกเชื้อสายสลาฟในโมราเวีย (Moravia) อดีตเป็นประเทศอิสระซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเชกในปัจจุบัน ดังนั้น ภาษาเขียนกรีกจึงมีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับซิริลริค
ท่ามกลางความขัดแย้งของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย การใช้ภาษาถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการบ่งบอกอัตลักษณ์กลุ่ม ขณะเดียวกันก็สร้างความแตกต่างจากอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ช่วงที่ยูโกสลาเวียเป็นประเทศของหกรัฐอิสระ มีภาษาราชการถึงสามภาษา (ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาษาเขียน) คือ ภาษามาซิโดเนียน (Macedonian) สโสวีน (Slovene) และโครแอโท-เซอร์เบียน (Croato-Serbian) หรือ เซอร์โบ-โครเอเทียน (Serbo-croatian) ซึ่งกลุ่มภาษาสุดท้ายถือเป็นการรวมกันเพื่อเหตุผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 1954
ต่อมากลุ่มโครแอทคิดว่า หากการเอาภาษามารวมกันสะท้อนให้เห็นว่าเชื้อชาติตนอยู่ภายใต้จักรวรรดิเซิร์บ เลยพยายามที่จะแยกภาษาของตัวเองออกเป็นเอกเทศ อย่างที่บอกว่าเซิร์บถือว่าตัวเองเป็นชนชาติใหญ่สุดในยูโกสลาเวีย รัฐบาลบางรัฐอย่างบอสเนียฯ ในช่วงที่อยู่ในยูโกสลาเวียจึงบังคับให้นักเรียนเชื้อชาติอื่นต้องเรียนรู้ตัวหนังสือซิริลลิคด้วย และควรใช้ซิริลลิคในแวดวงสื่อสารมวลชน ภายหลังที่โครเอเชียได้รับเอกราชในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลพยายามที่จะสร้างภาษาโครเอเชียนให้ต่างจากเซอร์เบียนด้วยการคิดคำใหม่ขึ้นเป็นคำในภาษาตนเอง
ปัจจุบัน ในบอสเนียฯ คนสามกลุ่มต่างใช้ภาษาของตัวเอง มุสลิมบอสนิแอกใช้ภาษาบอสนิแอก คนเซิร์บใช้ภาษาเซอร์เบียน และคนโครแอทใช้ภาษาโครเอเชียน และไม่ได้มีการบังคับเรียนซิริลริคเหมือนในอดีต และเมื่อคนบอสเนียนใช้คำว่า ‘ภาษาบอสเนียน’ เพื่อหมายถึงภาษาที่พูดกันในประเทศบอสเนียฯ โดยรวม เพื่อสร้างความแตกต่างจากภาษาประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ลดทอนความขัดแย้งหากใช้คำว่า ‘ภาษาบอสนิแอก’ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติมากกว่า เช่นเดียวกับโครเอเชีย เมื่อประเทศได้ประกาศตัวเป็นเอกราชแล้ว ก็ใช้คำเรียกภาษาทางการใหม่ว่า ‘โครเอเชียน’ (Croatian) เพื่อสลัดการครอบงำของเซอร์เบียให้หลุด จะเห็นว่าคำคุณศัพท์ที่ใช้อธิบายภาษามีความละเอียดอ่อนถึงเพียงนี้
ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของการใช้ภาษาเชื่อมโยงกับความเป็นออร์ธอดอกซ์ ในยุคกลางของยุโรปที่การเขียนเริ่มพัฒนาขึ้นจากตำราศาสนาในศตวรรษที่ 12 ทำให้มีอักษรหลากหลายถูกผลิตขึ้นจากโรมันคาทอลิก ศาสนาแรกที่เข้ามามีบทบาทในภูมิภาค ตามด้วยคริสต์ออธอดอกซ์เริ่มแผ่ขยายมาในบอลข่านในศตวรรษที่ 9 จากอาณาจักรไบแซนไทน์ที่มีฐานสำคัญที่คอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) หรืออิสตันบูล ประเทศตุรกีในปัจจุบัน จนเข้าสู่การยึดครองของออตโตมันในกลางศตววรษที่ 15 และการเข้ามาของศาสนาอิสลาม ในช่วงนี้โรมันคาทอลิกเริ่มอ่อนแอลง แต่ออธอดอกซ์ยังคงมีที่ทางอยู่บ้าง ทำให้เกิดการต่อรองของสามความเชื่อทางศาสนา คือ คาทอลิก ออธอดอกซ์ และอิสลาม ที่ต่างผลิตตำราทางศาสนาโดยใช้อักษรที่แตกต่างกัน โรมันคาทอลิกพัฒนาจากภาษาละติน ออธอดอกซ์ใช้ซิริลลิค และอิสลามใช้ตัวเขียนจากภาษาตะวันออกกลางอย่างเปอร์เซียน อารบิก และตุรกี ทำให้เกิดความรู้และวัฒนธรรมออตโตมันที่แผ่ขยายข้ามทวีป
ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 เซอร์เบียเริ่มเข้ามามีบทบาทภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรไบแซนไทน์-รัสเซียน ขณะที่จักรวรรดิฮับสบวร์ก (Habsburg Empire) เริ่มถูกท้าทายจากฝ่ายแรก ช่วงนี้เริ่มมีการสะสมบทกลอนและนิทานพื้นบ้านนภาษาเซอร์เบียน พร้อมๆ กับการเริ่มต้นแบ่งแยกคนเซิร์บในบอสเนียฯ และโครเอเชียให้ออกจากชุมชนที่พวกเขาอยู่มาก่อน ทำให้การสร้างความแตกต่างในเรื่องภาษามีความชัดเจนมากขึ้น คือบอสเนียนมุสลิมได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอิสลาม เซิร์บได้รับอิทธิพลไบแซนไทน์จากตุรกี และโครแอทภายใต้อิทธิพลของภูมิปัญญาตะวันตกที่ใกล้ชิดกับคาทอลิกจากนักบวชและหนังสือที่เขียนโดยอักษรละติน
อย่างที่เล่าไปบ้างว่าออธอดอกซ์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในเซอร์เบียในช่วงศตวรรษที่ 12 พร้อมๆ กับอาณาจักรเซิร์บเองที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เซอร์เบียกลายเป็นศูนย์กลางของคริสต์ออธอดอกซ์ในภูมิภาคบอลข่าน ประจวบกับการมาถึงของจักรวรรดิออตโตมันที่ทำให้คาทอลิกอ่อนแอลง ประชากรที่นับถือออธอดอกซ์ในช่วงนี้เพิ่มขึ้น และแม้อิสลามจะเข้ามามีบทบาทในบอลข่าน แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีการประนีประนอมกันของทั้งสองความเชื่อ
ศาสนาอิสลามเข้ามามีบทบาทนำอย่างค่อยเป็นค่อยไปในภูมิภาค และเมื่อออตโตมันพ่ายแพ้จากสงคราม อาณาจักรเซอร์เบียร่วมกับรัสเซียได้เข้ามีอิทธิพล นำมาซึ่งการเชิดชูคริสต์นิกายออธอดอกซ์ให้มีบทบาทต่อวิถีชีวิตผู้คนด้วย ทำให้ปัจจุบันเซอร์เบียมีประชากร 85 เปอร์เซ็นต์นับถือออธอดอกซ์ คาทอลิก 5.5 เปอร์เซ็นต์ อิสลาม 3.2 เปอร์เซ็นต์ โปรเตสแตนท์ 1.1 เปอร์เซ็นต์ และความเชื่ออื่นๆ ที่จำนวนผู้ไม่ระบุข้อมูลอยู่ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน
ระหว่างที่อยู่ในเบลเกรด ฉันมีโอกาสไปเยือนโบสถ์เซนต์ซาวา (Church of Saint Sava) ซึ่งเป็นโบสถ์ออธอดอกซ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่นอกเมืองเก่าของเบลเกรดในย่านวราคาร์ (Vračar) ซึ่งถูกเลือกให้สร้างโบสถ์นี้อย่างเฉพาะเจาะจง เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ในปี 1594 เจ้าผู้ปกครองจักรวรรดิออตโตมัน ซิมัน ปาชา (Siman Pasha) ได้เผาอัฐิศักดิ์สิทธิ์จากอารามมิเลเซวา (Mileševa) ในเมืองราสคา (Raška) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเซอร์เบีย จึงมีการสร้างโบสถ์เซนต์ซาวานี้ขึ้นในปี 1894 หลังจากเหตุการณ์เผาอัฐิศํกดิ์สิทธิ์ผ่านมาแล้ว 300 ปี การสร้างโบสถ์ขนาดใหญ่ในพื้นที่นี้จึงเหมือนเป็นการแก้แค้นต่อการกระทำที่ย่ำยีของต่างศาสนาและผู้ปกครองในยุคนั้น
การควบคุมและทำลายล้างทางการเมืองโดยมีศาสนสถานเป็นเป้าหมายเกิดขึ้นในยุคร่วมสมัยอย่างช่วงที่ ติโต ปกครองยูโกสลาเวียด้วยเช่นกัน ภายใต้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เขาเคยสั่งให้มีการทำลายโบสถ์ทั้งออร์ธอดอกซ์และคาทอลิก หรือควบคุมไม่ให้ความคิดทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งครอบงำประเทศตามแนวทางสังคมนิยม หรือในช่วงสงครามโคโซโวระหว่างกองทัพชาวเซิร์บและมุสลิมเชื้อสายอัลแบเนียน มีรายงานว่าในช่วงปี 1999 กลุ่มมุสลิมได้ทำลายโบสถ์ออร์ธอดอกซ์ 150 แห่งเพื่อเป็นการแก้แค้นที่กองกำลังทหารเซิร์บกระทำกับมุสลิมในโคโซโว
โบสถ์เซนต์ซาวา ด้วยความยิ่งใหญ่ของตัวโดม ทำให้เห็นโบสถ์โดดเด่นแม้จะยืนจากอีกฟากของถนน ยิ่งพอเดินเข้าไปใกล้ ด้านนอกแสดงถึงความยิ่งใหญ่สมคำร่ำลือ ภายในโบสถ์ยังคงความใหญ่โตแต่ก็โล่งมากในขณะเดียวกัน ไม่มีความสวยงามละเอียดอ่อนเหมือนโบสถ์คาทอลิกที่ตกแต่งอลังการอย่างที่เห็นในฝรั่งเศสหรืออิตาลี และโบสถ์นี้ดูเหมือนการตกแต่งภายในก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ซึ่งทางโบสถ์เองก็ตั้งกล่องบริจาคเพื่อสมทบทุนสร้างโบสถ์ให้ลุล่วง
ส่วนโบสถ์อีกแห่งในเมืองเบลเกรดที่ฉันได้ไปชมด้านในคือ วิหารออร์ธอดอกซ์ (Orthodox Cathedral) ที่สร้างเสร็จในปี 1840 ตามคำบัญชาของกษัตริย์มิลอส ออเบรโนวิช (Miloš Obrenović) และศพของเขาก็ถูกฝังในโบสถ์นี้ด้วย
วิหารออร์ธอดอกซ์เป็นอีกสัญลักษณ์ของเมืองเบลเกรดที่มักปรากฏควบคู่กับแม่น้ำดานูบในโปสการ์ด ด้วยความที่โบสถ์ตั้งไม่ห่างจากแม่น้ำสายหลัก เสียแต่ว่าวันที่ฉันไปเยือน หอคอยสูงชะลูดจมอยู่ในม่านหมอกยามเช้า แต่โชคดีที่ยังได้เห็นความสวยงามของการตกแต่งแนวคลาสสิกและบาโรค (Baroque) ภายใน แต่ทางโบสถ์มีกฎห้ามถ่ายรูปภายในโบสถ์ ซึ่งเป็นกฎเฉพาะของบางโบสถ์เท่านั้น
จากประสบการณ์ของฉัน โบสถ์ออร์ธอดอกซ์มีกฎในการเข้าชมที่เคร่งกว่าโบสถ์คาทอลิก โดยเฉพาะผู้หญิงต้องแต่งตัวเรียบร้อย หากใส่กางเกงขาสั้นเหนือเข่า เสื้อเปิดไหล่ และเสื้อเอวลอย จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าด้านใน ทางโบสถ์ได้ทำป้ายแจ้งให้ผู้ต้องการชมโบสถ์ทราบ ซึ่งน่าจะหมายถึงนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ เพราะเท่าที่ฉันสังเกต คนท้องถิ่นที่เข้าไปทำพิธีกรรมหรือเคารพพระผู้เป็นเจ้าจะทราบอยู่แล้วว่าต้องแต่งกายเคารพสถานที่ ทุกคนจึงดูสำรวม เคร่งขรึม เมื่อเข้าไปในโบสถ์พวกเขาจะเอามือแตะหน้าผาก อก และไหล่ทั้งสองข้าง เพื่อสื่อสัญลักษณ์สำคัญมหากางเขน และปฏิบัติเช่นเดียวกันเวลาออกจากโบสถ์ โดยต้องเดินออกด้วยการถอยหลัง และไม่พยายามที่จะหันหลังไปยังภายในของโบสถ์อีก
ระหว่างที่อยู่ในโบสถ์ พวกเขาเดินไปรอบรูปสัญญะของพระผู้เป็นเจ้าและนักบุญอื่นๆ โดยจะแตะหน้าผาก อก และไหล่ ก่อนจูบรูปสัญญะเหล่านั้นด้วยปลายนิ้วหรือริมฝีปาก และอาจจบการเคารพด้วยการทำบุญ
แนวทางการปฏิบัติดังกล่าวของคนนับถือคริสต์ออร์ธอดอกซ์นั้นมีความหมาย เพื่อสร้างความใกล้ชิดของผู้นับถือและรูปสัญญะของพระเยซู รวมถึงพระแม่มารี และนักบุญต่างๆ ซึ่งถือเป็นลักษณะโดดเด่นของอาณาจักรไบแซนไทน์ เพราะเชื่อว่ารูปสัญญะเหล่านี้คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ตามหลักออร์ธอดอกซ์ การสวดต่อหน้ารูปสัญญะเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้นับถือสร้างความใกล้ชิดและมีการติดต่อโดยตรงกับพระผู้เป็นเจ้า ดวงตาของรูปสัญญะเหล่านี้ จึงเหมือนกับสบตากับผู้เลื่อมใสอยู่ทุกมุมไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใดก็ตามในโบสถ์ คล้ายกับรูปภาพ โมนาลิซา ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ปัจจุบันเซอร์เบียพยายามรักษาคุณลักษณะพิเศษตรงนี้เอาไว้ตามประเพณี แม้ออร์ธอดอกซ์ได้ถือกำเนิดและผ่านกาลเวลามากว่า 2,000 ปีแล้วก็ตาม
สำหรับคนที่เป็นคาทอลิกหรือคุ้นเคยกับพิธีกรรมทางศาสนาของโรมันคาทอลิกอาจมองว่าพิธีกรรมของออร์ธอดอกซ์ค่อนข้างแปลกแตกต่าง และความจริงก็เป็นเช่นนั้น ในโบสถ์ออร์ธอดอกซ์ที่พิธีสวดต้องนำโดยนักบวชที่ส่วนใหญ่ต้องมีเคราและแต่งเครื่ององค์สีสันสดใส และระหว่างสวดต้องแกว่งเครื่องใส่กำยานที่ร้อยกับเชือกเพื่อให้แกว่งไปมาได้ โดยที่ผู้เลื่อมใสจะยืนประกอบการสวดอย่างมีสมาธิและเคร่งขรึมเพื่อให้เกิดประสบการณ์ในระดับบุคคล ต่างจากคาทอลิก ที่มีพิธีกรรมสร้างประสบการณ์ร่วมกันในรูปแบบกลุ่มมากกว่า
จากการเดินทางไปยังดินแดนออร์ธอดอกซ์ของฉันในเบลเกรด ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับผู้คน และชีวิตอีกซีกหนึ่งของโลก อย่างน้อยก็เริ่มแยกออกว่าสถาปัตยกรรมแบบไหนน่าจะเป็นโบสถ์ออร์ธอดอกซ์ และรู้จักภาษาเขียนซิริลลิค ที่แม้หลายคนจะบอกว่าหากเรียนจริงๆ ก็ไม่ยาก เพราะซิริลลิคมีตัวอักษรเพียง 33 ตัวเท่านั้น
เปล่า…ฉันไม่ได้คิดจะเรียนภาษานี้ หวังเพียงให้เซอร์เบียหรือประเทศอื่นๆ ที่ใช้ภาษาเขียนนี้หันมาใช้ละตินให้มากขึ้นดีกว่า