การเดินทางเที่ยวสุดท้าย

เรื่อง : สันติสุข กาญจนประกร

ภาพ : อนุช ยนตมุติ

นักแสดงทัศนะบางคนบริจาคถ้อยคำไว้ว่า อิจฉาคนฆ่าตัวตาย!

ในความหมายที่สามารถเลือกชั่วโมงแห่งการอยู่และดับสูญได้ด้วยตัวเอง

อย่างนั้นก็เถอะ ใครเล่าจะอยากลาลับ ทิ้งโลก ทิ้งคนรักไว้เบื้องหลัง ต่อให้บรรลุธรรมขั้นสูงแค่ไหน ก็อดประหวั่นไม่ได้หากห้วงเวลานั้นเดินทางมาถึงแล้วจริงๆ

ไม่ต้องกล่าวถึงความตายที่มาแบบปัจจุบันทันด่วน ประเภทนั่งทำงานเพลินๆ อยู่บนตึกสูง แผ่นดินก็เขย่าให้ร่วงไปกองอยู่ชั้นล่าง หรือเดินเล่นริมหาดเพลินๆ คลื่นใหญ่นามสึนามิก็ถาโถมโหมกระหน่ำ

กลัวเหงา กลัวการพลัดพราก กลัวคนแย่งสมบัติ กลัวเจ็บ มีใครบอกได้ไหม ทำไมเรากลัวความตาย

อิสลามมิกชนเชื่อว่าความตายของมนุษย์หาใช่การดับสูญ แต่คือการเคลื่อนย้ายจากโลกหนึ่ง ไปสู่อีกโลก คล้ายๆ ความเชื่อของคริสตศาสนนิกชนที่ว่า มันคือการหวนคือสู่อ้อมกอดของพระเจ้า

ไม่ต่างจากหลักธรรมคำสอนขององค์ตถาคตที่ว่า อันความไม่แน่นอนนั้น คือความแน่นอน

โรคหลอดเลือดหัวใจคือสาเหตุที่คร่าชีวิตมนุษย์โลกเป็นอันดับ 1 – องค์การอนามัยโลกว่าไว้อย่างนั้น

คุณล่ะ เตรียมตัวตายแล้วหรือยัง

 

1.

อุมาภรณ์ ไพศาลสุทธิเดช วนเวียนอยู่กับความตาย เธอเคยร้องไห้เพราะความตาย

สมชาย เนียมศิริ วนเวียนอยู่กับความตาย เขาเคยร้องไห้เพราะความตาย

ถิรดา เอกแก้วนำชัย ก็วนเวียนอยู่กับความตาย และเธอก็เคยร้องไห้เพราะความตาย

ตลอดช่วงชีวิตหนึ่ง ทุกคนต้องเคยเสียน้ำตาให้แก่ความตาย

 

2.

อุมาภรณ์ ไพศาลสุทธิเดช ,การเดินทางเที่ยวสุดท้าย
อุมาภรณ์ ไพศาลสุทธิเดช

ระหว่างขับรถกลับบ้านในคืนหนึ่ง อุมาภรณ์ร้องไห้ ไม่ได้อยากอ่อนแอ แต่จู่ๆ น้ำตามันก็ไหล เธอเข้าใจ และปล่อยให้หยาดน้ำตาหลั่ง

เศร้า ทนไม่ไหว จะไปเก็บไว้ทำไม บางครั้ง น้ำตาก็ไม่ได้เป็นตรรกะของความอ่อนแอ เธอแค่เพียงอยากชำระล้างความรู้สึกบางอย่างด้านใน
“ดูแลคนไข้มา 20 ปี พอถึงคิวแม่เราเสีย ท่านอายุ 84 ปีแล้วนะ แต่ยังตกใจเหมือนกัน ผูกพันกันมาก ขับรถมีน้ำตาไหล ทั้งนี้ คิดว่าตัวเองมีสติ แม่อยู่ในโลงยังถ่ายรูปเก็บไว้ด้วยตัวเอง เป็นตัวหลักจัดงานศพ”
น้ำตาไหล แต่ไม่ฟูมฟาย เธอตระหนักดีว่า วิกฤติของชีวิตมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง รักมาก ผูกมาก ก็ต้องเรียนรู้ในการแก้ อันหลังนี้เธอพูดเอง
จบพยาบาลจากโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อปริญญาโท สาขาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ที่นี่ อุมาภรณ์ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต ผู้ป่วยเกือบทั้งตึกป่วยเป็นโรคมะเร็ง เกิดความเครียด วิตกกังวล สับสน ความทุกข์โศก และซึมเศร้า

ไม่ได้ป่าวประกาศให้ใครรู้ แต่เธอสาบานกับตัวเองเงียบๆ ว่า ชีวิตที่เหลือ จะอุทิศตนทำงานเพื่อเยียวยาเรื่องเหล่านั้น

“หน่วยงานที่ทำ อยู่ในโรงพยาบาลรามาธิบดี เรียกว่าศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง หน้าที่คือ พอมีผู้ป่วยตามหอที่เป็นโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย คนไข้ต้องเสียชีวิตแน่นอน ก่อนเสีย เขาจะมีอาการต่างๆ กันไป เราต้องไปคุยกับญาติ กับตัวคนไข้ เพื่อประเมินความรู้ ความต้องการ ให้ทราบถึงสถานการณ์จริงๆ ว่า สุดท้ายรักษาไม่ได้แล้ว”

เธอไม่ปฏิเสธว่าการตายของมนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ แต่คนไข้ทุกคนก็มีสิทธิ์แสดงเจตจำนงค์ของตัวเอง เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่ามันไม่ไหว ยืดเยื้อดันทุรังมีแต่เจ็บกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะตัวคนไข้

“เคยทำไม่ดีต่อคนในครอบครัว ต่อคนรอบข้าง ช่วงนี้แหละ จะได้อโหสิกรรมแก่กัน”

อย่างนั้นก็เถอะ ขนาดผู้อยู่ในศีลในธรรมอย่างภิกษุสงฆ์ ข่าวคาวยังมีเยอะแยะเรื่องพระใจแตก นับประสาอะไรกับฆราสวาสผู้ยังเวียนว่ายอยู่ในทะเลโลกียะ

“ส่วนใหญ่แล้วพยายามยื้อทั้งนั้น เพราะเราไม่ยอมรับความจริงของธรรมชาติ”

หลวงพี่ไพศาล วิสาโล เขียนเรื่อง ความตายในมิติทางสังคมและจิตวิญญาณ เพื่อเจริญสติบัวทุกเหล่าไว้ว่า ทื่คนเราหลงลืมนึกถึงสัจธรรมของชีวิต เพราะความตายถูกปิดบังเอาไว้จนยากเห็นได้ในชีวิตประจำวัน หาไม่ก็ตกแต่งให้ความตายเป็นเรื่องที่สะอาด ไม่น่ากลัว เช่น ปิดผนึกไว้ในโลงที่มิดชิด เช่น ตกแต่งศพให้สวยงาม มีดอกไม้ประดับประดา

เหนืออื่นใด หลวงพี่ไพศาลบอกว่า เราพยายามแกล้งลืม เพราะลึกๆ มนุษย์กลัวความตายมาก ไม่อยากนึกถึงมัน ถึงขั้นผลักออกไปจากจิตสำนึก

ถามอุมาภรณ์ถึงอาการของคนที่รู้ว่าตัวเองต้องตายในระยะอันใกล้ เธอตอบว่าพบหลายแบบ ตั้งแต่ซึม ไปจนถึงเอะอะโววาย

“มีอาการคิดมากแน่นอน ช่วงแรกอาจปลีกตัวไม่ยุ่งกับใคร เพราะพยายามหาข้อสรุปให้ตัวเอง ว่าจะทำใจกับเรื่องนี้ได้ไหม ถ้าทำใจได้ ก็จะเริ่มพูดจา แต่ถ้ายังทำไม่ได้ อาจซึมเศร้า ไม่กิน บางคนก็มีเอะอะโววาย ซึ่งพฤติกรรมคนจะออกมาไม่เหมือนกัน”

เคสที่เธอหนักใจกับไม่ใช่เรื่องทำนองนั้น

“เป็นกรณีที่คนไข้เองก็ไม่มีสติ ญาติพี่น้องก็ไม่มีศักยภาพในการควบคุมคนไข้ คนไข้สติแตก ไม่กลัวใคร ซึ่งเราเข้าใจได้นะ อย่างนี้น่าสงสาร”

คล้ายคนใจร้าย เธอบอกเองว่าหน้าที่หลักๆ แม้เป็นการพูดคุย ให้กำลังใจ แต่สุดท้ายก็ไม่ต่างจากประโยค ฉีดยาให้ฉันตายไปเถิดหมอ

“เรามีความรักต่อคนใกล้ชิดได้ แต่เราต้องยอมรับ แล้วไอ้ตรงการยอมรับนี่แหละ มันจะเสียน้ำตาก็ต้องเสีย ให้ไปอย่างสบาย ไม่ต้องไปใส่ท่อรุงรัง อยากให้ไปลำบาก ก็ยื้อกันไป ยิ่งถ้าที่บ้านมีคนดูแล กลับไปอยู่บ้านดีกว่า ซึ่งทุกอย่างต้องอยู่ที่ความยินยอมพร้อมใจ และสถานะคนไข้เป็นอย่างไร”

อุมาภรณ์ให้ทัศนะว่า คนเรากลัวตาย เพราะกลัวทรมาน และยังติดยึดอยู่ในห่วง

“หลายคนบอกตายไม่กลัว แต่ก่อนตายมันกลัวทรมาน อีกอย่างคือการมีห่วง ลูกยังเล็ก แม่ใครจะดูแล บ้านยังผ่อนไม่หมด คนเราจะหาห่วงไปเรื่อย เสียดายโลก ชั้นยังไม่แก่ ยังไม่อยากตาย จริงๆ เราไม่ควรพูดด้วยซ้ำ ว่าคนนี้คนนั้นอายุยังน้อย ไม่น่าตายเลย เพราะถ้าคุณศึกษาจริงๆ คนเราตายได้ทุกอายุ ในท้องแม่ยังตายได้ เกิดมาพ้อมโรคภัยไข้เจ็บก็มี เป็นพยาบาลมาได้เห็นอะไรเยอะ”

“คุณกลัวตายไหม” เราถาม

“จะ 60 แล้วนะ ไม่รู้หรอกว่าจะตายเมื่อไหร่ แต่เรามีเหตุผลในความเชื่อของเรา ตอนนี้ก็พยายามออกกำลังกาย เมื่อเช้าก็ไปฟิตเนสมา เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง”

 

3.

“ความตายในภาษาคน แก้ได้ด้วยความตายในภาษาธรรม หนามยอกก็เอาหนามบ่งได้ แต่ไม่ใช่หนามอันเดียวกัน แม้เป็นหนามชนิดเดียวกัน จากต้นไม้ต้นเดียวกัน อันหนึ่งทำหน้าที่ยอก อีกอันหนึ่งทำหน้าที่บ่ง”

พุทธทาสภิกขุ

 

4.

สมชาย เนียมศิริ , การเดินทางเที่ยวสุดท้าย
สมชาย เนียมศิริ

ที่ทำมาทั้งหมด สมชายทำเพื่อหวังบุญ บุญจากพระเจ้าของเขา หว่านพืชหวังผลก็สารภาพตรงๆ ไม่เห็นแปลก อาจมีบ้างที่ปากตรงกับใจ ประพฤติปฏิบัติสิ่งใด มิได้หวังอะไรตอบแทน ทำอย่างนั้นได้จริงก็โมทนาสาธุ แต่ถ้าโลกมันซับซ้อนนัก ว่ากันแฟร์ๆ เลยดีกว่าไหม
“เราทำให้คนอื่น อย่างน้อยมันได้ความสุข ง่ายๆ ยังไม่ต้องไปมองว่าหลังความตายเป็นอย่างไร เป็นความสุขตอนมีชีวิตนี่แหละ” เขาว่า

สมชายนิยามการงานของเขาว่าเป็น แท๊กซี่คนป่วย รถโดยสารคนตาย

“ผมทำงานอยู่ในมูลนิธิซึ่งเป็นองค์กรของศาสนาอิสลาม” เขาเริ่มต้นเล่า

“เพื่อรับคนป่วยหนัก คนตาย ส่วนใหญ่เป็นคนในสังคมมุสลิม แต่ไม่ได้หมายความว่า คนพุทธหรือศาสนาอื่นๆ เราจะไม่รับ แต่เราไม่ใช่มูลนิธิที่ไปจอดตาม 4 แยก คนที่อยากใช้บริการ จะโทรเข้ามาหาเอง ในชุมชนแถวลาดพร้าว ใช้บริการเราทั้งนั้น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อยู่ได้ด้วยเงินบริจาค แค่หวังว่าพอตัวเองตาย จะได้บุญจากพระเจ้าของเรา”

ทำมาร่วม 10 ปี เขาเชื่อเหมือนที่หลักศาสนาอิสลามเชื่อ ว่าคนตายก็เหมือนกับคนเป็น มีความอาย มีความเจ็บ ฟังเขาพูดเรื่องความอายความเจ็บแล้วสะอึก เอาเข้าจริงไม่รู้ว่าคนเป็นมีไหม

“ศพโป๊ เราก็ต้องหาอะไรมาปิด หาเสื้อผ้าให้ใส่ พอไปรับศพ ผมจะทำความสะอาดเบื้องต้น เช็ดเลือด ยกขึ้นบนแปล จับกอดอก ในลัษณะมือขวาทับมือซ้าย เพื่อพร้อมในการพบพระเจ้า แล้วเอาขึ้นรถ”

เขาบอกว่า ถ้าเป็นไปได้ ขั้นตอนแทบทั้งหมด อยากให้คนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นฝ่ายดำเนินการ

“ทำไม่เป็น เราก็ต้องค่อยๆ บอก ค่อยๆ สอน เพราะอะไรล่ะ อย่างเราไม่สบาย ก็ยังอยากให้คนใกล้ชิดมาดูแล มันให้ความรู้สึกดีกว่าพยาบาลทั่วไปใช่ไหม”

ตามหลักของศาสนาอิสลาม ห้ามไม่ให้มีการผ่าศพ ที่ทำได้ คือแค่ชันสูตรให้รู้สาเหตุการตาย เพราะเลือดเนื้อและร่างกายของชาวมุสลิม เป็นของพระผู้เป็นเจ้า

“ในขั้นตอนการทำความสะอาด เราจะใกล้ชิดกับศพที่สุด หลังจากทำเบื้องต้น เราก็ต้องรีดของเสียที่อยู่ในร่างกายออกมาให้หมด เวลาคนตาย ทวารทั้งหมดในร่างจะเปิด ต้องใช้มือกด รีดออกมาอย่างเบาที่สุด จนคิดว่าสะอาด เสร็จแล้วถึงอาบน้ำตามที่ศาสนากำหนดไว้ ช่วงระหว่างนั้น คนมาเยี่ยมก็สัมผัสได้ หอมได้ ขอพรได้ สำคัญคือ ถ้าศพผู้หญิง ก็ต้องให้ผู้หญิงทำ”

จากนั้นจึงนำร่างไปฝัง

“มีประกอบศาสนากิจคือการละหมาด ซึ่งการฝัง ก็แล้วแต่ว่าในชุมชุนนั้นๆ มีลักษณะของดินเป็นอย่างไร บางที่ก็ไม่ใส่โลง ขุดเป็นรูปหลุม ฝังเลย บางที่ดินเหลว ขุดไม่ได้ ก็ใส่โลง แต่ทั้งหมดต้องทำภายใน 24 ชั่วโมง”

ฟังดูเหลือเชื่อ แต่สมชายยืนยันว่า เขาเห็นร่างไร้วิญญาณมามาก จนสามารถบอกได้ว่าตอนมีชีวิต ประพฤติตัวดีชั่วอย่างไร

“ลักษณะของคนตายมีหลายอย่าง เท่าที่ทำมา คนไม่ดี สีหน้าศพ หน้าผาก ใบหน้า จะบ่งบอกเลยว่า ก่อนตาย ประพฤติปฏิบัติตัวมาอย่างไร ส่วนคนดี สีหน้าจะอร่าม ในศาสนาของเรา วิญญาณออกจากร่างทางหน้าผาก รัศมีมันจะบอก ผมเชื่อแบบนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ เลือดเนื้อของผมเป็นอิสลาม”

ไม่กลัว แต่รู้สึกสลด คือคำตอบ เมื่อเราถามถึงความรู้สึกเมื่อเห็นศพคนตายครั้งแรก
“ทุกคนต้องตาย แต่ว่าจะตายในลักษณไหนเท่านั้นเอง เรามีพระเจ้า จะมาเอาเราตอนไหนก็ได้ ในสภาพไหนก็ได้ เคสที่สลดจริงๆ คืออิสลามเราจะมีการประกอบพิธีทางศานาแบบของเรา ซึ่งรายนั้นกำลังถูกประกอบพิธีแบบศาสนาอื่น สะเทือนใจ เราไปเกือบไม่ทัน ระยะทางมันไกล ผมต้องไปงัดออกจากโลง นั่นแสดงให้เห็นว่าคนตายไม่มีใครดูแล”

ส่วนทำไมคนเรากลัวตาย จากประสบการณ์การทำงาน สมชายคิดว่า หนึ่ง…กลัวลักษณะการตาย สอง…กลัวจากสิ่งที่รักไป

“จากสิ่งที่มี มีเงิน มีความสุข มีครอบครัว กลัวความเจ็บปวด กลัวทรมาน คิดว่าถ้าตายน่าจะทรมาน ตายแล้วไปไหน มันไม่รู้ไง เพราะเรายังไม่เคยตาย”

“บอกว่าไม่กลัวศพ แล้วศพสำหรับคุณคืออะไร” เราสงสัย

“เหมือนคนปกติ เพียงแต่หลับ ผมมองในแง่ที่ว่า คนรอบข้างเอาใจใส่มากน้อยแค่ไหน ถ้าคนดูแลมาก ก็คิดได้เบื้องต้นว่า คงเป็นคนดี ถ้าคนที่แม้กระทั่งญาติตัวเองยังไม่กล้า ไม่ทำ ไม่เตะ เราไม่ได้ตัดสินนะ แต่ก่อนตายอาจสร้างความเดือดร้อนไว้มาก สุดท้าย คนที่ตัดสินจริงๆ คือพระเจ้า”

 

5.

“การระลึกถึงความตายจะทำให้เรามองโลกนี้ ด้วยความเป็นจริง เพราะส่วนมากคนหนุ่มสาวจะหนีความจริงในเรื่องนี้ …..”

อิมาม อาลี – บางถ้อยจากอัลกุรอาน

 

6.
สุนัขสายพันธุ์ฝรั่งอ้วนๆ 2 ตัววิ่งเหย่าๆ เลียบไปตามทางเดินริมน้ำ-นำหน้าเจ้านายของมัน หญิงกลางคนชี้ให้ดูตลิ่งที่ถูกคลื่นแทงจนเซาะหายเข้ามาเป็นเมตร จากเรือใหญ่ที่ห้อตะบึงไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม พร้อมเล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของสายน้ำในคลองหมาหอน จังหวัดสมุทรสงคราม

เธอไม่ปฏิเสธว่ากระแสท่องเที่ยวทำให้ระบบนิเวศน์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป น้ำเสีย คนนิสัยเสีย หิ่งห้อยเริ่มน้อยลง แต่ด้วยความที่เราไม่อาจบอกปัดความเจริญ ที่เหลือคือจะดิวกับมันอย่างไรมากกว่า

ถิรดา เอกแก้วนำชัย,การเดินทางเที่ยวสุดท้าย
ถิรดา เอกแก้วนำชัย

ถิรดาเป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านริมคลองโฮมสเตย์ ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกิจการรับลอยอังคาร ในปากน้ำแม่กลอง

“จุดเริ่มมาจากที่คณะของ อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ มาทำวิจัยเรื่องท่องเที่ยว เห็นเรือจอดว่างในเวลากลางวันเยอะ อีกอย่าง อาจารย์เองเคยมาลอยอังคารคุณพ่อ แล้วประทับใจ ทั้งเรื่องของวิถีชีวิตคน จุดลอยอังคารของแม่กลองลำน้ำสะอาด แถมยังผ่านสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น วัดหลวงพ่อบ้านแหลม อาจารย์บอกให้เราลองไปคิดกันดู”

ถามว่ามาทำพิธีลอยอังคารที่นี่ แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร เธอตอบว่าบางที่มีแค่ดอกไม้

ธูปเทียน พระภิกษุ บางแห่งก็ไม่มีพระ ทำกันเอง

“ของเรามีผู้รู้ทำพิธีให้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนลงเรือ จนเสร็จสิ้น จริงๆ ที่สำคัญกว่านั้น เวลาเหนื่อยจากงานศพมาแล้ว เจ้าภาพก็ได้มาผ่อนคลาย พักใจกับทิวทัศน์ เจอบางท่านที่คนตายจากไปกระทันหัน ทำใจไม่ได้ เราก็ไปคุย ปลอบใจ ว่าเขาไปมีความสุขแล้ว เหลือเรานี่แหละ ที่จะทำสิ่งดีๆ ให้แก่เขาเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าเราคิดถึงคนตาย เราต้องทำความดี เพื่อคนรอบข้างที่ยังมีชีวิตอยู่ เราอ่อนแอ มัวแต่ร้องไห้ ลูกหลานที่เหลือจะทำอย่างไร พูดจนคลายเศร้า”

ตั้งแต่รับทำพิธีมา เธอได้พบเห็นสิ่งประทับใจมากมาย

“เจอลูกๆ ที่รักแม่มาก พอลอยอังคารไปแล้ว ก้มลงกราบ ร้องไห้ เราเห็นแล้วก็ซึ้งใจ ถามว่าทำงานแบบนี้บ่อยๆ หดหู่ไหม ไม่นะ มันกลายเป็นการสอนสัจธรรมเรามากยิ่งขึ้น รู้ว่ามนุษย์เราก็แค่นี้ เกิดการเตรียมตัวและทำใจได้มากขึ้น รู้สึกได้สร้างบุญและกุศลอันยิ่งใหญ่ ให้เจ้าของอังคาร ไปสู่สุขคติภพ คนที่เป็นลูกหลานเกิดความสุข ทำให้เรามีความสุขไปด้วย”

ถามว่าขั้นตอนไหนของพิธี ที่ทำให้เธอรู้สึกปลงชีวิตได้มากที่สุด ถิรดาบอกว่าขั้นตอนก่อนเอากระดูกลงไปลอยในน้ำ

“เราได้เห็นว่า ที่สุดแล้ว คนเรามันก็เหลือแค่นี้ คุณเคยเห็นรูปจรเข้ในพิธีทอดกฐินไหม มีเรื่องเล่าว่า ชายแก่คนหนึ่ง มีอันเป็นไป แต่ยังหวงสมบัติที่ฝังซ่อนไว้ริมสะพานในน้ำ สุดท้ายต้องมาเกิดเป็นจรเข้ เฝ้าสมบัติ จะใช้ก็ใช้ไม่ได้”

คล้ายๆ กับที่เธอให้ทัศนะว่า ทำไมคนกลัวตาย

“กลัวเจ็บก่อนตาย กลัวทุรนทุราย อีกอย่างคือมีห่วง ห่วงมันไปหมด”

ถึงอยู่กับความตาย ทำงานกับความตาย แต่ใช่ว่าเธอจะทำใจไปได้ซะทั้งหมด

“ตอนที่ลูกสาวโดนรถไฟทับตายเพราะอุบัติเหตุ หลังไปส่งญาติกลับต่างจังหวัด รถดึงร่างไป 20 เมตร ช็อคมาก ลูกเขยร้องไห้โทรมาบอก ทั้งๆ ที่เขาพึ่งเอาหลานมาฝากตอนเย็น ร้องไห้นะ แต่ก็ต้องควบคุมสติให้อยู่ เพราะพรุ่งนี้ต้องมีงานทำอีก

“อย่างเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีคนตายเยอะๆ ช่วงนี้ คุณเลือกได้ไหมล่ะ ถ้าไม่ได้ สมมติเรายังอยู่ ก็ต้องสร้าง ต้องกู้กันต่อไป อยู่อย่างมีสติ แต่ถ้าหนีไม่พ้น ต้องตาย ก็ถือเป็นการหมดทุกข์”
7.

“ก้อนเมฆมีการเกิดและการตายเมื่อเรามองเพียงผิวเผิน แต่ถ่าเรามองอย่างลึกซึ้ง ด้วยความช่วยเหลือขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเห็นว่าก้อนเมฆมีธรรมชาติของการไร้การเกิดและไร้การตาย”

ติช นัท ฮันห์

 

8.

การเดินทางเที่ยวสุดท้าย

วันที่เราไปคุยกับสมชาย คนล้างศพชาวมุสลิม เราถามเขาเหมือนที่ถามอุมาภรณ์ พยาบาลผู้ดูแลคนป่วยระยะสุดท้ายว่า

กลัวตายไหม

สมชายตอบทันทีว่ากลัว เพราะเขาเองก็เป็นมนุษย์ปุถุชน มีความรู้สึก และยังบอกด้วยว่า พวกที่พูดว่าไม่กลัว คือคนโกหก

“มีอะไรมายืนยันได้ว่าไม่กลัว” เขาว่า

ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันไหม กับที่เราถามถิรดา คนรับทำพิธีลอยอังคารว่า จะมองความตายอย่างไรไม่ให้เศร้า

“ทำไมจะต้องไม่เศร้า เราเศร้าได้ เสียใจได้ แต่อย่างไรก็ต้องอยู่กับมัน” เธอว่า

ใช่-ในเมื่อเรายังต้องอยู่ ก็ค่อยๆ เรียนรู้กันไป

แม้จะต้องเสียน้ำตากับเรื่องบางเรื่อง

 

*********************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ เมษายน 2554)

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า